บทที่ ๓
มีอาพาธน้อย
ความหมายของผู้มีอาพาธน้อยในเสนาสนสูตร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสถึงคุณสมบัติข้อที่ ๒ ของพระภิกษุผู้เหมาะแก่การบรรลุธรรมไว้ในเสนาสนสูตรว่า
"ผู้มีอาพาธน้อย" คือ ผู้มีโรคเบาบาง ประกอบด้วย "ไฟธาตุ" สำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การ บำเพ็ญเพียร
ลักษณะผู้มีอาพาธน้อยเป็นอย่างไร
"คนที่มีอาพาธน้อย" หมายถึง คนที่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อย มีระบบย่อยอาหารดี ระบบขับถ่ายดีเป็นคนมีสุขภาพดี สามารถนั่งปฏิบัติธรรมได้สะดวก ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้มีโอกาสต่อการบรรลุธรรมได้ง่ายสามารถสรุปได้ ๓ ประการ ดังนี้ คือ
๑. คนที่มีอาพาธน้อย เพราะมีความรู้ เป็นคนช่างสังเกตรู้จักดูแลรักษาตัวเองเป็น เพราะได้รับการศึกษารับทราบข้อมูล การดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี หรือ ได้รับการปลูกฝังอย่างดีมาจากครอบครัว
๒. มีอาพาธน้อย เพราะรู้จักประมาณในการบริโภค สาเหตุของโรคส่วนใหญ่มาจากอาหารที่เราบริโภคเข้าไป หรือที่เราเคยได้ยินคำว่า “You are what you eat.” (สิ่งที่คุณเป็น เกิดจากสิ่งที่คุณกิน)
๓. มีอาพาธน้อย เพราะไม่มีวิบากกรรมเก่า เนื่องจาก คนเรายังอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส สิ่งที่ต้องระวัง คือ ต้องไม่ไปประกอบกรรมใหม่ซึ่งจะส่งผลเป็นวิบากในภายภาคหน้า
ดูแลตนเองได้ เพราะสังเกตตนเองเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนให้รู้จักการสังเกตสุขภาพของตนเองไว้ในหลายพระสูตร ดังนี้
๑. พระองค์ทรงสอนให้รู้จักสมุฏฐานของโรค
"คิริมานันทสูตร"
“คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดีไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นว่า “กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่างๆจึงเกิดขึ้น ในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคท้อง โรคลมสลบ โรคลงแดง โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคล่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหืดด้าน โรคคุดทะราด โรคหืด โรคละอองบวม โรคอาเจียนเป็นเลือด โรคดี โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสลดเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่เกิดแต่ฤดูแปรปรวนอาพาธที่เกิดแต่การบริหารที่ไม่สม่ำเสมอ อาพาธที่เกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธที่เกิดแต่วิบากกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ' เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในภายนี้อยู่ อย่างนี้
นี้เรียกว่า "อาทีนวสัญญา"
สังเกตได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ภิกษุ หมั่นพิจารณาสังเกตร่างกายตัวเองว่า มีทุกข์มาก มีโทษมากเมื่อจะไปหาที่ปฏิบัติธรรมในป่า ตามที่ต่างๆ ต้องระมัดระวังดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะการเจ็บป่วยนั้นเกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย และมีสาเหตุเบื้องต้น (สมุฏฐาน) ของโรคต่างๆ กันรวมทั้ง ทุกข์ประจำวัน คือ ความหนาว ความร้อน ความหิวความกระหาย การขับถ่ายหนัก, เบา
๒. พระองค์ทรงอนุญาตการเดินจงกรมและเรือนไฟ
มีเหตุการณ์ตอนหนึ่งกล่าวถึงหมอชีวกโกมารภัจ ผู้มีความรู้ทางการแพทย์สมัยพุทธกาล ได้สังเกตว่าภิกษุมีร่างกายอ้วน มีอาพาธมากเพราะได้รับอาหารที่ประณีตและขาดการออกกำลังกาย จึงได้หาวิธีบำบัดแก้ไข ดังความในขุททกวัตถุ ดังนี้
"ขุททกวัตถุ"
สมัยนั้น ทายกทายิกาในกรุงเวสาลีจัดตั้งภัตตาหารอย่างประณีตไว้ตามลำดับ ภิกษุฉันภัตตาหารประณีต จนร่างกายอ้วนจึงมีอาพาธมาก
ครั้งนั้น "หมอชีวกโกมารภัจ" มีธุระต้องเดินทางไปกรุงเวสาลี เห็นภิกษุทั้งหลายมีร่างกายอ้วน มีอาพาธมาก จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ
ครั้นถึง แล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ภิกษุมีร่างกายอ้วน มีอาพาธมากขอประทานพระวโรกาส พระองค์โปรดอนุญาต ที่จงกรม และ เรือนไฟ ด้วยวิธีการอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลายจะได้มีอาพาธน้อย” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมมีกถา เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ”
การที่มีพระบรมพุทธานุญาตให้สร้างที่จงกรมและเรือนไฟนั้น ทำให้พระมีที่เดินออกกำลังกายมากขึ้น ได้เปลี่ยนอิริยาบถหลังจากที่ภิกษุทั้งหลายได้บำเพ็ญเพียร นอกจากนี้การเดินยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น
การที่สร้างเรือนไฟก็ช่วยในเรื่องของระบบขับถ่ายเหงื่อของเสียใน ร่างกาย ระบบการไหลเวียนของโลหิตและระบบทางเดินหายใจดีขึ้น
๓. พระองค์ทรงแสดงอานิสงฆ์แห่งการเดินจงกลม
"จังกมสูตร"
“ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการนี้ คือ
๑. เป็นผู้มีความอดทนต่อการเดินทางไกล
๒. เป็นผู้มีความอดทนต่อการบำเพ็ญเพียร
๓. เป็นผู้มีอาพาธน้อย
๔. อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อยได้ง่าย
๕. สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมตั้งอยู่ได้นาน
ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการเดินจงกรม ๕ ประการนี้แล”
ในปัจจุบันข้อมูลข่าวสาร ในเรื่อง การดูแลรักษาสุขภาพมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ เช่น หนังสือวารสารสุขภาพรายการโทรทัศน์เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ หรือข้อมูลใน website ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
ดังนั้น เราจึงควรคอยสังเกตตัวเองใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เช่น เรื่องการดูแลสุขภาพในช่องปาก คือ เรื่องเกี่ยวกับปากและฟันซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการขบเคี้ยวอาหารได้แก่ศึกษาวิธีแปรงฟันที่ถูกต้อง การใช้ไหมขัดฟัน ดูแลรักษาฟันให้ดีโดยขอความรู้จากแพทย์ที่เรารักษาหรือศึกษาจากแหล่งข้อมูลทั่วไป เช่น ห้องสมุดโรงพยาบาล ฯลฯ เพราะผู้ที่มีสุขภาพดี คอยดูแลรักษาตนให้ดี เพื่อประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไป
มีอาพาธน้อยเพราะรู้จักประมาณในการบริโภค
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงการมีสุขภาพดี เพราะรู้จักประมาณในการบริโภคไว้หลายพระสูตร ดังนี้
๑. ทานอาหารเหมือนทานยา
"รโถปมสูตร"
ภิกษุชื่อว่ารู้ประมาณในการบริโภคอาหารเป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหารไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า “เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และ ความอยู่ผาสุก จักมีแก่เรา' บุรุษพึงทาแผลก็เพียงเพื่อต้องการให้หาย หรือบุรุษพึงหยอดเพลารถก เพียงเพื่อต้องการขนสิ่งของไปได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ด้วยคิดเห็นว่า “เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และ ความอยู่ผาสุกจักมีอยู่แก่เรา'
ภิกษุชื่อว่ารู้ประมาณในการบริโภคอาหารเป็นอย่างนี้แล
๒. เหลืออีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ให้หยุดบริโภค
"สารีปุตตเถรคาถา"
ว่าด้วยสัมมาปฏิบัติของภิกษุ พระสารีบุตรได้กล่าวไว้ว่า
“ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล สงบระงับ มีสติ มีความดำริชอบ ไม่ประมาทยินดี แต่เฉพาะกรรมฐานภาวนาอันเป็นธรรมภายใน มีใจมั่นคงอย่างยิ่ง อยู่ผู้เดียว ยินดีด้วยปัจจัยตามมี ตามได้นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ภิกษุ
ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่องมีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่มควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำเป็นการสมควร เพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว....
๓. ไม่ควรมัวเมาในการบริโภค
"ปุตตมังสสูตร"
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กวฬิการาหารจะพึงเห็นได้อย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ภรรยาสามีสองคนถือเอาเสบียงเดินทางเล็กน้อย แล้วออกเดินไปสู่ทางกันดาร เขาทั้งสองมีบุตรน้อยๆ น่ารัก น่าพอใจอยู่คนหนึ่ง เมื่อขณะที่คนทั้งสองกำลังเดินไปในทางกันดาร เสบียงเดินทางที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้นได้หมดสิ้นไปแต่ทางกันดารนั้นยังเหลืออยู่เขาทั้งสองยังข้ามพ้นไปไม่ได้ ครั้งนั้น เขาทั้งสองคนคิดตกลงกันอย่างนี้ว่า เสบียงเดินทางของเราทั้งสองอันใดแล มีอยู่เล็กน้อยเสบียงเดินทางอันนั้นก็ได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ทางกันดารนี้ก็เหลืออยู่ เรายังข้ามพ้นไปไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราสองคนมาช่วยกันฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียว ผู้น่ารัก น่าพอใจคนนี้เสีย ทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อได้บริโภคเนื้อบุตร จะได้พากันเดินข้ามพันทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น ถ้าไม่เช่นนั้นเราทั้งสามคนต้องพากันพินาศหมดแน่
ครั้งนั้น ภรรยาสามีทั้งสองคนนั้น ก็ฆ่าบุตรน้อยๆ คนเดียวผู้น่ารักน่าพอใจนั้นเสียทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง เมื่อบริโภคเนื้อบุตรเสร็จ ก็พากันเดินข้ามทางกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น เขาทั้งสองคนรับประทานเนื้อบุตร พลางค่อนอก พลางรําพันว่า
ลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสียลูกชายน้อยๆ คนเดียวของฉันไปไหนเสีย ดังนี้ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นอย่างไร
คือ ว่าเขาได้บริโภคเนื้อบุตรที่เป็นอาหารเพื่อความคะนองหรือเพื่อความมัวเมา หรือเพื่อความตบแต่ง หรือ เพื่อความประดับประดาร่างกายใช่ไหม ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า จึงตรัสต่อไปว่า
ถ้าเช่นนั้น เขาพากันรับประทานเนื้อบุตรเป็นอาหารเพียงเพื่อข้ามพ้นทางกันดารใช่ไหม ใช่ พระเจ้าข้า พระองค์จึงตรัสว่า
“ข้อนี้ฉันใด เรากล่าวว่า บุคคลควรเห็น "กวฬิการาหาร" ว่า (เปรียบด้วย เนื้อบุตร) ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้กวฬิการาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณ เมื่ออริยสาวก กำหนดรู้ความยินดีซึ่งเกิดแต่เบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำ "อริยสาวก" ให้มาสู่โลกนี้อีก ก็ไม่มี”
๔. โทษการไม่รู้จักประมาณ
"สุกชาดก"
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตะวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ผู้มรณภาพ เพราะฉันมากเกินไปจนอาหารไม่ย่อย จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่ายาวโสมตฺตมญฺญาสิ ดังนี้
ได้ยินว่า เมื่อภิกษุนั้นมรณภาพ ไปอย่างนี้แล้ว "ภิกษุ" ทั้งหลายนั่งสนทนากันถึงโทษมิใช่คุณของภิกษุรูปนั้นในโรงธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุโน้นไม่รู้ประมาณท้องของตน บริโภคมากเกินไป ไม่สามารถทําอาหารให้ย่อยจึงมรณภาพ.
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า
"ภิกษุ" ทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ?
เมื่อ "ภิกษุ" เหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า "ภิกษุ" ทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็ตายเพราะบริโภคมากเป็นปัจจัย ดังนี้ แล้วจึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมา "สาธก" ดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกแขกเต้าในประเทศหิมพานต์ได้เป็นพระยาของนกแขกเต้าหลายพันอยู่ในหิมวันตประเทศอันเงียบไปตามมหาสมุทร.
"พระโพธิสัตว์" นั้นมีลูกอยู่ตัวหนึ่ง เมื่อลูกนกนั้นเจริญวัย พระโพธิสัตว์ก็มีจักษุทรพล, ได้ยินว่า นกแขกเต้าทั้งหลาย มีกำลังบินเร็วด้วยเหตุนั้นในเวลานกแขกเต้าเหล่านั้นแก่ตัวลง "จักษุ" นั่นแล จึงทุรพลไปก่อน ลูกนกแขกเต้าตัวนั้น ให้ บิดา มารดา อยู่เฉพาะในรัง แล้วนำอาหารมาเลี้ยงดู, วันหนึ่ง ลูกนกแขกเต้านั้นไปยังที่หากินแล้วจับอยู่บนยอดเขา มองดูสมุทรเห็นเกาะๆ หนึ่ง ก็ที่เกาะนั้น มีป่ามะม่วง มีผลหวาน มีสีเหมือนทอง, วันรุ่งขึ้น ได้เวลาหากิน ลูกนกแขกเต้านั้น บินไปลงที่ป่ามะม่วงนั้น ดื่มรสมะม่วงแล้วได้คาบเอาผลมะม่วงสุกมาให้บิดามารดา พระโพธิสัตว์กินผลมะม่วงนั้นแล้วจำรสได้จึงกล่าวว่า ลูกเอ๋ย นี้ผลมะม่วงสุกในเกาะโน้น มิใช่หรือ เมื่อลูกนกแขกเต้ารับว่าใช่จ้ะพ่อ จึงกล่าวว่า
ลูกเอ๋ย พวกนกแขกเต้าที่ไปยังเกาะนั้น ชื่อว่าจะรักษาอายุให้ยืนยาวได้ไม่มีเลย เจ้าอย่าได้ไปยังเกาะนั้นอีกเลย ลูกนกแขกเต้านั้นไม่เชื่อคำของพระโพธิสัตว์นั้น คงไปอยู่อย่างนั้น ครั้นวันหนึ่ง ลูกนกแขกเต้าดื่มรสมะม่วงเป็นอันมากแล้ว คาบเอามะม่วงสุกมาเพื่อบิดามารดา เมื่อบินมาถึงกลางมหาสมุทร เพราะ บินเร็วเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อยถูกความง่วงครอบงำ ทั้งที่หลับอยู่ก็ยังบินมาอยู่นั่นแหละ ส่วนมะม่วงสุกที่คาบมาด้วยจงอยปากก็หลุดล่วงไป, ลูกนกแขกเต้านั้นได้ละทางที่เคยมาเสียโดยลำดับ จึงตกลงในน้ำเขาลอยมาตามพื้นน้ำจึงจมลงในน้ำ ที่นั้น ปลาตัวหนึ่งคาบลูกนกแขกเต้านั้นกินเสีย. เมื่อลูกนกแขกเต้านั้นไม่มาตามเวลาที่เคยมา พระโพธิสัตว์ ก็รู้ได้ว่า เห็นจะตกมหาสมุทรตายเสียแล้ว ครั้งนั้น เมื่อบิดามารดาของเขาไม่ได้อาหารจึงซูบผอมตายไป.
"พระศาสดา" ครั้นทรง นำเรื่องในอดีตมาสาธกแล้ว ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
"ลูกนกแขกเต้า" ตัวนั้น รู้ประมาณในการบริโภคอยู่เพียงใด ก็ได้สืบอายุ และได้เลี้ยงดู บิดา มารดา อยู่เพียงนั้น อนึ่ง ในกาลใด ลูกนกแขกเต้านั้นกลืนกินโภชนะมากเกินไป ในกาลนั้น ก็ได้ชื่อว่าไม่รู้จักประมาณในการบริโภคจึงจมลงในมหาสมุทร นั่นเอง.
เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้รู้ประมาณ ความไม่หลงติดในโภชนะเป็นความดี, ด้วยว่า บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณย่อมจมลงในอบายทั้ง ๔ บุคคลผู้รู้จักประมาณเท่านั้น ย่อมไม่จมลงในอบาย ๔.
มีอาพาธน้อยเพราะไม่มีวิบากกรรมเก่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแสดงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย เพราะไม่มีวิบากกรรมเก่าไว้หลายแห่ง ดังนี้
"ลักขณสูตร"
“ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อนในกำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหินด้วยท่อนไม้หรือด้วยศัสตราตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เพราะกรรมนั้นอันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้ซึ่ง "มหาปุริส" ลักษณะนี้.
คือ มีเส้นประสาทสําหรับนํารสอาหารอันเลิศ กล่าวคือ พระมหาบุรุษนั้นมีเส้นประสาทมีปลายข้างบนประชุมอยู่ที่พระศอ สำหรับนำรสอาหารแผ่ซ่านไปสม่ำเสมอทั่วพระวรกาย, พระองค์สมบูรณ์ด้วยพระลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือ มีพระโรคาพาธน้อย มีความลำบากน้อย สมบูรณ์ด้วยพระเตโชธาตุ อันทำอาหารให้ย่อยดีไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก
ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคา คือ กิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะได้รับผลข้อนี้ คือ มีพระโรคาพาธน้อย มีความลำบากน้อย สมบูรณ์ด้วยพระเตโชธาตุอันทําอาหารให้ย่อยดี ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก อันควรแก่ ปธานะเป็นปานกลาง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเนื้อความนี้ไว้.
"จูฬกัมมวิภังคสูตร"
ครั้งนั้น "สุภมาณพโตเทยยบุตร" เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ท่านพระโคดมอะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้สัตว์ที่เกิดเป็นมนุษย์ปรากฏเป็นคนเลวและคนดี คือ มนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏว่ามีอายุสั้นมีอายุยืน มีโรคมาก มีโรคน้อย มีผิวพรรณทรามมีผิวพรรณดี มีอำนาจน้อย มีอำนาจมาก มีโภคะน้อย มีโภคะมาก เกิดในตระกูลต่ำ เกิดในตระกูลสูง มีปัญญาน้อย มีปัญญามาก...”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“มาณพ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม เป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง เพราะ กรรมนั้น ที่เขาให้บริบูรณ์ ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้วเขาจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก หลังจากตายแล้ว ถ้าไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโรคมาก มาณพ การที่บุคคล เป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง นี้เป็นปฏิปทา ที่เป็นไปเพื่อความมีโรคมาก ...ผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง เพราะกรรมนั้น ที่เขาให้บริบูรณ์ ยึดมั่นไว้อย่างนั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หลังจากตายแล้วถ้าไม่ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ในที่ใดๆ เขาก็จะเป็นผู้มีโรคน้อย..........
สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัยกรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้เลวและดีต่างกัน ด้วยประการฉะนี้”
ทำไมต้องดูแลรักษาสุขภาพให้ดี
๑. เพราะร่างกายคนเราเป็นอุปกรณ์สำคัญ ในการสร้างคุณความดี แต่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา หากเราไม่ดูแลทะนุถนอม ไม่บริหารดูแลให้ดี ก็จะใช้นำไปสร้างคุณความดีได้ไม่นาน
"คิริมานันทสูตร"
“คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
พิจารณาว่า “รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง เป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความเป็นของไม่เที่ยงใน "อุปาทานขันธ์ ๕" นี้อยู่อย่างนี้ เรียกว่า “อนิจจสัญญา”
ดังนั้น เราต้องรู้จักบริหารร่างกายให้ดี มีการพักผ่อน ออกกำลังกายที่เหมาะสม การไม่ระวัง ทำให้ระบบการทำงานส่วนต่าง ๆ ได้รับผลกระทบและอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย เช่น การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ก่อให้เกิด โรคลม จุกเสียดท้องโรคกระเพาะได้ เป็นอุปสรรคในการประพฤติธรรม
เปรียบร่างกายเราเหมือนรถยนต์ ซึ่งมีชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันตั้งแต่โครงรถตัวถังเครื่องยนต์ ระบบเบรก ระบบไฟฯลฯ ซึ่งเมื่อใช้งานไปย่อมมีการสึกหรอไปเป็นธรรมดา เราจึงต้องหมั่นบำรุงดูแล ตรวจสอบเช็คแบตเตอรี่ เติมน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนตัวกรองน้ำมัน เติมลมให้พอเหมาะพอดี ดังนั้น เราควรศึกษาหาความรู้ในการดูแลสุขภาพให้ดี
๒. ร่างกายของเรา เต็มไปด้วยของที่ไม่สะอาด เปรียบเป็นรังของโรค
"คิริมานันทสูตร"
คือ “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายนี้เท่านั้น ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป
ตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า “ในกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่าดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความเป็นของไม่งามในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า “อสุภสัญญา”
ดังนั้น อาหารที่เราบริโภคเข้าไปจะถูกดูดซึมสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเข้าไปใช้งาน ส่วนของที่เหลือจะถูกขับออกมาเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ตลอดจนของเหลวที่ถูกขับออกมา ในรูปของ น้ำตา ขี้หู น้ำลาย ขี้มูก เหงื่อ ไคลต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูล น่ารังเกียจ ดังนั้น เราควรตระหนักและพิจารณาให้ดีทุกครั้งก่อนจะบริโภค และควรพิจารณาอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่รสจัดอาหารที่มีไขมันมากควรดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม เพราะมีน้ำตาลในปริมาณสูง มีแก๊สกัดกระเพาะ อย่าตามใจปาก รับประทานอาหาร ประเภท เนื้อสัตว์ ที่มีไข่มันมากเกินไป ควร รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ซึ่งจะช่วยให้ ระบบขับถ่ายของเราดี สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติธรรม
ฟัน เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่บด เคี้ยว ย่อยอาหารให้กระเพาะอาหารได้ดูดซึมสิ่งที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย หากไม่ดูแลรักษาให้ดีปล่อยให้ฟันผุหรือเป็นโรคเหงือกอักเสบก็จะส่งผลต่อการเคี้ยวบดได้ไม่ดีถ้าเราเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ก็จะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก ซึ่งในระยะยาว ก็จะมีผลกระทบต่อกระบวนการย่อยอาหารของร่างกาย เกิด โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น อย่ามองข้ามความสำคัญของสุขภาพในช่องปาก
การปลูกฝังนิสัยดูแลสุขภาพเป็น
๑. รู้จักประมาณในการรับการใช้ปัจจัย ๔
๒. ให้รู้จักประมาณในการรับประทานอาหารแต่พอดี
๓. ให้ความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพ เช่น เรื่อง การดื่มน้ำ ในปริมาณที่พอเหมาะ การเคี้ยวให้ละเอียด การแปรงฟันให้ถูกวิธี การออกกำลังกาย ฯลฯ
๔. สอนให้เข้าใจในเรื่อง กฎแห่งกรรม พร้อมยกตัวอย่างประกอบ เช่น เหตุที่ทำให้มีอายุสั้น เพราะทำกรรมปาณาติบาต เหตุที่ทำให้เจ็บป่วยมีโรคเรื้อรังมีเศษเวรติดตามตัวมา โดยแนะนำวิธีการแก้ไข คือ ให้หมั่นรักษาศีล ปล่อยสัตว์ ปล่อยปลา และ ปฏิบัติธรรมให้ใจผ่องใสอยู่เสมอ
สรุปเหตุที่มีอาพาธน้อย
๑. คนที่มีอาพาธน้อย เพราะมีความรู้ เป็นคนช่างสังเกต
รู้จักดูแลรักษาตัวเองเป็น เพราะได้รับการศึกษารับทราบข้อมูล การดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีหรือได้รับการปลูกฝังอย่างดีมาจากครอบครัว
๒. มีอาพาธน้อย เพราะรู้จักประมาณในการบริโภค
สาเหตุของโรค ส่วนใหญ่มาจากอาหารที่เราบริโภคเข้าไป ต้องรู้จักประมาณในการรับ
๓. มีอาพาธน้อย เพราะไม่มีวิบากกรรมเก่า
เนื่องจาก คนเรายังอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรมตราบใด ที่ยังไม่หมดกิเลส สิ่งที่ต้องระวัง คือ ต้องไม่ไปประกอบกรรมใหม่ ซึ่งจะส่งผลเป็นวิบากในภายหน้า