บุพกรรมเเห่งสักกเทวราช (ตอนที่ 2)

วันที่ 25 เมย. พ.ศ.2563

บุพกรรมแห่งสักกเทวราช (ตอนที่ 2)

ภายนอกอุทยานสวรรค์
“เอกเทพ ท่านหายไปไหนมาวันหนึ่ง1  และกลับมาพร้อมด้วยรัศมีอันรุ่งเรืองกว่าเดิม ท่านไปทำสิ่งไรมาหรือ?

“เราไปปฏิสนธิในเมืองมนุษย์ ได้สร้างกุศลกรรมต่างๆในที่นั้น อานิสงส์แห่งบุญกิริยาวัตถุที่เราได้กระทำส่งผลให้เป็นเช่นนี้ "


“กุศลกรรมอันใด?”


“ช่วยท่านมฆมานพและเพื่อน หักล้างถางป่าปรับพื้นที่ให้เรียบ2 ทำลานดินกว้างใหญ่เป็นที่รื่นรมย์ให้เป็นที่อาศัยแก่มหาชน ด้วยดวงใจอันอิ่มเอิบและมีศรัทธาแรงกล้า ที่จะได้บำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ”


“เพียงเท่านี้เองหรือ?”


“มีมากมายกว่านี้ ที่เล่านั้นเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของด้านวัตถุ แม้ในด้านจิตใจท่านมฆมานพก็ได้เป็นผู้นำเราบำเพ็ญแล้วอย่างเต็มเปี่ยมเช่นกัน”


“บำเพ็ญอย่างไรหรือ?”


“มีเมตตาธรรม เพื่อแผ่ความเมตตาอันหาประมาณมิได้ไปยังมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย แม้เมื่อพระราชาทรงหลงเชื่อคำยุยงของนายบ้านที่กล่าวหาเราว่าพวกเราเป็นโจร   ได้มีรับสั่งให้ลงโทษเราโดยใช้ช้างเหยียบ   ท่านมฆมานพสอนให้เราตั้งอยู่ในความเมตตา ไม่เป็นเหยื่อแห่งความกลัว แม้ช้างก็ไม่อาจเหยียบเราได้ ด้วยอำนาจเมตตาจิตของพวกเรา ภายหลังพระราชาทรงทราบความจริง ทรงประทานนายบ้านและญาติที่เกะกะเกเรให้เป็นทาสพวกเรา และมอบช้างนั้นเป็นพาหนะของพวกเราด้วย”


“อำนาจแห่งความเมตตา มีมากถึงเพียงนี้เชียวหรือ”  องค์หนึ่งอุทาน  เอกเทพยิ้มในพักตร์ไม่ตอบว่ากระไรอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า


“น่าอัศจรรย์ใจมาก แม้ช้างซึ่งเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็ยังมีใจรับรู้เมตตาจิตของมนุษย์ได้ แล้วท่านมิได้ทำสิ่งอื่นอีกหรือ?”


“มีอีก เมื่อเราได้เห็นอานิสงส์ของบุญทันตาดังนั้น ก็ยิ่งเพิ่มศรัทธาในอันที่จะสร้างกุศลกรรมให้มาก ๆ ยิ่งๆขึ้นไป จึงได้ร่วมกัน สร้างศาลาใหญ่ ในหนทางสี่แพร่ง เพื่อให้มหาชนที่เดินทางมาได้เข้าพักอาศัย แม้ภริยาใหญ่ทั้งสามของท่านมฆมานพ ก็พยายามที่จะมีส่วนในกุศลกรรมครั้งนี้ด้วย โดยนางสุธรรมาได้สร้างช่อฟ้าประดับศาลานั้น  นางสุจิตราสร้างสระน้ำไว้ให้มหาชนดื่มและอาบ นางสุนันทาได้สร้างสวนดอกไม้ประดับไว้ให้มหาชนได้ประดับเมื่ออาบน้ำเสร็จ คงแต่นางสุชาดาผู้เดียวที่ไม่เลื่อมใสในการบุญด้วย คิดว่าสิ่งที่สามีสร้าง ตนก็ย่อมมีส่วนร่วมด้วยเอง”


“แล้วบรรดาเพื่อนทั้งหลายของท่านไปอยู่เสียที่ใด?”


“ทยอยกันขึ้นมาโน่นอย่างไรล่ะ” เอกเทพชี้ไปยังเทพหลายองค์ที่ขึ้นมาปรากฏ ต่างองค์มีรัศมีสุกสว่าง เย็นตาเย็นใจแก่ผู้ได้พบเห็น


“องค์ไหนคือมฆมานพ”


“ยังไม่มา”


“ถ้ามา จะมาอยู่ที่ใด ในฐานะใด?


“เราเข้าใจว่า จะได้มาเป็นเจ้าเป็นใหญ่ที่นี่ เพราะท่านได้สร้างบารมีมามากนัก มากกว่าเราหลายร้อยเท่า?”


“เท่าที่เราได้ฟังท่านเล่า ท่านก็ได้ร่วมสร้างกุศลกับท่านมฆะ  ตลอดมา ไฉนจึงว่าทำมาน้อยกว่ากันล่ะ?”


“พวกเราได้กระทำสิ่งต่าง ๆ ก็ด้วยอาศัยมฆะเป็นผู้ชักนำ และเป็นหัวหน้าดำเนินการมาตลอด นอกจากนี้ท่านยังได้บำเพ็ญวัตตบทเจ็ดอันกระทำได้ยากอีกด้วย”


“วัตตบทเจ็ด?”


“ถูกแล้ว”


“เป็นอย่างไรหรือ?”


๑. เป็นผู้เลี้ยงมารดาตลอดชีวิต


๒. เป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต


๓. เป็นผู้พูดจาอ่อนหวานตลอดชีวิต


๔. เป็นผู้ไม่พูดส่อเสียดตลอดชีวิต


๕. เป็นผู้มีจิตอันปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีเครื่องบริจาคอันสละแล้ว ยินดีในการสละอันควรแก่ผู้ขอ ยินดีในการแจกทานตลอดชีวิต


๖. เป็นผู้กล่าววาจาสัตย์ตลอดชีวิต


๗. เป็นผู้ไม่มีความโกรธตลอดชีวิต แม้จะมีความโกรธเกิดขึ้น ก็หักห้ามความโกรธได้โดยพลัน


“ดูๆ ก็ไม่เห็นน่าจะทำยากเลยนี่ ใคร ๆ ก็น่าจะทำได้”



“ถ้าทำด้วยปาก อะไร ๆ ก็ทำได้โดยไม่ยากทั้งนั้นแหละ แต่ ในทางปฏิบัติสิแสนเข็ญ”


“ทำไมก็การเลี้ยงดูพ่อแม่ และการประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ มิใช่วิสัยของมนุษย์ทุกคนดอกหรือ?”


“ใช่ แต่บุคคลที่ปฏิบัติจริงนั้นมีกี่คนเล่า? และสองข้อที่ท่านว่าก็ทำง่ายอยู่ดอก ข้ออื่น ๆล่ะ พูดจาอ่อนหวาน คือ ก็พอทำได้อยู่นะ ไม่พูดส่อเสียด แม้จะยากสักหน่อยสำหรับผู้หญิง ก็ยังพอจะทำได้ อยู่น่ะแหละ แต่ไอ้ที่จะไม่ตระหนี่ พูดวาจาสัตย์ และไม่โกรธตลอดชีวิตน่ะเห็นจะเกินกำลังละ”


“ก็ไม่น่าจะยากอะไรนี่นะ ให้ทาน ใคร ๆ ก็ให้ได้ พูดปดไม่เห็นจะต้องพูดเลยนี่ ไอ้ข้อสุดท้ายดอกพอจะยอมรับว่ายากจริง”


“จริง ให้ทานเป็นครั้งคราวน่ะง่ายอยู่ดอก แต่การให้ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอตลอดชีวิตท่านทำได้หรือ? ถ้าอย่างนั้นที่ท่านนั่งเป็นทุกข์ เพราะถูกเจ้าพวกนั้นมันเบียดเบียนอยู่เสมอน่ะ ทำไมไม่นึกเสียว่าให้ทานมันไป จะได้ไม่เดือดร้อน ไอ้การไม่พูดปดน่ะพอทำได้อยู่ดอก แต่การรักษาวาจาสัตย์นั้นนะยากจริงๆ ท่านจะทำตามคำพูดได้ทุกสิ่งหรือ? ท่านจะยอมรับความจริงได้ทุกเรื่องอยู่หรือ? ถ้าจะรักษาวาจาสัตย์ ย่อมจะต้องรักษากายให้งามพร้อมด้วย ยิ่งจะรักษาอารมณ์มิให้โกรธด้วยแล้ว ยิ่งยากใหญ่ จริงหรือไม่ ? "


“การไม่พูดปด กับการรักษาวาจาสัตย์ไม่เหมือนกันดอกหรือ? 


“ไม่เหมือนดอก การไม่พูดปดนั้น ถ้าหากพูดความจริงออกไปแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายแก่คนหรือผู้อื่นจะเว้นไม่พูดเสียก็ได้ แต่ถ้าจะรักษาความสัตย์ ก็คือรักษาความจริง  จริงอย่างไรก็ต้องพูดไปอย่างนั้น ดังนั้น ผู้รักษาวาจาสัตย์จึงต้องรักษาศีลด้วย มิฉะนั้นก็จะรักษาสัตย์มิได้ตลอด”


“ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?”


“อ้าว ก็ท่านลักทรัพย์เขาผิดลูกเมียเขา ดื่มสุราเป็นนิตย์ ใครเขาถามจะบอกเขาได้หรือ ไม่ถูกทำร้ายก็ติดคุกน่ะสิ”


“ก็การกินเหล้าน่ะมันเกี่ยวกับใครด้วยล่ะ?”


“ถ้ากินดีๆ ก็ไม่เกี่ยวกับใครเขาดอก แต่เหล้าน่ะ กินแล้วมันก็เมา ครองสติไว้ไม่อยู่ เดี๋ยวก็โกรธกันง่ายๆ ตีกัน ฆ่ากัน เมาแล้วก็ฟุ้งไป วาจาไม่เป็นปกติ ไม่เคยพูดโม้โอ้อวดก็พูดได้ ก็เสียสัตย์ซี ใช่ไหมล่ะ? ติดเหล้าหนักๆ ไม่มีเงินซื้อกินก็ต้องลัก ต้องขโมยเขามากินผิดศีลเข้าไปอีก กินเหล้าอย่างเดียวนี่แหละ มันผิดได้ทุกอย่างจริงไหม?”


เอกเทพตรัสพลางมองดูผู้ตั้งปัญหา เทพนั้นยิ้มไม่ตอบว่ากระไร  เอกเทพจึงตรัสต่อว่า


“ยิ่งข้อสุดท้ายยิ่งทำได้ยากใหญ่ ท่านเองก็เห็นด้วยแล้ว การที่จะไม่ให้มีอารมณ์โกรธตลอดชีวิตน่ะ พระอรหันต์เท่านั้นดอกที่จะทำได้ จึงได้มีข้อแม้ต่อไปอีกว่า แม้จะเกิดความโกรธก็สามารถหักห้ามได้โดยพลัน คือ อารมณ์โกรธน่ะมีอยู่ได้ แต่หักห้ามไว้ได้ ไม่แสดงออกมาโทสะ และความโกรธนั้น เป็นสิ่งที่ทำลายปกติของมนุษย์และเทพได้มากที่สุด แม้การที่เราต้องจุติจากสวรรค์ก็ด้วยอำนาจความโกรธเช่นกัน” 3
 

 

1หนึ่งวันสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่ากับ 100 ปีมนุษย์

2มฆมานพและเพื่อนรวม ๓๓ คน ได้ทำประโยชน์ให้แก่สาธารณชนด้วย  ประการต่างๆ เมื่อสิ้นอายุแล้ว ต่างได้ขึ้นไปเสวยสุขร่วมกันบนสวรรค์ชั้นที่ ๒ ซึ่งได้ชื่อว่าดาวดึงส์สวรรค์ก็เพราะมีเทพมเหศักดิ์รวม ๓๓ องค์ (ดาวดึงส์แปลว่า ๓๓)

3เหตุที่ทำให้เทพจุติมี ๔ ประการคือ หมดอายุ หมดบุญ หมดอาหาร และโทสะ

 

 

จากหนังสือ กำเนิดพระอินทร์  โดย ศิริกุล ศุภวัฒนะ

จัดพิมพ์: ฝ่ายวิชาการ วัดพระธรรมกาย  (มกราคม ๒๕๓๒)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0045798818270365 Mins