บทที่ ๑๗
บางพระชาติก่อนตรัสรู้ เป็นพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระโพธิสัตว์ในชาติแรกปรารถนาความพ้นทุกข์ และช่วยเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ด้วย คือชาติที่เป็นชายหนุ่มแบกมารดาว่ายน้ำในทะเลในยามที่เรือสินค้าอับปางลง ได้เห็นความทุกข์ของตนเองและเพื่อนกะลาสีเรือด้วยกัน ที่จมน้ำตายไปต่อหน้าต่อตา จนไม่มีใครเหลือเลย มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อนานมาแล้วเกินเวลากว่า ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป เวลานั้นเป็นเวลาสุญญกัป ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ไม่มีแม้กระทั่งพระปัจเจกพุทธเจ้า มีชายผู้หนึ่งเกิดมากำพร้าพ่อ อยู่ตามลำพังกับแม่ มีฐานะยากจนมากหาเลี้ยงชีวิตด้วยการตัดฟืนและหาของในป่ามาขายในเมือง เพื่อได้เงินมาแลกอาหารเลี้ยงชีวิตมารดาและตนเองไปวันๆ
ต่อมามารดาชรามากขึ้น ชายหนุ่มจึงต้องทำงานทั้งในบ้านนอกบ้าน มารดาขอให้หาหญิงมาเป็นภรรยาสักคนหนึ่งเพื่อจะได้ช่วยเหลืองานบ้าน เขาปฏิเสธ เพราะเห็นว่า รายได้ที่มีในแต่ละวันยังแทบไม่พอเลี้ยงชีวิตตนเองและมารดา ถ้ามีภรรยา ก็จะต้องมีลูกเพิ่มมาอีก จะเอาอะไรเลี้ยงภรรยาและลูก
วันหนึ่งเมื่อเขาขายสิ่งของหมดแล้ว รู้สึกเหน็ดเหนื่อยจึงนั่งพักอยู่ใกล้ท่าเรือเดินทะเลที่นำสินค้าไปขายในต่างแดนขณะนั้นพอดีมีเรือสินค้ากลับจากต่างแดนเข้าเทียบท่าลูกเรือลงมาจากเรือเป็นจํานวนมาก ดูแต่ละคนมีความสุข แต่งตัวดีมีทรัพย์สินติดตัวมาด้วยมาก
ภาพที่เห็นทำให้ชายหนุ่มคิดถึงชีวิตของตนเอง ถ้ายังทำอาชีพเดิมต่อไป จะต้องยากจนอยู่ไม่รู้จบ ยามชราหมดเรี่ยวแรงทำมาหากิน จะเอาสิ่งใดเลี้ยงชีวิต ลูกเต้าก็ไม่มี สมควรจะต้องหาอาชีพที่มีรายได้ดีพอมีเหลือเก็บไว้ใช้ไว้กินยามแก่ อาชีพลูกเรือที่เห็น ก็ดูมีรายได้ดี หรือถ้าได้เดินทางไปถึงสุวรรณภูมิ มีลู่ทางทำมาหากินอย่างอื่นที่ดีกว่า ก็จะไปประกอบอาชีพที่นั่น
ชายหนุ่มคิดแล้ว จึงเข้าไปสมัครเป็นลูกเรือกับเจ้าของเรือ โดยขอน่ามารดาติดเรือไปด้วยเพราะไม่มีใครเลี้ยงดู เจ้าของเรือเห็นลักษณะเป็นคนดี ยังมีความกตัญญูต่อมารดาจึงรับไว้ทํางาน
เรือเดินทางออกจากฝั่งมาได้ ๗ วันเท่านั้น ก็ถูกพายุพัดล่มลง ต่างคนต่างว่ายน้ำเข้าหาฝั่ง ส่วนชายหนุ่มแบกมารดาไว้บนบ่า เกาะไม้กระดานแผ่นหนึ่งตะเกียกตะกายว่ายน้ำ มองเห็นเพื่อนร่วมทางจมน้ำตายไปต่อหน้าคนแล้วคนเล่า ตัวเขาเองก็หมดเรี่ยวแรงขาดสติจมน้ำอยู่หลายครั้ง ทำให้ได้คิดว่า พามารดามาประสบทุกข์ยากลำบากสาหัส ชีวิตโดยปกติ ก็มีทุกข์ประจำอยู่แล้ว เช่น ต้องหิว ต้องกิน อิ่มแล้วก็ต้องถ่าย ยังมีเจ็บไข้ได้ป่วย ยังมีแก่หมดกำลังวังชา ในที่สุดก็ต้องตาย ทุกข์ประจำดังกล่าวนี้สัตว์ทั้งหลายไม่เคยนึกถึง และยังไม่มีหนทางแก้ไข แต่กลับต้องพบกับทุกข์จรอื่นๆ อีก อย่างชีวิตของตนเองขณะนั้น ทุกข์เพราะพบกับของที่ไม่ชอบ ทุกข์เพราะพลัดพรากจากของที่ชอบ ฯลฯ ชีวิตเป็นของน่ากลัว การเกิดเป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก
ชายหนุ่มคิดอยากพ้นความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าจะต้องมีหนทางพ้นทุกข์ เพราะทุกอย่างในโลกนี้ มีของตรงกันข้ามปรากฏให้เห็นอยู่ มีมีดก็มีสว่าง มีกลางคืนก็มีกลางวัน มีร้อนก็มีเย็น มีจนมีรวย มีดีมีชั่ว ดังนั้นมีเกิดแก่เจ็บตาย ก็จะต้องมีไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มีทุกข์ก็จะต้องมีสุข
เมื่อมีของแท้กันดังนี้ ก็จะต้องมีวิธีแก้ไขด้วย ชายหนุ่มคิดถึงเรื่องพ้นทุกข์ในเวลาลอยคออยู่ในนํ้าทะเลนั้นเอง
คิดปรารถนาพ้นทุกข์ดังนี้ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าพามารดารอดตายไปได้ จะตั้งหน้าหาหนทางให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อพบแล้วจะบอกให้เพื่อนร่วมโลกรู้ และทําตามให้พ้นทุกข์เหล่านี้ด้วย
ด้วยมีใจใหญ่ปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก ชายหนุ่มผู้ที่กล่าวถึง จึงสมควรแก่การได้ชื่อใหม่ว่า “พระโพธิสัตว์”
การคิดช่วยผู้อื่นเป็นกุศลจิตอันยิ่งใหญ่ พลันให้ชายหนุ่มกลับมีเรี่ยวแรงรวบรวมกำลังว่ายน้ำพามารดาเข้าถึงฝั่งภายใน ๒-๓ วันต่อมา คนอื่นๆ ตายสิ้นในท้องทะเล
เมื่อขึ้นฝั่งแล้ว พระโพธิสัตว์ได้ตั้งหน้าทํามาหากินเลี้ยงมารดา และพยายามกระทำความดีต่างๆ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคลำบากยากเข็ญเพียงใด ก็ไม่ย่อท้อ กระทั่งมารดาสิ้นชีวิตไปแล้ว พระโพธิสัตว์ยิ่งทุ่มเทสั่งสมเพิ่มพูนความดีให้ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อถึงแก่ความตายจึงไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
หมดบุญก็จุติจากสวรรค์เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ เรื่อยมานับชาติไม่ถ้วน คราวใดที่ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ จะทรงมีพระสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีพระปัญญาเฉียบแหลม มองเห็นทุกข์ภัยในวัฏฏสงสาร จึงทรงตั้งมั่นทำคุณงามความดีทุกวิถีทาง เพื่อหาทางหลุดพ้น
จากวัฏฏทุกข์ให้ได้
ดังพระชาติที่เป็นพระเจ้าสัตตตาปนะ ที่จะเล่าต่อไปนี้
พระเจ้าสัตตตาปนะ
ชาติหนึ่งพระโพธิสัตว์ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ตระกูลกษัตริย์ ที่นครสิริมดี ทรงพระนามว่า พระเจ้าสัตตตาปนะ ทรงมีพระราชสมบัติเพียบพร้อม แวดล้อมด้วยข้าราชบริพารที่จงรักภักดี ทรงครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรม ประชาราษฎร์อยู่ร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า
พระเจ้าสัตตตาปนะโปรดการประพาสคล้องช้างเป็นอย่างยิ่ง วันหนึ่งทรงทราบข่าวเรื่องมีช้างเผือก จึงเสด็จไปคล้องได้มาโดยไม่ยาก โปรดให้นำมาขึ้นระวางเป็นช้างหลวง ทรงมีรับสั่งให้ควาญช้างผู้เชี่ยวชาญตำราคชเวท ฝึกหัดให้ช้างเชื่อง ชำนาญพิธีใช้งานได้อย่างดีภายใน ๗ วัน
พอวันที่ ๘ พระองค์ทรงประทับบนหลังช้างเสด็จชมเมืองจนถึงเวลาเย็น ทรงสดับข่าวว่า ในราตรีก่อนมีช้างป่าโขลงใหญ่บุกเข้าทำลายอุทยานพังยับเยิน จึงทรงช้างไปทอดพระเนตร
ทันทีที่เข้าเขตพระราชอุทยาน ช้างทรงของพระองค์ซึ่งเยื้องย่างเป็นสง่ามาอย่างดี ก็พลันมีอาการเปลี่ยนแปรไป สลัดควาญช้างตกลง แล้วตั้งหน้าวิ่งเตลิดเข้าป่า แม้พระราชาจะทรงลงทัณฑ์โดยพระขอคมกริบเพื่อบังคับ ช้างทรงก็ไม่เกรงกลัว ยังคงวิ่งตะลุยฝ่าดงไม้ไม่คิดชีวิต
พระเจ้าสัตตตาปนะ ทรงเห็นว่าพระองค์อาจถูกกิ่งไม้ทำอันตรายถึงแก่พระชนม์ชีพจึงทรงคว้ากิ่งมะเดื่อ โหนพระวรกายขึ้นประทับอยู่บนกิ่งไม้พ้นอันตรายในครั้งกระนั้น
เมื่อทรงซักถามควาญช้างถึงสาเหตุ ควาญช้างกราบทูลว่า เป็นเพราะช้างเผือกได้กลิ่นนางช้าง จึงเกิดมัวเมาด้วยไฟราคะ ลืมสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ความเจ็บปวด เมื่อได้พบนางช้าง และสําเร็จกิจตามประสงค์แล้ว จะเชื่องและกลับมาอยู่ในอำนาจมนต์ตามเดิม
เหตุการณ์เป็นไปตามที่ควาญช้างกราบทูล ช้างเผือกเชือกนั้นในไม่ช้าก็กลับมา ควาญช้างสั่งให้ทำสิ่งใดก็ยอมทำ แม้กระทั่งให้เอางวงถือก้อนเหล็กที่เผาไฟจนแดง ช้างก็ทำตาม พระราชาทรงสลดพระทัย เห็นโทษภัยของไฟราคะว่าร้อนแรงนัก ก่อให้เกิดภัยอันตรายใหญ่หลวง มนต์ก็สะกดไม่อยู่ ไฟราคะนี้เองตรึงสรรพสัตว์ให้ติดอยู่ในวัฏฏสงสาร ทรงดำริออกจากกาม ให้พ้นจากอำนาจของราคะ จึงทรงสละพระราชสมบัติออกบวชเป็นฤๅษี ประพฤติพรหมจรรย์จนสิ้นอายุขัย ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
จากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดอีกนานแสนนาน จึงบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เป็นพระพรหมดาบส
พระพรหมดาบส
พระชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทรงบังเกิดเป็นลูกชายในตระกูลพราหมณ์ชื่อ พรหมกุมาร ศึกษาสำเร็จไตรเพทแล้ว เป็นอาจารย์สอนลูกศิษย์ ๕๐๐ คน เมื่อบิดามารดาสิ้นชีวิตแล้ว พรหมกุมารนำทรัพย์สมบัติออกบริจาค แล้วออกบวชเป็นฤๅษี ศิษย์ทั้ง ๕๐๐ ได้พากัน ทยอยบวชตามมาอยู่ด้วย
หัวหน้าศิษย์ทั้งหมดในครั้งนั้นคือ พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ วันหนึ่งขณะที่เหล่าศิษย์พากันออกไปเที่ยวหาผลไม้มาบริโภค พระพรหมดาบสได้ไปกับศิษย์ที่เป็นหัวหน้า สองคนปีนป่ายขึ้นไปบนภูเขาปัณฑระ เมื่อมองลงไปที่เชิงเขา ดาบสทั้งคู่เห็นเสือแม่ลูกอ่อนเพิ่งคลอดลูกได้ ๒-๓ วัน กำลังหิวจัด แม่เสือมองจ้องลูกเขม็งเหมือนเตรียมจะขย้ำกินเป็นอาหาร
พระพรหมดาบสเห็นแล้วสลดใจ เห็นทุกข์ภัยในการเกิดเป็นสัตว์โลก มีแต่การเบียดเบียนกันเพื่ออยู่รอด ไม่เว้นแม้แต่จะเกิดเป็นแม่ลูกกัน ตราบใดถ้ายังต้องเวียนว่ายตายเกิด จะต้องหนีไม่พ้นการเบียดเบียนนำทุกข์มาให้แก่กันและกัน
พระดาบสเห็นใจในความหิวโหยของแม่เสือที่ยังไม่มีกำลังออกไปหาเหยื่อ และก็มีความกรุณาในชีวิตน้อยๆ เพิ่งเกิดของลูกเสือ จึงคิดบำเพ็ญปรมัตถทานบารมี สละชีวิตตนเพื่อให้ซากศพเป็นทาน แม่เสือกินแล้วจะได้หายหิวหลายวัน พอให้ร่างกายมีกำลัง ลูกเสือเองก็จะมีความปลอดภัยในชีวิต เสือแม่ลูกจะได้ไม่มีเวรต่อกัน
คิดดังนั้นแล้ว พระดาบสจึงแสร้งใช้หัวหน้าศิษย์ที่มาด้วยกันให้ไปเที่ยวหาซากสัตว์ ที่อาจมีในบริเวณนั้นมาให้แม่เสือ เมื่อดาบสผู้เป็นศิษย์เดินไปลับตา พระพรหมดาบสก็อธิษฐานจิตเอาอำนาจปรมัตถทานบารมีของตนครั้งนี้ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในเบื้องหน้า แล้วตัดสินพระทัยกระโดดลงมาสิ้นชีวิตทิ้งร่างไว้ต่อหน้าแม่เสือ แม่เสือจึงเลิกคิดกินลูกของมัน หันมากินร่างพระโพธิสัตว์แทน
การกระทำครั้งนี้เรียกว่า พุทธการกธรรม เป็นการกระทำที่ทำได้ยากยิ่ง สามารถสละสิ่งที่ทำได้ยาก เพื่อปรารถนาการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปลื้องทุกข์ให้ตนเองและสัตว์โลกให้จงได้
พระพรหมดาบสสิ้นชีวิตแล้วไปบังเกิดในสุคติเทวโลก สิ้นบุญจากภพนั้นก็มาเวียนว่ายตายเกิดอีกเรื่อยมา จนถึงชาติหนึ่งมีความประมาททำอกุศลกรรม กาเมสุมิจฉาจาร ต้องไปเสวยทุกข์ในนรกอเวจีเป็นเวลาช้านาน ทําให้เสียเวลาในการสร้างบารมี ชาติที่ว่านี้คือชาติที่เกิดเป็นชายหนุ่มมีอาชีพเป็นช่างทอง
มานพช่างทอง
พระโพธิสัตว์ชาติที่เกิดเป็นลูกชายช่างทองนั้นด้วยกุศลวิบากในการรักษาศีลมาเป็นอย่างดี ทำให้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม บุคลิกสง่างามสมชายชาตรี ยังมีฝีมือในการทําเครื่องประดับทองคำเป็นเลิศ ไม่มีฝีมือช่างทองผู้ใดเสมอเหมือน มีชื่อเลื่องลือไปในที่ทั้งปวง
ในเมืองนั้นมีเศรษฐีผู้หนึ่งจะจัดพิธีแต่งงานให้ธิดา จึงใคร่ทำเครื่องประดับเป็นของขวัญให้ ได้เรียกช่างทองหนุ่มไปพบเพื่อตกลงราคา ครั้นได้เห็นรูปร่างหน้าตาของช่างทองแล้ว ก็เกิดความหวั่นเกรงว่า ถ้าธิดาของตนเห็นช่างทองเข้าจะต้องหลงรัก และขอเลิกพิธีแต่งงานอย่างแน่นอน จึงขอตกลงให้ช่างทองทําเครื่องประดับโดยให้เห็นมือและเท้าลูกสาวของตนที่ยื่นออกมาจากผ้าม่านเท่านั้น ช่างทองตกลง
แต่ธิดาของเศรษฐีมีความสงสัยว่า เหตุใดบิดาจึงต้องใช้วิธีกั้นม่าน ไม่ให้เห็นหน้าซึ่งกันและกัน เมื่อได้โอกาสนางจึงแอบดู ครั้นเห็นแล้วก็เกิดความรักท่วมท้นจับใจ ไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้ จึงเขียนจดหมายขอนัดพบที่สวนหลังบ้าน ในเวลาดึกเมื่อผู้คนในบ้านนอนหลับกันหมดแล้ว
ช่างทองได้ไปพบตามนัด แต่เนื่องจากอ่อนเพลียจากการทำงานในตอนกลางวันจึงเผลองีบหลับไป เมื่อตื่นขึ้นมาก็พบภาชนะใส่อาหารอย่างประณีตวางอยู่ แสดงว่าธิดาเศรษฐีมาแล้ว แต่เห็นตนกำลังหลับจึงไม่ปลุก (สมัยนั้นการปลุกคนหลับถือว่าบาป) นางกลับไปเสียก่อน
วันที่สอง ธิดาเศรษฐีก็ขอนัดพบใหม่ทำนองเดียวกัน ชายหนุ่มก็ไปตามนัดและนอนหลับอีกแบบเดิม
พอวันที่สาม ชายหนุ่มตื่นมาเห็นนางกำลังเดินกลับ เรียกไม่ทัน แต่ก็เห็นว่าธิดาเศรษฐีนั้นเป็นสตรีที่มีความสวยงามมาก ช่างทองหนุ่มเกิดหลงรักนางเป็นที่สุด แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะในวันรุ่งขึ้นนางได้เข้าพิธีแต่งงานไปเสียแล้ว ต่างฝ่ายจึงได้แต่เสียใจใฝ่ฝันถึงกันและกัน
แม้ฝ่ายหญิงจะแต่งงานไปกี่เดือนกี่วันก็ตาม ช่างทองหนุ่มไม่หายรักนาง มีแต่ความทุกข์ทุรนทุราย ในที่สุดจึงคิดอุบายทำเครื่องประดับที่สวยที่สุดไปถวายพระอุปราชของนครนั้น กราบทูลเล่าเรื่องทุกข์ร้อนของตนให้ทราบ
พระมหาอุปราชพอใจในเครื่องประดับที่นำมาติดสินบนมาก เพราะไม่เคยมี ไม่เคยเห็นของที่งดงามอย่างนี้มาก่อน แทนที่จะทรงตักเตือนห้ามปราม กลับให้ความเห็นอกเห็นใจ ทรงให้ช่างทองแต่งกายเป็นหญิงอ้างว่าเป็นพระกนิษฐภคินี (น้องสาว) นำไปฝากไว้กับเศรษฐี ขอให้อยู่ร่วมห้องกับธิดาเศรษฐี โดยห้ามฝ่ายสามีของนางมาเกี่ยวข้องด้วยชั่วคราว จนกว่าพระมหาอุปราชจะกลับจากราชการในชนบท
คนทั้งสองได้ประกอบกรรมกาเมสุมิจฉาจารกันเป็นเวลานานถึง ๓ เดือน โดยไม่มีใครล่วงรู้ แล้วพระมหาอุปราชจึงมารับกลับ
ด้วยบาปกรรมที่ชายหนุ่มไม่ได้พบกัลยาณมิตร กลับพบบาปมิตรเช่นพระมหาอุปราช จึงประกอบอกุศลกรรมหนัก เป็นเหตุให้ตายแล้วไปอยู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน นานถึง ๑๔ กัป ยังมีเศษกรรมเหลือค้าง ให้ต้องเกิดเป็นลา เป็นโต เป็นคนพิการ หูหนวกตาบอดแต่กำเนิด เป็นกะเทย เป็นผู้หญิง อย่างละ ๕๐๐ ชาติ แม้เป็นหญิงแล้วก็ยังต้องรับโทษ เป็นโสเภณีบ้าง ถูกข่มขืนบ้าง ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับอวัยวะเพศบ้าง กว่าจะได้เป็นผู้หญิงดีๆ ก็นานแสนนาน
การต้องไปรับผลกรรมเป็นเวลานานมากเหล่านั้น ทำให้เสียเวลาสร้างบารมีเป็นอันมาก เหมือนเดินทางถอยหลัง
พระชาติของพระโพธิสัตว์ที่เกิดเป็นช่างทองนี้ เป็นตัวอย่างอันดี ให้เห็นโทษของความประมาท สู้อุตส่าห์สะสมบารมีมานับเวลายาวนานเป็นกัปๆ เมื่อประมาทย่อมพลาดไปทำความชั่ว เสียเวลารับผลกรรมชั่วเป็นกัปๆ เหมือนกัน การทำความดีอะไรก็ตาม จึงจำเป็นต้องตั้งอธิษฐานจิตล้อมตนเองไว้ให้มั่นคงว่า ขอให้บุญกุศลที่กระทำนั้นเป็นปัจจัยให้ถึงมรรคผลนิพพานเลิกเวียนว่ายตายเกิดและนับแต่นี้ต่อไปให้สร้างแต่บุญกุศลอย่างเดียว ความชั่วแม้น้อยนิดเพียงใด ก็ขออย่าได้กระทำ ให้ทำดีรุดหน้าจนกว่าจะเข้าพระนิพพาน
หลังจากพระโพธิสัตว์ทรงใช้หนี้กรรมเบาบางลงแล้ว ก็ทรงตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรต่อไป ไม่ย่อท้อ กระทั่งชาติสุดท้ายที่จะหมดเวรกาเมสุมิจฉาจาร ได้เกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าสุปปบุตร แห่งนครจัมปาวดี มีพระนามว่าเจ้าหญิงสุมิตตาเทวี ทรงเป็นพระน้องนางต่างมารดาของสมเด็จพระปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะทรงเกิดในตระกูลสูง แต่การมีเพศเป็นสตรี ก็ไม่เอื้อให้แสวงโมกขธรรมได้สะดวก
เจ้าหญิงสุมิตตาเทวี
สมเด็จพระปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระเชษฐาของเจ้าหญิงสุมิตตาเทวีนั้น ทรงบำเพ็ญบารมีมาแล้ว ๑๖ อสงไขยแสนกัป ชาติที่ตรัสรู้นี้ทรงครองเพศฆราวาสอยู่ในโลกียสุขนานถึงหนึ่งหมื่นปี จึงทรงทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ ประการ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทรงสลดพระทัยแล้วเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงทำความเพียรอยู่เพียง ๗ วัน ก็ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ ชื่อปัจฉิมทีปังกรออกบวชเป็นภิกษุสาวกอยู่ด้วย มีความพากเพียรปฏิบัติจนได้ฌาน อภิญญา สมาบัติ ไม่ต้องการบรรลุเป็นพระอรหันต์ ใครจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต จึงบำเพ็ญความดีต่างๆ ให้ยิ่งขึ้น วันหนึ่งตั้งใจจะจุดประทีปโคมไฟในตอนกลางคืนให้สว่างไสวตลอดคืน บูชาพระปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมประชุมกัน
พระโพธิสัตว์นั้นจึงเที่ยวออกเดินบิณฑบาตน้ำมันเพื่อไปใส่ในดวงประทีปจนเย็นแล้ว ก็ยังไม่ได้น้ำมันเลยแม้แต่หยดเดียว แต่ก็ไม่สิ้นความพยายาม จึงไปยืนบิณฑบาตอยู่ที่ประตูวังใกล้ตำหนักพระราชธิดาสุมิตตาเทวี พระราชธิดาทอดพระเนตรเห็น รับสั่งให้นางกำนัลไปถามความประสงค์ ทรงทราบแล้วเจ้าหญิงทรงถวายน้ำมันเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ทรงมีอยู่ทั้งหมด พร้อมทั้งทรงฝากข้อความเพื่อทูลถามพระบรมศาสดา ผู้ทรงเป็นพระเชษฐาว่า พระนางปรารถนาจะเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างจะสำเร็จหรือไม่
โดยปกติแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ทรงพยากรณ์เรื่องนี้แก่สตรีเป็นอันขาด เพราะไม่ใช่วิสัยกระทำได้ เพศสตรีเป็นเพศที่อ่อนแอ มีใจคอคับแคบ โลเลง่าย จะประทานพุทธพยากรณ์แก่มนุษย์เพศชายที่สั่งสมบารมีมาดีแล้ว มีธรรมสโมธานครบ ๘ ประการ เช่น อยู่ในเพศบรรพชิต เป็นต้น
พระปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสพยากรณ์ให้เฉพาะพระโพธิสัตว์ปัจฉิมทีปังกรเท่านั้น ว่าจะสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า ส่วนเจ้าหญิงสุมิตตาเทวี ชาตินี้ยังพยากรณ์ไม่ได้ แต่ในชาติใดที่พระปัจฉิมทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจะทรงพยากรณ์ให้เจ้าหญิงเอง เพราะในชาตินั้นพระนางจะเกิดเป็นเพศชาย มีคุณสมบัติครบ ควรได้รับสัทธเทศ (คำพยากรณ์)แล้ว
เมื่อเจ้าหญิงสุมิตตาเทวีทรงทราบว่า ในอนาคตอีก ๑๖ อสงไขยแสนกัป จะทรงได้รับพุทธพยากรณ์ ส่วนชาตินี้ทรงอาภัพที่ต้องเป็นสตรีเพศ พระราชธิดาทรงสลดพระทัยเป็นยิ่งนัก จึงเร่งบำเพ็ญบารมีต่างๆ ได้แก่ ถวายทานต่อพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน ทรงสมาทานศีล ๘ ประพฤติพรหมจรรย์ และหมั่นเจริญภาวนา ตราบจนสิ้นพระชนม์ แล้วบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
พระชาตินี้นับเป็นพระชาติแรกที่พระโพธิสัตว์ของเราทรงบังเกิดขึ้นพบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้านับแต่ทรงแสวงหาทางหลุดพ้นเป็นต้นมา ทำให้ทรงมีกำลังใจใหญ่หลวง มีพระอุตสาหะ วิริยะ ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งบ้างให้จงได้ และได้ทรงบังเกิดต่อมาอีกนานนับภพนับชาติไม่ได้ แต่ละชาติก็ทรงบำเพ็ญบารมีด้านต่างๆ เรื่อยมาจนถึงพระชาติหนึ่ง ทรงอุบัติเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าอดิเทวะ
พระเจ้าอติเทวะ
สมัยหนึ่งพระพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมาครบ ๑๖ อสงไขยแสนกัป จึงได้ตรัสรู้ ขณะเสด็จพุทธดำเนินไปยังมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ใกล้นครกรัณฑกะ เพื่อทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตามพุทธประเพณีแต่เติมมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระบรมศาสดาเสด็จผ่านใกล้พระราชฐานของพระเจ้าอติเทวะ ผู้ครองนครกรัณฑกะ พระรัศมีกายของพระตถาคตเจ้าฉายเจิดจ้ากระทบจักษุประสาทของพระราชา จนเป็นเหตุให้ทรงตกตะลึงพรึงเพริด มีพระอาการสะดุ้งตกพระทัยกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะทรงไม่รู้จักพระพุทธเจ้าว่าทรงเป็นผู้มีคุณมีโทษประการใด
เวลานั้นพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ บังเกิดเป็นราชปุโรหิตชื่อว่า สิริคุตตะ ทำหน้าที่ถวายอรรถธรรมประจำราชสำนัก ได้เห็นพระอาการของพระราชา จึงกราบทูลให้ทรงทราบว่า ผู้มีพระรัศมีกายแปลบปลาบงดงามนั้น คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่แก่สัตวโลก เป็นผู้เลิศในโลก สิ้นกิเลสอาสวะ ทรงหักกำกงแห่งวัฏฏสงสารได้แล้ว ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ฯลฯ
พระเจ้าอติเทวะทรงทราบความแล้ว ทรงเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระบรมศาสดา ได้เสด็จไปถวายนมัสการด้วยเครื่องสักการะต่างๆ ทรงตั้งพระทัยปรารถนาพุทธภูมิดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้วมีพระทัยเบิกบานเป็นยิ่งนัก
นับแต่นั้นมาก็ทรงบริจาคทาน สมาทานอุโบสถศีล ประพฤติพรหมจรรย์เป็นอาจิณ ทรงยินดีในกุศลธรรมทั้งปวง มิได้เบื่อหน่าย จนสิ้นพระชนม์
พระชาตินี้นับเป็นพระชาติแรกที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พร้อมตั้งมโนปณิธาน (ตั้งความปรารถนาไว้ในใจ) จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต โดยยังไม่ได้ทรงเอ่ยพระวาจาให้ผู้ใดล่วงรู้ และทรงกระทำดังนี้ทุกๆ ชาติเรื่อยมา เป็นเวลานานถึง ๗ อสงไขยกัป ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารวมทั้งสิ้น ๑๒๕,๐๐๐ พระองค์
หลังจากนั้น จึงทรงลั่นพระวาจาด้วยความกล้าหาญ ทรงขอปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ต่อพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงพบทุกพระชาติ
การเปล่งวาจาปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้พบกันนั้น ไม่ใช่ผู้เปล่งวาจาจะได้รับพุทธพยากรณ์เสมอไป ถ้าหากผู้นั้นยังมีธรรมสโมธานไม่ครบถ้วนทั้ง ๘ ประการแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นจะตรัสเพียงอนุโมทนาและประทานพระโอวาทให้กำลังใจไม่ทรงกล่าวพยากรณ์ว่าจะได้เป็นเมื่อใด
ธรรมสโมธาน ๘ ข้อนั้น ได้แก่
๑. ได้เกิดเป็นมนุษย์
๒. เป็นเพศชายโดยสมบูรณ์ทั้งกายใจ
๓. มีอุปนิสัย วาสนาบารมีที่สั่งสมไว้มากพอที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ในขณะนั้น
๔. มีโอกาสพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. มีเพศเป็นนักบวช ในขณะพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๖. สามารถบำเพ็ญภาวนาจนได้ฌานสมาบัติ
๗. สามารถบำเพ็ญบุญญาภิสมภารอันยิ่งยวด แม้ถึงตายก็ยินยอม
๘. มีฉันทะ ความพอใจในพระสัพพัญญุตญาณอย่างแรงกล้า
การมีธรรมสโมธานครบ ๘ ข้อ ดังกล่าวแล้วนี้ เป็นคุณสมบัติของผู้สมควรได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรก
สำหรับผู้เคยได้รับพระพุทธพยากรณ์ในอดีตชาติมาแล้ว เมื่อมาเกิดใหม่ แม้มีธรรมสโมธานไม่ครบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้พบในชาติต่อๆ มา ก็ทรงกล่าวพุทธพยากรณ์ให้ เพราะผู้ใดที่เคยได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว จะเป็นนิตยโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ที่ เที่ยงแท้แน่นอน ที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้ (ดั่งเช่นพระพุทธเจ้า)