เรื่องที่ ๓ สละป่านแลกทอง

วันที่ 12 กย. พ.ศ.2567

 

 

 

2567_09_12_b_01.jpg

 

 

เรื่องที่ ๓


สละป่านแลกทอง



             จะเล่าให้ฟังนิทานธรรมะจากพระไตรปิฎก เปรียบเทียบ ฉันทะ หรือ ความพอใจ ของชาย ๒ คน คนหนึ่งมีความเห็นถูกต้อง สิ่งที่เขาทำจึงได้รับการสรรเสริญจากครอบครัว บุตรของครอบครัวภรรยา ในขณะที่ชายอีกคนหนึ่งไม่สามารถปล่อยวางความเห็นที่ผิดจึงไม่เป็นที่ชื่นชมเล่ากันว่าชายสองคนนี้ชวนกันไปยังชนบทเพื่อหาของมีค่า ครั้งแรกไปพบป่านในระหว่างทาง ก็ห่อป่านและบรรจงหอบหิ้วป่านนั้น และเดินทางต่อไป เมื่อเดินทางไปได้ระยะหนึ่งชายทั้งสองก็พบด้ายที่ทอจากป่าน คนที่หนึ่งเห็นด้ายเป็นสินค้าที่มีราคาดีกว่า ถึงแม้จะเสียดายที่แบกป่านมาเป็นระยะทางยาวไกล ก็ตัดสินใจทิ้งป่านห่อด้ายไปเพราะเห็นว่าได้ของที่ดีกว่า อีกคนหนึ่งไม่ยอมทิ้ง โดยถือว่าแบกมาไกลแล้ว ผูกรัดไว้ดีแล้วเสียแรงแบกมาตั้งนาน จะแบกของทั้งสองอย่างก็ไม่ไหว

 

2567_09_12.png



               เมื่อบุคคลทั้งสองเดินทางแสวงหาสิ่งมีค่าในป่าต่อไป ปรากฏว่าได้พบของซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น แพงขึ้นโดยตลอด จากที่พบป่านและด้าย ชายทั้งสองก็พบผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก ตะกั่ว เงิน จนลำดับสุดท้ายได้พบทอง

 

                ชายคนที่หนึ่งตัดสินใจยอมทิ้งของเก่า ถือเอาของใหม่ที่มีราคาสูงกว่าขึ้นไปตามลำดับ โดยไม่ยึดติดในของเดิมที่หามาได้ก่อนหน้า ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่ยอมสละของเก่าเพื่อของใหม่ที่มีค่าสูงกว่า เนื่องจากเห็นว่าลงทุนแบกของเก่ามานานแล้ว และได้ผูกรัดไว้ดีแล้ว

              เมื่อกลับไปถึงบ้าน บุตร ภรรยา เพื่อนฝูง ของผู้แบกห่อป่านก็ไม่ชื่นชม แต่บุตร ภรรยา เพื่อนฝูง ของผู้แบกห่อทองกลับมาต่างชื่นชมยินดี

               อันนี้ก็เรื่อง ฉันทะ ใฝ่ดี ใฝ่รู้ คือ ได้ของมาอย่างหนึ่ง ถ้าเจอสิ่งที่ดีกว่าก็พร้อมจะรับสิ่งใหม่ที่ดีกว่าขึ้นไปเรื่อยๆ แต่สำหรับคนที่สองได้ของอย่างหนึ่งแล้วก็จะหวงแหนและเสียดายถ้าต้องพรากจากของชิ้นนั้น ทั้งที่มีสิ่งใหม่ที่ดีกว่า กลับคิดว่าแบกมาไกลมากแล้ว ก็ยิ่งไม่อยากจะทิ้งเพราะเสียดาย

               เมื่อเทียบในกรณีของคนเดินทางหรือว่าคนทำงานทั่วไป ความต้องการของเขาคืออะไรในเมื่อเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการหาทุนเพื่อจะทำประโยชน์ต่อไป เพราะฉะนั้นแน่นอนถ้าได้ทอง ก็จะพอแก่ความต้องการ ป่านจะได้ทุนนิดเดียว

             ในการแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าหรือในธุรกิจ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักพอแล้ว มันก็ล่อแหลมต่อการทุจริต แต่ถ้าเป็นฉันทะ ความพอใจที่จะแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า เราก็ยังมีกรอบว่าจะแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่เราได้โดยไม่ขัดกับหลักธรรม ไม่ขัดหลักศีลธรรม แต่ว่าการที่เราต้องการจะทำอะไรให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นความพอใจและความสุขของเรา

              เราทำอะไรก็แล้วแต่ เราสังเกตตัวเอง ถ้ารู้สึกปีที่แล้วทำได้แค่นี้ ปีนี้รู้สึกว่าดีขึ้น ทำได้ดีขึ้น งามขึ้น สวยขึ้น เรียบร้อยขึ้น เราก็มีความสุข เราก็สามารถปรับเป้าหมายชีวิตให้สูงขึ้นๆ โดยลำดับได้ ไม่ใช่ว่าต้องพอใจอยู่กับสภาพเดิมตลอดไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026408700148265 Mins