วิธีเจริญสังฆานุสติ

วันที่ 27 กค. พ.ศ.2558

วิธีเจริญสังฆานุสติ

     สังฆานุสติ คือ การตามระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เป็นอารมณ์ พระสงฆ์ มี 2 จำพวก คือ สมมติสงฆ์ และอริยสงฆ์

พระอริยสงฆ์ คือ ท่านที่ดำรงอยู่ในมรรค 4 ผล 4

            สมมติสงฆ์ คือ พระสงฆ์โดยสมมติ หมายถึง พระภิกษุแม้เพียงรูปเดียว ส่วนสงฆ์ ได้แก่ ภิกษุซึ่งจำนวนตั้งแต่ 4 รูป นั่งอยู่ภายในสีมา ไม่ละหัตถบาสกันและกันมีอำนาจในการทำ สังฆกรรม พระสงฆ์มีคุณเพราะท่านเป็น ผู้รักษาและสืบทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นบุญเขตเป็นเนื้อนาบุญของโลก

การระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ให้พิจารณาตามบทสรรเสริญพระสังฆคุณ ดังพระบาลีที่ว่า

“    สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ ญายปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ สามิจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ ยทิทัง จัตตาริ ปุริสยุคานิ อัฏฐะ ปุริสปุคคลา เอสะ ภควโต สาวกสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชลีกรณีโย อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะฯ”


สุปฏิปันโน

            พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำรงตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติ สมบูรณ์ด้วยอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา


อุชุปฏิปันโน

           ปฏิบัติตรงต่อหนทางเข้าสู่พระนิพพาน ไม่ปฏิบัติในกามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลม-ถานุโยค แต่ปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ไม่วอกแวกไปทางอื่น ปฏิบัติเพื่อละโทษคดโกง ทางกาย วาจา ใจ ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติเพื่อให้ได้สำเร็จพระนิพพาน พาตัวเองพ้นจากภพ 3 ไม่ปรารถนาโภคสมบัติ และภวสมบัติใดๆ

 

 สามีจิปฏิปันโน

            พระสงฆ์ผู้เป็นผู้ปฏิบัติชอบ สมควรแก่การกราบไหว้บูชาได้ด้วยกายใจ ตั้งใจปฏิบัติอย่างเหมาะสมดีเลิศในธรรมวินัยทั้งน้อยใหญ่ คือ ไม่หละหลวมดูเบาแม้ในธรรมเล็กน้อย และยอมทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันในธรรมที่ปฏิบัติได้โดยยาก พระอริยสงฆ์จัดได้เป็น 4 คู่ 8 บุคคล คือ

1.พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล

2.พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล

3.พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล

4.พระอรหัตมรรค พระอรหัตผล

 

พระอริยสงฆ์ทั้ง 4 คู่นี้ จัดเป็น อาหุเนยโย

           เป็นผู้ควรรับอามิสบูชาที่เขานำมาจากแดนไกล เป็นผู้ให้เกิดผลดีอย่างมหาศาลแก่ผู้นำมาถวาย


 ปาหุเนยโย

            เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ คือ ของที่เขาควรถวายเมื่อไปถึงบ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่นั่ง ข้าวน้ำ อาหาร และความสะดวกสบายใดๆ ที่ควรแก่ท่าน เป็นผู้ควรต้อนรับยิ่งกว่าแขกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย


ทักขิเนยโย

            เป็นผู้ควรแก่การรับทักษิณาทาน คือ ทานที่ผู้อื่นถวาย เพราะผู้ที่ถวายสิ่งของแก่ พระอริยสงฆ์ ย่อมได้รับผลอันยิ่งใหญ่


 อัญชลีกรณีโย

            เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ ของทั้งมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย ผู้ใดได้กราบไหว้ท่านด้วยความเต็มใจ ย่อมเป็นการเปิดใจตนเองให้พร้อมที่จะน้อมรับคำสั่งสอนที่อุดมไปด้วยอมตธรรม สามารถน้อมนำใจให้หยุดนิ่ง เข้าถึงพระธรรมกายและบรรลุอริยธรรมตามท่านไปได้โดยง่าย แม้นิสัยบารมียังอ่อนอยู่ไม่สามารถจะบรรลุธรรมในขณะนั้น ก็สามารถน้อมนำให้บังเกิดศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัย เป็นการปิดอบายให้กับตนเองอย่างชาญฉลาดและมั่นคง


อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ

            เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ เป็นบุญเขตที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้รับบุญ เมื่อหว่านพืช คือศรัทธา ลงไปบนผืนนา คือพระสงฆ์นี้ แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะได้รับผล คือ บุญอย่างมากมาย เนื่องจาก ท่านสามารถปราบกิเลสได้เด็ดขาดด้วยพระธรรมกายของท่าน ทำให้ทั้งกายและใจ ของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง และสามารถผลิตกระแสบุญได้อย่างมากกมายมหาศาล ไม่มีที่สิ้นสุด ดวงอาทิตย์สามารถผลิตแสงสว่างและความร้อนอย่างต่อเนื่องและมากมายมหาศาล ไม่มีประมาณฉันใด พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสามารถผลิตบุญและความดีทั้งหลายอย่างมากมายมหาศาลและต่อเนื่องไม่มีประมาณยิ่งกว่าฉันนั้น ดวงอาทิตย์แม้จะให้ความร้อนและแสงสว่างได้มากมายมหาศาลก็เฉพาะในเวลากลางวัน แต่พระอริยเจ้าท่านให้บุญและความดีแก่ชาวโลกได้ทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีว่างเว้น

            สิ่งที่พึงระลึกอีกประการหนึ่ง คือ นอกจากพระอริยสงฆ์แล้ว บิดามารดา ก็จัดเป็น พระอรหันต์ของบุตรธิดา แม้ท่านจะไม่ได้หมดจดจากกิเลสเช่นเดียวกับพระอรหันต์ แต่พระคุณของท่านที่มีต่อบุตรธิดา ทำให้ท่านสมควรเป็นผู้รับการบูชา การเลี้ยงดูจากบุตรธิดา จัดเป็นอาหุเนยยบุคคลของบุตรธิดาเช่นกัน


 การเจริญสังฆานุสติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย

            ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้อธิบาย “    สังฆานุสติ” ในทำนองคล้ายกับ “    พุทธานุสติ” คือ เป็นเพียงการตรองหรือคิดพิจารณาพระสังฆคุณเท่านั้น จึงทำให้เข้าถึงแค่ “    อุปจารสมาธิ” แต่ถ้าหากอธิบายด้วยวิธีการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย อาจอธิบายได้ดังนี้

            เมื่อเราตรองตรึกถึงพระสังฆคุณทุกประการดังที่ได้อธิบายมาข้างต้น ใจก็จะมีพระสงฆ์เป็นอารมณ์ อย่างนี้แล้วจึงน้อมตรึกระลึกนึกถึงพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่ง ที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ มีพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย เป็นต้น มาเป็น บริกรรมนิมิต พร้อมกับบริกรรมภาวนาด้วยคำใดคำหนึ่งที่น้อมถึงพระสังฆคุณ เช่น สังโฆ สุปฏิปันโน เป็นต้น จนนิมิตติดแน่นเป็น “    อุคคหนิมิต” แล้วกลั่นตัวใสเป็น “    ปฏิภาคนิมิต” จากนั้น ใจจึงจะตกศูนย์เข้าถึง “    ดวงปฐมมรรค” ต่อไป ส่วนอานิสงส์ของสังฆานุสติ เช่นเดียวกับพุทธานุสติ และธัมมานุสติ

 

------------------------------------------------------------------------

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020915865898132 Mins