กายธรรมโคตรภู

วันที่ 21 กพ. พ.ศ.2567

210267b01.jpg
 

พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
วันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๗

กายธรรมโคตรภู

 

                 ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน สำหรับท่านที่มาใหม่ ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ดูคนข้างเคียงเค้านะ สำหรับท่านที่มาใหม่ นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก วางพอสบาย ๆ สำหรับท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ถนัด ก็ให้นั่งพับเพียบ แล้วก็เอามือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักเช่นเดียวกัน วางพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ ทุก ๆ คนนะ หลับตาเบา ๆ แค่ผนังตาปิดเบา ๆ อย่าไปเม้มตาแน่น อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงไปนะ นั่งให้สบาย ๆ ให้กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเราผ่อนคลาย

 


                 วันนี้เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือนซึ่งตรงกับวันที่ 9 มกราคม เป็นวันที่ชาวโลกทั้งหลาย สมมติว่าเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ปี ๒๕๒๗ และก็มาตรงกับวันอาทิตย์ต้นเดือน ซึ่งเป็นวันที่พวกเราทุก ๆ ท่านที่มาอย่างสม่ำเสมอ นำอาหารหวานคาว ดอกไม้ธูปเทียน มาคนละเล็กคนละน้อย มาประชุมรวมพร้อมกันที่นี่ ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะได้น้อมนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย ถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน 

 


                 เราได้ประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และวันนี้ก็มาประจวบเหมาะกับวันขึ้นปีใหม่ นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีงามของพวกเราทั้งหลาย จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันนี้ ด้วยการสร้างทานกุศล ทำจิตทำใจให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส หยั่งรากลึกลงไปในบุญในกุศล เป็นวันที่หาได้ยาก ในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ที่จะมาประจวบเหมาะพร้อมกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านที่มาในวันนี้ จึงตั้งอกตั้งใจให้เป็นพิเศษ ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส จากอุปกิเลสจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นจากใจไป ให้เป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของเรา แล้วเราจะได้พร้อมใจกันตั้งปณิธานเอาไว้ว่า 

 


                 นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะพยายาม แก้ไขข้อบกพร่องในตัวของเราน่ะ ที่มีอยู่ จะบกพร่องทางกายก็ดี วาจาก็ดี หรือใจก็ดี ให้มันหมดสิ้นไป ด้วยการปรับปรุงกาย วาจา ใจ ของเราให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกว่าชีวิตจะหาไม่ นี่เราจะได้พร้อมใจกันตั้งปณิธานในวันนี้ ซึ่งเป็นวันมหามงคลวันหนึ่ง ไอ้ที่ปีเก่าที่ผ่านไปแล้วก็ผ่านไป บางคนก็พลั้งพลาดบ้าง บางคนก็เผลอเลอบ้าง แต่ปีใหม่ปีนี้เราจะเริ่มต้นอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนได้ตั้งอกตั้งใจให้เป็นพิเศษนะ

 


                 เราก็ปล่อยวางภารกิจเครื่องกังวลที่มีอยู่ในใจของเราให้หมดสิ้น ใจของเราไปติดอยู่อะไรเราสังเกตดู ติดอยู่ในครอบครัว ติดลูก ติดหลาน ติดสามี ติดภรรยา ติดห่วงงานห่วงการ ภายในครอบครัวเรามีบ้างไม้ เราสำรวจดู ใจที่ยึดไปจรดนั้น ถ้าคิดเราก็ปล่อยวางซะ คิดเรื่องการศึกษาเล่าเรียนที่มันคั่งค้างอยู่ในใจน่ะ ทำให้เราเกิดความวิตกกังวล เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ในช่วงเช้านี้ก่อนที่เราจะบูชาข้าวพระ กิจเหล่านี้เราก็ปล่อยวางไปซะ สลัดหลุดออกจากใจไป หรือติดกิจภารกิจการงาน ธุรกิจการงานต่าง ๆ ที่มันคั่งค้างอยู่ ก็ปลดปล่อยวางให้หมดใจของเราให้ว่างเปล่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรทั้งสิ้น 

 


                 โดยพิจารณาให้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แม้กระทั่งร่างกายของเรา สิ่งที่ห่อหุ้มร่างกายของเรา ตลอดจนกระทั่งสิ่งที่เกี่ยวพัน จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม เป็นสิ่งที่อาศัยอยู่ชั่วคราว ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็จะต้องปลด ต้องปล่อย ต้องวาง ต้องสละละทิ้งในสิ่งเหล่านี้ไป เพราะฉะนั้น ที่ใครที่ยึดมั่นถือมั่นมากก็พยายามปลดปล่อยวาง จิตใจของเราจะได้บริสุทธิ์ผ่องใส เหมาะสมที่เราจะได้ศึกษากิจในทางพระพุทธศาสนาต่อไป

 


                 เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนได้สละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการกุศล สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในช่วงเช้านี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงธรรมของเรา ปลดปล่อยวางหมด ให้วางทุก ๆ คนนะ ปลดปล่อยวาง ติดตรงไหนวางตรงนั้น แต่ละคนมันติดไม่เหมือนกัน ติดรูป กลิ่น เสียง รส สัมผัส วางให้หมด สิ่งที่ตาได้เห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส กายได้รับการสัมผัส อะไรต่าง ๆ ที่ทำให้เราเกิดความยินดีบ้าง ยินร้ายมั่ง เราก็ปลดปล่อยวางหมด ให้ใจของเราปลอดโปร่ง สบาย เหมาะสมที่ เราจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ปลด ปล่อย วาง สบายให้หมดทุก ๆ คนน้า ตรวจตราดูให้ดี 

 


                 เมื่อใจของเราปลอดโปร่ง ว่างเปล่าดีแล้ว เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อจากนี้ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงที่จะได้แนะนำต่อไปน้า ให้สมมติว่าเราหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น เป็นเส้นเชือกสีขาว ใสเป็นแก้ว เส้นเชือกเส้นหนึ่ง สมมติว่าเราขึงจากสะดือ ทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่ง สมมติว่าเราขึงจากด้านขวา ทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้งสองจะตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้เราเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ สูงจากจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าฐานที่ ๗ นึกตามไปให้ดีนะ สูงจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราเรียกว่าฐานที่ ๗ เป็นฐานที่ตั้งใจของเราทุก ๆ คน เป็นฐานที่ตั้งใจของเราทุก ๆ คน ที่ว่าเป็นฐานที่ตั้งใจ ก็หมายถึงว่า จะให้ทาน ให้ได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล ทานนั้นให้เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จะต้องเอาใจน่ะ มาตั้งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ ให้หยุดให้สนิทให้ดีทีเดียว 

 


                 ก่อนที่เราจะบริจาควัตถุ สิ่งของ อะไรต่าง ๆ ออกจากใจ ทานนั้น ๆ ก็เป็นทานอันเลิศ เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เพื่อความพ้นทุกข์ จะรักษาศีลให้มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล เป็นอธิศีล เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็จะต้องเอาใจของเราน่ะมาตั้งไว้ที่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้เช่นเดียวกัน จะเจริญภาวนา ให้มีอานิสงส์ใหญ่ เป็นไป เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย ก็จะต้องเอาใจของเรามาตั้งอยู่ที่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ ในตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือ และฐานที่ ๗ ตรงนี้เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางหลุดทางพ้น เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และก็ในอนาคต

 


                 อาศัยเส้นทางสายกลางตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว ไปสู่พระนิพพาน ท่านถึงเรียกว่าเส้นทางนี้ว่า เอกายนมรรค ว่าเป็นหนทางเส้นเดียว หนทางเอก ไม่มีโท หนึ่งไม่มีสอง จากฐานที่ ๗ นี้เรื่อยไป ดำเนินจิตเข้าไปตามลำดับ หยุดนิ่งเข้าไปตามลำดับ สุดปลายทางนั้นคืออายตนนิพพาน นี่ฐานที่ ๗ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุก ๆ คน ที่ต้องการความพ้นทุกข์ต้องการหยุดต้องการนิ่ง ไม่ต้องการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องเอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ แล้วก็เดินในเข้าไป คำว่าเดินก็คือทำใจให้หยุดนิ่งเข้าไปตามไปตามลำดับ เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วน ไม่ช้าก็จะเห็นปฐมมรรค ปรากฏขึ้นมาเป็นดวงใส สว่าง ใสยิ่งกว่าเพชร อย่างน้อยก็ใสคล้ายกระจก ใสคล้ายเพชร แล้วก็ใสในใสยิ่งกว่าเพชร ขึ้นไปตามลำดับ 

 


                 กลมรอบตัว กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ เหมือนดวงแก้วมณีโชติรสที่แจกให้ไปนั่นน่ะ สำหรับท่านที่เป็นประธานน่ะ แจกให้ไปคนละดวง น่ะกลมรอบตัวอย่างนั้น ใสบริสุทธิ์ งามไม่มีที่ติ งามไม่มีที่ตินี่คนเข้าไปเห็นแล้วน่ะ เห็นแล้วถึงจะเข้าใจคำนี้ชื่นอกชื่นใจทีเดียว ว่าโอ้ตั้งแต่เกิดมา ไม่เห็นอะไรงามเท่ากับปฐมมรรค ใสเกินใส สวยเกินสวย เพชรนิลจินดา สู้ไม่ได้ นี่ปฐมมรรค อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน นั่นล่ะปฐมมรรคล่ะ คือหนทางไปสู่มรรคผลนิพพาน ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย จากกิเลสทั้งหลาย ที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เราก็จะต้องหยุดในหยุด เดินในเข้าไป เดินเข้าไปตามลำดับ หยุดนิ่งเข้าไป สุดปลายทางนั้นคือ อายตนนิพพาน 

 


                 ถ้าอยากจะเวียนว่ายตายเกิด อยากจะมีทุกข์ ก็เอาใจออกจากฐานที่ ๗ ออกไปเรื่อย คิดเรื่อยเปื่อย ติดรูปมั่ง ติดเสียง ติดกลิ่น ติดรส ติดสัมผัส แล้วก็คิดวนเวียนกับ ไอ้ห้าอย่างนั้นน่ะ นั่นล่ะจะเวียนว่ายตายเกิด เกิดเรื่อยไป ยิ่งเกิดบ่อย ๆ ก็ทุกข์บ่อย ๆ เพราะความทุกข์นั่นน่ะ มันเป็นมารวมอยู่ที่กายมนุษย์นั่นน่ะ เป็นที่รวมประชุม ของความทุกข์ทั้งหลาย ทุกข์ที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์สารพัดทุกข์เกิดขึ้น เกิดจากการทำมาหากินมั่ง เกิดจากการแสวงหาทรัพย์ เกิดจากการรักษาทรัพย์ หวงแหนทรัพย์ สารพัดเยอะแยะไปหมด นั่นเราจะเวียนว่ายตายเกิด ใจต้องออกนอก นอกกายของเรา 

 


                 ถ้าอยากจะเลิกเวียนว่ายตายเกิด ใจก็ต้องมุดเข้าไปข้างใน ที่ฐานที่ ๗ ให้รู้จักเอาไว้นะ เป็นฐานที่สำคัญที่สุดในชีวิตของทุก ๆ คนในโลก จะเกิดมาแล้วในอดีตก็ตาม ปัจจุบันนี้ หรือในอนาคต ฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว เป็นทางหลุดทางพ้น จำไว้ให้มั่น ให้ติดอยู่ในขันธสันดานทีเดียว ว่าฐานที่ ๗ ที่สำคัญ เมื่อเราทราบความสำคัญอย่างนี้แล้ว เราควรทำยังไงต่อไป เมื่อทราบความสำคัญ ผู้มีปัญญาอันสูง ผู้มีปัญญาเป็นบัณฑิต ก็จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ตรงนี้ ต้องดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ด้วยการบรรเทาความประมาทให้หมดสิ้นจากใจ 

 


                 ความประมาทก็หมายถึงว่า สติที่เผลอจากใจน่ะ ไม่ติดอยู่ที่ฐานที่ ๗ นั้นเผลอแล้ว ประมาทแล้ว ประมาทแล้ว ใจไปที่ไหนล่ะ ถ้าสติไม่คุม มันก็แว้บไปคิดแต่เรื่องรูปมั่ง สิ่งที่ตาเห็น เรื่องเสียงมั่ง ในสิ่งที่หูได้ยิน เรื่องกลิ่นบ้างในสิ่งที่จมูกได้กลิ่น เรื่องรสมั่ง ในสิ่งที่ลิ้นได้รับ เรื่องสัมผัสมั่ง ความนุ่มนวลมั่ง ในสิ่งที่กายได้รับ ใจมันก็แวบไปอยู่ทางนั้นแหละ สติเผลอจากใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความประมาท เพราะฉะนั้นถ้าจะบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาทก็จะต้องเอาสติคุมใจให้ติดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ ติดให้มั่นทีเดียว ไม่ให้ง่อนแง่น ไม่ให้คลอนแคลน ท่านอุปมาไว้เหมือนเขื่อนอินทขินท์ที่ปักตรึงแน่นอยู่ในน้ำ ไม่หวั่นไหวด้วยคลื่น ลม ต่าง ๆ 

 


                 เดี๋ยวใจติดแน่นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่หวั่นไหว ประดุจเขาที่ไม่มีปล่อง ไม่มีโพรงเป็นแท่งทึบทั้งก้อน ไม่หวั่นไหวด้วยแรงลมฉันนั้น ใจจะต้องติดอยู่ที่ตรงนี้ ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้งหลาย ติดแน่นทีเดียว ไม่โยกไม่โคลง ไม่แวบไปแวบมา ถ้าติดได้อย่างนี้ได้ชื่อว่าไม่ประมาท ได้ชื่อว่าเห็นความสำคัญของฐานที่ ๗ ได้ชื่อว่าขึ้นไปสู่ภูมิอันสูงของปัญญา ประดุจผู้ที่ขึ้นไปบนปราสาท แลลงมาจากปราสาท เห็นบุคคลต่าง ๆ หรือประดุจผู้ที่ยืนอยู่บนภูเขา แลลงมาเห็นผู้ที่อยู่ที่เชิงเขาอย่างนั้น เป็นผู้ที่ดับความกระหาย ดับความกระวนกระวายใจได้ นี่ถ้าใจติดอยู่ที่ตรงนี้ ก็จะเป็นอย่างนี้ ให้รู้จักความสำคัญของฐานที่ ๗ อันนี้เอาไว้นะ

 


                 เมื่อเรารู้จักความสำคัญอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปจะได้สอนให้รู้จักว่าไม่ประมาทนั่นน่ะ ทำอย่างไร ใจถึงจะติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่แวบไปแวบมา ให้กำหนดดวงแก้วขึ้นมาภายในใจ นึกน้อมใจไปน้า กำหนดบริกรรมนิมิต ขึ้นมาเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาเป็นดวงใส กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย ตั้งเอาไว้อยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้น้า ในตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือในกลางท้องเรา กำหนดขึ้นในใจของเรา นึกสร้างมโนภาพขึ้นมา สำหรับท่านที่มีแก้วมณีโชติรส ที่ได้แจกเอาไว้น่ะ

 


                 สำหรับผู้ที่เป็นประธานกฐินที่ผ่านมานั้น ก็นึกถึงแก้วมณีโชติรส ดวงแก้วใส กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย ให้หยุด มาหยุดที่ความใส ตรึกระลึกนึกถึงความใสของบริกรรมนิมิต ให้นึกง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่ง ที่เราไม่ได้ใช้ความพยายามในการนึกคิด แล้วเรื่องนั้นมันก็ผ่านเข้ามาในใจอย่างง่าย ๆ การนึกถึงบริกรรมนิมิตดวงแก้วก็เช่นเดียวกัน ต้องนึกให้ง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ ตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใส ของดวงแก้วนะ กำหนดให้ดี ที่ได้แก้วมณีโชติรสไปนั่นน่ะ ก็กำหนดขึ้นมา กำหนดขึ้นมาในใจ นึกถึงความใส นึกถึงขนาด นึกถึงรูปร่าง กำหนดที่ฐานที่ ๗ ให้หยุดให้นิ่งอย่างสบาย ๆ ท่านที่มีแก้วมณีโชติรสก็กำหนดง่ายหน่อย เพราะได้ไปแล้วก็หยิบเอามาดูทุกวัน เป็นของเล็กติดตัวได้ เมื่อหยิบเอาดู จำได้ แล้วก็ติดอยู่ที่ศูนย์กลาง 

 


                 แก้วมณีโชติรสเป็นแก้วที่พระพุทธเจ้าจักรพรรดิทั้งหลาย ในอายตนนิพพาน ท่านทำผังสำเร็จเอาไว้ อธิษฐานเอาไว้ว่าใครที่เข้าถึงธรรมกาย ให้ได้รับแก้วมณีโชติรส แจกให้เฉพาะผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรของโลก ชักชวนชาวโลกทั้งหลายให้มาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน เป็นผู้นำเค้าสร้างกุศลธรรม มอบให้เป็นของขวัญสำหรับบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นเป็นผังสำเร็จติดเอาไว้ ให้หมั่นดูเรื่อย ๆ จำให้ติดตาติดใจ จะเข้าถึงธรรมกายไม่ช้า ให้เรากำหนดขึ้นมาเป็นดวงใส กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยนะ ตรึกนึกให้ดีในขณะเดียวกันเราก็นึกถึงบริกรรมภาวนา ให้เสียงของคำภาวนา ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ดวงแก้วใสเราภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ อย่างนี้เรื่อย ๆ ไปนะ 

 


                 ทุกครั้งที่เราภาวนาว่า สัมมาอะระหัง เราจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงแก้วใส ทุกครั้งที่เรานึกถึงดวงแก้วใส ที่ฐานที่ ๗ เราก็จะไม่ลืมคำภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ พร้อมทั้งตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใสของบริกรรมนิมิต ต่อเนื่องกันไป สติไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง อย่างนี้ได้ชื่อว่าเราไม่ประมาท เอาสติคุมใจให้อยู่กับบริกรรมทั้งสอง พอถูกส่วนไม่ช้าคำภาวนานั่นก็จะหายไป เลือนหาย ออกไปจากใจ แล้วใจก็หยุดนิ่งเฉย ไม่มีความคิดอื่นเข้ามาแทรก เห็นดวงแก้วปรากฏขึ้นมา ใส สว่างติดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ถ้าได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องภาวนาต่อไป ตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในกลางความใส ให้ทำกันอย่างนี้น้า

 


                 หยุดนิ่งอย่างนี้ได้ ไม่ช้าจะเข้าถึงธรรมกาย จะเห็นหนทางไปสู่พระนิพพาน เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย อาหาร หวานคาว ดอกไม้ธูปเทียน ขึ้นไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีพระธรรมกายปรากฏในอายตนนิพพาน ขอให้ทุกคนพึงชำระกายในใจให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ดังที่กล่าวมาแล้ว จะได้เป็นมหากุศลของทุก ๆ คน ขอให้ต่างคนต่างทำกันเงียบ ๆ นะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ตรึกนึกถึงความใส หยุดเข้าไปในความใส ให้ใสคล้ายกับเพชร ให้สว่างเหมือนกับดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน กลมรอบตัว เหมือนดวงแก้วมณีโชติรส หยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ให้ทำกันไปอย่างนี้นะ เอ้า ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ ทุก ๆ คน

 


                 อีกครั้งนึงน้า นั่งเข้าสมาธิอีกครั้งนึง ตอนนี้สำคัญนะจ๊ะ อย่าคุยกัน เราก็นั่งหลับตาเจริญภาวนา เหมือนอย่างเมื่อสักครู่นี้ ที่เอาใจหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ให้หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง หยุดนิ่งถูกส่วนในฐานที่ ๗ นี่เราจะเห็นดวงใส ปรากฏเกิดขึ้นมา พร้อมทั้งความสุขกาย สบายใจ อย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ถ้าถูกส่วนแล้วจะเห็นอย่างนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนมันก็แวบไปแวบมา นี่ถ้าถูกส่วนแล้ว เราจะเห็นดวงใส สว่าง อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน มีความสุกใสสว่าง ความใส ความสว่าง นั่นแหละคือความบริสุทธิ์ของใจเรา 

        


                 เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่าง รวมหยุดเป็นจุดเดียว ความสว่าง ความบริสุทธิ์ จึงจะปรากฏเกิดขึ้น นี่ถ้าถูกส่วนแล้วจะเห็นอย่างนี้นะ แล้วพอเราหยุดในหยุด หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งลงไป พอถูกส่วน ถ้าถูกส่วนแล้ว มันจะใส ขยายกว้างออกไป ถ้าไม่ถูกส่วนมันก็นิ่งเฉย เห็นแต่ดวงใส ๆ ถ้าถูกส่วนแล้ว จะขยายออกไป เหมือนโยนก้อนหินลงไปในน้ำ ขยายกว้าง เห็นอีกดวงหนึ่งขึ้นมานะ ขึ้นมาทีละดวงไปเรื่อย ๆ ดวงที่เกิดขึ้นมา ก็คือความบริสุทธิ์ของใจที่ละเอียดเข้าไปเรื่อย อันที่จริงใจเราเข้าไปถึงดวงอันนั้นน่ะ คือความละเอียดมันเข้าไปเรื่อย ก็เห็นอีกดวงหนึ่งขึ้นมา ใสบริสุทธิ์ เรียกว่า ดวงศีล คือความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไป ท่านก็สมมติบัญญัติเรียกว่า ศีล 

 


                 ถ้าบริสุทธิ์ยิ่งกว่านั้น ถูกส่วนเข้า เห็นอีกดวงหนึ่งขึ้นมา มันขึ้นมาเอง ไม่ใช่เราทำให้มันเกิด ไม่ใช่ไปนึก ๆ พอถูกส่วนมันขึ้นมาน่ะ เพราะใจเราเข้าไปถึงความบริสุทธิ์ขั้นต่อไป ที่ละเอียดขึ้น ท่านสมมติเรียกว่า ดวงสมาธิ เรียกว่า ดวงสมาธิ สว่างขึ้น ใสขึ้น พอหยุดเข้าไปเรื่อย เห็นความใสของสมาธิ พอหยุดนิ่งเข้ากลางเรื่อยไป ถูกส่วนเห็นอีกดวงหนึ่งมันขึ้นมา ขึ้นมาเอง ใส กลมรอบตัว โตเท่ากัน แต่ว่าใสกว่า สว่างกว่า ท่านเรียกว่าดวงปัญญา สมมติเรียกว่าดวงปัญญา อันนี้เกิดขึ้นมา มีปัญญาเลิศ ถ้ากลางของกลางเข้าไปอีก หยุดถูกส่วน เห็นอีกดวงหนึ่ง มันขึ้นมาเอง เป็นดวงใสกลมรอบตัว ถ้ากลางของกลางหยุดเข้าไปอีก ถูกส่วนเห็นอีกดวงหนึ่ง ไอ้ดวงสุดท้าย เรียกว่า ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ โตเท่ากัน แต่ใสกว่า สว่างกว่า มีความบริสุทธิ์ทีเดียว 

 


                 วิมุตติญาณทัสสนะ ก็แปลว่าความเห็นอันวิเศษ เมื่อใจเราหลุดพ้นจากกายมนุษย์หยาบแล้ว พอหลุดพ้นก็เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เห็นกายภายในซ้อนอยู่ เหมือนตัวของเราเลย ท่านหญิงเหมือนท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนท่านชาย หน้าตาเหมือนกันหมด ผิวพรรณละเอียดกว่า บริสุทธิ์กว่า นั่งขัดสมาธิอยู่ในภายในตัว ตรงฐานที่ ๗ ตรงนั้นแหละ ซ้อนกัน โตเท่ากับตัวเรานี่แหละ ซ้อนกัน โตเท่ากัน เห็นใหม่ ๆ ตัวเล็ก หนัก ๆ เข้าขยายโตเท่ากัน ของเท่ากันนี้ถ้า ถ้าอีกอย่างหนึ่งไม่ละเอียดกว่า มันซ้อนกันอยู่ไม่ได้ นี่มันซ้อนใสบริสุทธิ์ นี่หลุดแล้ว 

 


                 เห็นกายที่ ๒ เรียกว่า กายมนุษย์ละเอียด นั่งขัดสมาธิ สงบนิ่งอยู่ภายในตัว กายนี้เอง เราเห็นเมื่อเรานอนหลับ เราฝันไป เห็นตัวเราออกไปทำหน้าที่ฝัน ไปพบกับคนนั้นคนนี้มั่ง วัตถุสิ่งของ สถานที่ต่าง ๆ แล้วกายนั้นก็กลับมารายงานกายมนุษย์ ตื่นขึ้นมาจำได้บ้าง จำไม่ได้มั่ง แล้วแต่สัญญาความทรงจำเหล่านั้น จะสะอาดบริสุทธิ์แค่ไหน พอเห็นกายมนุษย์ละเอียด ชั้นที่ ๒ นี้เท่านั้นน่ะ ความคิดของเราก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทันที แต่เดิมมีความรู้สึกว่า เอ้อเรามีแต่กายหยาบกายเดียวเท่านั้น ตายแล้วมันก็สูญหายไป ที่สุดของชีวิตคือเชิงตะกอน 

 


                 พอมาถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้วไม่อย่างนั้น ความคิดมันเปลี่ยนไปซะแล้ว ว่าโอ้ กายหยาบที่จริงนั้นน่ะ มันเหมือนบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว พระท่านก็พูดบ่อย ๆ ว่า ชั่วคราวนะ นี่ของขอยืมเขามา เมื่อหมดสัญญาเช่าก็ส่งคืนไป เราได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ แต่มันไม่ซาบซึ้ง เมื่อเราเข้ามาถึงกายมนุษย์ละเอียดนี่ ความซาบซึ้งก็จะเกิดขึ้น ว่าอ้อที่พระท่านพูดนั่นจริง ท่านไปเห็นของจริงมา ท่านไม่ได้เอาของเหลวไหลมาหลอกลวงเรา ว่ากายหยาบนี่มันชั่วคราวจริง ๆ ยังมีกายชั้นที่ ๒ อีกอยู่ภายใน เป็นผู้รับสุขรับสุขรับทุกข์อยู่น่ะ เสวยสุขเสวยทุกข์ก็อยู่กายข้างในนั่นแหละ เป็นผู้เสวย ไอ้กายหยาบ มันก็รองรับ เป็นหุ่นหยาบ ๆ เป็นเปลือกภายนอก เหมือนเปลือกของต้นไม้อย่างนั้นน่ะ ไอ้นี่ก็เป็นเปลือกของกายภายใน 

 


                 เราจะเห็นกายภายในชัด พอถึงกายชั้นที่ ๒ เข้าไปนี้ ทำให้มั่นคง ให้ชำนาญ ให้คล่องแคล่ว หลับตาเห็น ลืมตาเห็น นั่งเห็น นอนเห็น ยืนเห็น เดินเห็น นึกอะไรก็ให้เห็นใสสว่าง บริสุทธิ์อย่างนี้ ความยึดมั่นถือมั่นในกายมนุษย์หยาบก็บรรเทาไป มันยังไม่หมดน้า แต่ว่ามันบรรเทาออกไป เพราะรู้ว่าอ้อมันมีกายอีกกายหนึ่งอยู่ภายใน เพื่อบรรเทา ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นกายหยาบ สิ่งที่เนื่องถึงกัน เสื้อผ้าแพรพรรณ วัตถุสิ่งของ เพชรนิลจินดา ทรัพย์สมบัติภายนอก ก็เริ่มจะมองเห็นแล้วว่า มันมีประโยชน์สำหรับกายมนุษย์หยาบ ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นติดเอาไปปรโลก ไปในโลกเบื้องหน้า หวงแหน ตระหนี่ เสียดาย ไอ้ความคิดนั่นก็จะเปลี่ยนแปลงไป 

 

 

                  พอถึงกายชั้นที่ ๒ เข้า ความยึดมั่นถือมั่นก็บางลงไป ที่ตระหนี่ก็จะเลิกตระหนี่ จะรู้จักการให้ แต่ก่อนมีความสุขจากการได้รับวัตถุสิ่งของ แต่วันนี้จะมีความสุขด้วยการให้ สละออกไป สละออกไปเรื่อย ใจก็ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งสละยิ่งบริสุทธิ์ พอสละทรัพย์ภายนอก จะเป็นวัตถุสิ่งของ จะเป็นอะไรก็ตาม แก้วแหวน เงินทอง ปัจจัย ๔ สละออกไปแล้ว ยิ่งให้ใจยิ่งบริสุทธิ์ พอยิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งหยุดนิ่ง พอหยุดนิ่งถูกส่วนเห็นดวงใส อยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียดอีกแล้ว นั่นมันซ้อนกันอยู่อย่างนี้น้า เห็นเป็นดวงใส ถ้าไม่บริสุทธิ์ ไม่ปลดปล่อยวางภายนอก มันก็เข้ากลางดวงไม่ได้ ไม่เห็นดวง แต่พอถูกส่วนเข้า เห็นดวงใสขึ้นมา ยิ่งให้เท่าไหร่ เอ้ายิ่งบริสุทธิ์หนักเข้าไปอีก 

 


                 ภายในน่ะให้อะไร ให้อภัยทาน สละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการกุศล ต่อพรหมจรรย์ และหมด ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีเท่าไหร่ สละหมด ไม่ยึดมั่นถือมั่น พอปล่อย ไม่ยึดมั่นถือมั่นใจก็ยังบริสุทธิ์ พอยิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งหยุดนิ่งใหญ่ พอหยุดนิ่งก็เดี๋ยว ก็เห็นดวงขึ้นมา ใจก็แล่นเข้ากลางเลย แล่นกลางของกลาง กลางของกลางมันไปเอง ยิ่งปลด ปล่อย ยิ่งวาง ยิ่งสละออก ยิ่งไปเองเลย กลางของกลางเข้าไปเรื่อย ถูกส่วนก็จะเห็นดวง ๆ กันไปอย่างนั้น ดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าไปอย่างนี้ พอสุดวิมุตติญาณทัสสนะ ก็เห็นกายอีกกายหนึ่งเกิดขึ้นมา เป็นไปอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม 

 


                 กายธรรมนะ กายที่ ๙ กายธรรมโคตรภู เป็นพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว บริสุทธิ์ผุดผ่อง งามไม่มีที่ติ ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ ครบถ้วนหมด ไม่มีข้อบกพร่องเลยแม้แต่นิดเดียว งามไม่มีที่ติ มนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ มองแล้วยังมีที่ติ แต่กายธรรมนั้นเป็นกายสากล เป็นกายมาตรฐาน ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ถ้ามองเห็นกายธรรมนี้แล้ว ยอมรับหมดว่า งามไม่มีที่ติ แล้วอยากจะเอาอย่าง อยากจะได้อย่างนี้ จะมีความรู้สึกนึกคิดกันอย่างนั้น ไม่มีที่ติเลย ไม่เหมือนใครทั้งสิ้นในโลก คล้าย ๆ กับเอาความดีทุกอย่าง เอาความงามทุกอย่างในโลกนี้ รวมประชุมกันอยู่ที่กายธรรม รวมหมดประชุมหมด เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ มีชีวิตจิตใจ เช่นเดียวกับเราอย่างนี้แหละ แต่ว่าประเสริฐกว่า เลิศกว่าเป็นกายนอกภพ เป็นใจนอกภพ ไม่ติดอะไรเลยในภพทั้งสาม กามภพ รูปภพ อรูปภพ พลอยหลุดวางหมด ปล่อยวางหมดเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ในภพนี้ เป็นอนิจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ 

 


                 อนัตตาไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร พอเข้าถึงกายนี้ ใจก็เป็นสุขอย่างยิ่ง มีความเบิกบาน มีความอิ่มเอิบ เพราะฉะนั้น เมื่อกายธรรมอันนี้เกิดขึ้น คำว่าพุทโธ ก็เกิดขึ้นมา พร้อมกับกายธรรมอันนี้ แปลว่า รู้แล้ว รู้แจ้ง เห็นแจ้ง แทงตลอด ตื่นแล้วจากกิเลสทั้งหลาย แล้วใจก็เบิกบาน เบ่งบาน มีความบริสุทธิ์ ผ่องใส ใจก็ขยายส่วนกว้างออกไปไม่มีขอบเขต จากสิ่งที่มีขอบเขตไปสู่สิ่งที่ไม่มีขอบเขต กว้างขวางออกไป ยิ่งกว้างขวางเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งเบิกบาน มีความเบากาย เบาใจ สุขอย่างยิ่ง นั่นคือกายธรรมโคตรภู เป็นหลักของทางพระพุทธศาสนา ท่านหญิงถ้าเข้าถึงกายธรรมนี้ได้ชื่อว่าบวชข้างใน ได้ชื่อว่าเป็นอุบาสิกา ผู้เข้าไปนั่งใกล้ในพระรัตนตรัย ได้ชื่อว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ท่านชายเข้าถึงก็ได้ชื่อว่าบวชข้างใน ถ้าครองผ้ากาสาวพัตรก็บวชข้างนอกด้วย ได้ชื่อว่าถึงพุทธรัตนะ ถึงไตรสรณคมน์ มีความสุขกายสบายใจอยู่อย่างนั่นแหละ ได้ชื่อว่าเข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย 

 


                 เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัย นี่ถึงสรณะแล้ว ถึงพุทธัง สรณัง คัจฉา มิแล้ว งามไม่มีที่ติ สวยงามมาก พุทธรัตนะนี้อยู่ในตัวของเรานี่เอง เป็นกายชั้นที่ ๙ ที่เราถอดเข้าไปตามลำดับ นี่อาศัยจากหยุดนิ่งอย่างเดียว แล้วก็มีกายธรรมในกายธรรมเข้าไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แหละ จนกระทั่งถึงกายธรรมองค์ที่สุด ที่อยู่ภายในตัวของเรา ที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย หลุดพ้น ร่อนหมดเลย ไม่ติดกันเลย เหมือนมะขามเนื้อกับเปลือกไม่ติดกันไม่ติดกันเลย ร่อนหมด ใจก็มีความสว่างไสว มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ธรรมกายอันนั้นแหละเข้าสู่อายตนนิพพาน พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านก็มีธรรมกายคล้าย ๆ อย่างนั้นแหละ แต่ว่าสวยงามกว่า หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐วา นั่งสงบอยู่ในอายตนนิพพาน ที่เราจะได้น้อมนำเอาเครื่องไทยธรรมทั้งหลายไปถวายเป็นพุทธบูชา เอาถวายกับธรรมกายของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ที่อยู่ในอายตนนิพพาน นั่งสงบหมด เข้านิโรธสมาบัติ เป็นสุขอย่างยิ่ง 

 

 
                ตัวสุขของพระนิพพานเป็นสุขที่สุด นิพพานัง ปรมัง สุขขัง สุขอย่างยิ่ง ไม่มีทุกข์เจือเลย อีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่า เอกันตบรมสุขสุขอย่างเดียว เป็นสุขชนิดที่ไม่มีอารมณ์ในโลกนี้เป็นเครื่องเทียบ จะอุปมาอุปไมย ก็ไม่ใกล้เคียงกับความสุขของพระนิพพาน นอกจากผู้ที่เข้าถึง เพราะฉะนั้นที่เราได้น้อมนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลายเนี้ยะ ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็อาศัยกายธรรมอันนี้แหละ น้อมขึ้นไปถวาย กายอื่นอยู่ในภพนั้นไปถวายไม่ได้ ผู้ที่ไม่รู้จริงก็โจษจันท์กันไป กล่าวหากันไป ว่าเป็นของหลอกลวง แต่ผู้ที่เข้าถึงกายธรรมจริง ๆ แล้ว ยืนยันได้เป็นตำรับตำราได้ เป็นเนติแบบแผนได้ เพราะว่ากายธรรมนั้นคือกายที่ออกนอกภพ เป็นกายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้ง แทงตลอด กายธรรมเท่านั้นจึงจะเข้าไปถึง 

 


                 ถ้าถึงกายธรรมแล้ว ไม่ง่อนแง่นและคลอนแคลน หายสงสัย หายลังเล หายกล่าวหาทั้งหมดเลย นี่เป็นอย่างนี้น่ะ ให้รู้จักกายธรรมนี้เอาไว้ ผู้ที่ปฏิบัติทั่ว ๆ ไป ใจไม่ถึงธรรมกาย ใจไม่ถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ติดอยู่ที่นอกฐานที่ ๗ ทั้งนั้น ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ของนักปฏิบัติทั้งหลาย ติดอยู่ข้างนอก ถึงจะเป็นดวงใสแต่ก็ติดอยู่ข้างนอก ไม่ใช่ดวงใสที่ฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้จักธรรมกาย บางท่านปฏิบัติไป ใจติดก็อยู่ที่หน้าท้องก็มี ติดที่หน้าท้องโป่งออกไป เดี๋ยวยุบเข้ามาอยู่ข้างใน เข้าออก เข้าออกอยู่อย่างงั้นแหละ วนเวียนอยู่ เอ้าพอปล่อยวางได้ก็ใจอยู่ข้าง ๆ ศูนย์กลางกายมั่ง เหนือศูนย์กลางกาย ได้เป็นความสว่าง เป็นดวงใส บางท่านปฏิบัติมาตั้งหลายสิบปี ได้แค่ดวงใสอยู่นอกฐานที่ ๗ เหลื่อม ๆ เหลื่อมไปทางซ้ายมั่ง ทางขวามั่ง ทางหน้า ทางหลัง ทางล่าง ทางบน อยู่แค่นั้น ติดสุขอยู่แค่นั้นเอง ติดอยู่ความสุขอยู่ตรงนั้นน่ะ วนเวียนอยู่ พอติดสุขอย่างงั้นเข้า ปล่อยวางโลกภายนอกเข้า มีศีลาจารวัตร งดงาม มนุษย์ทั่วไปไม่รู้จัก ไม่รู้จักก็คิดเอาเองว่านั่นพระอรหันต์ นั่นไม่รู้จักของจริงเลย

 


                   เพราะฉะนั้นที่จะเข้าถึงกายธรรมได้นี้ เป็นของยากนัก จะต้องรู้จักหนทางที่จะเข้าถึง ต้องรู้จักฐานที่ ๗ ถ้าเข้าไม่ถึงฐานที่ ๗ แล้ว เป็นไม่พบกายธรรมเด็ดขาด นี่จำเอาไว้ให้ดีน้า เมื่อรู้จักอย่างนี้ ว่าฐานที่เจ็ดเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ธรรมกายเท่านั้น จะนำเครื่องไทยธรรมไปถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอายตนนิพพานได้ ต่อจากนี้ไป ขอให้ทุกคนรวมใจให้ดี ที่หยุดที่ศูนย์กลางกายก็หยุด ถึงกายไหนก็ให้หยุดที่กายนั้น เห็นความสว่างก็หยุดอยู่ที่กลางความสว่าง ไม่เห็นความสว่างก็หยุดนิ่งเฉย ๆ ไม่ต้องภาวนาอะไรนะ ให้หยุดในหยุด หยุดในหยุด ๆ ให้นิ่งเฉย ทำความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ของเราให้ดี แล้วเราก็น้อมเครื่องไทยธรรมทั้งหลาย ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ภายใน นึกกันให้ดีน้า ให้หยุดนิ่งเฉย 

 


                คุณยายก็คุมเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ คุมของหยาบ กลั่นให้เป็นของละเอียดขึ้นไป น้อมขึ้นไปด้วยกายธรรม กลางของกลางเข้าไปเรื่อย ๆ ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุก ๆ พระองค์ ไม่ซ้ำธาตุ ไม่ซ้ำธรรม ไม่ซ้ำพระองค์ นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ถวายให้ทั่วถึงให้หมดเลย สั่งพุทธจักรที่อยู่ในอายตนนิพพานน้อมไปถวายหมด ว่าเป็นผลทานของพวกเราทุก ๆ คน ที่น้อมนำมาในวันนี้ แล้วก็ขอบุญขอบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ว่าเนื่องจากวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ที่มนุษย์โลกเค้าสมมติเอาว่าเป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ ขอบุญ ขอบารมีเป็นพิเศษ ให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ ท่านที่มาในวันนี้ อาราธนาท่านสวดมนต์ชยันโตให้ศีลให้พร ในอายตนนิพพานนะ 

 

                 ขอบุญ ขอบารมีนะ ให้บุญนี้ให้ถึงแก่พวกเราทั้งหลาย ที่นั่งอยู่ในสถานที่นี้ ให้เป็นผู้ที่มีความสุขกายสบายใจ จะประกอบธุรกิจการงานอะไรก็ให้สำเร็จสมความปรารถนา นึกอะไรก็ให้เป็นผลสำเร็จ เป็นผลสำเร็จ เป็นผลสำเร็จ ทั้งทางโลกแล้วก็ในทางธรรม จะประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้เข้าถึงพระธรรมกาย จะปรารถนาในสิ่งที่ดีงามก็ให้สำเร็จสมความปรารถนา ให้เป็นผลสำเร็จ เป็นผลสำเร็จ เป็นผลสำเร็จ ให้ท่านให้ศีล ให้พร กับทุก ๆ คน เมื่อเราน้อมนำเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นไปแล้วนะ คุณยายคุมให้ดี ให้เป็นผลสำเร็จหมดทุก ๆ คน ให้เป็นบุญอันวิเศษติดตัวไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน ให้ได้ผลบุญในปัจจุบันนี้ ท่านที่ศึกษาเล่าเรียนก็ให้สำเร็จสมความปรารถนา ท่านที่รับราชการก็ให้ไปสูงสุดในสายนั้น ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านเมตตา ให้สนับสนุนให้ทำงานให้ราบรื่น ไม่ขัดหูขัดตาผู้หลักผู้ใหญ่ ให้ผู้บังคับบัญชาก็ดีเพื่อนฝูงเจ้านายก็ดี ให้สนับสนุน


                          

                   ที่ประกอบธุรกิจการงานก็ให้ ทำธุรกิจก็ให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม เต็มประเทศ ล้นประเทศออกไปเลย ให้พ้นจากหนี้จากสิน ให้ประสบความสุขความเจริญ ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น สุขภาพพลานามัยก็ให้แข็งแรง เจ็บป่วยไข้ต่าง ๆ ก็ให้ละลายหายสูญหมด ให้ประสบพบแต่สิ่งที่ดีงาม คนภัยคนพาลไม่ดี ก็ให้ละลายหายสูญ อย่าได้เจอะ อย่าได้เจอ ให้เจอแต่บัณฑิต นักปราชญ์ทั้งหลาย ให้ใจชุ่มเย็นอยู่แต่ในบุญในกุศล ให้บุญกุศลที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นเครื่องชักจูงใจทุก ๆ คน ให้กระทำแต่ความดีงาม สิ่งที่เป็นบาปเป็นอกุศล อย่าให้ได้กระทำตั้งแต่วินาทีนี้เรื่อยไปเลย จนกระทั่งหมดอายุขัย ทุกภพทุกชาติกระทั่งเข้าพระนิพพานไปเลย ขอพรท่าน ขอบุญท่าน บุญก็หลั่งไหลเป็นสายขาวใส เป็นแก้วที่เดียว จรดศูนย์กลางกายหมด ให้ติดให้นิ่งอยู่ที่กลางของกลางตัวน่ะ ทุกคนก็นึกน้อมจิตอธิษฐานไปตามใจชอบนะ พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานมีธรรมกายทั้งนั้น นับไม่ถ้วน ท่านกำลังสวดมนต์ชยันโต ให้ศีล ให้พรพวกเราอยู่ เราก็เอาใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายน่ะ แล้วก็อธิษฐานจิตตามใจชอบทุก ๆ คน
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035509514808655 Mins