อนาถบิณฑิกเศรษฐี
ตอนที่ ๗ อดีตชาติ
ท่านเศรษฐีถวายทานด้วยภัตตาหารดังนี้ สลากภัต ๕๐๐ ที่ ปักขิตภัต ๕๐๐ ที่ สลากยาคู ๕๐๐ ที่ ปักขิยยาคู ๕๐๐ ที่ ธุวภัต ๕๐๐ ที่ ถวายเป็นประจำที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี สลากภัตสำหรับภิกษุอาคันตุกะอีก ๕๐๐ ที่ เรียกว่าพระมาเท่าไหร่เลี้ยงหมด
ภัตสำหรับพระภิกษุที่กำลังจะเดินทาง ๕๐๐ ที่ ภัตสำหรับภิกษุไข้อีก ๕๐๐ ที่ ภัตสำหรับภิกษุผู้ดูแลภิกษุไข้อีก ๕๐๐ ที่ เราดูปฏิปทาของท่าน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะปูอาสนะไว้ที่บ้านเป็นประจำทุกวัน ๒, ๐๐๐ ที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสถาปนาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ผู้เป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายด้านการถวายทาน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะท่านเศรษฐีได้ถวายมหาทานอย่างเต็มที่ และในการสร้างวัดพระเชตวัน ไม่ใช่สร้างเสร็จแล้วท่านทิ้งไปเลย ท่านสร้างและดูแลอุปัฏฐากพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างดี ไม่ว่าภิกษุสงฆ์ผู้แข็งแรง หรือภิกษุสงฆ์ผู้ป่วยผู้ไข้
จากนั้น พระพุทธองค์ตรัสเล่าเรื่องราวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีในอดีตชาติให้ฟัง ดังนี้
ย้อนไปเมื่อแสนกัปปีที่แล้ว (กัปเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป แสนครั้ง) ในสมัยนั้นมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระนามว่า พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เกิดเป็นกุลบุตรของผู้มีสกุลในเมืองหังสวดี อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้ไปฟังธรรมจากพระบรมศาสดา ได้เห็นพระบรมศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกท่านหนึ่งไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะ ผู้เป็นเลิศกว่าอุบาสกทั้งหลายด้านการถวายทาน เป็นเหตุให้ท่านอยากเอาอย่างบ้าง
จึงเร่งสั่งสมบุญกุศลอย่างยิ่งยวด ด้วยการเลี้ยงพระถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน แล้วตั้งความปรารถนาว่า ความปรารถนาอย่างอื่นไม่ต้องการเลย ต้องการตำแหน่งอันเลิศอย่างนี้อย่างเดียว ทำอย่างนี้ เมื่อละสังขารจากชาตินั้นแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ จนกระทั่งถึงเวลาก็ลงมาสร้างบารมีบนโลกมนุษย์อีก ท่านเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภูมิ คือ เทวโลก และมนุษยโลกเท่านั้น ในช่วงตลอดแสนกัปที่ผ่านมา ไม่ไปท่องอบายเลย
มาในสมัยพุทธกาลนี้ ท่านเศรษฐีได้มาบังเกิดในเรือนของสุมนเศรษฐี ณ นครสาวัตถี มารดาบิดาจึงตั้งชื่อว่า สุทัตตะ แล้วด้วยอุปนิสัยรักการให้ของท่าน จึงได้ชื่อใหม่ว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นชื่อที่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ จนกระทั่งได้มาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้สร้างมหาทานบารมีอย่างเต็มที่ ท่านไปวัดพระเชตวันทุกวันมิได้ขาด วันละ ๓ ครั้งบ้าง ๒ ครั้งบ้าง ท่านจะไปอุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น
นอกจากนี้ท่านเศรษฐียังไปบำรุงพระภิกษุสงฆ์แห่งอื่นๆ ด้วย คือไปทั่วถึง ตั้งแต่พระบรมศาสดากระทั่งพระสาวก เวลาท่านเศรษฐีไปวัด ท่านไม่เคยไปมือเปล่าเลย เพราะใจท่านเอื้ออาทรต่อพระเณร อยากให้ท่านทำพระนิพพานให้แจ้งได้สะดวก เจริญสมาธิภาวนาได้สะดวก เพราะฉะนั้น เรื่องน้ำปานะ เรื่องอาหารหวานคาวอะไรต่างๆ จะนำไปเป็นประจำ ถ้าไปก่อนเวลาฉันภัตตาหาร ท่านจะถือภัตตาหารมาถวาย แต่ถ้าไปหลังเวลาฉันภัตตาหารแล้ว ท่านจะถือเภสัช ๕ อย่าง ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำปานะ ๔ อย่าง ได้แก่ น้ำมะม่วง น้ำลูกหว้า น้ำกล้วยมีเม็ด น้ำกล้วยไม่มีเม็ด น้ำมะทราง น้ำลูกจันทน์ หรือองุ่น น้ำเหง้าบัว น้ำมะปราง หรือลิ้นจี่ เวลาเย็นมาอีกแล้ว ท่านจะถือพวงมาลัย ของหอม และผ้า เป็นต้น ไปสู่มหาวิหารเชตวัน
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทำทาน รักษาศีล เช่นนี้ทุกวัน จนกระทั่งทรัพย์ของท่านเริ่มหมดลง บริวารจึงมาเรียนให้ทราบ ท่านเศรษฐีทรัพย์หมดลงไปแล้ว หมดไปด้วยเหตุหลายเรื่อง พ่อค้าที่ร่วมลงทุนค้าขายกับท่าน ได้กู้เงินจากท่านเศรษฐีไป ๑๘ โกฏิ แล้วไม่ยอมเอามาคืน ขอยืมเป็นขอลืม ทรัพย์ที่ท่านฝากพระแม่ธรณีที่ฝังเอาไว้ในแผ่นดิน เป็นสมบัติของตระกูลท่านอีก ๑๘ โกฏิ ซึ่งฝังไว้ที่ริมตลิ่ง ต่อมาถูกน้ำเซาะพัง ทรัพย์ทั้งหลายก็หายไปตามสายน้ำ
ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์ของท่านจึงหมดลง ดูใจท่าน แม้จะตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐียังถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นประจำ แต่วัตถุทานของท่านไม่ประณีตเหมือนเดิม แม้ทานนั้นไม่ประณีตก็ถวาย แล้วเราสังเกตดูพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไม่ทรงห้าม เพราะรู้ว่า ผลแห่งบุญที่กระทำนี้ คือ ความสุขความสำเร็จในชีวิต ผลแห่งบุญที่กระทำนี้ คือ ความสุขและความสำเร็จในชีวิต ทั้งในมนุษย์และเทวโลก ในวัฏฏะ และจะเป็นพลังผลักดันให้สร้างบารมีอย่างอื่นให้ครบกระทั่งไปสู่นิพพาน
เราจะเห็นว่า พุทธวิธีแก้จนของท่านที่ทำกับมหาทุคตะ แตกต่างจากที่เราเคยเจอกัน ถ้าพุทธวิธีนั้นต้องหนามยอกเอาหนามบ่ง ท่านจะตรวจดูในอดีต ทำไมจน ประกอบเหตุอะไรมาชาตินี้ถึงจน ทำอย่างไรถึงจะหายจน ท่านจะตรวจอดีต ปัจจุบัน อนาคต แล้วท่านถึงบอกวิธีการ คือ ให้เอาชนะความตระหนี่ ยิ่งจนยิ่งต้องทำ ยิ่งยากจนยิ่งต้องเอาชนะความตระหนี่ เพราะความตระหนี่ คือ ศัตรูที่ร้ายแรงที่ทำให้ยากจน
วันหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสกับท่านเศรษฐีว่า “ดูก่อนท่านเศรษฐี เดี๋ยวนี้ท่านยังถวายทานในเรือนของตนอยู่หรือ” คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบว่าทรัพย์ของท่านเศรษฐีหมดไป แต่ว่าศรัทธายังไม่ตก ใจไม่มีตกเลย
ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังถวายทานในเรือนอยู่ แต่ทานที่ข้าพระองค์ถวายนั้น มีเพียงข้าวปลายเกรียนและน้ำผักดอง ซึ่งเป็นทานที่เหมาะกับคนธรรมดาทั่วไปมากกว่า ของพระภิกษุน่าจะดีกว่านี้ พระเจ้าข้า”