นางวิสาขา
ตอนที่ ๑๗ วิหารทานอันวิจิตร
เวลาไม่นานนัก พวกเขาได้สร้างปราสาท ๒ ชั้น เสร็จ และปราสาทนั้นมี ๑ , ๐๐๐ ห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลานานถึง ๙ เดือนแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จกลับมาสู่พระนครสาวัตถีอีก และการก่อสร้างวัดปุพพารามของนางวิสาขา ก็ได้แล้วเสร็จในเวลา ๙ เดือนเหมือนกัน
นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้สร้างยอดปราสาท กระทำเป็นหม้อใหญ่ซึ่งจุน้ำดื่มน้ำใช้ได้ ๖๐ หม้อ โดยใช้ทองคำสีสุกปลั่งมีราคามากทำหม้อเหล่านั้น นอกจากนี้ปราสาทหลังนั้นยังมีกุฏิที่มียอด ๒ ยอด คล้ายปราสาท ๒ ยอด ล้อมรอบอีก ๕๐๐ หลัง มีปราสาทเล็กๆ อีก ๕๐๐ หลัง มีโรงประทีปและเรือนไฟอีก ๕๐๐ หลัง หญิงอื่นๆ ในแผ่นดินนี้ ที่จะได้ชื่อว่าสละทรัพย์มากเพื่ออุปถัมป์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาเหมือนกับนางวิสาขาย่อมไม่มี
ครั้นนางวิสาขาทราบข่าวการเสด็จกลับกรุงสาวัตถีของพระบรมศาสดาแล้ว จึงรีบกราบทูลอาราธนา ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าและเหล่าสาวกได้ประทับอยู่ที่วิหารนี้ ตลอด ๔ เดือน เพื่อนางจะได้ทำการฉลองปราสาท พระบรมศาสดาทรงรับปราสาทของนางวิสาขาที่ถวายไว้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยอาการดุษฎี
จำเดิมแต่กาลนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเป็นประจำทุกวัน ต่อมาวันหนึ่ง หญิงสหายของนางวิสาขาได้นำผ้าผืนหนึ่งราคา ๑,๐๐๐ กหาปณะมา โดยปรารถนาจะร่วมบุญกับนางวิสาขาในการปูพื้นปราสาท จึงขอให้นางวิสาขาช่วยบอกสถานที่ปูผ้าผืนนี้ให้แก่นางด้วย
นางวิสาขากล่าวว่า “ดูก่อนสหาย ถ้าฉันจะบอกว่า ไม่มีช่องว่าง เธอก็จะเข้าใจว่าฉันไม่มีความประสงค์จะให้โอกาสเธอ ดังนั้นขอเธอจงเดินตรวจดูพื้นปราสาทแล้วเลือกปูพื้นเองตามปรารถนาเถิด”
หญิงสหายนั้นจึงเที่ยวจึงเที่ยวเดินตรวจดูพื้นวิหารทั้ง ๑,๐๐๐ ห้อง ไม่เห็นผ้าผืนไหนที่จะมีราคาน้อยกว่าผ้าของตนเลย ทุกที่ล้วนปูลาดไว้อย่างดีแล้วทั้งสิ้น นางจึงรู้สึกผิดหวังว่า เราคงไม่มีโอกาสในส่วนบุญนี้กระมัง แล้วยืนร้องไห้เสียใจอยู่ภายในวิหารนั้น
ขณะนั้นพระอานนท์ได้เดินตรวจดูความเรียบร้อยของปราสาท ผ่านมาเห็นหญิงสหายของนางวิสาขากำลังยืนร้องไห้อยู่ จึงถามว่านางเสียใจด้วยเหตุอะไร นางจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระเถระทราบ พระอานนท์ผู้มีปัญญา จึงกล่าวปลอบโยนนางว่าอย่าเสียใจเลย อาตมาจะบอกที่ปูลาดผ้าผืนนี้ให้ แล้วกล่าวแนะนำว่า “ท่านจงปูลาดไว้ที่บันไดสำหรับเป็นผ้าเช็ดเท้า ให้พระภิกษุทั้งหลายล้างเท้าแล้วต้องเช็ดเท้าในที่นั้นก่อน จึงจะเข้าไปข้างในวิหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ผ้าผืนนี้ของท่านจะได้ผลบุญมาก” หญิงสหายผู้นั้นดีใจมาก พร่ำกราบขอบพระคุณพระอานนท์เป็นอย่างมาก แล้วทำการปูผ้าลงในที่นั้น ซึ่งเป็นสถานที่ที่นางวิสาขามิได้กำหนดไว้
การเฉลิมฉลองปราสาทยังคงดำเนินไปอย่างเอิกเกริกนางวิสาขาได้ถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตลอดระยะเวลา ๔ เดือน ในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าสาฎกสำหรับใช้ทำจีวรสำหรับพระภิกษุสงฆ์ มีราคามากถึงหนึ่งพันกหาปณะ นอกจากนี้นางวิสาขายังได้ถวายเภสัชจนเต็มบาตรของพระภิกษุทุกรูป ในการบริจาคทานของนางวิสาขามหาอุบาสิกา สิ้นทรัพย์ไปถึง ๙ โกฏิกหาปณะ
รวมแล้วนางวิสาขาได้บำเพ็ญทานไปกว่า ๒๗ โกฏิกหาปณะ คือใช้ซื้อที่ดินเพื่อสร้างวิหาร ๙ โกฏิ ก่อสร้างวิหาร ๙ โกฏิ และฉลองวิหารอีก ๙ โกฏิกหาปณะ
อาจกล่าวได้ว่า เรือนของนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นสถานที่ที่เหลืองอร่ามเรืองรองด้วยสีแสงแห่งผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นสถานที่ที่ฟุ้งขจรไปทั้งตามลมและทวนลม ด้วยกลิ่นแห่งศีลของผู้แสวงหาธรรมะเป็นเครื่องพ้นทุกข์ ทั้งในเวลาเช้าและเวลาเย็น ภายในเรือนของนางวิสาขามีการจัดเตรียมไทยธรรมที่จะถวายพระภิกษุไว้อย่างเพียบพร้อม เช่นเดียวกับเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
นางวิสาขาจะถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ครั้นถึงเวลาเย็นจึงให้คนถือเภสัชต่างๆ มีน้ำปานะ ๘ อย่าง หมายถึงน้ำที่คั้นจากผลไม้ที่ขนาดไม่ใหญ่กว่ากำมือมากนัก จัดเป็นยามกาลิกของพระรับประเคนไว้เพื่อดับกระหาย และจะฉันได้ภายในเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น ได้แก่ ๑ . น้ำมะม่วง ๒ . น้ำชมพู่ ๓ . น้ำกล้วยมีเม็ด ๔ . น้ำกล้วยไม่มีเม็ด ๕ . น้ำมะทราง ๖ . น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น ๗ . น้ำเหง้าบัว ๘ . น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่
เมื่อนางถวายทานในช่วงเย็นแล้ว จะไปฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า จากนั้นจึงกลับเรือนพร้อมทั้งเหล่าบริวาร ความเป็นผู้มีคุณความดีอันยอดเยี่ยมของนางวิสาขานี้เอง จึงเป็นที่ยอมรับนับถือของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อมาพระบรมศาสดา ทรงตั้งอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ ได้ตรัสว่า “ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางวิสาขามิคารมาตา เป็นเอตทัคคะ คือ ผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายผู้เป็นสาวิกาของตถาคต ในทางถวายทาน ”
ในวันที่ฉลองวิหารปุพพารามเสร็จลง เวลาบ่าย นางวิสาขามหาอุบาสิกามีลูกหลานและบริวารแวดล้อม คิดขึ้นว่า “ความปรารถนาใดๆ ที่เราได้ตั้งใจไว้แล้วในกาลก่อน ความปรารถนานั้นๆ ทั้งหมดได้ถึงที่สุดแล้ว ” นางจึงพาญาติมิตรและเหล่าบริวารเดินเวียนประทักษิณรอบปราสาท แล้วเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ ด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ ๕ คาถา ความว่า
ยามใดที่เราได้ถวายปราสาทหลังใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดินเป็นวิหารทาน
ความดำริของเราได้เต็มบริบูรณ์แล้ว
ยามใดที่เราได้ถวายเตียง ตั่ง ฟูกและหมอนเป็นเครื่องเสนาสนะ
ความดำริของเราก็เต็มบริบูรณ์แล้ว
ยามใดที่เราได้ถวายสลากภัต ผสมเนื้ออันสะอาดเป็นโภชนทาน
ความดำริของเราก็เต็มบริบูรณ์แล้ว
ยามใดที่เราได้ถวายผ้ากาสี ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้ายเป็นจีวรทาน
ความดำริของเราได้เต็มบริบูรณ์แล้ว
ยามใดที่เราได้ถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำมันและน้ำอ้อยเป็นเภสัชทาน
ความดำริของเราก็เต็มบริบูรณ์แล้ว
พระภิกษุทั้งหลายได้ยินเสียงนางวิสาขาเปล่งอุทานเช่นนั้นหลายครั้ง จึงรู้สึกแปลกใจอย่างยิ่ง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยเห็นนางเป็นเช่นนี้มาก่อน ให้ประหลาดใจว่านางวิสาขาเสียจริตหรือเป็นบ้าไปหรือเปล่า จึงเข้าไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า