ธารแห่งบุญ

วันที่ 19 พค. พ.ศ.2567

190567b01.jpg
ธารแห่งบุญ
๗ มกราคม ๒๕๓๙
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 


                ต่อจากนี้ไป ให้ทุกคนตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย คล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายนะจ๊ะทุกๆ คน หลับพอสบายคล้ายกับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกัน ขยับให้ดีนะ ปรับท่านั่งของเราให้ดี ให้มีความรู้สึกว่ามันสบาย อริยาบถสบายไม่ให้มีส่วนใดหรือส่วนหนึ่งของร่างกายเราเกร็งหรือเครียด 

 


                สังเกตให้ดี ตั้งแต่กล้ามเนื้อที่เปลือกตา หัวคิ้ว หน้าผาก ศีรษะ คอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ทั้งเนื้อทั้งตัวให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลายให้หมด แล้วก็ทำใจให้สบาย ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส กาย วาจา ใจของเราจะได้เหมาะสม ที่จะเป็นภาชนะรองรับพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลายสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ไม่มีแล้ว เสมอเหมือนก็ไม่มี ยิ่งกว่าก็ไม่มี เพราะว่าพระรัตนตรัยหรือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว

 


                พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งรู้ทั้งเห็น เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้เห็น ในญาณทัสสนะของพระองค์ท่าน นอกจากเห็นแล้ว รู้แล้ว ยังตับกิเลสให้หมดสิ้นเชิง กิเลสอาสวะไม่มีหลงเหลืออยู่ในใจเลย ท่านรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ว่ามีทุกข์ มีความทุกข์เป็นพื้นเพ พื้นฐานของชีวิต ความทุกข์นั้นเกิดจากอะไรท่านก็รู้ ทั้งรู้ทั้งเห็น จะดับได้โดยวิธีการใดท่านก็เห็นอีก ดับแล้วไปไหน ไปอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร ท่านก็รู้ท่านก็เห็นหมดตลอดหมดเลย แล้วยังมีมหากรุณา นำความรู้ ที่ท่านได้รู้ได้เห็นมาแนะนำสั่งสอนกันต่อไป 

 


                ที่เรียกว่าพระธรรม สั่งสอนกันต่อไป ความรู้อันบริสุทธิ์มาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ ที่ท่านได้บริสุทธิ์แล้ว เป็นความรู้ที่มาจากแหล่งบริสุทธิ์ รู้แล้วทำให้บริสุทธิ์ตามพระองค์ท่านไป มีพระสงฆ์พระอริยสงฆ์เป็นลูกศิษย์ เป็นนักเรียน เป็นสาวก ผู้ฟัง ฟังแล้วก็ใคร่ครวญ พิจารณาตาม ทำตามได้ผลตามเช่นเดียวกับพระองค์ เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรม คือ ครู ความรู้ นักเรียนนี้เป็นอันเดียวกัน เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วทั้งหมดอย่างแท้จริง ยังไม่เห็นมีศาสนาใดที่สอนให้ได้อย่างนี้ สอนให้ดับทุกข์ได้ในปัจจุบัน รู้เรื่องราวของชีวิตอย่างแท้จริง แล้วก็สอนได้ด้วย ทำได้ด้วย สอนได้ด้วย สอนได้แล้วก็ลูกศิษย์เข้าถึงได้ด้วย ยืนยันเหมือนกันไปหมดเลย 

 


                เมื่อเข้าถึงแล้วก็เป็นที่พึ่งแก่ตัวเองได้ พ้นจากบ่าวจากทาสของกิเลส ของอาสวะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ทรมานของชีวิตหมดสิ้นไป มันบังคับบัญชาอย่างไง เห็นหมด ครูทำได้อย่างไร ลูกศิษย์ทำได้อย่างนั้น เห็นโลภะ โมหะ โทสะ กิเลสอาสวะครอบงำบังคับกันอย่างไร เป็นชั้น ๆ เข้าไป ก็เห็นตามไป แล้วก็รู้วิธีที่จะเอาชนะมัน ขจัดมัน ปราบมันหมดไปเลย กระทั่งสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ หลุดพ้นเช่นเดียวกับพระองค์ท่านจะมีแต่พระบรมศาสดาของเราพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ท่านทำอย่างนี้สอนอย่างนี้ 

 


                เมื่อเราหลุดพ้นจากที่เขาบังคับบัญชาแล้วก็เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครบังคับบัญชา มีแต่สุขอย่างเดียว สุขล้วน ๆ ไม่มีทุกข์เจือปนเลยเป็นบรมสุข สุขอย่างยิ่ง ไม่ใช่สุขเล็ก สุขน้อย สุขปานกลางหรือสุขธรรมดา แต่เป็นสุขยิ่งใหญ่ทีเดียว เพราะฉะนั้น ท่านมีพระคุณอย่างจะนับจะประมาณมิได้ จนกระทั่งเราไม่อาจที่จะหยิบยกเอาความดีในตอนไหน ที่จะมาพูดหรือพูดให้ได้ทั่วถึง เหมือนเรายืนอยู่ในกลางทะเลท้องทะเลมหาสมุทร สายตาเรามองเห็นความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องทะเล แต่ว่าน้ำทะเลนั้นน่ะ ท่วมมาอยู่ระหว่างปากกับจมูก น้ำมันท่วมปากไม่อาจจะพูดได้ว่าท้องทะเลยิ่งใหญ่ไพศาลได้แค่ไหน 

 


                การเห็นพระคุณของพระบรมศาสดา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ดี เห็นคุณอนันต์ คุณที่ยิ่งใหญ่ไพศาล แต่ว่าไม่อาจประมาณพระคุณของพระองค์ได้เพราะท่านมีพระคุณอย่างจะนับจะประมาณมิได้ เป็นทั้งที่พึ่งและที่ระลึกคือพึ่งได้ มีทุกข์พึ่งได้ ทุกข์โศกโรคภัยต่าง ๆ ทุกชนิดฟังได้ ฟังแล้วขจัดทุกข์โศกโรคภัย ขจัดตั้งแต่สาเหตุ ต้นเหตุแห่งทุกข์ทรมานทั้งหลาย พึ่งกันได้ทีเดียว ท่านเป็นทั้งที่พึ่งที่ระลึก สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ไม่มี

 


                ปัจจุบันนี้มนุษย์กำลังจะเขว กำลังจะเบี่ยงเบนโดยเฉพาะชาวพุทธของเรา กำลังจะไปเชื่อถืออะไรที่นอกเหนือจากพระรัตนตรัย ผู้รู้ที่รู้แล้วเห็นแล้วตรัสรู้แล้ว ยังให้ความเคารพนับถือไม่เต็มที่ ยังไม่ซาบซึ้ง แต่ผู้ไม่รู้ ที่กำลังยกย่องกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรต่าง ๆ กำลังยกย่องทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยเจอในพระไตรปิฎกเลยว่าเคยมีอยู่ เจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรต่าง ๆ ไม่เคยมีกล่าวถึงในคำกล่าวของพระอรหันต์ทั้งหลาย ถึงเจ้าแม่ท่านใดท่านหนึ่งแล้วแถมยังไม่ได้เป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรมอะไร ความรู้ยังไม่สมบูรณ์เลย เป็นเรื่องของจินตนาการสมมติกันขึ้นมา

 


                เพราะมนุษย์กำลังแสวงหาที่พึ่ง เมื่อยังไม่เจอที่พึ่งที่แท้จริง ยังขึ้นฝั่งไม่ได้ เจอซากศพลอยมา ก็เกาะกันเอาไว้ก่อน เมื่อเจอสิ่งที่ดีกว่า เจอขอนไม้ลอยมาก็ทิ้งซากศพเกาะขอนไม้ เจอเรือแพลอยมาก็ทิ้งขอนไม้ขึ้นเรือขึ้นแพ เจอฝั่งก็ทิ้งเรือขึ้นฝั่งกันไป พระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าท่านเหมือนยามที่ยืนอยู่ริมฝั่ง โยนเชือกลงไปในทะเลให้หมู่สัตว์ทั้งหลายเกาะ แล้วดึงขึ้นฝั่ง เพราะท่านถึงฝั่งแล้ว แต่มนุษย์มีปัญญาแต่ไม่ได้เอามาใช้กัน ปัญญามีอยู่แต่ถ้าไม่เอามาใช้เขาเรียกว่าไร้ปัญญา เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้จักที่พึ่งที่แท้จริง ไปพึ่งผู้ที่ยังไม่รู้ หรือความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์เป็นสรณะ ที่พึ่งอย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่าไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม จะพึ่งป่า พึ่งเขา พึ่งต้นไม้ พึ่งอารามศักดิ์สิทธิ์ สัตว์พิการหรือสิ่งในจินตนาการของมนุษย์ เจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษมไม่ใช่ผู้รู้ ไม่ใช่ผู้ตื่น ไม่ใช่ผู้เบิกบานแล้ว เพราะฉะนั้นลูก ๆ ทั้งหลาย ให้ทำความเข้าใจให้ดี เรามีเพียง ๓ อย่างเท่านั้นที่เป็นสรณะ ที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ซึ่งมีทั้งภายนอกและภายใน ๓ อย่างนี้เท่านั้นแหละเป็นสรณะ อย่าเขวกันนะจ๊ะ อย่าเขวไปอย่างนั้นกัน

 


                ผู้รู้น่ะ คือพระพุทธเจ้าเรามีอยู่แล้ว พึ่งท่านเถอะทําความเลื่อมใสในท่าน ทุกข์ทั้งหลายจะได้ดับไป เพราะว่าท่านรู้แล้ว เห็นแล้ว เข้าถึงแล้วอย่างสมบูรณ์จริง ๆ เพราะฉะนั้นใครที่เขว ก็ให้ทำความเข้าใจซะใหม่ว่าที่พึ่งที่แท้จริงคือ ๓ อย่างนี้ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ มีทั้งข้างนอกมีทั้งข้างใน ๓ อย่างข้างนอกนั้นเราพอจะเข้าใจ แต่ ๓ อย่างข้างในคือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เรายังไม่เข้าใจกันดี ดูเหมือนจะเข้าใจ ทั้ง ๆ ที่ได้ยินกันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าอยู่กลางกาย พุทธรัตนะ หมายถึงพระแก้ว รัตนะแปลว่าแก้วพุทธะผู้รู้ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วที่เป็นแก้ว กายท่านใสเป็นแก้วทีเดียว ธรรมรัตนะซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้อันบริสุทธิ์ของท่านก็อยู่ในกลางท่าน สังฆรัตนะก็คือสิ่งที่ซ้อนอยู่ในกลางธรรมรัตนะ ทรงจำรักษาธรรมรัตนะเอาไว้  เอาไว้ให้เป็นที่พึ่งต่อชาวโลก และก็เป็นที่พึ่งต่อพุทธรัตนะ สามอย่างนี้อยู่ภายในตัวของเรา 

 


                พุทธรัตนะหรือพระแก้วก็คือธรรมกายนั่นเอง มีอยู่ในกลางกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกของเรานี้ ตรงฐานที่ ๗ สิงสถิตอยู่ที่ตรงนั้น ตรงนี้ที่เดียว ลักษณะก็คล้าย ๆ กับพุทธปฏิมากร เหมือนพระแก้ว พระแก้วที่เราเคารพบูชา แต่ว่าสวยงามกว่า งามไม่มีที่ติ เพราะว่าประกอบไปด้วยกายมหาบุรุษ มีรูปสมบัติที่มีบุญลักษณะที่เป็นมหาบุรุษ คือความงามทั้งมวลมารวมประชุมกันอยู่ที่กายขององค์ท่าน คือธรรมกายนี้ เรียกว่าพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะก็เป็นดวงธรรมใส ๆ อยู่กลางกายท่าน เป็นแหล่งของความรู้ทีเดียว ใจท่านจรดอยู่ในกลางธรรมรัตนะนี้ตลอด เมื่อจรดต่อเนื่องกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระแสธรรมหรือความรู้นั้นก็หลั่งไหลพรั่งพรูออกมา ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นแจ้ง อะไรต่าง ๆ ทั้งหมด

 


                เป็นความรู้ที่แตกต่างจากความรู้ทั่วไป คือปกติคนเราจะรู้ได้นี่ เท่าที่เราเห็นก็มีอยู่ ๒ ประการคือรู้จากการที่ได้ยินได้ฟัง ได้อ่านได้ศึกษากันมาตามตำรับตำรา ตามครูบาอาจารย์ แล้วก็เป็นความรู้อีกประการ ก็รู้จากการนึกคิดเอามาใคร่ครวญ เอามาพิจารณาเรียกว่าจินตมยปัญญา มนุษย์ส่วนใหญ่ก็จะมีความรู้กันอยู่ในระดับขนาดนี้ แต่ความรู้ของผู้รู้คือพระธรรมกายหรือพระพุทธเจ้านั้นน่ะ ท่านมีความรู้อีกระดับหนึ่งที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดจากความคิด คาดคะเนหรือเคาหาเหตุหาผลอย่างนั้น เป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการจำ การอ่าน หรือได้ยินได้ฟังจากผู้อื่น เป็นความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง คือท่านเห็นแล้วจึงรู้ เรียกว่าตรัสรู้ เห็นแจ้งเหมือนของที่อยู่ในที่มืด ดึงเอามาอยู่กลางแจ้ง กลางแดด จะได้เห็นกันจะ ๆ ว่ามันอะไร ก็ความรู้ของท่านเป็นอย่างนั้น เรื่องราวของชีวิตนั้นมันยังดำมืดอยู่ เมื่อท่านทำความสว่างภายในเกิดขึ้น เห็นได้ด้วยธรรมจักขุของธรรมกาย ญาณทัสสนะก็แล่นไปสู่จุดตรงนั้น ทำให้เกิดการเห็นแจ้ง แล้วก็รู้แจ้ง เป็นความรู้ที่เกิดจากการเห็น นี่แตกต่างจากสิ่งที่มนุษย์จะเกิดปัญญาได้ ใน ๒ อย่างที่กล่าวมาแล้ว

 


                เพราะฉะนั้นการรู้ที่เกิดจากการเห็นนี้ จึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะว่ากว่าจะเห็นได้ มันต้องสว่าง กว่าจะสว่างภายในได้นั้น ใจต้องบริสุทธิ์ บริสุทธิ์เหมือนน้ำที่ตกตะกอน เห็นตะกอนนอนก้นได้ชัดเจน แต่นี่ยิ่งกว่านั้นนอกจากจะตกตระกอนแล้วยังกลั่นแล้วกลั่นอีก จนกระทั่งมีความใสเกินเลนส์ใจขึ้นมา เป็นชั้น ๆ ทีเดียว ตั้งแต่กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา สกิทาคา ถึงกายธรรมอรหัตทีเดียว ซ้อนกันอยู่ เหมือนเลนส์ใจซ้อนกันอยู่ทำให้มีกำลังขยายในการที่จะรู้เห็นเรื่องราวของธรรมทั้งปวง ทั้งในอดีตทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า จึงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วอย่างแท้จริง คำว่ารู้ก็ตรงข้ามกับคำว่าไม่รู้ มนุษย์ทั้งหลายนี่ ไม่รู้ ท่านเรียกว่าอวิชชา คือมันมีสิ่งหนึ่งที่เข้ามาครอบงำบดบังใจเรา จนกระทั่งไม่รู้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงแท้ หรือเรื่องแท้จริงแต่ไปรู้ในเรื่องที่ไม่แท้จริงที่เขาเบี่ยงเบนกันออกไป 

 


                เพราะฉะนั้นคำว่าผู้รู้ของท่านตรงกันข้ามกับคำว่าไม่รู้ของปุถุชน หรือคำว่าผู้ตื่นก็หมายความว่า ท่านกำลังจะบอกเราว่า มนุษย์ทั้งหลายมันกำลังหลับอยู่ คนหลับคือคนที่ตายแล้ว ทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่นี้หลับเพราะว่ากิเลสเข้าไปบังคับ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าไปบังคับบัญชาอยู่ จนกระทั่งอยู่ในโลกของความฝัน เพราะคนหลับจะอยู่อีกโลกหนึ่งคือโลกของความฝัน โลกของมายา โลกที่ไม่จริงจังอะไร ไม่ใช่ของจริง แต่ท่านตื่นแล้ว และคำว่าเบิกบานตรงกันข้ามกับคำว่าทุกข์ทรมาน หรือคำที่แคบคับแคบ อยู่ในที่อึดอัดมันจึงแคบ มันจึงฝ่อ มันจึงหด แต่นั้นของท่านเบิกบานมันขยาย ใจขยายกว้างขวางออกไปเป็นอิสระ ออกจากข้องทางใจ ออกจากพันธนาการออกจากภพทั้งสามนะ ออกหมดสิ่งที่ผูกพันทั้งหลายพันธนาการของชีวิตหลุดหมด

 


                เพราะฉะนั้นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วนี่จึงเป็นสรณะอันประเสริฐ ส่วนผู้ที่ไม่รู้ ยังหลับอยู่ยังแคบอยู่ ยังมีทุกข์อยู่นั้นไม่ใช่สรณะนะจ๊ะ ดังนั้นที่กำลังเขวอยู่ให้กลับใจซะใหม่ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วต่อจากนี้ไป เราจะได้ตั้งใจเข้าสู่สรณะภายในของเรา ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง แม้เราอยู่คนเดียวก็พึ่งตัวของเราเองได้ จะอยู่ที่ไหนก็ตามก็พึ่งได้ จะเป็นคนป่วยที่อยู่ในเตียงคนป่วยในสถานพยาบาลต่าง ๆ ก็จะเป็นคนป่วยที่มีความองอาจ มีความกล้าหาญ ไม่หวาดหวั่นในมรณภัย ร่างกายที่เจ็บป่วยก็ไม่ได้ทุกข์ทรมานใจ ไม่กังวล นึกแต่ว่าการนอนอยู่ที่สถานพยาบาลนั้น เป็นเพียงที่เราเปลี่ยนอริยาบถ จากอริยาบถนั่งยืนหรือเดิน มาเป็นนอนทำภาวนา ทำใจหยุดอยู่กับพระรัตนตรัยภายใน ใจสว่างยิ้มแฉ่งอยู่ภายใน เพราะเห็นธรรมกายใสแจ่มอยู่ในกลางกาย ใสกระจ่างแจ่ม ใสเกินใส สวยเกินสวย งามไม่มีที่ติ ใจหยุดอยู่ที่ตรงนั้นมีความอบอุ่น มีความรู้สึกปลอดภัย ถ้าจะแตกกายทำลายขันธ์ไปในตอนนี้ก็ไม่หวาดหวั่นวิตกในมรณภัย เพราะมีสุขคติเป็นที่ไป สว่างไสว เพราะฉะนั้นถ้าอย่างนี้ได้แล้วจะเป็นที่พึ่งกะเรา จะมีสุขอยู่ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าในสถานการณ์เช่นไรก็ตาม 

 

                เพราะฉะนั้นรัตนตรัยภายในนี้เป็นสิ่งสำคัญนะจ๊ะ เป็นสิ่งสำคัญทีเดียว ที่ลูก ๆ ทุกคนจะต้องทำให้ได้ทำให้มีให้เป็น เข้าถึงให้ได้ ไม่ถึงเป็นไม่ยอมทีเดียว เอาชีวิตเป็นเดิมพัน วันนี้ทำไม่ถึง พรุ่งนี้เอาใหม่ พรุ่งนี้ไม่ถึงมะรืนนี้เอาใหม่ ทำไปจนกว่าจะเข้าถึง เพราะพระรัตนตรัยหรือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้มีอยู่แล้วภายใน ในกลางกายฐานที่ ๗ ไม่ใช่เราไปทำให้มันมี ไม่ใช่ไปทำให้ท่านมีขึ้นมา ท่านมีอยู่แล้วดั้งเดิม อยู่ในกลางกายฐานที่ ๗ แต่ว่าเป็นกายละเอียด เป็นสิ่งที่ละเอียด ที่ประณีตที่ซ้อนอยู่ในสิ่งที่หยาบกว่าเป็นชั้น ๆ เข้าไป เราจะเข้าถึงได้ ใจจะต้องหยุดนิ่งอยู่ในกลางกาย ตรงทางไปทางที่ท่านหรือที่ที่ท่านสถิตอยู่ เอาใจไปหยุดอยู่ที่ตรงนั้นตรงฐานที่ ๗ หยุดให้สนิททีเดียว ประคับประคองใจให้นิ่ง ให้หยุดให้นิ่ง ให้ใจใสให้ใจสะอาด ให้ใจบริสุทธิ์ หยุดนิ่ง พอถูกส่วนเข้า ใจก็ละเอียด พอใจละเอียดเดี๋ยวก็เห็น หนทางที่จะเข้าถึงกายธรรม จะเห็นเป็นชั้นๆ เข้าไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่เห็นจุดเบื้องต้นหรือปฐมมรรค เป็นดวงกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ งามไม่มีที่ติ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศอย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ชัดใสแจ่มอยู่ในกลางนั้น 

 


                ดวงธรรมนี้ก็มีอยู่เดิม มีอยู่มาตั้งดั้งเดิม ไม่ใช่เราทำให้มี คนอย่างเราจะมีความสามารถทำให้มีได้อย่างไร นอกจากว่าทำให้เข้าถึงเท่านั้น เราไม่มีอานุภาพมากพอที่จะทำให้สิ่งนี้มีขึ้นมาได้ แต่ว่าเรามีความสามารถที่จะเข้าถึงในสิ่งที่มีอยู่แล้วดั้งเดิมได้ ด้วยวิธีการทำใจหยุดอย่างนั้นแหละ แต่เมื่อเข้าถึงดวงธรรมแล้ว ไม่ช้าก็จะเห็นกายภายใน มันจะซ้อนกันอยู่ทีเดียวนะจ๊ะ ซ้อนกันไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ซ้อนกันอยู่เรื่อยไปจนกระทั่งกายธรรม แล้วก็มีเป็นชั้นเข้าไป กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคา กายธรรมพระอนาคา กายธรรมพระอรหัต เป็นกายที่โตใหญ่หนักยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ นี้ก็เป็นของแปลก กายที่ใหญ่ซ้อนอยู่ในกลางกายที่เล็ก มันซ้อนกันได้อย่างไรนี่แปลกทีเดียว ของใหญ่ซ้อนอยู่ในของเล็ก กายใหญ่ซ้อนอยู่ในกายที่เล็ก ที่ซ้อนกันได้น่ะ เพราะว่ามีความละเอียดกว่ากันถ้าละเอียดเท่ากันซ้อนกันไม่ได้ แต่ถ้าละเอียดกว่ากันก็ซ้อนกันเข้าไปนะ 

 


                คำว่าซ้อนก็หมายถึงว่า เมื่อใจเราหยุดนิ่งได้ถูกส่วนในกลางกายต่าง ๆ นั้นน่ะ พอถูกส่วนเข้า ใจเราก็จะหลุดจากกายนั้น กายที่หยาบกว่าแล้วเข้าถึงกายที่ละเอียดกว่า นี่เขาซ้อนกันอย่างนี้นะจ๊ะ พอใจหยุดก็หลุดพ้นจากกายที่หยาบกว่า สิ่งที่หยาบกว่า แล้วเข้าถึงสิ่งที่ละเอียดกว่า สิ่งที่ละเอียดกว่าจะใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้นไปทีเดียว โลกเราว่าใหญ่โตขนาดนี้น่ะ ยังมีกาย ยังมีภพที่ใหญ่กว่านี้มากมายทีเดียว ใหญ่กว่าภพที่เราอยู่ โลกที่เราอยู่มากทีเดียว ยังมีกายที่ใหญ่กว่านี้ ยังมีภพที่รองรับกายที่ใหญ่กว่านี้อีกเยอะ กว้างขวางใหญ่โตทีเดียว กายธรรมยิ่งละเอียดเข้าไป ยิ่งโตใหญ่หนักยิ่งขึ้น โตขึ้นไปเรื่อย กายยิ่งใสขึ้น สว่างขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น มีอานุภาพเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ซ้อนกันอยู่ จะซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ ขึ้นไป

 

 

               เห็นไหมจ๊ะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าศึกษาน่ารู้น่าเห็นทีเดียว มากกว่าสิ่งที่เราเห็นด้วยตามนุษย์ซึ่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่มีอะไรใหม่ วนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้แหละ วนกันไปวนกันมา กินเหล้าเช้า กินเหล้าสายบ่ายเย็น กลางคืนกินกันอยู่อย่างนั้น แล้วก็ไม่ได้อะไรนอกจากความเมา ความมึน ความทึม ๆ กันไปอย่างนั้นเอง แต่อย่างนี้สนุกมีความสุขด้วย เห็นกายใหญ่โตขึ้นไป แต่ละกายก็มีภพอยู่จะได้รู้เรื่องว่า กายที่เขาอยู่ในภพใหญ่ ๆ นั้นเขาเป็นกันอย่างไร เขาอยู่กันอย่างไร แล้วเกี่ยวโยงกับเราอย่างไร เมื่อเราละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ จะเห็นถึงความเกี่ยวโยงกันกับตัวเราตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวโยงกันเลย นี่สำคัญอย่างนี้นะจ๊ะ  

 


                วันอาทิตย์ต้นเดือนเป็นวันที่ เราจะมาประชุมพร้อมกันที่นี้ที่วัดประธรรมกาย แล้วนำของหยาบ เครื่องไทยธรรมหยาบ กลั่นให้มีความละเอียด เป็นของละเอียดเท่ากับความละเอียดของพระธรรมกาย เมื่อละเอียดเท่ากันแล้ว จะได้น้อมนำเครื่องไทยธรรมที่ละเอียดนี้ ไปถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน การทำอย่างนี้เรียกว่าการบูชาข้าวพระ แต่ไม่ได้หมายถึงพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า จะเสวยพระกระยาหาร เช่นเดียวกับพระสงฆ์ขบฉัน ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะท่านพ้นแล้วจากอาหารหยาบ ท่านเป็นอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเองแล้ว มีกระแสธารแห่งบุญในกลางท่านปนปรือท่านอยู่ เหมือนฟืนปนปรือไฟ อาหารปนปรือมนุษย์ ให้เป็นอยู่ได้ ท่านมีกระแสบุญที่ไหลมาจากสายธาตุสายธรรมเดิมของท่าน เป็นอัตโนมัติตลอดเวลาเลย

 


                เพราะฉะนั้นกายของท่านเป็นธาตุสำเร็จ เป็นอยู่ได้ด้วยกระแสธารแห่งบุญ ปรุงให้อยู่ได้ ปนปรือให้อยู่ได้อยู่ตลอดเวลา นี่แปลกไหมล่ะบุญปนปรือให้อยู่ตลอดเวลา มีสุขอย่างเดียวไม่ต้องหลับไม่ต้องนอน ไม่ต้องกินไม่ต้องดื่ม ไม่ไปไม่มา ไม่ยืนไม่เดิน ไม่นอน นั่งอย่างเดียวเป็นอริยาบถของผู้ที่มีความสมบูรณ์ ไม่ปวดไม่เมื่อย ไม่มีความทุกข์ทรมาน ใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางอย่างเดียว ติดแน่นเข้านิโรธสมาบัตินิ่ง กระแสบุญก็แล่นถึงกัน ปนปรือร่างกายให้เป็นอยู่ ธรรมกายของพระองค์ท่านให้เป็นอยู่ตลอดเวลา สุขใสสว่างทีเดียว สุขใสสว่าง มีแต่ความบริสุทธิ์ล้วน ๆ

 


                บูชาข้าวพระเราแค่ถวายเป็นพุทธบูชา เหมือนเราถวายดอกไม้ ถวายของที่เรารัก เพื่อใจของเราจะได้เป็นกุศล เมื่อเราให้ ใจก็หลุดพ้นจากความตระหนี่ที่ครอบงำ ความตระหนี่ครอบงำเมื่อไร ความรู้สึกที่อยากจะให้จะไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่ให้ก็ไม่ได้ ไม่ได้บุญเพราะว่ากระแสความตระหนี่ดำมืดสนิททีเดียว หุ้มเคลือบเอิบอาบซึมซาบปูนเป็นบังคับธาตุธรรมเห็น จำ คิด รู้ ให้เกิดความตระหนี่ ให้หวงแหน ให้เสียดายทรัพย์ ให้ ให้ไม่เป็นทีเดียวให้มีความคิดที่ผิด ๆ จะเก็บเอาไว้กลัวหมดมั่ง กลัวมีน้อยกว่าคนอื่นมั่ง หรือไม่อยากให้เพราะเสียดายมั่ง อยากจะเอาไปใช้ในทางอื่น อยากจะเอาไปกิน อยากจะเอาไปใช้ ใช้เพลิน ๆ มั่ง ใช้ทำธุรกิจการงาน เพลินไปเรื่อยจนกระทั่งหมดเวลา เอาไว้ให้ลูกให้หลาน เอาไปสนุกกันเพลิดเพลินต่อไป ก็คิดกันได้อยู่แค่นั้น 

 


                เพราะความตระหนี่มาครอบงำ มันเป็นธาตุธรรมชนิดหนึ่งทีเดียวนะจ๊ะ เวลาที่เขามาสอดละเอียดเข้ามาบังคับนี้ ให้ไม่เป็นทีเดียว อึดอัดทีเดียว พอคิดว่าจะให้ทุกข์ใจ พอจะให้ก็ทุกข์ใจเลย ทรมานใจ ให้ไม่ได้ ร้อนลุ่มกลุ้มใจ หงุดหงิดกับคนที่มาขอ มาชวนทำดีทำบุญ หงุดหงิดทีเดียว พอหงุดหงิดก็พูดออกมาในทางที่ไม่ดี แล้วความตระหนี่นี่กระแสความตระหนี่บังคับเอาไว้ ไม่ให้กระแสบุญเข้าไปอยู่ในใจ เมื่อกระแสบุญไม่เข้าไปอยู่ในใจ กระแสบุญที่มาพร้อมกับความสุขความสำเร็จ สมบัติต่าง ๆ ก็ไหลเข้าไปไม่ได้ เมื่อไม่ได้ เมื่อไหลเข้าไปไม่ได้ กระแสบาปคือความตระหนี่นั้น เข้าบังคับบังคับเขาก็ยังส่งบาปอกุศลเข้าไปในนั้นอีก 

 


                ให้อดอยากให้ยากจน ให้ทุกข์ทรมาน เวลามาเกิดก็มาเกิดอยู่ในชีวิตที่ลำบาก พออดอยากยากจนเข้า โอกาสที่จะศึกษาความรู้ก็น้อย ต้องหาเช้ากินค่ำกันไปอย่างนั้น เมื่อมีความรู้น้อยรายได้ก็น้อย เมื่อรายได้น้อยก็ไม่พอกินพอใช้ เมื่อไม่พอกินพอใช้ก็ทุกข์ทรมาน เมื่อทุกข์ทรมานก็แสวงหาว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้ทรัพย์มา การแสวงหาที่มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือหาทางลัดคือจี้เขามั่ง ปล้นเขามั่ง ขโมยเขามั่ง ผลก็เป็นทุกข์สืบเนื่องต่อกันไปอีกยาวนานทีเดียว ติดคุกติดตะราง ตกนรก เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพทั้งสาม เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์นรก ก็วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ เพราะความตระหนี่เข้าไปบังคับบัญชาทีเดียว แต่ถ้าให้ ใจที่คิดจะให้แสดงว่ากระแสบุญเข้ามาจรดที่กลางกายนั้นแล้ว พอถูกส่วนเข้าเหมือนกดสวิตซ์ไฟ พอกดความสว่างเกิดขึ้น ความมืดก็หมดไป

 


                 เมื่อกระแสแห่งการให้ มาจรดที่กลางกาย ความรู้สึกที่ว่าจะไม่ให้ก็หมดไป ดับไป พอดับไปกระแสบุญ ก็ได้ที่ลงมาซ้อนแน่นทีเดียว บุญมาพร้อมความสุข ความสำเร็จ สมบัติต่าง ๆ นา ๆ หลั่งไหลเข้ามาแทนที่ ผู้ให้จึงได้รับ ให้น้อยได้รับน้อย ให้มากได้รับมาก ให้เป็นพิเศษได้รับเป็นพิเศษ ให้อย่างที่ไม่มีใครให้ ให้เต็มที่ทีเดียว เวลาจะได้ก็จะได้มากกว่าที่ใคร ๆ เขาเคยได้ ได้อย่างอัศจรรย์ อย่างน่าทึ่งอย่างนึกไม่ถึง อย่างที่ใครเห็นแล้วก็ไม่เชื่อว่าได้มาอย่างไร เช่น ชฎิลเศรษฐี โชติกะเศรษฐีเมนถกะเศรษฐี เวลาสมบัติเกิดขึ้นมานั่นน่ะ บังเกิดอย่างที่ใครก็ไม่เชื่อ ใครก็อัศจรรย์ ใครก็ทิ้ง มองดูแล้วทำไมมันถึงง่ายอย่างนั้น แต่กว่าที่จะง่ายอย่างนี้ได้ ท่านก็ทำบุญมาให้ง่าย ๆ ซะก่อน ที่ใครที่กำลังรู้สึกว่ายาก แต่ท่านเปลี่ยนจากความยากให้มาเป็นความง่าย ท่านทำได้อย่างนั้นนะจ๊ะ 

 


                เพราะฉะนั้นในอายตนนิพพานนั้นน่ะ กระแสธารแห่งบุญจะปนปรือ ผ่านกลางกายสว่างไสว มีความสุขอยู่ในกลางกายท่านอยู่ตลอดเวลา ทั้งเนื้อทั้งตัว อิ่มตลอดเวลา สุขตลอดเวลา เป็นบรมสุข ท่านยืนยันไว้เลย นิพพานัง ปรมัง สุขขัง นิพพานเป็นบรมสุข ไม่ใช่สุขธรรมดา สุขอย่างยิ่ง เพราะว่ากระแสธารแห่งบุญไหลผ่านตลอดเวลา จากสายธาตุธรรมเดิมของท่านมาเป็นอัตโนมัติ การบูชาข้าวพระก็เช่นเดียวกัน เราจะทำบุญใหญ่ถวายผู้รู้นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน เป็นพุทธบูชาเป็นบุญใหญ่ที่หาอะไรเปรียบได้ยาก ก็ขอให้ทุกคนทำกายวาจาใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่กันทุก ๆ คนต่อไปนะจ๊ะ 

 


                ให้เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็นึกสมมติหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติเอานิ้วชี้นิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นี่แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ท่านที่มาใหม่จำไว้นะจ๊ะ 

 


                ถ้าหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้ เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นทางเสด็จไปสู่อายตนนิพพาน ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านไปด้วยวิธีการทำใจให้หยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ยืน ไม่ได้เดิน ไม่ได้วิ่ง ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยยวดยานพาหนะอะไร ด้วยเครื่องยนต์กลไกอะไร หยุดอย่างเดียวเท่านั้น เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ ที่ตรงนี้ มีกลเม็ดในการหยุด จะต้องทำใจของเราให้สบาย ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น อย่างตั้งใจเกินไป ตั้งใจมากแล้วมันจะเครียด นั่งแล้วปวดหัว แล้วก็อย่าหย่อนเกินไป คือเผลอไม่เอาใจใส ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไป เรื่องราวต่าง ๆ อย่างนั้นเค้าเรียกว่าหย่อนเกินไป 

 


                ต้องวางใจให้สบายพอดี ๆ ในอารมณ์ที่เรามีความรู้สึกว่าสบาย มีความพึงพอใจว่าจะนึกคิดอย่างนี้ ทำความรู้สึกอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่าพอดี แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม ทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ ที่กลางกายฐานที่ ๗ ในแง่ของการปฏิบัติ อย่ากังวลกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มากเกินไป ว่าใจของเราตรงกับฐานที่ ๗ แล้วหรือยังอย่ากังวลมากถึงขนาดนั้นนะจ๊ะ เอาแค่เราคาดคะเน แล้วก็ทึกทักเอาว่า ในกลางท้องของเราตรงนี้คือฐานที่ ๗ ให้เอาใจของเราไปหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ใจของเราที่แวบไปแวบมา ประกอบด้วย ๔ อย่างคือ ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้น่ะ เอามารวมหยุดในจุดเดียวกัน ที่ฐานที่ ๗ หรือจำง่าย ๆ คือทำความรู้สึกที่ฐานที่ ๗ ในกลางท้องของเรา ทำใจให้หยุดทำใจให้นิ่ง ให้ใจหยุดนิ่งอย่างเบา ๆ สบาย ๆ 

 


                ถ้าหากใครมีนิสัยชอบคิดไปในเรื่องราวต่าง ๆ ชอบฟุ้งซ่านก็ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ จะเป็นดวงแก้วใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ที่เราเคารพกราบไหว้บูชา นึกด้วยใจ โดยไม่ใช้ลูกนัยน์ตามอง แต่ว่าเห็นได้ นึกได้ นึกว่าในกลางท้องมีดวงแก้วใส ๆ โตเท่าแก้วตา ใสเหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตา นึกอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ ในกลางท้องของเรานะจ๊ะ หรือที่ชอบองค์พระก็นึกองค์พระไปเลย นึกองค์พระ พระแก้วใส ๆ สักองค์หนึ่ง ให้ท่านนั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา เราหันหน้าไปทางไหนก็ให้ท่านหันหน้าไปทางนั้น ลักษณะเหมือนมองจากที่สูงลงไปน่ะ เห็นเศียรท่าน เห็นว่าเห็นไหล่ เห็นแขนของท่าน ซ้อนกันนั่งขัดสมาธิซ้อนนั่งขัดสมาธิ ขัดสมาธินิ่งอยู่ตรงนั้นทีเดียว นี่ถ้าใจฟุ้ง 

 


                ถ้าเป็นคนมักชอบฟุ้ง ต้องมีที่ยึดเป็นดวงแก้วหรือองค์พระอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าชอบดวงแก้วก็เอาดวงแก้วเป็นนิมิต ถ้าชอบพระแก้วก็เอาพระแก้วเป็นนิมิต แต่ถ้ากำหนดดวงแก้วถ้าเกิดเห็นองค์พระขึ้นมายิ่งดี เราก็ดูองค์พระเรื่อยไป แต่ถ้ากำหนดองค์พระแต่เกิดเห็นดวงแก้วขึ้นมาก็ยิ่งดี เราก็ดูดวงแก้วเรื่อยไป หรือกำหนดแล้วเกิดขึ้นมาทั้ง ๒ อย่างเลย องค์พระก็ดี ดวงแก้วก็ดี เราเป็นผู้มีบุญเห็นทีเดียว ๒ อย่าง ก็ดูไปทั้ง ๒ อย่าง ดูไปตรงกลางของสิ่งที่เห็น ดูเรื่อย ๆ ไปอย่างสบาย ๆ อย่าให้ตึง อย่าไปบังคับภาพ ดูอย่างสบายเหมือนดูทิวทัศน์ เหมือนดูต้นไม้ ภูเขา น้ำตก อะไรอย่างนั้น  

 


                เหมือนดูทิวทัศน์ ดูไปเฉย ๆ มีให้ดูแค่ไหนเราก็ดูไปแค่นั้น ตามใจท่านไปก่อน ท่านมีให้ดูลาง ๆ เราก็ดูลาง ๆ ท่านมีให้ดูเล็ก ๆ เราก็ดูเล็ก ๆ ท่านขยายใหญ่ขึ้นให้ดู เราก็ดูที่ท่านขยายใหญ่ขึ้นอย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ทำให้ถูกใจท่านตามใจท่านไปก่อนน่ะ มีให้เห็นแค่ไหนเราก็ดูไป แล้วถัดไปก็ดูให้ถูกใจท่าน ใจท่านอยู่กลางกายตรงฐานที่ ๗ ท่านชอบหยุด ชอบให้เราทำใจให้หยุดอยู่ในกลางท่าน ให้ใจตรงกัน ให้ใจเป็นอันเดียวกัน ท่านชอบอย่างนั้น ทำให้ถูกใจ พอถูกใจเดียวก็ใสขึ้นมาเลย หยุดนิ่งจะใสขึ้นใสขึ้น เราก็ดูเรื่อยไป ดูเฉย ๆ ดูไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น อย่าไปบังคับภาพ อย่าไปเค้นภาพ หรือไปพยายามทำให้ภาพนั้นมันชัดให้ได้ดั่งใจ อย่าทำอย่างนั้นนะจ๊ะ ผิดวิธี

 


                วิธีที่ถูกคือมีอะไรให้ดูเราก็ดูไป มีดวงแก้วให้ดูก็ดูดวงแก้ว มีองค์พระให้ดูเราก็ดูองค์พระ มีความมืดให้ดูเราก็ดูความมืด มีความสว่างให้ดูเราก็ดูความสว่าง ดูไปด้วยใจที่เป็นปกติ ไม่ต้องไปเร่งไปร้อน ไปบีบบังคับอะไร เราก็ดูไปเฉย ๆ เดี๋ยวจะถูกส่วนเอง จะถูกส่วนเอง คือมันจะเกิดความพอดีขึ้นมาเองในตอนนั้น ถูกส่วน นิ่งกายก็เริ่มเบา โล่ง โปร่ง เบาสบาย ใจก็ขยาย กว้างออกไปเรื่อย ๆ พอใจขยายเดี่ยวดวงก็ใส องค์พระก็ใสแจ่มทีเดียว ใสเหมือนเราลืมตาดู เห็นองค์พระหรือดวงแก้วทั่วไป แต่ว่ามีความสุขมาพร้อมกับการเห็น มาพร้อมกันเลย แล้วใสสว่างแจ่มกระจ่างทีเดียว กระจ่างอยู่ในกลางกาย ใหม่ ๆ ก็เห็นห่าง ๆ ก่อน เห็นห่าง ๆ เราก็ดูเรื่อยไป ดูไปธรรมดา สบาย ๆ ใจเย็น ๆ ดูไปด้วยใจที่เย็น ๆ ใจสบาย ๆ ดูให้สบาย พอถูกส่วนเดี๋ยวก็ชัดขึ้น ชัดขึ้น ชัดเท่าลืมตาเห็นทีเดียว 

 


                จนกระทั่งชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็น ชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็นเป็นยังไง เดี๋ยวเราไปดูเอง พอถูกส่วนเดี๋ยวเราจะรู้จักว่า อ้อ อย่างนี้นี่มันชัด ยิ่งกว่าลืมตาเห็น เหมือนเอากล้องเอาแว่นขยายส่องทีเดียว ชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็น ตาเราเห็นวัตถุภายนอกอย่างไร มันก็เห็นได้แค่เท่าที่เราเห็นแค่นั้นเอง ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ยิ่งกว่านี่เหมือนเอาแว่นเอากล้องติดลูกนัยน์ตาทีเดียว เห็นชัดแจ่มกระจ่าง มีความสุข มีความพึงพอใจกับการที่ได้รู้ได้เห็นอย่างนี้ทีเดียว ชัดใส บริสุทธิ์ เราก็ดูเรื่อยไป ดูไปเฉย ๆ นะจ๊ะ อย่าไปบังคับภาพ อย่าไปเค้นภาพ ดูไปเฉย ๆ เดี๋ยวดีเอง ทำอย่างนี้นะ

 


                ส่วนท่านที่ใจไม่ฟุ้ง ถ้าคิดถึงนิมิตแล้วมันตึง มันอดบังคับไม่ได้ คือ ไม่ฟุ้งแต่ชอบบังคับ นิสัยอย่างนี้ต้องแก้ด้วยวิธีทำใจเฉย ๆ ไม่ต้องไปนึกนิมิต เพราะเราไม่ฟุ้งอยู่แล้ว ให้นิ่งใจนิ่งเฉยอยู่ในกลาง นิ่งไปเรื่อย ๆ ให้หยุดกะนิ่งอย่างเดียว หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง หยุดนิ่งเฉย ให้ใจใส ใจสบาย ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเราก็จะได้ซึมซับประสบการณ์ภายใน ไปทีละเล็กทีละน้อย เรื่อยไปเรื่อย ๆ ใจก็ค่อย ๆ โล่ง ค่อย ๆ โปร่ง ค่อย ๆ เบา ค่อย ๆ สบายค่อย ๆ ขยายกว้างออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีความรู้สึกเหมือนไม่มีร่างกาย ไม่มีตัวตน 

 


                นิ่งแล้วก็นิ่งต่อไปในจุดที่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ศูนย์กลางกายอยู่ตรงไหน คือไม่รู้จะเอาใจไว้ตรงไหนแล้วตอนนี้ เพราะมันโล่งไป นิ่งตรงไหนก็เอาใจนิ่งตรงนั้นแหละ ที่เดิมที่เดียว เป็นที่ที่ดีนะที่ตรงนี้ นิ่งเฉยนิ่งไป พอใจเรานิ่ง ทั้งๆ ยังไม่เห็นอะไรลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอวกาศ นิ่ง พอเรานิ่งเดี๋ยวถูกส่วนเอง พอถูกส่วนเดี๋ยวก็เห็นดวงธรรมขึ้นมา เห็นดวงธรรมเห็นกายภายใน เห็นองค์พระ มันก็จะเห็นอย่างนี้นะ เห็นอะไรเราก็ดูเรื่อยไป ดูไปธรรมดา สบาย ๆ เห็นมั้ยจ๊ะว่าวิธีการทำไม่ได้ยากอะไรเลย ถ้าทำถูกวิธีซะแล้ว สิ่งที่ยากก็ง่าย ถ้าทำไม่ถูกวิธี สิ่งที่ง่ายมันก็ยาก เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับถูกวิธีไหม 

 


                แต่ถ้าใครยังฟุ้งอยู่น่ะ นอกจากนึกถึงนิมิตแล้ว ก็ภาวนาสัมมาอะระหัง ประกอบไปด้วย จะภาวนากี่ครั้ง กี่ครั้งก็ได้เท่าที่เราพอใจ อยากภาวนา ๑๐ ครั้ง ก็ ๑๐ ครั้ง ถ้า ๑๐ ครั้งหายฟุ้ง พอครบ ๑๐ ครั้งเราก็เลิก อยากภาวนา ๑๐๐ ครั้ง พอครบ ๑๐๐ ครั้งไม่ฟุ้งเราก็เลิก คือภาวนาไปจนกว่าจะเลิกฟุ้ง หายฟุ้งแล้วเราก็เลิก แล้วก็ทำใจหยุด นิ่งอย่างเดียว เพราะหยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดกับนิ่งอย่างเดียวนะจ๊ะ ทำอย่างนี้นะ เดี๋ยวจะพบความอัศจรรย์ทีเดียว เข้าถึงดวงธรรมถึงกายภายใน ถึงพระธรรมกาย พอเห็นแล้วก็รักษาไว้ อย่าให้หาย จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็ตรึกไว้เรื่อยเลย จะมีภารกิจอะไรก็ตาม ตรึกเรื่อย จะเข้าห้องน้ำห้องส้วม ทำไปเถอะไม่บาป นึกไปเรื่อย ให้นิ่งตรึกตลอดเวลาเลย นิ่งชัดใสแจ่ม เมื่อเห็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาแล้วต่อไปจะได้ศึกษาวิชชาธรรมกายกัน นี่ต้องอย่างนี้นะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ทำใจให้หยุดให้นิ่งกัน สักพักหนึ่ง ตั้งใจให้ดีกันทุกคนนะจ๊ะ  

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.032728580633799 Mins