คุณธรรมข้อที่ ๒ รู้จักพอ รู้จักพอดี เรื่องที่ ๑ พระราชารวยไม่รู้จักพอ จึงเป็นผู้ที่จนที่สุด

วันที่ 04 กย. พ.ศ.2567

 

2567_09_04_b_02.jpg

 

คุณธรรมข้อที่ ๒ รู้จักพอ รู้จักพอดี

 

เรื่องที่ ๑

พระราชารวยไม่รู้จักพอ
จึงเป็นผู้ที่จนที่สุด

 

2567_09_05_03.jpg



             สมัยโบราณมีเศรษฐีอินเดียคนหนึ่ง อายุมากแล้วอยากออกบวชปฏิบัติธรรม แต่คิดยังไม่ออกว่าจะจัดการกับทรัพย์สมบัติของตนเองอย่างไรดี มีอยู่มากมายก่ายกองลูกหลานก็ไม่มี จะให้ใครดี

         
    ในที่สุด เศรษฐีได้ความคิดที่ดีๆ ก็ประกาศกับเพื่อนฝูงของเขา

 

         “ผมจะออกเดินธุดงค์สัก ๑ ปี ผมจะแต่งตัวแบบธรรมดาๆ จะไปในทุกจังหวัด ทุกแคว้นของประเทศอินเดีย ด้วยการเดินพบปะผู้คนทั่วประเทศแบบนี้ ผมน่าจะแสวงหาคนที่จนที่สุดในอินเดียได้ ทรัพย์สมบัติผมทั้งหมดจะได้ยกให้คนที่จนที่สุดในอินเดีย”
 

2567_09_04_04.png


               จากนั้นเขาก็หายตัวไป ออกเดินไปทุกหนทุกแห่งในอินเดีย ๑ ปี พอกลับมาก็นัดประชุมเพื่อนฝูง พอพบกันพร้อมหน้า เพื่อนก็ถาม

               “ท่านเศรษฐีเดินทางไปทั่วประเทศ ตกลงพบใครจนที่สุดที่สมควรรับมรดกท่าน ท่านจะให้ใคร เป็นคนที่ไหน?”

         
     “ผมตัดสินใจแล้วว่าผมจะถวายมหาราชาของเรา” เศรษฐีตอบเพื่อนๆ

        “อ้าวมันตรงกันข้ามกับที่ว่าก่อนนี้ ท่านเคยบอกว่าจะให้คนอินเดียที่จนที่สุดในประเทศทำไมเอาคนรวยที่สุด ท่านเปลี่ยนความคิดตั้งแต่เมื่อไร?” เพื่อนๆ ถามต่อ

 

              “เปล่าๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ได้เปลี่ยน” เศรษฐีตั้งท่าขยายความ

             “คือผมเดินไปๆ บางวันก็ไปเจอชาวบ้านอยู่ในกระต๊อบเล็กๆ อยู่กลางทุ่งนา เขาก็เชิญไปพักในบ้าน เขาอยู่อย่างดี เขาจนเงินทอง แต่ว่าเขามีพออยู่พอกิน มีความเมตตาต่อกัน เคารพซึ่งกันและกัน มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้สึกว่าเขาอยู่อย่างมีความสุข ผมเลยต้องสรุปว่าคนอย่างนี้ไม่จนแน่”

            “ผมก็คิดต่อว่าจะเอาอะไรเป็นเครื่องตัดสินความจน ก็เลยคิดพิจารณาว่า
คนที่จนที่สุด คือ คนที่มีความรู้สึกว่าขาดที่สุด คนที่มีความรู้สึกว่าไม่พอใจกับสิ่งที่ตนมีอยู่มากที่สุด นั่นก็น่าจะเป็นคนที่จนที่สุด”

            “จากนั้นผมก็คิดถึงเรื่องท่านมหาราชาของเรา ภาษีท่านก็เรียกเก็บเพิ่มทุกปี ไม่พอเสียทีแล้วก็ชอบทำสงครามกับประเทศนั้นประเทศนี้ ขยายอาณาจักรอยู่เรื่อย ผมรู้สึกว่าท่านมหาราชาของเรานั่นแหละจนที่สุด มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ !”

             “ผมจึงตัดสินใจถวายท่านมหาราชา” ท่านเศรษฐีอินเดียสรุป

              นิทานเรื่องนี้เปรียบเหมือนกับว่าถ้าเราไปดูที่ความรู้สึกว่า ไม่พอ ซึ่งเปรียบได้กับว่า หัวใจรั่ว ถ้าเราไม่ซ่อม ไม่แก้ไขที่รั่ว ไม่แก้ที่ความรู้สึกว่าไม่พอ เรารู้สึกว่าขาด เอาเท่าไรมันก็อย่างนี้แหละ มันก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม ถ้าเราต้องการรวยทางโลกก็ต้องฉลาด ต้องการรวยทางจิตใจก็ต้องฉลาด

             พระพุทธองค์บอกว่า ต้องแก้ตรงที่มันทุกข์ ที่ครูบาอาจารย์บอกว่าถ้าปวดหัวแล้วไปเกาที่ขามันก็ไม่หาย เกาเท่าไหร่ ขยันเท่าไหร่ มันก็ไม่หายไป มันเกาไม่ถูกจุด เราแก้ความทุกข์ของเราที่นอกตัว มันก็ไม่หายสักที มันต้องแก้ที่จิตใจเรานี่แหละ แก้ที่ตัวตัณหา แก้ที่ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เพราะความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เป็นการสร้างอัตตาตัวตน

           เวลาเราหาความสุขที่เที่ยงแท้จากสิ่งที่ไม่เที่ยง เราก็ต้องคับข้องใจอยู่ตลอดเวลาใช่ไหมคือ ไม่ใช่ว่าคนเราต้องการความสุขอย่างเดียว ต้องการความสุขที่เที่ยง ถ้าหากว่าเป็นความสุขชั่วคราวไม่ชอบ หรือไม่พอ

       
    ฉะนั้นการที่ความสุขที่เราจะได้จากสิ่งนอกตัวเรามีข้อบกพร่องที่ว่า ไม่สามารถที่จะให้สิ่งที่เราต้องการ มันไม่ใช่ว่ามันเป็นสิ่งชั่วร้าย มันก็อย่างนั้นแหละ รูปก็รูป เสียงก็เสียง กลิ่นก็กลิ่นอะไรมันก็เป็นเรื่องของมันอย่างนั้น

           เรารู้เท่าทันมันก็มีความสุขได้ เหมือนกับกินปลาไม่ให้ก้างติดคอ พอเรารู้เท่าทันโลกมันก็ได้ความสุขในทางที่ไม่เกิดโทษ แต่ถ้าเราหวังความเที่ยงแท้ถาวร สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราก็มีแต่ผิดหวังอยู่ตลอดเวลา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01921558380127 Mins