ม ง ค ล ที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
ธรรมดาดอกบัวย่อมเกิดในน้ำ โตในน้ำ แต่น้ำไม่ติดค้างบนดอกบัว ฉันใด
ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรติดอยู่ในครอบครัว
หมู่คณะ ลาภ ยศ สรรเสริญ และปัจจัย ๔
รวมทั้งกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น
๑. ความไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
๑.๑ ภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งเดียว คือ ไม่มีโพรง ย่อมไม่สะเทือน คือ ไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหว ด้วยลม ฉันใด เมื่อโลกธรรม ๘ ครอบงำอยู่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เอนเอียง คือ ไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือนด้วยอำนาจความยินดีร้ายหรือยินดี ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓๔๒
๑.๒ ถ้ารูปที่พึงเห็นแจ้งด้วยจักษุมาสู่คลองจักษุของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว รูปนั้นไม่ครอบงำจิตของท่านได้ จิตของท่านย่อมไม่เจือด้วยกิเลส เป็นจิตตั้งมั่นถึงความไม่หวั่นไหว ท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งจิตนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู... ฯลฯ กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก... ฯลฯ รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น... ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย... ฯลฯ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ... ฯลฯ มาสู่คลองจักษุแห่งภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ธรรมารมณ์นั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของท่านได้ จิตของท่านย่อมไม่เจือด้วยกิเลสเป็นจิตตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว และท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ความเสื่อมไปแห่งจิตนั้น
เปรียบเหมือนภูเขาศิลาที่ไม่มีช่อง ไม่มีโพรงเป็นแท่งทึบ ถ้าแม้ลมฝนอันแรงกล้าพึงพัดมาจากทิศบูรพาไซร้ ก็ไม่พึงยังภูเขาศิลานั้นให้หวั่นไหวให้สะเทือนสะท้านได้ พึงพัดมาจากทิศประจิม ฯลฯ พึงพัดมากทิศอุดร ฯลฯ พึงพัดมาจากทิศทักษิณไซร้ ก็ไม่พึงยังภูเขาศิลานั้นให้หวั่นไหวให้สะเทือนสะท้านได้ ฉะนั้น.
อัง.ฉักก. (เถระ) มก. ๓๖/๗๑๐
๑.๓ แผ่นดินย่อมทนสิ่งของที่เขาทิ้งลงมา สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ไม่ทำความยินดียินร้าย ฉันใด แม้ตัวท่านก็ต้องอดทนการยกย่อง และการดูหมิ่นของชนทั้งปวง ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงฝั่งแห่งขันติบารมีแล้ว ก็จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
ขุ.พุทธ. (โพธิ) มก. ๗๓/๒๓๘
๑.๔ ภิกษุใดเสมอด้วยแผ่นดิน เปรียบด้วยเสาเขื่อน คงที่ มีวัตรดี มีกิเลสดังเปลือกตมไปปราศแล้ว เหมือนห้วงน้ำปราศจากเปลือกตม ย่อมไม่ยินดี ยินร้าย สงสารทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้คงที่.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓๘๗
๑.๕ ธรรมดาแผ่นดินย่อมปราศจากความยินดี ยินร้าย ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรปราศจากความยินดียินร้าย มีใจหนักแน่นเสมอกับแผ่นดิน ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๖
๑.๖ ธรรมดาไฟย่อมไม่มีความยินดี ยินร้าย มีแต่ทำให้เกิดความร้อน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรมีใจเหมือนดั่งไฟ คือ ไม่ยินดียินร้าย ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๗
๑.๗ เปรียบเหมือนหม้อที่ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ง่าย ที่มีเครื่องรองรับย่อมกลิ้งไปได้ยาก ฉันใด จิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่มีเครื่องรองรับ ย่อมกลิ้งไปได้ยาก ฉันนั้น.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๕๕
๑.๘ บุคคลไม่สะดุ้งในธรรมมีความไม่เที่ยง เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียง ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์ และอายตนะ เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในข่าย ไม่ติดอยู่ด้วยความยินดี และความโลภ เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.
ขุ.สุ. (ทั่วไป) มก. ๔๖/๑๐๒
๒. ไตรลักษณ์
๒.๑ เสียงรถย่อมมีได้เพราะการประชุมองค์ประกอบของรถ ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมุติกันว่าสัตว์ก็ย่อมมี ฉันนั้น.
ขุ.จู. (อรรถ) มก. ๖๗/๖๔๒
๒.๒ สังขารทั้งหลายมิใช่เป็นของใหม่อยู่เป็นนิตย์แต่เพียงอย่างเดียว ยังปรากฏไม่มีสาระหาสาระมิได้ ดุจหยาดน้ำค้างในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ดุจฟองน้ำ ดุจรอยขีดในน้ำด้วยไม้ ดุจเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ดุจสายฟ้าแลบ และดุจภาพลวง พยับแดด ความฝัน และฟองน้ำ เป็นต้น อันตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อย.
ขุ.จู. (ทั่วไป) มก. ๖๗/๖๔๗
๒.๓ ธรรมดาอากาศย่อมเป็นที่ท่องไปของฤาษี ดาบส ภูต สัตว์มีปีก ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรปล่อยใจไปในสังขารทั้งหลายทั้งปวงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๙
๒.๔ อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้ อุปมาเหมือนชาวนาเมื่อไถนาด้วยคันไถใหญ่ ย่อมไถทำลายรากหญ้าที่เกี่ยวเนื่องทุกชนิด.
สัง.ข. (พุทธ) มก. ๒๗/๓๕๖
๓. โทษของลาภสักการะ
๓.๑ ผลกล้วยฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ฆ่าไม้ไผ่ ดอกอ้อฆ่าไม้อ้อ ลูกม้าฆ่าแม่ม้าอัสดร ฉันใด สักการะก็ฆ่าคนชั่ว ฉันนั้น.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๖๗๗
๓.๒ ไม้ไผ่ย่อมตกขุยเพื่อฆ่าตน ย่อมตกขุยเพื่อความวอดวาย แม้ฉันใด ลาภสักการะและความสรรเสริญก็เกิดขึ้นแก่เทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความวอดวาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
วิ.จุ. (พุทธ) มก. ๙/๒๘๑
๓.๓ แม่ม้าอัสดรย่อมตั้งครรภ์เพื่อฆ่าตน ย่อมตั้งครรภ์เพื่อความวอดวาย แม้ฉันใด ลาภ สักการะ แลความสรรเสริญก็เกิดขึ้นแก่เทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความวอดวาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
วิ.จุ. (พุทธ) มก. ๙/๒๘๑
๓.๔ ต้นกล้วยผลิตผลเพื่อฆ่าตน ย่อมผลิตผลเพื่อความวอดวาย ฉันใด ลาภสักการะและความสรรเสริญก็เกิดขึ้นแก่เทวทัตเพื่อฆ่าตน เพื่อความวอดวาย ฉันนั้นเหมือนกัน.
วิ.จุ. (พุทธ) มก. ๙/๒๘๑
๓.๕ เปรียบเหมือนสุนัขที่เขาขยี้ดีหมี ดีปลาใส่ในจมูก เมื่อเป็นเช่นนี้ มันก็ยิ่งดุร้ายกว่าเดิมหลายเท่าโดยแท้ ฉันใด พระเจ้าอชาตศัตรูราชกุมารจักเสด็จไปบำรุงพระเทวทัตทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า ด้วยรถประมาณ ๕๐๐ ถาด เพียงใด เทวทัตก็พึงหวังความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่พึง
หวังความเจริญเพียงนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๖๗๙
๓.๖ สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้นเป็นโรคเรื้อน อยู่บนบกก็ไม่สบาย อยู่โคนไม้ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็ไม่สบาย เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ลาภสักการะ และความสรรเสริญครอบงำ ย่ำยีจิตแล้ว อยู่ในเรือนว่างก็ไม่สบาย อยู่ที่โคนไม้ก็ไม่สบาย อยู่ในที่แจ้งก็ไม่สบาย เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็ไม่สบาย เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๖๔๙
๓.๗ แกะขนยาวเข้าไปสู่ชัฏหนาม พึงข้องอยู่ อันหนามเกี่ยวไว้ติดอยู่ในที่นั้นๆ ได้รับทุกข์ถึงความพินาศในที่นั้นๆ ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้อันลาภสักการะ และความสรรเสริญครอบงำ ย่ำยีจิตแล้ว ก็ฉันนั้น เวลาเช้า นุ่งแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม เธอข้องอยู่อันปัจจัยเกี่ยวไว้ ผูกไว้ในที่นั้นๆ ย่อมได้รับทุกข์ ถึงความพินาศในที่นั้น.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๖๔๔
๓.๘ แมลงวันกินขี้เต็มท้องแล้ว ข้างหน้ายังมีกองขี้ใหญ่ มันพึงดูหมิ่นแมลงวันเหล่าอื่นว่าเรากินขี้เต็มท้องแล้ว และเรายังมีกองขี้ใหญ่อยู่ข้างหน้าอีก ฉันใด
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้อันลาภสักการะ และความสรรเสริญครอบงำย่ำยีจิตแล้วก็ฉันนั้น เวลาเช้า นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังบ้านหรือนิคม ฉันอยู่ ณ ที่นั้นพอแก่ความต้องการแล้ว และทายกนิมนต์เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น แม้บิณฑบาตของเธอจะเต็มแล้ว เธอไปอารามแล้วอวดอ้างที่ท่ามกลางหมู่ภิกษุว่า ผมฉันพอแก่ความต้องการแล้ว ทายกยังนิมนต์เพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น บิณฑบาตของผมก็เต็ม และยังจะได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารอีก ส่วนภิกษุเหล่าอื่นนี้มีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย จึงไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ลาภสักการะ และความสรรเสริญครอบงำย่ำยีจิตของเธอแล้ว ย่อมดูหมิ่นภิกษุเหล่าอื่นผู้มีศีลเป็นที่รัก โมฆบุรุษนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน ลาภสักการะ และความสรรเสริญทารุณอย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ.
สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๖๔๕
๓.๙ พระโปฐิละหมกมุ่นอยู่ในสังขาร ติดอยู่ในลาภ และสักการะ ดังตัวหนอนที่ติดอยู่ในคูถจึงเป็นผู้ไม่มีแก่นสาร.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๓/๔๓๖
๔. ไม่ติดลาภสักการะ
๔.๑ พระมหาสัตว์ผู้เจริญโดยสัญชาติในโลกเป็นผู้อบรมดี ไม่ติดในโลกธรรมทั้งหลายเหมือนดอกบัวไม่ติดด้วยน้ำ ฉันนั้น.
ขุ.จริยา. (อรรถ) มก. ๗๔/๕๔
๔.๒ ธรรมดาดอกบัวย่อมเกิดในน้ำ โตในน้ำ แต่น้ำไม่ติดค้างบนดอกบัว ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรติดอยู่ในครอบครัว หมู่คณะ ลาภ ยศ สรรเสริญ และปัจจัย ๔ รวมทั้งกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๒๙
๔.๓ ธรรมดาเต่าย่อมขุดดินลงไปอยู่ในที่เงียบ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ก็ฉันนั้น ควรทิ้งลาภสักการะ สรรเสริญ แล้วเข้าป่าหาความสงัดอยู่.
มิลิน. ๔๒๗
๔.๔ ธรรมดาของเครื่องเรือที่ขัดข้อง ย่อมกักเรือไว้ในน้ำอันลึกตั้ง ๑๐๐ ศอก ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรข้องอยู่ในเครื่องยึดเหนี่ยว คือ ลาภ ยศ สักการะ การกราบไหว้บูชา ควรพิจารณาแต่ปัจจัยที่พอช่วยประทังร่างกายให้คงอยู่เท่านั้น ข้อนี้สมกับคำของพระสารีบุตรว่า เครื่องขัดข้องในเรือมหาสมุทรย่อมไม่ลอยอยู่ มีแต่จมอยู่ข้างล่าง ฉันใด ท่านทั้งหลายอย่าข้องอยู่ในลาภสักการะ อย่าจมอยู่ในลาภสักการะ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๑
๔.๕ ธรรมดาเรือย่อมสู้ลูกคลื่น สู้ลมแรงได้ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรสู้คลื่น คือ กิเลสต่างๆ เป็นอันมาก เช่น ลาภ สักการะ ยศสรรเสริญ การบูชากราบไหว้ การนินทา สรรเสริญ ความสุข ความทุกข์ การนับถือ การดูหมิ่นอย่างยิ่ง ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๑