นางวิสาขา
ตอนที่ ๑๖ สร้างวัดปุพพาราม
ท้องฟ้าเริ่มสาง แสงสีขาวสาดทาบเป็นแนวยาวด้านบูรพาทิศ อากาศแรกอรุณเย็นย่ำ พระพายรำเพยแผ่วหอบเอากลิ่นบุปผชาติไปตามกระแสรวยริน เรือนของท่านมิคารเศรษฐียามนี้มากไปด้วยเหล่าบริวารที่ขวนขวายการงานแห่งตนตั้งแต่ย่ำรุ่ง บ้างตัดไม้ผ่าฟืน หุงข้าวต้มแกง หรือปัดกวาดทำความสะอาดเสนาสนะ พูดคุยส่งเสียงกันอึงอล
นายช่างทองทั้งหลายได้มาถึงเรือนท่านเศรษฐีตามคำเชิญของนางวิสาขา เพื่อตีราคาแห่งเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น นายช่างทองแต่ละท่านช่วยกันพิจารณาเครื่องประดับอย่างถ้วนถี่ ให้รู้สึกหนักใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทุกอณูพื้นที่แห่งเครื่องประดับไม่มีผ้าด้ายผ้าไหมหรือผ้าใดๆ เจือปนอยู่เลย
ล้วนแพรวพราวไปด้วยเพชรนิลจินดามากหลาย หากแม้เพียงเพชรเม็ดเล็กๆ สักเม็ดหลุดรอดสายตาไปได้ย่อมสูญราคาไปมิใช่น้อย ทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างพิถีพิถัน และสิ้นระยะเวลานานพอสมควร “ข้าแต่ แม่เจ้า” หัวหน้าช่างทองผู้หนึ่งเอ่ยขึ้น หลังจากประชุมหารือเป็นที่เรียบร้อย
“ว่ากระไรท่านนายช่าง เครื่องประดับนี้รวมราคาได้เท่าใด” นางวิสาขาหันมาถาม
“พวกกระผมได้ช่วยกันตีราคาอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนแน่ใจว่าไม่ตกหล่นไปแม้แต่น้อย เห็นว่าเครื่องประดับนี้มีราคามากถึง ๙ โกฏิ และมีค่ากำเหน็จอีก ๑ แสนกหาปณะ ขอรับ”
เมื่อนายช่างทุกคนเห็นพ้องต้องตรงกันเช่นนั้นแล้ว นางวิสาขาจึงวางใจ กล่าวขอบคุณด้วยอัธยาศัยอันงาม แล้วให้หญิงบริวารนำสินจ้างมามอบให้นายช่างทั้งหลายตามสมควร
จากนั้นให้นายช่างเหล่านั้น นำเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ขึ้นตั้งไว้บนยานอันวิจิตร แล้วเร่บอกขายแก่ผู้มีความปรารถนาจะซื้อไปจนทั่วพระนคร แต่ปรากฏว่าในเมืองสาวัตถีไม่มีผู้ใดยอมซื้อเครื่องประดับนั้น หากจะถามถึงเศรษฐีมีทรัพย์คงพอจะมีอยู่บ้าง แต่คงจะไม่มีใครกล้านำเอาเครื่องประดับของนางวิสาขาซึ่งเป็นที่เคารพรักของคนทั้งเมืองมาประดับตกแต่งได้ ถ้าผู้ใดทำเข้า แทนที่จะได้รับคำยกย่องชมเชย กลับกลายจะเป็นผู้ถูกครหานินทาไป
อีกทั้งในปฐพีมณฑลนี้ หญิงผู้มีบุญได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ในครอบครองมีเพียง ๓ คน เท่านั้น คือ
๑ . นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๒. นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุละเสนาบดี ๓. ลูกสาวเศรษฐีของเมืองพาราณสี
เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ นางวิสาขาจึงซื้อเครื่องประดับนั้นไว้เอง แล้วให้บริวารทั้งหลายทำการขนทรัพย์ ๙ โกฏิ กับอีก ๑ แสนกหาปณะขึ้นรถบรรทุกเกวียนไปที่วิหารเชตวัน เพื่อน้อมถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เครื่องประดับของหม่อมฉัน ท่านพระอานนทเถระได้เอามือถูกต้องแล้ว จำเดิมแต่กาลที่พระคุณเจ้าถูกต้องแล้ว หม่อมฉันไม่อาจประดับได้ จึงได้บอกขายเครื่องประดับด้วยคิดว่า เมื่อขายแล้วจะนำของที่สมควรมาถวาย แต่ไม่เห็นผู้อื่นที่จะซื้อไว้ได้ หม่อมฉันจึงซื้อไว้เองแล้วนำทรัพย์มาถวาย หม่อมฉันควรจะน้อมเข้าในปัจจัยใด ในปัจจัย ๔ อย่าง เหล่านั้นพระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ ดูก่อนวิสาขา เธอควรจะกระทำที่อยู่ถวายสงฆ์ในสถานที่ใกล้ประตูด้านทิศปราจีนนั้น ”
เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัส นางวิสาขามีใจเบิกบาน นำทรัพย์นั้นทั้งหมดไปสร้างอารามใหม่ ชื่อว่า ปุพพาราม ซึ่งแปลว่า อารามทางทิศตะวันออกแห่งพระนครสาวัตถี การสร้างปุพพารามเสียค่าใช้จ่าย ๙ โกฏิ ๑ แสนกหาปณะหรือประมาณ ๙๐ ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดิน และทรัพย์อีก ๙ โกฏิเพื่อก่อสร้างที่อยู่ถวายสงฆ์
เมื่อนางวิสาขากำลังเตรียมสร้างอารามนั่นเอง พระบรมศาสดาจะเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ยังภัททิยนคร ดังนั้น วันหนึ่งเมื่อเสวยที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกะแล้ว จึงบ่ายพระพักตร์ไปยังด้านทิศอุดร
โดยปกติ เมื่อพระศาสดาเสวยที่เรือนของนางวิสาขาเสร็จแล้ว จะเสด็จออกทางประตูทิศทักษิณเพื่อกลับวัดพระเชตวัน แต่ถ้ารับภิกษาที่เรือนของท่านอนาถบิณฑิกะ เมื่อเสร็จแล้วจะเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก หากคราวใดพระพุทธองค์เสวยที่เรือนท่านอนาถบิณฑิกะแล้วเสด็จออกทางประตูทิศอุดร จะเป็นที่ทราบกันดีว่า พระองค์ทรงประสงค์จะเสด็จจาริกไปในที่อื่น ซึ่งนานๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง
คราวนี้เมื่อนางวิสาขาทราบว่า พระพุทธองค์เสวยพระกระยาหารที่เรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วเสด็จออกทางประตูทิศอุดร จึงรีบไปเฝ้าโดยเร็ว ถวายบังคมแล้วทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สละทรัพย์มากหลายเพื่อสร้างอารามถวายพระองค์ ขอพระองค์เสด็จกลับก่อนเถิด พระเจ้าข้า”
“ดูก่อน วิสาขา อย่าเลย อย่าให้ตถาคตกลับเลย ให้ตถาคตทำกิจของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์เถิด” นางวิสาขาดำริว่า พระพุทธองค์น่าจะมีเหตุพิเศษเป็นแน่แท้ จึงกราบทูลว่า
“พระองค์ผู้เจริญ! ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์รับสั่งให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ผู้รู้กิจที่ควรทำและไม่ควรทำกลับเถิด พระเจ้าข้า”
“ ดูก่อนวิสาขา! เธอพอใจภิกษุรูปใด ขอให้เธอนิมนต์ภิกษุรูปนั้นไว้เถิด”
นางวิสาขาคิดว่า พระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ถ้าอาราธนาท่านอยู่จะสามารถทำให้การสร้างอารามสำเร็จโดยเร็ว จึงได้อาราธนาพระมหาโมคคัลลานะกลับ พระมหาเถระแลดูพระบรมศาสดาเป็นเชิงทูลปรึกษาและฟังพุทธบัญชา พระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาตให้พระเถระพร้อมด้วยบริวารกลับ
พระมหาโมคคัลลานเถระได้กระทำตามพุทธดำรัส และด้วยฤทธานุภาพของท่าน คนงานทั้งหลายที่ทำการก่อสร้างวิหารปุพพารามเมื่อจะเดินทางไปหาไม้หรือศิลา สามารถเดินทางได้ไกลวันหนึ่งเป็นระยะทาง ๕๐- ๖๐ โยชน์ เพื่อมาก่อสร้างได้ทันเวลาภายในหนึ่งวัน แม้เวลาจะยกท่อนซุงและหินศิลาขึ้นบรรทุกเกวียนก็ไม่ลำบาก แม้บรรทุกมากเพลาเกวียนก็ไม่หัก สร้างความอัศจรรย์แก่ชนทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง