เหตุการณ์สําคัญบางตอน ในพระพุทธกิจเกี่ยวกับพระญาติ

วันที่ 31 มีค. พ.ศ.2566

GL204_580912_09%20%281%29.jpg

บทที่ ๑๒
เหตุการณ์สําคัญบางตอน ในพระพุทธกิจเกี่ยวกับพระญาติ

 

               ดังได้กล่าวแต่ตอนต้นพระประวัติแล้วว่า พระน้านางปชาบดีโคตมี ทรงเลี้ยงดูพระบรมศาสดามาตั้งแต่พระชนม์เพียง ๗ วัน ทรงรักใคร่เอ็นดูเปี่ยมล้นพระหฤทัย แม้จะมีพระโอรส ธิดาของพระนางเอง ก็ดูเหมือนจะไม่ใส่พระทัยเท่า
 

               เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนเป็นพระศาสดา พระน้านางยิ่งทรงเลื่อมใสเป็นพิเศษ ดำริในพระทัยจะถวายสิ่งของที่ทรงทำด้วยพระองค์เอง จึงทรงปลูกฝ้ายชนิดพิเศษ ใช้ผงทองคำปนลงในเนื้อดินที่เป็นเลิศ เนื้อฝ้ายที่ได้ราวกับเส้นใยทองคำเหลืองสุกปลั่ง พระนางทรงกรอด้าย ทรงปั่น และทอเป็นผ้าด้วยพระองค์เอง ได้ผ้า ๒ ผืน ยาว ๑๔ ศอก ทรงจัดใส่ผอบทองคํา นําไปถวายพระบรมศาสดา
 

                พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาในขณะนั้น เห็นว่าผู้คนทั้งหลายมีศรัทธาในพระองค์มาก มักนำสิ่งของต่างๆ มาถวายเป็นการเฉพาะเจาะจง เหมือนที่พระน้านางทรงกระทำอยู่
 

                ถ้าไม่ทรงแก้ไขให้เข้าใจกันให้ถูกต้องว่า การถวายในหมู่สงฆ์ แม้แต่เพิ่งบวชใหม่ ก็มีอานิสงส์ยิ่งแล้ว ต่อไปภายหน้าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสาวกจะไม่มีผู้ศรัทธา จะพากันอยู่อย่างลำบาก ไม่มีผู้ใดเต็มใจถวายสิ่งของที่จำเป็นให้
 

                ทรงดำริดังนี้แล้ว พระองค์จึงไม่ทรงยอมรับผ้าผืนนั้น รับสั่งให้พระนางปชาบดีโคตมีถวายภิกษุอื่น แต่ไม่มีภิกษุรูปใดยอมรับผ้าไว้ คงขอให้ถวายองค์ต่อๆ ไป
 

                ในที่สุดถึงภิกษุรูปสุดท้าย เพิ่งบวชใหม่ในวันนั้น ท่านไม่มีภิกษุอื่นให้เกี่ยง จึงต้องรับผ้านั้นไว้ พระน้านางเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงคิดว่าถวายภิกษุเพิ่งบวช คงได้บุญน้อยถึงกับกรรแสง
 

                 พระบรมศาสดาทรงหยิบบาตรให้ปาฏิหาริย์จากพระหัตถ์ลอยหายไปในอากาศ แล้วทรงให้พระเถระผู้มีฤทธิ์เหาะตามไปนำบาตรกลับมา แต่ไม่มีผู้ใดหาได้ จนถึงภิกษุรูปสุดท้าย ท่านยื่นมือออกไปพร้อมอธิษฐานว่า ถ้าพระบรมศาสดาทรงปรารถนาให้ท่านเป็นผู้หาบาตรพบ ขอให้บาตรลอยมาที่มือท่านเอง บาตรลอยมาตามคำอธิษฐานเป็นอัศจรรย์
 

                  พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้พระน้านางทรงทราบว่า การอุทิศแก่สงฆ์เป็นส่วนรวมมีอานิสงส์มากกว่าได้ผลบุญมากกว่า การถวายอุทิศจำเพาะเจาะจง ภิกษุในศาสนาของพระองค์เป็นเนื้อนาบุญที่ดีเยี่ยม แม้ว่าจะบวชในวันนั้นอย่างเช่นภิกษุผู้รับผ้าของพระน้านาง ชื่อ อชิตะ ผู้นี้ แม้จะยังไม่บรรลุคุณวิเศษประการใด ก็เป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ เป็นที่เกิดบุญกุศลแก่ผู้ถวายสิ่งของได้เป็นอย่างดี
 

              และพระอชิตะผู้นี้เอง จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามศรีอริยเมตไตรยในกาลภายหน้า เมื่อมนุษย์มีอายุขัย 4 หมื่นปี
 

               พระนางปชาบดีโคตมี สดับพระวาจาแล้วทรงโสมนัสเป็นที่ยิ่ง
 

                นับจากนั้นมา ประชาชนจึงพากันนิยมถวายของเป็นสังฆทานมากกว่าปาฏิบุคคลิกทาน ทำให้ภิกษุสงฆ์ไม่มีความยากลำบากในการครองชีวิต และทำให้สืบอายุพระพุทธศาสนามายั่งยืนจนทุกวันนี้
 

              หากประชาชนนิยมเลื่อมใสถวายเฉพาะภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อภิกษุรูปนั้นมรณภาพลง ประชาชนไม่มีศรัทธาในภิกษุอื่น เลิกทำทาน ภิกษุอื่นเมื่อไม่มีผู้ใดถวายปัจจัย ๔ ก็ดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ ต้องสึกออกมาเป็นฆราวาส อายุพระพุทธศาสนาย่อมไม่ยั่งยืน
 

ทรงห้ามพระญาติ
 

               กรุงกบิลพัสดุ์ อันเป็นเมืองที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดานั้น ตั้งอยู่ด้านเหนือน้ำของแม่น้ำโรหิณี ส่วนนครเทวทหะเป็นเมืองฝ่ายพระญาติของพระนางสิริมหามายาพระพุทธมารดา อยู่ด้านใต้ของแม่น้ำ ชาวเมืองทั้งสองได้อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีทําเกษตรกรรม
 

                 ครั้งหนึ่งในแม่น้ำมีน้ำน้อย ชาวนาทางต้นน้ำทดน้ำเก็บกันไว้มาก ทำให้ชาวนาทางใต้เดือดร้อน เกิดการต่อว่าท้วงติงลุกลามใหญ่โต จนเป็นการพิพาทระหว่างแคว้น ต่างฝ่ายต่างเตรียมทำสงครามประหัตประหารกัน ทั้งที่เป็นเครือญาติกันตั้งแต่วรรณะกษัตริย์ ไปจนกระทั่งชาวเมืองเอง
 

               พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงเสด็จเหาะไปยังท่ามกลางกองทัพที่กำลังประจันหน้า เตรียมรบพุ่งกัน ทรงเรียกนายทหารทั้งสองฝ่ายมาพร้อมหน้าตรัสถามว่า
 

               “ท่านทั้งหลายทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุอะไร?”
 

                “มีเหตุมาจากเรื่องน้ำ พระพุทธเจ้าข้า” นายทหารทั้งสองฝ่ายตอบตรงกัน พระองค์ตรัสถามซักต่อไปอีกว่า “น้ำกับชีวิตคน (สายน้ำกับสายเลือด) อะไรมีค่าสําคัญกว่ากัน”

 

                 “ชีวิตคน (สายเลือดคือความเป็นญาติ) มีค่ามากกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
 

                  พระบรมศาสดาตรัสเน้นให้คิดว่า “ถ้ากระนั้น ควรแล้วหรือที่จะเอาชีวิตคนมาแลกกับน้ำ"
 

                  เหล่าพระญาติทั้งสองฝ่ายได้คิด จึงเลิกทำสงครามกัน สายน้ำจึงไม่กลายเป็นสายเลือด พระพุทธลักษณะที่ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออกด้านหน้าที่เรียกกันว่า “พระปางห้ามญาติ" มีสาเหตุมาจากเรื่องราวตอนนี้
 

พระเจ้าสุทโธทนะทรงประชวร
 

                  ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี แคว้นวัชชี ทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าสุทโธทนะทรงประชวรหนักด้วยพระโรคชรา จึงทรงรีบเสด็จไปเยี่ยม พระอาการเวลานั้นทรุดหนักมาก พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมโปรดว่า
 

                 “ดูก่อน มหาบพิตร ชีวิตของมนุษย์นั้นสั้นนัก ดำรงอยู่ไม่นานเลย ไม่ยั่งยืนอะไร เปรียบเหมือนสายฟ้าแลบ ปรากฏอยู่เพียงไม่นาน”
 

                พระเจ้าสุทโธทนะทรงเป็นพระอนาคามีอยู่แล้วสดับพระธรรมเทศนาสั้นเพียงเท่านั้น  พอจบลงก็ทรงสําเร็จเป็นพระอรหันต์ทันที ต่อจากนั้นอีก ๗ วัน จึงปรินิพพาน
 

                  พระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระสงฆ์และพระประยูรญาติ จัดถวายพระเพลิงพระศพ
 

พระภิกษุณีองค์แรก
 

                เมื่อพระพุทธบิดาปรินิพพานแล้วไม่นานนัก พระญาติสนิททรงพระนามว่า พระมหานามะได้รับการคัดเลือกให้เป็นพระราชาครองกรุงกบิลพัสดุต่อไป พระน้านางปชาบดีโคตมี มีพระประสงค์จะบวช ได้กราบทูลขอพระบรมศาสดาบวชบ้าง พระองค์ตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง
 

                  พระนางปชาบดีโคตมี ไม่ทรงท้อถอย วันหนึ่งพระนางพร้อมด้วยนางกำนัล ๕๐๐ คน ที่เต็มใจบวชด้วย ต่างพากันปลงผม นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดอย่างเพศนักบวช ไปเข้าเฝ้ากราบทูลขอบวชอีก พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ
 

                 พระน้านางทรงขอให้พระอานนท์กราบทูลช่วยเหลือ พระบรมศาสดาทรงปฏิเสธถึง ๓ ครั้งอีก พระอานนท์กราบทูลถึงพระคุณของพระนางปชาบดีโคตมี ที่ทรงเลี้ยงดูมา ตั้งแต่พระพุทธมารดาทิวงคต พระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาต แต่มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติ เรียกว่า ครุธรรม ๘ ถ้ากระทำตามได้จึงให้บวช
 

                 ครุธรรม ๘ คือ หลักความประพฤติที่ภิกษุณีต้องปฏิบัติด้วยความเคารพศรัทธาตลอดชีวิตละเมิดไม่ได้ มีดังนี้
 

๑. ภิกษุณีแม้บวชมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้เพิ่งบวชเพียงวันเดียว
๒. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
๓. ภิกษุณีต้องไปถามวันอุโบสถ และเข้าไปฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน โดยรังเกียจ (หมายถึงระแวงสงสัยหรือเห็นพฤติกรรมอะไร ที่น่าเคลือบแคลง)
๕. ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัต(เปลื้องตนจากความผิด) ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย ๑๕ วัน
๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทา (คือต้องบวช) ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย โดยต้องเป็นนางสิกขมานาก่อน ๒ ปี คือถือศีล ๖ ข้อ อย่างเคร่งครัด (ผิดข้อใดไม่ได้ ถ้าผิดต้องสมาทานนับเวลาใหม่)
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่าจะโดยปริยายใดๆ
๘. ภิกษุว่ากล่าวภิกษุณีได้ แต่ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุไม่ได้

 

                 พระนางปชาบดีโคตมี ทรงมีพระศรัทธาแรงกล้า ทรงยอมรับปฏิบัติครุธรรมทั้ง ๘ ประการ และได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อจากนั้นพระญาติวงศ์ฝ่ายสตรี เช่น พระนางยโสธรา เจ้าหญิงชนบทกัลยาณี เจ้าหญิงโรหิณี เจ้าหญิงรูปนันทา ฯลฯ ได้พากันออกบวชตามกันมา และได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง เป็นพระอรหันตเถรีด้วยกันทั้งสิ้น
 

               การที่พระบรมศาสดาทรงปฏิเสธไม่ยอมให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีนั้น มีสาเหตุหลายประการ เช่น เป็นเครื่องบั่นทอนให้มหาชนเสื่อมศรัทธาง่าย ทำให้อายุ พระศาสนา สั้นลง เช่น พื้นนิสัยของสตรีไม่หนักแน่น เจ้าแง่แสนงอน ขี้อิจฉา มีเรื่องจุกจิก ฯลฯ ทำให้หมู่คณะอยู่ร่วมกันยาก
 

                และเหตุการณ์ได้เป็นไปตามที่ทรงคาดคะเนไว้ ปรากฏว่าในการปกครองภิกษุณี พระบรมศาสดาต้องทรงวางวินัยไว้ถึง ๓๑๑ ข้อ ในขณะที่วินัยของพระภิกษุมีเพียง ๒๒๗ ข้อ แสดงว่าภิกษุณีทำผิดมากกว่าพระภิกษุสงฆ์
 

                 อย่างไรก็ดี ในครั้งกระนั้นได้มีพระอรหันตเถรีหลายรูปที่ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่น
 

                  พระนางปชาบดีโตมี เป็นเลิศในทางรัตตัญญู (บวชนานรู้เหตุการณ์ก่อนใคร)
 

                 พระนางเขมาพระอรหันตเถรีรูปนี้เป็นเลิศทางมีปัญญามากนับเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา เดิมเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร หลงความงามของตนเอง ฟังพระบรมศาสดาตรัสสอนเรื่องราคะ และวิธีกำจัดจบลง บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที แล้วบวชเป็นภิกษุณี
 

                 นางอุบลวรรณา พระอรหันตเถรีรูปนี้เป็นเลิศทางแสดงฤทธิ์ เป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย เดิมเป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครสาวัตถี มีผิวพรรณงามเหมือนดอกนิลุบล (บัวเขียว) มีผู้มาสู่ขอมากจนบิดาหนักใจ ขอให้นางบวช นางเต็มใจอยู่แล้ว จึงบวชเป็นภิกษุณี คราวหนึ่งอยู่เวรจุดประทีปในพระอุโบสถ ได้เพ่งดูเปลวเทียนเป็นนิมิต เจริญฌานด้วยเตโชกสิณ (กสิณไฟ) บรรลุเป็นพระอรหันต์
 

                  นางปฏาจารา พระอรหันตเถรีรูปนี้เป็นเลิศทางทรงพระวินัย เดิมเป็นธิดาของเศรษฐี หนีตามคนใช้ไปอยู่ด้วยกัน มีลูกสองคน ขณะเดินทางกลับบ้านบิดามารดา สามีและลูกตายกะทันหันทั้งหมด มาตามทางทราบว่าพ่อแม่พี่น้องถูกบ้านพังทับตายหมด ทำให้เสียสติเป็นบ้า ผ้าหลุดลุ่ยไม่สนใจ เดินบ่นเพ้อไปตามที่ต่างๆ จนถึงวัดพระเชตวัน พระบรมศาสดาทรงแผ่เมตตา ตรัสวาจาให้สติ นางพลันหายบ้า เมื่อฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้บวชเป็นภิกษุณี วันหนึ่งตักน้ำล้างเท้า ครั้งแรกน้ำไหลไปหน่อยหนึ่ง ครั้งที่สองไหลไปอีกหน่อย และครั้งที่สามไหลมากกว่าครั้งที่สอง จึงกำหนดเอาน้ำเป็นอารมณ์ เทียบกับความตายของหมู่สัตว์ว่า บางคนตายในปฐมวัย บางคนตายในมัชฌิมวัย บางคนตายในปัจฉิมวัย บรรลุเป็นพระอรหันต์
 

                นางกีสาโคตมี พระอรหันตเถรีรูปนี้เป็นเลิศทางครองจีวรเศร้าหมอง เดิมเป็นธิดาของคนยากจน แต่เศรษฐีขอไปเป็นลูกสะใภ้ เพราะทรัพย์สมบัติของเศรษฐีกลายเป็นถ่าน มีนางคนเดียวที่เห็นถ่านเป็นเงินทอง เศรษฐีจึงรู้ว่านางเป็นคนมีบุญ มอบทรัพย์ให้นาง ทรัพย์จึงกลับเป็นเงินทองตามเดิม
 

                ต่อมาบุตรชายเพิ่งสอนเดินของนางตาย นางเสียใจไปกราบทูลให้พระบรมศาสดา ประทานยาให้ลูกของนางฟื้น พระองค์ให้นางไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาด ในบ้านของคนที่ไม่เคยมีญาติตาย ปรากฏว่านางหาไม่ได้ คนทุกคนทุกบ้านล้วนมีแต่ญาติพี่น้องตายด้วยกันมาแล้วทั้งสิ้น นางจึงได้คิด เมื่อฟังพระธรรมเทศนา บรรลุเป็นพระโสดาบันทันที ได้บวชเป็นภิกษุณี วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปในพระอุโบสถ เห็นบางดวงกำลังลุกโพลง ไม่นานก็ค่อยหรี่ และในที่สุดก็ดับ นางถือเอาอาการของเปลวไฟ มีเกิดและดับ เป็นอารมณ์บรรลุเป็นพระอรหันต์

จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.02250804901123 Mins