อนาถบิณฑิกเศรษฐี
ตอนที่ ๖ ฉลองพระอาราม
เมี่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมเหล่าพระสาวกเสด็จมาถึง ขบวนต้อนรับของท่านเศรษฐี พระพุทธองค์ก็ทรงให้อุบาสกบริษัทเดินนำหน้า เพื่อนำเสด็จเข้าสู่วัดพระเชตวัน เพราะฉะนั้น พอเรานิมนต์พระไปที่ไหน ก็เป็นแบบอย่าง สมมตินิมนต์ไปที่บ้านของเรา พอไปถึงบ้าน เราก็ต้องเดินนำไปก่อนท่านจะได้ไปถูก ก็เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้เอาไว้
พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี กระทำบริเวณนั้นให้เป็นประดุจทองคำเหลืองอร่าม พระบรมศาสดาของเราพระองค์นี้ ทรงมีพระฉัพพรรณรังสีเปล่งออกจากพระวรกาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางพระองค์ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสีสว่างไสวจนไม่รู้เลยว่า ดวงอาทิตย์ขึ้น หรือดวงอาทิตย์ตก กลางวันหรือกลางคืน ในยุคนั้นจะรู้ได้เมื่อนกหิว มันจะออกจากรังไปทำมาหากินของมัน แล้วพอถึงเวลามันง่วง มันก็บินกลับมานอนที่รังของมัน เราจึงรู้ว่า กลางวันหรือกลางคืน เพราะรัศมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น กลบหมดโลกธาตุต่างๆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราชาวพุทธ ควรจะปลื้มปีติยินดีว่า ที่ท่านเปล่งฉัพพรรณรังสีได้ แสดงว่าพระองค์มีความบริสุทธิ์มาก จนกระทั่งพลังแห่งความบริสุทธิ์นั้น นึกจะเปล่งออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ เอาออกก็ได้ ไม่เอาออกก็ได้ หรือให้เรืองๆ นิดๆ เป็นปกติของท่านก็ได้ เป็นสิ่งที่น่าศึกษา
แต่พอเรามายุคนี้ เราเกิดไม่ค่อยทัน จึงชักจะไม่ค่อยเชื่อ มันกลายเป็นเรื่องอจินไตย คือ เหนือความนึกคิด เราจะไปหาเหตุผลด้วยวิธีธรรมดาว่า อย่างนี้ต้องเพราะอย่างนั้นๆ ก็ไม่ได้ และคนที่เคยเห็นไม่กลับมาเกิดแล้วมาเล่าให้เราฟัง หรือไม่อยู่มาถึงมาเล่าให้เราฟังว่า เคยเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี แล้วเราก็ไม่ได้ไปเกิดในยุคนั้น แล้วอายุยืนมาจนถึงปัจจุบันนี้
พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปด้วยพุทธลีลาอันงดงามหาที่เปรียบมิได้ จากนั้นพระองค์พร้อมด้วยเหล่าพระสาวกเสด็จพระทับอาสนะที่จัดไว้อย่างเรียบร้อย ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพระองค์ควรปฏิบัติอย่างไรกับวิหารนี้ต่อไป”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ท่านเศรษฐี ขอท่านจงถวายวิหารนี้แก่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังมิได้มา”
ท่านเศรษฐีรับพุทธดำรัสด้วยความปีติ เบิกบานใจ จากนั้นท่านก็นำน้ำเต้าทองมาหลั่งน้ำลงบนพระหัตถ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกล่าวคำถวายวิหารนี้ว่า “ข้าพระองค์ขอถวายวัดพระเชตวันมหาวิหารนี้แด่สงฆ์ทั้ง ๔ ทิศ ทั้งที่มาแล้วและยังมิได้มา โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระประมุข”
หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงรับการถวายวัดพระเชตวันมหาวิหาร จากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ท่านได้กระทำอนุโมทนาตรัสอานิสงส์แห่งการถวายวิหารว่า
“วิหารที่ถวายหลังนี้ จะป้องกันความหนาว ป้องกันแสงแดดและความร้อน ป้องกันสัตว์ร้าย เช่น งู เป็นต้น ป้องกันการเปียกฝน ป้องกันลมพัดผ่าน การถวายวิหารที่พักแด่พระภิกษุสงฆ์เพื่อให้ท่านได้พักอาศัย ย่อมทำให้เกิดความสะดวกสบาย เหมาะสมในการเจริญสมาธิภาวนา เมื่อท่านเจริญสมาธิภาวนาแล้ว ท่านย่อมเห็นแจ้งธรรมได้โดยง่าย เพราะสถานที่นี้เป็นที่สัปปายะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงสรรเสริญว่า วิหารทานเป็นทานอันเลิศ ดังนั้น บัณฑิตทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์อันจะเกิดขึ้นแก่ตนแล้ว พึงสร้างวิหารที่พักอันรื่นรมย์ถวายแด่หมู่สงฆ์เถิด แล้วให้นิมนต์ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตได้อาศัยอยู่ในวิหารนั้น หลังจากนั้นพึงถวายข้าวและน้ำ อาหารหวานคาว พึงถวายผ้า เครื่องนุ่งห่ม พึงถวายเสนาสนะ ได้แก่ ที่นั่ง ที่นอน เตียง ตั่ง เสื่อ หมอน เป็นต้น แด่ภิกษุทั้งหลายด้วยจิตอันเลื่อมใสในท่านผู้ปฏิบัติตรง ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็จะแสดงธรรมที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่ชนผู้ถวายนั้น เมื่อผู้นั้นฟังธรรมแล้วย่อมอาจหาญร่าเริง จิตย่อมผ่องใส เป็นเหตุให้สิ้นอาสวกิเลสและเข้าพระนิพพานได้”
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีพอฟังอานิสงส์ของวิหารทานแล้วก็มีความปลื้มปีติ เบิกบานใจยิ่งนัก
หลังจากนั้นท่านกจัดงานฉลองวิหารตลอด ๙ เดือน ท่านได้ใช้ทรัพย์ในการฉลองวิหารครั้งนี้ เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๘ โกฏิ ท่านซื้อที่ดินด้วยการปูเงินกหาปณะ ๑๘ โกฏิและก่อสร้างอีก ๑๘ โกฏิ รวมทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ แล้วท่านเศรษฐียังได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มารับภัตตาหารที่เรือนของตนเป็นประจำ ทำให้ท่านได้ทำทานอย่างสม่ำเสมอ บัณฑิตนักปราชญ์ย่อมยินดีในการสร้างมหาทานบารมี โดยเฉพาะเลือกทำกับเนื้อนาบุญ
เพราะฉะนั้น พระไม่ใช่ผู้ด้อยโอกาส ถ้าใครมีดวงปัญญาจะเห็นว่า พระเณรคือผู้ได้โอกาส เป็นเนื้อนาบุญ เป็นแหล่งความรู้ เป็นอายุพระพุทธศาสนา เห็นแล้วต้องยกมือไหว้ ประคองอัญชลี กราบไหว้บูชา ถวายภัตตาหาร ปัจจัยไทยธรรม ฟังธรรม และปฏิบัติธรรม
จริงๆ ในยุคนั้น ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยกว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีจำนวนมาก ในระดับที่มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง ร่ำรวยเท่าท่านก็มาก แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีหัวใจอย่างท่านเลย แต่กว่าจะมาเป็นท่านได้ก็ตั้งความปรารถนามานานตั้งแสนกัป ทำบุญแล้วก็อาศัยบุญนั้นตั้งเป้าหมาย ตั้งผังชีวิต ดีไซน์ชีวิตว่า จะต้องมาเป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นสุดยอดของฝ่ายอุบาสกผู้ถวายทานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง