“บวร” บ้าน วัด โรงเรียน

วันที่ 01 กพ. พ.ศ.2551

       ชุมชนที่ล่มสลาย…..ความหมายของคำนี้อาจรุนแรงเกินกว่าที่คนไทยคนไหนจะยอมรับได้ แต่หากยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับ คงยิ่งเนิ่นช้าและสายเกินกว่าจะแก้ไข นั่นเพราะยิ่งสังคมแห่งเทคโนโลยีเบ่งบานมากขึ้นเท่าไร ความสำคัญของการอยู่ร่วมเป็นชุมชนยิ่งถูกลดค่า และอ่อนกำลังลงเท่านั้น ในวันนี้แม้แต่คนที่เสพสื่อน้อยที่สุดก็คงตระหนักได้แล้วว่า ข่าวไม่ดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็นไม่เว้นแต่ละวันนั้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่ซ่อนเร้นรอวันฟอนเฟะในไม่ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข่าวนั้นเกิดจากการกระทำที่ปราศจากความยั้งคิด และความคึกคะนองของบุคคลที่อยู่ในสถานะของ เยาวชน

ไม่ว่า จะเป็นข่าวลูกข่มขืนแม่แท้ๆ ข่าวเด็กนักเรียนยกพวกตีกันบนรถโดยสาร หรือ นักเรียนม.3 ลาก ม.2 ข่มขืน และอีกมากมายหลายข่าว ที่ล้วนสะเทือนขวัญ สะท้านหัวใจ และเป็นแรงสนับสนุนให้คนในสังคมหันกลับมามองถึงปัญหาและวิธีแก้ปัญหา ที่ถูกละเลยมานาน ......วันนี้คำว่า “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน จึงได้ถูกนำกลับมาสนใจอีกครั้ง ผ่านทัศนคติของผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาชีพ และด้านจิตใจจากหลายองค์กร ที่นำเสนอในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “การฝึกนิสัยผ่าน ‘บวร’ ทางออกของปัญหาคุณธรรมเยาวชน” ในงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี

นายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ปัญหาที่พบในวัยรุ่นนั้นมีอยู่ 4 ปัญหาหลักคือ ความรุนแรง เพศ ยาเสพติด และการฆ่าตัวตาย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าวัยรุ่นก่อปัญหาวันหนึ่งเฉลี่ยร้อยละ 1.3 เช่น วัยรุ่นช่างกลยกพวกตีกัน วัยรุ่นยิงกันบนรถเมล์ ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขของเด็กในสถานพินิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่น่าตกใจคือ เราพบว่าวัยรุ่นไทยมี Sex เฉลี่ยช่วงอายุน้อยที่สุดในโลก ซึ่งการแก้ปัญหาเราใช้แนวคิดของ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน กล่าวคือครอบครัวปัจจุบันอาจดูเหมือนมีความสมบูรณ์ทางกายภาพ คือ เสมือนมีพ่อ แม่ ลูก อยู่ในบ้าน แต่ในทางจิตใจแล้วไม่สมบูรณ์ คือ พ่อแม่ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว การทำงานมากกว่าลูก คิดว่ามีเงิน มีโรงเรียนดี ๆ พาไปเรียนพิเศษให้เกรดผ่านก็สมบูรณ์แล้ว พ่อแม่เลี้ยงลูกจริง แต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูก ต่างคนต่างอยู่ ทำให้เด็กไม่มีวงจรการเรียนรู้ ฉะนั้นสถานศึกษาจึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากการปลูกฝังสิ่งที่ดีแล้ว ยังเป็นเหมือนบริบทมาทดแทนครอบครัวด้วย ซึ่งหากโรงเรียนยังหวังเพียงแต่ให้เด็กสอบผ่านชั้นแต่เด็กไม่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้ เรื่องคุณธรรมต่าง ๆ เช่น การรับผิดชอบ การไม่ลักขโมย สำคัญรองลงไป แต่เน้นที่การสอน การเรียนมากกว่า ในที่สุดคุณธรรมของเด็กจะค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไป วัดก็ถูกแยกออกจากโรงเรียน ดังนั้นชุมชนซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือครอบครัวและโรงเรียนอีกชั้นหนึ่งก็สลายไป

พระอาจารย์กิตติ กิตติญาโณ ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เมตตาให้หลักในการแก้ปัญหาเยาวชนผ่านหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาว่า ต้องเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ นิสัย หรือพฤติกรรมเคยชิน ที่เราทำซ้ำ ๆ ทำเป็นประจำ ซึ่งเกิดจากการย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ผ่านการใช้ปัจจัย 4 โดยฝึกจาก 5 ห้องแห่งชีวิต คือ ห้องที่ทุกคนใช้ตั้งแต่เกิดจนตาย ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องแต่งตัว ห้องทำงาน ซึ่งถ้าสร้างนิสัยที่ดีให้เกิดจาก 5 ห้องนี้ได้ ก็จะเป็นโรงเรียนบ่มเพาะนิสัยที่ดี เพราะห้องเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์หากทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เช่น ห้องนอนไม่ใช่แค่เอาไว้นอนแต่เอาไว้ใช้สอนนิสัยที่ดี เช่น การกราบเท้าพ่อแม่ก่อนนอน สอนความกตัญญู หรือการสวดมนต์ก่อนนอน สอนเรื่องความเห็นที่ถูกต้อง ในทางตรงข้ามถ้าปลูกฝังให้เด็กคิดว่าห้องนอนเอาไว้เล่นเกมส์ เอาไว้ติดรูปดารา เด็กจะนอนไปกับสิ่งที่ไม่ได้สอนตัวเองในแต่ละวันเลย

อาจารย์วนิดา สุริยากุลพานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการบูรพา ได้ให้ทัศนะว่า “ ทฤษฎี 21 วัน เปลี่ยนนิสัย” ของศาสตราจารย์ดอกเตอร์แม็กซ์เวล มอลท์ ศัลยแพทย์ชาวอเมริกา ที่ได้ทำการศึกษาคนไข้ พบว่าคนไข้สามารถเปลี่ยนค่านิยมหรือพฤติกรรมของตนเองได้หากทำอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 21 วัน คือแม่แบบสำคัญที่เรานำมาใช้ในการออกแบบงานวิจัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยบูรพา นำโดยผศ.ดร.วัชราภรณ์ เขื่อนแก้ว ร่วมกับโรงเรียนชลกันยานุกูล จ.ชลบุรี ได้ทดลองนำร่องกิจกรรม 3-TO-1 หรือการฝึกนิสัยให้มีคุณสมบัติ 3 อย่าง ตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ วินัย เคารพ และอดทน ภายใน 3 สัปดาห์ โดยทดลองให้เด็กในระดับชั้นมัธยมของโรงเรียนชลกันยานุกูลปฏิบัติ วัตถุประสงค์เพื่อทดสอบว่ากิจกรรม 3-TO-1 นี้ จะสามารถสร้างนิสัยให้เด็กมีคุณสมบัติดังกล่าวได้หรือไม่ และมีความเหมาะสมสำหรับเยาวชนหรือไม่อย่างไร ซึ่งผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่าร้อยละ 78.80 ของกลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแปลงนิสัยที่ดีขึ้น ทั้งด้าน ความมีวินัย ความเคารพ และความอดทน

อาจารย์สิริพร เฉลิมวิสุตม์กุล อาจารย์โรงเรียนชลกันยานุกูลเสริมว่า ทางโรงเรียนเห็นความสำคัญของการส่งเสริมคุณธรรมในหมู่นักเรียนและเห็นด้วยในการใช้บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน ในการร่วมกันแก้ปัญหา โดยจากบทฝึกนิสัยที่เราทดลองอยู่ เราแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหวาน เป็นนักเรียนที่มีความประพฤติดีอยู่แล้ว กลุ่มอมเปรี้ยวอมหวาน คือเด็กที่มีพฤติกรรมกลาง ๆ และสุดท้าย กลุ่มเปรี้ยว คือ กลุ่มที่มีความประพฤติไม่ดี ซึ่งเราได้นำเด็กอมเปรี้ยวอมหวาน มาเป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง ผลที่ได้ คือ นอกจากเด็กจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังสามารถลดความขัดแย้งและช่องว่างระหว่างครอบครัวของเด็กเอง หรือแม้แต่โรงเรียนที่บางครั้งเด็กเกิดความขัดแย้งกับครู นำมาซึ่งการแสดงออก เช่น การทำร้ายข้าวของ ทำร้ายคุณครู ซึ่งความขัดแย้งเล็ก ๆ ไม่ช้าก็จะลุกลาม แต่การใช้การทดลองให้เด็กทำกิจกรรม 3-TO-1 พบว่าเด็กเข้าใจครูและพ่อแม่ดีขึ้น

คุณญาณิศา มณีเขียว ผู้ปกครองเด็กหญิงญาณิศา มณีเขียว นักเรียนโรงเรียนชลกันยานุกูล กล่าวว่าจากการที่ตัวเองเป็นคนรักครอบครัว รักพ่อแม่ และสามีก็เป็นคนดี พอมีลูกเราก็เชื่อว่า เมื่อพ่อดีแม่ดี ลูกก็น่าจะเป็นคนดี แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เราเลี้ยงลูกมาอย่างดี ตั้งแต่เล็ก แต่พอขึ้นมัธยมลูกเปลี่ยนไป พูดจาไม่ดี แยกตัวไปอยู่คนเดียว แต่หลังจากที่ลูกได้ร่วมกิจกรรม 3-TO-1 แล้วก็เปลี่ยนไป ตัวกิจกรรมมีการกระตุ้นให้ เราพ่อแม่ลูก ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การที่ต้องส่งลูกเข้านอน และลูกก็จะกราบเท้าเรา ทำให้เราในฐานะพ่อแม่ต้องกลับมานั่งทบทวนตัวเองและปฏิบัติตัวเป็นต้นแบบให้ลูกเห็น

เมื่อ “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน สามประสาน มาร่วมมือกันสร้าง “นิสัย” ที่ดีให้เยาวชนและคนในชุมชนได้ เยาวชนนั้นก็จะกลับมาพัฒนาชุมชนของตนให้เข้มแข็ง กลายเป็นวงจรคุณธรรมที่จะขยายวงกว้างจากหนึ่งชุมชน สู่สองชุมชนและหลายร้อยชุมชน จนกลายเป็นสังคมใหญ่ที่เข้มแข็ง เมื่อนั้นคนไทยคงไม่ต้องปวดใจกับข่าวร้ายที่เกิดขึ้นรายวันอย่างตอนนี้อีกต่อไป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033808163801829 Mins