.....การรักษาศีล เกิดเป็นบารมีได้ เนื่องจากทุกครั้งที่รักษาศีล จะเกิดกระแสแห่งความดีขึ้นในใจ ที่เราเรียกว่า กระแสบุญ รู้สึกได้จากใจที่สบาย และปลอดโปร่ง เมื่อรักษาศีลได้ดีขึ้นบุญที่เกิดขึ้นนี้ จะฟอกใจให้ใสสะอาดจนกระทั่งปรากฏเป็นดวงกลมใส ที่เรียกว่า ดวงศีล เมื่อสั่งสมความบริสุทธิ์แห่งศีลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในที่สุด ดวงศีลจะกลั่นเป็นบารมี ซึ่งบารมีนี้ก็คือวิถีทางเข้าถึงความเป็นเลิศนั่นเอง
.....สำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น การรักษาศีลของพระองค์ต้องใช้ความอดทน อดกลั้น บางครั้งต้องแลกด้วยชีวิต กว่าที่บารมีของพระองค์จะเต็มเปี่ยม พระองค์จึงผ่านการรักษาศีลมาอย่างเข้มข้นที่สุด จนเกิดบารมี
ศีลบารมี
......จูฬโพธิจริยา*
......ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลก มาเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ บิดามารดาตั้งชื่อให้ว่า จูฬโพธิกุมาร ครั้นเจริญวัยขึ้นได้เดินทางไปศึกษาศิลปวิชา ณ เมืองตักกสิลา เมื่อเรียนจนครบทุกสาขากลับมา บิดามารดาให้แต่งงงานกับกุลสตรี ผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน ซึ่งสตรีผู้นี้เป็นผู้ที่มีความงดงามอย่างยิ่งและจุติจากพรหมโลกเช่นเดียวกัน
.....แต่ทั้งสองมิได้มีความยินดีในการแต่งงานที่มีขึ้น ไม่เคยแม้แต่มองดูกันด้วยอำนาจราคะ ต่างมองเห็นว่าการดำเนินชีวิตเช่นนั้นเป็นความประมาท จึงพากันรักษาศีลอย่างบริสุทธิ์เสมอมา จนกระทั่งบิดามารดาถึงแก่กรรม ทั้งสองสละสมบัติทั้งหมดให้ทาน และได้ออกบวช เดินทางไปตามเมืองต่างๆ จนกระทั่งถึงเมืองพาราณสี ได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในราชอุทยานอันเงียบสงัดปราศจากผู้คน
.....อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาได้เสด็จมาชมพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นนางพราหมณีผู้มีความงดงาม ทรงเกิดความรักใคร่ จึงมีรับสั่งให้ราชบุรุษทำการฉุดคร่านางไปยังพระนคร การกระทำเช่นนั้น ได้สร้างความโกรธให้เกิดขึ้นในใจของพระโพธิสัตว์ แต่ในทันทีที่ความโกรธบังเกิดขึ้น พระโพธสัตว์ก็ระลึกถึงศีลของตนจึงข่มความโกรธลงไปทันใด และมิยอมให้เกิดขึ้นมาอีก พระองค์บอกกับตนเองว่า
....."แม้ใครทำร้ายนางพราหมณีด้วยหอกอันคมกล้า เราก็ไม่อาจทำลายศีลของเราได้ ใช่ว่าเราจะไม่รักนางพราหมณี ใช่ว่าเราจะไม่มีกำลังวังชา แต่เพื่อโพธิญาณในวันข้างหน้า เราจะต้องประคองรักษาศีลไว้ให้ได้"
.....ฝ่ายพระราชา ให้นำตัวนางพราหมณีมาเข้าเฝ้า ทรงมอบยศถาบรรดาศักดิ์ให้กับนางมากมาย แต่นางกลับกล่าวถึงแต่โทษของยศ แล้วสรรเสริญคุณของการออกบวช นางได้เล่าถึงการที่นางและพระโพธิสัตว์ สละสมบัติอันมหาศาล ออกบวชด้วยความสังเวชใจ
.....เมื่อพระราชาไม่สามารถเปลี่ยนใจนางได้ จึงโปรดให้พานางพราหมณีกลับคืนสู่พระราชอุทยาน ส่วนพระองค์ก็ทรงเข้าไปพบพระโพธิสัตว์ แล้วตรัสถามว่าพราหมณ์โกรธหรือไม่ ตอนที่พระองค์นำตัวนางพรหามณีไป
.....พรามหณ์ตอบว่า "ความโกรธได้เกิดขึ้นกับเรา แต่เราก็หักห้ามได้ ดุจดังสายฝนที่ห้ามฝุ่นละอองได้ในทันที" พระราชาจึงตรัสถามว่า ทำอย่างไรจึงหักห้ามความโกรธได้
.....พระโพธิสัตว์แสดงธรรมว่า "ความโกรธนั้น เป็นอารมณ์ของผู้ไร้ปัญญา บุคคลใดถูกความโกรธครอบงำย่อมละกุศลธรรม เข้าทำร้ายย่ำยีผู้อื่น ความโกรธนั้น น่ากลัวเหมือนไฟ เราย่อมไม่ปล่อยออกไป"
......เมื่อพระราชาทรงสดับพระธรรมของพระโพธิสัตว์แล้ว จึงทรงขอขมาต่อพระโพธิสัตว์และนางพราหมณี และตรัสให้พรามหณ์ทั้งสองอยู่ ณ อุทยานแห่งนี้ พระองค์จะเป็นผู้ดูแลคุ้มครองเอง
......พราหมณ์ทั้งสอง ได้อาศัยอยู่ในพระราชอุทยานแห่งนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อนางพราหมณีถึงแก่กรรม พระโพธิสัตว์จึงออกจากพระราชอุทยานแห่งนั้น ไปยังป่าหิมพานต์ ได้บำเพ็ญฌาณ และอภิญญา ให้เกิดขึ้น ครั้นสิ้นอายุขัย จึงไปเกิดในพรหมโลก
.....สิ่งที่พระโพธิสัตว์ รักและหวงแหนนั้น จึงมิใช่สมบัติพัสถานทั้งหลาย มิใช่แม้แต่สตรีผู้อยู่เคียงข้างกาย แต่ท่านรักศีลเป็นชีวิตจิตใจ
......และการรักษาศีลของพระโพธิสัตว์ในครั้งนี้ คงมิอาจใช้เพียงแค่ หิริ โอตัปปะ มาคอยกำกับเท่านั้น เพราะในทันทีที่ความโกรธเกิดขึ้น ศีลอาจขาดได้อย่างง่ายดาย แต่ได้ใช้ความอดทน อดกลั้นร่วมด้วย จึงช่วยป้องกันรักษาศีลไว้ได้ทันท่วงที
.....พระโพธิสัตว์ใช้ความอดทนเป็นพลังยับยั้งความโกรธไว้ได้ เสมือนสายฝนแห่งความอดทน คอยชะล้างความหมองหม่นรุ่มร้อนแห่งจิตใจ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งศีลจะปรากฏเป็นบารมีในที่สุด
.....อ้างอิง : * พระสูตรและอรรกถาแปล ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๗๔ หน้า ๒๗๕