อิทธิบาท ๔

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2567

200467b.01.jpg
อิทธิบาท ๔
๓ ตุลาคม ๒๕๓๖
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน ให้นึกน้อมใจตามเสียงของหลวงพ่อไปทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยนะจ๊ะ ต้องขยับเนื้อขยับตัวให้ดีนะ ปรับร่างกายของเราให้สบาย ท่านั่งที่เรานั่งในท่านี้ เป็นท่าของพระพุทธเจ้าในวันที่ท่านตรัสรู้ธรรมเรื่อยมาเลย ท่านก็ใช้ท่านี้ ถอดออกมาจากพระธรรมกายในตัว จะเป็นท่าที่เราตั้งมั่นที่สุด สมาธิจะดำดิ่งเข้าไปสู่ข้างในได้

 


                เพราะฉะนั้นท่านที่มาใหม่ต้องศึกษาให้เข้าใจนะจ๊ะเกี่ยวกับเรื่องท่านั่งขัดสมาธิในท่าเนี้ยะ แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ เวลาเราอยู่ที่บ้าน เราสามารถดัดแปลง นั่งในท่าที่เรามีความรู้สึกสบาย จะนั่งในท่าไหนก็ได้ให้มันสบายก็แล้วกัน จะพิงข้างฝาก็ได้ เอาอาสนะหนุนก้นให้สูงกว่าด้านหน้านิดนึงจะได้ไม่เมื่อย แต่ว่าท่ามาตรฐานนี้ต้องศึกษาเอาไว้ เพราะต่อไปเราจะต้องใช้ท่านี้ ขัดสมาธิขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายน่ะ วางไว้บนหน้าตักพอสบายนะจ๊ะ ให้พอสบาย ๆ นะ หลับตาเบา ๆ หลับพอสบาย หลวงพ่อจะย้ำคำว่าสบายเนี่ยบ่อย ๆ เพราะความสบายมีความสำคัญมากที่จะช่วยให้การปฏิบัติธรรมของเรานี่บรรลุผลได้อย่างรวดเร็วและเป็นทางลัดที่สุดเลย

 


                เพราะฉะนั้นอย่าดูเบานะจ๊ะ อย่าดูเบาคำว่าสบาย ๆ คำนี้มีความอย่างสำคัญที่สุดจริง ๆ แม้แต่ท่านที่มาปฏิบัตินานแล้วก็ตาม ถ้าทิ้งคำนี้ไปเมื่อไหร่ เราก็จะเสียเวลาในการปฏิบัติ ซึ่งทำแล้วมันก็ได้ผลไม่เต็มที่ไม่สมบูรณ์ จะพลอยทำให้เราเบื่อหน่ายท้อแท้ น้อยอกน้อยใจในโชคชะตาอะไรของตัวเองอย่างนั้น เพราะว่าเราดูเบาคำว่าสบายนั่นเอง นี่สำหรับท่านที่ปฏิบัติมานานแล้วยังได้ผลไม่สมบูรณ์ไม่เต็มที่ เพราะดูเบาคำว่าสบาย ที่หลวงพ่อเน้นคำว่าสบายเนี่ย ทำไมต้องเน้นอย่างนี้น่ะ เพราะว่าสบายแล้วนี่จะทำให้ใจเราหยุดได้เร็ว การปฏิบัติธรรมฝึกใจของเรานี้ มีวัตถุประสงค์ให้ใจเราหยุดนิ่ง เพราะหยุดนิ่งนี่เป็นตัวสำเร็จ ให้ได้เข้าถึงดวงธรรมภายใน ใจจะหยุดนิ่งได้ต้องสบายเท่านั้นนะจ๊ะ ถ้าไม่สบายแล้ว ใจจะไม่หยุดนิ่งอย่างเด็ดขาดทีเดียวน่ะ ต้องใช้ว่าอย่างเด็ดขาดทีเดียว ดังนั้นต้องสบาย ๆ นะจ๊ะ 

 


                สบาย ๆ ลองทำดูให้สบาย ๆ ปรับให้ดีนะจ๊ะปรับร่างกายให้ดี และก็ปรับใจของเราให้เบิกบานน่ะ ให้แช่มชื่น ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่นให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ปล่อยวางภารกิจทั้งหลายไม่ว่าเรื่องอะไรต่าง ๆ น่ะให้หมดสิ้นจากใจไปเลยนะจ๊ะ จะเป็นเรื่องธุรกิจการงาน เรื่องครอบครัว การศึกษาเล่าเรียนหรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ที่คั่งค้างอยู่ในใจน่ะ เราจะต้องทำเป็นลืมชั่วคราว เหมือนเราไม่เคยเจอสิ่งเหล่านี้มาก่อนนะจ๊ะ ใจจะได้ปลอดโปร่งโล่งเบาสบายน่ะ ตอนนี้เราเสียเวลาปรับกายและใจให้สบายซักหน่อยนะจ๊ะ เสียเวลาตรงนี้ หนึ่งหรือสองนาทีซักนิดนึงเนี่ย เดี๋ยว เราจะเห็นอานิสงส์มันจะมีประโยชน์อย่างมากทีเดียว ให้สบายนะจ๊ะ 

 


                ทั้งกายทั้งร่างกายและจิตใจเนี่ย สังเกตดูมีส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเราเกร็งตึงหรือเครียดไม้ ให้สังเกตให้ดีโดยเฉพาะบริเวณลูกนัยน์ตาน่ะ เปลือกตาหัวคิ้วนี่ บริเวณนี้มักจะตึงง่าย มักจะตึงง่ายทีเดียว เพราะเวลาเราปฏิบัติธรรมกันไปจริง ๆ แล้วเรามักจะอยากเห็นภาพภายในตัวเนี่ยมากเกินไป ไอ้อยากเห็นน่ะไม่มีปัญหา แต่เวลาเราจะทำให้เห็นเนี่ยน่ะเราติดนิสัยของกายมนุษย์ คือตามนุษย์จะเห็นอะไรเนี่ย โดยธรรมชาติของมนุษย์จะต้องเห็นด้วยการลืมตาดูวัตถุภายนอก เห็นไปข้างหน้า อยากดูซ้ายก็เหลือบซ้ายเหลียวซ้าย อยากดูขวาก็เหลียวไปทางขวา อยากดูล่างก็เหลือบไปลงล่าง อยากดูข้างบนก็เหลือบขึ้นข้างบน นี่เราติดนิสัยกันอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                ทีนี้ในเวลาในแง่ของการปฏิบัติน่ะ ซึ่งต่อไปเราจะสอนให้เอาใจไว้ในกลางตัวเนี่ยะ เรามักติดนิสัยเหลือบตาลงเข้าไปดูในท้องน่ะ เหลือบลงไป ลงมันทำให้บริเวณกล้ามเนื้อบริเวณนี้มันตึง แล้วมันไม่ได้ผลเพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ลูกนัยน์ตาจะมองไปเห็นอะไรที่อยู่ในท้องได้ แต่เราก็ห้ามไม่ได้เพราะเราติดนิสัย เพราะฉะนั้นในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ เนี่ยเราต้องลืม ทำเป็นลืมธรรมชาติของมนุษย์ ทำเป็นลืมชั่วคราวนะ ทำเป็นลืมธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเห็นอะไรต้องเห็นด้วยลูกนัยน์ตาน่ะ ลืมไปชั่วคราว อาจจะสมมติว่าตัวของเรานี้ไม่มีเนี่ย ร่างกายไม่มี ตัวตนไม่มี ลืมไปชั่วคราว ถ้าลืมยังไม่ได้น่ะ กล้ามเนื้อบริเวณเปลือกตา ลูกนัยน์ตา ต้องทำความรู้สึกให้มันคลี่คลาย คลี่ให้หมดเลยนะจ๊ะ คลี่เปลือกตาหน้าผาก ศีรษะลำคอ บ่า ไหล่ทั้ง ๒ แขนถึงปลายนิ้วมือเนี่ย 

 


                ให้ผ่อนคลายให้หมด ลำตัวของเรา กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้ง ๒ ถึงปลายนิ้วเท้า ต้องผ่อนคลายสบายสบายน่ะ ทำตัวให้มันสบาย ๆ นะจ๊ะ ของใครของมันนะ ถ้าใครยังไม่สบายเราก็ต้องปรับซะ เสียเวลาหน่อยนะตรงนี้เนี่ยนิดนึง มันมีความจำเป็นต้องปรับ ปรับให้ดีนะ แล้วลืมว่าเราเป็นมนุษย์ไปชั่วคราว มนุษย์จะต้องใช้ลูกนัยน์ตาดูนะ เพราะดวงธรรมภายในหรือการเห็นภายในตัวน่ะ หรืออะไรทุกอย่างที่อยู่ในกลางกายซึ่งเป็นของละเอียดนี่น่ะ มันจะแตกต่างจากการเห็นภายนอก กลับตาลปัดกันทีเดียว มันสวนทางกันทีเดียว ต้องทำความเข้าใจก่อน เราจะเห็นนิมิตภายในตัวหรือดวงธรรมภายในต่อไปเนี่ย มันเป็นการเห็นด้วยใจ ใจถึงจะเห็นได้ ไม่ใช่เห็นด้วยลูกนัยน์ตาเพราะฉะนั้นใจจะต้องหยุดนิ่ง หยุดสนิทนิ่งมันถึงจะเห็น นี่ต้องหยุดสนิทเลยถึงจะเห็นได้ชัด 

 


                ดังนั้นตอนนี้เราลืมไปนะ ลืมไปว่าเรามีร่างกาย ทำตัวให้สบาย ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่นแล้วเราก็ขยายความสบายจากตัวของเราเนี่ย ความสบายไปทุกทิศทุกทางเลย ขยายความสบายจากตัวของเราไปโดยรอบ ถ้าอยู่ที่วัดพระธรรมกายนี่ก็ขยายให้เต็มสภาธรรมกาย ถ้าลูก ๆ ที่อยู่ต่างประเทศก็ขยายไปให้เต็มห้องขยายให้เต็มห้องเลย ห้องที่เรากำลังปฏิบัติธรรมในตอนเนี้ยะ แล้วขยายออกไปให้เต็มวัดพระธรรมกายเนี่ยสำหรับท่านที่อยู่ที่นี่ ขยายให้เต็มวัดพระธรรมกาย ขยายความสบายไปนะ สร้างความรู้สึกสร้างจินตนาการนึกคิดขยายความสบายออกไปให้เต็มวัดเลย ถ้าต่างประเทศก็ขยายให้เต็มให้กว้างกว่านั้นออกไปอีก เต็มหมู่บ้านขยายต่อไปเต็มตำบล ขยายความสบายให้เต็มอำเภอนะ เต็มจังหวัด เต็มประเทศเลย ขยายให้เต็มประเทศ เต็มประเทศตามแผนที่ประเทศอย่างนั้นนะจ๊ะ เต็มเลย แล้วก็ขยายไปยังนานาชาติ ครอบคลุมโลกทั้งหมด 

 


                ขยายความสบายให้ครอบคลุมโลก ขยายต่อไปอีกจนกระทั่งสุดขอบฟ้าเลย และเลยไปกระทั่งไม่มีขอบเขต ให้กระแสแห่งความสบายห่อหุ้มเราเป็นชั้น ๆ ตามที่ขยายไปอย่างนี้ ให้สบาย ๆ นะ ทำใจให้สบาย ๆ ให้เบิกบานขยายไปให้ทั่วถึง และทำใจนิ่ง ๆ นะจ๊ะ นิ่ง ๆ ให้สบาย ๆ สังเกตดูว่าได้อารมณ์สบายจริงไม๊ ถ้ายังไม่ได้ก็ให้ปรับนะจ๊ะ อย่าฝืนดันทุรังฝึกใจในขณะที่ยังไม่สบายเดี๋ยวจะไม่ได้ผล ปรับให้ดีนะ ที่นี้ใจเรานิ่งอยู่ที่ตรงไหนให้นิ่งอยู่ตรงนั้นก่อนนะจ๊ะ ให้นิ่งอยู่ตรงที่ใจเราสบายน่ะ เรามีความพึงพอใจที่จะให้ใจเราหยุดเรานิ่งอยู่ตรงไหนก็ให้นิ่งอยู่ตรงนั้นก่อน โดยยังไม่ต้องนึกคิดอะไรทั้งสิ้นน่ะ ให้นิ่ง ๆ ใจว่าง ๆ นิ่ง ๆ สบาย ๆ นี้ ณ จุดใดจุดหนึ่งก่อน ที่เราพึงพอใจนะจ๊ะ ให้นิ่ง ๆ เอาไว้เนี่ย ณ จุดใดจุดหนึ่งที่เราพึงพอใจ โดยอย่าเพิ่งกังวลเกี่ยวกับเรื่องศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่สำหรับท่านที่มาเก่านะ อย่าเพิ่งไปกังวลกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มากเกินไป เราเอาใจไว้ตรงจุดที่เราสบายตรงนั้นเอาไว้ก่อน เอาไว้ก่อนนะจ๊ะ  

 


                ให้สบาย ๆ ตรงนั้นก่อน เอาไว้ตรงนั้นนะ ให้ศึกษาให้รู้จักทางเดินของใจสำหรับลูก ๆ ที่มาใหม่นะจ๊ะ ทางเดินของใจนี่มันมีทั้งหมด ๗ ฐานที่ตั้ง ตอนนี้จำตรงนี้ให้ได้ซะก่อน ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่หัวตาตรงน้ำตาไหลเนี่ย ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวาฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้อง ระดับเดียวกับสะดือของเราเลย สมมติเราเอาเส้นด้าย ๒ เส้นขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้าย ๒ เส้นตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าฐานที่ ๗ 

 


                นี่ที่มาใหม่นะจ๊ะ ลูก ๆ ที่มาใหม่จำตรงนี้เอาไว้ให้ดี จำฐานอะไรไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่จำฐานที่ ๗ เอาไว้ว่าอยู่ที่กลางกายของเรา เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะจ๊ะ กลางท้องพอดีเลย เป็นที่สุดของลมหายใจเข้า เราหายใจเข้าแล้วมันจะไปสุดอยู่ที่ตรงนี้แหละ ตรงฐานที่ ๗ จำฐานไหนไม่ได้ก็ไม่เป็นไรแต่ต้องจำฐานที่ ๗ ตรงนี้เอาไว้นะจ๊ะ นี่คือที่หมายของเราที่เราจะเอาใจของเรามาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้ตรงฐานที่ ๗ หยุดตรงนี้ไปก่อนโดยไม่ต้องกังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไป ให้นิ่งอยู่ตรงนั้นน่ะ เพราะต่อไปเมื่อใจเรานิ่งใจเราสบายดีแล้ว ในที่สุดใจก็จะปรับเข้ามาสู่ภายใน แล้วก็จะมาตั้งมั่นอยู่ที่ฐานที่ ๗ ด้วยตัวของมันเองในภายหลัง ที่ให้ทำอย่างนี้ เพื่อจะได้อารมณ์สบายและแก้นิสัยที่เรากดลูกนัยน์ตาลงไปมองฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นตอนนี้นี่เราปรับใหม่นะจ๊ะ 

 


                ปรับหาจุดที่สบายก่อน ไม่ผิดวิธีนะจ๊ะ ให้สบาย ๆ เริ่มต้นตรงไหนก็ได้ที่สบายแต่ตอนท้ายจะลงไปหยุดที่ฐานที่ ๗ นี่ฐานที่ ๗ คือที่ตั้งของใจแต่เริ่มต้นตรงไหนก็ได้ที่สบายนะจ๊ะ เอ้าตอนนี้ปรับกันให้ดีเลย ปรับให้สบาย ๆ เนี่ยวันนี้ช้าหน่อยไม่เป็นไร ทำใจหยุดใจนิ่ง ใจใส ให้สบาย ๆ หลวงพ่อจะถือโอกาสอธิบายคำว่าหยุดซักหน่อยหนึ่งสำหรับลูก ๆ ที่มาใหม่ คำว่าหยุดนี้ ห หีบ ย ยักษ์สระอุ ด เด็ก หยุดนี่เราได้ยินมาบ่อย แต่ความหมายของทางโลกกับทางธรรมนี่มันไม่เหมือนกัน ความหมายมันไม่เหมือนกันนะจ๊ะ หยุดในทางโลกนี้น่ะ หยุดแล้วมันอยู่ คือมันไม่เคลื่อนที่ เหมือนเรายืนอยู่นิ่ง ๆ เราวางขันน้ำขันล้างหน้านิ่ง ๆ อยู่บนโต๊ะ แก้วน้ำบนโต๊ะให้มันหยุดมันนิ่ง มันไม่เคลื่อนไหว หรือรถที่จอดนิ่ง ๆ นั่นคือความหมายสำหรับคำว่าหยุดในทางโลก คือหยุดแล้วอยู่ หยุดแล้วอยู่นะจ๊ะ 

 


                แต่หยุดในทางธรรมน่ะ มันหยุดแล้วไป คือเวลาเราเอาใจหยุดที่ตรงจุดที่สบายแล้วก็เคลื่อนย้ายมาอยู่ที่กลางกายฐานที่ ๗ พอใจเราหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้น่ะ หยุดแล้วมันไป มันเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ความรู้สึกเหมือนตัวเราเคลื่อนลงไป เคลื่อนลงไปข้างใน มันเคลื่อนลงไปแล้วก็จะเห็นแสงสว่าง เห็นดวงธรรมเห็นองค์พระผุดเกิดขึ้นมาน่ะ ซ้อน ๆ ๆ กันขึ้นมา ส่วนความรู้สึกของตัวเราใจเราก็เลื่อนลงไป เคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเรื่อย ๆ นี่เรียกว่าหยุดแล้วไปน่ะ เพราะฉะนั้นหยุดคำเดียวกันนี้ในแง่ของความหมายแล้วมันไม่เหมือนกันนะจ๊ะ ข้างนอกหยุดอยู่ ข้างในหยุดไป แล้วก็ยิ่งหยุดก็ยิ่งเร็ว ส่วนข้างนอกยิ่งหยุดมันก็อยู่เฉย ๆ อย่างนั้น ก็ยิ่งอยู่เฉย ๆ แต่ข้างในกลางกายน่ะ เส้นทางสายกลางที่เริ่มต้นจากกลางกายเรา ไปสู่อายตนนิพพานเนี่ย ยิ่งหยุดยิ่งไป ยิ่งหยุดยิ่งเร็ว ยิ่งหยุดยิ่งเห็นดวงธรรมภายในชัด ยิ่งหยุดยิ่งชัด ยิ่งหยุดดวงธรรมยิ่งใส องค์พระยิ่งใส ยิ่งหยุดยิ่งสว่าง ยิ่งหยุดดวงธรรมกับองค์พระยิ่งขยายกว้างใหญ่ขึ้นไปมากทีเดียว นี่คำว่าหยุดนะจ๊ะ 

 


                หยุดข้างนอกหยุดอยู่ หยุดข้างในหยุดแล้วไป เคลื่อนไปเคลื่อนไปเลย ถ้าใจหยุดอยู่ตรงกลางก็เคลื่อนเข้าไปสู่เส้นทางสายกลางของพระอริยเจ้า ปลายทางก็คืออายตนนิพพานน่ะ จะเคลื่อนไปอย่างนี้นะจ๊ะ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจคำว่าหยุดแล้ว ว่าหยุดข้างนอกหยุดอยู่ หยุดข้างในหยุดไปน่ะ เราจะได้ไม่สงสัยต่อจากนี้เมื่อใจเราสบายแล้วนะจ๊ะ พอใจเราสบายใจเบิกบานดีแล้วเนี่ย เราก็เอาใจของเรามาหยุดอยู่ภายในกลางกายตรงฐานที่ ๗ เอาใจมาหยุดอยู่นะจ๊ะ หยุดนิ่ง ๆ หยุดให้สบาย ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ถ้าไม่สบายใจไม่หยุด ถ้าไม่หยุดมันก็ไม่ไป ก็ไม่เห็น ไม่ชัด ไม่ใส ไม่สว่าง เห็นไม้จะว่ามันเกี่ยวโยงกัน ต่อเนื่องกัน ถ้าใครเชื่อหลวงพ่อเดี๋ยวก็ทำได้ ถ้าไม่เชื่อไปแสวงหาวิธีการด้วยตัวของตัวเอง มันก็ยุ่งยากหน่อย ก็ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นถ้าสบายแล้วใจหยุด ถ้าหยุดแล้วเดี๋ยวดวงธรรมภายในเกิด ดวงธรรมภายในจะเกิดขึ้นมาเอง 

 


                ดวงธรรมเบื้องต้น“เรียกว่าปฐมมรรค เกิดขึ้นเมื่อใจหยุดนิ่งตรงฐานที่ ๗ มันจะเป็นจุดสว่างใส ๆ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน นั่นคือดวงธรรมเบื้องต้น ดวงธรรมเบื้องต้นนะจ๊ะ คือจุดเบื้องต้นของหนทางสายกลางซึ่งอยู่ภายในตัว ไปสู่อายตนนิพพานที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ท่านหยุดอยู่ในกลางกายท่านแล้วก็ปล่อยใจเข้าไปเรื่อย ๆ นี่ท่านทำของท่านอย่างนี้นะจ๊ะ เพราะฉะนั้นถ้าหยุดอยู่อย่างถูกส่วนเดี๋ยวดวงธรรมเกิด เป็นดวงใสบริสุทธิ์ใสเหมือนน้ำ ใสเหมือนกระจก บางทีก็ใสเหมือนเพชร หรือใสยิ่งกว่านี้ ใสเกินใสทีเดียว ใช้คำว่าใสเกินใสนี่ 

 


                ถ้าหยุดตรงนี้ เดี๋ยวความสบายจะพรั่งพรูออกมาเลยน่ะ เหมือนเราไปเปิดก๊อกแห่งความสบาย แห่งความสุขทะลักออกมาเลย มันจะพรั่งพรูออกมาจนกระทั่งความสบาย ขยายจากศูนย์กลางกายไปยังทุกส่วน ทุกอณูทุกขุมขนของร่างกายของเราเนี่ย ให้ได้รับความสบาย ซึมไปหมดทุกจุดเลย แล้วยังแผ่กระแสแห่งความสบายออกจากตัวเราไปอีกไปยังบรรยากาศรอบด้านกระทั่งไม่มีขอบเขต นี่มันจะทะลักออกมาเลย เมื่อใจเราหยุดนิ่งตรงนี้นะจ๊ะ เราจะเข้าถึงดวงธรรมภายใน แล้วพอหยุดต่อไปอีกเรื่อย ๆ ใจก็เคลื่อนเข้าไปน่ะก็จะเข้าถึง เข้าถึงดวงดวงธรรมถัดไปน่ะ คือดวงศีล สมาธิปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็เห็นกายภายใน 

 


                เห็นกายภายในกายแรกมีลักษณะเหมือนกับตัวเรานี่แหละ เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน หรือกายไปเกิดมาเกิด มีชื่อเรียกหลายชื่อนะจ๊ะ หน้าตาเหมือนกับตัวของเรานี่แหละ เหมือนกันเลยแต่ว่าโปร่งเบากว่า ละเอียดกว่า มีความละเอียดกว่าไปอีกชั้นนึง ถ้าใจเราหยุดต่อไปอีกในกลางนั้นน่ะ หยุดในกลางกายมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่งพอสบายหนักยิ่งขึ้นก็ถูกส่วน ถูกส่วนคือสบายน่ะ มีความสุขก็จะเห็นดวงธรรมภายในในกายมนุษย์ละเอียด แล้วก็เห็นอย่างนี้เนี่ยไปในทำนองเดียวกัน เห็นดวงธรรมไปทีละดวง ๆ ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะน่ะ ก็จะเข้าถึงกายทิพย์ พอเราหยุดต่อไปอีกไม่ต้องทำอะไรเลย หยุดดูเฉย ๆ น่ะ มีอะไรให้เราดู เราก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายน่ะ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น เดี๋ยวใจก็จะเดินต่อไปอีก เพราะเราเข้าใจคำว่าหยุดแล้วนี่ 

 


                ถ้าหยุดแล้วต้องไป ก็จะเข้าไปถึงกายรูปพรหม ผ่านดวงธรรมต่าง ๆ เข้าถึงกายรูปพรหม ถ้าหยุดต่อไปอีกก็เข้าถึงดวงธรรมถัดไปเรื่อย ๆ เลย ถัดไปเรื่อย ๆ พอครบ ๖ ดวง ก็เข้าถึงกายอรูปพรหม หยุดต่อไปอีกโดยไม่ต้องทำอะไร ดูเฉย ๆ สบาย ๆ ใจก็เดินทางต่อไปอีก เข้าถึงกายธรรม ถึงพุทธรัตนะ กายธรรมลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการสวยงามมาก คล้าย ๆ พระพุทธรูป อย่างนี้แหละ แต่สวยงามกว่า มีชีวิตจิตใจทุกอย่าง ลักษณะสวยงามใสเป็นเพชร เกตุดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเราน่ะ จะเห็นใสบริสุทธิ์ ถ้าใจเราหยุดต่อไปอีกก็จะเข้าไปในทำนองเรื่อย ๆ เข้าไปทำนองนี้เรื่อย ๆ ไปเลย เดี๋ยวเราก็จะเห็นดวงธรรมสลับกับองค์พระผุดซ้อน ๆ ๆ ๆ กันขึ้นมาเรื่อย ๆ เลย ต้องทำอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                หยุดนิ่งแล้วจะได้ผลอย่างนี้ จะชัด จะใส จะสว่างขึ้นมาเองในกลางตัวที่นี้วิธีที่จะทำให้ใจเข้าถึงปฐมมรรคซึ่งเป็นต้นทางที่จะเข้าถึงกายในกายดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้นน่ะ การบังเกิดขึ้นของปฐมมรรคนั้นมีอยู่ ๒ วิธีนะจ๊ะ แต่ทั้ง ๒ วิธีนั้นต้องใจหยุดทั้ง ๒ วิธี ทั้ง ๒ วิธีต้องใจหยุดวิธีแรกคือไม่กำหนดนิมิตอะไรเลย ทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ตรงจุดที่เราเข้าใจว่าเป็นฐานที่ ๗ จุดที่เราเข้าใจว่าเป็นฐานที่ ๗ ในกลางตัวน่ะ แล้วเราก็ทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ รักษาอารมณ์สบายให้ต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นยังไม่มีภาพอะไรเกิดขึ้น ยังไม่เห็นอะไร นอกจากอารมณ์สบาย พอใจหยุดนิ่งถูกส่วนแล้ว ปฐมมรรคเกิดขึ้นเองเห็นจุดสว่าง เห็นดวงสว่างเกิดขึ้นเองนี่ประการแรกนะจ๊ะ วิธีแรก

 


                วิธีที่ ๒ สำหรับท่านที่นึกอะไรได้ง่าย ๆ ใจละเอียดอ่อน กลัวฟุ้งด้วย ก็จะกำหนดนิมิตขึ้นมา ใช้วิธีสร้างมโนภาพ หาวัตถุภายใน หาภาพภายในให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเรียกว่าบริกรรมนิมิตคือ สร้างมโนภาพขึ้นในตอนแรกก่อน สร้างมโนภาพขึ้นว่าตรงฐานที่ ๗ นั้นมีบริกรรมนิมิตเป็นดวงใส ๆ เหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาเนี่ย กำหนดดวงใส ๆ นะจ๊ะ ให้ใสเหมือนกับเพชร แล้วก็ทำใจให้หยุดนิ่งอยู่กับดวงใส ๆ คือนึกถึงเรื่องดวงใส ๆ เรื่อยไปเลย ไม่ให้เผลอไม่ให้ลืม นึกไปให้ตลอดพร้อมกับอารมณ์สบายคือนึกอย่างสบาย ๆ นี่เป็นวิธีที่ ๒ พอใจหยุดถูกส่วนก็เข้าถึงปฐมมรรคได้เช่นเดียวกัน  

 


                เพราะฉะนั้นให้สังเกตตัวเราเองนะจ๊ะ เราถนัดแบบไหนเราก็เอาแบบนั้น ถนัดแบบวางใจนิ่งเฉย ๆ รักษาอารมณ์สบาย ๆ แล้วใจหยุดนิ่งถูกส่วนเข้าถึงดวงปฐมมรรค ถ้าถนัดอย่างนี้ก็ให้ทำอย่างนี้ ถ้าถนัดแบบต้องนึกนิมิตซะก่อน รู้สึกว่านึกแล้วสบายใจ นึกง่ายไม่ตึงไม่เครียด ก็ใช้วิธีที่ ๒ ที่เราถนัด แต่ละท่านน่ะจะไม่เหมือนกันนะจ๊ะ แต่ว่าความสบายนี่เหมือนกันต้องใช้ทั้ง ๒ วิธี ใจหยุดนี้ก็เช่นเดียวกันต้องใช้ทั้ง ๒ วิธี จะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะให้ใจเราหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เพื่อเข้าถึงดวงปฐมมรรคดังกล่าว เราเลือกเอานะจ๊ะว่าเราจะใช้วิธีไหนตอนนี้ให้ทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ใส ให้บริสุทธิ์ตรงจุดที่สบาย พอสบายดีแล้วเราก็ขยายให้มาหยุด ความสบายให้มาหยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ นะจ๊ะ 

 


                คราวนี้เราก็หยุดให้นิ่งให้ใจใส ใจสบาย ใจเบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ตรงนี้น่ะ เดี๋ยวพอถูกส่วนก็จะเข้าถึงดวงธรรม เข้าถึงกายภายในดังกล่าว นี่ให้ทำกันอย่างนี้นะจ๊ะ นี่สำหรับลูก ๆ ที่มาใหม่ให้ทำอย่างนี้นะจ๊ะ ส่วนลูก ๆ ที่ทำเป็นแล้วเข้าถึงดวงธรรมแล้ว เห็นดวงธรรมชัดใสบริสุทธิ์ ใสแจ่มบริสุทธิ์ เห็นกายภายใน เห็นองค์พระ ก็ให้หยุดใจต่อไปอีก หยุดไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องทำอะไรนะจ๊ะ ไม่ต้องลุ้น อย่าไปลุ้น อย่าไปเร่ง อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้อง ถ้าอยากเข้าไปให้ถึงภายในเร็ว ๆ ต้องหยุดอย่างเดียว ยิ่งหยุดยิ่งเร็ว หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ได้นะจ๊ะ นี่สำหรับลูก ๆ ที่ได้แล้วหรือหยุดอยู่ในกลางกายภายในจะเป็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม หรือกายอะไรก็แล้วแต่ หยุดนะจ๊ะ นี่สำหรับลูก ๆ ที่ทำได้แล้วให้หยุดอย่างนี้ 

 


                ถ้าใครเข้าถึงองค์พระแล้วก็หยุดอยู่ในกลางองค์พระให้นิ่ง ๆ หยุดเรื่อยไป ไม่ต้องทำอะไร หยุดอยู่เฉย ๆ ให้ใจนิ่ง พอใจนิ่งมันละเอียดถูกส่วนเข้าเดี๋ยวจะถูกดูดเข้าไปเองน่ะ เดี๋ยวเราก็จะเห็นองค์พระขยายกว้างออกไปน่ะ องค์พระที่ท่านผุดขึ้นมาหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรานะ ท่านจะขยายกว้างออกไปเนี่ย จนกระทั่งเราสามารถเคลื่อนใจเคลื่อนตัวของเราน่ะ เข้าไปอยู่ในกลางท่านได้ เราจะเห็นกลางกายของท่านใสบริสุทธิ์อยู่ภายในเนี่ย พอหยุดต่อไปอีกก็จะมีองค์ใหม่เกิดขึ้นมาอีก องค์เก่าก็ขยายกว้างออกไป องค์ใหม่ก็ขึ้นมาแทนที่ องค์ใหม่ที่ใสกว่าสว่างกว่า โตกว่าก็ผุดเกิดขึ้นมาแทนที่ ใจของเราก็จะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ใจก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้นน่ะ 

 


                เราก็หยุดนิ่งอยู่ในกลางองค์พระอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ตอนแรกก็ผุดขึ้นมาทีละองค์สององค์ สามองค์ ช้า ๆ พอต่อ ๆ ไป เมื่อใจเราละเอียด หยุดนิ่งได้ชำนาญขึ้น ได้สนิทขึ้น ก็ผุดขึ้นมาเร็วขึ้นผุดขึ้นมาทีละหลาย ๆ องค์ ห้าองค์ สิบองค์ ยี่สิบองค์ เร็วขึ้นมาเรื่อย ๆ เลย ถ้าหยุดได้สนิทมากกว่านั้นคราวนี้ผุดขึ้นมาเร็วทีละเยอะเลยน่ะ เป็นสายขึ้นมาเลยไม่ขาดตอน เร็วจนกระทั่งนับไม่ทันเลย องค์พระใสยิ่งใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ใจของเราก็จะยิ่งเบิกบานแช่มชื่น สุขอะไรจะมาเสมอเหมือนจากใจหยุดนิ่งในกลางธรรมกายแล้วเป็นไม่มี นตฺถิ สนฺติ ปรํสุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี ถ้าหยุดในกลางธรรมกายแล้วมีความสุขมาก กายเบาใจ เบาใจขยายกว้างออกไป เราจะมีความรู้สึกว่าใจเราเกลี้ยงสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส รู้สึกมีความเคารพในตัวเอง จะเริ่มเห็นคุณค่าในตัวเอง เริ่มมีความเคารพในตัวของตัวเองว่า ตัวเรานี้เริ่มมีค่า เป็นมนุษย์ที่แตกต่างจากมนุษย์เมื่อหลาย ๆ  ปีก่อนที่เกิดขึ้นมาคือ ตัวของเราเนี่ยต่างจากปีที่แล้วต่างจากปีก่อน ๆ 

 


                ทันทีที่เข้าถึงจะเริ่มรู้สึกถึงความสะอาดของตัวเรา ความบริสุทธิ์ของตัวเรา คุณค่าของตัวเราเกิดขึ้น แล้วเราจะมีธรรมปิติเกิดขึ้นอิ่มเอิบเบิกบานทีเดียว ความสุขมีมากจนกระทั่งพูดไม่ออกบอกไม่ถูกทีเดียวนะจ๊ะ บังเกิดขึ้นใสสว่างอยู่ภายใน นั่งเป็นสุข นอนเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข เป็นสุขอยู่ตลอดเวลาทั้งหลับทั้งตื่น เป็นสุขตลอดเลย สำหรับลูก ๆ ที่ปฏิบัติมาแล้วยังไม่ได้ผลก็อย่าท้อใจนะจ๊ะ อย่าท้อใจ อย่ากังวลใจ อย่าน้อยใจตัวของเราเอง อย่านั่งแบบอึดอัดหงุดหงิด จะเอาให้ได้นั่นเป็นวิธีทางโลก วิธีทางโลกอยากจะได้อะไรเร็ว ๆ เราต้องอึดอัดต่อสู้ต้องลุ้นกัน ต้องบังคับกัน แต่วิธีในทางธรรมมันกลับตาลปัด ต้องใจเย็น ใจต้องให้เยือกเย็น ใจต้องใส ๆ ต้องโปร่ง ๆ ใจต้องหยุดต้องนิ่ง อย่างนี้ถึงจะได้ 

 


                เพราะฉะนั้นอย่างนั่งแบบฮึดฮัดโมโหโทโสอะไรอย่างนั้นนะจ๊ะ หรือนั่งด้วยความอยากมากเกินไป คือพอรู้ว่าธรรมะนี่ ถ้าหากว่าเข้าถึงแล้วดีก็เลยอยากได้ พออยากได้มากเกินไปนี่ก็เกิดการบังคับใจ จะให้หยุด จะให้นิ่ง จะให้เห็น จะให้ชัดมันก็เลยเครียด เพราะฉะนั้นเนี่ยวิธีที่จะให้เข้าถึงได้นะจ๊ะ ต้องอย่างอยากมากเกินไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่อยเปื่อยเสียจนกระทั่งไม่อยากเอาให้ความอยากมีแค่ฉันทะ ฉันทะคือความรักในการปฏิบัติธรรมอยากเข้าถึงธรรมได้อย่างเย็น ๆ มีความผูกสมัครรักใคร่ในธรรม อยากให้เข้าถึงดวงธรรม อยากถึงธรรมกาย อยากเข้ากลางได้ อยากได้สุขที่เกิดจากการหยุดการนิ่งภายใน มีแค่ฉันทะพอนะจ๊ะ อย่าให้ฉันทะมีมากซะเลยกระทั่งไปเป็นความอยาก ถ้าอยากมากเกินไปแล้วกลุ้ม ถ้านั่งไม่ได้ผลแล้วเบื่อ พอเบื่อแล้วก็โทษนั่นโทษนี่ น้อยอกน้อยใจกันไป 

 


                เพราะฉะนั้นให้มีฉันทะแค่นั้นพอนะจ๊ะ มีความรักมีความชอบ มีความพึงพอใจที่จะเข้าถึงธรรมอย่างเย็น ๆ เบา ๆ สบาย พอฉันทะซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นหัวหน้าทีมตั้งขึ้นได้ เดี๋ยววิริยะความเพียรมันมาเอง มันขยันทีเดียวน่ะ ขยันนั่งขยันทำใจหยุดนิ่ง ไม่ว่ามีเวลาซัก ๑ หรือ ๒ นาทีก็ฝึกไปเรื่อย ทำยังไงจะปล้ำใจให้มันหยุดนิ่งอยู่ภายใน ไม่ว่าจะมีเวลา ๑ นาที ๒ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ในรถในเรือ ที่ไหนก็แล้วแต่บนเครื่องบิน ห้องน้ำห้องท่า ทำหมดฝึกไปเรื่อย ๆ ฝึกตั้งแต่ยังคุ่ม ๆ ค่ำ ๆ นึกอะไรไม่ออก ใจยังฟุ้งซ่านอยู่น่ะ ก็จะค่อย ๆ ฝึกไปเรื่อย ๆ นี่ความขยันมาแล้วนะจ๊ะ พอความขยันมาใจก็จรดจ่อ ขบวนที่ ๓ ตามมาล่ะ จะจรดจ่อจรดจ่ออยู่ที่กลางกาย อยู่ที่กลางของความสบาย อยู่ที่ใจหยุดใจนิ่ง แล้วตอนสุดท้ายดวงปัญญาจะมา วิมังสามาแล้ว ตรวจตราปรับปรุงวิธีการปรับปรุงใจว่าเอ๊ะทําไมน้าเราถึงนั่งแล้วมันไม่หยุด ทำไมเมื่อวานนั่งดี วันนี้ทำไมนั่งไม่ดี หรือวันนี้นั่งที่ทำยังไงถึงจะดีตลอดไป หรือเราได้ยินได้ฟังคนนั้นเค้าหยุดเค้านิ่ง เค้ามีความสุข เค้าเข้าถึงดวงธรรมภายใน ทำไมนะทำอย่างไรเราถึงจะเข้าถึง เราตึงเกินไปรึเปล่า เราหย่อนเกินไปไม้ วิมังสามันก็จะมาตอนนี้แหละ 

 


                เพราะฉะนั้นธรรม ๔ ประการก็จะเริ่มเกิดขึ้นมาเมื่ออารมณ์สบายนะจ๊ะ แล้วเดี๋ยวความสำเร็จอย่างอัศจรรย์จะบังเกิดขึ้นแก่ลูก ๆ ทุกคนเลย ลูก ๆ ทั้งภายในทั้งต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีภารกิจมากน้อยเพียงใดก็ตาม จะสมความปรารถนาเข้าถึงความสุขภายในอย่างง่าย ๆ กันเลย เพราะฉะนั้นเอาแค่มีฉันทะมีความรักที่จะเข้าถึงธรรมแค่นี้พอ อย่าให้เกินเลยเป็นความทะยานอยากนะจ๊ะ ความอยากเป็นสมุทัยบ่อเกิดแห่งความทุกข์ แต่ฉันทะเป็นบ่อเกิดแห่งความสำเร็จ เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้นนะจ๊ะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วก่อนที่เราจะบูชาข้าวพระ ให้ลูก ๆ ทั้งหลายฝึกใจให้หยุดนิ่งอย่างเบาสบายที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ โดยเริ่มต้นจากจุดที่สบายก่อน ตรงไหนก็ได้นะจ๊ะ แต่ตอนท้ายต้องฐานที่ ๗ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ

 


                หยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ เอาใจหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ หยุดให้นิ่ง ๆ นะจ๊ะ ถ้าใครหยุดสนิทละก็จะเห็นชัดทีเดียว แต่ถ้าหากใครยังหยุดไม่สนิทก็ไม่เป็นไร ทำใจให้สบาย ๆ เราก็นึกน้อมเครื่องไทยธรรมเท่าที่เราจะนึกได้ส่วนใครที่เข้าถึงดวงธรรมภายในก็นึกน้อมเข้าไปอยู่ในกลางดวงธรรม ที่เข้าถึงกายภายในก็นึกน้อมเข้าไปสู่กลางภายในให้ไปหยุดอยู่ตรงนั้นนะ ที่ถึงกายธรรมก็น้อมเข้าไปในกลางกายธรรม ทำใจให้หยุดให้นิ่งอย่างเบาสบายอย่าหยุดแบบกด ๆ นะจ๊ะ หยุดแบบกด ๆ น่ะมันมีลักษณะแคบคือมันแคบและมันตึงน่ะ มันเหมือนเรารวบใจของเราไปอยู่ในที่แคบกลางกายที่เราเข้าใจว่ากลางกายกลางท้อง แม้จะเห็นชัดแต่ก็หยาบและแคบ อย่างนี้เรียกว่าหยุดอย่างกด ๆ ยังไม่สบาย ถ้าหยุดอย่างสบายแล้วนี่ใจจะขยายกว้างเบิกบานสบ๊ายสบายทีเดียว ใจจะใส องค์พระก็จะขยายกว้างออกไปเลย กว้างไปรอบทิศ ขยายใหญ่กระทั่งใหญ่มาก ๆ เลย คับท้องฟ้าเลยใหญ่ ใส นี่ถ้าหยุดสบายต้องเป็นอย่างนี้นะ 

 


                ฝึกหัดนิสัยให้ดีนะจ๊ะ ให้มีอารมณ์ดีทั้งวันน่ะ จะช่วยให้ใจใสได้เร็ว ให้อารมณ์ดี ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งเข้านอนเลยนะ เดี๋ยวเวลาเรานั่งนี่มันง่าย มันจะสบายสบาย ให้อารมณ์ดี ๆ อารมณ์แจ่มใสทั้งวัน ใจจะใส นี่หยุดอย่างนี้นะ หยุดให้สบาย หยุดให้นิ่ง ให้ใจหยุดใจนิ่ง ใจใสบริสุทธิ์อยู่ในกลางกายของเราน่ะ พอหยุดสนิทแล้วเดี๋ยวเราจะเห็นกลางชัด เห็นกลางกายชัด ในกลางกายก็ยังมีกลางของกลาง ซ้อน ๆ ๆ ๆ กันอยู่ในนั้นน่ะ ที่เราได้ยินบ่อย ๆ ว่ากลางของกลาง ๆ อย่างนั้นนะ ที่เราได้ยินบ่อย ๆ สำหรับท่านที่มาสม่ำเสมอ แต่จริง ๆ เราไม่ได้ท่องอย่างนั้นหรอก กลางของกลางมันเห็นน่ะ เห็นในกลางนั้นก็มีกลางอีก และก็มีกลางเข้าไปเรื่อย ๆ ซ้อน ๆ ๆ ๆ กันอยู่อย่างนั้น ในช่วงที่ใจสบายแล้วก็หยุดนิ่งได้สนิท บุญกำลังเกิดขึ้นกำลังติดทุกกายเลย ติดหมดเลย กายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหม กายธรรม ทุก ๆ กายธรรมไปเลย 


        

                ติดหมดทุกกาย ใสบริสุทธิ์ สว่างเต็มไปทีเดียว สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน นับร้อยนับพันดวงทีเดียว สว่างมาก ๆ ทีเดียว แล้วก็ใสบริสุทธิ์ ใสเกินใสทีเดียว ใสบริสุทธิ์ ปล่อยใจไปตามนะจ๊ะ ปล่อยใจไปตามทุก ๆ คนเลย ปล่อยไปเลยน่ะ คุณยายกำลังกราบทูลพระพุทธเจ้าขอศีลขอพรขอบุญขอบารมีให้ลูก ๆ หลาน ๆ ทุก ๆ คน มีดวงตาเห็นธรรม ให้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ให้เป็นประธานรอง ประธานทอง ประธานกองให้สมความปรารถนา ให้สมบัติไหลมาเทมาน่ะเหมือนกระแสธารแห่งบุญ เหมือนฝนตกลงไปในจักรวาลที่ไม่มีลมพายุ ไหลมาเทมานะ ให้ประกอบธุรกิจการงานอันใดก็ให้ราบรื่น อย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น ให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม มีสมบัติมาก ๆ แล้วก็ให้ทําทานเหมือนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านมหาอุบาสิกาวิสาขา ให้ทำบุญให้เต็มที่เลย เพราะเราเกิดมาสร้างบารมี 

 


                คุณยายทับทวีไปด้วยคุมบุญไปด้วย ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ให้สุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงอย่าเจ็บ อย่าป่วย อย่าไข้ ให้เป็นที่รักของมนุษย์เทวดาทั้งหลาย เดินทางไกลก็ให้ปลอดภัยให้บุญรักษาให้ปลอดภัย ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข ที่เป็นนักศึกษาก็ให้สำเร็จการศึกษาสมความปรารถนา ที่เป็นข้าราชการเอาบุญส่งผลให้ไปให้สูงที่สุดเลย คุณยายทับทวีไปคุมบุญให้ดีเลย คุมบุญทุกคนเลย คุมบุญให้ดี คุณยายทับทวีทั้งลูกที่อยู่ภายในประเทศและที่ต่างประเทศ ต่างประเทศน่ะ ลูก ๆ ที่อยู่ไกลเนี่ย คุณยายทับทวีบุญนะจ๊ะให้มีบุญพิเศษ เพราะจะต้องไปต่อสู้กับอุปสรรคสิ่งแวดล้อมอะไรต่าง ๆ ให้ความสำเร็จเกิดขึ้น คุณยายคุมทั้งหมดเลย ลูก ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศอาราธนาบุญบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานให้ลงซ้อนที่ศูนย์กลางกายหมดทุก ๆ คน ให้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ให้แทงตลอดในวิชชาธรรมกาย ให้เป็นนักสร้างบารมีที่เข้มแข็ง มีกำลังกายกำลังใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยหัวใจของนักสร้างบารมีอย่างเต็มที่ 

 


                ท่านที่เป็นประธานรอง ประธานทอง ประธานกองก็ให้สมความปรารถนา อย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น การหล่อรูปหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญเป็นทองคำในวันมาฆบูชาปี ๒๕๓๗ ที่จะถึงนี้ก็ให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์เลย ใครที่เป็นเจ้าของบุญที่เป็นประธานรอง ประธานทอง ประธานกอง ให้บุญบันดาลทับทวีมาให้ถึง มารับบุญไปแล้วให้พระนิพพานพระพุทธเจ้าท่านปกปักรักษาผู้ที่เป็นเจ้าของบุญให้ได้บุญเต็มเปี่ยมทั้งวันทั้งคืน ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งยืน ทั้งหลับทั้งตื่นไปทุกภพทุกชาติกระทั่งเข้าสู่พระนิพพานไปเลยคุณยายคุมติดให้ดี คุมกลั่นให้สะอาด และขอบารมีหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย กราบทูลท่านเลยว่าลูก ๆ ชายหญิงทั้งหลายเชื้อสายธรรมกายมีความตั้งใจที่จะทำบุญใหญ่อยากจะได้บุญในการหล่อรูปหลวงพ่อเป็นทองคำให้มนุษย์และเทวดากราบไหว้

 


                ขอความสำเร็จขอให้หลวงพ่อ ส่งผังสำเร็จลงมาเป็นอัศจรรย์ ให้สำเร็จ ๆ ๆ เป็นอัศจรรย์ และให้ได้บุญที่ยิ่งใหญ่ที่จะดึงดูดสมบัติทั้งหลายไว้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้นไปทุกภพทุกชาติกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน และจะติดตามวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมเลย ไปทุกภพทุกชาติ ไม่ให้คาดกันเลยแม้แต่ชาติเดียว คุมให้ติดให้หมดเลย คุณยายคุมให้ดี ทีนี้ลูก ๆ ทั้งหลายทั้งชายหญิง ทั้งภายในและต่างประเทศนะจ๊ะ ตอนนี้กระแสธารแห่งบุญกำลังยังเกิดขึ้นเป็นดวงสว่างใสบริสุทธิ์ทีเดียวติดที่ศูนย์กลางกายเนี่ย ทำใจให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เอาใจหยุดอยู่ในกลางบุญและตั้งใจมั่นที่จะหล่อรูปหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญเป็นทองคำ อธิษฐานจิตตามใจชอบกันทุก ๆ คนเลยนะจ๊ะ ตั้งใจให้ดีนะ อย่าลืมตานะจ๊ะ ให้ตั้งใจให้ดีทำใจให้สบาย ให้หยุดให้นิ่ง อธิษฐานเลยนะอธิษฐาน เราตั้งใจจะเอาอะไรอธิษฐานตอนนี้แหละ ตอนที่กำลังบุญกำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ และคุณยายกำลังคุมบุญ พระนิพพานท่านกำลังคุมบุญส่งกระแสธารแห่งบุญให้บังเกิดขึ้น อธิษฐานให้ดีนะ จะสมความปรารถนาเป็นอัศจรรย์ทีเดียว ตั้งใจกันให้ดีทุก ๆ คน

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03216411670049 Mins