อนาถบิณฑิกเศรษฐี
ตอนที่ ๑๙ นางจุฬสุภัททาผู้นำบุญสู่อุคคนคร
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้คัดเลือกทนาย ๘ ท่าน คือ ท่านคิดแล้วว่า การไปครองเรือน โดยอีกฝ่ายหนึ่งเป็นมิจฉาทิฐิ จะต้องมีปัญหาเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราเตรียมทนายไปก่อน แล้วก็สั่งว่า หากมีเรื่องเสียหายเกิดขึ้นในสถานที่ ๆ ลูกสาวของเราไปอยู่ก็ขอให้พวกท่านเป็นผู้ชำระคดีความด้วย
ในวันที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจะส่งลูกสาวไปท่านก็ได้ไปถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าพระสาวก คือชวนกันไปเลย ไปถวายภัตตาหาร เมื่อถวายมหาทานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจัดพิธีส่งตัวลูกสาวไปสู่เมืองอุคคนครอย่างยิ่งใหญ่
ตอนนี้ก็ได้เอานางสาวจูฬสุภัททามาตบแต่งอย่างดี เพื่อยกย่องเชิดชูนางจูฬสุภัททาให้ประจักษ์แก่สายตาชาวนครสาวัตถี ที่มาชื่นชมอยู่สองข้างทางเป็นจำนวนมาก
เมื่อเดินทางไปถึงเมืองอุคคนคร บรรดาญาติมิตรอุคคเศรษฐีพร้อมด้วยมหาชนก็ได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ นางจูฬสุภัททาได้ลุกขึ้นยืนในรถ เพื่อให้ชาวเมืองได้เห็นสมบัติของตนเอง เศรษฐีสมัยก่อนเขาทำกันอย่างนี้
ชาวอุคคนครนำเครื่องบรรณาการมาให้ นางก็ได้แบ่งปันของเหล่านั้นให้ชาวอุคคนครเช่นกัน ดังนั้นชาวเมืองอุคคนครจึงรักนางเสมือนกับญาติ
ท่านอุคคเศรษฐีผู้เป็นพ่อของสามีเป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นผิด ไม่รู้ว่าบุคคลใดจึงจะควรบูชา ได้จัดงานในเรือนของตนอย่างยิ่งใหญ่ แล้วก็ได้เชิญนักบวชชีเปลือยมา ท่านเศรษฐีจึงให้คนรับใช้ไปตามนางจูฬสุภัททามาไหว้นักบวชชีเปลือยตอนนี้
เมื่อนางจูฬสุภัททารู้ว่า ท่านอุคคเศรษฐีให้คนมาตามไปไหว้นักบวชเปลือย นางจึงปฏิเสธ เพราะเกิดความละอาย อุคคเศรษฐีพอได้ทราบดังนั้น จึงได้ส่งคนรับใช้ไปตามนางอีกหลายครั้ง แต่นางจูฬสุภัททาก็ปฏิเสธที่จะมาทุกครั้ง จนกระทั่งท่านอุคคเศรษฐีรู้ว่านางไม่ยอมมาก็โกรธ จึงสั่งบริวารว่า “เจ้าจงไปฉุดตัวนางจูฬสุภัททามาเดี๋ยวนี้” ลืมไปเลยว่าเพิ่งไปขอลูกสาวมาจากเพื่อน แต่บรรดาทาสและบริวารทุกคนมีความรักและเคารพต่อนางจูฬสุภัททามากไม่มีใครกล้าไปแตะต้องตัวนางเพียงแต่ไปบอกให้นางทราบแล้วเชิญไปหาท่านอุคคเศรษฐี
นางจูฬสุภัททาคิดว่า พ่อผัว ไม่อาจให้อภัยแก่เราได้ ท่านโกรธเราเพราะเหตุที่ไม่สมควรเลย หน้าตาเธอยังเบิกบานเพราะเธอไม่ได้โกรธตอบ จึงให้บริวารไปเชิญทนายทั้ง ๘ ท่านไปด้วยกัน แล้วก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ทนายทั้ง ๘ ทราบต่อหน้าอุคคเศรษฐี ทนายทั้ง ๘ ท่านพอทราบเรื่องราวทั้งหมดก็มีวินิจฉัยว่า นางจูฬสุภัททาไม่มีความผิด แล้วก็ชี้แจงให้ท่านอุคคเศรษฐียินยอม
แต่อุคคเศรษฐียังค้างคาใจ จึงไปปรึกษาหารือกับภรรยาว่า “เธอดูลูกสะใภ้ของเราสิ ไม่ยอมไหว้สมณะที่พวกเรานับถือ แล้วยังบอกว่าท่านเหล่านี้ไม่มีความละอาย ไม่นับถือและยังบอกอย่างนี้อีก”
ภรรยาของอุคคเศรษฐีคิดว่า แล้วสมณะที่ลูกสะใภ้ของเรานับถือนั้นเป็นอย่างไร ทำไมนางถึงได้ให้ความเคารพกราบไหว้นับถือเป็นนักหนา เราควรจะไปถามนางให้รู้เรื่องดีกว่าว่า สมณะที่ลูกสะใภ้นับถือ มีลักษณะเป็นอย่างไร เพราะเราก็ไม่เคยรู้เลย การสื่อสารสมัยก่อนยังไม่คอยจะดี จึงให้บริวารไปตามนางจูฬสุภัททามา แล้วก็ถามนางอย่างดีเลย “ลูก … สมณะที่ลูกนับถือเป็นอย่างไร ทำไมถึงได้สรรเสริญนักหนา ท่านมีศีล มีอาจาระอย่างไร ช่วยบอกให้แม่ทราบหน่อยเถอะ”
นางจูฬสุภัททาก็เบิกบานขึ้นมาทันทีเลย มีความปลื้มเพราะตัวเองก็เป็นพระโสดาบัน จึงประกาศคุณของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวกให้มารดาของสามีได้ทราบ โดยในที่นี้ ขอนำมากล่าวโดยย่อ ๆ กล่าวว่า “คุณแม่คะ สมณะทั้งหลายที่ลูกนับถือ เป็นผู้มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบ คือ หยุดนิ่งดีแล้ว ท่านเหล่านั้นไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีความเรียบร้อย สงบ เป็นผู้มีกายกรรมสุจริต วจีกรรมสุจริต มโนกรรมสุจริต คือ มีความคิดที่บริสุทธิ์ คำพูดก็พูดออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ และมีการกระทำที่บริสุทธิ์ เว้นจากบาปอกุศลทั้งหลาย แล้วท่านยังเป็นผู้ไม่มีมลทิน แจ่มใสดุจสังข์และมุก” คือสมัยนั้นมุกกับสังข์ คนในยุคนั้นเขาเห็นง่าย สังข์ที่ขัดอย่างดีแล้ว สะอาดหมดจดทั้งภายนอกภายใน “เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรมอันบริสุทธิ์ ภายนอกก็เป็นพระแท้ ภายในก็มีพระแท้ มีพระในตัว เป็นพระทั้งนอกทั้งในสองชั้นทีเดียว”
“ธรรมดาบุคคลทั้งหลาย ย่อมหวั่นไหวต่อความมีลาภและความเสื่อมลาภ คือ มีลาภก็ดีใจ พอเสื่อมลาภก็เสียใจ แต่สมณะที่ลูกนับถือ แม้จะได้ลาภ หรือเสื่อมลาภก็ตาม ท่านก็วางใจเป็นกลาง ๆ เฉย ไม่ได้รู้สึกอะไร”
“ธรรมดาบุคคลทั้งหลาย ย่อมหวั่นไหวต่อความมียศและความเสื่อมยศ แต่สมณะของลูก แม้จะมียศหรือเสื่อมยศท่านก็วางใจเป็นกลาง ๆ คือ มียศก็เฉย เสื่อมยศก็เฉย ๆ ไม่แสวงหายศด้วย และไม่แย่งเรื่องยศด้วย”