บทที่ ๖
ปัญญา
ความหมายของปัญญาในเสนาสนสูตร
"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสถึงคุณสมบัติข้อที่ ๕ ของ "พระภิกษุ" ผู้เหมาะแก่ "การบรรลุธรรม" ไว้ใน "เสนาสนสูตร" ดังนี้
"ผู้มีปัญญา" (คือ) ประกอบด้วย "ปัญญา" เป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้ง "ความเกิด และ ความดับ" อันเป็น "อริยะ" ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ประเภทของแหล่งปัญญา
ที่มาของปัญญามี ๓ แหล่ง ดังนี้
๑. สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง
๒. จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดและประสบการณ์
๓. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิ
คนที่มีปัญญาดีแสดงว่าได้รับการอบรมมาดี มีพ่อแม่สอนมาดี หรือมีครูบาอาจารย์ให้คำแนะนำมาดี จนกระทั่งได้แนวคิดที่ถูกต้อง ปฏิบัติได้ถูกต้อง เห็นความดับทุกข์เป็นอริยะ
ปัญญาเกิดขึ้นได้จากการฟัง(ครู)
มีเรื่องราวที่น่าสนใจในมหาจุนทเถระคาถา ดังนี้
"มหาจุนทเถรคาถา"
"พระจุนทะ" หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ประสงค์จะประกาศว่า การที่ท่านบรรลุอรหัตผลได้นั้น เพราะ อาศัยครูและการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด จึงกล่าวว่า
เพราะตั้งใจฟังครูสอน จึงได้ความรู้
ความรู้ทำให้ได้ปัญญา
เพราะปัญญาจึงทำให้รู้ประโยชน์
ประโยชน์ที่รู้แล้วย่อมนำสุขมาให้
"ภิกษุ" ควรเสพเสนาสนะอันสงัด
ควรประพฤติธรรมอันเป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจาก
กิเลสเครื่องร้อยรัด
ถ้าในเสนาสนะและธรรมนั้น ยังยินดีเต็มที่ไม่ได้
เมื่ออยู่กับคณะ ก็ควรมีสติรักษาตน
จากพระสูตรนี้ ได้ให้ข้อคิดสำคัญว่า ก้าวแรกของความสำเร็จในชีวิตคนก้าวแรกของการหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร คือ ต้องได้ครูดีเท่านั้น ถึงจะได้ปัญญาดับทุกข์
ปัญญาที่เกิดจากการคิดและประสบการณ์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียก “ปัญญาที่เกิดจากการคิด” ว่า “โยนิโสมนสิการ” โดยพระองค์ให้ความสำคัญของ “โยนิโสมนสิการ” ว่า เป็นเบื้องต้นของการศึกษามรรคมีองค์ ๘ และการไม่เสื่อมหายของพุทธพจน์ ดังปรากฏใน "โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร" ดังนี้
"โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตร"
ว่าด้วย โยนิโสมนสิการสัมปทา
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะอุทัย ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด "โยนิโสมนสิการสัมปทา" (ความถึงพร้อมด้วยการมนสิการโดยแยบคาย) ก็เป็นตัวนำเป็น "บุพนิมิต" เพื่อความเกิดขึ้นแห่ง "อริยมรรคมีองค์ ๘" ฉันนั้น
"ภิกษุ" ผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการพึงหวังข้อนี้ได้ว่า 'จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก'
"ภิกษุ" ผู้ถึงพร้อมด้วย "โยนิโสมนสิการ" เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ท่าอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
๒. เจริญสัมมาสังกัปปะอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
๓. เจริญสัมมาวาจาอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
๔. เจริญสัมมากัมมันตะอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
๕. เจริญสัมมาอาชีวะอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
๖. เจริญสัมมาวายามะอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
๗. เจริญสัมมาสติอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะอาศัยนิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
"ภิกษุ" ทั้งหลาย ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากอย่างนี้แล"
จากพระสูตรนี้ ชี้ให้เห็นว่า การไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลนั้น เป็นสิ่งสำคัญในการทำให้เกิดความชัดเจนในการนำไปปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เพราะหากเพียงแต่ท่องจำให้ขึ้นใจ แต่ไม่เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติ ย่อมไม่อาจนำมาแก้ไขปรับปรุงตนเองให้พ้นทุกข์ได้ ดังนั้น ตอนท้ายของพระสูตรนี้พระองค์จึงกำชับว่า เมื่อไตร่ตรองอริยมรรคมีองค์ ๘ ในภาคทฤษฎีให้เข้าใจแตกฉานแล้ว ก็ต้องลงมือปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก และการที่มรรคมีองค์ ๘ จะครบถ้วนได้ก็ต้องลงมือทำภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงธรรม จึงจะเป็นผู้อยู่ในธรรม
"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ได้ตรัสถึงการเป็นอยู่ในธรรมอย่างแท้จริงไว้ใน "ปฐมธัมมวิหารีสูตร" ดังนี้
"ปฐมธัมมวิหารสูตร"
ว่าด้วยบุคคลผู้อยู่ด้วยธรรม
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า 'ผู้อยู่ด้วยธรรม ผู้อยู่ด้วยธรรม' "ภิกษุ" ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยธรรม ด้วยเหตุเท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๑. "ภิกษุ" ในธรรมวินัยนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ เธอปล่อยให้วันคืนล่วงเลยไป ละการหลีกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจภายในเพราะการเรียนธรรมนั้น "ภิกษุ" นี้เราเรียกว่าเป็นผู้มากด้วยการเรียนธรรมไม่เรียกว่าเป็นผู้อยู่ด้วยธรรม
๒. "ภิกษุ" ในธรรมวินัยนี้แสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมาตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร เธอปล่อยให้วันคืนล่วงเลยไป ละการหลีกเร้นอยู่ไม่ประกอบความสงบใจภายใน เพราะการแสดงธรรมนั้น "ภิกษุ" นี้เรา เรียกว่า เป็นผู้มากด้วยการแสดงธรรม ไม่เรียกว่าเป็นผู้อยู่ด้วยธรรม
๓. "ภิกษุ" ในธรรมวินัยนี้สาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา แก่ผู้อื่นโดยพิสดารเธอปล่อยให้วันคืนล่วงเลยไป ละการหลีกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจภายใน เพราะ "การสาธยายธรรม" นั้น "ภิกษุ" นี้เรา เรียกว่า เป็น "ผู้มากด้วยการสาธยายธรรม" ไม่เรียกว่า เป็นผู้อยู่ด้วยธรรม
๔. "ภิกษุ" ในธรรมวินัยนี้ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา เธอปล่อยให้วันคืนล่วงเลยไป ละการหลีกเร้นอยู่ ไม่ประกอบความสงบใจภายใน เพราะการตรึกตามธรรมนั้นภิกษุนี้เราเรียกว่าเป็น "ผู้มากด้วยการตรึกธรรม" ไม่เรียกว่า เป็นผู้อยู่ด้วยธรรม
๕. "ภิกษุ" ในธรรมวินัยนี้เรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ เธอไม่ปล่อยให้วันคืนล่วงเลยไป ไม่ละการหลีกเร้นอยู่ ตามประกอบความสงบใจภายใน เพราะการเรียนธรรมนั้น "ภิกษุ" ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ด้วยธรรมอย่างนี้แล
เราแสดง "ภิกษุ" ผู้มากด้วยการเรียนธรรม ผู้มากด้วยการแสดงธรรม ผู้มากด้วยการสาธยายธรรม ผู้มากด้วยการตรึกธรรม ผู้อยู่ด้วยธรรม ด้วยประการฉะนี้แล "ภิกษุ" กิจใดที่ศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูลอนุเคราะห์อาศัยความเอ็นดูพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุนั่นโคนไม้นั่นเรือนว่าง” เธอจงเพ่งๆ อย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีวิปปฏิสาร (ความร้อนใจ) ในภายหลังเลย นี้เป็นอนุสาสนี้ของเราเพื่อเธอทั้งหลาย
จากพระสูตรนี้ มีข้อสังเกตว่า การศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น อาศัยภาคปริยัติเป็นข้อมูลสำคัญในการฝึกฝนอบรมตนเองให้ครบถ้วนใช้โยนิโสมนสิการเพื่อไตร่ตรองให้ชัดเจน ใช้การปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ด้วยการทำภาวนาเป็นหลักในการขจัดทุกข์ให้หมดไปตามลำดับๆจนกว่าจะบรรลุธรรม
ปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิภาวนา
"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ตรัสถึงปัญญาที่เกิดจากการทำภาวนาไว้ในสมาธิสูตร ดังนี้
"สมาธิสูตร"
ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิด "ปัญญา"
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย”
"ภิกษุ" เหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ "ภิกษุ" มีจิตตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง
ก็ "ภิกษุ" ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร
ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา ความเกิดและความดับแห่งสัญญาความเกิดและความดับแห่งสังขารความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ
ดูก่อน "ภิกษุ" ทั้งหลาย ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูปอะไรเป็นความเกิดแห่งเวทนา อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญาอะไรเป็นความเกิดแห่งสังขารอะไรเป็นความเกิดแห่งวิญญาณ
ดูก่อน "ภิกษุ" ทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้ ย่อมเพลิดเพลินย่อมพร่ำถึงย่อมดื่มต่ำอยู่
ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มต่ำอยู่ซึ่งอะไร
ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มต่ำอยู่ซึ่งรูป เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มต่ำอยู่ซึ่งรูป ความยินดีก็เกิดขึ้นความยินดีในรูป นั่นเป็น "อุปาทาน"
เพราะ "อุปาทาน" ของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้นย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
บุคคลย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ
ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ
ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ
ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มต่ำอยู่ซึ่งวิญญาณเมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มต่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ ความยินดีย่อมเกิดขึ้น ความยินดีในวิญญาณ นั่นเป็นอุปาทาน เพราะ "อุปาทาน" ของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมี ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ดูก่อน "ภิกษุ" ทั้งหลาย นี่เป็นความเกิดแห่งรูป นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา นี่เป็นความเกิดแห่งสังขารนี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ”
เหตุที่ทำให้คนได้ปัญญามาก
"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ได้ตรัสหลักปฏิบัติเพื่อได้ปัญญามากไว้ในปัญญามหาปัญญาสูตร ดังนี้
"มหาปัญญาสูตร"
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก
"พระผู้มีพระภาค" ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายธรรม ๔ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความมีปัญญามาก
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (การฟังพระสัทธรรม)
๓. โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)
"ภิกษุ" ทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความมีปัญญามาก”
จากการค้นคว้าพบว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ได้ขยายความ วิธีปฏิบัติของ "มหาปัญญาสูตร" อย่างละเอียดลออไว้ใน "ปัญญาสูตร" ดังนี้
"ปัญญาสูตร"
"ภิกษุ" ทั้งหลาย เหตุปัจจัย ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้น "แห่งพรหมจรรย์" ที่ยังไม่ได้ เพื่อ "ภิญโญภาพ ไพบูลย์" เจริญเต็มที่แห่ง "ปัญญา" ที่ได้แล้ว
๑. อาศัย "พระศาสดา" หรือ "เพื่อนพรหมจารี" รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะ "ครู" เป็นที่เข้าไปตั้ง "หิริโอตตัปปะ" ความรัก และ ความเคารพอย่างแรงกล้า นี้เป็นเหตุปัจจัยที่๑ ที่เป็นไปเพื่อได้ "ปัญญา" อันเป็นเบื้องต้นแห่ง "พรหมจรรย์" ที่ยังไม่ได้ เพื่อ "ภิญโญภาพ ไพบูลย์" เจริญเต็มที่แห่ง "ปัญญา" ที่ได้แล้ว
๒. อาศัย "พระศาสดา" หรือ "เพื่อนพรหมจารี" รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู เป็นที่เข้าไปตั้ง "หิริโอตตัปปะ" ความรัก และ เคารพอย่างแรงกล้า เธอเข้าไปหาแล้วสอบสวน ไต่ถามท่านเหล่านั้น ตามเวลาอันสมควรว่า “ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่ายและบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่าง นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๒......
๓. ได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมทำความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบใจให้ถึงพร้อม นี้เป็นปัจจัยที่ ๓......
๔. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นปัจจัยที่ ๔......
๕. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะเป็นผู้ได้ฟังมาก ซึ่งธรรมทั้งหลาย ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความงามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้เป็นปัจจัยที่ ๕.....
๖. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิดมีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่นี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๖.....
๗. อยู่ในที่ประชุมสงฆ์ไม่พูดเรื่องราวต่าง ๆ ไม่พูดติรัจฉานกถากล่าวธรรมเองเชื้อเชิญผู้อื่นให้กล่าวและไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยะนี้เป็นเหตุปัจจัยที่ ๗.....
๘. เป็นผู้มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและความเลื่อมใสไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้... สัญญาเป็นอย่างนี้... สังขารเป็นอย่างนี้... ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ นี้เป็นปัจจัยที่ ๘ ที่เป็นไป เพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อ ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งปัญญาที่ได้แล้วผู้ที่ได้ประกอบเหตุทั้ง ๘ อย่าง ก็จะก่อให้เกิดปัญญาอย่างสมบูรณ์
จากสองพระสูตรดังกล่าว คือ "มหาปัญญาสูตร และ ปัญญาสูตร" สรุปได้ว่า
๑. การที่เราจะมีนิสัยมีปัญญาในเบื้องต้นนั้น ต้องพยายามแสวงหาบุคคลที่จะเป็นต้นแบบนิสัยมีปัญญา เป็นกัลยาณมิตร เป็นอาจารย์
๒. เข้าไปไต่ถามสอบถาม ศึกษาด้วยความเคารพให้ท่านชี้แนะ หมั่นรักษาศีล ระมัดระวังกาย ระวังคำพูดของตน หมั่นฟังธรรม รู้จักเป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักตั้งคำถาม และ หมั่นสังเกตคุณธรรมของท่าน
๓. พิจารณาหัวข้อธรรมะ โดยหมั่นค้นคว้า หาความรู้จากพระไตรปิฎก และข้อคิดต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังมา
๔. พยายามรักษาใจให้ผ่องใสตลอดเวลา โดยตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมโดยไม่ท้อถอยและหมั่นจดบันทึกผลการปฏิบัติธรรม
เมื่อได้ฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกบ่อยๆ ย่อมได้รับผลของการปฏิบัติตามสมควรแก่ธรรม ก็จะมีความรู้ความเข้าใจโลกไปตามความเป็นจริง ตามภาวะ ตามภูมิธรรมที่เราปฏิบัติได้เราก็จะเป็น ผู้มีนิสัย มีปัญญา มองเห็นสิ่งต่างๆ เข้าใจโลกได้โดยตามความเป็นจริงชัดเจนขึ้น