เรื่องที่ ๒ เนปจูนเสกวัวให้คนโลภ

วันที่ 05 กย. พ.ศ.2567

 

 

2567_09_05_b_02.jpg

 

 

เรื่องที่ ๒

เนปจูนเสกวัวให้คนโลภ



          นิทานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรู้จักพอ รู้จักความพอดี มักจะไปเน้นในอุปสรรคต่อความรู้จักพอ นั่นก็ คือ ความโลภ ซึ่งจะมีนิทานทั่วโลก สาระสำคัญคือเมื่อคนมีความโลภอยากได้อยากได้มากก็เลยไม่ได้อะไรเลย

             มีนิทานของฝรั่ง คือ มีเทพอยู่ใต้ทะเล ชื่อ เนปจูน ของไทยเรามีไหม เทพอยู่ใต้ทะเล? เรามีไหม ส่วนมากมีพวกพญานาคนะ วันนี้เอาเป็นนิทานฝรั่งก็แล้วกัน

 

2567_09_05.JPG



         เรื่องนี้เป็นเรื่องของเนปจูน เป็นเทพที่อยู่ใต้ท้องทะเล เทพองค์นี้มีรสนิยมพิเศษคือชอบเสียงเพลง แล้วก็มีผู้หญิงเป็นคนเลี้ยงวัว เขาจะลงไปแถวชายทะเลซึ่งมีทุ่งหญ้าอยู่ใกล้ๆ กัน

       
  เรื่องของเรื่อง ก็คือเนปจูนเกิดเอ็นดูผู้หญิงคนนี้ ทำไมถึงเอ็นดู? เพราะเวลานางต้อนวัวมากินหญ้าก็จะร้องเพลงไปด้วย เสียงของนางคงจะใช้ได้ นอกจากวัวชอบ เนปจูนก็ชอบ

 

2567_09_05.png



               วันหนึ่งขณะที่ผู้หญิงคนนี้ลงมาที่ชายหาด สงสัยวันนั้นเจอเพลงโปรดของเนปจูนเทพเนปจูนจึงถามนาง

           
   “เธอต้องการอะไรบ้างไหม ฉันจะหาให้” เนปจูนถามด้วยความรู้สึกเอ็นดู

         
     “ดิฉันเป็นคนเลี้ยงวัว อยากได้ตัวเจ้าค่ะ” เธอตอบด้วยความยินดีว่าจะได้วัว

           
    เนปจูนก็เสกวัวให้ตัวหนึ่ง พบกันครั้งต่อไป เนปจูนก็ขอให้หญิงเลี้ยงวัวร้องเพลงให้ฟังเสร็จแล้วก็ถามคำถามเดิม

             
  “เธอยังต้องการอะไรอีกบ้างไหม ฉันจะหาให้”

                 หญิงเลี้ยงวัวก็บอกว่ายังต้องการวัว เนปจูนก็เสกวัวให้กับเธอทุกครั้งที่เธอขอ หญิงเลี้ยงวัวคนนี้ได้ใจขึ้นมาก็ขอไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งชายหาดมีแต่วัวเต็มไปหมด

               
 วันหนึ่งหญิงเลี้ยงวัวมาที่ชายหาดมานับวัว แลเห็นวัวเต็มชายหาด แต่ก็พยายามดูว่ายังมีที่ว่างที่จะหาวัวมาเพิ่มอีกได้ไหม เธอมองเห็นว่าทั้งชายหาด มีอยู่จุดเดียวที่ยังไม่มีวัว แต่ว่ามีก้อนหินใหญ่ๆ กองอยู่

         
        ด้วยความอยากได้วัวอีก หญิงคนนี้ก็เลยยกก้อนหินออกจากชายหาดโยนทิ้งลงทะเลจะได้มีพื้นที่เพิ่มเพื่อขอวัวอีกตัวหนึ่ง พอดีตอนนั้นเนปจูนกำลังจะโผล่ขึ้นมาดูว่าได้วัวกี่ตัวแล้วก้อนหินใหญ่ที่โยนลงไปก็หล่นตูมที่ศีรษะของเนปจูนพอดี

                  เนปจูนโกรธที่หญิงเลี้ยงวัวคนนี้ไม่รู้จัก
คำว่า พอ จึงตัดสินใจเอาวัวกลับหมด !

 

 

2567_09_05_02.JPG



             นี่เป็นตัวอย่างของนิทานที่ไม่ใช่ของพุทธเท่านั้น แต่ของทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรมสอนให้คนรู้จัก พอดี เราคุยกันเรื่องความพอดี หรือว่าพอเพียงอย่างเช่นเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องความพอเพียงถ้าใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Optimal” จะสื่อความได้ดีในภาษาไทย พอเพียงคือดีที่สุด เป็นอันว่าเราจะเข้าใจว่าแทนที่จะเอาเต็มที่มากที่สุด เราก็เอาน้อยกว่า เอาพอดี บางคนอาจมองเหมือนกับว่าเราขาดกำไรนับเป็นการทำความดี แต่ว่ามันค่อนข้างจะแห้งแล้ง คำว่าพอเพียงไม่ค่อยมีเสน่ห์เท่าไรสำหรับคนสมัยใหม่

       
    ที่จริงแล้ว พอเพียง หรือ พอดี เกิดจากปัญญาที่พิจารณาทุกแง่ทุกมุม ผลการกระทำทั้งในระยะสั้น ระยะยาว เมื่อเห็นว่าจะต้องให้ครอบคลุม ต้องประสานประโยชน์หลายๆ อย่างอย่างเช่นของเศรษฐกิจ นอกจากกำไรในระยะสั้นแล้ว ก็ยังต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่จะยั่งยืนที่จะอยู่ได้หลายสิบปีหลายร้อยปี โดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมมากเกินไปนอกจากตัวเลข หรือว่าส่วนที่เกี่ยวกับการได้กำไรการขาดทุนแล้ว ยังต้องคิดถึงผลกระทบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อมต่อวัฒนธรรมหลายอย่าง กิจกรรมบางอย่างอาจจะทำให้เกิดกำไร เงินเข้าประเทศ แต่เกิดผลเสียกับสังคม กับสิ่งแวดล้อมมากเกินไป

       
    การเอาแต่พอเพียง คือ ชั่งน้ำหนัก แล้วพยายามหาแนวทางที่จะครอบคลุม ที่จะเอาทั้งหมดให้ตรงตามภาษาดั้งเดิมของไทยว่า ประสานประโยชน์ทุกฝ่าย เรียกว่าดีที่สุด ในเมื่อเราต้องการที่ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ หรือว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ หรือไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่จะเสียหาย การหาแนวทางที่ว่าดีที่สุด ในเมื่อมีเงื่อนไขอย่างนี้ ก็เรียกว่าพอเพียงหรือพอดี

           
   สิ่งที่เป็น อุปสรรคต่อการรู้จักพอ คือ ความโลภ กรณีของความโลภ เราก็ยังแยกได้ระหว่างความโลภที่เป็นความรู้สึก และความโลภที่เป็นทฤษฎี อย่างเช่นในสมัยใหม่ แทบจะไม่ได้ยินคำว่าโลภเลย มันไม่ใช่คำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะว่าในยุควัตถุนิยมหรือว่าบริโภคนิยมถือว่ายิ่งบริโภคยิ่งดี เอายิ่งมากยิ่งดี เข้าใจว่าความโลภเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเจริญ

             
  โทษของความโลภจะไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง ต้องการให้คนโลภ เนื่องจากว่าเศรษฐศาสตร์ของตะวันตกยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง ตัณหากับฉันทะ เศรษฐศาสตร์ของตะวันตกที่เป็นกระแสหลักในปัจจุบันจะถือว่าการกระตุ้นตัณหา หรือกระตุ้นความอยาก เป็นสิ่งที่มีทั้งผลดีผลเสียแต่ผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะฉะนั้นต้องยอมรับผลเสีย

             
 ส่วนทางพระพุทธศาสนาบอกว่าความต้องการ ความอยากที่เป็น ตัณหา เหมือนกับเป็นไฟเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ยาก แล้วผลเสียจะมากกว่าผลดี การที่เราไม่เอาตัณหา ไม่ใช่ว่าเราไม่เอาความอยากความต้องการของมนุษย์มาใช้ แต่ว่าเราจะพยายามให้เป็นความอยากที่เป็นฉันทะที่เป็นกุศล ที่เกิดจากการคิดพิจารณาในเรื่องการประสานประโยชน์

         
เรื่องความพอดี เรื่องความต้องการอันแท้จริง หรือว่าในสำนวนของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ เรื่อง คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม ให้พิจารณาอย่างนี้ให้ดี ปัจจุบันยังมีคนไม่น้อยที่มีกำลังใจทำงาน ที่จะทุ่มเทในเรื่องที่ไม่เกิดผลประโยชน์ส่วนตัว อันนี้ไม่ใช่อุดมการณ์ในนิยาย แต่สามารถเห็นอยู่ทั่วๆ ไป

         
     เมื่อคนเห็นว่ามีสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีว่างามว่าควรจะมีขึ้น เขาอยากจะมีส่วนในการทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น และเกิดมีกำลังใจที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร อย่างเช่น ถ้าเราทำอะไรด้วยความรักชาติ ในเมืองไทยของเราก็เห็นคนสามารถทำขนาดไหน ด้วยความรักในหลวง เพราะความรักในหลวงทำให้ข่มกิเลสได้เยอะเลย ใช่ไหม สามารถทำสิ่งที่ปกติจะไม่ทำ ยอมเสียสละในระดับที่ปกติจะไม่ทำเพราะมีสิ่งที่เชิดชูว่าสูงกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

       
     แค่นี้ก็เป็นการพิสูจน์แล้วว่า ถ้าเราฉลาดในเรื่องแรงดลบันดาลใจ และฉลาดในการพัฒนาและการบำรุงความอยากที่เรียกว่า ฉันทะ ความจำเป็นในการบำรุงหรือการปรนเปรอในทางตัณหาจะน้อยลง และก็จะเห็นโทษของตัณหาได้ชัดขึ้น

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0079360008239746 Mins