เรื่องที่ ๒ ทำงานเพราะรักความดีและความจริง

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2567

 

2567_09_11_b_01.jpg

 

 

เรื่องที่ ๒

ทำงานเพราะรักความดีและความจริง



           เรารักษาสัจจะ เรารักความจริง เมื่อเราเกิดความรักความจริงขึ้นมา ชีวิตเราก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีหลายๆ อย่าง การกระทำของเรา ถ้าหากว่าเรา รักความจริง มันจะมีอีกตัวหนึ่งที่จะติดตามมาด้วย คือ รักความดี เพราะความจริงกับความดี นี่มันสัมพันธ์กันมากแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้

         ความดีต่างๆ เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเรามีคุณสมบัติพอที่จะรู้ความจริงได้ ถ้าเราสนใจความจริงก็ต้องสนใจความดีให้มาอยู่ด้วยกันเราก็กลายเป็นคนรักความดีและรักความจริงคู่กันไป

        เมื่อเรารักสิ่งใด เราก็อยู่กับสิ่งนั้นอย่างมีความสุข รักใครเราก็อยู่กับคนนั้น เราก็มีความสุขถ้าเรารักความจริง อยู่กับความจริงเมื่อไร มันก็มีความสุข รักความดี อยู่กับความดีเมื่อไรก็มีความสุข

 

2567_09_11.JPG

 

เมื่อมีความสุขกับความดีกับความจริงแล้ว ความหิวโหยที่จะหาความสุข กับการเกี่ยวกับนั่นกับนี่ก็จะน้อยลงไปเอง เรามีแหล่งความสุขอย่างอื่นมาแทน

             เรื่องนี้มันก็ทำให้เราฉลาดขึ้นด้วย ทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจเป็นระบบแข่งขัน ระบบให้รางวัลล่อด้วยรางวัลต่างๆ โดยเข้าใจว่าจะทำให้มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น แต่น่าสนใจว่าผลการวิจัยออกมาในทางตรงข้าม

              ตัวอย่างเช่น ในการทดลองเอาเด็กๆ มา แล้วให้ดูหน้าเด็กคนหนึ่ง สมมุติว่า ชื่อโจ จากนั้นเขาก็เอารูปเด็กแต่งตัวลักษณะต่างๆ ทำหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งรูปเด็กบางรูปก็มีหน้าเป็นโจรูปเด็กบางรูปก็เป็นหน้าคนอื่น ตอนแรกให้เด็กเห็นแต่หน้าก่อน แล้วก็ให้เด็กดูว่าในรูปหลายร้อยรูปนี้ เด็กคนไหนคือโจ ให้แข่งกันทาย แข่งกันกำหนดว่าตัวไหนคือโจ

              ในการทดลองนี้ มีการแบ่งว่าเด็กส่วนหนึ่งให้รางวัลถ้าตอบถูก เด็กอีกส่วนหนึ่งไม่ใช้รางวัลเป็นเครื่องล่อ ปรากฏว่าเด็กที่ไม่ต้องใช้รางวัลเป็นเครื่องล่อใจเก่งกว่าเด็กที่ใช้รางวัล

          นอกจากนี้ ผลการวิจัยหลายอย่างปรากฏว่า งานที่ไม่ต้องใช้สมอง ไม่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าให้รางวัลจะได้ผล อย่างเช่นงานกรรมกรแบกหาม ขนย้ายข้าวของ คนหนึ่งให้รางวัลเป็นแรงจูงใจ คนหนึ่งไม่ให้รางวัล คนที่ให้รางวัลมักจะขยันกว่าเพราะว่าอยากได้รางวัล

         แต่พอเป็นงานที่ต้องใช้สมอง ใช้ความพยายาม ใช้ความคิด พวกที่หวังรางวัลกลับประสิทธิภาพน้อยลง น้อยกว่าคนที่ไม่มีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจ เพราะว่าการหวังรางวัลทำให้จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ผ่อนคลายพอที่จะหาหลักการหรือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยเฉพาะในกรณีที่เคยทำอะไรสักอย่างแล้วได้ผล ปีนี้ทำอย่างนี้ได้ผล ปีที่ ๒ ทำเหมือนเดิมก็ได้ผล ปีที่ ๓ พอมีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำไม่ถูกเลย

                เขาบอกว่าคนที่หวังรางวัลปรับตัวกับของใหม่ยาก เขาจะเอาแต่ความสำเร็จในอดีตมาเป็นหลักว่า เคยทำอย่างนั้นก็ต้องทำอย่างนั้นเหมือนเดิม ส่วนเด็กที่ไม่มี ไม่หวังรางวัลเขาก็จะคิดหาเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลง ความเจริญ ความเสื่อม แล้วเขาก็จะปรับตัวได้ง่ายกว่า ก็ลองไปพิจารณาดู

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.038439416885376 Mins