ม ง ค ล ที่ ๓๗  จิตปราศจากธุลี

วันที่ 05 ตค. พ.ศ.2565

mongkol-life37.jpg

ม ง ค ล ที่ ๓๗  จิตปราศจากธุลี

เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัว ใสบริสุทธิ์
บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลา ฉันใด
เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น

mongkol-life37.1.jpg

๑. จิตปราศจากธุลี

๑.๑ เมื่อน้ำขุ่นมัวไม่ใส บุคคลย่อมไม่แลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น
        เมื่อน้ำไม่ขุ่นมัวใสบริสุทธิ์ บุคคลย่อมแลเห็นหอยกาบ หอยโข่ง กรวด ทราย และฝูงปลาฉันใด เมื่อจิตไม่ขุ่นมัว บุคคลก็ย่อมเห็นประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น ฉันนั้น.
ขุ.ชา. (พุทธ) มก. ๕๗/๑๙๖

๑.๒ ธรรมดาราชสีห์ย่อมมีกายขาวบริสุทธิ์ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรให้จิตขาว บริสุทธิ์ ปราศจากความรำคาญ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๙

๑.๓ ธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่โกรธ ไม่ประทุษร้าย ไม่สะเทือน ไม่หวั่นไหว เป็นเช่นศิลาแท่งทึบที่ไม่สะเทือนด้วยแรงลม.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓๔๑

mongkol-life37.2.jpg

๒. โทษของกิเลส

๒.๑ สังโยชน์เหล่านั้นผู้ใดยังละไม่ได้ แม้ผู้นั้นจะบังเกิดขึ้นในภวัคคพรหมก็จริง ถึงกระนั้นเขาก็ย่อมบังเกิดในกามาวจรอีกเพราะสิ้นอายุ บุคคลนี้มีอุปมาเสมอด้วยปลาติดเบ็ด อุปมาเหมือนนกถูกด้ายยางผูกติดไว้ที่ขา ฉะนั้น.
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๗/๔๒๙

๒.๒ เนื้อหรือสุกรที่ถูกคล้องบ่วงไว้ไม่รู้อุบายจะแก้บ่วง ดิ้นไปๆ มาๆ กระตุกบ่วงนั้น ย่อมทำตรงที่ผูกรัดให้แน่นเข้า ฉันใด เราก็ฉันนั้น เมื่อก่อนถูกบ่วงกิเลสสวมไว้ ไม่รู้อุบายที่จะแก้ ดิ้นรนไปด้วยอำนาจทางกายแก้บ่วง คือ กิเลสนั้นไม่ได้ กระทำมันให้แน่นเข้า ย่อมถึงกิเลสตัวอื่นอีกเพราะทุกข์มีความโศก เป็นต้น.
ขุ.เถร. (อรรถ) มก. ๕๓/๔๕

๒.๓ เหล่ากิเลสย่อมย่ำยีนรชนนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๔๖/๒๒๑

๒.๔ กิเลสเหล่านั้นเจริญงอกงามขึ้น ย่อมครอบงำคนเป็นอันมากไว้ในอำนาจ ดังจะเล่นกับพวกคนพาล เหมือนปิศาจเข้าสิงทำคนให้เป็นบ้าเพ้อคลั่งอยู่ ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๓/๑๘๑

๒.๕ ไฟเสมอด้วยราคะย่อมไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ย่อมไม่มี สุขอื่นจากความสงบย่อมไม่มี.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๓๗๒

๒.๖ กิเลสเกิดขึ้นแม้คราวเดียวด้วยอำนาจตัณหา และโลภะ ย่อมแก้หลุดได้ยาก เหมือนเต่าหลุดจากที่ผูกได้ยาก.
ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๕๗/๒๗๙

๒.๗ โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อมกำจัดบุรุษผู้มีจิตลามก เหมือนขุยไผ่กำจัดไม้ไผ่ ฉะนั้น.
ขุ.ม. (พุทธ) มก. ๖๖/๓๑๑

๒.๘ บุคคลเห็นแก่โลกามิส ชอบประพฤติตามอำนาจของจิต เขาย่อมเดือดร้อนอยู่ในท่ามกลางหมู่ญาติ และสหาย ดุจจระเข้ผู้ติดตามปลาไปถูกแทง ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (พุทธ) มก. ๕๗/๔๔๐

๒.๙ แมลงวัน คือ มิจฉาวิตก ย่อมจะกัดกินผู้ที่ละความสงบสงัดเที่ยวไป.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๕๕/๑๖

๒.๑๐ ความติดใจย่อมจับอารมณ์ไม่อยากจะปล่อย เหมือนปลิงเกาะ.
ที.สี. (อรรถ) มก. ๑๑/๒๖๒

๒.๑๑ ผู้แวดล้อมเกลื่อนกล่นด้วยอกุศลวิตก เหมือนต้นไม้ถูกล้อมด้วยเชิงเถาวัลย์ และเหมือนรวงผึ้งแวดล้อมด้วยตัวผึ้ง ฉะนั้น.
ขุ.อุ. (เถระ) มก. ๔๔/๓๘๔

๒.๑๒ สัตว์เป็นอันมากเกิดแล้วในโลก ย่อมงอกงามไม่อิ่มด้วยราคะ และโทสะ เหมือนดอกโกมุทในเปือกตม ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๓/๒๖๒

๒.๑๓ จิตนี้ย่อมดิ้นรนเหมือนปลา อันพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำ.
อัง.เอกก. (พุทธ) มก. ๓๒/๔๕๒

mongkol-life37.3.jpg

๓. การกำจัดกิเลส

๓.๑ ธรรมดาดวงอาทิตย์ย่อมทำให้พืชทั้งปวงเหี่ยวแห้ง ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรทำกิเลสทั้งปวงให้แห้งลง ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๑

๓.๒ ธรรมดาดวงอาทิตย์ย่อมกำจัดความมืด ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็พึงกำจัดความมืดทั้งปวง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๑

๓.๓ ชนเหล่าใดปราศจากความกำหนัด มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว พ้นจากการจับแห่งกิเลสเปล่งปลั่งอยู่ เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากราหูจับ สว่างไสวอยู่ ฉะนั้น.
ขุ.สุ. (พุทธ) มก. ๔๗/๔๕๗

๓.๔ ธรรมดาไฟย่อมไม่มีความปราณีต่อสิ่งใด ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรปราณีต่อกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๗

๓.๕ ธรรมดาภูเขาศิลาย่อมไม่มีพืชพันธุ์งอกขึ้นได้ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ปล่อยให้กิเลสงอกขึ้นในใจของตนได้ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๙

๓.๖ ธรรมดาภูเขาย่อมเป็นของแข็ง ไม่เจือปนกับสิ่งใด ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ควรมีใจเข้มแข็งในสิ่งทั้งปวง ไม่คลุกคลีกับกิเลสใดๆ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๘

๓.๗ ภิกษุผู้ดุจภูเขา ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะความสิ้นโมหะ เหมือนภูเขาหินไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่ด้วยดี ฉะนั้น.
ขุ.อุ. (พุทธ) มก. ๔๔/๓๒๓

๓.๘ ธรรมดาป่าย่อมเป็นสถานที่อันบริสุทธิ์ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๕๖

๓.๙ ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่ว่างเปล่าจากผู้คน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรเป็นผู้ว่างจากกิเลส ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๕๖

๓.๑๐ ภิกษุใดเสมอด้วยแผ่นดิน เปรียบด้วยเสาเขื่อน คงที่ มีวัตรดี มีกิเลสดังเปือกตมไปปราศแล้ว เหมือนห้วงน้ำปราศจากเปือกตม ย่อมไม่ยินดี ยินร้าย สงสารทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้คงที่นั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓๘๗

๓.๑๑ ธรรมดาพายุย่อมพัดหมู่ไม้ให้พินาศ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรพิจารณาสังขารในป่า ขยี้กิเลสทั้งหลายให้แหลกราน ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๘

๓.๑๒ ธรรมดาเมฆย่อมระงับละอองเหงื่อไคลซึ่งเกิดแล้ว ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรระงับเหงื่อไคล คือ กิเลส ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๕๗

๓.๑๓ ธรรมดาอากาศย่อมไม่มีใครจับต้องได้ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรปล่อยให้กิเลสยึดจับ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๙

๓.๑๔ บุคคลผู้สงบ งดเว้นจากการทำความชั่ว พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลาย เหมือนลมพัดใบไม้ร่วงหล่นไป ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๐/๕๔

๓.๑๕ เราแสวงหาช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบจึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสาร มีชาติเป็นอเนกความเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่านแล้ว ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้ ซี่โครงทุกซี่ของท่านเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เพราะเราบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๒/๑๔๒

๓.๑๖ จงตัดความสงสัยลังเลใจให้ขาดไปในวันนี้ เหมือนช่างทำงาช้างตัดงาช้างให้ขาดไปด้วยเลื่อยอันคม ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๔/๓๖๑

๓.๑๗ ธรรมดาเครื่องขัดข้องแห่งเรือ ย่อมขัดข้องเรือไว้ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ อันเต็มไปด้วยคลื่นระลอก ไม่ให้ไปสู่ทิศไหนได้ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็มีจิตไม่กระทบในลูกคลื่นคือ ราคะ โทสะ โมหะอันเป็นวิตกใหญ่ที่จะทำให้ไม่อาจออกสู่ทิศทางใดได้ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๑

๓.๑๘ บุคคลไม่สะดุ้งในธรรมมีความไม่เที่ยง เหมือนราชสีห์ไม่สะดุ้งในเสียง เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในข่าย ไม่ติดอยู่ด้วยความยินดี และความโลภ เหมือนดอกปทุมไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉะนั้น.
ขุ.สุ. (พุทธ) มก. ๔๖/๑๐๒

๓.๑๙ ธรรมดาเนื้อในป่าย่อมรู้จักหลบหลีกลูกศร ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภควาเพียรก็ควรรู้จักหลบหลีกกิเลส ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๔๖

๓.๒๐ ธรรมดาเต่าเมื่อโผล่ขึ้นจากน้ำ ย่อมชูศีรษะมองดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วจึงจมลงไปให้ลึกด้วยคิดว่า อย่าให้มีผู้อื่นเห็นเรา ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ฉันนั้น คือ เมื่อเกิดกิเลสขึ้นแล้วก็พึงดำลงไปในสระน้ำ คือ วางใจให้กลับลึกเข้าข้างใน ด้วยคิดว่า อย่าให้กิเลสเห็นเราอีกเลย.
มิลิน. ๔๒๖

๓.๒๑ ตัวหนอนทั้งหลายย่อมไม่อยู่ในยาดับพิษ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรให้กิเลสอยู่ในใจ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๖๓

๓.๒๒ ธรรมดายาดับพิษย่อมกำจัดพิษทั้งปวงอันเกิดจากการถูกกัด สัมผัส หรือพบเห็นกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มลอง ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรกำจัดพิษ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๖๓

๓.๒๓ ธรรมดาร่มย่อมอยู่เหนือศีรษะ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรอยู่เหนือกิเลสฉันนั้น.
มิลิน. ๔๖๑

๓.๒๔ ธรรมดาร่มย่อมกันลม แดด เมฆ ฝน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรกำจัดลัทธิของสมณพราหมณ์ และควรกำจัดเครื่องร้อน คือ ไฟ ๓ กอง กำจัดฝน คือ กิเลส ฉันนั้น

ข้อนี้สมกับคำของพระสารีบุตรเถรเจ้าว่า ร่มใหญ่อันไม่ขาด ไม่ทะลุ แน่นหนา แข็งแรงย่อมกันลม กันแดดฝนห่าใหญ่ได้ ฉันใด พระพุทธเจ้าผู้กั้นร่ม คือ ศีลผู้บริสุทธิ์ก็กันฝน คือ กิเลสกันไฟ ๓ กอง อันทำให้เร่าร้อนได้ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๖๒

๓.๒๕ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงปลดเปลื้องราคะ และโทสะเสีย เหมือนมะลิเครือปล่อยดอกทั้งหลายที่เหี่ยวเสีย ฉะนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๓/๓๓๙

๓.๒๖ ธรรมดาไฟย่อมเผาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรเผากิเลสทั้งภายนอก ภายใน ด้วยไฟ คือ ญาณ ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๗

๓.๒๗ พระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุว่า หากไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้ ก็ควรเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตนเอง เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ย่อมส่องเงาหน้าของตนในกระจกคันฉ่องอันบริสุทธิ์ หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำ  ก็พึงขจัดออกเสีย ภิกษุผู้ฉลาด ย่อมกำจัดสิ่งที่ทำให้ใจขุ่นมัวเศร้าหมอง รุ่มร้อนออกจากตัว เหมือนบุคคลผู้มีผ้าอันไฟไหม้หรือมีศีรษะอันไฟไหม้ พึงทำความพยายามความอุตสาหะ ความขะมักเขม้นในการดับไฟนั้น ฉันใด ภิกษุก็ควรทำความพยายามความอุตสาหะในการละอกุศลธรรม และตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นกุศล ฉันนั้น.
อัง.ทสก. (พุทธ) มก. ๓๘/๑๖๘

mongkol-life37.4.jpg

๔. นิวรณ์ ๕

๔.๑ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้ เหมือนโรคเหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่เป็นหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ  เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนสถานที่ปลอดภัย ฉันนั้น.
ที.สี. (เถระ) มก. ๑๒/๒๑๑

๔.๒ นิวรณ์ ๕ ย่อมครอบงำยึดเอาผู้ที่เกียจคร้าน กินจุ เหมือนสุนัขดุข่มเหงโคแก่ตัวเขาขาด ฉะนั้น.
สัง.สฬา. (อรรถ) มก. ๒๘/๔๑๙

๔.๒ เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมดเก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จ ผลดี ได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว กำไรก็ยังมีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรและภรรยา เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจ และความสุขใจ เปรียบเหมือนคนไข้อาการหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมาหายป่วย บริโภคอาหารได้ กลับมีกำลัง เขาคิดว่า เมื่อก่อนเราป่วยอาการหนักบริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง เวลานี้หายป่วย บริโภคอาหารได้ มีกำลังเป็นปกติ เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจ และความสุขใจ เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมา พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เขาคิดว่า เมื่อก่อนเราต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ เวลานี้พ้นโทษ
ออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุเขาจึงได้รับความเบิกบานใจ และความสุข เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ เวลานี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เพราะความเป็นไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจ และความสุขใจ เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้าต่อมา ข้ามพ้นทางกันดาร ถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็นปลอดภัย โดยสวัสดิภาพ เขาคิดว่า เมื่อก่อนเรามีสมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารโดยยาก มีภัยเฉพาะหน้า เวลานี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจ และความสุขใจ.
ที.ปา. (พุทธ) มก. ๑๖/๒๐๐

mongkol-life37.5.jpg

๕. ความโลภ

๕.๑ ข้าแต่พระราชา พวกเราก็ดี ชนเหล่าอื่นที่โลภจัดก็ดี จะต้องละทิ้งของมากเพราะของน้อย เหมือนลิงเสื่อมจากถั่วทั้งหมด เพราะถั่วเมล็ดเดียวแท้ๆ.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๗/๑๔๙

mongkol-life37.6.jpg

๖. ความโกรธ

๖.๑ ประเภทของคนโกรธ

๖.๑.๑ บุคคลเปรียบด้วยอสรพิษ (สัตว์มีพิษที่เขี้ยว) ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ บุคคลดุจอสรพิษ มีพิษแล่น พิษไม่ร้าย คือ คนที่โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธอยู่ ไม่นาน ๑ มีพิษร้าย พิษไม่แล่น คือ คนที่ไม่โกรธเนืองๆ แต่ความโกรธอยู่นาน ๑ มีพิษแล่น พิษร้าย
คือ คนที่โกรธเนืองๆ และความโกรธอยู่นาน ๑ มีพิษไม่แล่น พิษไม่ร้าย คือ คนที่ไม่โกรธเนืองๆ และความโกรธอยู่ไม่นาน ๑.
อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๒๙๖

๖.๑.๒ คนโกรธ ๓ จำพวก เหมือนรอยขีดในหิน รอยขีดในดิน รอยขีดในน้ำ.
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๕๖๘

๖.๒ โทษของความโกรธ ความพยาบาท

๖.๒.๑ ความโกรธเป็นเครื่องปรากฏของคน ดุจธงเป็นเครื่องปรากฏของรถ ดุจควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟ.
ขุ.สุ. (อรรถ) มก. ๔๖/๓๑๙

๖.๒.๒ ภาชนะใส่น้ำซึ่งร้อนเพราะไฟเดือดพล่าน มีไอพลุ่งขึ้น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๓๒๒

๖.๒.๓ คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย.
อัง.สัตตก. (พุทธ) มก. ๓๗/๒๐๖

๖.๒.๔ ความโกรธย่อมเจริญแก่ผู้ใด เหมือนไฟที่ไหม้หญ้าและไม้ ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อมเหมือนดวงจันทร์ในวันข้างแรม ฉะนั้น.
ขุ.จริยา. (โพธิ) มก. ๗๔/๒๘๗

๖.๒.๕ การโกรธผู้อื่น เป็นเช่นเดียวกับผู้ปรารถนาจะจับถ่านไฟที่คุโชน หรือซี่เหล็กอันร้อนจัด หรืออุจจาระประหารผู้อื่น ฉะนั้น ความโกรธนั้นจักตกลงบนกระหม่อมของเขานั่นเอง เหมือนประหารผู้ไม่ประหารตอบ เหมือนนำธุลีซัดไปในที่ทวนลม.
ที.ม. (พุทธ) มก. ๑๔/๓๒๐

๖.๒.๖ ภิกษุรูปโน้นเป็นคนโกรธง่าย มากไปด้วยความคับแค้นใจ เที่ยวทำเสียงเอะอะเหมือนเกลือที่เขาใส่ในเตาไฟ.
ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๕๘/๑๓

๖.๒.๗ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนขี้โกรธ มีความแค้นมาก ถูกเขาว่าหน่อยก็ขัดเคือง ขึ้งเครียด เง้างอด ทำความกำเริบ ความร้าย และความเดือดดาลให้ปรากฏ เหมือนอย่างแผลร้าย ถูกไม้หรือกระเบื้องเข้า ก็ยิ่งมีหนองไหล ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนขี้โกรธ มีความแค้นมาก ถูกเขาว่าหน่อยก็ขัดเคือง ขึ้งเครียด เง้างอด ทำความกำเริบ ความร้าย และความเดือดดาลให้ปรากฏ ฉันนั้น นี่เราเรียกว่า บุคคลผู้มีจิตเหมือนแผล.
อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๘๑

๖.๒.๘ บุคคลผู้มีจิตเหมือนแผล คือ คนมักโกรธ ถูกเขาว่าเพียงเล็กน้อยก็โกรธ.
อัง.ติก. ปุคคลวรรค มก. ๓๔/๘๑

๖.๓ การกำจัดความโกรธ

๖.๓.๑ บุคคลใดข่มความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วได้ เหมือนกับสารถีหยุดรถซึ่งกำลังแล่นอยู่ได้ เราตถาคตเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นสารถี ชนนอกจากนี้เป็นแต่คนถือบังเหียน.
วิ.มหา. (พุทธ) มก. ๔/๒๗๑

๖.๓.๒ ผู้ใดพึงยับยั้งความโกรธที่บังเกิดขึ้นไว้ได้ ผู้นั้นก็ดุจบุคคลหยุดรถที่ไปอย่างรวดเร็วไว้ได้ ฉะนั้น.
ขุ.สุ. (พุทธ) มก. ๔๖/๑๑

๖.๓.๓ ภิกษุใดกำจัดความโกรธที่เกิดขึ้น เหมือนหมอกำจัดพิษงูที่แล่นซ่านไปแล้วด้วยโอสถทั้งหลาย ฉะนั้น.
วิ.มหา. (พุทธ) มก. ๔/๒๗๑

๖.๓.๔ น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในสระน้ำที่ถูกสาหร่าย และแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น เแหวกสาหร่าย และแหนด้วยมือทั้งสองแล้วกอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่เป็นผู้มีความ
ประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจในส่วนนั้นใน ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจในส่วนนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนั้น.
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๓๔๐

๖.๓.๕ ภิกษุผู้อาพาธมีทุกข์เป็นไข้หนักเดินทางไกล แม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบายถูกโรค เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควรและผู้นำทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกล พึงเห็นเขา บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความกรุณาความ
เอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า โอ คนๆ นี้พึงได้อาหารที่สบาย เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศฉิบหาย ณที่นี้เลย แม้ฉันใด
         บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงเข้าไปตั้งความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในบุคคลแม้เห็นปานนี้ว่า โอ ท่านผู้นี้พึงละกายทุจริตแล้วอบรมกายสุจริต พึงละวจีทุจริตแล้วอบรมวจีสุจริต พึงละมโนทุจริตแล้วอบรมมโนสุจริต ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า ท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้.
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๓๔๑

๖.๓.๖ สระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ ดารดาษไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อนกระหายน้ำ เขาพึงลงสระน้ำนั้น อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้างที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น แม้ฉันใด
       บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยการอันสมควร แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้น แม้การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยการอันสมควร ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้.
อัง.ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๓๔๒

๖.๓.๗ ความประมาทย่อมสงบได้ด้วยการไม่ผูกโกรธ ดุจไฟไม่มีเชื้อเกิดขึ้นแล้วดับไปฉะนั้น.
ขุ.ธ. (เถระ) มก. ๔๐/๖๗

๖.๓.๘ บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้ย่อมอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ดูก่อนพราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะว่า บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศก.
ขุ.ม. (พุทธ) มก. ๖๖/๗๖

๖.๓.๙ เจ้าอย่าเห็นแก่ยาว เจ้าอย่าเห็นแก่สั้น เวรทั้งหลายย่อมไม่ระงับเพราะเวรเลย แต่ระงับได้เพราะไม่จองเวร.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๕๘/๘๔๘

๖.๓.๑๐ คนพาลกล่าวคำหยาบ คิดว่าตนชนะ แต่ความอดกลั้นได้ เป็นชัยชนะของบัณฑิต ผู้ใดโกรธตอบ ผู้นั้นลามกกว่า ผู้ใดไม่โกรธตอบย่อมชื่อว่า ชนะสงคราม ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ มีสติสงบได้ ชื่อว่า ทำประโยชน์แก่คนทั้งสองฝ่าย.
สัง.ส. (พุทธ) มก. ๒๕/๒๐๖

mongkol-life37.7.jpg

๗. ความฟุ้งซ่าน

๗.๑ ความฟุ้งซ่านเหมือนความเป็นทาส.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๑/๔๕๙

๗.๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสการละความฟุ้งซ่านว่า เหมือนความเป็นไท.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๑/๔๖๑

๗.๓ ภาชนะใส่น้ำอันลมพัดแล้วหวั่นไหว กระเพื่อม เกิดเป็นคลื่น บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของคนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใดบุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ... ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๓๒๓

mongkol-life37.8.jpg

๘. ความหดหู่ ซึมเซา

๘.๑ เพราะความหดหู่ ซึมเซา ง่วง ทำให้ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง พึงเห็นถีนมิทธะเหมือนเรือนจำ.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๑/๔๕๘

๘.๒ ภาชนะใส่น้ำอันสาหร่าย และจอกแหนปกคลุมไว้ บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริงฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ… ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะ ที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๓๒๒

mongkol-life37.9.jpg

๙. ความลังเล สงสัย

๙.๑ การละความลังเลสงสัยได้เหมือนภูมิอันเป็นแดนเกษม.
ที.สี. (พุทธ) มก. ๑๑/๔๖๒

๙.๒ ภาชนะใส่น้ำขุ่นมัวเป็นเปือกตมอันบุคคลวางไว้ในที่มืด บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน
          สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา… ย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งวิจิกิจฉา ที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง.
สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๐/๓๒๓

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035401082038879 Mins