ทาน

วันที่ 23 สค. พ.ศ.2566

23-8-66-BL.jpg

ทาน


         คําว่า ทาน มีความหมาย ๒ ประการ คือ
         ๑. "ทียติ เอเตนาติ - ทานํ” ชนทั้งหลายจึงให้โดยเจตนานี้ ฉะนั้นเจตนาที่เป็นเหตุแห่งการให้ ชื่อว่า ทาน คำว่าทานในความหมายนัยแรก จึงหมายเอา ตัวเจตนา อันเป็นเหตุแห่งการให้ทานนั้นสำเร็จลง
         ๒. "ทาดพฺพนฺติ - ทานํ” สิ่งของอันใดที่ชนทั้งหลายจึงให้ ฉะนั้นสิ่งของอันนั้นชื่อว่า ทาน คำว่าทานในความหมายนัยที่สอง จึงหมายเอา วัตถุสิ่งของที่พึ่งให้


         ทานจึงมี ๒ อย่าง คือ เจตนาทาน และวัตถุทาน
         เจตนาทาน แบ่งตามกาลเวลาได้ ๓ ระยะ
         ระยะแรกก่อนให้ เรียก ปุพพเจตนา เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นก่อนตั้งแต่ยังไม่ได้ให้เพียงเริ่มคิดจะทำบุญให้ทาน หรือตั้งแต่เริ่มทำการแสวงหาวัตถุสิ่งของที่จะใช้เป็นเทยยธรรม

         ระยะที่สองขณะกำลังให้ มุญจเจตนา เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นขณะกำลังลงมือทำการบริจาคให้

         ระยะที่สามหลังจากการให้ อปรเจตนา เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากการให้ทานไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่นการตามนึกถึงด้วยความปลื้มปีติ อิ่มอกอิ่มใจ


         เจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ หากมีโอกาสส่งผลขณะเวลาจิตจะปฏิสนธิในภพภูมิใหม่สามารถนำให้เกิดในกามสุคติภูมิ คือเป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดาได้ ดังตัวอย่างเทพบุตรเทพธิดาบางองค์ ได้บังเกิดอยู่ในเทวภูมิ ด้วยผลบุญเพียงถวายดอกไม้ต่อพระขีณาสวเพียงดอกเดียว ไม่ต้องรู้จักกับทุคติภพเป็นเวลาตลอด ๘๐ โกฏิชาติ เพราะเวียนตายเวียนเกิดอยู่เพียงภพมนุษย์และเทวดาเท่านั้น

         (ผลจากกุศลกรรมที่ถวายดอกไม้ นำส่งให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เฉพาะชาติที่สองที่ตายจากชาติที่ถวายดอกไม้เท่านั้น ส่วนกุศลกรรมที่ทำให้เกิดในสุคติภูมิในชาติถัด ๆ ไปเพราะผู้นั้นมีโอกาสกระทำกุศลกรรมเพิ่มเติมอยู่โดยสม่ำเสมอ

         เรื่องเจตนาทั้ง ๓ กาลนี้ ผู้กระทำมิใช่มีพร้อมกันทีเดียวทั้ง ๓ บางครั้งมีเพียงอย่างเดียว บางครั้งจึงมีอย่างอื่นรวมอยู่ บางทีไม่มีเลยทั้ง ๓ อย่าง เช่นการที่ต้องกระทำทานโดยถูกบังคับเป็นต้น

         ในเจตนาทั้ง ๓ ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องการเกิดว่ายากหรือง่ายแล้ว มุญจเจตนาเกิดได้ง่าย อปรเจตนาเกิดได้ยาก การกระทำทานใด ๆ ถ้ามีเจตนาไม่ครบทั้ง ๓ กาลแล้ว จะได้รับผลไม่ไพบูลย์ การได้เกิดเป็นมนุษย์เทวดานั้น มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นมนุษย์หรือเทวดาด้วยกัน ยังมีความแตกต่างปลีกย่อยผิดกันไปอีกมากมายหลายชนิด เช่น ต่างกันด้วยรูปร่างกาย สมบัติต่างๆ ตลอดจนเหล่าบริวาร ที่เป็นไปดังนี้ล้วนแล้วแต่เนื่องจากเจตนาทั้ง ๓ กาล ของการประกอบกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา มีไม่เท่ากัน ผู้มีเจตนาครบทั้ง ๓ กาลย่อมสมบูรณ์กว่า ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ฉฬังคุตตรพระบาลีว่า
        "ปุพฺเพว สุมโน ทานา ททํ จิตฺตํ ปสาทเย
        ทตฺวา อตฺตมโน โหติ เอสา ปุญฺญสฺส สมฺปทา ฯ"
        แปลความว่า จงมีความยินดีก่อนที่จะทำ จงยังความเลื่อมใสในขณะที่กำลังทำเมื่อทำเสร็จแล้ว จงยังความปลื้มใจให้เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่งใจที่มีอาการทั้ง ๓ ดังนี้เป็นการทําบุญที่สมบูรณ์อย่างสูงสุด คือให้สําเร็จความปรารถนาของตนได้"


        ส่วนวัตถุทาน ถือเอาความจำเป็นในการครองชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ คือปัจจัย ๔ มี
        ๑. เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
        ๒. อาหาร ของกินเครื่องบริโภค
        ๓. ที่อยู่อาศัย บ้านเรือน ที่พักพิง
        ๔. เภสัช ยารักษาโรค

        วัตถุทานที่มีอานิสงส์มาก คือ วัตถุนั้นเป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม และเป็นของอันสมควรให้
        วัตถุทานแบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ บางที่แบ่งเป็น ๒, ๓, ๔ และ ๕
        ก. แบ่งเป็น ๒ อย่าง นัยที่หนึ่ง ได้แก่
        ๑. อามิสทาน การให้วัตถุปัจจัยสิ่งของต่าง ๆ
        ๒. ธรรมทาน การให้ธรรมะเป็นทาน เช่นการแสดงธรรมเทศนา การสั่งสอนการสร้าง และแจกหนังสือธรรมะต่าง

        ในทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นทานประณีตกว่าอามิสทาน ดังมีพระบาลีว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ" แปลว่า ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งหมด

        ผลจากการให้อามิสทาน จะทำให้มีทรัพย์สมบัติวัตถุสิ่งของบริบูรณ์ ส่วนการให้ธรรมทานทําให้มีปัญญาดี

        การแบ่งทานออกเป็น ๒ อย่าง นัยที่สอง ได้แก่
        ๑. สาหัตถิกทาน การทําทานด้วยตนเอง
        ๒. อาณัตติกทาน ใช้ให้ผู้อื่นทำแทน 

       สาหัตถิกทาน ประณีตกว่าอาณัตติกทาน เพราะส่งผลให้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสมบัติและบริวาร ส่วนอาณัตติกทาน แม้การส่งผลจะทำให้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ก็จริง แต่จะไม่มีบริวารมาก

        การแบ่งทานออกเป็น ๒ อย่าง นัยที่สาม ได้แก่
         ๑. สัมปชานทาน การทำทานที่ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจในการกระทำนั้น
         ๒. อสัมปทานทาน การทำทานโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม

         สัมปชานทาน ย่อมส่งผลให้เกิดเป็นผู้ที่พร้อมด้วยทรัพย์และปัญญา ส่วนอสัมปทานทาน จะมีทรัพย์ขาดปัญญา

         การแบ่งทานออกเป็น ๒ อย่าง นัยที่สี่ ได้แก่
         ๑. วัฏฏนิสสิตทาน การทำทานโดยปรารถนาโภคสมบัติ ให้ได้เกิดร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี และปรารถนาภวสมบัติคือ ต้องการเกิดในภพภูมิที่ดี มีมนุษย์ เทวดา พรหม เป็นต้น
         ๒. วิวัฏฏนิสสิตทาน การทำทานโดยไม่ปรารถนาในโภคสมบัติและภาสมบัติปรารถนาเอาสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ อัครสาวกโพธิญาณ มหาสาวกโพธิญาณและปกติสาวกโพธิญาณอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น (นิสสิต แปลว่า อยู่ อาศัย)

         วัฏฏนิสสิตทาน (ทานที่ส่งผลให้อาศัยอยู่ในวัฏฏสงสาร) เป็นแต่เพียงทานกุศลสามัญธรรม ไม่เรียกว่าทานบารมี เมื่อเวลาทานชนิดนี้ส่งผล ย่อมให้สุขได้เพียงเป็นมนุษย์และเทวดาเท่านั้น ไม่อาจช่วยให้ถึง มรรค ผล โดยเร็วได้

         ส่วนวิวัฏฏนิสสิตทาน เรียกว่าเป็นทานบารมี เมื่อเวลาส่งผล ส่งผลให้ได้รับความสุขทั้งมนุษย์ เทวดา และสามารถให้ถึงมรรคผลนิพพานได้โดยเร็ว
         ข. ท่านที่แบ่งออกเป็น ๓ อย่าง นัยที่หนึ่ง หินทาน มัชฌิมทาน และปณีตทาน
         ๑. หีนทาน ทานชั้นต่ำ กระทำเพื่อปรารถนา ลาภ ยศ การยกย่องสรรเสริญ
         ๒. มัชฌิมทาน ทานชั้นกลาง ปรารถนามนุษยสมบัติ เทวสมบัติ
         ๓. ปณีตทาน ทานชั้นสูง กระทำตามแนวทางของพระอริยเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คือปรารถนาพระนิพพาน หรือ
         ๑. หีนทาน ทานชั้นต่ำ ปรารถนามนุษยสมบัติ เทวสมบัติ
         ๒. มัชฌิมทาน ทานชั้นกลาง ปรารถนา สาวกโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ
         ๓. ปณีตทาน ทานชั้นสูง ปรารถนาสัมมาสัมโพธิญาณ หรือ
         ๑. หีนทาน ทานชั้นต่ำ เวลากระทำประกอบด้วย ฉันทะ (ความพอใจ) วิริยะ (ความพยายาม) จิต (ความสนใจเอาใจใส่) ปัญญา (ความรอบรู้) ในการทำบุญนั้นเพียงเล็กน้อย สักแต่ว่ากระทำไปอย่างนั้นเอง
         ๒. มัชฌิมทาน ทานชั้นกลาง เวลากระทำประกอบด้วย อิทธิบาท ๔ ดังข้างต้น มีมากเป็นสามัญ
         ๓. ปณีตทาน ทานชั้นสูง มีอิทธิบาท ๔ ถูกต้องตามแนวทางของสัปบุรุษทั้งหลาย

นัยที่สอง แบ่งเป็น ทาสทาน สหายทาน และสามทาน
         ๑. ทาสทาน การทำทานด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค ที่เลวกว่าสิ่งของ วัตถุที่ตนเองใช้
         ๒. สหายทาน การทำทานด้วยสิ่งที่เสมอกับตนบริโภคใช้สอย
         ๓. สามทาน การทำทานด้วยสิ่งที่ดีกว่าที่ตนบริโภคใช้สอย

นัยที่สาม แบ่งเป็นโลกาธิปไตย อัตตาธิปไตย และธัมมาธิปไตย
         ๑. โลกาธิปไตยทาน การทำทานที่ตนเองไม่คิดพอใจจะกระทำ แต่กลัวผู้อื่นตำหนิ เรียกว่าปรารภผู้อื่นจึงจำใจกระทำ
         ๒. อัตตาธิปไตยทาน การทำทานที่ปรารภตนเองเป็นใหญ่ คิดว่าตนเองเป็นคนมั่งมี ถ้าไม่ทำจะน่าเกลียด
         ๓. ธัมมาธิปไตยทาน การทำทานที่ปรารภธรรมเป็นใหญ่ พิจารณาด้วยปัญญา เห็นว่าการบริจาคทานเป็นธรรมที่สัปบุรุษทั้งหลายนิยมกระทำกัน แม้แต่พระโพธิสัตว์เมื่อทรงสร้างบารมีก็บำเพ็ญทานบารมีเป็นบาทเบื้องต้น ตลอดจนสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็นิยมสร้างทานบารมีก่อนอย่างอื่น เราจึงควรกระทำบ้าง

          ค. ทานแบ่งออกเป็น ๔ อย่าง มี เจตนาทาน วัตถุทาน อโลภทาน และ วิรตีทาน เป็นการกล่าวอย่างสรุป
          ๑. เจตนาทาน ได้แก่เจตนาเจตสิกที่ประกอบกับจิตที่เป็นมหากุศล เป็นเหตุแห่งการให้ทาน
          ๒. วัตถุทาน ได้แก่ ปัจจัย ๔ ดังกล่าวแล้ว
          ๓. อโลภทาน ได้แก่ อโลภเจตสิกที่ประกอบกับเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุแห่งการให้ทาน
          ๔. วิรตีทาน ได้แก่ วิรตีเจสิก ๓ ที่มีการงดเว้นการอกุศลทุจริต เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายไม่ต้องหวั่นใจในภัยอันตรายที่จะบังเกิด เป็นอภัยทานทั้งภายในและภายนอก

           ง. ทานแบ่งออกเป็น ๕ อย่าง มี สัทธาทาน สักกัจจทาน กาลทาน อนุคคหิตทานและอนุปหัวจทาน
           ๑. สัทธาทาน ได้แก่บริจาคทานด้วยความเลื่อมใส เชื่อในการกระทำาและผลของการกระทำนั้น ผลของทานชนิดนี้ที่จะส่งให้ในภพต่อ ๆ ไปคือ ได้เกิดเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์อย่างมหาศาล มีรูปร่างสัณฐานงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส ผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่ง
           ๒. สักกัจจทาน ได้แก่การบริจาคทานด้วยความเคารพ ทั้งกระทำให้ตนเองและไทยธรรมนั้นสะอาดหมดจด ผลของทานย่อมทำให้ ในภพชาติต่อไป เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอารมณ์มหาศาล บุตร ภรรยาสามี ข้าทาส คนใช้ กรรมกรที่เป็นบริวารย่อมอยู่ในโอวาท เชื่อถ้อยฟังคำ เอาอกเอาใจทุกประการ การงานทั้งหลายไม่มีสิ่งใดขัดข้องให้ขุ่นหมองใจ
           ๓. กาลทาน บริจาคทานเหมาะสมกับกาลเวลา ผลของทานย่อมส่งให้ในภพต่อไป เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมด้วยกามคุณอารมณ์มหาศาล มีความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ปฐมวัย คือในวัยหนุ่มสาวมีผลประโยชน์ที่ได้รับอย่างล้นเหลือ
           ๔. อนุคคหิตทาน เป็นการบริจาคทานโดยสละอย่างแท้จริง ไม่มีการยึดเหนี่ยวห่วงใยในวัตถุนั้น ๆ ผลของทานประเภทนี้ นอกจากจะมั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมแล้ว ยังเป็นผู้มีจิตใจน้อมไปเพื่อเสวยกามคุณที่ตนมีอยู่โดยผาสุกสบาย ไม่มีการเสียดายหวงแหนเกรงการสิ้นเปลือง (ไม่เป็นเพียงเศรษฐีที่ทำหน้าที่เหมือนคนเฝ้าทรัพย์ มีแต่ไม่กล้าใช้)
           ๕. อนุปหัจจทาน บริจาคทานโดยไม่กระทบตนเอง และไม่กระทบกระเทือนผู้อื่น ผลของทานชนิดนี้ย่อมส่งให้ได้เกิดเป็นผู้มีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมด้วยกามคุณอารมณ์ทั้งปวง ทรัพย์สินที่มีอยู่จะปลอดภัยจากภัยทั้ง ๕ คือ อัคคีภัย อุทกภัย ราชภัย โจรภัย ภัยจากลูกหลานญาติพี่น้องซึ่งเป็นทายาทที่ไม่ดี


          นอกจากนี้ยังมีทานที่แบ่งเป็นประเภทอื่น ๆ อีกที่ไม่ได้นำมากล่าวไว้ อย่างไรก็ดีในการทำทานแต่ละครั้ง หากจะให้ได้ผลทานเต็มที่ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ดังนี้
           ๑. เจตนาที่ตั้งไว้ดีแล้วในกาลทั้ง ๓ เป็นเจตนาที่บริสุทธิ์คือประกอบด้วยปัญญา
           ๒. วัตถุสิ่งของที่นำมาบริจาคนั้นเป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ชอบธรรมและเป็นของประณีต
           ๓. ผู้รับทานเป็นผู้บริสุทธิ์ คือปราศจากกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ หรือเป็นผู้กำลังพยายามละกิเลส
           ๔. ผู้ให้ทานเป็นผู้บริสุทธิ์ คือปราศจากกิเลส หรือพยายามละ หรือเป็นผู้มีศีลธรรมอันดี

           ด้วยเหตุนี้ในการทำทานกุศลทางศาสนาทุกครั้ง จึงนิยมให้มีการรับศีลเสียก่อนทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้บำเพ็ญทานบริสุทธิ์นั่นเอง

           เหตุที่จะทำให้ผลของทานกุศลปรากฏได้ในภพชาติปัจจุบัน คือเป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรมนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ
           ๑. วัตถุสัมปทา ปฏิคาหกผู้รับทานนั้น เป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์
           ๒. ปัจจยสัมปทา วัตถุสิ่งของที่นำมาถวาย เป็นสิ่งที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์
           ๓. เจตนาสัมปทา ผู้ถวายทานถึงพร้อมด้วยเจตนาอันแรงกล้า ในกาลทั้ง ๓
           ๔. คุณาติเรกสัมปทา พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ผู้รับทานนั้นถึงพร้อมด้วยคุณพิเศษ คือ เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ

           ถ้าผู้ใดประกอบพร้อมด้วยองค์ ๔ ดังนี้ ย่อมได้บรรลุมหาสมบัติในทันตาเห็นทีเดียว คือจะได้เป็นมหาเศรษฐีภายในไม่เกิน ๗ วัน ผลของกุศลทานดังนี้เป็นผลที่ส่งให้ในด้านทรัพยสมบัติ

           สําหรับผลทานที่ส่งให้ได้รับในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องอื่น เช่นเรื่อง เกียรติยศ ชื่อเสียง การยกย่อง ค้าขายดี มีคนชอบพอรักใคร่ ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยสัมปทาทั้ง ๔ ดังกล่าวก็เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามผลที่ได้รับจากทิฏฐธัมมเวทนียกรรม จะได้รับแต่เฉพาะในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่สามารถส่งผลให้ในชาติต่อ ๆ ไปได้อีก


              สรุปแล้ว ทานกุศล มีการบริจาคเป็นลักษณะ มีหน้าที่คือทำลายกิเลสที่ชื่อ โลภะผลที่จะพึงบังเกิด คือ ได้ความสมบูรณ์แห่งภพชาติที่ดี หรืออาจพ้นจากภพชาติ มีกุศลธรรมเกิดขึ้นคือ สัทธา และ อโลภะ ตลอดจนประโยชน์อันสูงยิ่ง คือ มรรคเบื้องต่ำ ๓ (เว้นอรหัตตมรรค อรหัตตผล)

           นอกจากนั้นยังถือกันว่า ถ้าบริจาคทานโดยมีเจตนาสมบูรณ์ทั้ง ๓ กาลแล้ว อานิสงส์ที่ได้รับในภพชาติต่อ ๆ ไป คือ สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติทั้ง ๓ วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย ส่วนเรื่องผลที่ได้รับจะมากน้อยเพียงใด มีข้อความยืนยันจากพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๑๔ หน้า ๓๘๙ ทักขิณาวิภังคสูตร ปาฏิบุคคลิกทาน กล่าวไว้ว่า

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า การทำสังฆทานมีอานิสงส์มากกว่าบุคคลิกทาน (เป็นเหตุการณ์ตอนพระนางมหาปชาบดีโคตมี ถวาย ผ้าห่มคู่หนึ่งที่พระนางทรงกระทำด้วยพระองค์เอง) ผลของสังฆทานนั้นประมาณไม่ได้ แม้ในอนาคตพระภิกษุจะเป็นคนทุศีลมีธรรมลามก มีเพียงผ้ากาสาวะพันคอ ผลทานยังประมาณไม่ได้เช่นกัน

           หมู่ของสงฆ์ มี ๗ ประเภท คือ
          ๑. สงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
          ๒. สงฆ์ ๒ ฝ่าย
          ๓. ภิกษุสงฆ์
          ๔. ภิกษุณีสงฆ์
          ๕. ภิกษุและภิกษุณีที่กำหนดจำนวน
          ๖. ภิกษุที่กำหนดจำนวน
          ๗. ภิกษุณีที่กำหนดจำนวน

          ส่วนการถวายทานในบุคคลิกบุคคล (เจาะจง) มีอานิสงส์น้อยกว่าสังฆทาน
          บุคคลิกบุคคลมี ๑๔ ประเภท
          ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
          ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
          ๓. พระอรหันตสาวก
          ๔. ผู้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุพระอรหัตตผล
          ๕. พระอนาคามี
          ๖. ผู้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุพระอนาคามีผล
          ๗. พระสกทาคามี
          ๘. ผู้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุพระสกทาคามิผล
          ๙. พระโสดาบัน
          ๑๐. ผู้ปฏิบัติเพื่อให้บรรลุพระโสดาปัตติผล
          ๑๑. ผู้นอกศาสนาแต่ปราศจากความกำหนัดในกาม
          ๑๒. ผู้มีศีล
          ๑๓. ปุถุชนทุศีล
          ๑๔. สัตว์เดรัจฉาน
          ผลของบุคคลิกทาน
          ให้ทานต่อสัตว์เดรัจฉาน ได้ผล ทักษิณา ๑๐๐ เท่า
          ให้ทานต่อปุถุชนทุศีล ได้ 9,000 เท่า
          ให้ทานต่อผู้มีศีล ได้ 900,000 เท่า
          ให้ทานต่อคนนอกศาสนา แต่ปราศจากความกำหนัดในกาม ได้แสนโกฏิเท่า
          ต่อผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้ผล นับประมาณเท่าไม่ได้

          ความบริสุทธิ์ของทักษิณา ๔ อย่าง
          ๑. บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
          ๒. บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
          ๓. ไม่บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย
          ๔. บริสุทธิ์ทั้งสองฝ่าย
          ถ้าทั้งสองฝ่ายมีศีล ทานนั้นมีผลไพบูลย์ ถ้าทั้งสองฝ่ายปราศจากราคะ ผลทานเป็นเลิศในบรรดาอามิสทานทั้งปวง

          ในพระสุตตันตปิฎก คุตตรนิกาย สัตตกนิบาต เรื่องทานสูตรว่าด้วยทานมีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวงเล่มที่ ๒๓ หน้า ๖๔) กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า

          พระสารีบุตรพาชาวเมืองจัมปาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามเรื่องทานมีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก พระองค์ทรงอธิบายไว้ดังนี้
          - ผู้ใดให้ทานโดยใจคิดหวังว่า เมื่อตายแล้วจะได้ไปบริโภคใช้สอยสิ่งที่ท่าทานไว้แล้วนั้น จิตผูกพันเพียงแค่นี้ ตายแล้วไปบังเกิดได้เพียงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
          - ถ้าทำทานโดยคิดว่า การบริจาคทานนี้ เป็นสิ่งดีงามควรกระทำ ตายแล้วไปบังเกิดในชั้นดาวดึงส์
          - ถ้าทำทานโดยคิดว่า บรรพบุรุษของตนเคยกระทำ ตนเองก็ควรกระทำต่อมิให้เสียประเพณี ตายแล้วไปบังเกิดในชั้น ยามา (มีกตัญญู)
          - ถ้าทำทานโดยคิดว่า สมณพราหมณ์ผู้รับทาน มิได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ ควรให้ความอนุเคราะห์ ตายแล้วไปบังเกิดในชั้น ดุสิต ( มีเมตตา)
          - ถ้าทำทานโดยคิดว่า ใครกระทำตามอย่างมุนีฤาษีในสมัยก่อน ตายแล้วไปบังเกิดในชั้นนิมมานรดี (ทำตามตัวอย่างที่ดี มีปัญญา )
          - ถ้าท่าทานโดยเพื่อให้จิตเกิดความเลื่อมใส ปลื่อมใจโสมนัส ตายแล้วไปบังเกิดในชั้นปรนิมมิตวสวัสดี (มีความสุขใจ)
          - ถ้าทำทานโดยเพื่อให้การทำทานนั้นช่วยปรุงแต่งจิตให้มีสภาพดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นตายแล้วไปบังเกิดในชั้นพรหม มีโอกาสที่ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
          - ส่วนการทําทานด้วยใจที่คิดเหมือนดังข้างต้นทั้ง 5 อย่างนี้ หมดอำนาจบุญที่เกิดจากการทำทานนั้น ๆ ส่งผลแล้ว จะต้องกลับมาเกิดอีก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04034644762675 Mins