สั่งสมหยุดนิ่ง
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาส โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก พอสบายนะจ๊ะ ส่วนท่านที่นั่งขัดสมาสทำสมาธิไม่ถนัด ก็จะนั่งชั้นเดียวก็ได้นะจ๊ะ หรือจะนั่งพับเพียบก็ได้ แต่ท่านั่งท่านี้ให้ศึกษาเอาไว้ เป็นท่านั่งที่หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านถอดแบบออกมาจากพระธรรมกายในตัว หลับตาของเราเบา ๆ หลับตาพอสบายคล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตาหลับพอสบาย ๆ นะจ๊ะทุก ๆ คน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี อย่าให้มีส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเราเกร็งหรือเครียด ให้ทุกส่วนของร่างกายเราผ่อนคลายให้หมด ตั้งแต่เปลือกตา หน้าผาก ศีรษะ ต้นคอ บ่าไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ทั้งร่างกาย ให้ผ่อนคลายให้หมดนะจ๊ะ
เมื่อเราปรับร่างกายดีแล้ว ต่อจากนี้ก็ให้ปรับใจ ใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงธรรมนั้น จะต้องเป็นใจที่ปลอดโปร่งว่างเปล่าจากภารกิจ เครื่องกังวลทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำใจของเราให้ปลอดกังวล โดยปล่อยวางเครื่องกังวลเหล่านั้นชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องธุรกิจการงาน ที่คั่งค้างอยู่ในใจ เรื่องครอบครัวเรื่องการศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้เนี่ย เราต้องปลดปล่อยวาง ทิ้งไปให้หมด เหมือนเราไม่เคยเจอสิ่งเหล่านี้มาก่อนเลยน่ะ แล้วก็ทำตัวของเราประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก โลกนี้มีแต่เราคนเดียว ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ โลกจักรวาลต่าง ๆ เรามีเราอยู่คนเดียว เมื่อเราทำความรู้สึกอย่างนี้แล้ว ก็ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความขุ่นมัว ที่มีอยู่ในใจเนี่ย ให้มันหมดไป ให้ใจของเรานี้ใสบริสุทธิ์ เยือกเย็นนะจ๊ะ ให้ใจของเรานี่ผ่องใส บริสุทธิ์ เยือกเย็น การทำอย่างนี้แหละคือการเตรียมตัวเตรียมใจ ที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัวของเรา ปรับร่างกาย ปรับจิตใจ ทิ้งภารกิจ ทำใจให้ผ่องใส
พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งและที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในตัวของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราจะไปปรุงแต่งหรือสร้างมันขึ้นมาได้ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านได้เข้าไปค้นพบที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงภายในตัวของท่าน ที่มีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับที่เรามีนี่แหละ ระหว่างเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ท่านก็แสวงหาที่พึ่งอย่างนี้ ที่พึ่งที่ระลึกมาตลอดเวลา แห่งชีวิตของการเดินทางของท่านน่ะ ในสังสารวัฏ แสวงหานะมาตลอด เพราะว่าชีวิตนั้นน่ะเป็นทุกข์ พื้นเพพื้นฐานของชีวิตน่ะเป็นทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่เกิดนั่นมีทุกข์ประจำ เกิด แก่ ตาย มีทุกข์จรเข้ามา ทำให้เกิดความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทุกข์ทรมาน รู้สึกอึดอัดคับแคบ ไม่เป็นอิสระ
มีความทุกข์ทรมานอย่างนี้เนี่ย ท่านก็แสวงหาที่พึ่งที่ระลึก คือมีทุกข์แล้วพึ่งแล้วทำให้มีกำลังใจน่ะ ที่จะต่อสู้กับความทุกข์ กว่าจะมาเจอที่พึ่งที่แท้จริง ที่พึ่งแล้วดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิงน่ะ ใช้เวลาเดินทางศึกษาค้นคว้าอันยาวนานทีเดียว ระหว่างเดินทางในสังสารวัฏ เมื่อความรู้ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่เจอผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริงที่เข้าถึงจริง ๆ ท่านก็แสวงหาไปเรื่อย ๆ เจอต้นไม้ใหญ่ ก็เข้าใจว่าต้นไม้นี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้จะเป็นเรื่องทุกข์โศกโรคภัย หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก็พึ่งต้นไม้กันไปก่อน ไปเจออารามศักดิ์สิทธิ์ อารามเก่า ๆ ดูแล้วขลัง น่าเลื่อมใสก็พึ่งกันไป พึ่งป่าพึ่งเขา พึ่งอาราม พึ่งต้นไม้ พึ่งสัตว์เดียรัจฉานที่มีรูปร่างแปลก ๆ เกิดแบบผิดธรรมชาติน่ะ ก็พึ่งพาอาศัยกันไปอย่างนั้น
แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม เพราะสิ่งเหล่านั้นน่ะ ยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือตัวของสิ่งที่พึ่งนั้นน่ะ ยังไม่เที่ยง ยังเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วยังเสื่อมสลายไปน่ะ ต้นไม้ก็ดี ภูเขาตึกรามบ้านช่อง อารามศักดิ์สิทธิ์อะไรสารพัด ก็ยังมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วเสื่อมไป ท่านก็เลยแสวงหาที่พึ่งต่อไปอีก จนกระทั่งไปพบผู้รู้ที่ดีขึ้นกว่านี้ไปอีกระดับหนึ่ง ผู้รู้ท่านนั้นน่ะ ท่านเบื่อหน่ายในทางโลก ก็ปลีกตัวออกจากเครื่องกังวล มาเจริญสมาธิภาวนา สามารถระลึกชาติหนหลังได้ในระดับหนึ่ง เช่นระลึกได้ ๔๐ กัปป์ สามารถถอดกายไปสู่พรหมโลกได้ ไปสู่รูปภพได้ พบปะเจอะเจอพรหมที่มีอายุยืน ๆ
พรหมนั้นอยู่มายาวนาน นานจนกระทั่งลืมไป ลืมไปว่ามันนานเท่าไหร่ กระทั่งเข้าใจผิดว่าตัวนั้นเป็นอมตะ เป็นผู้สร้างของสรรพสิ่งทั้งหลาย เมื่อผู้รู้ท่านนั้นมาพบพรหมนั้น ก็เข้าใจว่าเจอพระผู้สร้างแล้ว ก็นำมาถ่ายทอด และก็คิดระบบวิธีการ ที่จะเข้าไปรวมกันเป็นหนึ่ง กับพระผู้สร้างนั้น คิดถึงพิธีกรรมที่จะสวดสาธยายพระเวธ เพื่อจะให้เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระผู้สร้าง ที่จริงก็คือพรหมนั่นเอง พรหมก็คือผู้ที่ เมื่อเป็นมนุษย์นั้นได้ทำสมาธิภาวนา ได้รูปฌานสมาบัติ ได้อรูปฌานสมาบัติ พอละโลกก็ถอดกายไปเป็นพรหม ไปเป็นอรูปพรหม ที่มีอายุยืนยาว จนลืมไปเลยว่านานแค่ไหน นึกว่าเป็นอมตะนั่นแหละ
เมื่อคำสอนนี้เผยแพร่มา พระบรมโพธิสัตว์ที่อินทรีย์ยังอ่อนอยู่ ก็ทิ้งที่พึ่งเก่า แสวงหาที่พึ่งใหม่ แต่ที่พึ่งนี้ ความรู้ก็ยังไม่สมบูรณ์ ได้ความรู้ในระดับหนึ่ง ก็พึ่งกันไปได้ชั่วคราว จนกระทั่งมาเจอผู้รู้คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก่อน ๆ ท่านรู้แจ้งเห็นจริง เพราะว่าท่านหมดกิเลส กาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์จากสรรพกิเลสทั้งหลาย กิเลสอาสวะหมดสิ้นไป เข้าถึงธรรมกายอรหัตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ กิเลสอาสวะไม่มีเข้ามาเจือปนได้เลยบริสุทธิ์ล้วน เมื่อบริสุทธิ์ล้วน ๆ เข้า ญาณทัสสนะ หรือสัพพัญญุตญาณก็บังเกิดขึ้น รู้แจ้งเห็นจริงตลอดหมด
ตลอดทั่วถึงนิพพาน ภพ ๓ โลกันตร์ ตลอดนิพพาน ภพ ๓ โลกันตร์ ว่าภายในภพภูมิต่าง ๆ นั้นน่ะ มีความเป็นอยู่อย่างไร อะไรเป็นปฏิปทา หรือปฏิบัติอย่างไรจึงจะไปเกิดอยู่ในภพภูมินั้น เช่นทำไมถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ ทำไมถึงมาเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม อรูปพรหม หรือทำไมถึงจะมาเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรกหรือทำไมไปเกิดอยู่ในโลกันตร์นรก รู้เห็นได้ด้วยญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นธาตุล้วน ธรรมล้วน ๆ เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรม ธาตุธรรมที่สะอาดบริสุทธิ์ มีญาณทัสสนะที่กว้างไกลครอบคลุมทั้งหมด คลุมนิพพาน คลุมภพ ๓ คลุมตลอดไปถึงโลกันตร์ นิพพาน ภพ ๓ โลกันตร์ คลุมไปหมด ได้ทั่วถึง ผู้รู้ทุก ๆ พระองค์ที่ผ่านมาน่ะ
ท่านรู้ได้ด้วยสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในตัว ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างถาวร ก็คือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เมื่ออย่างประกอบกันเกิดขึ้น ก็จะทำให้มีญาณทัสสนะบังเกิดขึ้น พุทธรัตนะก็คือพระธรรมกายที่มีอยู่ภายในตัว เป็นพระแก้วขาวใส ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ครบถ้วนบริบูรณ์ทุกประการ เกตุดอกบัวตูม นั่งทำสมาธิเข้านิโรธอยู่ตลอดเวลาน่ะ ธรรมรัตนะคือดวงธรรม หรือความบริสุทธิ์ล้วน ๆ น่ะ อยู่ในกลางท่าน เป็นแหล่งรวมแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ แหล่งรวมของความรู้ที่จะทำให้ทุก ๆ ชีวิตบริสุทธิ์ ทำให้ธรรมกายเนี่ยน่ะทรงอยู่ได้ ความรู้ทั้งหลายหลั่งไหลออกมาจากตรงนี้แหละ
ผุดเกิดขึ้นมา เป็นความรู้หรือวิธีการที่จะทำให้เป็นธาตุล้วน ๆ ธรรมล้วน ๆ บริสุทธิ์เช่นเดียวกับพระองค์ท่าน ออกมาจากธรรมรัตนะตรงนี้ สังฆรัตนะก็ได้แก่ธรรมกายละเอียดที่ซ้อนอยู่ภายใน อยู่ภายใน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี่แหละคือที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริง สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งและที่ระลึกได้ จะต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง และก็เป็นอัตตา เป็นนิจจังก็คือจะต้องคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา ต้องคงที่ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข เป็นสุขทีเดียว ไม่มีทุกข์เลยแม้แต่นิดเดียว มีแต่สุขล้วน ๆ เป็นอัตตา คือเป็นตัวของตัวเองได้ เป็นอิสระกว้างขวางทีเดียว จะให้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นน่ะ
หลุดพ้นจากกรอบวิชาที่เค้าบังคับบัญชา ให้เกิด ให้แก่ ให้เจ็บให้ตาย ให้ทุกข์ทรมาน ให้เป็นนั่นเป็นนี่ ให้ไม่รู้อะไรต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น นิจจัง สุขขัง อัตตา นี่คือคุณสมบัติของสรณะที่พึ่งที่ระลึก คือพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านเคยตรัสเอาไว้ว่า จะมีตถาคตมาตรัสรู้หรือไม่มาก็ตาม สิ่งนี้ก็มีอยู่แล้ว ธรรมธาตุเหล่านี้เนี่ย มีมาแต่ดั้งเดิม เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ท่านก็ยังไปไม่ถึง ท่านเป็นแต่เพียงว่าได้เข้าถึงจุดนี้ด้วยตัวของพระองค์เอง โดยไม่มีครูใครคนใดสอนมาก่อน ไม่มีในทฤษฎี ไม่มีในปริยัติหรือไม่มีครูคนไหนสั่งสอนมา แต่ว่าค้นพบจากการทำใจหยุดนิ่ง จนกระทั่งได้เข้าถึง เมื่อเข้าถึงตรงนั้น ความบริสุทธิ์ก็ดี ความรู้แจ้งก็ดีสัพพัญญุตญาณก็ดี ก็บังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน พร้อมกับที่เข้าไปถึงจุดตรงนี้
เราก็จะต้องทำใจของเรานี่แหละให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าไปถึงรัตนะทั้ง ๓ ที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐของเราให้ได้ และในฐานะเราเป็นชาวพุทธ เราจะต้องเข้าถึงตรงนี้ให้ได้ คำว่าพุทธศาสนาก็หมายถึงว่า ความรู้อันบริสุทธิ์หรือคำสั่งสอนอันบริสุทธิ์นี้เนี่ย บังเกิดขึ้นจากผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริง มีญาณทัสสนะครอบไปหมด ทั่วถึงหมดนิพพาน ภพ ๓ โลกันตร์ ครอบคลุมหลักธรรมทั้งหลายทั้งหมด รู้แจ้งแทงตลอดในทุกสิ่ง นี่ถึงเรียกว่าพุทธศาสนา เราเป็นชาวพุทธถ้าเรายังเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ตรงนี้ยังไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ ยังไม่ได้เป็นผู้รู้แจ้งที่สมบูรณ์ ยังเป็นเพียงในนาม ยิ่งถ้าหากว่ารู้แต่เราไม่ปฏิบัติ เราก็แค่นับถือพุทธศาสนาแค่เป็นอาภรณ์ประดับกาย เหมือนเฟอร์นิเจอร์อะไรสักอย่าง ประดับร่างกายของเรา มียี่ห้อว่าเป็นชาวพุทธเท่านั้น
ดังนั้นนี่คือหลักที่สำคัญนะจ๊ะ เดือนหนึ่งเรามาประชุมพร้อมกันเพื่อทำความเข้าใจตรงนี้ และตอกย้ำ หลวงพ่อตอกย้ำตลอดเวลาเกือบ ๓๐ ปีเนี่ย ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เนี่ยก็เพื่อจะให้เข้าถึงตรงนี้ ให้เข้าถึงให้ได้ ซึ่งพวกเรามักจะฟังกันผ่าน ๆ หรือฟังแล้วก็ไม่นำไปปฏิบัติ ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ มัวแต่เพลินในการทำมาหากินน่ะ แล้วก็หมดเวลา แล้วก็เพลินต่อการเที่ยวสนุกเพลิดเพลินไป เล่น ๆ ดูอะไรเล่น ๆ นะ เพลิน ๆ กันไป หมดกันไปวัน ๆ หนึ่งเท่านั้นน่ะ แต่ไม่เคยให้โอกาสแก่ตัวเอง ที่จะแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ทั้ง ๆ ที่ร่ำร้องว่ามีทุกข์มาก อยากจะเจอความสุขที่แท้จริง
แต่ก็ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ดังนั้นเดือนหนึ่งจึงมีความจำเป็นที่หลวงพ่อจะต้องตอกย้ำซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพื่อให้เราลงมือปฏิบัติกันให้แท้จริงกันซักทีนึง จะได้เข้าถึง จะได้ไม่เป็นแต่เพียงฟังคนอื่นที่เค้าเข้าถึงแล้วเค้าก็มาเล่าให้เราฟังว่าเข้าถึงแล้วมีความสุข จนกระทั่งพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เราได้ยินน่ะ เราก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งนึง เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์เพราะฉะนั้นดีที่สุดก็คือเข้าให้ถึงนะจ๊ะ เดือนหนึ่งเรามาเจอกันครั้งหนึ่งเนี่ย พยายามปฏิบัติให้ถึง ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่นี้ เรากำลังทำในสิ่งที่ กำลังแสวงหาในสิ่งที่มันมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่แล้วน่ะ แสวงหาสิ่งที่มีอยู่มันจึงจะเจอ แต่เวลาที่เราหมดไปในชีวิตนั้นน่ะ
เราแสวงหาสิ่งที่มันไม่มีอยู่ อยากจะไปหาความสุขที่แท้จริงจากสิ่งที่ไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง อยากจะไปหาความรู้แจ้งจากสิ่งที่ไม่ได้มีความรู้แจ้ง เพราะฉะนั้นชีวิตของเราจึงไม่สมบูรณ์ วันนี้เรากำลังจะมุ่งไปแสวงหาสิ่งที่มันมีอยู่ คือ พระธรรมกายในตัว มีอยู่ทุก ๆ คนในโลก ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นมา เชื้อชาติใด ศาสนาใดก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างในเบื้องต้น หลากหลายต่าง ๆ แต่มีสิ่งจริงแท้ที่มีอยู่สิ่งเดียวคือในตัวของทุกคนมีพระธรรมกายนะ
มีเรื่องจริงที่บังเกิดขึ้นที่สวนบัว ที่เชียงใหม่ ที่หลวงพ่อจัดให้มีการปฏิบัติธรรมช่วงสั้น ครั้งละ ๒ วัน มีท่านหนึ่งท่านบังเกิดขึ้นในตระกูลที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่ท่านได้รับคำเชิญชวนให้ไปปฏิบัติธรรม และผู้ที่เชิญชวนก็อธิบายให้ฟังว่าการปฏิบัติธรรมนั้นน่ะ ไม่ใช่เป็นการจะไปทำให้เปลี่ยนแปลงศาสนาหรือขัดแย้งความเชื่อถือดั้งเดิม นี่เป็นเพียงแต่วิธีที่กำลังจะแนะนำให้เข้าถึงความสุขภายในเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความเชื่อใด ๆ ทั้งสิ้นใครก็ได้ที่ต้องการแสวงหาความจริงและต้องการแสวงหาความสุขที่แท้จริง ก็ไปปฏิบัติได้ ท่านนี้ท่านก็ไปปฏิบัติธรรม แต่เนื่องจากว่าท่านคุ้นเคยกับความเชื่อดั้งเดิมและไม่คุ้นเคยกับความเชื่อใหม่ ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้นเมื่อถึงคราวที่เข้าประชุมในห้องปฏิบัติ พุทธศาสนิกชนน่ะก็ก้มกราบพระอาจารย์ แต่ท่านมีความรู้สึกขัดแย้ง ว่าคำสอนดั้งเดิมนั้นน่ะ ห้ามไหว้พระ ทั้ง ๆ ที่พระเนี่ยเป็นคนดี เป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เป็นผู้ให้อย่างเดียวน่ะ และเป็นผู้แสวงหาความบริสุทธิ์ หาความดีตลอดชาติ ไม่เคยไปคิดจะไปเบียดเบียนใคร หรือทำให้ใครเดือดร้อน มีแต่คิดพัฒนาตัวเองให้บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จากความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ถูกสอนให้ปิดหู ปิดตากันมาอย่างนั้นน่ะตลอด ว่าของดีอย่างนี้น่ะอย่าไปไหว้ อย่าไปพบ อย่าไปเห็น
ถ้าเห็นแล้วก็ให้รังเกียจ คือไม่อยากให้พบพระนั่นเองนั่นแหละ ท่านก็ไม่ไหว้ไม่กราบ ซึ่งพระอาจารย์และทุกท่านที่ไปนั้นก็ไม่ได้ถือสา เพราะว่าท่านไม่คุ้นเคยกับพิธีกรรม ประกอบกับข้อห้ามดั้งเดิมนั้นมีอยู่ แต่ก็ทำสมาธิภาวนาด้วยกัน แม้แต่คำภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ก็รู้สึกขัดแข้งในใจ ลำบากใจที่จะภาวนา สัมมาอะระหัง เพราะว่ายึดมั่นถือมั่นในคำสอนดั้งเดิมอยู่ กลัวจะไปผิดคำสอนแล้วเป็นบาป บาปแล้วยังไม่พอจะถูกลงโทษเสียอีก เพราะฉะนั้นก็ภาวนาในสิ่งที่ตัวเคารพนับถืออันสูงสุด ท่านก็ภาวนาของท่านไปด้วยการระลึกนึกถึงชื่อของสิ่งที่สูงสุดนั้นน่ะ
ภาวนาไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจน่ะ ในไม่ช้าใจของท่านก็หยุดนิ่งอยู่ภายใน เข้าไปพบความสว่าง พบดวงธรรมและก็พบพระธรรมกายที่อยู่ในตัวท่าน ถึงตรงนี้สิจ๊ะ ท่านก็ปฏิเสธทันทีว่าไม่เอา องค์พระที่ผุดเกิดขึ้นในตัวน่ะในตัวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีความตั้งใจเพราะรังเกียจน่ะ ไม่อยากให้ขึ้น แต่ว่าจิตของท่านมันเริ่มบริสุทธิ์ มันเริ่มหยุดนิ่ง ก็เข้าไปถึงสิ่งที่มีอยู่ แต่ท่านไม่เข้าใจ ว่าสิ่งที่มีอยู่นี้น่ะมันมีอยู่ ในตอนแรกก็ปฏิเสธ พยายามที่จะรื้อฟื้นจิตขึ้นมาสู่ระดับหยาบอีก จากละเอียดมาสู่ระดับหยาบ แต่เนื่องจากกุศลเก่าของท่านมีมากพอ ก็ตรึงท่าน ตรึงใจท่านให้ติดอยู่กับพระธรรมกายภายในนั้นตลอดเวลา
ท่านก็เห็นสิ่งนั้นและก็เป็นสิ่งนั้นด้วย ความสุขก็ทะลักพรั่งพรูออกมาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านลุกออกจากห้องปฏิบัติ แล้วก็ไปนั่งร้องไห้อยู่ข้างนอกห้อง แต่ว่าเป็นน้ำตาแห่งความปีติ เป็นน้ำตาเย็นที่หลั่งไหลออกมาด้วยความปีติ ที่ได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว พระอาจารย์ได้ไปถามท่านว่าร้องไห้ทำไม ท่านก็พูดออกมาซึ่งเป็นประโยคที่น่าฟังทีเดียว บอกว่า ได้ค้นพบสิ่งที่มีอยู่ในตัวของท่านเอง ได้ค้นพบแล้วแม้ว่าจะเริ่มต้นภาวนาด้วยถ้อยคำที่ไม่ใช่สัมมาอะระหังก็ตาม และเดี๋ยวนี้ยังเป็นอยู่เลย ยังเป็นองค์พระอยู่เลย มีความสุขมาก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต มีความปลื้มปีติ ก็ทนไม่ไหว น้ำตาจึงไหลออกมา
เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า สิ่งที่มีอยู่แล้วมันก็ยังมีอยู่ การแสวงหาสิ่งที่มีอยู่ก็จะต้องเจอซักวันหนึ่ง เราชาวพุทธแท้ ๆ ถ้าหากว่าไม่แสวงหาสิ่งที่มีอยู่ในตัว ซึ่งได้ยินได้ฟังมาตลอด ก็แย่เต็มที่นะจ๊ะ ให้ทุกคนเริ่มต้นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้ได้เข้าถึงสรณะภายในที่มีอยู่ในตัวของเราแล้วทุก ๆ คน คือพระธรรมกายการจะเข้าถึงพระธรรมกายนั้นได้มีอยู่วิธีเดียวเท่านั้น วิธีอื่นไม่ประสบความสำเร็จ เราจะไปทำความเพียรด้วยความลำบากก็ไม่สำเร็จ หรือปล่อยเพลิดเพลินไป สนุกสนานเฮฮา ก็ไม่สำเร็จ วิธีเดียวก็คือต้องทำใจนี้ให้หยุดให้นิ่งอย่างสบาย ๆ ใจที่แวบไปแวบมานะจ๊ะ
นำกลับเข้ามาที่ตั้งของใจ ในปริมณฑลของใจ คือเอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจของเราจะต้องหยุดอยู่ที่ตรงนี้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งจะนอน จะยืน หรือจะเดิน ใจจะต้องหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ฐานที่ ๗ ให้สมมติหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เส้นด้ายเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ ๒ นิ้วมือ คือสมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ให้เอาใจของเรานะจ๊ะที่แวบไปแวบมาน่ะ เอามาหยุด หยุดนิ่ง ๆ อยู่ที่ตรงนี้เนี่ย หยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ วิธีหยุดก็มีกลเม็ดในการหยุด เนื่องจากใจของเราได้ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ คิดฟุ้งซ่านหลายเรื่อง ดังนั้นก็จำเป็นต้องคิดเรื่องเดียว หัดคิดเรื่องเดียว เรื่องที่ควรคิดน่ะ ก็ควรคิดถึงเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คิดถึงพระพุทธเจ้า โดยนึกเอาพระแก้วใส ๆ พุทธปฏิมากรน่ะ เอาใส ๆ นะจ๊ะ องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ที่เราชอบ น้อมอาราธนาท่านมานั่งขัดสมาสทำสมาธิ อยู่ในกลางท้องของเราน่ะ
กลางกลาง ขนาดใหญ่เล็กแล้วแต่ใจเราชอบ แต่นึกให้ท่านใส ๆ เหมือนทำด้วยเพชรทั้งก้อน เอาเพชรมาแกะเป็นพระใสบริสุทธิ์ ให้ท่านนั่งทำสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา และก็ภาวนาสัมมาอะระหังเรื่อยไป ใจที่นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างนี้เนี่ย ผูกสมัครรักใคร่ในท่านให้มาก เหมือนชายหนุ่มรักหญิงสาว หญิงสาวรักชายหนุ่ม นึกถึงคู่รักของตัวน่ะ ด้วยใจที่จรดจ่อทีเดียว อย่างนี้ตลอดไป อย่างสบาย ๆ หรือจะนึกถึงดวงแก้วสัญลักษณ์แทนธรรมรัตนะ
ดวงแก้วกายสิทธิ์กลมรอบตัวก็ได้นะจ๊ะ แล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหังเรื่อยไป หรือจะนึกสังฆรัตนะ นึกถึงเป็นหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญก็ได้ ครูของเราน่ะ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย อย่างใดอย่างหนึ่งนะจ๊ะ พระแก้วใส ๆ หรือดวงแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ใส ๆ บริสุทธิ์ และก็ภาวนาเรื่อยไป และทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ช้าใจก็จะหยุดนิ่งถ้าหากใครมีปกติใจไม่ค่อยฟุ้ง แล้วพอนึกถึงองค์พระ ดวงธรรม หรือหลวงพ่อวัดปากน้ำแล้ว อดที่จะไปบีบหัวตา หรือบังคับใจไม่ได้ จะเอาใจหยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายโดยไม่คิดอะไรเลยก็ได้เหมือนกันนะจ๊ะ
ทุกวิธีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้เนี่ย เป็นวิธีฝึกใจให้หยุดนิ่ง แต่ว่าทุกวิธีจะต้องทำอย่างสบาย ๆ สบายเนี่ยสังเกตตรงไหน สังเกตตรงที่เราพึงพอใจ ชอบ นึกอย่างนี้ภาวนาอย่างนี้แล้วสบาย ชอบอย่างนี้ หรือนึกอย่างนี้ วางใจนิ่งอย่างนี้แล้วสบาย ชอบอย่างนี้นะจ๊ะ ก็ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ คำว่าสม่ำเสมอหมายความว่า ต้องทำตลอดเวลา ตลอดเวลาในอริยาบถทั้ง ๔ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ คนเรามันก็มี ๔ อริยาบถอย่างนี้แหละ นึกไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ
ในช่วงที่มีภารกิจจะต้องเรียนหนังสือ บริหารงาน ดูแลครอบครัว ส่วนหนึ่งเราก็นึกเอาไว้ภายใน อีกส่วนหนึ่งก็แบ่งไปภายนอก ใหม่ ๆ มันก็ขลุกขลักหน่อย ไม่รู้จะทำยังไงให้ทั้ง ๒ อย่างไปด้วยกัน แต่พอเราทำบ่อย ๆ เข้า ในกลางตัวเราจะมีองค์พระ มีดวงแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ แต่ปากก็พูดไป ตาดู หูฟัง ใจนิ่งอยู่ภายใน มันไปกันพร้อม ๆ กันได้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ทีเดียว ผลที่ได้ก็จะแตกต่างจากที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ก่อนทำภารกิจแต่ใจไม่ได้หยุดอยู่ภายในตัว
มันก็จะมีเรื่องสับสนวุ่นวาย ทำให้ใจขุ่นมัวอยู่ตลอดเวลา กระสับกระส่ายทุรนทุราย อึดอัดคับแคบ เซ็งเครียด เบื่อกลุ้มเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าภายในหยุดนิ่งภายนอกเคลื่อนไหว สองประสานงานสำเร็จ คือภายในเราก็เดินทางไปถึงพระรัตนตรัยด้วย ภายนอกก็ประกอบสัมมาอาชีวะ ทำมาหากินกันไป เพื่อให้ได้ปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ทำสาธารณประโยชน์ แต่ภายในหยุดนิ่งอย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้นะจ๊ะ สองประสานงานสำเร็จ งานทางโลกก็สำเร็จ งานสร้างบารมีทางธรรมสำเร็จ
วันเวลาที่ผ่านไปก็เป็นวันเวลาที่มีคุณค่า เราใช้ทุกอนุวินาทีในการแสวงหาความบริสุทธิ์ ความดี ความรู้แจ้ง ตลอดเวลาเลย แล้วก็จะเกิดความอัศจรรย์ว่า เมื่อเราทำสองสิ่งนี้ควบคู่กันไปด้วยแล้วเนี่ย อุปสรรคต่าง ๆ นานา ในชีวิตมันก็จะค่อย ๆ ลดละเลิก ถอยหลังกันออกไป อย่างที่เราไม่รู้ตัว เราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นในขณะความทุกข์ก็ลดลง เราจะมีความสำเร็จเพิ่มขึ้นในขณะที่อุปสรรคก็ลดลง ควบคู่กันไปอย่างนี้ ทำได้อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าชาวพุทธนะจ๊ะ
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็เอาใจหยุดนิ่งใน ๓ สิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ารักที่จะนึกถึงพระพุทธเจ้าก็นึกเป็นพระแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ รักที่จะนึกถึงพระธรรมคำสอนของท่าน ก็นึกถึงธรรมรัตนะ เป็นดวงแก้วใส ๆ บริสุทธิ์ ถ้าจะนึกถึงสังฆรัตนะก็นึกถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ให้ใสบริสุทธิ์อยู่ภายใน พอเรานึกไปเรื่อย ๆ อย่างนี้นะจ๊ะ นึกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือวางใจนิ่งเฉย ๆ พอถูกส่วนเข้า กายก็เริ่มเบา ปลอดโปร่งเบาสบาย ใจขยาย เบ่งบานออกไปอย่างไม่มีขอบเขต
ร่างกายของเราน่ะ เหมือนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรรยากาศ ค่อย ๆ ถูกลืมไปทีละนิด ทีละหน่อย จนกระทั่งความรู้สึกว่ามีร่างกายก็หมดไป มีแต่ใจดวงเดียวกับธรรมที่สัมผัส จะเป็นองค์พระ จะเป็นดวงแก้ว จะเป็นหลวงพ่อวัดปากน้ำ ก็จะปรากฏเกิดขึ้นมาเป็นอุคคหนิมิต คือติดตาติดใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อละเอียดมากเข้าก็ดูเหมือนมีชีวิตชีวา สามสิ่งนั้นก็จะขยายเป็นปฏิภาคนิมิต ใหญ่บ้างเล็กบ้าง เปลี่ยนแปลงสีสันมั่งเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีใส หรือสีอะไรก็แล้วแต่ สีสุดท้ายจะใสบริสุทธิ์เป็นแก้วทีเดียว เราก็ยังคงทำใจให้หยุดนิ่งอย่างนั้นอยู่ไปเรื่อย ๆ นะจ๊ะ ตอนนี้สำคัญเลยนะ
พอเราหยุดนิ่งไปเรื่อย ๆ ถูกส่วนเข้า ทั้งหมดนั้นเลยนะจ๊ะ ที่เรานึกมาตั้งแต่ตอนแรก มันวูบหายไปเลย ทั้งหมดน่ะ วูบหายไป ใจจะตกศูนย์เข้าไปสู่ภายในน่ะ ทั้ง ๓ สิ่งที่เป็นประดุจยานพาหนะที่จะเดินทางมาสู่ปฐมมรรค ทั้ง ๓ นั้นจะวูบ แว๊บหายไปเลย ใจก็ตกศูนย์วูบลงไปก็จะเข้าถึงดวงธรรมเบื้องต้น เห็นหนทางเข้าถึงธรรมเบื้องต้น ความบริสุทธิ์ที่แท้จริงเบื้องต้น บังเกิดขึ้น เป็นต้นทางในการไปสู่อายตนะนิพพาน อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน สุกใสบริสุทธิ์ทีเดียว ยิ่งกว่านอนหงายมองดูท้องฟ้าน่ะ
เพราะเราไม่มีตัวตนเลยน่ะ ตอนนั้นมีเรากับดวงธรรมเท่านั้น ต่างก็ดึงดูดเข้าหากัน ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ จากเล็กมาใหญ่ จากใหญ่มาเป็นตัวของเรา กระทั่งกลืนกันเป็นเนื้อหนังเดียวกัน แล้วก็ขยายไปพร้อม ๆ กัน ตอนนี้มีความสุขมาก เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อนเลย แต่เป็นประสบการณ์ที่เราเกิดความพึงพอใจที่สุดในชีวิต ยิ่งกว่าประสบความสำเร็จในธุรกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้นในโลก ยิ่งกว่าการได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ
เป็นความสุขที่เรายอมรับว่า นี่คือความสุขที่แท้จริง ที่แตกต่างจากที่เราเคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐีของโลกก็ตาม สุขก็ไม่เท่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี มาถึงอันนี้เทียบกันไม่ได้เลย สุขยิ่งกว่าเป็นนั่นเยอะ ปัญหาไม่มีเลย แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่านี่คือสุขสุดยอดนะ นี่คือจุดเริ่มต้นเท่านั้น ขนาดจุดเริ่มต้นของปฐมมรรคยังยิ่งใหญ่กว่าได้สมบัติทั้งโลกเอามารวมกัน หลังจากนั้นใจของเราก็จะมุ่งไปแสวงหาสุขที่ยิ่งกว่านี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะทิ้งสุขเล็กน้อยเข้าสู่สุขปานกลาง สู่ความสุขพอประมาณ แล้วก็จะเดินทางต่อไปเรื่อย ๆ
ทิ้งสุขพอประมาณ เพื่อให้เข้าไปถึงสุขอย่างยิ่ง แล้วก็ทิ้งสุขอย่างยิ่งเข้าไปถึงความสุขที่อย่างยิ่งยวดไปเรื่อย ๆ เลย ไม่มีที่สิ้นสุด โดยเข้าไปถึงดวงธรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นดวงธรรมในธรรม เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เข้าไปเรื่อยเลย นี่คือแผนผังของชีวิตมนุษย์ทุกๆ คนนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้เริ่มฝึกหัดทำกันเลย เอาตอนนี้นะ วางใจให้หยุดนิ่ง ๆ สบาย ๆ ให้ใจใส ๆ นิ่ง ๆ เบา สบาย จะนึกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ พระแก้วแทนพระบรมศาสดาทุกพระองค์ ดวงแก้วแทนธรรมรัตนะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
หลวงพ่อวัดปากน้ำแทนสังฆรัตนะทั้งหมด แทนพระอริยเจ้านะ อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วทำใจให้นิ่ง นิ่ง นิ่งในนิ่ง นิ่งซ้ำแล้วซ้ำอีก นิ่งลงไปที่เดิม อย่างเบาสบาย ใจเย็น ๆ นิ่งเบา ๆ สบายใจเย็น ๆ เราจะนึกเห็นได้แค่ไหนไม่เป็นไรนะจ๊ะ นึกท่านได้ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร ไม่ได้เป็นความผิดอะไรเลย ไม่ว่าทางด้านกฎหมาย ด้านศีลธรรม ด้านขนบธรรมเนียนวัฒนธรรมประเพณีดีงาม ไม่ผิดอะไรทั้งสิ้น และก็ไม่ผิดวิธีด้วย ถูกต้องทุกอย่าง ตรงนี้มักจะทนกันไม่ค่อยจะได้
เพราะเราคุ้นต่อการเห็นภาพทีเดียวชัดเจนเลย แต่เราไม่คุ้นต่อการเห็นภาพทางใจที่ค่อย ๆ เห็น ตรงนี้มักจะล้มเหลว มักจะผิดพลาด ทำกันผิดพลาดคือ พอเรานึกได้ประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว คือนึกออกนึกได้ พอขั้นที่ ๒ ตกม้าตาย คือเราพยายามจะไปเค้นภาพให้มันชัดขึ้นจนกระทั่งลูกนัยน์ตาแทบจะทะลัก นั่งอย่างนั้น พอเลิกนั่งก็ปวดหัว ปวดหัวเลย มีอาการเครียดเกิดขึ้นอย่างนั้นผิดวิธีนะ หลวงพ่อไม่ได้สอนอย่างนี้นะ โปรดจำเอาไว้นะจ๊ะ ไม่ได้สอนให้ไปเค้นภาพนะ สอนอย่างนี้
ให้หยุดนิ่งเฉย ๆ ดูไปอย่างสบาย มีอะไรให้ดูก็ดูไป มีให้ดูชัดเจนแค่ไหน ก็ให้ดูไปแค่นั้น ตามใจท่านเสียก่อนเดี๋ยวท่านก็จะตามใจเรา คือองค์พระท่านมีให้เห็นแค่ลาง ๆ เหมือนเอาไปวางไว้ที่ไกล ๆ หรือในที่สลัว เรานึกได้แค่นั้น ท่านให้เห็นแค่นั้น ก็ตามใจท่านไปก่อน เมื่อไหร่เราถูกส่วน ท่านก็จะตามใจเรา ก็จะชัดขึ้นมาได้ดังใจเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปตกม้าตายไม้ที่ ๒ นะ หลวงพ่อไม่ได้สอนอย่างนั้นนะ โปรดจำเอาไว้นะจ๊ะทุก ๆ ท่าน แต่สอนอย่างนี้นะ หยุด นิ่ง เฉย สบาย มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
เอ้าฝึกกันทำเลย หยุดนิ่งเฉย ๆ นิ่งในนิ่ง หยุดในหยุด ๆ ไม่ต้องเป็นคำพูดว่าหยุดในหยุดนะ แต่หลวงพ่ออธิบายให้ฟังก็มันคือทำใจให้มันนิ่งนั่นแหละ ให้มันหยุด ให้มันนิ่ง แล้วนิ่งอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกน่ะ เฉย ๆ สบาย วันนี้สอนนั่งแบบสบายซักวันนะจ๊ะ อย่าไปนั่งลำบาก ๆ นะ นิ่งเฉย ๆ สบาย ๆ อยากนึกอย่างไหนใน ๓ อย่างก็นึก ไม่อยากนึกก็เอานิ่ง ๆ เฉย ๆ สบาย ๆ เพราะสิ่งที่เราจะเข้าถึงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแสวงหา นิ่งในนิ่ง หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง สบาย ผ่อนคลายทุกจุด ผ่อนคลาย สบาย ใจเย็น ๆ ใจเย็น ๆ
อย่าไปเค้นภาพนะ ไม่ได้สอนอย่างนั้นนะจ๊ะ สอนให้สบายใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ สั่งสมความละเอียด ไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้านั่งทุกวัน วันละหลายครั้ง ครั้งละนาน ๆ ไม่ช้าก็สมหวัง ถ้าเดือนนึงมานั่งครั้งเดียวในวันอาทิตย์ต้นเดือนน่ะ ก็จะต้องเห็นซักวันนึงตอนใกล้จะตายน่ะ ใกล้จะตายก็จะได้เห็น ถ้านั่งเดือนละครั้ง ครั้งละชั่วโมง เหมือนมานั่งกับหลวงพ่ออย่างนี้นะ นั่งเดือนละครั้งอย่างนี้นะ นั่งไปเถิดลูกเอ๊ย ต้องเห็นตอนใกล้จะตายนั่นแหละ ตอนนั้นน่ะจะต้องเห็นอย่างแน่นอน แต่ถ้าอยากเห็นในตอนที่ยังแข็งแรงอยู่ ต้องนั่งทุกวันนะลูกนะ
นั่งทุกวัน นั่งวันละหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละหลาย ๆ นาที นั่งนาน ๆ แล้วก็ทำให้ถูกวิธีอย่างที่ว่านี้ อย่าไปทำผิดวิธีนะลูกนะ จะได้ไม่มาบ่นรำพึงกับหลวงพ่อว่านั่งไม่เห็นซะที ก็วิธีที่สอนให้เห็นก็ไม่ทำ ก็ไปทำวิธีที่แบบไม่ให้เห็นอย่างนั้นน่ะ ถ้าไปทำอย่างนั้นมันก็ไม่สมหวัง เพราะฉะนั้นวันนี้นะลองนะ ใจนิ่งสบายสบาย ใจเย็น ๆ ทำให้ถูกวิธีนะลูกนะ ทำให้ถูกวิธี นิ่ง ๆ เดี๋ยวมันก็โปร่ง โล่ง เบา สบาย กายขยาย เหมือนไม่มีร่างกายเลย เหมือนกลืนกับบรรยากาศ เรากับจักรวาลเป็นอันเดียวกันไปเลย นั่งสบายสบายน่ะ แล้วก็รักษาอารมณ์สบายนั้นต่อไปนะ
ให้นิ่ง ๆ แม้ไม่เห็นอะไรก็ตาม มันอาจจะรู้สึกเคว้งคว้างหากลางไม่เจอ ก็ไม่เป็นไร อย่าไปมัวแสวงหากลาง นิ่ง หยุดนิ่งเฉย ๆ สบาย ค่อยสั่งสม เก็บสะสมไว้ที่ละเล็กทีละน้อย ความสบาย การทำให้ถูกวิธี ให้นิ่ง เก็บความนิ่งไว้เรื่อย ๆ นะ สั่งสมความนิ่ง ชาวโลกเค้าสั่งสมทรัพย์ ชาวธรรมสั่งสมการหยุดการนิ่ง หยุดนิ่งนี่แหละ หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง ๆ เดี๋ยวก็สบาย ๆ พอถูกส่วนเข้าแว๊บเดียวลงไปเลย วูบลงไปเลย ธรรมภายในท่านดูดลงไปเอง ถูกส่วนนี้มันถูกของมันเองนะ ถ้าหากเราทำอย่างถูกวิธีนะ ถ้าถูกวิธีเดี๋ยวจะถูกส่วน ถ้าไม่ถูกวิธีมันก็ไม่ถูกส่วน ถูกส่วนกำหนดเวลาไม่ได้ ว่าเมื่อไหร่
เพราะฉะนั้นอย่ามาถามหลวงพ่อว่านั่งเมื่อไหร่จะเห็นนะจ๊ะ หลวงพ่อก็จะตอบคำเดิมว่า เมื่อหยุด หยุดเมื่อไหร่ก็เห็นเมื่อนั้น ก็เพราะมันเป็นอย่างนั้นน่ะ จะไปตอบว่าวันอาทิตย์เห็น วันจันทร์เห็น วันอังคารเห็น ปีหน้าเห็น ไม่ได้ แล้วแต่เราน่ะ หมอดูก็ยังทายผิด ถ้าเกิดบอกว่าอาทิตย์หน้าเห็น เกิดทำถูกส่วนเอ้าเห็นวันนี้ ที่เค้าพยากรณ์ก็ผิดอีก อย่างนั้นตั้งหลักให้ดีนะลูกนะ ใจเย็น ๆ ทำให้ถูกวิธีซะวันนี้ เดี๋ยวจะดีวันหน้า หยุด นิ่ง เฉย สบายสบายน่ะ ใจเย็น ๆ ใจเย็น ๆ ใครใจร้อน ๆ ก็แก้ไขซะ ใจเย็น นิ่ง นิ่ง เหมือนเราเอาสมุดมาเล่มหนึ่ง เปิดปกหน้าเขียน นิ่งตัวเล็ก ๆ ต่อไป ก็เขียนนิ่งตัวโตขึ้น นิ่ง ๆ กระทั่งทั้งหน้ามีคำว่า นิ่ง ตัวใหญ่เต็มหน้าตัวเดียว ใจเหมือนกันน่ะ ให้หยุดให้นิ่ง ๆ เฉยๆ เบาๆ ค่อย ๆ ประคองใจไป เดี๋ยวพอถูกส่วนก็วูบไปเองนะ นั่งกันอย่างนี้นะ