ธรรมะได้จากธรรมกาย

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2567

120367b01.jpg

ธรรมะได้จากธรรมกาย  
ปรับใจให้เรียบง่ายจะได้เข้าถึงธรรมได้อย่างรวดเร็ว
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

พฤษภาคม ๒๕๓๐

 

                ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญภาวนากัน นั่งขัดสมาธิกันทุกคนนะจ๊ะ ใครนั่งสมาธิไม่ถนัดก็ให้นั่ง พับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุกๆ คน วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาเบา ๆ นะจ๊ะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ หลับตาสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ให้มีความรู้สึก ว่าเลือดลมของเราเดินได้สะดวก ให้ร่างกายของเรามีความรู้สึกว่าปลอดโปร่งสบาย ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายตึงเครียด เมื่อขยับตัวดีแล้ว ต่อจากนี้ก็ให้ปลดปล่อยวางภารกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องธุรกิจการงาน เรื่องครอบครัว ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำประหนึ่งว่าเราไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้มาก่อน ไม่เคยพบปะ ไม่เคยเจอะเจอในสิ่งเหล่านี้มาก่อน

 


                เมื่อจิตใจของเราปลอดโปร่ง เบาสบายดีแล้ว ก็ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ ให้สมมติว่าหยิบเส้นเชือกขึ้นมาสองเส้น นี่สำหรับท่านที่มาใหม่นะ ท่านที่มาใหม่นะ ให้สมมุติว่าหยิบเส้นเชือกขึ้นมาสองเส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งให้ขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมาสองนิ้วมือ เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมาสองนิ้วมือเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้สร้างมโนภาพ ขึ้นมาในใจว่ามีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตา เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้นึกถึงดวงแก้วนี้อย่างง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ นึกถึงดวงแก้วง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงภาพดอกบัวหรือภาพบ้านของเรา หรือภาพพระพุทธรูปที่อยู่บนโต๊ะหมู่บูชาที่บ้านของเรา ให้นึกถึงภาพดวงแก้วให้ง่าย ๆ อย่างนั้น 

 


                แล้วก็นึกอย่างสบาย ๆ ทำใจเย็น ๆ นึกถึงความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว เอาใจของเราตรึกนึกถึงความใส แล้วก็หยุดไปตรงจุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว ให้ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ทุกครั้งที่เราภาวนาว่าสัมมาอะระหัง เราจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดเข้าไปในกลางความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว ทุกครั้งที่นึกถึงดวงแก้ว เราจะต้องไม่ลืมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ให้ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่าให้ขาดตอน อย่าให้เผลอ ให้มันต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ 

 


                เมื่อไรใจเราหยุดนิ่งถูกส่วนเห็นดวงใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อนั้นเราก็หยุดคำภาวนา สัมมาอะระหัง ไปด้วย คือไม่ต้องภาวนาต่อไป ให้รักษาภาพดวงแก้วอันนี้เอาไว้ให้ดี แล้วก็ให้ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดเข้าไปที่กลางความใสบริสุทธิ์ หรือเราภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนา อยากจะวางใจนิ่ง ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ถ้าความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นมา เราก็ไม่ต้องภาวนา ให้รักษาภาพดวงใสบริสุทธิ์ เอาไว้ให้ดี

 


                อันที่จริงการเข้าถึงธรรมกายนั้นนะ ไม่ใช่เป็นของที่ยากอะไรมากมายนัก แต่มันก็ไม่ใช่ง่าย มันกำลังพอดี ๆ คือไม่ยากไม่ง่าย ถ้าทุกคนวางใจเป็น ให้สังเกตดูเวลาเด็ก ๆ ที่หลวงพ่อสอนหรือแนะนำไปนั้นนะ พอสุดเสียงคำแนะนำ เด็กก็สามารถกำหนดบริกรรมนิมิตได้ ซึ่งบางคนก็ชัดมาก บางคนก็ชัดเจนน้อย แต่ก็ค่อย ๆ ประคองใจไปเรื่อย ๆ ไม่ช้าก็จะชัดเจนเหมือนกับลืมตาเห็น เหมือนเราลืมตา เห็นวัตถุภายนอก พอชัดเจนได้อย่างนี้ ใจตั้งมั่นดีเป็นอัปปนาสมาธิแล้ว ไม่ช้าก็จะเข้าถึงธรรมกาย คือเห็นกายภายในไปตามลำดับ ข้อที่ยาก มันยากอยู่ที่ว่าเราวางใจไม่เป็น และเราก็คิดว่ามันยาก จนกระทั่งสุดวิสัยที่เราจะเข้าถึงได้ มันก็ทำให้เราเพียรจัดตั้งใจมากเกินไป 

 


                เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดความตึงเครียด ที่เสียเวลากันไป เป็นเวลาเป็นวัน เป็นอาทิตย์ เป็นเดือนเป็นปี หรือว่าหลาย ๆ ปี นั่นนะ ก็เพราะว่าวางใจไม่เป็น ถ้าเราวางใจเป็นแล้ว พอสุดเสียงหลวงพ่อ ต้องทำเป็นทุกคน ให้นึกถึงในสมัยพุทธกาลน่ะ พอสุดเสียงคำเทศนาของพระบรมศาสดา ทุกคนก็บรรลุธรรมาภิสมัย คือบรรลุมรรคผลนิพพาน ตามกำลังบุญของแต่ละคน เค้าเข้าถึงกัน และเนื้อหาธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านแสดงสรุปแล้วก็ ท่านชี้ให้เห็นว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทุกข์เกิดจากความทะยานอยาก ซึ่งมีกิเลสอยู่เบื้องหลัง ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วางให้เห็นว่า สิ่งนั้นน่ะไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้พิจารณาจนกระทั่งจิตเบื่อหน่าย คือเห็นคล้อยตามด้วยเหตุ ด้วยผลแจ่มแจ้งก็เบื่อหน่าย

 


                 เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด ความยึดมั่นถือมั่น จิตก็หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่ไม่เป็นสาระ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อะไรต่าง ๆ พอใจปลอดโปร่งว่างเปล่าจากสิ่งเหล่านั้น ก็จะกลับเข้ามาสู่ที่ตั้งภายใน คือฐานที่ ๗ และความสว่างบริสุทธิ์ของปฐมมรรคก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นปฐมมรรคเป็นดวงใสบริสุทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น พอเข้าถึงปฐมมรรค ไม่ช้าก็เข้าถึงกายภายใน แล้วถึงธรรมกายในที่สุด 

 


                นั่นแหละเมื่อทุกคนได้ปลดปล่อยวางใจ อย่างสบาย ๆ ก็เข้าถึงธรรมได้อย่างสบาย ๆ ไอ้ที่พวกเราล่าช้า เพราะวางใจน่ะมันไม่ถูก ดังนั้นวันนี้ เราจะมาปรับปรุงวิธีการวางใจของเราซะใหม่ เพื่อที่เราจะได้ไม่เสียเวลาในการเข้าถึงธรรมกาย เพราะการเข้าถึงธรรมกายได้นั้นน่ะ จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์ เพราะกายธรรมนั้นเป็นกายตรัสรู้ เป็นกายที่รู้แจ้งเห็นแจ้ง แทงตลอดในชีวิตของเราทั้งหลาย เราจะรู้ว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต และจะทำด้วยวิธีการใด ถึงจะบรรลุเป้าหมายอันนั้น รู้เห็นได้ด้วยธรรมกายอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นถ้าเราวางใจเป็น ทำตามวิธีที่หลวงพ่อแนะนำก็จะเข้าถึงในตอนนี้ล่ะ ถึงกันอย่างง่าย ๆ แล้วก็ถึงกันอย่างทุกคนทันที ไม่ก่อน ไม่หลังกันทีเดียว 

 


                หลักมันก็มีอยู่ว่าเราจะต้องนึกให้ได้เสียก่อน นึกภาพดวงแก้วใส ๆ นะ ให้ได้ ถ้าเรานึกภาพกาละมังได้ ก็นึกภาพอันนี้ได้ ดวงแก้วได้ นึกถึงพระพุทธรูปบนโต๊ะหมู่บูชาได้ เราก็จะนึกถึงภาพดวงแก้วได้ ใช้วิธีการอันเนี่ยะ คือนึกให้ได้ซะก่อน เราจะนึกได้เมื่อเราได้นึก คือเราได้นึกถึงดวงแก้วจริง ๆ นะ ไม่ใช่ปล่อยใจเลื่อนลอยไปคิดเรื่องอื่น เมื่อเราได้นึก เราก็จะนึกได้ ฟังดูแล้ว ถ้าหากว่าไม่ตั้งใจจริง ๆ ดูเบาไปเนี่ย เหมือนไม่มีอะไร แต่นี่แหละเป็นหลักสำคัญทีเดียว ถ้าเราได้นึกเราก็จะนึกได้ ถ้านึกได้ก็เห็นได้ ความเห็นจะเกิดขึ้นมาในภายหลัง จะเห็นได้ชัดเจน แต่ว่ามันค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ เห็นทีละ ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐  เปอร์เซ็นต์ เรื่อยไปจนกระทั่งชัดเจน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุ คือต้องได้นึกซะก่อน จึงจะนึกได้

 


                เมื่อนึกได้ก็เห็นได้ แล้วเราก็ประคองความเห็นนั่นน่ะให้มั่นคง ให้ต่อเนื่องกันไปอย่าให้ขาดตอน ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นนะ เราก็จะเข้าถึงปฐมมรรค ซึ่งเป็นเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย เอ้าตอนนี้เราทดลองดูนะจ๊ะ ลองค่อย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ ถึงดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ นึกถึงความจริงของความใส ความบริสุทธิ์ ของเพชรนะ เพชรจริง ๆ นั่นน่ะ ใสนะ บริสุทธิ์ เวลากระทบแสงน่ะ จะมีประกายเจิดจ้าขึ้นมา นึกตรงนี้ให้ได้ซะก่อน สำรวจดูกันให้ดีนะ นึกได้มั้ย หลวงพ่อยังไม่ได้ใช้คำว่าเห็นนะว่านึกตรงนี้นะได้แล้วหรือยัง ให้ดวงแก้วนะใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวน่ะ คือ ไม่มีตำหนิเลย โตเท่ากับแก้วตาของเรา นึกได้หรือยังจ๊ะ ลองค่อย ๆ นึกไปนะ ลองนึกไปอย่างสบาย ๆ อย่าลืมคำนี้นะ 

 


                ถ้านึกแล้วเครียดก็ผิดวิธี แสดงว่าเราตั้งใจมากไป นึกไม่เป็น เราลองนึกถึงภาพบ้านของเราดู เห็นมั้ยว่าเรานึกได้อย่างง่าย ๆ นึกเข้าไปที่ห้องพระก็ง่ายอีกเหมือนกัน นึกเข้าไปบนโต๊ะหมู่บูชา เห็นพระพุทธรูป เป็นโลหะก็มี เป็นแก้วสีเขียวก็มี สีเหลืองก็มี เห็นมั้ยทำไมเรานึกได้แล้วก็เปลี่ยนจากนั้น เราก็มานึกถึงดวงแก้วว่าใส บริสุทธิ์ หรือใครพอใจจะเอาภาพองค์พระเข้ามานึกก็ได้ นั่งขัดสมาธิอยู่ในกลางท้อง เอานึกตรงนี้ให้ได้ซะก่อน พอเรานึกได้เนี่ย นึกได้ดีแล้วนะก็ค่อย ๆ ประคองทีเดียว อย่างเบา ๆ อย่างสบาย ๆ ประคองเบา ๆ ค่อย ๆ ประคองไปนะ ประคองเบา ๆ รักษาอารมณ์สบาย นึกถึงความใสบริสุทธิ์ไปด้วย ทำตามไปนะ 

 


                ประคองเบา ๆ สบาย ๆ นึกถึงความใส บริสุทธิ์ไปด้วย เดี๋ยวเราจะอัศจรรย์ใจว่าเอ๊ มันไม่ยากเลย เพราะที่จริงมันก็ไม่ยาก แต่เราทำของง่ายให้มันยาก มันก็เลยยาก ประคองนะจ๊ะ สบาย ๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าหน้าเรายิ้ม ๆ เบิกบาน เวลาเรานึกถึงดวงแก้วหรือภาพพระพุทธรูป บนโต๊ะหมู่บูชาที่บ้านเราตั้งไว้ในกลางท้องนะ ที่อื่นไม่เอา เอาตรงนี้นะ นึกตามนะจ๊ะ อย่างสบาย ๆ น่ะ ทำใจเย็น ๆ ใจเย็น ๆ ใจเย็นให้สังเกตตรงนี้ว่าเราไม่เร่งเกินไป ค่อย ๆ ค่อย ๆ นึกให้มันปะติดปะต่อกัน จนกระทั่งความใสมันก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น ค่อย ๆ เพิ่มทีละเล็กทีละน้อยน่ะ ให้ใสในใส ใสในใส ใสในใส ชัดในชัด ให้เอาตรงนี้นะ เอาให้ได้นะ 

 


                ถ้าตรงนี้ได้เดี๋ยวจะอัศจรรย์ว่าถึงธรรมกายนี้ไม่ยากเลย แต่เสียเวลาเป็นปี ๆ หลายปีเนี่ย จนกระทั่งเบื่อท้อแท้เนี่ยเพราะทำไม่เป็นนะ ทำให้เป็นนะสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ประคองไป เราจะภาวนา สัมมาะระหัง ก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ได้ เอาเป็นว่าเราชอบยังไง เราก็เอาอย่างนั้นน่ะ ใจเย็น ๆ สบาย ๆ ให้เอาตรงนี้ให้ได้ก่อน นึกถึงดวงใสบริสุทธิ์ หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่นี้ตรงฐานที่ ๗ เนี้ยะ ถ้ายังหยุดไม่สนิทเนี่ยเรายังมองไม่เห็นหรอก เราก็ต้องคาดคะเนเอา 

 


                ทึกทักเอาว่าในกลางท้องในตอนเนี้ย เรากำลังนึกถึง ดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ตรงนี้เป็นฐานที่ ๗ นึกแค่นี้ แล้วอย่านึกไปเกินไปกว่านี้ ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด เหลื่อมไปทางซ้ายทางขวา หรือเปล่าไม่ต้องนึกต่อ เอานึกแต่นี้ใจมันก็จะได้ อินโนเซนท์นะนึกแค่เนี้ยะ ทำแค่นี้ดูเหมือนไม่เห็นมีอะไร แต่คอยดูนะเดี๋ยวผลอันยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้น อย่างที่เรานึกไม่ถึงเลย เราจะพบความสุขที่เราไม่เคยพบมาก่อน มีอาการที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย มันโปร่ง มันเบา มันเย็น มันเป็นอิสระ กว้างขวางไม่มีขอบเขต และเรารู้สึกจะพออกพอใจ ชื่นใจกับสิ่งที่เราพบที่เข้าถึงนี้ มากกว่าที่เคยเจอน่ะ แล้วก็ไม่อิ่มไม่เบื่อ มีความเบิกบานอยู่ภายในน่ะ ใจมันจะเย็น เดี๋ยวจะอัศจรรย์เนี่ย ว่าไอ้สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในตัวของเรา เมื่อเราวางใจของเราเป็นน่ะ หยุดนิ่ง

 


                เพราะฉะนั้น ฝึกใจให้หยุดให้ได้ซะก่อน แล้วเรื่องอื่นค่อยพูดกัน เหมือนพระบรมศาสดา ทรงให้นัยยะ อันสำคัญแก่พระองคุลีมาลว่า สมณะหยุดแล้ว แต่ท่านน่ะยังไม่หยุด อาการที่หยุดน่ะ ท่านหมายเอาใจที่หยุดแล้ว ติดอยู่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ติดอยู่ในกลางธรรมกายเลย ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน พอติดอยู่ตรงนี้ ความสุขก็พรั่งพรูออกมา ความรู้ก็พรั่งพรูออกมา ความเบิกบานก็พรั่งพรูออกมาจากที่หยุดนิ่งอยู่ในกลางตัว แต่พระองคุลีมาลยังไม่หยุด ยังแสวงหาอยู่กำลังจะเป็นจ้าวโลก แสวงหา กระวนกระวาย ทุรนทุราย เมื่อท่านให้นัยยะสำคัญ พระองคุลีมาลมีปัญญานะ ท่านคิดออก พอได้คิดท่านก็คิดได้ อย่างพวกเรา พอพูดหยุดเกือบตายไม่ได้คิดเลย ก็เลยคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้นะ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ที่กลางความใส อย่างสบาย ๆ ใจ นึกอย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ต่างคนต่างทํากันไปเงียบๆ นะจ๊ะ 

 


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014708280563354 Mins