คำพ่อ คำเเม่
ตอน เเพ้ภัยตัวเอง
ลูกรัก...
เรื่องความกตัญญูนั้น ความจริงก็ไม่อยากจะพูดบ่อยนัก เพราะเกรงว่าลูกจะหาว่าพ่อแม่เรียกร้องความกตัญญจากลูก แต่ก็จำเป็นจะต้องบอกบ่อยๆ จะเป็นผลดีแก่ตัวลูกเอง กล่าวคือคนที่ขาดความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เช่นพ่อแม่ ที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ประเทศชาติบ้านเมืองนั้นถือได้ว่าเป็นผู้แพ้ภัยตัวเอง ประสบความเจริญได้ยาก ยิ่งเป็นคนอกตัญญูหรือเป็นคนเนรคุณด้วยแล้ว ท่านถือว่าเป็นคนบาปหนาทีเดียว ดังที่พระท่านสอนไว้ว่า
“ ได้นั่งหรือนอนที่เงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนบาป ”
คนที่เนรคุณต้นไม้ที่ตนเคยพึ่งพาอาศัย ร่มเงาท่านยังว่า เป็นคนประทุษร้ายมิตรและเป็นคนบาปเพราะทำร้ายได้แม้กระทั่งต้นไม้ที่มีบุญคุณ แล้วคนเล่า หากว่าไปเนรคุณต่อคนที่มีบุญคุณเข้าจะเป็นคนบาปและเป็นคนเลวแค่ไหน คนเนรคุณนั้นย่อมได้รับผลเป็นความชั่วเองโดยที่ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาลงโทษเลย
แต่ฟ้าดินคือกรรม จะลงโทษเขาเอง ทำให้เขาแพ้ภัยตัวเองตลอดไป
คนที่แพ้ภัยตัวเองนั้นจะทำอะไรก็จะติดขัด มีอุปสรรคไปหมด ที่ควรได้ก็ไม่ได้ ที่ไม่ควรเสี่ยก็เสีย จะได้อะไรแต่ละอย่างดูมันยากเย็นแสนเข็ญเสียจริง คนที่แพ้ภัยตัวเองอย่างนี้บางทีก็ไม่รู้สึกตัว ว่าทำไมตัวเองจึงต้องเป็นแบบนี้ กลับไปโทษคนอื่น โทษชะตากรรม โทษดวงดาวไปโน่น ทั้งที่ตัวเองทำเข้าไว้เอง คือตัวเองเป็นคนอกตัญญ เป็นคนประทุษร้ายมิตร หรือเป็นคนเนรคุณคนแท้ๆ
พระมหาโพธิวงศาจารย์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)