ทางเดินของใจ

วันที่ 17 เมย. พ.ศ.2567


ทางเดินของใจ
๔ กรกฎาคม ๒๕๓๖
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

170467b01.jpg


                ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ นะจ๊ะทุก ๆ คน ท่านั่งที่แนะไปเมื่อสักครู่นี้น่ะ เป็นท่านั่งมาตรฐานที่เราจะต้องศึกษาเอาไว้ เป็นแบบแผน โบราณที่สืบเนื่องกันต่อ ๆ กันมา เป็นท่านั่งที่ถูกต้องซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนีที่สิ้นไปน่ะ ท่านได้ถอดแบบท่านั่งนี้มาจาก ท่านั่งทำสมาธิของพระธรรมกาย ซึ่งอยู่ภายในท่าน และอยู่ภายในของมนุษย์ทุก ๆ คน เป็นท่านั่งที่ถูกต้อง เมื่อนั่งในท่านี้แล้วจะทำให้กายนี้ตั้งตรง และก็มีความมั่นคง เวลาใจเป็นสมาธิอยู่ในท่านี้ จะเป็นไปได้ยาวนานทีเดียวโดยไม่ค่อยปวดเมื่อย 

 


                เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย และก็เอามาซ้อนกันวางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ศึกษาไว้นะจ๊ะจำไว้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ เมื่อเวลาเราอยู่ที่บ้านเราจะนั่งขัดสมาธิชั้นเดียวก็ได้ นั่งพิงข้างขวาก็ได้ เอาอะไรมาพิงหลังสักหน่อย อาสนะก็ยกให้ก้นสูงกว่าข้างหน้านิดนึงเพื่อจะได้ไม่เมื่อย หรือจะนั่งห้อยเท้าอะไรก็แล้วแต่อยู่ในท่าที่นั่งแล้วสบาย สบายเป็นหัวใจนะจ๊ะ เป็นหลักแต่ก็ต้องศึกษาท่านั่งที่ถูกต้องนี้เอาไว้ ส่วนในแง่การปฏิบัติจริง ๆ จะนั่งอย่างสบาย ๆ อย่างไรก็ได้นะจ๊ะ ที่นี้เมื่อเรานั่งอย่างถูกต้องแล้ว หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบาย ๆ พอสบาย ให้สังเกตดูนะจ๊ะ ว่ากล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเรา จะผ่อนคลายหมดเลย 

 


                ถ้ามันสบายจริง ๆ น่ะ ตั้งแต่กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตา บริเวณหัวคิ้ว บริเวณหน้าผากทั่วทั้งศีรษะไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดเกร็งเลย มันผ่อนคลายหมด กล้ามเนื้อบริเวณลำคอของเรา ช่วงบ่าช่วงไหล่ แขนทั้ง ๒ มือทั้ง ๒ ถึงปลายนิ้วมือมันจะผ่อนคลายหมด กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้าจะผ่อนคลาย นี่ให้สังเกตดูสังเกตดูนะจ๊ะ เราจะเสียเวลาตรงนี้ซัก ๑ หรือ ๒ นาที เพื่อสังเกตตรวจตราดูทุกส่วนของร่างกายว่าเราผ่อนคลายจริงหรือเปล่า การเสียเวลา ๒ นาทีเพื่อการตรวจตราอย่างนี้นะจ๊ะ มีคุณค่าอย่างมหาศาลทีเดียว ทีเดียวนะจ๊ะอย่างนี้ อย่าดูเบานะ เพราะท่านั่งที่สบายนี้มีความสำคัญ กายเป็นที่พักของใจน่ะ เป็นทางเดินของใจด้วย เป็นที่รวมของทุกสิ่งเลย 

 


                ถ้ากายเราไม่สบายมันก็จะเกี่ยวโยงไปถึงใจ พลอยทำให้ใจไม่สบายไปด้วย เมื่อใจไม่สบาย เวลาเราจะทำสมาธิให้ใจหยุดใจนิ่งซึ่งต้องอาศัยใจ มันก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นอย่าดูเบานะ เสียเวลาตรงนี้นิดนึงสำรวจกันดูนะจ๊ะ เสียเวลากันตรงนี้นิดนึง สำรวจดูตรวจตราดูทั่วร่างกายมีส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเราเกร็งหรือเครียดมั้ย ถ้ามีก็ให้ผ่อนคลายให้หมดเลยนะจ๊ะ ทุกส่วนผ่อนคลาย สั่งร่างกายของเราเลยว่าต่อจากนี้ให้ผ่อนคลาย ร่างกายเป็นที่รองรับของจิตใจ ใจจะเป็นสมาธิได้ กายต้องผ่อนคลายสบาย ทำนะจ๊ะ ตรวจตราดูให้ดี เนี่ยเริ่มต้นขั้นอนุบาลอย่างนี้ แต่ขั้นอนุบาลนี้นะ ถ้าทำถูกวิธีแล้ว เดี๋ยวจบด็อกเตอร์ภายในเวลาไม่กี่นาที เพราะเป้าหมายของการจบด็อกเตอร์คือฝึกใจให้หยุดอยู่ภายใน ถ้าเริ่มต้นด้วยวิธีอนุบาลจบด้วยวิธีของดอกเตอร์เป็นดอกเตอร์ 

 


                เพราะฉะนั้นต้องเริ่มต้นให้ถูกวิธี ให้ผ่อนคลาย ยังไม่ต้องไปนึกว่าสมาธิเป็นอย่างไร ทำยังไงเราถึงจะได้เห็นแสงสว่าง เห็นควงเห็นองค์พระ อย่างที่เราได้ยินได้ฟังหลวงพ่อพูดหรือคนอื่นเค้าพูดน่ะ อย่าเพิ่งไปสนใจนะจ๊ะ เอาตรงนี้ก่อนให้ถูกต้อง เมื่อเราผ่อนคลายทุกส่วนแล้ว เราจะมีความรู้สึกท่านั่งเรามั่นคง มีความรู้สึกมั่นคงเอง แล้วเราก็มีความพึงพอใจที่จะทำร่างกายให้ผ่อนคลายอย่างนี้เนี่ยให้สบาย ๆ นิ่ง ๆ ดูเหมือนตอนนี้สมาธิจะเริ่มมาอย่างที่เราไม่ได้ตั้งใจ โดยที่เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยน่ะ แค่ปรับร่างกายให้ผ่อนคลายอย่างเดียว ดูเหมือนมันจะนิ่ง ๆ แล้วนะจ๊ะ สังเกตดูนิ่ง ๆ แล้ว นิ่งโดยไม่มีเจตนาจะทำให้ใจนิ่ง แค่เราปล่อยวางผ่อนคลายระบบประสาทกล้ามเนื้อแค่นั้น ดูเหมือนมันนิ่งและร่างกายของเราเริ่มจะกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรรยากาศ คล้าย ๆ กับเราอยู่กลางอวกาศโล่ง ๆ ที่ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ ไม่มีสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิต มันโล่ง ๆ ว่าง ๆ อยู่กลางอวกาศ ทำใจให้นิ่งอย่างนี้นะจ๊ะ ให้นิ่ง ๆ ให้สมมติตัวของเราเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความบริสุทธิ์ 

 


                ให้สมมติตัวของเรานะจ๊ะว่าให้เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความบริสุทธิ์ทั้งมวล บริสุทธิ์ทั้งกาย บริสุทธิ์ทั้งใจ ลอยเวิ้งว้างเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศโล่ง ๆ ที่ไม่มีอะไรกำบังเลย กายบริสุทธิ์จนกระทั่งมันใสคล้าย ๆ กับทำด้วยเพชรทั้งก้อน จะเป็นศีรษะก็ดี ลำคอก็ดี ใสเป็นเพชร ไปหมด บ่าไหล่ แขนทั้ง ๒ ถึงปลายนิ้วมือน่ะใสเป็นเพชรไปหมดเลย ร่างกายลำตัวเราก็ใสเป็นเพชร ขาทั้ง ๒ ถึงปลายนิ้วเท้าก็ใสบริสุทธิ์เป็นเพชรไปเลย บริสุทธิ์นี่เราสมมติเอาว่าร่างกายของเราทั้งก้อนนี้ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความบริสุทธิ์ทั้งมวล บริสุทธิ์จนกระทั่งมันใสเป็นเพชร เหมือนเอาเพชรทั้งก้อนมาแกะสลักเป็นรูปร่างตัวของเราซึ่งกำลังอยู่ในท่านั่งสมาธินะจ๊ะ เนี่ยน่ะใสบริสุทธิ์เลยน่ะ แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบานให้สบาย ให้แช่มชื่น 

 


                แผ่ความบริสุทธิ์ของเราเนี่ยออกจากตัวของเราไปทั่วทุกทิศทุกทาง แผ่ออกไปเป็นกระแส ประดุจแสงสว่างกระจายออกจากร่างกายของเรา ไปทั่วบริเวณทุกทิศทุกทาง กระจายออกไปเนี่ยรอบตัว ตั้งแต่คืบนึง ศอกนึง กว้างไปเป็นเมตร หลาย ๆ เมตร เรื่อยไปเลยจนกระทั่งไม่มีประมาณ สุดขอบฟ้าไปเลยน่ะ แล้วเราก็ยังทำใจสบายอยู่ในขณะที่แผ่ความสบายความบริสุทธิ์ไปทั่วทุกทิศทุกทาง ประหนึ่งว่าเราเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ประหนึ่งว่าตัวของเราเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง เมื่อเราแผ่กระแสแห่งความบริสุทธิ์ไปทั่วทุกทิศทุกทางก็พลอยทำให้บรรยากาศรอบข้างที่ขยายไปอย่างไม่มีขอบเขต ไม่มีที่สิ้นสุด พลอยบริสุทธิ์ไปด้วย 

 


                เมื่อบริสุทธิ์ดีแล้วเราก็ทำใจให้นิ่ง ๆ ทำใจให้หยุดให้นิ่ง นิ่งตรงไหนก็ได้ที่รู้สึกสบาย ที่เรามีความพึงพอใจ ให้ใจนิ่งๆ โดยยังไม่ต้องคิดอะไรนะจ๊ะ ใจนิ่ง ๆ ให้สบาย ๆ เราพึงพอใจที่จะเอาใจไปอยู่ตรงไหนสบายๆ แล้วก็นิ่ง ๆ ไว้ก่อน ให้นิ่ง ๆ ให้วางอารมณ์สบายเป็น ทำใจสบาย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่นึกถึงกฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น ลองดูนะจ๊ะ ลองให้นิ่ง ๆ อย่างสบาย ๆ น่ะ ให้ใจของเราเบิกบานแช่มชื่น สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ให้กายของเราเป็นแหล่งกำเนิดของความบริสุทธิ์ จนกระทั่งความบริสุทธิ์นั้นใสประดุจเพชร ทำให้ก้อนกายของเราเนี่ยประดุจเอาเพชรมาแกะสลัก ใสบริสุทธิ์

 


                เมื่อใจเรานิ่งดีแล้วเราก็ต่อจากนี้ไปนะจ๊ะให้ลูก ๆ ที่มาใหม่นึกถึงคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านสอนให้เราได้รู้จักทางเดินของใจซึ่งมีทั้งหมด ๗ ฐานที่ตั้ง นี่ต้องศึกษานะจ๊ะ หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านสอนอย่างนี้ ว่าฐานที่ ๑ จุดเริ่มต้นของทางเดินของใจน่ะอยู่ที่ปากช่องจมูก อย่าลืมนะจ๊ะตอนนี้ร่างกายเราทำด้วยเพชร ใสบริสุทธิ์ เมื่อเรามาเริ่มต้นฐานที่ ๑ ที่ปากช่องจมูกที่ใส ๆ เหมือนเพชรน่ะ ท่านหญิงจะอยู่ทางซ้ายปากช่องจมูกซ้าย ท่านชายจะอยู่ตรงปากช่องจมูกด้านขวา ทำความรู้สึกอย่างนี้ไปนะ ฐานที่ ๒ อยู่ที่ตรงเพลาตาตรงหัวตาที่น้ำตาไหลน่ะ ท่านหญิงก็อยู่ทางด้านซ้าย ท่านชายอยู่ทางด้านขวา นี่ฐานที่ ๒ นะจ๊ะ ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกศีรษะที่อยู่ในกลางศีรษะเลยนะ ระดับเดียวกับหัวตาของเรา ถ้าเราสมมติว่ากระโหลกศีรษะเราปราศจากมันสมอง กลวง ๆ โล่ง ๆ ว่าง ๆ จุดกึ่งกลางระดับเดียวกับหัวตาคือฐานที่ ๓ นึกตามไปเพลิน ๆ นะ ฐานที่ ๔ อยู่ตรงเพดานปาก ตรงช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่กลางท้อง ระดับเดียวกับสะดือของเรา สมมติเราขึงเส้นเชือกเส้นด้าย จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ นี้นะจ๊ะ เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกันแล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มี ๗ ฐานตรงนี้นะจ๊ะ 

 


                ฐานที่ตั้งของใจเนี่ยที่สำคัญที่สุดคือฐานที่ ๗ ที่เรายกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือจากฐานที่ ๖ ทีนี้เราทบทวนใหม่นะ จากฐานที่ ๗ นี่ไปฐานที่ ๖ ตรงเส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันน่ะเป็นกากบาท ฐานที่ ๕ ถอยหลังขึ้นมาอยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปากช่องปากอาหารสำลัก ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกศีรษะ นี่ทำความรู้สึกไว้นะ แล้วให้รู้จักไว้ ฐานที่ ๒ อยู่ที่หัวตา หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้ายท่านชายข้างขวา ลองทำทบทวนดูนะ ตั้งแต่ฐานที่ ๑ ไปที่ฐานที่ ๒ หัวตา ฐานที่ ๓ กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๔ เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก ฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ กลางท้องเลย ระดับเดียวกับสะดือ ฐานที่ ๗ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ทวนจากฐานที่ ๗ ไปฐานที่ ๖ ฐานที่ ๖ มาฐานที่ ๕ ฐานที่ ๕ มาฐานที่ ๔ ฐานที่ ๔ มาฐานที่ ๓ ฐานที่ ๓ มาฐานที่ ๒ ฐานที่ ๒ มาฐานที่ ๑ นี่รู้จัก ๗ ฐานเอาไว้นะจ๊ะ ทีนี้เจ็ดฐานนี้น่ะถ้าเราแค่ทำความรู้สึกอย่างเดียว รู้จักอย่างเดียวเนี่ย บางทีมันไม่ค่อยชัดเจน ถ้าจะให้ชัดเจนกว่านี้นะจ๊ะ 

 


                เราลองสมมติเอานะว่ามีดวงแก้วใส ๆ ใสเหมือนกับเพชรเลยนะ ที่ใสเหมือนกับเพชร จินตนาการเอานะ สร้างมโนภาพเลยนะ ใส ๆ ลอยมาจกที่ไกล ๆ ก็ได้ อาจจะใสเหมือนน้ำที่กลิ้งบนใบบัว ลอยมาจากกลางใบบัวก็ได้ หรือความใสของหยาดน้ำค้างปลายยอดหญ้า หรือเป็นดวงใส ๆ ลอยลงมาจากที่ไกล ๆ น่ะ ดวงกลมรอบตัวเลย ใสบริสุทธิ์ จะขนาดดวงดาวก็ได้นะจ๊ะ ดวงใดดวงหนึ่งไกล ๆ เป็นดวงใส ๆ กลม ๆ น่ะ นึกธรรมดาน่ะ อย่างสบาย ๆ น่ะ ให้ลอยมาเลยนะจ๊ะ ลอยมาจากจุดที่เรานึกแล้วสบายที่สุดน่ะ จากตรงไหนก็ได้ ลอยมา กะขนาดให้มันลอดปากช่องจมูกได้นะ ค่อย ๆ นึกนะจ๊ะ ลองทำไปช้า ๆ นึกไปช้า ๆ เป็นดวงใส ๆ ลอยมาเลย มาหยุดอยู่ที่ปากช่องจมูก เอาขนาดลอดปากช่องจมูกได้นะ ท่านหญิงก็มาอยู่ข้างซ้าย ท่านชายก็มาอยู่ข้างขวา ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๑ ที่นี่เราเลื่อนขึ้นไปเลยไปฐานที่ ๒ ที่หัวตา ท่านหญิงก็ยังข้างซ้าย ท่านชายก็ข้างขวา เลื่อนมาฐานที่ ๓ ที่กลางกั๊กศีรษะ เลื่อนมาเลย ตอนนี้เรานึกเป็นดวงเลื่อนมาอย่างสบาย ๆ ชัดเจนแค่ไหนไม่สำคัญ เลื่อนมาฐานที่ ๔ ที่เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก เลื่อนมาฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก เลื่อนลงไปในกลางท้อง เป็นดวงใส ๆ ไปหยุดในกลางท้องระดับเดียวกับสะดือของเราน่ะเป็นฐานที่ ๖ เลื่อนถอยหลังมา ๒ นิ้วมือที่ฐานที่ ๗ เห็นมั้ยจ๊ะ เราจะเริ่มรู้สึกว่าง่ายขึ้นนะ 

 


                เริ่มง่ายขึ้นน่ะมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ เอาถอยหลังไปใหม่ ไปเลื่อนดวงไปฐานที่ ๖ ดวงใสบริสุทธิ์เลื่อนมาอยู่ที่ฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก เป็นดวงใส เลื่อนมาฐานที่ ๔ ที่เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก ฐานที่ ๓ ที่กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๒ ที่หัวตาของเรา ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก เห็นมั้ยจ๊ะ ง่ายขึ้นมั้ยจ๊ะ ตอนนี้จะง่ายขึ้น ตอนนี้เราก็ทำใจสบาย ๆ ทำใจสบาย ๆ ใจของเราให้เบิกบานอยู่ที่ปากช่องจมูกนะ ฐานที่ ๑ คราวนี้เลื่อนช้า ๆ อย่าเลื่อนเร็วนะโดยกะคะเนว่า ช้าขนาดที่เราภาวนาคำว่าสัมมาอะระหัง ๓ ครั้งนะ  คราวนี้เราก็ทำใจสบาย ๆ ทำใจสบาย ๆ ใจของเราให้เบิกบานอยู่ที่ปากช่องจมูกนะ ฐานที่ ๑ คราวนี้เลื่อนช้า ๆ อย่าเลื่อนเร็วนะโดยกะคะเนว่า ช้าขนาดที่เราภาวนาคำว่าสัมมาอะระหัง ๓ ครั้งนะ

 


                นึกตามหลวงพ่อไปนะจ๊ะ เลื่อนไปช้า ๆ นะไม่ต้องเร็ว ของเราไม่ต้องทำเร็ว เราไปช้า ๆ แต่แน่นอนถูกต้อง นี่เราเลื่อนช้า ๆ นะจ๊ะ เลื่อนไปพร้อมกับภาวนา ตะกี๊นี้เราเลื่อนเร็ว คราวนี้เลื่อนช้า กะระยะ ๓ ครั้งของการภาวนา สัมมาอะระหัง ภาวนาในใจนะ ลองหัดภาวนาแล้วก็นึกดวงไปด้วยน่ะ ดูซิว่าเราจะทำได้มั้ย อย่างใจสบาย ๆ สัมมาอะระหัง ๒ แล้วจ๊ะ สัมมาอะระหัง ๓ เลื่อนเลย มาอยู่ที่หัวตา หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา ภาวนาในใจอย่างสบาย ๆ ลองหัดภาวนาให้สบาย ๆ สิจ๊ะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๓ ครั้งแล้วนะ เลื่อนมาที่กลางกั๊กศีรษะใหม่ ช้า ๆ ช้า ๆ นะจ๊ะ อย่างสบาย ๆ ดวงไปอยู่ในกลางกั๊กศีรษะแล้ว ให้อยู่ระยะเวลานานเท่ากับ ๓ คำภาวนา

 


                สัมมาอะระหัง ๆ ๆ   ๓ ครั้งแล้วนะจ๊ะเลื่อนมาที่ฐานที่ ๔ เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก อยู่นานชั่วระยะ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๓ ครั้งแล้วนะจ๊ะ ไม่ต้องรีบเร่งรีบร้อนนะ เลื่อนมาที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก เนี่ยดวงใสบริสุทธิ์เลยอยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ทำให้ใจอยู่ตรงนั้นนะ เอ้า ภาวนา ๓ ครั้ง สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบ ๓ ครั้งแล้วก็เลื่อนต่อไปในกลางท้องไปอยู่ตรงฐานที่ ๖ อยู่ตรงฐานที่ ๖ นะ ใจยังสบายเหมือนเดิม ให้นิ่งอย่างสบาย ๆ อยู่ตรงฐานที่ ๖ นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบ ๓ ครั้งเลื่อนถอยหลังมาที่ฐานที่ ๗ เหนือจากฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราจำกันได้ทุกคนนะจ๊ะที่มาใหม่ ใจนิ่ง ๆ ตรงนี้นะ หยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ ให้อยู่นานเท่ากับ ๓ คำภาวนาเหมือนเดิม สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบแล้วใช่มั้ยจ๊ะ ๓ ครั้ง 

 


                คราวนี้เราเลื่อนถอยกลับไปฐานที่ ๖ ใหม่เลื่อนลงไปใหม่นะจ๊ะอย่างสบาย ๆ ไม่เร่งร้อนไม่เร่งรีบ ให้ใจสบายอย่างเดียว ไปฐานที่ ๖ อยู่ตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ จากสะดือทะลุหลังขวาทะลุซ้าย อยู่นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๆ ครบ ๓ ครั้งแล้ว เลื่อนมาที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือกซึ่งเป็นฐานที่ ๕ นิ่ง ๆ ไว้นะ อย่างสบาย ๆ นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบ ๓ ครั้งก็เลื่อนมาที่ฐานที่ ๔ เพดานปากอาหารสำลักนะจ๊ะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบ ๓ ครั้งก็เลื่อนไปที่ฐานที่ ๓ กลางกั๊กศีรษะ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๆ เลื่อนไปที่หัวตา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เลื่อนมาที่ปากช่องจมูก สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบ ๓ ครั้ง เห็นมั้ยจ๊ะว่ามันไม่ยากเลย ง่าย คราวนี้นะจ๊ะ เราก็ฝึกเอาใจตรึกนึกถึงดวงใส คืออย่าให้คาดจากดวงใสนะจ๊ะ แล้วก็หยุดไปที่ตรงจุดกึ่งกลางของความใส ทำไปช้า ๆ นะ 

 


                คราวนี้ขั้นนี้เราฝึกเอาใจตรึกนึกถึงดวงใส แล้วก็หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสฝึกไว้นะ อย่างสบาย ๆ ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์อย่างสบาย ๆ นะจ๊ะ ดวงใสที่กลมรอบตัวโตขนาดรอดปากช่องจมูกได้นะ ตรึกนึกถึงดวงใส นี่เราฝึกมาถึงขั้นนี้แล้วนะจ๊ะ หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบ ๓ ครั้ง เลื่อนไปที่หัวตาฐานที่ ๒ นะจ๊ะ เอาใจตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เลื่อนมาฐานที่ ๓ กลางกั๊กศีรษะ เอาใจตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เลื่อนมาที่เพดานปากฐานที่ ๔ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เลื่อนมาที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์  

 


                สัมมาอะระหัง ๆ ๆครบ ๓ ครั้งแล้วก็เลื่อนไปในกลางท้องตรงฐานที่ ๖ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ นานเท่ากับ ๓ คำภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ครบ ๓ ครั้งแล้วเลื่อนมาที่ฐานที่ ๗ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราจำกันได้นะจ๊ะ ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๗ ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ อย่างสบาย ๆ ตรึกตรงนี้นะ ต่อจากนี้ไปเนี่ย เราจะภาวนาสัมมาอะระหังตรงนี้เนี่ยไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจจะหยุดใจจะนิ่ง โดยให้เสียงคำภาวนา ดังออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลางดวงแก้วใส ๆ ที่เราสมมติเข้าไปนะจ๊ะ ให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากตรงนี้นะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ตรึกนึกถึงดวงใสไปเรื่อย ๆ นะ นึกถึงภาพดวงใสบริสุทธิ์ที่ใสเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว อยู่ตรงนี้นะ โตเท่ากับแก้วตาของเราน่ะ ที่รอดช่องจมูกได้อยู่ตรงนี้นะ ให้เสียงคำภาวนาดังมาเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ อย่างต่อเนื่องกัน 

 


                ตรงนี้สำคัญนะจ๊ะตรงฐานที่ ๗ เป็นที่เสด็จไปสู่อายตนนิพพาน ของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ทั้งหลาย แต่เดิมท่านก็เป็นปุถุชนอย่างนี้แหละ เหมือนอย่างพวกเราอย่างนี้เนี่ย ชีวิตท่านก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน และท่านก็มีความเบื่อหน่าย ในความทุกข์อยากจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ท่านจึงกล้าหาญที่จะหันกลับมามองดูตัวเอง จนกระทั่งยอมรับว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจแจ่มแจ้งว่าชีวิตเป็นทุกข์จริง ๆ จนกระทั่งเบื่อหน่ายอยากจะออกจากทุกข์ ท่านก็มองดูอะไรที่เป็นสาเหตุของความทุกข์ ก็พบว่าความทะยานอยากนั่นเอง อยากได้ อยากมีอยากเป็นอะไรต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นต้น 

 


                อยากไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดน่ะ เป็นความอยากที่ประกอบไปด้วยความเพลินน่ะ นันทิราคะ สหคตา เป็นความอยากที่เพลิน ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ ทำให้ใจกระสับกระส่ายทุรนทุราย แสวงหาเรื่อย ใจไม่นิ่งเลย วิ่งไปเรื่อย ในที่สุดท่านก็พบว่าต้องหยุดความอยากซะก่อน คือหยุดใจซะก่อน ต้องเอาใจที่มันวิ่งไปวิ่งมา มาหยุดให้สนิท และท่านก็ค้นพบว่าที่หยุดของใจน่ะมีอยู่ที่เดียวน่ะ ตรงที่ลูก ๆ ชายหญิงกำลังทำอยู่อย่างนี้นะจ๊ะ คือตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เรากำลังตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสตรงนี้นะ ท่านก็หยุดใจ เอาใจน่ะมาหยุดมานิ่ง ภาวนาไปเรื่อย ๆ พอถูกส่วนเข้า ใจหยุดกึกคล้าย ๆ กับรถที่วิ่งมาเร็ว ๆ เบรคทั้งเหยียบเบรคเท้า ดึงเบรคมือ เอียด รถหยุดสนิทเลย ใจที่วิ่งวุ่นไปตามกระแสแรงผลักดันของความทะยานอยากก็หยุดลึกลงไป 

 


                หยุดสนิทเลยที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถูกส่วนเห็นมรรคเกิดเลย เห็นมรรคเกิดเป็นดวงใส ๆ นี่เป็นทางเสด็จไปของพระพุทธเจ้า คล้าย ๆ กับหนทางของเมืองมนุษย์น่ะ ถ้าไปเรือก็ต้องไปทางน้ำ น้ำนั้นก็เป็นมรรคของเรือ จะไปทางบกก็ไปบนถนน ถนนนั้นก็เป็นมรรคของรถ ถ้าจะไปทางอากาศทางเครื่องบิน อากาศก็เป็นมรรคของเครื่องบิน ถ้าจะไปทางนิพพานหลุดพ้นจากความทุกข์ มรรคนั้นจะเป็นดวงกลมรอบตัวเลย ใสบริสุทธิ์เกิดขึ้นที่กลางกายนี่เป็นทางไปนะจ๊ะ เป็นหนทางเลย เนี่ย เค้าเรียกว่ามรรคน่ะ อริยมรรคก็ทางของพระอริยเจ้า ทางของพระอริยเจ้า ต่างจากทางบกทางน้ำทางอากาศ ต่างกันเลยเนี่ย 

 


                ทางของท่านไม่ได้ทำไปยาว ๆ แบน ๆ อย่างนั้นน่ะ ทางของท่านมันกลมเป็นท่อธาร ใสกลมอยู่ในกลางกายนี้นะจ๊ะ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ เป็นทางเสด็จไปเลย เสด็จอย่างไร ท่านก็เอาใจหยุดอย่างนี้แหละ หยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงธรรมนั่นน่ะ เหมือนเราขับรถไป เหมือนนั่งเรือไป เหมือนนั่งเครื่องไป แต่ท่านใช้ใจไปน่ะ ใจหยุดนิ่ง ใจเป็นประดุจสารถีเลย หยุดนิ่งตรงกลางดวงสว่าง พอถูกส่วนเข้าดวงนั้นขยายออกกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเห็นดวงธรรมซ้อน ๆ ๆ ๆ กัน เห็นกายต่าง ๆ ซ่อน ๆ ๆ ๆ กันอยู่อย่างนั้นน่ะ เห็นเข้าไปเรื่อย ๆ เลย ตามเห็นดวงธรรม ตามเห็นกาย ตามเห็นเวทนา ตามเห็นจิตในจิตเข้าไปเรื่อย ๆ เข้าไปอย่างนั้นน่ะในกลางกาย ปล่อยใจเข้าไปตามเข้าไปอย่างสบาย ๆ เห็นไปเรื่อย เห็นแจ้งถึงไหนก็รู้แจ้งถึงนั่น เช่นเห็นกายมนุษย์ละเอียดเป็นกายซ้อนกันอยู่ข้างใน ท่านก็รู้แจ้งว่านี่เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด เป็นกายที่ ๒ เห็นชัดเจนเลยเนี่ย เป็นกายที่ ๒ เห็นในกลางนั้นลงไปอีก พอเข้าถึงกายทิพย์ก็เห็นกายทิพย์เป็นชั้น ๆ เข้าไปอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                ทีนี้เราทำใจให้หยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สัก ๕ นาทีนะจ๊ะ อย่าลืมนะจ๊ะ ให้ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปจุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ โดยให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงใสนะจ๊ะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ นะ ภาวนาไปเรื่อย ๆ ถ้าเมื่อยก็ขยับตัว ถ้าง่วงเราก็ปล่อยมันไป ถ้าฟุ้งก็ลืมตาแล้วก็ว่ากันใหม่ เริ่มต้นใหม่อย่างสบาย ๆ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ ทุก ๆ คนนะจ๊ะ ภาวนาไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ คราวนี้เอาใจของเราหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้นะจ๊ะ หยุดเข้าไปเรื่อย ๆ ใครเข้าถึงธรรม สภาวธรรมไหนก็เอาใจหยุดตรงนั้นนะ แต่ก็อยู่ตรงที่เดียวตรงกลางกายน่ะ 

 


                ถ้าเข้าถึงปฐมมรรคดวงใส ๆ ก็เอาใจหยุดที่กลางดวงใส ถ้าเข้าถึงกายในกายน่ะ กายมนุษย์ละเอียดก็เอาใจหยุดกลางกายมนุษย์ละเอียด ถึงกายทิพย์ก็เอาใจหยุดที่กลางกายทิพย์ ถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดอยู่ที่กลางกายรูปพรหม ถึงกายอรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายอรูปพรหม ถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดที่กลางกายธรรม หยุดในหยุด ๆ หยุดอย่างเบา ๆ สบาย ๆ หยุดอย่างเบาสบาย หยุดให้ดีนะจ๊ะ หยุดนี้สำคัญนะ หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดที่สำคัญ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านกล่าวเอาไว้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ คือเป็นตัวที่สำเร็จเลยน่ะ ถ้าไม่หยุดก็ไม่สำเร็จ หยุดเป็นตัวสำเร็จ เป็นตัวเลย เป็นทั้งเนื้อทั้งตัวของความสำเร็จทั้งหมดเลย เป็นเนื้อเป็นหนังเลย ความสำเร็จเลย หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดนิ่ง พอหยุดก็เห็นธรรมไปตามลำดับอย่างนั้นนะ

 


                ขอพระธรรมกายทุก ๆ พระองค์นะให้ทรงดลบันดาลเอาบุญกุศลที่เกิดขึ้นเนี่ย ให้ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของทุก ๆ คน ให้ทุกคนมีความสุขกายสุขใจ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งมวล ให้มีดวงปัญญาสว่างโพลง แทงตลอดทั้งทางโลกทางธรรม ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการขัดแข้งกันเลย ให้เป็นครอบครัวธรรมกาย อยู่เย็นเป็นสุขกันหมดทั้งครอบครัวทั้งบ้าน ให้ประสบความสำเร็จในชีวิตในธุรกิจการงาน ถ้าหากรับราชการก็ให้ไปให้สูงที่สุด ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านสนับสนุน ถ้าทำธุรกิจการงานก็ให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม ๆ ถ้าเป็นนักศึกษาก็ให้มีปัญญาสว่างโพลง แทงตลอดในความรู้ของครูบาอาจารย์ จะเดินทางไปไหนก็ให้ปลอดภัย ให้บุญรักษาให้มีวาจาที่มีพลังเป็นที่น่าเชื่อถือเชื่อฟังของทุก ๆ คน ให้เป็นนักสร้างบารมีที่ดี เป็นนักสร้างบารมีที่เป็นนักสู้ ไม่กลัวอุปสรรคทั้งมวล เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าสมัยที่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่ ที่ท่านอุทิศตนสร้างบารมีไปตลอดชีวิต โดยไม่นึกคิดถึงอุปสรรคใด ๆ ทั้งมวล ที่นี้พวกเราทุกคนที่เป็นเจ้าของบุญก็เอาใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ต่างคนต่างอธิษฐานจิตตามใจชอบกันนะจ๊ะ

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031946317354838 Mins