ร่างกายไม่พร้อม เส้นติด

วันที่ 12 กพ. พ.ศ.2563

ร่างกายไม่พร้อม เส้นติด
 
               อาการเส้นติด เมื่อยกล้ามเนื้อ มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติธรรมเป็นส่วนมาก เนื่องจากต้องอยู่ในท่านั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการเส้นยึด ตื้อที่ศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หลับตาไม่สบาย ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ ไหล่ สะบัก แผ่นหลัง เอว แขน ขา เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้นั่งสมาธิได้ไม่นาน และใจถอนจากสมาธิได้ง่าย

 

สาเหตุร่างกายไม่พร้อม เส้นติด

○ อิริยาบถไม่สมดุล โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เรามักจะอยู่ในอิริยาบถของการนั่งเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อิริยาบถไม่สมดุล และถ้าหากขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนหดตัว และเส้นยึดได้

○ การออกกำลังกายแบบหักโหม เป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายสูญเสียพลังงานมากเกินความจำเป็น การยกน้ำหนักก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาเส้นติด ดังนั้นนักปฏิบัติธรรมจึงควรหลีกเลี่ยง

○ อาสนะหรือเบาะรองนั่งที่แข็งหรือนุ่มเกินไปก็มีผลต่ออาการปวดเมื่อย เช่น การนั่งบนอาสนะบริเวณที่เป็นเหลี่ยม อาจทำให้ปวดเมื่อยได้ง่าย และการนั่งอาสนะที่สูงเกินไป ทำให้ไหล่ห่อและแขนห้อยลู่ลง ทำให้ดึงเส้นไหล่และเส้นตา หลับตาแล้วจะรู้สึกไม่ค่อยสบาย

     อาการปวดเมื่อยอาจเกิดจาก ท่านั่งที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น นั่งเอนไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป นั่งหลังงอ คอตก ไหล่ลู่ นั่งกอดเข่า เป็นต้น 

○ การขาดน้ำ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เพราะจะทำให้เซลล์ขาดน้ำไปหล่อเลี้ยง ไม่ชุ่มชื่น 

○ การวางใจผิดวิธี บังคับใจ ลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ก็มีผลมาถึงร่างกาย ทำให้เกิดอาการเกร็งโดยไม่รู้ตัว เช่น นิ้วกระดก ไหล่ยก เป็นเหตุให้เส้นยึดได้

 

วิธีการแก้ไขเส้นติด

○ การบริหารขันธ์เป็นประจำ สม่ำเสมอ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักปฏิบัติธรรม อย่างไรก็ดี ควรออกกำลังกายให้พอเหมาะพอดีกับสภาพร่างกาย ความแข็งแรง และอายุด้วย การเล่นโยคะ เพื่อผ่อนคลายและยืดเส้น เป็นการบริหารร่างกายที่ดีและเหมาะสมสำหรับนักปฏิบัติธรรม ทำให้อิริยาบถสมดุล และแก้ปัญหาเส้นติดได้เป็นอย่างดี ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ เช่น การยกน้ำหนัก หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงจากกล้ามเนื้อมาก ๆ นอกจากนี้ ควรอบสมุนไพรเพราะช่วยทำให้เส้นขยายตัวได้

○ การนวดเบา ๆ เพื่อผ่อนคลายบริเวณที่เส้นติด การนวดด้วยท่อหรือ Thera Cane ช่วยคลายเส้นได้ หากอาการหนักควรหาหมอนวดมาช่วยคลายเส้น หรือรักษาจากหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรง

○ ไม่ฝืนนั่งสมาธิจนร่างกายรับไม่ไหว หากเมื่อยควรเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนท่านั่ง หรือลุกไปเดินเพื่อผ่อนคลาย อาจดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยให้เซลล์ชุ่มชื่นขึ้น เมื่อรู้สึกสดชื่นแล้วค่อยกลับมานั่งต่อ

○ ควรเลือกอาสนะหรือเบาะรองนั่งที่เหมาะสมกับสรีระของตัวเรา การเลือกใช้อาสนะมีส่วนสำคัญต่อการปฏิบัติธรรม ไม่ควรนั่งอาสนะที่สูงเกินไป หลีกเลี่ยงการนั่งอาสนะที่นุ่มหรือแข็งเกินไป ไม่นั่งบนอาสนะบริเวณที่เป็นเหลี่ยม สัน หรือขอบของอาสนะ ปรับอาสนะให้พอดีกับท่านั่ง และนั่งหลังตรง จะรู้สึกสบายและนั่งได้นานโดยไม่รู้สึกกังวลใจกับอาสนะอีกต่อไป

○ อย่าไปนั่งขึงขังเอาจริงเอาจังจนกล้ามเนื้อของร่างกายเราเกร็ง เครียด อย่างนั้นไม่ได้ผล ต้องผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนให้สบาย ทั้งระบบประสาท กล้ามเนื้อ จิตใจทั้งหมดเลย

จากหนังสือ ทำง่าย...ทำได้ ทำได้...ได้ทำ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010295001665751 Mins