มงคลที่ ๓   บูชาบุคคลที่ควรบูชา

วันที่ 14 กค. พ.ศ.2563

14-7-63-2b.jpg

มงคลที่ ๓   บูชาบุคคลที่ควรบูชา

ธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนทั้งหลาย
เหมือนพระจันทร์ พระอาทิตย์
ส่องแสงสว่างแก่คนทั้งปวง


๑. คุณของพระรัตนตรัย

๑.๑ เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนภูเขา น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร ลำห้วย ให้เต็ม ย่อมยังหนอง บึง แม่น้ำน้อย แม่น้ำใหญ่ให้เต็ม ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม ฉันใด ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ และศีลอันเป็นที่รักของ พระอริยเจ้าธรรมเหล่านี้ เมื่อไหลไปถึงฝั่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ ฉันนั้นเหมือนกัน
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๑/๓๖๖

 

๑.๒ พระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเสมือนขุมทรัพย์ อันเต็มไปด้วยรัตนะ มีแก้วมณี และทองคำ เป็นต้น เพราะเพียบพร้อมไปด้วยอริยทรัพย์
ขุ.เถร. (อรรถ) มก. ๕๓/๔๑๓

 

๑.๓ บริษัท ๔ นี้จักบูชาเราด้วยการบูชานี้เพียงใด ศาสนาของเราก็จะรุ่งเรือง ดุจจันทร์เพ็ญลอยเด่นกลางท้องฟ้า ฉะนั้น
ที.ม. (พุทธ) มก. ๑๓/๔๒๒

 

๑.๔ พระพุทธองค์ทั้งพระสาวกทรงแสดงพระรัศมี ทำพระศาสนาให้ไร้มลทิน แล้วดับขันธปรินิพพาน เหมือนดวงจันทร์เคลื่อนจากท้องนภากาศ.
ขุ.พุทธ. (พุทธ) มก. ๗๓/๕๔๔



๑.๕ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ พระธรรมเปรียบเหมือนกลุ่มรัศมีของพระจันทร์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่เอิบอิ่มด้วยรัศมีของพระจันทร์เพ็ญ.
ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๑๙

 

๑.๖ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ทอแสงอ่อนๆ พระธรรมเปรียบเหมือนรัศมีของดวงอาทิตย์
พระสงฆ์เปรียบเหมือนโลกที่ดวงอาทิตย์นั้นกำจัดมืดเเล้ว.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๑๙

 

๑.๗ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนเมฆฝนใหญ่ พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำฝน พระสงฆ์ผู้ระงับละอองกิเลสเเล้วเปรียบเหมือนชนบท ซึ่งถูกระงับละอองฝุ่นเพราะฝนนั้น.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๑๙

 

๑.๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนสารถีที่ผู้เลิศ พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายฝึกม้าอาชาไนย พระสงฆ์เปรียบเหมือนฝูงม้าอาชาไนยที่ถูกฝึกมาดีเเล้ว.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๑๙

 

๑.๙ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนศัลยแพทย์ (หมอผ่าตัด) เพราะทรงถอนลูกศร คือทิฏฐิได้หมด พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายที่ช่วยถอนลูกศร คือ ทิฏฐิออกได้ พระสงฆ์ผู้ถอนลูกศร คือ ทิฏฐิออกแล้ว.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๑๙

 

๑.๑๐ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนจักษุแพทย์ เพราะทรงลอกพื้นตา คือ โมหะ(ความหลง) ออกได้แล้ว พระธรรมเปรียบเหมือนอุบายเครื่องลอกพื้น (ตา) พระสงฆ์ผู้มีพื้นชั้นตาอันลอกแล้ว ผู้มีย่อมเป็นดวงตา คือญาณ (ความรู้แจ้ง) อันสดใส เปรียบเหมือนชนที่ลอกพื้นตาแล้วมีดวงตาสดใส

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๑๙

 

๑.๑๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนแพทย์ผู้ฉลาด เพราะทรงสามารถกำจัดพยาธิ(โรค) คือ กิเลสพร้อมทั้งอนุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน) ออกได้ พระธรรมเปรียบเหมือนเภสัชที่ปรุงถูกต้องแล้ว พระสงฆ์ผู้มีพยาธิ คือ กิเลส และอนุสัยอันระงับแล้ว เปรียบเหมือนหมู่ชนที่ได้รับเภสัชอันถูกต้องจนพยาธิระงับแล้ว.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐

 


๑.๑๒ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนทางดีหรือพื้นที่ปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนผู้เดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐


๑.๑๓ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนนายเรือที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนเรือ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้อาศัยเรือเดินทางถึงฝั่ง.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐

 

๑.๑๔ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ได้ขุมทรัพย์.
ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐

 

๑.๑๕ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ประทานความไม่มีภัย พระธรรมเปรียบเหมือนความไม่มีภัย พระสงฆ์ผู้ล่วงภัยทุกอย่างเปรียบเหมือนชนผู้ถึงความไม่มีภัย.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐

 

๑.๑๖ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ปลอบ พระธรรมเปรียบเหมือนการปลอบ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ถูกปลอบ.
ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐

 

๑.๑๗ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนมิตรดี พระธรรมเปรียบเหมือนคำสอนที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ประสบประโยชน์ตน เพราะประกอบประโยชน์เกื้อกูล.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐

 

๑.๑๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบ่อเกิดแห่งทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนทรัพย์ที่เป็นสาระ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ใช้ทรัพย์ที่เป็นสาระนั้น
ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๐

 

๑.๑๙ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนบิดาผู้มอบมรดกโดยธรรม พระธรรมเปรียบเหมือนมรดกอันล้ำค่า พระสงฆ์เปรียบเหมือนพวกบุตรผู้สืบมรดก คือ พระสัทธรรมนั้น.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๑

 


๑.๒๐ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนดอกบัวที่บาน พระธรรมเปรียบเหมือนน้ำที่เกิดจากดอกบัวที่บาน พระสงฆ์เปรียบเหมือนหมู่ภมรที่ดูดกินน้ำจากดอกบัวนั้น.

ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๑


๑.๒๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเหมือนช่างผู้ทำเครื่องประดับ พระธรรมเปรียบเหมือนเครื่องประดับ พระสงฆ์เปรียบเหมือนพระราชโอรสที่ทรงประดับแล้วด้วยพระสัทธรรมนั้น.
ขุ.ขุ. (อรรถ) มก. ๓๙/๒๑

 

28-7-63-3-b.jpg

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๑ คุณความดี
 

๒.๑.๑  พระมหาบุรุษทรงพ้นแล้วจากเครื่องผูกมัดทั้งปวง มีพระสันดานเบิกบาน ดุจดอกบัวต้องแสงอาทิตย์ ฉะนั้น
ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๑๔๐


๒.๑.๒ ใครๆ ไม่อาจทำความมัวหมองให้เกิดขึ้นแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกับไม่อาจทำความเศร้าหมองให้เกิดแก่แก้วมณี
ขุ.ชา. (พุทธ) มก. ๕๘/๒๘๙


๒.๑.๓ เมล็ดผักกาดเมื่อนำไปเทียบกับเขาสิเนรุ รอยเท้าโคเมื่อนำไปเทียบกับมหาสมุทร หยดน้ำค้างเมื่อนำไปเทียบกับน้ำในสระใหญ่ ๗ สระ ก็เป็นของกะจิ๊ดริ๊ด คือ เล็กน้อย ฉันใด คุณของพวกเรา เมื่อนำไปเทียบกับพระคุณมีพระชาติสมบัติ เป็นต้น ของพระสมณโคดมเป็นของเล็กน้อย ฉันนั้น
ที.สี. (อรรถ) มก. ๑๒/๒๕


๒.๑.๔ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ และรัตนะนั้นที่เสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย
ขุ.ขุ. (พุทธ) มก. ๓๙/๒๑๕


๒.๑.๕ พระพุทธองค์ทรงพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ มีนักษัตรฤกษ์ดีเหมือนพระจันทร์ ทรงสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ บานเหมือนต้นพระยารัง อันข่าย คือ พระรัศมีแวดวง มีพระรัศมีรุ่งเรืองเหมือนภูเขาทอง มีพระรัศมีล้อมรอบด้านละวา มีรัศมีนับด้วยร้อยเหมือนอาทิตย์ มีพระพักตร์เหมือนทองคำ เป็นพระพิชิตมาร เป็นเหมือนภูเขาอันให้เกิดความยินดี มีพระหฤทัยเต็มด้วยพระกรุณา มีพระคุณปานดังสาคร มีพระเกียรติปรากฏแก่โลก เหมือนเขาสิเนรุซึ่งเป็นภูเขาสูงสุด มีพระยศเป็นที่ปลื้มใจ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา เป็นนักปราชญ์

ขุ.อป. (เถระ) มก. ๗๒/๔๐๗


๒.๑.๖ พระองค์เป็นเสมือนยาบำบัดโรค ทำให้ยาพิษ คือ กิเลสพินาศ ประดับด้วยกลิ่น คือคุณเหมือนภูเขาคันธมาทน์
ขุ.อป. (เถระ) มก. ๗๒/๔๐๘

๒.๑.๗ พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยังสัตว์ให้ยินดีเหมือนพระจันทร์ แผดแสงเหมือนพระอาทิตย์ ทำให้เยือกเย็นเหมือนเมฆ เป็นบ่อเกิดแห่งคุณเหมือนสาคร มีศีลเหมือนแผ่นดิน มีสมาธิเหมือนขุนเขาหิมวันต์ มีปัญญาเหมือนอากาศ ไม่ข้องเหมือนกับลม ฉะนั้น
ขุ.อป. (เถร) มก. ๗๒/๔๐๗)

 

mongkol%203-%20%20%208-9-63--1.jpg

 

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๒ คุณประโยชน์
 

๒.๒.๑  ธรรมดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเเก่คนทั้งหลาย เหมือนพระจันทร์พระอาทิตย์ส่องเเสงสว่างเเก่คนทั้งปวง.
สัง.สฬา. (อรรถ) มก. ๒๘/๓๕


๒.๒.๒ พระองค์ก็ทรงเป็นเหมือนเกาะของสัตว์ทั้งหลาย ผู้จมลงในสาคร คือ สังสารวัฎอันเป็นที่พึ่งไม่ได้ เหมือนเกาะกลางมหาสมุทรเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายที่เรืออัปปางในมหาสมุทร ฉะนั้น.
ขุ.พุทธ. (อรรถ) มก. ๗๓/๑๑๗


๒.๒.๓ พระอาทิตย์อัสดงคตเเล้ว โลกก็ถึงความมืด ฉันใด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติ สัตวโลกก็ถึงความมืด ฉันนั้น

           เมื่อพระอาทิตย์อุทัยย่อมขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดก็ขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันนั้น.
ขุ.อป. (เถระ) มก. ๗๑/๑๖๙


๒.๒.๔ ถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาเเละมนุษย์ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าด้วยเหตุไร?

          ตอบว่า ด้วยประสงค์จะบรรลุคุณวิเศษนานาประการ อุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ผลิผลอยู่เนืองนิตย์ อันฝูงนกเข้าไปจับก็ด้วยประสงค์จะจิกกินผลที่มีรสอร่อย ฉะนั้น.
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๒๗๕


๒.๒.๕ นกละป่าเล็กเเล้ว พึงอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้ ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ละเเล้วซึ่งพวกพราหมณ์ที่มีปัญญาน้อย อาศัยเเล้วซึ่งพระองค์ เป็นดังว่าหงส์อาศัยสระใหญ่ที่มีน้ำมาก ฉันนั้น

ขุ.จู. (เถระ) มก. ๖๗/๔๕๕


๒.๒.๖ นายหมู่ย่อมพาพวกให้ข้ามกันดาร คือ โจร ทุพภิกขภัย ที่ไม่มีน้ำ ให้ถึงภูมิสถานปลอดภัย ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมนำสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามกันดาร คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส เเละอุปายาส เเละกันดาร คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ1 ทิฎฐิ กิเลส เเละทุจริต เเละที่รกชัฎ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฎฐิ กิเลส ทุจริต ให้ถึงอมตนิพพาน อันเป็นภูมิสถานปลอดภัย ฉันนั้นเหมือนกัน.
ขุ.จู. (เถระ) มก. ๖๗/๔๗๘

๒.๒.๗ เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดขึ้น เเก้วมณีก็บังเกิดขึ้น เเก้วมณีนั้นมีอยู่เเล้ว เเต่บังเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดขึ้น ฉันใด ทางอันเกษมเมื่อผู้สั่งสอนไม่มี ทางนั้นก็ลบเลือนหายไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นทางนั้น ก็ทรงบอกให้เเก่มนุษย์เเละเทวดาทั้งหลาย ฉันนั้น
มิลิน. ๒๙๖

 

๒.๒.๘ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า พวกเดียรถีย์2  กล่าวว่า ถ้าพระพุทธเจ้ายังทรงยินดีต่อการบูชา ก็ยังไม่เชื่อว่า ปรินิพพาน ยังเกี่ยวข้องกับโลก ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานเเล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโลก หลุดพ้นไปจากภพทั้งปวงเเล้ว การบูชาพระพุทธเจ้าก็ไม่เกิดประโยชน์ 

            พระนาคเสนทูลตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงยินดีด้วยสักการะ เหมือนไฟกองใหญ่ไม่ยินดีด้วยเชื้อ เหมือนเเผ่นดินใหญ่ไม่ยินดีต่อพืชทั้งปวงที่อาศัยเเผ่นดินเจริญงอกงาม พืชที่เจริญงอกงามโดยอาศัยเเผ่นดินเหมือนการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ดับขันธปรินิพพานเเล้วก็ยังมีผล.

มิลิน. ๑๕๖

 

๒.๒.๙ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายยังเป็นผู้บวชใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จะพึงมีความน้อยใจ มีความเเปรปรวนไป

           ข้าเเต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนพืชที่ยังอ่อนไม่ได้น้ำ จะพึงเป็นอย่างอื่น จะพึงเเปรไป ฉันใด

           ข้าเเต่พระองค์ผู้เจริญ ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้ ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ฉันนั้น.
ม.ม. (พุทธ) มก. ๒๐/๓๗๙)

 

 

เชิงอรรถ

1มานะ ความถือตัว

2เดียรถีย์ นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา

 

 

9-9-63--1b.jpg

 

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๓  ความยิ่งใหญ่
 

๒.๓.๑  พระจันทร์และพระอาทิตย์โคจรส่องทิศให้สว่างไสวมีประมาณเท่าใด  โลกตังพันก็เท่านั้น  อำนาจของพระองค์ย่อมเป็นไปในพันโลกนั้น
ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๔/๕๓


๒.๓.๒ นับตั้งแต่พระสมณโคดมอุบัติขึ้นมา  พวกเรานักบวชเปลือย  กลายสภาพเป็นเหมือนฝูงหิ่งห้อยในยามดวงอาทิตย์อุทัย
ที.ปา. (อรรถ) มก. ๑๕/๔๒


๒.๓.๓ พระเจ้าจักรพรรดิมีหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม  เสด็จเลียบแผ่นดินอันไพศาลนี้  มีมหาสมุทรเป็นอาณาเขตไปรอบๆได้  ฉันใด  พระสาวกทั้งหลายผู้มีวิชชา๓ 1   ละมัจจุราชได้แล้วพากันเข้าไปห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้ทรงชนะสงครามแล้ว  ฉันนั้น
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๓/๔๘๘


๒.๓.๔ พระผู้มีพระภาคอันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว  ไพโรจน์ประหนึ่งท่อนทองอันห่อหุ้มด้วยผ้ากัมพลแดง  ประดุจเรือทองอันลอยลำอยู่ในท่ามกลางดงประทุมแดง  เสมือนปราสาททองอันล้อมรอบไปด้วยเวทีแก้วประพาฬ.
ที.ปา. (อรรถ) มก. ๑๖/๒๖๗


๒.๓.๕  ท่านผู้เป็นพุทธะ  ผู้พหูสูตแวดล้อมแล้ว ประหนึ่งเกสรอันแวดล้อมไปด้วยกลีบประดุจกรรณิกาอันแวดล้อมไปด้วยเกสร  เสมือนพญาช้างฉัททันต์อันแวดล้อมไปด้วยช้างบริวารทั้งเเปดพัน  ปานว่าจอมหงส์ธตรัฐอันเเวดล้อมไปด้วยหงส์บริวารเก้าเเสน  ดังว่าพระเจ้าจักรพรรดิอันแวดล้อมไปด้วยเหล่าเสนางคนิกร  ประดุจท้าวสักกเทวราชอันแวดล้อมไปด้วยเหล่าทวยเทพ  ปานว่าท้าวมหาพรหมอันแวดล้อมไปด้วยคณะพรหม

ที.ปา. (อรรถ) มก. ๑๖/๒๖๘


๒.๓.๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุพันรูปแวดล้อมแล้วเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์  เสมือนท้าวสหัสนัยน์เทวราชอันหมู่ทวยเทพห้อมล้อมแล้วเสมือนท้าวมหาพรหมอันหมู่พรหมห้อมล้อมแล้ว
ขุ.พุทธ. (อรรถ) มก. ๗๓/๕๕๖

๒.๓.๗ เราเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าท้าวสักกะ  ก็ท้าวสักกะนั่นเป็นคิลานุปัฏฐากของเราเช่นเดียวกับสามเณรผู้เป็นกัปปิยการก2

ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๒๒๗

 

๒.๓.๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปทางใดๆ พราหมณ์ คฤหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท ก็จักหลั่งไหลไปทางนั้นๆ เหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงมา  น้ำก็ย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม

อัง.ปัญจก. (ทั่วไป) มก. ๓๖/๕๗

 

๒.๓.๙ พึงปฏิบัติในพระสรีระของพระตถาคต  เหมือนที่เขาปฏิบัติในพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ.
ที.ม. (พุทธ) มก. ๑๓/๓๑๐

 

๒.๓.๑๐ หมื่นโลกธาตุนี้  ธารไว้ได้ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว  ธารไว้ได้ซึ่งพระคุณของพระตถาคตองค์เดียว  ถ้าองค์ที่สองพึงเสด็จอุบัติขึ้น  เหมือนโลกธาตุนี้ก็พึงธารไว้ไม่ได้  พึงหวั่นไหว  สั่นคลอน  น้อมไป  โอนไป  เอียงไป  เรี่ยราย  กระจัดกระจาย  พินาศไปไม่พึงตั้งอยู่ได้เปรียบเสมือนเรือที่รับบุรุษไว้ได้คนเดียว  เมื่อบุรุษคนหนึ่งขึ้นไป  เรือพึงตั้งอยู่ได้พอ  ถ้าบุรุษคนที่สองขึ้นสู่เรือลำนั้น  เรือนั้นจะพึงธารบุรุษทั้งสองนั้นไว้ได้หรือ.
ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๕/๒๕๓


๒.๓.๑๑  ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่สองพึงอุบัติขึ้น  หมื่นโลกธาตุนี้ก็ธารไว้ไม่ได้ ฯลฯ  ไม่พึงตั้งอยู่ได้  เปรียบเสมือนบุรุษผู้มีความสุขพึงบริโภคโภชนะตามความต้องการ  คือ  เมื่อหิวก็บริโภคเต็มอิ่ม (แค่ขอ) ของบุรุษนั้น

ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๕/๒๕๔


๒.๓.๑๒  หมื่นโลกธาตุนี้ธารพระพุทธเจ้าไว้ได้พระองค์เดียว  ทั้งทรงคุณของพระตถาคตไว้ได้พระองค์เดียวเท่านั้น

              พระนาคเสนถวายพระพรแก่พระยามิลินท์ ว่า มหาบพิตรในโลกนี้เกวียน ๒ เล่ม บรรจุด้วยรัตนะจนเต็มเสมอปาก คนทั้งหลายก็พากันขนเอารัตนะของเกวียนเล่มหนึ่งมาเกลี่ยไว้ในเกวียนอีกเล่มหนึ่ง มหาบพิตร เกวียนเล่มนั้นจะพึงธารรัตนะของเกวียนทั้งสองเล่มนั้นไว้ได้หรือไม่ 

              พระยามิลินท์ตรัสว่า  ท่านผู้เจริญ  เกวียนนั้นย่อมธารไว้ไม่ได้แน่  ดุมของเกวียนนั้นพึงไหวบ้าง ลำของเกวียนนั้นพึงหักไปบ้าง  เพลาของเกวียนนั้นพึงหักไปบ้าง

              พระนาคเสนทูลถามว่า เกวียนย่อมหักไปด้วยการขนรัตนะที่มากเกินไปใช่หรือไม่

              พระยามิลินท์ตรัสตอบว่า  ใช่แล้ว ท่านผู้เจริญ

              พระนาคเสนถวายพระพรว่า  มหาบพิตร  ข้อนี้ก็อุปไมยฉันนั้น  แผ่นดินย่อมหวั่นไหวด้วยธรรมะที่หนักยิ่ง

ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๕/๒๕๔


๒.๓.๑๓ ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสองพระองค์พึงเสด็จอุบัติขึ้นในขณะเดียวกัน  การทะเลาะวิวาทแม้ของบริษัทพึงบังเกิดขึ้น  มนุษย์ทั้งหลายก็จะเป็นสองฝักสองฝ่าย  โดยกล่าวว่าพระพุทธเจ้าของพวกท่าน  พระพุทธเจ้าของพวกเรา

             มหาบพิตร เปรียบเสมือนบริษัทของอำมาตย์ผู้มีกำลังสองคน  พึงเกิดการวิวาทกัน  คนเหล่านั้นก็จะเป็นสองฝักสองฝ่าย  โดยกล่าวว่าอำมาตย์ของพวกท่าน  อำมาตย์ของพวกเรา

ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๕/๒๕๕


๒.๓.๑๔  แผ่นดินใหญ่นั้นมีผืนเดียวเท่านั้น  สาครใหญ่มีสายเดียวเท่านั้น  ภูเขาสิเนรุยอดแห่งภูเขาใหญ่ประเสริฐที่สุดก็มีลูกเดียวเท่านั้น อากาศใหญ่มีแห่งเดียวเท่านั้น  ท้าวสักกะผู้ใหญ่มีองค์เดียวเท่านั้น  พระพรหมผู้ใหญ่มีองค์เดียวเท่านั้น  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ใหญ่ก็มีพระองค์เดียวเท่านั้น  พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นในที่ใด  ในที่นั้นก็ไม่มีโอกาสแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายองค์อื่น  ฉะนั้น  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น  ย่อมอุบัติขึ้นในโลก

ที.ปา. (เถระ) มก. ๑๕/๒๕๖


๒.๓.๑๕  พระผู้มีพระยศยิ่งใหญ่  ผู้แกล้วกล้าปราศจากภัย  ประทับนั่งอยู่ท่ามกลางกองกำลังของมาร  เหมือนพญาครุฑอยู่ท่ามกลางฝูงวิหคเหมือนราชสีห์ผู้ยิ่งยงอยู่ท่ามกลางฝูงมฤค  ฉะนั้น
ขุ.พุทธ. (อรรถ) มก. ๗๓/๗๒๓

๒.๓.๑๖ พระอาทิตย์ย่อมส่องแสงในเวลากลางวัน  พระจันทร์ย่อมรุ่งเรืองในเวลากลางคืน  กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้วย่อมรุ่งเรือง  พราหมณ์ผู้มีความเพ่งย่อมรุ่งเรือง ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมรุ่งเรืองด้วยเดชตลอดกลางวัน และกลางคืน

ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๓/๔๑๖

 

๒.๓.๑๗ ราชสีห์ เขาเรียกว่าสีหะ เพราะอดทนและ  เพราะล่าเหยื่อ  แม้ฉันใด  ตถาคตก็ฉันนั้น เขาเรียกว่า  สีหะ เพราะทรงอดทนโลกธรรมทั้งหลาย  และเพราะทรงกำจัดลัทธิอื่น  การบันลือของสีหะที่ท่านกล่าวอย่างนี้ เรียกว่า สีหนาท

อัง.จตุกก. (อรรถ) มก. ๓๕/๒๒

 

๒.๓.๑๘  พระตถาคตทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณก็เหมือนราชสีห์  เวลาที่เสด็จออกจากพระคันธกุฏีก็เหมือนราชสีห์ออกจากถ้ำทองที่อยู่อาศัย  เวลาเสด็จเข้าไปธรรมสภาก็เหมือนราชสีห์สะบัดตัว  การที่ทรงเหลียวดูบริษัทก็เหมือนการเหลียวดูทิศ  เวลาทรงแสดงธรรมก็เหมือนการเเผดสีหนาท การเสด็จไปบําราบลัทธิอื่นก็เหมือนการออกหาเหยื่อ
อัง.จตุกก. (อรรถ) มก. ๓๕/๑๒๖

 

๒.๓.๑๙  แม้ไม่ได้เห็นมหาสมุทรก็รู้ว่ามหาสมุทรกว้างใหญ่  เพราะแม่น้ำเป็นอันมากไหลไปสู่มหาสมุทร  แต่ไม่ได้ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือล้น ฉันใด แม้ไม่เคยเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ได้เห็นพระสาวกผู้มีอภิญญา3  เป็นพระอรหันต์  ก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นเยี่ยมไม่มีใครเทียมทาน
มิลิน. ๑๐๙


๒.๓.๒๐  ตัวเลขยังปรากฏอยู่  อาจารย์ผู้คิดเลขย่อมปรากฏด้วยชื่อเสียง ฉันใด ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ย่อมแสดงถึงความรู้อันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีใครเทียม

มิลิน. ๑๐๙


๒.๓.๒๑ ภูเขาสตบรรพตใหญ่กว่าภูเขาทั้งหลายในป่าหิมพานต์  ดวงอาทิตย์ประเสริฐกว่าสิ่งทั้งหลายในอากาศ  มหาสมุทรใหญ่กว่าแม่น้ำทั้งหลาย  ดวงจันทร์ดีกว่าดวงดาวทั้งหลาย  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลิศกว่ามนุษย์ทั้งหลาย

มิลิน. ๑๔๖


๒.๓.๒๒ ในหมู่มนุษย์ผู้หนึ่งมีชาติตระกูลสูง  มีทรัพย์ มีวิชา มีศิลปะ เเกล้วกล้าเฉียบแหลมมีคุณต่างๆกัน แต่พระราชาย่อมสูงกว่าบุรุษทั้งหลายฉันใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเป็นผู้ล้ำเลิศประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น

มิลิน. ๒๗๒


๒.๓.๒๓  คลื่นตั้งขึ้นในน้ำลึก  ย่อมล่วงเลยฝั่งไปไม่ได้ คลื่นเหล่านั้นกระทบทั่วฝั่ง  ย่อมเป็นระลอกเล็กน้อยละลายหายไป  ฉันใด  ชนในโลกเป็นส่วนมากที่เป็นเดียรถีย์ ก็ฉันนั้น มีทิฎฐิต่างๆกันต้องการจะข้ามธรรมของพระองค์  แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้

ขุ.อป. (เถระ) มก. ๗๐/๔๑๙


๒.๓.๒๔ ผู้ใดประสงค์ร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย  ผู้ไม่ทำบาปกรรม บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้น ผู้ใดตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทรด้วยยาพิษเป็นหม้อๆ ผู้นั้นไม่ควรประทุษร้ายด้วยยาพิษนั้น เพราะมหาสมุทรเป็นสิ่งที่น่ากลัว ฉันใด ผู้ใดเบียดเบียนตถาคตผู้เสด็จไปดีแล้ว  มีพระทัยสงบด้วยการกล่าวติเตียน  การกล่าวติเตียนในตถาคตนั้นฟังไม่ขึ้น  ฉันนั้นเหมือนกัน
วิ.จุ. (พุทธ) มก. ๙/๓๑๔

๒.๓.๒๕  ในคืนก่อนวันตรัสรู้  พระโพธิสัตว์ทรงพระสุบิน(ฝัน)ว่า

๑ แผ่นดินเป็นที่นอนใหญ่ของตถาคต  เป็นนิมิตว่า  ตถาคตได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณที่ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

๒ หญ้าคาได้ขึ้นจากนาภี(สะดือ) ของตถาคตจรดท้องฟ้าตั้งอยู่ เป็นนิมิตว่า ตถาคตได้ตรัสรู้อริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วประกาศด้วยดี ตลอดมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

๓ หมู่หนอนมีสีขาว ศรีษะสีดำไต่ขึ้นเท้าของตถาคตปกปิดถึงชานุมณฑลเขาเป็นนิมิตว่าคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวจำนวนมากได้ถึงจะทาคนเป็นสรณะตลอดชีวิต

๔ นก ๔ เหล่า มีสีต่างๆ บินมาจากทิศทั้งสี่ ตกลงมาแทบเท้าของตถาคต แล้วกลายเป็นสีขาวทุกตัว เป็นนิมิตว่า วรรณะทั้งสี่ออกบวชแล้วทำให้แจ้งวิมุติอันยอดเยี่ยม

๕ ตถาคตทรงดำเนินไปบนภูเขาคูถลูกใหญ่ แต่ไม่แปดเปื้อน เป็นนิมิตว่า ตถาคตได้ปัจจัย ๔ แล้วไม่ลุ่มหลง ไม่พัวพัน มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเปลื้องตนออกบริโภค

เมื่อพระโพธิสัตว์ใคร่ครวญแล้ว  จึงทรงกระทำสันนิษฐานว่า  วันนี้พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๔๓๑

 

๒.๓.๒๖ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า  ไม่เคยเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเเล้วเชื่อได้อย่างไรว่า มีจริง

             พระนาคเสนตอบโดยอุปมาอุปไมยว่า เหมือนสะดือทะเล ไม่ได้เห็นแต่รู้ว่ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นกัน ไม่เคยเห็นแต่รู้ว่ามี

มิลิน. ๑๐๘

 

๒.๓.๒๗ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ชี้ได้ไหมว่าอยู่ที่ไหน

             พระนาคเสนทูลตอบว่า  เปลวไฟที่ดับแล้ว  ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน  ฉันใด  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานแล้วก็ไม่อาจชี้ได้ ฉันนั้น  อาจชี้ได้เพียงพระธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น

มิลิน. ๑๑๓

 

เชิงอรรถ

1 วิชชา ๓  ระลึกชาติได้ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ ทำอาสวะให้สิ้น

2 กัปปิยการก  ลูกศิษย์พระ

3 อภิญญา  ความรู้ยิ่ง

 

 

 

mongkol%20%2015-9-63--1.jpg

 

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๔  คุณวิเศษ
 

๒.๔.๑  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปกปิดพุทธานุภาพนั้นทั้งหมดไว้ในกลีบจีวร ทรงถือบาตรเเละจีวรด้วยพระองค์เอง เสด็จไปโดยที่ไม่มีใครรู้จัก เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญที่ถูกปิดบังไว้ในกลีบเมฆ
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๙/๑๔


๒.๔.๒  เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงระลึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมไม่พลาด ย่อมไม่ขัดข้องต่อเนื่องกัน ปุพเพนิวาสญาณ(การระลึกชาติ) ย่อมแล่นไปไม่ติดขัด ดุจลูกศรเหล็กแล่นไปฉับพลันในกองใบไม้ที่ผุ

ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๗๑


๒.๔.๓  บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดเขาหินล้วน พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ ฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้มีปัญญาดี มีจักษุโดยรอบด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ก็ฉันนั้น เสด็จขึ้นสู่ปราสาทสำเร็จด้วยธรรม ทรงพิจารณา ทรงใคร่ครวญ  ทรงตรวจตราหมู่ชนผู้เกลือกกลั้วไปด้วยความโศก ถูกชาติชราครอบงำ

ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๑๕๐


๒.๔.๔  บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขานั้น มองดูพื้นที่ดิน ไม่ปรากฏแนวพื้นที่เพาะปลูก ไม่ปรากฏกระท่อม ไม่ปรากฏพวกมนุษย์ที่นอนในกระท่อมนั้น เเต่ปรากฏเพียงเปลวไฟในกระท่อมทั้งหลายเท่านั้น ฉันใด เมื่อพระตถาคตเสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาททรงตรวจดูหมู่สัตว์ สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ได้ทำความดี  เเม้นั่ง ณ ข้างพระชานุ (เข่า) เบื้องขวาในที่อยู่เเห่งเดียวกัน ก็ฉันนั้น ไม่มาถึงคลองแห่งพุทธจักษุ

ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๑๕๐


๒.๔.๕  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายพระองค์บนฝั่งข้างนี้ของแม่น้ำคงคา แล้วประทับยืนเฉพาะอยู่บนฝั่งข้างโน้น เหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดเเขนที่คู้ไว้ออกไป หรือคู้แขนที่เหยียดไว้เข้ามา

ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๒๕๙


๒.๔.๖  ผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าพระนคร คือ ปรินิพพาน เสด็จเข้าสมาบัติทั้งหมดนับได้ยี่สิบสี่แสนโกฏิ (สิบล้าน) แล้วเข้าเสวยสุขในสมาบัติทั้งหมด เหมือนคนจะไปต่างประเทศ กอดคนที่เป็นญาติ ฉะนั้น

ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๔๔๓


๒.๔.๗  พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้รู้อนุสัย (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน) ของสัตว์เหล่านั้นๆ ผู้เห็นธรรมที่ควรรู้ทั้งหมด เหมือนมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่ามือฉะนั้น

ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๘/๒๐


๒.๔.๘  ปลาและเต่าทุกชนิด  โดยที่สุดรวมถึงปลามิติมิงคละ  ย่อมเป็นไปภายในมหาสมุทรฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก  มารโลก  พรหมโลก  หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์  เทวดา  และมนุษย์ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาน  ฉันนั้นเหมือนกัน

ขุ.จู. (อรรถ) มก. ๖๗/๓๘๑


๒.๔.๙  พระองค์ทรงตรวจดูในพระเชตวันวิหารด้วยพระจักษุอันเป็นทิพย์  ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้น ประหนึ่งโจรอันเกิดขึ้นในภายในนิเวศน์ของพระเจ้าจักรพรรดิ

ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๕๘/๔๐๗


๒.๔.๑๐  พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนชาวประมง  พระธรรมเทศนาเปรียบเหมือนข่าย  หมื่นโลกธาตุเปรียบเหมือนน้ำน้อย  สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีทิฎฐิ ๖๒ เปรียบเหมือนสัตว์ใหญ่  กิริยาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง  ความที่สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีทิฎฐิทั้งหมดตกอยู่ภายในข่าย คือ พระธรรมเทศนาเปรียบเหมือนกิริยาที่ชาวประมงนั้น  ยืนแลดูอยู่ริมฝั่งเห็นสัตว์ใหญ่ๆ อยู่ภายในข่าย ฉะนั้น

ที.สี. (อรรถ) มก. ๑๑/๒๘๐

 

 

16-9-63-1%20b.jpg

 

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๕  การกำจัดกิเลส

๒.๕.๑   พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงละขาดแล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้ไม่มีที่ตั้งดุจตาลยอดด้วน

ขุ.จู.(ทั่วไป) มก. ๖๗/๖๔
 

๒.๕.๒  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีเดช ทรงประกอบด้วยเดช ทรงครอบงำกามทั้งหลายแล้วดำเนินไป เหมือนพระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง ประกอบด้วยเดช ย่อมส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี

ขุ.จู.(ทั่วไป) มก. ๖๗/๒๗๔

 

๒.๕.๓  พระองค์ทรงละสังขารทุกอย่างเหมือนงูลอกคราบ เหมือนต้นไม้สลัดใบไม้เก่า และก็ดับขันธปรินิพพาน

ขุ.พุทธ.(พุทธ) มก. ๗๓/๔๒๙
 

 

๒.๕.๔  เมื่อทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว หมื่นโลกธาตุก็ไหวด้วยอานุภาพพระสัพพัญญุตญาณ1นั้น พึงทราบเหมือนการกำจัดธุลีในตัวของราชสีห์

อัง.จตุกก.(อรรถ) มก. ๓๕/๑๒๕

 

๒.๕.๕  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำลายกิเลสที่เกิดในตน เหมือนนักรบผู้ยิ่งใหญ่ในสงครามทำลายเกราะ และทรงเป็นผู้ยินดีภายใน ทรงเป็นผู้มีพระหฤทัยตั้งมั่นแล้ว

สัง.ม.(อรรถ) มก. ๓๑/๑๓๖

 

๒.๕.๖  ความโกรธจะไม่เกิดขึ้นในพระพุทธเจ้า เหมือนไฟสถิตอยู่ในน้ำไม่ได้ เหมือนพืชงอกบนหินไม่ได้ ฉะนั้น

ขุ.เถร.(อรรถ) มก. ๕๑/๒๙๘

 

๒.๕.๗  พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่กระเทือนพระหฤทัย เหมือนแผ่นดินอันไม่กระเทือนสาคร แม้นับจำนวนน้ำไม่ได้ก็ไม่กระเพื่อม และเเม้อากาศอันไม่มีที่สุดก็ไม่ปั่นป่วน

ขุ.เถร.(อรรถ) มก. ๕๑/๒๙๘

 

๒.๕.๘  พระอาทิตย์มีแสงสว่างประกอบด้วยเดช คือ รัศมี ส่องแผ่ปกคลุมครอบปฐพีให้ร้อนเลื่อนลอยไปในอากาศกำจัดความมืด ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีเดช คือ พระญาณ เป็นเครื่องกำหนดรู้ซึ่งวัตถุกาม ทรงละ ทรงครอบงำ ทรงปกคลุม ทรงท่วมทับ ทรงกำจัด ทรงย่ำยี ซึ่งกิเลสกาม ฉันนั้นเหมือนกัน

ขุ.จู.(ทั่วไป) มก. ๖๗/๒๗๕
 

 

๒.๕.๙  ดอกบัวเกิดในน้ำ ย่อมไพโรจน์อยู่ท่ามกลางน้ำ มีเกสรบริสุทธิ์ไม่ติดด้วยน้ำ ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า เป็นมหามุนีเกิดในโลกแต่ไม่ติดโลก เหมือนดอกบัวไม่ติดน้ำ ฉะนั้น

ขุ.อป.(เถระ) มก. ๗๐/๔๑๙

 

๒.๕.๑๐  พระอาทิตย์อุทัยย่อมขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันใด พระองค์ผู้เป็นพระพุทธเจ้าอันประเสริฐสุด ก็ขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันนั้น

ขุ.อป.(เถระ) มก. ๗๑/๑๖๙

 

1พระสัพพัญญุตญาณ  พระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวงทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน เเละอนาคต

 

 

17-9-63--1bMong.jpg

 

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๖  พุทธลักษณะ

๒.๖.๑ พระกุมารไม่เป็นเหมือนคนอื่น  เมื่อคนอื่นวางเท้าลงบนแผ่นดิน ปลายฝ่าเท้า  ส้นเท้า หรือข้างเท้าย่อมจดก่อน แต่ว่ายังปรากฏช่องในตอนกลาง แม้เมื่อยกขึ้น ส่วนหนึ่งในปลายฝ่าเท้าเป็นต้นนั่นแหละ ก็ยกขึ้นก่อน 
            ฝ่าพระบาททั้งสิ้นของพระกุมารนั้นย่อมจรดพื้น  โดยทรงเหยียบพระบาทครั้งหนึ่ง ดุจพื้นรองเท้าทองคำ ฉะนั้น ทรงยกพระบาทขึ้นจากพื้นก็โดยทำนองเดียวกัน  เพราะฉะนั้น  พระกุมารนี้จึงเป็นผู้มีพระบาทเรียบเสมอกัน
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๖


๒.๖.๒ ส้นพระบาทของพระมหาบุรุษไม่เป็นเหมือนปลายเท้าอันยาวของคนอื่น อันลำแข้งตั้งอยู่ส้นเท้าเป็นเหมือนตัดส้นเท้าตั้งอยู่ ฉะนั้น แต่ของพระมหาบุรุษ พระบาทมี ๔ ส่วน ปลายพระบาทมี ๒ ส่วน  ลำพระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓  ส้นพระบาทในส่วนที่ ๔ เป็นเช่นกับลูกคลีหนังทำด้วยผ้ากัมพลสีแดง  ดุจม้วนด้วยปลายเข็มแล้วตั้งไว้
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๗

 

๒.๖.๓ พระมหาบุรุษมีนิ้วพระหัตถ์ และพระบาทยาวเหมือนของวานร ข้างโคนใหญ่แล้วเรียวไปโดยลำดับถึงปลายนิ้วเช่นเดียวกับแท่งหรดาลที่ขยำด้วยน้ำมันยางแล้วปั้นไว้
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๗

 

๒.๖.๔ พระมหาบุรุษมีนิ้วพระหัตถ์ ๔ นิ้วพระบาท ๔ นิ้ว  ชิดสนิทเป็นอันเดียวกัน  ก็เพราะพระองคุลีทั้งหลาย ชิดสนิทเป็นอันเดียวกัน พระองคุลีทั้งหลายจึงติดกันและกัน  มีลักษณะเป็นข้าวเหนียวตั้งอยู่  พระหัตถ์  และพระบาทของพระโพธิสัตว์นั้นเป็นเช่นกับหน้าต่างตาข่ายอันช่างผู้ชาญฉลาดดีประกอบแล้ว
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๘

 

 ๒.๖.๕ พระบาทของพระโพธิสัตว์เหมือนสังข์คว่ำ จริงอยู่ ข้อเท้าของคนอื่นอยู่ที่หลังเท้าเพราะฉะนั้้น เท้าของคนเหล่านั้นจึงติดกันเหมือนติดด้วยสลักกลับกลอกไม่ได้ตามสะดวก  เมื่อเดินไปฝ่าเท้าไม่ปรากฏ แต่ข้อพระบาทของพระมหาบุรุษขึ้นไปตั้งอยู่เบื้องบน
            เพราะฉะนั้น พระวรกายท่อนบนของพระมหาบุรุษ ตั้งแต่พระนาภีขึ้นไปจึงมิได้หวั่นไหวเลย ดุจพระสุวรรณปฏิมาประดิษฐานอยู่ในเรือ  พระวรกายท่อนเบื้องล่างย่อมไหว  พระบาทกลอกกลับได้สะดวก
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๘

 

๒.๖.๖ พระมหาบุรุษมีพระชงฆ์ (แข้ง)  บริบูรณ์ด้วยหุ้มพระมังสะ (เนื้อ)  เต็ม... ประกอบด้วยพระชงฆ์เช่นกับท้องข้าวสาลีท้องข้าวเหนียว
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๘

 

๒.๖.๗ พระมหาบุรุษมีพระคุยหะ(องคชาติ)ซ่อนอยู่ในฝัก ดุจฝักบัวทอง  ดุจคุยหะแห่งโคและช้างเป็นต้น
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๑๙

 

๒.๖.๘ พระมหาบุรุษมีพระวรกายตรงเหมือนกายพรหม  ทรงดำเนินพระวรกายตรงทีเดียว  มีประมาณเท่าส่วนสูง  ประดุจเสาทองที่ยกขึ้นในเทพนคร
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๐

 

๒.๖.๙ พระมหาบุรุษมีพระมังสะฟูบริบูรณ์ด้วยดีใน ๗ สถาน คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง จะงอยพระอังสา(บ่า) ทั้งสอง และพระศอ (คอ)  แต่ของคนเหล่าอื่นที่หลังมือและหลังเท้า เป็นต้น  ปรากฏเส้นเลือดเป็นตาข่าย ที่จะงอยบ่า และคอปรากฏปลายกระดูกมนุษย์เหล่านั้นย่อมปรากฏเหมือนเปรต  พระมหาบุรุษไม่ปรากฏเหมือนอย่างนั้น  ก็พระมหาบุรุษมีพระศอเช่นกับกลองทองคำที่เขากลึง หลังพระหัตถ์มีเส้นเลือดเป็นตาข่ายซ่อนไว้  เพราะมีพระมังสะฟูบริบูรณ์ในที่ ๗ สถาน  ย่อมปรากฎเหมือนรูปศิลา และรูปปั้น
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๐

 

๒.๖.๑๐ พระมหาบุรุษมีกึ่งกายท่อนบน  เหมือนกึ่งกายท่อนหน้าของราชสีห์
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๐

 

๒.๖.๑๑ พระมหาบุรุษมีร่องพระปฤษฎางค์ (หลัง)  เต็ม  อันที่จริงหลังของคนพวกอื่นบุ๋ม...แต่ของพระมหาบุรุษ  พื้นพระปฤษฎางค์ตั้งแต่บั้นพระองค์(เอว)  จนถึงพระศอขึ้นไปปิดพระปฤษฎางค์ (หลัง)  ตั้งอยู่  เหมือนแผ่นกระดานทองที่ยกขึ้นตั้งไว้
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๑

 

๒.๖.๑๒ พระมหาบุรุษมีปริมณฑลดุจต้นนิโครธ อธิบายว่า พระมหาบุรุษแม้โดยพระวรกายแม้โดยพยายาม (ระยะวาหนึ่ง) ประมาณเท่ากัน ดุจต้นนิโครธมีลำต้นและกิ่งเสมอกัน
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๑

 

๒.๖.๑๓ ลำพระศอของพระมหาบุรุษเป็นเช่นกับกลองทองที่เขากลึงดีแล้ว  ในเวลาตรัสเอ็นเป็นตาข่ายไม่ปรากฏ  พระสุรเสียงดังก้องดุจเสียงเมฆกระหึ่ม
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๒

 

๒.๖.๑๔ พระมหาบุรุษมีเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารที่ประมาณ ๗,๐๐๐ เส้น  มีปลายขึ้นเบื้องบนแล้วรวมเข้าที่ลำพระศอนั่นเอง พระกระยาหารแม้เพียงเมล็ดงาตั้งอยู่ ณ ปลายพระชิวหาย่อมแผ่ไปทั่วพระวรกายทุกส่วน
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๒

 

๒.๖.๑๕ ราชสีห์มีคางท่อนล่างบริบูรณ์ท่อนบนไม่บริบูรณ์  แต่พระมหาบุรุษบริบูรณ์แม้ทั้งสอง  ดุจคางบื้องล่างของราชสีห์  เป็นเช่นกับพระจันทร์ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๒

 

๒.๖.๑๖ คนเหล่าอื่น  แม้มีฟันครบบริบูรณ์ก็มี ๓๒ ซี่ แต่พระกุมารนี้จะมี ๔๐ องค์
              อนึ่งฟันของคนหล่าอื่น บางซี่สูง บางซี่ต่ำ บางซี่ไม่เสมอกัน แต่ของพระกุมารนี้พระทนต์เสมอกันดุจเครื่องหุ้มสังข์ที่ช่างเหล็กตัด ฉะนั้น  ฟันของพวกคนอื่นห่างเหมือนฟันจระเข้  เมื่อเคี้ยวปลา และเนื้อย่อมเต็มระหว่างฟันหมด  แต่พระทนต์ของพระกุมารนี้  จักไม่ห่าง  ดุจแก้ววิเชียรที่เขาตั้งไว้บนแผ่นกระดานทอง
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๓

 

๒.๖.๑.๗ พระกุมารนี้มีพระทาฒะ (เขี้ยว)  ขาวสะอาด ประกอบด้วยรัศมีรุ่งเรืองยิ่งกว่าดาวประกายพฤกษ์
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๓

 

๒.๖.๑๘  พระชิวหาของพระมหาบุรุษอ่อน ยาว ใหญ่ สมบูรณ์ด้วยสี เพื่อปลดเปลื้องความสงสัยของผู้มีมาเพื่อแสวงหาลักษณะนั้น  เพราะพระชิวหาอ่อนจึงทรงแลบพระชิวหานั้น  ดุจของแข็งที่สะอาดแล้วลูบช่องพระนาสิกทั้งสองได้
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๓

 

๒.๖.๑๙ พระกุมารนี้จักทรงประกอบด้วยเสียงเช่นกับเสียงของท้าวมหาพรหม  มีเสียงแจ่มใส  เพราะไม่กลั้วด้วยน้ำดี  และเสมหะ  พระกุมารมีพระสุรเสียงก้องไพเราะดุจเสียงนกการเวกอันน่าชื่นชม
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๔

 

๒.๖.๒๐ พระกุมารมีพระเนตรไม่ดำทั้งหมด พระเนตรของพระกุมารนั้นประกอบด้วยสีเขียวบริสุทธิ์ยิ่งนัก  เช่นกับดอกสามหาวในที่ที่ควรเขียว
              ในที่ที่ควรเหลืองก็มีสีเหลืองเช่นกับดอกกรรณิกา
              ในที่ที่ควรแดงก็มีสีแดงเช่นกับดอกชบา
              ในที่ที่ควรขาวก็มีเช่นเดียวกับดอกประกายพฤกษ์
              ในที่ควรดำก็มีสีดำเช่นกับลูกประคำดีควาย  
              พระเนตรย่อมปรากฏเช่นกับสีหบัญชรแก้วอันเผยออกแล้วในวิมานทอง
ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๔

 

๒.๖.๒๑  พระกุมารมีดวงเนตรเช่นกับพระโคแดงอ่อนซึ่งเกิดได้ครู่เดียว จริงอยู่ ดวงตาของคนอื่นไม่บริบูรณ์  ประกอบด้วยตาถลนออกมาบ้าง  ลึกลงไปบ้าง เช่นกับตาสัตว์มีช้าง และหนูเป็นต้น  แต่พระเนตรของพระมหาบุรุษสะสมไว้ด้วยความอ่อนสนิท  ดำละเอียดดุจแก้วมณีกลมที่เขาล้างแล้วขัดตั้งไว้
 ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๔

 

๒.๖.๒๒ พื้นพระมังสะของพระมหาบุรุษนูนขึ้นตั้งแต่หมวกพระกรรณ (หู)  เบื้องขวาปกพระนลาฏ (หน้าผาก)  ทั้งสิ้นเต็มบริบูรณ์ไปจรดหมวกพระกรรณเบื้องซ้าย  งดงามเหมือนแผ่นอุณหิส (มงกุฏ)  เครื่องประดับของพระราชา
                ในนัยแรก  พระกุมารมีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
                ในนัยที่สอง  พระกุมารมีพระเศียรเป็นปริมณฑลในที่ทั้งปวงดุจอุณหิส
 ที.ม.(อรรถ) มก. ๑๓/๑๒๕

 

๒.๖.๒๓ พระวรกายแห่งพระผู้มีพระภาคอันรุ่งเรืองด้วยอนุพยัญชนะ (ลักษณะปลีกย่อย ๘๐  ประการ  พระรัศมีโดยปรกติประมาณวาหนึ่ง และวรลักษณ์ 32ประการ  ก็ไพโรจน์เพียงพื้นอัมพรอันพร่างพราวด้วยดวงดาว  ประหนึ่งดอกบัวอันบานสะพรั่ง  ดุจดังปาริฉัตรประมาณ ๑๐๐โยชน์  ผลิบานเต็มต้น
 ที.ปา.(อรรถ) มก. ๑๖/๒๖๗

 

๒.๖.๒๔ พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับยืนอย่างนี้  รุ่งโรจน์เหมือนสัตว์ที่เต็มไปด้วยดอกบัวกำลังแย้ม  เหมือนต้นปาริฉัตรที่มีดอกบานสะพรั่ง  และเหมือนท้องฟ้าที่ระยิบระยับไปด้วยดาวและพยับแดด
 ม.มู.(อรรถ) มก. ๑๘/๔๓๕

 

๒.๖.๒๕ ช้างตัวประเสริฐเมื่อประสงค์จะแลดูส่วนข้างหลัง  จึงหมุนร่างกายทั้งสิ้นนั้นเทียว  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พึงหมุนไปเช่นนั้น  เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถอยกลับพระสรีระทั้งสิ้นเทียวชำเลืองดู  ดุจพระพุทธรูปทองคำที่หมุนไปด้วยเครื่องยนต์
 ม.มู.(อรรถ) มก. ๑๙/๔๘๒

 

๒.๖.๒๖พระองค์ย่อมประสูติอย่างบริสุทธิ์แท้  คือไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ  ด้วยเสมหะ  ด้วยเลือด  ด้วยน้ำเหลือง  ด้วยของไม่สะอาดใดๆ นับว่าหมดจดบริสุทธิ์  เปรียบเหมือนแก้วมณีที่เขาวางลงบนผ้ากาสิกพัสตร์ ย่อมไม่เปื้อนผ้ากาสิกพัสตร์  แม้ผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่เปื้อนแก้วมณี
 ม.อุ.(อรรถ) มก. ๑๙/๔๘๒

 

๒.๖.๒๗ เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีสีแดงดี น่าดู น่าชม เหมือนสีปีกแมลงทับทิมทอง
 ขุ.จู.(อรรถ) มก. ๖๗/๓๗๘

 

๒.๖.๒๘ พระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ ซึ่งแล่นฉวัดเฉวียนไป  จึงงดงามอย่างเหลือเกิน  เหมือนต้นปาริฉัตร  ดอกบานสะพรั่งไปทั้งต้น  เหมือนดงบัวที่มีดอกบัวหลวงแย้มแล้ว  เหมือนเสาระเนียดทองใหม่  สวยงามด้วยรัตนะต่างชนิด  เหมือนท้องฟ้างามระยับด้วยดวงดาว
 ขุ.พุทธ.(อรรถ) มก. ๗๓/๑๒๑

 

๒.๖.๒๙ พระโพธิสัตว์ประทับนั่งสำรวจโลกธาตุด้านทิศตะวันออกอยู่  มีพระสรีระงามเสมือนยอดภูเขาทองซึ่งเรืองรองด้วยแสงสนธยา
 ขุ.พุทธ.(อรรถ) มก. ๗๓/๒๘

๒.๖.๓๐ พระชินเจ้าทรงมีอาจา

ระน่าชม  ดังพระยาช้างสง่างามในอาการเสด็จ  พระพุทธดำเนินงามนัก  ทรงยังมนุษยโลกกับทั้งเทวโลกให้ร่าเริงสง่างาม  ดังพระยาอุสภราช ดังไกรสรราชสีห์เที่ยวไปทั้งสี่ทิศ  ทรงยังสัตว์เป็นอันมากให้ยินดี  เสด็จถึงบุรีอันประเสริฐสุด
ม.ม.(อรรถ) มก. ๒๐/๖๑

 

๒.๖.๓๑ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า  ธรรมดาบุตรย่อมคล้ายมารดา  บิดา  พระพุทธมารดา  และพระพุทธบิดา ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการหรือไม่  
               พระนาคเสนทูลตอบว่า ไม่  ดอกบัวเกิดจากโคลน และน้ำ สี กลิ่น รส ของดอกบัวไม่เหมือนกับโคลนและน้ำ
มิลิน.๑๑๖

 

mong%2023-9-63--1.jpg

 

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๗  พระรัศมี

๒.๗.๑ อชิตพราหมณ์ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เพียงดังว่า ดวงอาทิตย์มีรัศมีฉายออกไป เเละเหมือนดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ.
ขุ.จู.(อรรถ) มก. ๖๗/๗

๒.๗.๒ พระภาคเจ้ารุ่งเรืองอยู่ ณ บนนภากาศ เหมือนดวงจันทร์ในท้องฟ้า ฉะนั้น.
ขุ.พุทธ.(อรรถ) มก. ๗๓/๑๓๔

๒.๗.๓ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายอุปมาดังพระจันทร์ ย่อมปรากฏเหมือนประทับยืนอยู่ตรงหน้าเเห่งสัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เหมือนพระจันทร์ลอยอยู่เเล้วในกลางหาว ย่อมปรากฏเเก่ปวงสัตว์ว่า พระจันทร์อยู่บนศรีษะของเรา.
ขุ.ธ.(อรรถ) มก. ๔๑/๙๙

๒.๗.๔ พระจันทร์เเละพระอาทิตย์ปราศจากมลทิน ย่อมเเจ่มกระจ่างในท้องฟ้า ซึ่งปราศจากเมฆฝน ฉันใด ข้าเเต่พระองค์ผู้มีพระรัศมีซ่านออกเเต่พระสรีรกาย ผู้เป็นมหามุนี พระองค์ย่อมรุ่งเรืองล่วงสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกด้วยพระยศ ฉันนั้น.
สัง.ส.(เถระ) มก. ๒๕/๓๔๗

๒.๗.๕ พระรัศมีมีวรรณะ ๖ เเต่พระสรีระของพระบรมศาสดาทำให้กิ่งคาคบ เเละใบเเห่งต้นนิโครธได้เป็นราวกับว่าสำเร็จด้วยทองคำ.
ขุ.ธ.(อรรถ) มก. ๔๑/๓๐๙

 

26-9-63-br.jpg

 

๒. คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.๘ การเเสดงธรรม การฝึกคน

๒.๘.๑ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก  เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิดบอกทางแก่คนหลงทาง  หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า  ผู้มีจักษุจักเห็นรูป.

ม.ม. (ทั่วไป) มก. ๒๐/๘๘

 

๒.๘.๒ ทรงเริ่มอนุปุพพิกถาเพื่อแสดงธรรม  ดุจจับต้นหว้าใหญ่สั่น  และดุจยังฝน  คืออมตธรรมให้ตกอยู่.

ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๑/๙๙

 

๒.๘.๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเวลาแล้ว  เสด็จออกจากพระคันธกุฏี  ตรงไปยังพุทธอาสน์อันประเสริฐ  ทรงแสดงธรรม  ไม่ให้เวลาล่วงผ่านไป  เหมือนบุรุษผู้ถือเอาน้ำมันที่หุงไว้สำหรับประกอบยา  ทรงส่งบริษัทไปด้วยจิตที่โน้มไปในวิเวก.

ม.อุ. (อรรถ) มก. ๒๓/๓๑

 

๒.๘.๔ บุรุษผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว  ย่อมไม่ปรารถนารสที่เลวเหล่าอื่น  ฉันใด  บุคคลฟังธรรมของพระโคดมพระองค์นั้น  ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะเป็นอันมากเหล่าอื่น  ฉันนั้น.

อัง.ปัญจก. (ทั่วไป) มก. ๓๖/๔๒๒

 

๒.๘.๕ เราได้ฟังพระวาจาอันเป็นสุภาษิตของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์  จึงได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมอันละเอียด  เหมือนบุคคลยิงปลายขนทรายด้วยลูกศร  ฉะนั้น.

ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๐/๑๗๕

 

๒.๘.๖ ผู้มีปัญญาย่อมดื่มด่ำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นธรรมทำผู้ฟังให้ชุ่มชื่น  มีโอชะ  เหมือนคนเดินทางไกลดื่มน้ำฝน  ฉะนั้น.

ขุ.เถรี. (ทั่วไป) มก. ๕๔/๑๐๒

 

๒.๘.๗ คนฝึกม้าผู้ฉลาด  ได้ม้าอาชาไนยตัวงามเเล้วเริ่มต้นทีเดียว  ให้ทำสิ่งอันควรทำในบังเหียน  ต่อไปจึงให้ทำสิ่งอันควรให้ทำยิ่งๆขึ้นไป ฉันใด
            ดูก่อนพราหมณ์  ฉันนั้นเหมือนกันแล  ตถาคตได้บุรุษที่ควรฝึกแล้ว  เริ่มต้นย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า  ดูก่อนภิกษุ  มาเถิด  เธอจงผู้มีศีล  สำรวมด้วยปาฏิโมกข์สังวร  ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่  จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย  สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด.

ม.อุ. (พุทธ) มก. ๒๒/๑๔๔

 

๒.๘.๘ หมอรักษาบาดแผล  เมื่อจะหุงน้ำมัน  หรือเคี่ยวน้ำอ้อย  ก็รอเวลาให้น้ำมันอ่อนตัวเเละน้ำอ้อยแข็งตัวได้ที่  ไม่ปล่อยให้ไหม้  แล้วยกลงเสีย  ฉันใด  พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น  ทรงรอให้ญาณของสัตว์เเก่กล้าเสียก่อน เเม้จะทราบว่า  ญาณของผู้นี้จักแก่กล้าด้วยเวลาเพียงเท่านี้.

สัง.นิ. (อรรถ) มก. ๒๖/๘๓

 

๒.๘.๙ แม่ไก่ทราบว่า  ลูกไก่เติบโตเต็มที่แล้ว  จึงจิกกระเปาะฟองไข่  ฉันใด  พระบรมศาสดาก็ฉันนั้น  ทรงทราบว่า  ญาณของภิกษุนั้นแก่เต็มที่แล้ว  ก็ทรงเเผ่แสงสว่างไป  แล้วทำลายกระเปาะฟองไข่ คือ อวิชา.

สัง.ข. (อรรถ) มก. ๒๗/๓๕๓

 

๒.๘.๑๐ พระบรมศาสดาทรงขจัดความมืดมนอนธการในดวงใจของพราหมณ์  ดุจพระจันทร์เพ็ญลอยเด่นในท้องฟ้าอันปราศจากเมฆ  และดุจพระอาทิตย์ในสรทกาลฤดูร้อน.

อัง.สัตตก. (อรรถ) มก. ๓๗/๓๔๙

 

๒.๘.๑๑ พระบรมศาสดาตรัสธรรมอันเลิศกว่าพวกที่กล่าวกัน  เช่น  ภูเขาสิเนรุเลิศกว่าภูเขาทั่วไป  ครุฑเลิศกว่านกทั่วไป สีหมฤคเลิศกว่ามฤคทั่วไป  สมุทรเลิศกว่าห้วงน้ำทั่วไป.

ขุ.จู. (อรรถ) มก. ๖๗/๔๕๗

 

๒.๘.๑๒ ก้อนดินที่ขว้างไปในท้องฟ้า  ย่อมตกลงในแผ่นดินเเน่นอน  ฉันใด  พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลาย  ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ย่อมแน่นอน  และเที่ยงตรง.

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๔๘

 

๒.๘.๑๓ ความตายของสัตว์ทั้งมวลเป็นของแน่นอน  และเที่ยงตรง  เเม้ฉันใด  พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลายเป็นของแน่นอน  และเที่ยงตรง ฉันนั้นเหมือนกัน.

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๔๘

 

๒.๘.๑๔ เมื่อถึงเวลาสิ้นราตรีพระอาทิตย์ย่อมขึ้นแน่นอน  ฉันใด  พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลายก็เป็นของแน่นอน  และเที่ยงตรง  ฉันนั้นเหมือนกัน.

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๔๘

 

๒.๘.๑๕ หญิงทั้งหลายผู้มีครรภ์จะต้องคลอดแน่นอน  ฉันใด  พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ประเสริฐทั้งหลาย  ก็เป็นของแน่นอน  และเที่ยงตรง  ฉันนั้นเหมือนกัน.

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๔๘

 

๒.๘.๑๖ ข้าแต่ท่านพระโคดม  เปรียบเหมือนต้นสาละใหญ่ในที่ใกล้บ้านและหรือนิคม  กิ่ง  ใบ  เปลือก  สะเก็ด  และกระพี้ของต้นสาละใหญ่นั้นจะหลุดร่วงกระเทาะไป  เพราะเป็นของไม่เที่ยง  สมัยต่อม  ต้นสาละใหญ่นั้น  ปราศจาก  กิ่ง  ใบ  เปลือก  สะเก็ด  และกระพี้แล้ว  คงเหลืออยู่แต่เเก่นล้วนๆ ฉันใด  พระพุทธพจน์ของท่านพระโคดมก็ฉันนั้น  ปราศจากกิ่ง  ใบ  เปลือก  สะเก็ด  และกระพี้  คงเหลืออยู่แต่คำอันเป็นสาระล้วนๆ

ม.ม. (ทั่วไป) มก. ๒๐/๔๕๒

 

 ๒.๘.๑๗ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยเสียง  ทรงแสดงธรรม  ในกาลนั้น  ลาภและสักการะของเดียรถีย์ทั้งหลายก็เสื่อมไป  เดียรถีย์เหล่านั้นเสื่อมจากลาภ  และสักการะแล้ว  ดุจหิ่งห้อยทั้งหลายในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น  ฉะนั้น.

ม.มู. (ทั่วไป) มก. ๑๘/๑๓

 

๒.๘.๑๘ อนึ่ง  การบัญญัติสิกขาบท  ย่อมมีแก่พระสาวกทั้งหลายเท่านั้น  ชื่อว่าเขตแดนแห่งสิกขาบทย่อมไม่มีแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย  เหมือนอย่างว่า  ดอกไม้  และผลไม้ที่มีอยู่ในพระราชอุทยาน  คนเหล่าอื่นเก็บดอกไม้  และผลไม้เหล่านั้นไปย่อมมีโทษ  ส่วนพระราชาทรงบริโภคได้ตามพระราชอัธยาศัย  ข้อนี้ก็มีอุปไมยเหมือนอย่างนั้น.

ม.ม. (อรรถ) มก. ๒๑/๒๑

 

๒.๘.๑๙ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เกิดความอุตสาหะในการถามแล้ว  จึงทรงเฉลยความเคลือบเเคลง ชนเหล่านั้นเเม้ทั้งสิ้น  มาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็เสื่อมคลายไป  เหมือนคลื่นในมหาสมุทรมาถึงฝั่งก็สลายไปฉะนี้.

ที.สี. (อรรถ) มก. ๑๒/๒๙

 

mong%2030-9-63-b.jpg

 

๓. คุณของพระธรรม

๓.๑ ราชรถวิจิตรงดงามยังคร่ำคร่าได้ อนึ่ง เเม้ร่างกายก็เข้าถึงความคร่ำคร่า แต่ธรรมของสัตบุรุษไม่ถึงความคร่ำคร่า.

ขุ.จริยา. (ทั่วไป) มก. ๗๔/๕๑๕

 

๓.๒ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทรเขากล่าวกันว่าไกล ข้าแต่พระราชาธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลกันยิ่งกว่านั้น.

ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๒/๖๒๔

 

๓.๓ พระเจ้าจักรพรรดิสง่างามในกองทัพใหญ่ ฉันใด ไกรสรสง่างามท่ามกลางฝูงมฤค ฉันใด พระอาทิตย์แผ่ซ่านด้วยรัศมีย่อมสง่างาม ฉันใดพระจันทร์สง่างามในหมู่ดารา ฉันใด 

      พระพรหมสง่างามในหมู่พรหม ฉันใด ท่านผู้นำสง่างามท่ามกลางหมู่ชน ฉันใด พระสัทธรรมวินัยย่อมงามสง่าด้วยคัมภีร์ปริวาร ฉันนั้นแล.

วิ.ป. (อรรถ) มก. ๑๐/๙๘๒

 

๓.๔ ในพระพุทธพจน์นั้น ไม่มีความผิดพลาดแม้เพียงปลายขนทราย พระพุทธพจน์ทั้งหมดนั้น เหมือนประทับไว้ด้วยตราอันเดียวกัน เหมือนตวงด้วยทะนานเดียวกัน และเหมือนชั่งด้วยตาชั่งอันเดียวกัน จึงเป็นของแท้แน่นอนทั้งนั้น ไม่มีที่ไม่แท้.

ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๑๑๖

 

๓.๕ อนึ่ง พระธรรมนี้ลึกซึ้งดุจลำน้ำหนุนแผ่นดินไว้ เห็นได้ยากดุจเมล็ดผักกาดที่ถูกภูเขากำบังไว้ รู้ตามได้ยากดุจการแยกปลายของขนสัตว์ที่ผ่าออก ๑๐๐ ส่วน.

ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๑๔๕


๓.๖ พระสูตรยังดำรงอยู่ตราบใด พระวินัยยังรุ่งเรืองอยู่ตราบใด ภิกษุทั้งหลายย่อมเห็นแสงสว่างเหมือนพระอาทิตย์อุทัยอยู่ตราบนั้น เมื่อพระสูตรไม่มี และแม้พระวินัยก็หลงเลือนไป ในโลกก็จักมีแต่ความมืด เหมือนพระอาทิตย์อัสดงคต.

อัง.เอกก. (อรรถ) มก. ๓๒/๑๗๔

 

๓.๗ จารึกอักษรไว้หลังแผ่นหิน เพื่อจะให้รู้ขุมทรัพย์ อักษรยังคงอยู่เพียงใด ขุมทรัพย์ทั้งหลายชื่อว่า ยังไม่เสื่อมหายไปเพียงนั้น ฉันใด เมื่อปริยัติยังคงอยู่ พระศาสนาก็ชื่อว่า ยังไม่อันตรธานไป ฉันนั้น.

อัง.เอกก. (อรรถ) มก. ๓๒/๑๗๕

 

๓.๘ หินของนักมวยปล้ำเป็นของเบาเพราะนักมวยปล้ำเป็นผู้มีกำลังมาก ฉันใด ปฏิจจสมุปบาทเป็นของง่าย เพราะพระเถระเป็นผู้มีปัญญามากฉันนั้น.

ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๑๙๒

 

๓.๙  ธรรมที่แตกต่างกัน แต่ให้สำเร็จประโยชน์อย่างเดียวกัน คือ ฆ่ากิเลสเหมือนกัน เหมือนพระราชามีเสนาต่างๆกัน คือ ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถทัพเท้า ย่อมให้สำเร็จสงครามอย่างเดียวกัน ย่อมชนะข้าศึกอย่างเดียวกัน

มิลิน. ๕๗ 

 

7-10-63--2-b.jpg

 

๔. คุณของพระสงฆ์

๔.๑ หมู่ภิกษุเปรียบเหมือนต้นหว้าใหญ่สูงร้อยโยชน์ พระอัครสาวกทั้งสองเปรียบเหมือนลำต้นที่ใหญ่ทั้งสองประมาณห้าสิบโยชน์ที่แผ่ไปทั้งเบื้องขวา และเบื้องซ้ายแห่งต้นไม้นั้น.
สัง.ม. (อรรถ) มก. ๓๐/๔๔๕

 

๔.๒ สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังทารกให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกซึ่งเกิดแล้ว.
ที.ปา. (พุทธ) มก. ๑๖/๔๕๘

 

๔.๓ พระอานนท์นี้เล่าเรียนพระพุทธวจนะก็ยึดยืนหยัดอยู่ในปริยัติ ดุจผู้รักษาเรือนคลังในศาสนาของพระทศพล.
อัง.เอกก. (อรรถ) มก. ๓๒/๔๔๓

 

๔.๔ สรีระของพระมหากัสสปะด้วยมหาปุริสลักขณะ ๗ ประการ ท่านติดตามพระบรมศาสดา เหมือนมหานาวาทองที่ติดตามข้างหลัง.
ขุ.เถร (อรรถ) มก. ๕๓/๓๖๒

 

๔.๕ ท้องฟ้างามวิจิตรด้วยดวงดาวทั้งหลาย ฉันใด พระศาสนาของพระองค์ก็งดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
ขุ.พุทธ (พุทธ) มก. ๗๓/๔๔๔

 

๔.๖ ภิกษุใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ดีแล้ว อบรมแล้วตามลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น.
ขุ.ป (อรรถ) มก. ๖๙/๑๕๘

 

๔.๗ พระเถระทั้งหลายผู้มีตนอันอบรมแล้วบันลืออยู่ ดุจการบันลือแห่งสีหะทั้งหลาย ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐ กว่าเหล่าสัตว์ที่มีเขี้ยวทั้งหลายที่ใกล้ถ้ำภูเขา ฉะนั้น.
ขุ.เถร (เถระ) มก. ๕๐/๘

 

๔.๘ ภิกษุใดยังเป็นหนุ่มย่อมขวนขวายในพระพุทธศาสนา  ภิกษุนั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ซึ่งพ้นแล้วจากเมฆ ฉะนั้น
ม.มู (เถระ) มก. ๒๑/๑๕๑

 


๔.๙ ดอกบัวมีกลิ่นดี เพิ่งเกิดในกองหยากเยื่ออันบุคคลทิ้งแล้วใกล้ทางใหญ่ ดอกบัวนั้นพึงเป็นที่ชอบใจ ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปุถุชนเป็นดังกองหยากเยื่อเกิดแล้ว ย่อมไพโรจน์ล่วงซึ่งปุถุชนผู้มืดทั้งหลายด้วยปัญญา ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๑/๓


๔.๑๐ พระนาคเสนเถระเป็นผู้ไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขาสิเนรุ องอาจดังราชสีห์ มีปรีชาดังลูกคลื่นในมหาสมุทรเป็นผู้บันลือเสียงดังพญาช้าง พญาราชสีห์ เป็นผู้ห้อมล้อมด้วยพระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม เที่ยงตรงดังตาชั่ง.
มิลิน. ๒๘


๔.๑๑ ต้นไม้ใหญ่สล้างด้วยกิ่ง ใบ และผล มีลำต้นแข็งแรง มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วยผล ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจให้เกิดสุข ผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา ผู้ต้องการผลก็ย่อมบริโภคผ่อนได้ ฉันใดท่านผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นบุญเขตในโลก ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีลประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง สุภาพ อ่อนโยน มีใจมั่นคง ฉันนั้น.
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๘๗


๔.๑๒ กิเลสเหมือนหมอก อริยญาณเหมือนดวงจันทร์ ภิกษุเหมือนจันทเทพบุตร ภิกษุพ้นจากกิเลสทั้งปวง แล้วย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวเปล่งปลั่ง และไพโรจน์เหมือนดวงจันทร์พ้นจากหมอก พ้นจากควัน และธุลีในแผ่นดิน พ้นจากฝ่ามือราหู ยังโอกาสให้สว่างไสวเปล่งปลั่งและไพโรจน์.
ขุ.ป. (อรรถ) มก. ๖๙/๑๐๓


๔.๑๓ รสเค็มจัดกล่าวกันว่าเหมือนเกลือ รสขมจัดกล่าวกันว่าเหมือนของขม รสหวานจัดกล่าวกันว่าเหมือนน้ำผึ้ง ของร้อนจัดกล่าวกันว่าเหมือนไฟ ของเย็นจัดกล่าวกันว่าเหมือนหิมะ ห้วงน้ำใหญ่กล่าวกันว่าเหมือนสมุทร พระสาวกผู้ทรงบรรลุมหาอภิญญาและพลธรรม กล่าวกันว่าเหมือนพระบรมศาสดา ฉันใด

พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมเป็นเหมือนนอแรด เป็นผู้เดียว ไม่มีเพื่อน มีเครื่องผูกอันเปลื้องแล้ว ฉันนั้น.
ขุ.จู. (อรรถ) มก. ๖๗/๕๑๗

 

๔.๑๔ ไกรสรสีหะมีแสงสว่างพราวแพรวเป็นพระยาเนื้อ ซึ่งมีเท้าหน้า และเท้าหลังแดงจัดย่อมไม่อาศัยอยู่ในป่าช้า หรือกองหยากเยื่อ แต่เข้าไปสู่หิมวันต์ซึ่งกว้างสามพันโยชน์ อยู่ในถ้ำแก้วมณี ฉันใด พระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในทวีปทั้งสี่ย่อมไม่เกิดในตระกูลต่ำ แต่ย่อมเกิดในตระกูลกษัตริย์ที่ไม่เจือปนเท่านั้น ฉันใด ในสมณะเหล่านี้ก็ไม่เกิดในลัทธิของอัญญเดียรถีย์ แต่ย่อมเกิดในพระพุทธศาสนา ซึ่งแวดล้อมด้วยอริยมรรคเท่านั้นฉันนั้นเหมือนกัน.
ม.มู (อรรถ) มก. ๑๘/๑๘

 

๔.๑๕ เมล็ดผักกาดย่อมไม่ตั้งอยู่ในปลายเหล็กแหลม ไฟไม่ลุกโพลงในน้ำ พืชทั้งหลายย่อมไม่งอกในแผ่นดิน ฉันใด สมณะเหล่านี้ย่อมไม่เกิดในลัทธิเดียรถีร์ภายนอก ฉันนั้นเหมือนกัน.
ม.มู (อรรถ) มก. ๑๘/๑๗

 

๔.๑๖ คฤหัสถ์ผู้บรรลุพระอรหันต์ถ้าไม่บรรพชา ก็ต้องปรินิพพานในวันนั้น อุปมาดังบุรุษผู้มีบุญน้อย เมื่อได้ราชสมบัติใหญ่แล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ ฉันใด คฤหัสถ์ผู้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่อาจรับรองความเป็นพระอรหันต์ไว้ได้ ฉันนั้น.
มิลิน. ๓๐๒


๔.๑๗ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นย่อมทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ทั้งสะอาด และไม่สะอาด ฉันใด พระภิกษุผู้ทรงธรรมก็ทำให้หมู่ชนอันถูกอวิชชาปกปิดไว้ ให้ได้เห็นทางธรรมต่างๆ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๑

 

๔.๑๘ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า พระบรมศาสดาทรงไม่รับการถวายผ้าจากนางปชาบดีโคตมี เพราะเหตุใด

พระนาคเสนทูลตอบว่า พระบรมศาสดาทรงไม่รับ แต่ทรงให้พระนางถวายแก่พระสงฆ์เพราะพระบรมศาสดาจะทรงยกย่องคุณของพระสงฆ์ให้ปรากฏ เหมือนบิดาเมื่อยังมีชีวิต ย่อมยกย่องคุณของบุตรในที่เฝ้าพระราชาท่ามกลางหมู่อำมาตย์และเสนาบดี.
มิลิน. ๑๔๔


๔.๑๙ เจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า สมณะทุศีลกับคฤหัสถ์ทุศีลต่างกันอย่างไร

พระนาคเสนทูลตอบว่า ขอถวายพระพร สมณะทุศีลถึงมีศีลวิบัติแล้วก็ยังทำทักขิณาทานของทายกให้บริสุทธิ์ได้  เปรียบเหมือนน้ำ แม้ขุ่นย่อมชำระล้างซึ่งโคลน เลน ฝุ่นละออง เหงื่อไคลให้หายไปได้

เปรียบเหมือนน้ำร้อนถึงจะร้อนก็ยังดับไฟกองใหญ่ได้
เปรียบเหมือนโภชนะแม้ปราศจากรสย่อมกำจัดความหิวได้ ฉะนั้น
มิลิน. ๓๒๕

 

๔.๒๐ อุปัชฌายะจักตั้งจิตสนิทสนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริกจักตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌายะฉันบิดา.
วิ.ม. (พุทธ) มก. ๖/๑๓๘

 

8-10-63-2b.jpg

๕. คุณของพระโพธิสัตว์

๕.๑ พระโพธิสัตว์นั้นเหมือนพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ เเละเหมือนบุรุษลงจากบันได ทรงเหยียดพระหัตถ์เเละพระบาททั้งสอง ประทับยืนไม่เปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาดอย่างใดอย่างหนึ่งอันมีอยู่ในพระครรภ์ของพระมารดาเสด็จออก.
ที.ม. (อรรถ) มก. ๑๓/๑๐๘

๕.๒ โคจ่าฝูงเกิดได้ครู่เดียวก็สัมผัสพื้นเเผ่นดินด้วยเท้าที่เสมอกัน ฉันใด พระโคดมพระองค์นั้นก็ย่างพระบาท ๗ ย่างก้าว เเละทวยเทพก็กั้นเศวตฉัตร ฉันนั้น

พระโคดมพระองค์นั้น ครั้นเสด็จ ๗ ย่างก้าวเเล้ว ทรงเหลียวดูทิศเสมอกันโดยรอบ ทรงเปล่งอาสภิวาจาประกอบด้วยองค์ ๘ เสมือนพระยาสีหะยืนหยัดเหนือยอดขุนเขา ฉะนั้น.
ขุ.พุทธ. (อรรถ) มก.๗๓/๔๕

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018370509147644 Mins