ในเมืองสาวัตถี เมื่อมีใครปรารถนาจะถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ จะต้องมาเชิญท่านผู้มีบุญ ๒ ท่านไปร่วมด้วยเสมอเลย คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและมหาอุบาสิกาวิสาขา จะได้รับเชิญไปร่วมงานทุกครั้งที่เชิญท่านทั้งสองไปเป็นเกียรติว่า ผู้มีบุญมาแล้วก็อบอุ่นใจ มาแล้วเหมือนญาติผู้ใหญ่มาอย่างนี้ และถ้ามีข้อบกพร่องในการต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ จะได้รับคำแนะนำ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เลย เพราะว่า ถ้าไม่เชิญท่านทั้งสองมาแม้จะเตรียมภัตตาหารอย่างเลิศหรู ใช้ทรัพย์ไปอย่างมากมายก็ตาม แต่ทำไม่ถูกหลักวิชา ทะเลาะกัน ทำไมเธอไม่ทำอย่างนั้น อย่างนี้ อันนี้ควรก่อนเอาไปหลัง อันนี้ควรหลังเอามาก่อน แค่นี้หยิบย้ายไปย้ายมา ถ้าไม่ได้ศึกษาไว้อย่างดี … ยาก
เนื่องจากว่าท่านทั้งสอง เป็นผู้มีความเข้าใจอัธยาศัยและธรรมเนียมปฏิบัติของภิกษุสงฆ์เป็นอย่างดีและเหนือกว่านั้น ท่านทั้งสองมีความคุ้นเคยกับพระภิกษุทุกรูป รู้ว่ารูปนี้ชอบฉันอะไร ก็จะนำสิ่งนั้นมาถวายเพราะฉะนั้นถ้าได้ท่านทั้งสองเป็นที่ปรึกษางานนั้นก็จะสำเร็จจบสมบูรณ์ เราจะเห็นว่า ผู้มีบุญ มีปัญญา สั่งสมบุญอยู่เป็นนิจ จึงเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีของโลก
เพราะเหตุนั้น การดูแลถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ ที่มาฉันในเรือนของท่านทั้งสอง ถ้าหากนิมนต์มาฉันในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและมหาอุบาสิกาวิสาขา หน้าที่ที่ดูแลนี้ก็จะตกเป็นของลูกหลาน คือ ต้องการถ่ายทอดให้ลูกหลาน
ท่านเศรษฐีทั้งสองฝึกลูกหลานให้ดูแลพระเณรทั้งหลาย ฉะนั้นใครมีลูกมีหลานต้องฝึกฝนกันตั้งแต่เยาว์วัย อย่าไปฝึกตอนโต เดี๋ยวดื้อเสียก่อน
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้มอบถวายให้ลูกสาวคนโตชื่อ มหาสุภัททา เป็นผู้ดูแลการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์แทนตน นางมหาสุภัททาอุปัฏฐากดูแลถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์จำนวน ๒,๐๐๐ รูปต่อวัน ต่อมาไม่นานนางได้ฟังธรรมแล้วก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน จากนั้นนางได้แต่งงาน และย้ายไปอยู่ที่บ้านของสามี
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงได้มอบหมายให้นางจูฬสุภัททาซึ่งเป็นลูกสาวคนที่สองทำหน้าที่แทน นางมหาสุภัททา พี่สาวที่แต่งงานไปก่อน นางจูฬสุภัททาได้ดูแลถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๒,๐๐๐ รูปต่อวันเช่นกัน ต่อมาไม่นาน นางได้ฟังธรรมก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และหลังจากนั้นนางก็ได้แต่งงานแล้วก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านของสามี ที่เมืองอุคคนคร
สุมนาเทวี ลูกสาวคนเล็กของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เมื่อพี่สาวสองคนแต่งงานไปเรียบร้อยแล้ว น้องสาวคนเล็กชื่อ สุมนาเทวี อายุยังน้อย เป็นผู้ดูแลการถวายภัตตาหารแทน นางสุมนาเทวีได้บำรุงอุปัฏฐากพระภิกษุเป็นอย่างดีทุกวัน แทนพี่สาวทั้งสอง ต่อมาเมื่อนางได้ฟังธรรมก็บรรลุธรรมเป็นพระสกทาคามี สูงไปอีกระดับหนึ่ง คนในบ้านส่วนมากบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เธอได้เลี้ยงพระอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
ต่อมานางได้ล้มป่วยลง เกิดทุกขเวทนา เกิดความกระสับกระส่ายจนรับประทานอาหารไม่ลง เราจะเห็นได้ว่า บรรลุธรรมส่วนบรรลุธรรม ส่วนกายหยาบก็เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ วิบากกรรมซึ่งเป็นสมมุติฐานของโรค ทำให้เกิดความทุกขเวทนา
เมื่อป่วยมากนางจึงให้บริวารไปเชิญท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นพ่อมา ในขณะนั้นท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกำลังดูแลการถวายภัตตาหารอยู่ในโรงทานแห่งหนึ่ง เมื่อบริวารมาบอกข่าวนั้น ท่านจึงรีบกลับมาที่บ้าน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านจะเลี้ยงพระด้วย แล้วก็แจกทานแก่คนยากจนเป็นปกติ เพราะฉะนั้นจึงได้รับขนานนามว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวสำหรับคนยากจน
เมื่อมาถึงบ้านจึงรีบเข้าไปหาลูกสาวของตนซึ่งนอนป่วยอยู่ ตรงนี้มีคำพูด คำถาม คำตอบที่น่าศึกษาทีเดียว “ลูกสุมนาเป็นอะไรล่ะลูก เป็นอะไรมากหรือเปล่า” พ่อถาม
ลูกสาวตอบว่า “อะไรหรือน้องชาย”
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีงงเหมือนกัน อยู่ ๆ ลูกสาวบอก อะไรหรือน้องชาว ท่านเศรษฐีก็ตกใจ เกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ ลูกเราเพ้อไปแล้วหรือ
“เจ้ากลัวอะไรหรือลูก ๆ” ถามต่อ
“เปล่าไม่ได้กลัวอะไรหรือน้องชาย” ท่านได้ยินคำว่า น้องชายต่อท้ายทุกที พูดกับพ่อเพียงเท่านั้น และก็เดินทางออกจากกายมนุษย์ไปเลย หมดอายุขัย
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแม้เป็นพระโสดาบัน เมื่อรู้ว่า ลูกสาวของตนตาย ก็ไม่อาจจะอดกลั้นความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นได้ น้ำตาไหลอามแก้ม ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้พ่อ เศร้าในหลายเรื่อง เศร้าเพราะลูกสาวตาย เศร้าเพราะกลัวลูกสาวใจหมองเพราะเพ้อด้วยพิษไข้อาจจะไปไม่ดี ก็เลยเป็นห่วง เพราะท่านไม่ได้รู้ว่า ลูกสาวเป็นพระสกทาคามีแล้ว
เพราะผู้ที่จะรู้คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นลูกเราตาย สงสัยจะไปไม่ดีกังวลอยู่อย่างนี้ แต่ได้จัดงานสลายร่างลูกสาวของตนอย่างสมเกียรติ