ราชาศัพท์
ในการเทศน์แต่ละครั้งย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะกล่าวถึงพระพุทธเจ้าพระสาวก พระสงฆ์ ตลอดถึงพระเจ้าแผ่นดินในสมัยพระพุทธเจ้า เช่นพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นต้น และในสมัยปัจจุบันก็มีเนื้อความแห่งเทศนาที่เอ่ยถึงพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ตลอดถึงเจ้านายระดับต่างๆ เมื่อเป็นดังนี้จึงมีความนิยมในการใช้ภาษาเฉพาะกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และบุคคลสำคัญนั้นๆ โดยกำหนดศัพท์สำหรับใช้ขึ้นโดยเฉพาะ ศัพท์เหล่านั้นเรียกขานกันว่า “ราชาศัพท์” ราชาศัพท์จึงกลายเป็นภาษาเฉพาะและจำเป็นต้องใช้ให้ถูกต้อง มิใช่เพียงเพื่อรักษาวัฒนธรรมทางภาษาเท่านั้น ยังเพื่อแสดงความเคารพบุคคลเฉพาะนั้นๆ และแสดงถึงภูมิปัญญาและจิตใจใฝ่รู้ระเบียบแบบแผนทางภาษาของผู้ใช้ด้วย
ราชาศัพท์คืออะไร
คำว่า “ราชาศัพท์” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจํากัดความไว้ว่า “ราชาศัพท์ น. คำเฉพาะใช้สำหรับเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านาย. ต่อมาหมายรวมถึงคำที่ใช้กับพระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ และสุภาพชนด้วย.”จากคำจำกัดความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ราชาศัพท์นั้นมิใช่เป็นคำที่ใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น แต่ได้ขยายวงกว้างออกไปจนกระทั่งใช้สำหรับข้าราชการ พระภิกษุสามเณรและสุภาพชนคนดีโดยทั่วไปด้วย กล่าวคือสามารถใช้กับบุคคลทุกระดับชั้น เป็นแต่ว่าต้องนำมาใช้ให้ถูกกับฐานะของบุคคลแต่ละระดับเท่านั้นยิ่งในพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งต้องใช้ราชาศัพท์ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าทุกเรื่องทุกอย่าง เพราะพระพุทธเจ้าว่าโดยฐานะทางสังคมก่อนเสด็จออกบวชก็ทรงเป็นพระราชโอรสเป็นหน่อเนื้อพระมหากษัตริย์เมื่อตรัสรู้แล้วก็ทรงอยู่ในฐานะเป็นพระบรมศาสดา เป็นพระธรรมราชาจึงสมควรอย่างยิ่งในการใช้ราชาศัพท์กับพระองค์
ที่มาและประโยชน์ของราชาศัพท์
ราชาศัพท์ถือกันว่าเป็นศัพท์ชั้นสูง มีอยู่ในโลกแทบทุกภาษาสำหรับในประเทศไทย ราชาศัพท์ส่วนใหญ่มาจากคำภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ด้วยเหตุผลว่าภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเป็นภาษาศาสนาซึ่งมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ในตัว จึงถือว่าเป็นคำสูงสมควรนำมาใช้เป็นราชาศัพท์ สำหรับภาษาเขมรนั้นถือกันว่าเป็นภาษาเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมาก่อนภาษาไทยปัจจุบัน เพราะเป็นภาษาของอาณาจักรละโว้ซึ่งปกครองดินแดนแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนอาณาจักรสุโขทัย จึงนิยมว่าเป็นภาษาชั้นสูงที่เหมาะสำหรับยกย่องฐานะพระเจ้าแผ่นดินให้สูงเด่นขึ้น และเพื่อสะดวกในการปกครอง
เหตุผลในการใช้ราชาศัพท์
(๑) เป็นการแสดงถึงความรู้สึกยกย่องเทิดทูนบุคคลผู้สมควรแก่การยกย่องเทิดทูน คือพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ
และพระสงฆ์ ตลอดถึงสุภาพชนคนดีทั้งหลาย
(๒) เป็นการแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีสัมมาคารวะความสุภาพของผู้ใช้ เพราะราชาศัพท์เป็นคำชั้นสูง เป็นคำสุภาพ ไพเราะ
สละสลวย เป็นอารยภาษา ไม่ใช่คำสามัญที่จะนำไปพูดไปใช้ในที่ทั่วไปหรือกับบุคคลทั่วไป
(๓) เป็นการแสดงถึงความมีวัฒนธรรม ความมีเอกลักษณ์ทางภาษาเป็นของตัวเอง ย่อมได้รับความนิยมนับถือจากคนต่างชาติต่างภาษา ไม่เป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนว่าล้าหลังหรือไม่มีศิลปะในเรื่องระดับของภาษา ในเรื่องการพูดจากับเจ้านาย เป็นต้น
ประโยชน์ของการศึกษาและการใช้ราชาศัพท์
(๑) ทำให้มีความรู้ทางภาษาเพิ่มขึ้น และภาษาที่รู้นั้นเป็นภาษาชั้นเป็นภาษาที่ใช้กับบุคคลระดับสูง
(๒) ทำให้สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับชั้นของบุคคล อันเป็นเหตุให้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้รู้ภาษาไทยดี ส่อให้เห็นว่าเป็น
ผู้ดีมีสกุล
(๓) ทำให้เกิดนิสัยประณีตและพิถีพิถันในการใช้ภาษา เป็นผลให้มีนิสัยรอบคอบ ละเอียด ไม่มักง่าย
(๔) ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในภาษาของตน เพราะภาษาราชาศัพท์เป็นภาษาที่งดงาม เป็นคำสุภาพ เป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นวัฒนธรรม
อย่างหนึ่ง
ลักษณะราชาศัพท์
ดังกล่าวมาแล้วว่าราชาศัพท์เป็นคำชั้นสูง เป็นคำสุภาพไพเราะจึงมีลักษณะพิเศษต่างจากคำทั่วไป ซึ่งพอจะเป็นที่สังเกตถึงลักษณะของราชาศัพท์กว้างๆ ดังนี้
(๑) เป็นคำไทยแท้ ที่แสดงถึงการยกย่องว่าสูงสุด เช่น ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ เกล้ากระหม่อม หม่อมฉัน กระผม เป็นต้นและที่แสดงถึงการอ่อนน้อมถ่อมตน เช่น ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใต้ฝ่าละอองพระบาท ใต้เท้า เป็นต้น
(๒) เป็นคำบาลี สันสกฤต และเขมร เช่น พระหัตถ์ พระบาท สวรรคต บรรทม เสวย
(๓) เป็นคำประสมและคำสมาส คือเป็นการนำคำ ๒ คำมารวมเข้าด้วยกัน เช่น ม้าต้น ห้องสรง รองพระบาท พานพระศรี ทรงรับทรงชุบเลี้ยง ราชรถ พระราชกุศล พระเชษฐภคินี เป็นต้น
การใช้ราชาศัพท์
การใช้ราชาศัพท์ให้ถูกต้องสมบูรณ์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หากไม่ศึกษาและไม่พิถีพิถันรอบคอบแล้วย่อมใช้ผิดได้ ถึงกระนั้นก็ตามก็จําเป็นต้องศึกษาเรียนรู้พอสมควรสำหรับผู้ที่ต้องใช้ในการพูดในการเขียนเพื่อให้คำพูดและข้อเขียนสมบูรณ์ถูกต้อง ไม่มีข้อตำหนิติติงให้เสียเชิงโดยเฉพาะในแวดวงของพระสงฆ์ซึ่งต้องพูดต้องเขียนถึงพระพุทธเจ้าและพระเจ้าแผ่นดินในสมัยพุทธกาลอยู่ประจำ ย่อมสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องราชาศัพท์ในการเทศน์ ดังนั้นในที่นี้จึงจักแสดงถึงการใช้ราชาศัพท์เบื้องต้นพอเป็นแนวทาง กล่าวคือ
(๑) การใช้คำนามราชาศัพท์
คำนามราชาศัพท์ คือ คำนามสามัญที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป เช่น ลูก วัง ช้าง ม้า เรือ โอรส ธิดา สามารถเปลี่ยนให้เป็นคำราชาศัพท์ได้โดยวิธีดังนี้ ถ้าเป็นคำเกี่ยวกับเครือญาติ ยานพาหนะ สถานที่ เป็นต้น ให้เติมคำว่า “หลวง” หรือ “พระที่นั่ง” ข้างหลัง เช่น ลูกหลวง หลาน หลวง เรือหลวง ช้างหลวง วังหลวง ม้าต้น เครื่องต้น เรือพระที่นั่งเป็นต้น ถ้าเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับเจ้านาย ให้เติมคำว่า “ทรง” หรือ “ที่นั่ง” ข้างท้าย เช่น เครื่องทรง ผ้าทรง ม้าทรง รถทรง ช้างทรง ม้าที่นั่ง รถที่นั่ง ช้างที่นั่ง เป็นต้น
- ถ้าเป็นคำบาลีสันสกฤตหรือคำเขมรที่ใช้กับเจ้านาย เกี่ยวกับอวัยวะ กิริยาอาการ เติมคำว่า “พระ” นำหน้าก็ได้ เช่น พระกร พระกรรณ พระขันติธรรม พระอุตสาหะ พระสาง พระฉาย พระแท่นพระเจ้า พระอู่ พระยี่ภู่
- ถ้าเป็นคำบาลีสันสกฤตที่ใช้กับพระราชา พระราชินี พระยุพราชเติมคำว่า “พระราช” นำหน้า เช่น พระราชบิดา พระราชมารดา พระราชโอรส พระราชธิดา พระราชยาน พระราชอาสน์ ที่เป็นคำไทยแท้หรือคำประสม ใช้ “พระราช” นำหน้าก็มี เช่น พระราชวัง พระราชกำหนด
- ถ้าเป็นคำบาลีสันสกฤตที่ใช้กับพระพุทธเจ้าและพระราชาโดยเฉพาะ เติมคำว่า “พระบรม” นำหน้า เพื่อถวายความเคารพและพระเกียรติอย่างสูงสุด เช่น พระบรมศาสดา พระบรมพุทโธวาท พระบรมธาตุ พระบรมเดชานุภาพ พระบรมอัฐิ พระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
- ถ้าเป็นที่ประทับของพระราชาและมีเศวตฉัตร เติมคำว่า “พระที่นั่ง” นำหน้า เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
- ถ้าใช้ประกอบข้างหน้าหรือข้างหลังคำราชาศัพท์อยู่แล้วก็ใช้ตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มคำอันใดอีก เช่น พานพระศรี (พานพระศรี) พระโอสถ
มวน (พระโอสถมวน) ฉลองพระหัตถ์ล้อม (ฉลองพระหัตถ์-ส้อม)
- ถ้าเป็นคำไทยแท้ที่เกี่ยวกับเครือญาติ เติมคำว่า “พระเจ้า”นำหน้า เช่น พระเจ้า พระเจ้าตา พระเจ้าย่า พระเจ้ายาย พระเจ้าลุง พระเจ้าน้า พระเจ้าหลาน เป็นต้น
- ถ้าเป็นคำบาลีสันสกฤตเกี่ยวกับเครือญาติ เติมคำว่า “พระ” นำหน้า เช่น พระอัยกา พระอัยยิกา พระชนก พระเชษฐา พระอนุชา
- ถ้าเป็นคำบาลีสันสกฤตเกี่ยวกับเครือญาติของพระราชา เติมคำว่า “พระราช” นำหน้า เช่น พระราชบิดา พระราชมารดา พระราชชนนี
พระราชอนุชาเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว คำนำหน้าเหล่านี้คือ พระบรมราช พระบรม พระราช พระ ต้น หลวง พระที่นั่ง มีวิธีใช้ดังนี้
พระบรมราช ใช้กับพระราชาเพื่อเชิดชูพระเกียรติยศเป็นพิเศษเช่น พระบรมราชโองการ พระบรมราชชนนี พระบรม ใช้กับพระราชาเพื่อเชิดชูพระราชอิสริยยศ เช่น พระบรมเดชานุภาพ พระบรมราโชวาท พระบรมฉายาลักษณ์ ถ้าใช้กับพระราชินี ตัดคำว่า บรม ออก เป็น พระเดชานุภาพ พระราโชวาท พระนามาภิไธย
พระราช ใช้กับพระราชาและพระราชินีรองลงมาจากพระบรม เช่นพระราชลัญจกร พระราชโอรส พระราชนิพนธ์
พระ ใช้กับพระราชาและพระราชวงศ์เกี่ยวกับเครื่องราชูปโภค อุปโภคและอวัยวะต่างๆ เช่น พระเก้าอี้ พระเจ้า พระอู่ พระหัตถ์ พระเนตร
ต้น ใช้ประกอบท้ายคำนามทั่วไปเพื่อแสดงว่าเกี่ยวกับพระราชาเช่น เครื่องต้น ม้าต้น ช้างต้น
หลวง ใช้ประกอบท้ายคำนามทั่วไปเพื่อแสดงว่าเกี่ยวกับพระราชาเช่น เรื่องหลวง ม้าหลวง เรือนหลวง(คำว่า หลวง ที่แปลว่าใหญ่ ใช้กับคำสามัญ เช่น คลองหลวงเขาหลวง วัดหลวง เป็นต้น ไม่ถือว่าเป็นราชาศัพท์)
พระที่นั่ง ใช้กับที่เป็นที่ประทับของพระราชาและมีเศวตฉัตร เช่นพระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งพิมานเมฆ หรือใช้ต่อท้ายคำนามสามัญเพื่อ
แสดงว่าเป็นของพระราชา เช่น ช้างพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งอนันแสดงพอให้เป็นตัวอย่าง
(๒) การใช้คำกริยาราชาศัพท์
คำกริยาราชาศัพท์ คือคำที่แสดงอาการคือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ของพระราชา แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
ก. กริยาที่เป็นราชาศัพท์ในตัวเองแล้ว คือใช้เป็นราชาศัพท์ได้ทันที เช่นคำว่า กริ้ว บรรทม ตรัส ทรง ประทับ ประชวร พระราชทาน
ทอดพระเนตร สรง เสด็จ เสวย - คำเหล่านี้ไม่ต้องเติมคำว่า พระ หรือคำว่า ทรง นําหน้าอีก
ข. กริยาที่ประสมคำขึ้นใช้เป็นราชาศัพท์ตามประเภทบุคคล คำที่มีความหมายเดียวกันแต่บัญญัติคำขึ้นใช้หลายคำตามชั้นของบุคคล เช่นคำว่า เกิด มีคำบัญญัติต่างๆ ดังนี้เสด็จพระราชสมภพ, มีพระบรมราชสมภพ ใช้กับ พระราชามีพระราชสมภพ ใช้กับ พระบรมราชินี พระบรมราชชนนี พระบรมโอรสาธิราช พระบรมราชกุมารี
- ประสูติ, สมภพ ใช้กับ สมเด็จเจ้าฟ้า เจ้านายทั่วไป
ค. กริยาราชาศัพท์ที่มีคำว่า “เสด็จ” นำหน้า คือใช้คำว่า “เสด็จ” นำหน้าคำนามสามัญหรือคำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วก็ได้ เช่น
เสด็จออก เสด็จกลับ เสด็จประพาส เสด็จประทับ เสด็จพระราชดำเนิน
เป็นต้น
ง. กริยาราชาศัพท์ที่มีคำว่า “ทรง” นำหน้า คือใช้คำว่า “ทรง”นําหน้าคํานามหรือค่ากริยา ประสมกันแล้วค่านั้นจะกลายเป็นราชาศัพท์
มีวิธีใช้คือ
- ใช้คำว่า “ทรง” นำหน้าคำนามสามัญ เปลี่ยนคำนั้นให้เป็นราชาศัพท์ เช่น ทรงเมตตา ทรงกรุณา ทรงรถ ทรงกีฬา ทรงฟุตบอล เป็นต้น
- ใช้คำว่า “ทรง” นำหน้าคำกริยาสามัญ เปลี่ยนคำกริยาสามัญให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงสดับ ทรงฟัง ทรงเลื่อมใส ทรงรำพึงทรงดำริ ทรงยินดี ทรงห่วงใย ทรงชุบเลี้ยง ทรงแนะนำ เป็นต้น
- ใช้คำว่า “ทรง” นำหน้าคำนามราชาศัพท์ให้เป็นกริยาราชาศัพท์เช่น ทรงพระเมตตา ทรงพระกรุณา ทรงพระอุตสาหะ ทรงพระดำริ
เป็นต้นการใช้ราชาศัพท์เท่าที่นำเสนอมาข้างต้นนี้เป็นเพียงหลักใหญ่ๆบางหลักเท่านั้น ยังมีหลักการใช้ราชาศัพท์อีกจำนวนมากที่ยังมิได้เอ่ยถึงเช่น การใช้สรรพนามราชาศัพท์ การใช้ราชาศัพท์ที่เป็นศัพท์บัญญัติโดยเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจให้กว้างขวางต่อไป
ราชาศัพท์ที่มักใช้ไม่ถูกต้อง
ในการพูดที่ดี ในการเทศน์ก็ดี ในการเขียนก็ดี มีการใช้ราชาศัพท์ผิดพลาดไม่ถูกต้องกันอยู่เสมอ จะด้วยไม่รู้ ไม่สงสัย ไม่คิดว่าผิด หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม เมื่อใช้ไปแล้วผู้รู้ย่อมรู้ได้ว่าใช้ไม่ถูก ผู้ใช้ราชาศัพท์ผิดนั้นส่วนใหญ่จะใช้ตามที่ได้ยินได้ฟังหรือได้เห็นมา คิดว่าเขาใช้เช่นนี้ก็ใช้กันต่อมาโดยไม่ได้คิดว่าผิดถูกอย่างไร เรื่องเช่นนี้ผู้ใฝ่ในการศึกษาทั้งหลายจะพิถีพิถัน ละเอียดรอบคอบ พิจารณาจนแน่ใจเสียก่อนจึงใช้ เมื่อเป็นเช่นนี้ความผิดพลาดจึงไม่ค่อยมี
ราชาศัพท์ที่มักใช้กันไม่ถูกต้องนั้นมีหลายคำ เป็นต้นว่า
(๑) ใช้คำว่า “ทรง” ไม่ถูกต้อง คือส่วนใหญ่จะใช้คำว่า “ทรง” นำหน้าคำที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่นใช้ว่า ทรงเสด็จ ทรงตรัส ทรงกริ้ว ทรงเสวย ทรงประทับ ทรงประชวร ทรงพระราชทาน ซึ่งเป็นการใช้ราชาศัพท์ผิดทั้งสิ้น
(๒) ใช้คำกริยาราชาศัพท์ผิดชั้นบุคคล คือคำกริยาราชาศัพท์บางคำแสดงชั้นของเจ้าของกริยานั้นด้วย เช่น ตาย ถ้าใช้กับพระราชา ใช้ว่า
สวรรคต ถ้าใช้กับเจ้าฟ้าซึ่งได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพิเศษ ใช้ว่าทิวงคต ถ้าใช้กับสมเด็จเจ้าฟ้าลงมาจนถึงพระองค์เจ้า ใช้ว่าสิ้นพระชนม์เมื่อใช้ต้องใช้ให้ถูกชั้นบุคคล แต่ถ้าไม่ถูกชั้นบุคคลถือว่าใช้ราชาศัพท์ผิดเช่นใช้ว่า “พระเจ้าพิมพิสารได้สิ้นพระชนม์ในคุกนั้นเอง” อย่างนี้ถือว่าใช้ผิดชั้นบุคคลยังมีคำกริยาราชาศัพท์ที่มักใช้ผิดชั้นบุคคลอื่นอีก เช่น
คําว่า ใช้สำหรับ
ทรงมีพระราชปฏิสันถาร พระราชา พระราชินี
ทรงปฏิสันถาร พระราชวงศ์
ทรงพระราชนิพนธ์ พระราชา
ทรงนิพนธ์ พระราชวงศ์
ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชา
ทรงลงพระนามาภิไธย พระราชินี
ลงพระนาม พระราชวงศ์
ทรงพระกันแสง พระราชา
ทรงกันแสง พระราชวงศ์
ฯลฯ
(๓) ใช้คำว่า “ถวายการต้อนรับ” ซึ่งผิด ที่ถูกควรใช้ว่า “เฝ้าฯ รับเสด็จ” หรือ “รับเสด็จ”
(๔) ใช้คำว่า “ถวายความจงรักภักดี” ซึ่งผิด ที่ถูกควรใช้ว่า “มีความจงรักภักดี” หรือ “จงรักภักดี” เพราะความจงรักภักดีเป็นของมีประจําตัว ถวายกันไม่ได้
(๕) ใช้คำว่า “แสดงต่อหน้าพระพักตร์” ซึ่งผิด ที่ถูกควรใช้ว่า “แสดงเฉพาะพระพักตร์” หรือ “แสดงหน้าพระที่นั่ง”
(๖) ใช้คำว่า “พระบรมราชโองการ” กับ “พระราชเสาวนีย์” ไม่ถูกต้อง คือทั้งสองคำนี้เป็นคำสั่ง มีผลบังคับใช้ มิใช่คำพูดธรรมดา เช่น
อธิการบดีมหาวิทยาลัยกราบบังคมทูลขอให้พูด ใช้ว่า “ขอพระราชทานพระราชกระแส” หรือ “ขอพระราชทานพระราชดำรัส” มิใช่ “ขอพระราชทานพระบรมราชโองการ” หรือ “ขอพระราชทานพระราชเสาวนีย์”
(๗) เมื่อกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ มักใช้คำไม่เต็มเป็น “พระเจ้าอยู่หัว” “พระ
ราชินี” หรือ “ล้นเกล้าล้นกระหม่อม” เมื่อจะใช้ควรใช้ให้เต็มว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” หรือ
“สมเด็จพระบรมราชินีนาถ” หรือพูดลำลองว่า “ในหลวง” “สมเด็จอย่างนี้ไม่ผิด
(๘) การใช้คำว่า “ถวาย” ถ้าสิ่งของนั้นยกได้ ใช้ “ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย” ภาษาเขียนใช้ “ทูลเกล้าฯถวาย” ถ้าสิ่งของนั้นยกไม่ได้ ใช้ “น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย” หรือ “น้อมเกล้าฯถวาย”
(๙) ใช้คำว่า “กราบถวายบังคมทูล” ในหมายความว่า “บอก”ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ถูกควรใช้ว่า “กราบบังคมทูลถวายรายงาน” “กราบบังคมทูลรายงาน”
มีข้อสังเกตว่า พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในต่างประเทศก็ดีในพุทธประวัติเช่นพระเจ้าพิมพิสารก็ดี ในวรรณคดีก็ดี ควรใช้ราชาศัพท์
ตามฐานันดรศักดิ์ที่แท้จริง เว้นคำว่า “บรม” ซึ่งใช้สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทยเท่านั้น
(การใช้ราชาศัพท์ที่มักใช้กันไม่ถูกต้องตามข้อ (๑) ถึงข้อ (๙) คัดและปรับสำนวนจาก “การใช้ถ้อยคำและราชาศัพท์” ของ ม.ล.ปีย์
มาลากุล)
การใช้ราชาศัพท์สําหรับพระอารามหลวง
มีคำราชาศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อสถานที่สำคัญภายในวัดเพื่อแสดงว่าเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ คือคำว่า “พระ” ใช้สำหรับนำหน้าอาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่นเป็นที่ประทับ เป็นที่แสดงธรรมเป็นที่ประดิษฐานสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และสถานที่นั้นอยู่ในวัดที่เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าแผ่นดินคือพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือทรงอุปถัมภ์ซึ่งปัจจุบันกำหนดเรียกว่า “วัดหลวง” สถานที่เช่นนั้น เช่น อุโบสถ วิหาร มณฑป ระเบียง วิหารคดปรางค์ เจดีย์ ให้เติมคำว่า “พระ” ข้างหน้า เป็น พระอุโบสถ พระวิหาร มณฑป ระเบียง วิหารคต พระปรางค์ พระเจดีย์ แม้เมื่อจะเรียกวัดหลวงว่า “อาราม” ก็ให้เติมคำว่าพระเข้าไปเป็น “พระอาราม” หรือเป็น “พระอารามหลวง” แต่ถ้าสถานที่เหล่านี้อยู่ในวัดที่มิได้เป็นวัดหลวงซึ่งเรียกโดยสามัญว่า “วัดราษฎร์” ไม่ต้องเติมคำว่า “พระ” นำหน้า คงเรียกว่า อุโบสถ วิหาร มณฑป เป็นต้นตามปกติ แม้จะเรียกวัดนั้นๆ ว่าอารามเฉยๆ ก็ได้ แต่จะเรียกว่า “พระอาราม” ไม่ถูกการใช้หรือการเรียกสถานที่เช่นนั้นในวัดราษฎร์โดยใส่คำว่า “พระ” นำหน้าเป็น “พระอุโบสถ” เป็นต้น ย่อมเป็นการไม่สมควร ถือว่าใช้ราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง