เรื่องที่ ๒
เมตตาภาวนา แก้ประหม่า
นานมาแล้วมีพระฝรั่งรูปหนึ่ง ตอนนั้น มีอายุพรรษาแค่ ๒ พรรษา ช่วงนั้นมีพระผู้ใหญ่ ที่จังหวัดยโสธรมรณภาพ ตอนนั้น พระองค์นี้อยู่วัดป่านานาชาติ และในปีนั้นมีพระค่อนข้างน้อย พระผู้ใหญ่ที่จะไปช่วยงานก็ไม่มี วัดสาขาวัดหนองป่าพงต้องส่งพระไปช่วยงาน เพราะถือว่าเป็นเพื่อนของหลวงพ่อชา พอไม่มีใครไปได้ พระฝรั่งองค์นี้ก็ได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่แทน ตอนนั้นเพิ่ง ๒ พรรษา มีความสามารถฟังภาษาไทยรู้เรื่องดี แต่ว่ายังพูดไม่ค่อยจะชัดและไม่เคยเทศน์ นอกจากวันออกพรรษาที่วัดป่านานาชาติ ซึ่งเป็นการเทศน์ภายในวัดกันเอง
พอถึงวันงาน คนเป็นพันคนเยอะมาก มีใส่บาตรพระ คิวยาว ชาวบ้านมากันมาก ระหว่างนั้นก็มีการประกาศอะไรต่างๆ เสร็จแล้วทางโฆษกก็ประกาศเชิญชวนญาติโยม บอกว่าทานข้าวเสร็จแล้วไม่ต้องรีบไปไหน จะมีเทศน์พิเศษ จะมีพระฝรั่งเทศน์ให้ฟัง พระฝรั่งองค์นี้ เนื่องจากฟังภาษาไทยพอได้แล้วจึงเข้าใจ ก็ตกใจอย่างมาก เพราะท่านไม่มีประสบการณ์เทศน์ในที่สาธารณะมาก่อนท่านนึกว่าต้องเป็นท่านแน่ๆ ท่านมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังอีกหลายปีต่อมา บอกว่าวันนั้นจำได้ว่าจำรสอาหารไม่ได้เลย เพราะมัวแต่ตื่นเต้นกลัวว่าจะต้องเทศน์
ท่านจึงต้องรีบจัดการกับความประหวั่นพรั่นพรึงในครั้งนี้ ท่านเล่าว่า พอฉันเสร็จก็นั่งคิด รีบกำหนดเลยว่าต้องคิดอย่างไรบ้าง ต้องตั้งใจเสียหน่อย ท่านตกลงใจเน้นเรื่องเมตตา เพราะถือว่า เรื่อง การจะระงับความประหม่า ความกลัว ที่ได้ผลดีที่สุด คือ เมตตา ท่านคิดในใจว่า
“เราต้องการให้ทุกคนที่มาฟังได้ประโยชน์ถึงแม้ว่าเสียงภาษาไทยจะไม่ค่อยชัดก็ตามขอให้สิ่งที่เราพูดเป็นประโยชน์ทำให้เราเกิดศรัทธาความเลื่อมใส พอเราตั้งจิตใจอยู่กับเมตตาธรรมก็ขึ้นธรรมาสน์”
พอเริ่มเทศน์แล้วก็ไม่มีอะไร ท่านก็พูดได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยชัดเท่าไร ผู้ฟังคงพอเข้าใจได้บ้าง ก็พูดได้ พูดอยู่ ๑๕ นาที ๒๐ นาที แต่ว่าไม่ถึงขั้นที่จะแสดงธรรมได้
ในเรื่องของจิตแน่วแน่ ขอเน้นในเรื่องนี้ว่าการที่ จิตใจเรามี ที่พึ่ง จิตใจเรามี วิหารธรรม เมื่อเราจิตใจจะสงบกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อจะแก้ปัญหาก็เป็น เรื่องของ อานิสงส์ จิตแน่วแน่ เวลาเด็กจะเตรียมสอบ และจิตใจระงับอารมณ์ได้ อยู่กับพุทโธได้ จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย มันก็เป็นปัจจัยที่ช่วยในการเรียนหนังสือ ทำให้เกิดสมาธิได้
ถ้าจะให้คิดหาตัวอย่าง เรื่อง จิตแน่วแน่ ก็จะมีประสบการณ์ของครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติอยู่ในป่าเขา มีเรื่องเล่า เป็นของหลวงปู่ชอบ ท่านเดินธุดงค์อยู่แถวป่าดงหลวงใกล้เพชรบูรณ์ ท่านตั้งใจจะเดินทั้งคืนเพื่อทะลุดง ชาวบ้านเตือนไว้แล้วว่าเสือชุม ท่านก็ไม่ฟังเสียง
พอย่างก้าวเข้าไปในดงเท่านั้น ก็เห็นร่องรอยของเสือเต็มไปหมด พอฟ้ามืดท่านก็ถึงใจกลางดง เสียงพญาเสือโคร่งหลายตัวคำรามอยู่ไม่ห่างไกล เสียงนั้นก็ฟังดูใกล้เข้ามาตัวหนึ่งมาจากด้านหน้า อีกตัวเสียงอยู่ข้างหลัง เพียงครู่เดียวพญาเสือโคร่ง ๒ ตัว ขนาดเท่ากับม้าแข่ง ก็ประกบท่านทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
เสือยืนจังก้าจ้องท่านอยู่ คำรามลั่น หลวงปู่ เล่าว่าจิตที่กลัว มันเลยมีความกลัว ยืนตัวแข็งอยู่กับที่ สติท่านยังดี ท่านจึงตั้งสติ กำหนดจิตให้ดี ไม่ให้เผลอ จิตของท่านรวมลงอย่างเต็มที่ถึงฐานแห่งสมาธิ สงบนิ่งอยู่นานนับชั่วโมง ในอิริยาบถสมาธิท่ายืน ท่านเข้าฌาณเข้าสมาธิลึกมาก ลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง เสือทั้งสองตัวก็หายไปแล้ว ท่านเล่าว่าเมื่อถอนออกจากสมาธิแล้วมิได้คิดกลัวอะไรอีกเลยมีแต่ความอาจหาญ เพราะได้เห็นความอัศจรรย์แห่งจิตที่สงบนิ่งดิ่งลึกเช่นนั้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของหลวงพ่อชา ตอนที่ท่าน อัมพาต หลวงพ่อพุธ ท่านจะมาเยี่ยมหลวงพ่อชาทุกปี เวลาท่านมา ท่านจะยืน ไม่ได้นั่ง ท่านจะยืนหลับตานิ่งอยู่ข้างเตียงหลวงพ่อชาตอนกลับออกมาท่านก็จะพูดคุยกับพระอุปัฏฐาก ท่านจะบอกว่า “โอ้ จิตใจของหลวงพ่อชาเหมือนพระจันทร์เต็มดวง มันสว่างไสวมาก” คือ ภาพจากข้างนอก คนทั่วไปจะเห็นว่าเป็นพระอัมพาตนอนไม่รู้ตัว แต่สำหรับผู้ที่มีญาณดูแล้ว ท่านมองเห็นในสิ่งที่ผู้อื่นสัมผัสไม่ได้