หยุดขยายปัญหาเท่ากับหยุดขยายความทุกข์

วันที่ 11 กค. พ.ศ.2558

 

หยุดขยายปัญหาเท่ากับหยุดขยายความทุกข์

สร้างสุขด้วยการหยุดขยายปัญหา

            บางคนมักจะมีความรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาใหญ่กว่าคนอื่นมาก ในขณะที่บางคนมักจะบอกว่าไม่เป็นไร ฉันมีปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น แล้วเราจะได้อะไรวัดว่า ปัญหาของใครเป็นปัญหาใหญ่ หรือปัญหาเล็ก

            ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาก็มักจะคิดว่า ปัญหาของตัวเองเป็นภาระหนักอก เช่น มีดบาดนิ้ว ต้องเย็บ 2 เข็ม เจ้าตัวย่อมรู้สึกว่าเจ็บกว่าคนอื่นที่แขนขาดเสียอีก นั่นเป็นเพราะเรื่องเกิดกับตัวเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดกับคนอื่น เราก็แค่จะรู้สึกสงสารเห็นใจเขาอยากจะช่วยเหลือเขาเท่านั้น

            ปัญหาที่เกิดกับตัวเอง เจ้าตัวจะรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าคนอื่น มีผลต่อความรู้สึกมากกว่า เพราะถูกกระทบโดยตรง หรือถ้าปัญหาเกิดกับคนใกล้ตัว เราก็มักจะเกิดความรู้สึกต่อปัญหานั้นๆ มากกว่าคนไกลตัว ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 

หลักการสำคัญเวลาเผชิญปัญหา

อย่าขยายปัญหาจนเกินจริง

            หลักการสำคัญเวลาเผชิญปัญหาข้อแรก คือ อย่าขยายปัญหาจนเกินจริง เช่น มดกัด แต่แสดงอาการราวกับว่าแขนขาดไปข้างหนึ่งถือว่าเกินเหตุ กลายเป็นลักษณะตีโพยตีพาย งอแง อย่าขยายปัญหาให้ “ ปัญหาเท่าหมู กลายเป็นปัญหาเท่าช้าง ” แต่เราควรจะเปลี่ยนแปลงให้ “ ปัญหาเท่าหมู เหลือเพียงปัญหาเท่าแมว ” จะดีกว่า

 

อย่าเอาปัญหาของตัวเองไปเป็นปัญหาของคนอื่น

            หลักการสำคัญเวลาเผชิญปัญหาข้อที่ สอง คือ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว อย่าเอาปัญหาของเราไปเป็นปัญหาของคนอื่น เช่น อยากได้ทรัพย์สินบางอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาของตัวเอง แต่กลับไปปล้นเขานี่คือการสร้างความเดือดร้อน ให้คนอื่นซึ่งไม่ถูกต้อง

เรื่องจริงที่ให้ข้อคิดดีๆ

            “ ผู้เฒ่าซ่ายเสียม้า ” คือ เรื่องเล่าที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวจีนที่ถูกสั่งสมมาหลายพันปี เรื่องมีอยู่ว่า มีผู้เฒ่าชาวจีนคนหนึ่ง นามว่า “ ซ่าย ” ผู้เฒ่าซ่ายเป็นคนที่เข้าใจชีวิตดีมาก ใช้ชีวิตไม่หวือหวาไปกับเรื่องราวที่มากระทบ มองปัญหาต่างๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

 

            มีอยู่คราวหนึ่ง ม้าของผู้เฒ่าซ่ายหนีเตลิดหายไปจากคอก เพื่อนๆ รู้ข่าวก็พากันมาเยี่ยมผู้เฒ่าซ่ายแสดงความเสียใจและปลอบประโลม แต่ผู้เฒ่าซ่ายกลับรู้สึกเฉยๆ แล้วบอกเพื่อนๆ เหล่านั้นกลับไปว่า

“ พวกท่านมาปลอบข้าพเจ้าด้วยเรื่องนี้เองหรือ การที่ม้าหายไปหนึ่งตัว ไม่แน่อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้เสียใจอะไรเลย ”

            ในสมัยนั้น การที่ม้าหายไปหนึ่งตัวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เหมือนกับรถของเราหายไปหนึ่งคัน แต่ผู้เฒ่าซ่ายกลับตอบเพื่อนๆ ที่กำลังปลอบใจตนว่า รถหายอาจจะกลายเป็นเรื่องดีก็ได้ คนที่คิดได้อย่างนี้คงมีไม่มากนัก

            เวลาผ่านไปไม่นานนัก เจ้าม้าตัวที่หนีเตลิดหายไปก็วิ่งกลับมาเอง แถมมันยังพาม้ามาด้วยอีกตัวหนึ่ง ซึ่งม้าตัวที่ถูกพามาใหม่นั้นเป็นม้าพันธุ์ดี สง่างาม อีกทั้งยังมีฝีเท้าดีมากด้วย

            เมื่อเพื่อนฝูงรู้ข่าวต่างก็มาแสดงความยินดีกับผู้เฒ่าซ่าย “ โอ้โฮ...ท่านโชคดีอะไรอย่างนี้ ” แต่ผู้เฒ่าซ่ายกลับไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น ยินดีไปด้วย เขาตอบเพื่อนๆของตนด้วยอาการสงบว่า “ ได้ม้ามาหนึ่งตัว ไม่แน่อาจจะเป็นเรื่องร้ายเรื่องหนึ่งก็ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้ดีใจอะไรมากนักหรอก ”

 

            ลูกชายของผุ้เฒ่าซ่ายชื่นชอบม้าตัวใหม่นี้มาก มันสง่างามแถมยังมีฝีเท้าดี เขาจึงชอบขี่มันออกไปเที่ยวเสมอๆ วันหนึ่งลูกชายของผู้เฒ่าซ่ายขี่ม้าตัวนี้ออกไปเที่ยวอย่างเคย มันวิ่งเร็วมากจึงทำให้เขาพลาดท่าเสียทีตกจากหลังม้า ขาพิการไปข้างหนึ่ง เพื่อนๆของผู้เฒ่าซ่ายรู้ข่าวจึงรีบพากันมาแสดงความเสียใจกับผู้เฒ่าซ่าย

            ผู้เฒ่าซ่ายตอบเพื่อนๆ ของตนกลับไปว่า “ ลูกชายข้าพเจ้าขาพิการไปข้างหนึ่ง ที่สุดแล้วจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ก็ยังยากจะตัดสินใจ ”

            ในเวลาต่อมาประเทศจีนเกิดสงครามกับชนเผ่าทางเหนือ ชายฉกรรจ์ทั้งแผ่นดินถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อป้องกันประเทศ แต่เนื่องจากลูกชายของผู้เฒ่าซ่ายขาพิการจึงไม่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร แล้วศึกสงครามครั้งนั้นก็รบรากันยืดเยื้อยาวนานและโหดร้ายทารุณ มีผู้คนล้มตายเป็นแสนเป็นล้าน แต่ลูกชายของผู้เฒ่าซ่ายได้อยู่บ้านอย่างปลอดภัย

 

            ชาวจีนเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี และมีคติเตือนใจว่า ถึงคราวได้อะไรมาที่น่ายินดี ก็อย่าพึ่งดีอกดีใจมากเกินไป ในดีอาจมีเสียได้ เจอเรื่องสียก็อย่าเสียใจมากเกินไป ในเสียก็อาจมีดีได้ ก้มหน้าก้มตาทำกิจของตนเองด้วยความไม่ประมาท สุดท้ายเราจะผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆ ในโลกนี้ไปได้อย่างดี ดังนั้นเราอย่าไปขยายปัญหา จากมดเป็นหมูด้วยการตีโพยตีพายเลย

“ อดทน ” หรือ “ สะสมปัญหา ”

            บางคนเจอปัญหาไม่รู้ว่าจะสู้หรือจะนิ่งดี ได้แต่เก็บกดไว้กับตัวเอง อย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความอดทนไม่ตีโพยตีพายเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าการเก็บกดไม่ดี ที่เรานิ่งเก็บปัญหาไว้กับตัวเองนั้น เราเก็บแบบไหน เก็บด้วยความอดทน หรือ เก็บด้วยความเก็บกด

 

            “ อดทน ” กับ “ เก็บกด ” ต่างกันตรงที่ “ อดทน ” คือ ทนรับเรื่องนั้นไว้ด้วยความเข้าใจ ด้วยใจที่ผ่องแผ้ว แต่ “ เก็บกด ” เหมือนเก็บดินระเบิดไว้กับตัวเอง เก็บอัดเอาไว้ทุกวันๆ รอวันระเบิด กลายเป็นพลังงานปฝงอยู่ข้างใน รอจุดชนวนขึ้นมา เมื่อไรก็ระเบิดขึ้นมาได้ทันที

            แต่ถ้าเราเข้าใจปัญหา ศึกษาจนไม่รู้ที่มาที่ไป ของปัญหาทุกอย่างดีแล้ว ก็จะเห็นเป็นแนวทางแก้ไขชัดเจน สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปได้ ปัญหาก็จะค่อยๆ ถูกจัดการสะสางออกไปจากใจ ไม่ถูกสะสมไว้รอวันระเบิด

            ใจของผู้ที่ “ อดทน ” จะผ่องแผ้ว แต่ใจผู้ที่ “ เก็บกด ” จะเครียดอยู่ภายใน แม้ภายนอกอาจจะถูกปั้นแต่งดูใบหน้ายิ้มแย้ม แต่ภายในใจกลับมีแต่ความเครียด รอวันระเบิดออกมา หรือไม่ ก็อาจจะเกิดอาการของโรคเครียด เป็นโรคนอนไม่หลับบ้าง โรคประสาทบ้าง เกิดอาการกราดเกรี้ยวบ้าง เราจึงต้องเข้าใจปัญหาแล้วเดินหน้าแก้ไข ด้วยใจที่ผ่องแผ้ว ไม่ย่อท้อยอมแพ้ต่ออุปสรรคปัญหา

 

ทางแก้เมื่อมีปัญหากับบุคคลอื่น

            บางคนเมื่อมีปัญหากับบุคคลอื่น เลือกที่จะเก็บกดไว้ ไม่พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้น อย่างนั้นเราควรจะทำความเข้าใจกับบุคคลรอบข้างอย่างไรดี

            ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความจริงว่า ใจมนุษย์ที่ยังไม่หมดกิเลสมันหวือหวา มีขึ้นมีลง สมมติเรื่องใกล้ตัว ชายหนุ่มกับหญิงสาวเกิดพึงใจกัน แล้วฝ่ายชายก็ใช้วิธีบอกฝ่ายหญิงว่า “ ผมรักคุณ...แล้วให้คุณจำไว้เลยนะว่าคำนี้มีผลไปตลอดชีวิต ผมพูดคำนี้ครั้งนี้ครั้งเดียวพอแล้ว หรือจะให้ผมเขียนคำนี้ใส่กระดาษไว้ให้คุณก็ได้ ถึงคราวคุณอยากจะฟังคำบอกรักของผมอีกเมื่อใด ก็ให้คุณเอากระดาษนี้ขึ้นมาอ่านก็แล้วกัน ”

 

            ชายหนุ่มที่บอกรักหญิงสาวที่พึงใจกันเพียงครั้งเดียว แล้วใช้คำบอกรักนั้นไปตลอดชีวิตอย่างนี้คงไม่ได้ผลที่ดีแน่ เพราะคนเรามักต้องการการตอกย้ำ ความรู้สึกซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น

            มนุษย์มักจะมีเหตุผลกับอารมณ์ที่มาคู่กัน ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบ ใจคนเรามีธรรมชาติที่อ่อนไหว มีทั้งเรื่องของเหตุผล และเรื่องของอารมณ์ประกอบกัน แตกต่างกันที่มีทั้งสองส่วนมากน้อยไม่เท่ากัน เท่านั้น บางคนมีสัดส่วนทางอารมณ์มากหน่อย ในขณะที่บางคนก็มีสัดส่วนด้านเหตุผลมากกว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ทุกคนย่อมมีทั้งสองส่วนนี้ประกอบกันเสมอ

            เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เข้าใจธรรมชาติของตัวเอง และเข้าใจธรรมชาติของผู้อื่น บางครั้ง ต่างฝ่ายต่างก็หวังดีต่อกัน เพียงแค่ไม่เข้าใจธรรมชาติของอีกฝ่ายดีพอ เท่านั้นจึงทำให้เกิดปัญหา

 

            สมมติว่าสามีภรรยาพึงใจกัน ทั้งคู่หวังดีต่อกัน อยากให้อีกฝ่ายมีความสุข แต่ว่าไม่เข้าใจธรรมชาติของอีกฝ่าย และมักจะคิดไปเองเรื่อยเปื่อย แล้วก็มานั่งกลุ้มใจอย่างนี้ไม่ถูกต้อง คนทั้งคู่ควรจะพูดคุยกันอย่างมีศิลปะจนกระทั่งต่างฝ่ายต่างเข้าใจกัน ไม่มัวคิดไปเองฝ่ายเดียว แล้วเก็บปัญหาไว้อย่างนั้น จนปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข

            อาตมภาพเคยรู้จักกับโยมท่านหนึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูง เขาเก่งมากในเชิงบริหาร อายุเพียง 40 ปีเท่านั้น แต่มีเงินเดือนถึงเดือนละ 3 แสนบาท เรียกว่าประสบความสำเร็จมาก แต่กลับมีปัญหาครอบครัว หนักหนาจนกระทั่งกำลังคิดว่าจะแยกทางกับภรรยาแล้วแต่สงสารลูก 3 คน จึงยังไม่ได้อย่าร้างกัน ถึงขนาดเขาออกจากบ้านไปพักอยู่ที่อื่น เพราะรู้สึกเครียดจนทนไม่ไหวเมื่ออยู่บ้าน พอเป็นห่วงลูกก็กลับไปบ้านครั้งหนึ่ง ถือว่าครอบครัวอยู่ในฐานะที่หมิ่นเหม่ต่อการหย่าร้างมาก เขาเครียดจนประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และได้มาปรึกษากับอาตมภาพที่วัด

 

            เขาเริ่มเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวว่า แม่บ้านบกพร่องอย่างไร เขาทำงานนอกบ้านแล้วยังต้องกลับมาดูแลบ้านดูแลลูก อีก แม่บ้านไม่ยอมทำอะไรเลย วันธรรมดาเขาก็ต้องรีบไปทำงาน เขาต้องทำงานเยอะมากเพราะเป็นผู้บริหารระดับสูง จึงเข้านอนหัวค่ำตอน 4 ทุ่ม แต่แม่บ้านยังไม่ยอมเข้านอน นั่งดูทีวีราวๆ 5 ทุ่ม เที่ยงคืน พอถึงวันศุกร์กับวันเสาร์ที่เขาสามารถอยู่ดึกได้ ก็ปรากฎว่าแม่บ้านกลับเข้านอนเร็ว 4 ทุ่มก็เข้านอนแล้ว เขารู้สึกเหมือนแม่บ้านตั้งใจจะไม่เจอหน้ากัน ทำไมแม่บ้านไม่เอาใจใส่เขาบ้าง ถ้าช่วยงานอะไรไม่ได้ อย่างน้อยก็น่าจะช่วยทำให้เค้าสบายใจหน่อย...

            นี่ขนาดอาตมภาพเจอกับเขาครั้งแรก เขายังเล่าขนาดนี้ แสดงว่าคงอึดอัดมากทีเดียว บางทีถ้าเขาได้พูดคุยกับแม่บ้านให้เข้าใจความรู้สึกของตนอย่างนี้บ้างก็น่าจะดีเหมือนกัน

            พอเขาเล่าเสร็จอาตมภาพจึงบอกเขาไปว่า คุณโยม อาตมาว่า จริงๆแล้วแม่บ้านคุณโยมต้องรักคุณโยมมากๆ เลย เพราะแม่บ้านคุณโยมมีประวัติเคยเป็นนักทำงานที่มีความสามารถ เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง แต่เมื่อมีครอบครัวก็ยอมลาออกจากงาน เพื่อมาดูแลครอบครัว แสดงว่าแม่บ้านต้องยอมเสียสละเพื่อคุณโยมมากทีเดียว และขนาดเกิดปัญหาอย่างนี้แล้ว เธอกลับไม่บ่นเลยสักคำ ยังยอมทนอยู่

 

            ที่คุณโยมบ่นว่า อะไรๆ ก็ให้ผมทำ คุณโยมเคยคิดหรือไม่ว่า ตามที่คุณโยมเล่ามานั้น แม่บ้านไม่เก่งเลยสักอย่าง ทุกอย่างคุณโยมทำได้ดีกว่าทั้งหมด ตอนที่พึงใจกันและยังไม่ได้แต่งงานกันก็เอาอกเอาใจกันดี แต่ว่าพอแต่งงานมาอยู่ด้วยกัน ฝ่ายชายก็เก่งกว่าจริงๆ พอมีอะไรพ่อบ้านก็อาจจะหวังดีไปบอกแม่บ้านว่า “ คุณ...อันนี้ไม่ได้ อันนี้ไม่ถูก อันนี้ผิด ต้องทำอย่างนี้ ๆๆๆ ” สุดท้ายแม่บ้านก็อาจจะคิดว่า ถ้าเก่งนักคุณก็ทำเองแล้วกัน ฉันทำอะไรก็ไม่ถูกสักอย่าง แม่บ้านจึงค่อยๆถอยออกมา ให้พ่อบ้านทำงานทั้งหมด แต่ก็ยังอดทน

อยู่ เพราะว่ามีลูกด้วยกันแล้ว และด้วยความรักที่ยังมีต่อกันอยู่นั่นเอง

            เหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้ พ่อบ้านกำลังถือว่าตนเองเป็นจุดศูนย์กลางหรือไม่ คิดว่าตนเองเก่ง ตนเองแน่ คิดอะไรโดยเอาตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเราเลย คิดแต่ว่าฉันดี ฉันเสียสละ ฉันทำงานหนัก แต่ไม่นึกว่าตนเองกำลังเรียกร้องให้คู่ชีวิตกลายเป็นตุ๊กตา ได้แต่ตำหนิว่าแม่บ้าน ทำอะไรก็สู้ตนไม่ได้ เรียกร้องให้แม่บ้านทำให้ตนสบายใจ ที่เธอยอมขนาดนี้แสดงว่าเธอต้องรักคุณโยมมากเลยนะ

 

            อาตมภาพได้แนะนำเขาให้ลองเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ต่อไปนี้ ลองใช้วิธีกระตุ้นด้วยการชมเชย ไม่ว่าแม่บ้านจะทำอะไรก็หมั่นกล่าวชื่นชม ให้แม่บ้านมีกำลังใจทำในสิ่งดีๆ อื่นๆ ต่อไป อย่าได้พูดจาข่มเหงน้ำใจแม่บ้านว่า  “ คุณทำอย่างนี้ก็ไม่ดี อย่างนั้นก็ใช้ไม่ได้ ” แล้วหาความภาคภูมิใจใส่ตัว ด้วยการพูดจาข่มว่าตนเก่งกว่าแม่บ้าน ให้ลองเปลี่ยนไปใช้วิธีชื่นชมแทนการตำหนิ

            พออาตมภาพพูดถึงตรงนี้เขาก็หยุดคิด นึกทบทวน อาตมภาพจึงบอกต่อไปว่า คุณโยมลองไปเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่นะ ให้มองว่าแม่บ้านคือ คนที่รักคุณโยมมากที่สุด รักครอบครัวมาก รักลูกมาก เสียสละมาก ยอมทิ้งสังคมของตัวเองมาอยู่กับบ้าน เพราะฉะนั้นถ้าแม่บ้านทำอะไร ก็ให้กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจเธอ

            เขานิ่งไปครู่หนึ่งแล้วตอบอาตมภาพว่า “ ครับ...ผมจะลองดู ” อาตมภาพจึงบอกต่อไปว่า หลังจากนี้ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นอีกก็ให้มาหาได้ แต่ปรากฎว่าเรื่องราวนี้จบลงอย่างมีความสุข

 

            เราจะเห็นได้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่มุมมองของเรา หากเกิดเรื่องราวปัญหาอะไรขึ้น เราอย่าคิดตัดสินอะไรโดยเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ต้องพยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราก็จะมองเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น เห็นทางแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายไปได้

            เมื่อใดที่เราเข้าใจตนเอง เราก็จะเข้าใจคนอื่นได้ดี เพราะคนเราก็มีกิเลสอยู่ 3 ตระกูล คือ โลภ โกรธ หลง เหมือนๆกัน ต่างแค่ในรายละเอียดเท่านั้น ถ้ามีคนพูดและทำอย่างนี้กับเรา แล้วเรารู้สึกอย่างไร ก็ให้เข้าใจเถิดว่า ถ้าเราทำอย่างนั้นกับผู้อื่น เขาก็จะรู้สึกไม่ต่างจากที่เรารู้สึกเท่าไร

            หากเห็นอะไรที่เขาทำแล้วเรารู้สึกชอบหรือไม่ชอบ อย่าไปหงุดหงิดมองเพียงแค่ว่า เขาทำไม่ถูกใจเรา แต่ให้มองลึกลงไปว่า อะไรเป็นต้นเหตุให้เขาทำอย่างนั้น ที่เขาทำอย่างนั้นเขาคิดอย่างไร ถ้าเราฝึกมองอย่างนี้ได้เมื่อไร เราจะเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริง เป็นคนที่มองปัญหาได้ลึกซึ้งกว่าคนอื่น เป็นคนที่เข้าใจคน แล้วจะเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จ

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------

หนังสือเล่ม "เพราะไม่รู้สินะ" โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

"จะทนทุกข์ไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถลิขิตชีวิตตนเองได้ เพียงเปลี่ยนวิธีคิด ลองมองโลกในอีกมุมที่ต่างไป ลองเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต คุณอาจได้คำตอบว่า ความสุขนั้นหาได้ง่ายๆ ถ้าคุณคิดได้และคิดเป็น"

วางแผงจำหน่ายแล้วที่

ซีเอ็ดบุ๊ค
https://www.se-ed.com/product-search/เพราะไม่รู้สินะ.aspx?keyword=เพราะไม่รู้สินะ&search=name

ร้านนายอินทร์
https://www.naiin.com/product/detail/141416/เพราะไม่รู้สินะ

Book Smile
http://www.booksmile.co.th/ศาสนา-ปรัชญา/เพราะไม่รู้สินะ.html

 

            

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.016223434607188 Mins