ตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือน ด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
สิ่งที่ผู้ศึกษาจะได้รับจากพระพุทธศาสนา
คำสอนในพระพุทธศาสนาแบ่งใหญ่ๆ เป็นปริยัติ กับ ปฏิบัติ คือ หลักธรรมคำสอนที่นำมาใช้เป็นข้อคิด เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ถ้าเราศึกษาธรรมะมา เวลาที่เจอกับปัญหาเราจะไม่งง จะรู้ว่าปัญหาอย่างนี้ควรจะแก้อย่างไร
หากไม่ได้ศึกษาธรรมะ เมื่อมีปัญหาเรื่องครอบครัว มีปัญหาเรื่องเพื่อน มีปัญหาเรื่องมนุษยสัมพันธ์ หรือมีปัญหาเรื่องการงาน เรามักจะคิดวกไปวนมา ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี แต่ผู้ที่ศึกษาธรรมะจะมีหลักในการแก้ปัญหา ผู้ใดที่ทำได้อย่างนี้จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ คือ เป็นผู้ใหญ่ที่มีหลักในการดำเนินชีวิต หากมีลูกก็มั่นใจว่าสอนลูกได้ หากเป็นหัวหน้าก็มั่นใจว่าสอนลูกน้องได้ หากเป็นผู้นำในองค์กรใดก็มั่นใจว่าสามารถนำองค์กรนั้นไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ เพราะมีหลักธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประทีปส่องสว่างนำทางชีวิต นี่คือประโยชน์ของพระปริยัติธรรม
อีกด้านหนึ่ง คือด้านปฏิบัติ ซึ่งเป็นจุดเด่นของพระพุทธศาสนา เพราะถ้าถามว่าธรรมะภาคปริยัติ ทั้งหมดนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอามาจากไหน พระองค์นั่งคิดแบบนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย แล้วเอามาสอนเราหรือ คำตอบคือ ไม่ใช่
ความรู้ที่พระองค์ได้มา พระองค์ไม่ได้ไปเข้าห้องแลปอื่นใดที่ไหนเลย แต่ว่าเข้าห้องแลปในตัว ด้วยการทำสมาธิใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ในคืนวันวิสาขบูชา จนกระทั่งบรรลุวิชชา 3 ตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ปราบกิเลสในตัวหมด แล้วก็เข้าถึงขุมคลังใหญ่ของความรู้ภายใน ท่านเรียกว่าเป็น “ ภาวนามยปัญญา ” คือ ปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิ (ความรู้แจ้ง) ซึ่งเป็นสัจธรรมความจริง ถูกต้องเสมอ ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดก็ตาม (อกาลิโก) เพราะไม่ใช่ “ จินตมยปัญญา ” ปัญญาที่เกิดจากความคิด ตรึกตรอง ค้นคว้าอย่างนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งแม้เก่งเพียงใดก็ยังมีโอกาสผิด ทฤษฏีต่างๆ ตั้งขึ้นมาแล้วก็มีการล้มล้างแก้ไขใหม่ อยู่เรื่อยๆ
หลักธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเป็นแก่นและหัวใจที่เราชาวพุทธจะต้องศึกษาและปฏิบัติ ถ้าผู้ใดศึกษาแต่ภาคปริยัติ อย่างเดียวแต่ไม่ปฏิบัติ อาจจะเกิดลักษณะที่เรียกว่า ปริยัติงูพิษ คือ ตีความตามความคิดของตนเอง ซึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ แล้วยึดมั่นในความเข้าใจของตนนั้น ยิ่งมีความรู้มาก ทิฐิมานะยิ่งแรงกล้าแล้วมีโอกาสชักนำคนอื่นให้เข้าใจผิดตามหรือแม้เข้าใจถูกต้องก็อาจมีลักษณะรู้แต่ทำไม่ได้ เหมือนพระภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาลที่มีความรู้ด้านปริยัติธรรมมาก แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติ เมื่อพบพระพุทธเจ้าครั้งใด พระองค์จะทรงทักด้วยสรรพนามว่า “ ท่านใบลานเปล่า ” แต่ถ้าลงมือปฏิบัติคู่ขนานไปด้วยก็จะ “ รู้แล้วทำได้ ” เพราะสมาธิเป็นการฝึกใจเราเองให้สงบนิ่ง แล้วมีพลังนำมาซึ่งปัญญาขั้นญาณทัศนะ เห็นสิ่งใดว่าดีก็สามารถทำได้จริงๆ อะไรไม่ดีก็สามารถยับยั้งได้จริงๆ จะเป็นประโยชน์อย่างไพศาลต่อการครองชีวิตในปัจจุบันของทุกคน
หากมองไกลออกไป การปฏิบัติธรรมจะเป็นหนทางที่นำตัวเราไปสู่การพ้นทุกข์อย่างเที่ยงแท้ถาวรตามแบบอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงควรศึกษาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป
การศึกษา พระพุทธศาสนา แบ่งได้เป็น 3 แบบ
แบบที่ 1 การศึกษาพุทธแบบชาวบ้าน
การศึกษาพุทธแบบชาวบ้านคือ ใครสนใจก็ไปขวนขวาย หาความรู้เอง เช่น ไปค้นข้อมูลในเวปไซต์ โดยพิมพ์คำว่า พุทธ หรือ Buddhism เข้าไป แล้วไล่เรียงว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง บางคนก็ไปหาหนังสือธรรมะอ่าน ซึ่งตอนนี้หนังสือพุทธเป็นหนังสือขายดีในต่างประเทศ ร้านหนังสือใหญ่ๆ เขาต้องจัดมุมหนังสือพุทธขึ้นมา ซึ่งนี่ก็คือการขวนขวายหาความรู้ ทางพระพุทธศาสนา และการปฏิบัติตามความสนใจของตัวเอง
แบบที่ 2 การศึกษาพุทธแบบวิชาการเชิงคัมภีร์
การศึกษาพุทธแบบวิชาการเชิงคัมภีร์นี้มีจำนวนคนศึกษาไม่มาก มักจะเป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ระดับปริญญาโท และปริญญาเอกทางพุทธศ่าสตร์ ( Buddhist Studies) มุ่งแสวงหาความจริง คือ วิเคราะห์วิจัยเจาะลึก สืบค้นประเด็นต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ว่ามีความจริงอย่างไร เช่น พระพุทธเจ้าตรัสสอนด้วยภาษาบาลี จริงหรือไม่ พระไตรปิฎกเกิดขึ้นมาในยุคใด เป็นต้น โดยอาศัยหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคัมภีร์อื่นๆ มาวิเคราะห์เชื่อมโยงกัน เพื่อแสวงหาคำตอบ
แบบที่ 3 การศึกษาพุทธแบบสังคมวิทยา
การศึกษาพุทธแบบสังคมวิทยา คือ ศึกษาว่าปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่นี้ เช่น ปัญหาโลกร้อน หรือการโคลนนิ่งมนุษย์ ควรทำหรือไม่ การคุมกำเนิดถูกหรือไม่ ตามหลักคำสอน พระพุทธศาสนาแล้วปัญหาเหล่านี้ควรจะทำอย่างไรถึงจะถูก
กล่าวง่ายๆคือ อาศัยคำสอนพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางส่องว่า สังคมควรจะเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งตรงนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ คือคนทั่วไปมักจะสนใจปัญหาเฉพาะหน้า ว่าทำอย่างไรจึงจะให้ตนเองมีรายได้ดี เศรษฐกิจดี การงานมั่นคง แต่ประโยชน์เฉพาะหน้าของผู้คนทั้งหลาย ความจริงตั้งอยู่บนแนวคิดหลักในการพัฒนาโลก
ปัจจุบันแนวความคิดที่มีอิทธิพลครอบงำโลกอยู่ คือ ลัทธิทุนนิยม ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งเกิดขึ้นมาบนพื้นฐานความคิดที่ว่า สิ่งต่างๆนั้น พระเจ้าสร้างขึ้นมา ให้มนุษย์ใช้ มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะฆ่าสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหารได้ หรือหาทางเอาชนะธรรมชาติ ดัดแปลงธรรมชาติเพื่อนำมา ตอบสนองความต้องการ ของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในยุคที่ยังมีมนุษย์อยู่ไม่มาก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้ามากนัก ระบบนิเวศของโลกก็ยังพอรับได้ แต่ ณ ปัจจุบันที่ประชากรโลกมีมาก เทคโนโลยีก้าวหน้า จึงมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างถล่มทลาย ปล่อยของเสียออกมามหาศาล ผู้ทรงภูมิปัญญา ต่างเล็งเห็นแล้วว่า หากปล่อยให้ทิศทางของโลกดำเนินต่อไปเช่นนี้ โลกไปต่อไม่ไหว
เมื่อมนุษย์บริโภคมาก ปล่อยของเสียออกมามาก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และแก๊สต่างๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก เกิดภาวะโลกร้อน เกิดพายุที่รุนแรงขึ้นกว่าเก่า น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย น้ำจะท่วมใหญ่ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น
ทุกคนต่างเป็นห่วงว่าโลกเริ่มจะรับไม่อยู่ ความตื่นตัวค่อยๆ เกิดขึ้นทีละนิด แต่คนที่รู้ก่อนและชี้นำไปก่อน คือ กลุ่มนักปราชญ์ ที่รู้แล้วว่าแนวความคิดพื้นฐานเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าเดินตามแนวทางนั้นต่อไป โลกจะรับไม่อยู่ มนุษยชาติจะเดือดร้อนกันหมด จึงต้องหาแนวความคิดใหม่มารองรับการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน แล้วก็มาพบแนวความคิดทางพระพุทธศาสนานี้ใช้ได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า คนกับสัตว์ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมโลก เราเองก็เคยเกิดเป็นสัตว์ พอหมดวิบากกรรมก็เกิดเป็นคน ถ้าไปทำบาปทำกรรมอีก ก็ต้องลงไปอบาย ตกนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง อสูรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง พอพ้นวิบากกรรมก็มีสิทธิ์มาเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก มันหมุนวนเวียนอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนามองสัตว์อื่นในฐานะเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น อย่าเบียดเบียนกันจนเกินไป
มนุษย์กับธรรมชาติก็เหมือนกัน แนวคิดของพระพุทธศาสนา มองว่าต้องอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ใช่อยู่แบบมนุษย์ตั้งตัวเป็นเจ้ามุ่งเอาธรรมชาติมาตอบสนองความต้องการ ของตัวเองอยุ่ร่ำไป ท่านสอนให้รู้จักพอ อยู่อย่างเรียบง่ายแต่แสวงหาความสุขที่แท้จริง ของชีวิต แล้วให้ทุกคนมีน้ำใจต่อกัน เอื้อเฟื้อกัน ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา นักปราชญ์เหล่านั้นจึงมองว่า แนวความคิดของพระพุทธศาสนานี้เอง ที่สามารถเป็นพื้นฐานรองรับความเจริญเติบโต อย่างยั่งยืนของดลกได้ จะนำความสุขที่แท้จริงมาสู่มนุษยชาติ นี้เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้คนในโลกนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความรู้ มีการศึกษาสูง เริ่มหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นทุกที
ทำอย่างไร จึงจะได้เข้าถึงหลักธรรมะทั้งที่ไม่มีเวลา ?
จริงๆ แล้วธรรมะหลักสำคัญของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ยิ่งมีเวลายิ่งควรศึกษา เพราะหากพิจารณากันจริงๆ เราจะพบว่า คนทุกคนมีเวลาเท่ากัน 1 วัน มี 24 ชั่วโมง แต่ชีวิตคนทั่วไปบางทีค่อนข้างสับสน คือ ใช้ประสิทธิภาพเวลายังไม่เต็มที่ แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมะ ได้ลงมือฝึกสมาธิ ความคิดจะเป็นระเบียบ แล้วมีประสิทธิภาพ เราก็จะบริหารเวลา 24 ชั่วโมงนั้นได้อย่างดี
โดยเราอาจจะแบ่งเวลาศึกษาธรรมะวันละ 1 ชั่วโมง สวดมนต์นั่งสมาธิ ศึกษาธรรมะเพียงชั่วโมงเดียว แต่จะทำให้อีก 23 ชั่วโมงที่เหลือ ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลคือ เวลาจะได้เพิ่มขึ้นและมีเวลาเหลือมากขึ้น
ที่สำคัญต้องถามตัวเองก่อนว่า พวกเราที่คิดว่าไม่มีเวลาเข้าวัด แต่ถ้ามีคอนเสิร์ตที่สนใจก็มักจะมีเวลาไปดูใช่ไหม หรือมีภาพยนตร์ที่ชื่นชอบก็มักจะมีเวลาไปดู มีเวลาเล่นเกมส์ใช่ไหม เพราะฉะนั้นคำว่าไม่มีเวลา จริงๆ เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ประเด็นอยู่ที่ว่า เราตระหนักในคุณค่าของการศึกษาธรรมะแล้วหรือยัง
ถ้าได้ศึกษาธรรมะอย่างจริงจังเมื่อใด เราจะพบว่าดีมาก คนทั่วไปยังขาดครูบาอาจารย์ ขาดผู้ชี้แนะ จึงอาจยังไม่เห็นคุณค่าของธรรมะ ถ้าได้พบครูบาอาจารย์แล้วได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เขาก็จะได้รับคำตอบว่าธรรมะดีจริง อาตมภาพกล้ายืนยัน เพราะหนึ่งเจอมากับตัวเอง สอง คือ มีญาติโยมที่มาวัดซึ่งแต่เดิมก็ไม่รู้เรื่องอะไร แต่พอได้มาศึกษาธรรมะ ลงมือปฏิบัติธรรมจริงจัง ได้ประโยชน์แก่ชีวิตตนเองจริง เขาก็มาวัดสม่ำเสมอ แล้วก็ชวนคนอื่นมาด้วย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านคน
บุคคลเหล่านี้เป็นพยานยืนยันได้ว่า ถ้าลงมือศึกษาธรรมะจริงๆเมื่อใด ก็จะเห็นประโยชน์และเกิดความซาบซึ้ง เมื่อถึงตอนนั้นไม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้มาวัด เขาจะมาเองด้วยความสมัครใจ เพราะเห็นประโยชน์ด้วยตัวของตัวเอง แล้วชีวิตเขาก็ดีขึ้น
ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนาพระพุทธองค์ตรัสว่า ต้องมีทั้งปริยัติ และปฏิบัติ ลงมือฝึกสมาธิอย่างจริงจัง ถึงจะนำไปสู่ปฏิเวธ เปรียบเสมือนเราจะล้างมือ ถ้าใช้มือข้างเดียวถูก็ไม่ถนัด ต้องใช้สองมือช่วยกัน มือถึงจะสะอาดเกลี้ยงดี
เมื่อรู้หลักปริยัติแล้วฝึกสมาธิด้วยก็มีกำลังใจในการทำความดี เมื่อใจสงบนิ่งก็จะผ่องใส มีความสุข มีประสิทธิภาพในการทำงาน จะทำอะไรก็ดีหมด สำเร็จได้อย่างง่ายๆ เย็นๆ เพราะฉะนั้นทั้งสองส่วนจะเสริมซึ่งกันและกัน
มีตัวอย่างของเด็กวัยรุ่นที่เขาก็ต้องการศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่ปรากฏว่าในช่วงกลางคืนก็ใส่กางเกงขาสั้นเสื้อกล้ามออกไปเที่ยว กลับมาก็เช้าแล้ว พอตอน 6 โมงเช้าก็ไปตักบาตรทำบุญ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างจริงๆ ในชีวิตมนุษย์ ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีรูปแบบแตกต่างกันไปบ้าง เราอย่าไปหัวเราะเขาว่าอย่างนี้ก็มีด้วย บางคนอาจจะนึกสงสัย เพราะความจริงตัวของเราก็อาจจะคล้ายอย่างนี้เหมือนกัน คือ แต่ละคนก็มีดีบ้าง ไม่ดีบ้างผสมกันอยู่
ถามว่าที่ทำไม่ดี มีไหม เบี้ยวๆ บูดๆ บ้างมีไหม...มันก็มี แล้วถามต่อไปว่า ที่เราเองรักดีอยากจะทำความดี เห็นใครลำบากก็สงสาร อยากจะช่วยเขามีไหม...ก็มีอีกเหมือนกัน คือ ในตัวมนุษย์ทุกคนมีทั้งความดีและกิเลสผสมๆกันอยู่ และลึกๆ แล้วในใจมนุษย์ทุกคน ล้วนอยากจะเป็นคนดีทั้งนั้น อยากจะให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น อยากจะให้สังคมดีขึ้น ใครๆ ก็หวังอย่างนั้น แต่ว่าถูกอำนาจกิเลส หรือความอยากเฉพาะหน้า มาดึงใจให้ไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากทำ คือ แพ้ความอยาก ถ้าถามว่าลึกๆแล้วอยากให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นไหม...ก็ไม่อยาก คนติดยาเสพติด รู้ทั้งรู้ว่ายาเสพติดไม่ดี แต่ว่ายังไปเสพก็เพราะว่ายังแพ้ใจตัวเอง บางท่านสรุปไว้ว่า ดีชั่วรู้หมด แต่อดไม่ได้
จากตัวอย่างของเด็กวัยรุ่นเที่ยวกลางคืน อย่างน้อยเด็กเหล่านี้ไปเที่ยวมาแล้วยังคิดจะทำบุญใส่บาตร ก็ถือเป็นเชื้อดีอยู่ อย่าไปหัวเราะเยาะเขา สนับสนุนให้ทำเถอะ แล้วให้เพิ่มจากทานมาเป็นศีล แล้วเพิ่มเป็นสมาธิภาวนา ถึงตอนนั้นการจะไปเที่ยวกลางคืนดึกๆดื่นๆ ก็จะค่อยๆลดลง แล้วก็หายไปโดยปริยาย กลายเป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่ได้อีกครั้งหนึ่ง
ตอนนี้เราก็รู้แล้วว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นความลับ แต่เป็นความจริงของโลกและชีวิต ซึ่งให้ประโยชน์แก่เรามากๆ และการศึกษาพระพุทธศาสนาก็ไม่ใช่เรื่องยากด้วย ถ้าทำถูกวิธีอีกทั้งตอนนี้ โลกมีความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เทคโนโลยีเข้ามาสู่ชีวิตของคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และให้แต่คุณล้วนๆ แก่เราก็คือ คำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็น ศาสนาแห่งสากลจักรวาล นั่นเอง
--------------------------------------------------------------------------
หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"
วางแผงจำหน่ายแล้วที่
ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name
ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ
Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html