ความเคารพ กับ การแสดงความเคารพ เหมือนกันหรือไม่ ?
เราคงเคยเห็นบางคนเป็นประเภทหน้าไหว้หลังหลอก เช่น ลูกน้องที่ประจบสอพลอ เมื่อเจอผู้บังคับบัญชา ก็ยกมือไหว้ ก้มกราบอย่างงามกิริยาอ่อนช้อย พร้อมกับเปล่งวาจาอวยพรให้ท่านอายุยืน แข็งแรง พร้อมทั้งสรรเสริญคุณงามความดีของท่านต่าง ๆ นานา
แต่พอลับหลังก็นินทาสารพัด จะไม่ให้เขานินทาได้อย่างไร ขณะที่ก้มกราบอยู่นั้น ในใจก็นึกแช่งด่า ให้เจ้านายตายวันตายคืน เนื่องจากเขาก็อยากจะมาสวมตำแหน่งแทนเจ้านาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องไม่เอาไปปนกันก็คือ ความเคารพกับการแสดงความเคารพ
ตามที่กล่าวไว้แล้วว่า ความเคารพ หมายถึง ความตระหนักในคุณงามความดีของบุคคลนั้น ๆ หรือสิ่งนั้น ๆ จนกระทั่งอดไม่ได้ที่จะแสดงความยอมรับนับถือด้วยความจริงจังและจริงใจ จึงทำให้แสดงออกด้วยการ
กราบไหว้อย่างอ่อนน้อม เอาใจใส่ ไม่ล่วงเกิน ไม่ละเมิด พูดด้วยวาจาสุภาพ แม้อยู่ลับหลัง เพียงแค่นึกถึงก็ระลึกด้วยใจที่ยกย่องเชิดชู
ส่วนเรื่องการแสดงความเคารพเป็นเรื่องการแสดงออกทางกายด้วยท่าทางอ่อนน้อม หรือการแสดงออกทางวาจาด้วยคำพูดสุภาพ ซึ่งนั่นคือการแสดงออก แต่ถ้าความรู้สึกอันแท้จริงที่อยู่ในใจกลับไม่ยอมรับนับถือ ยังคิดร้ายทำลายอยู่ ท่าทางที่แสดงออกก็เป็นท่าทางหลอกลวง เป็นการตบตาเหมือนหนังเหมือนละครที่แสดงอารมณ์รัก อารมณ์โกรธ ซึ่งพอพ้นฉากไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้น ความเคารพจึงเป็นเรื่องของความจริงจังและจริงใจ
ส่วนการแสดงความเคารพโดยปราศจากความเคารพ ก็เป็นได้แค่การแสดงออกมาจากใจที่ไม่ยอมรับนับถือ หรืออย่างน้อยก็เฉยเมยแต่จำเป็นต้องแสดงออก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เท่ากับบอกเป็นนัยให้ทราบว่า
๑) ในบุคคลหรือในสิ่งของแต่ละอย่าง ต่างมีความสำคัญในตัว โดยอาจจะมีมากหรือมีน้อยไม่เท่ากัน
๒) อาการที่จิตใจของเราตระหนักซาบซึ้งในความสำคัญของบุคคลและสิ่งใดนั้น เราเรียกว่า เคารพ
๓) การแสดงความเคารพ หรือคารวะในทางธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ของสังคม หรือทำโดยวินัยบังคับ แต่เป็นเรื่องที่เกิดจากการตรองแล้วตรองอีก จนกระทั่งเห็นความสำคัญของบุคคลนั้น ๆ สิ่งนั้น ๆ จึงแสดงออกทางกายที่บอกให้รู้ว่า ใจมีความเคารพหรือมีความซาบซึ้ง
๔) ความเคารพเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการจับผิด เพราะเป็นความพยายามที่จะจ้องค้นหาความดี (จับถูก)
๕) ความเคารพ คือ ความตระหนัก ความซาบซึ้งในความดีที่มีอยู่ในบุคคล ในสิ่งของและเหตุการณ์ คือเนื้อแท้ของความเคารพ แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับความเคารพคือการจับผิด ซึ่งเป็นหายนะของโลกใบนี้
๖) ความเคารพนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นมงคลอันสูงสุด คือเหตุแห่งความเจริญอันสูงสุดของชีวิต สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้ ความเคารพจึงเป็นเรื่องของคนที่มีจิตใจ ละเอียด ประณีต ช่างสังเกต มีปัญญา ไม่มีนิสัยชอบจับผิดใคร ๆ ไม่หน้าไหว้หลังหลอก มีแต่ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นปกตินิสัย ขณะที่คนอีกพวกหนึ่ง
จิตใจหยาบ พวกนี้จะพยายามจับจ้องมองดูข้อบกพร่องของผู้อื่น
" ความเคารพ
เป็นเรื่องของคนมีปัญญา
ไม่ชอบจับผิด ไม่หน้าไหว้หลังหลอก
มีแต่ความซื่อสัตย์เป็นนิจ
ส่วนคนจิตใจหยาบ จะคอยจ้องจับผิด
มองหาข้อบกพร่องของคนอื่น
กลายเป็นหายนะของมนุษยชาติ "
การจับผิดเป็นหายนะของมนุษยชาติ ปัจจุบันปรากฏว่า โลกยิ่งเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองมากเท่าไร การจ้องจับผิดก็มีมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งกลายเป็นความเสื่อม สลายของโลกใบนี้
ในทางกลับกัน ถ้าใครถูกฝึกให้เป็นบุคคลที่มีความเคารพ แสดงการยกย่องต่อบุคคล ต่อสิ่งของ และเหตุการณ์ที่มีคุณค่า ต่อคุณงามความดีที่อยู่ในตัวเขาเป็นประจำ ตลอดจนคนคนนั้น ก็ไม่ใช่ คนโง่เขลาจนเกินไป นิสัยจับผิดที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างก็จะค่อย ๆ หายไป มีแต่นิสัยจับดีคนอื่น ๆ แล้วจากนั้นคนที่แค่แสดงความเคารพ ก็จะกลายเป็นคนที่มีความเคารพ
เพราะฉะนั้น มารยาทสำคัญของสังคมชาวพุทธ จึงไม่สอนให้จับผิดใคร ๆ ตั้งแต่เล็ก แต่จะฝึกให้คุ้นกับเรื่องความเคารพว่า ถ้าเป็นเด็กเจอหน้าผู้ใหญ่ก็ต้องยกมือไหว้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา แม้มารู้ภายหลังว่าเขาไม่ดี แต่ก็ยังดีกว่าเป็นคนแข็งกระด้างหยาบคายตั้งแต่แรกเจอหน้ากัน
ที่สำคัญก็คือ เรื่องของความเคารพ ไม่ใช่เรื่องความอ่อนแอ ความกลัว ความเหยาะแหยะ ความสอพลอ แต่เป็นเรื่องของคนมีปัญญา ที่พยายามเจาะหาความดี หาความมีคุณประโยชน์ในแต่ละสิ่งแต่ละคนที่ตนประสบ เป็นเรื่องของคนที่รู้จักถนอมน้ำใจกัน และมีเหตุผล เหมือนเภสัชกรพยายามหาคุณสมบัติความเป็นยาป้องกันรักษาโรคจากวัตถุสิ่งของ ไม่เว้นแม้รากไม้ ใบไม้ ฯลฯ ถ้าไม่พบก็แล้วไป ถ้าพบก็เป็นคุณ
นี่คือความเคารพในทางที่ถูกที่ควรตามหลักธรรม ไม่ได้เป็นเรื่องของความอ่อนแอแม้แต่น้อย คนที่มีสติปัญญาสมบูรณ์จริง ๆ จึงจะทำได้ ไม่ใช่เรื่องของคนหูป่าตาเถื่อน ไม่ใช่ละครลิง
" ความเคารพ
ไม่ใช่เรื่องความอ่อนแอ
ความกลัว ความเหยาะแหยะ
ความสอพลอ
แต่เป็นเรื่องที่คนมีปัญญาเท่านั้น
จึงจะทำได้ "
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก