ขณปริตฺตโต ระลึกโดยชีวิตมีขณะเล็กน้อย
จริงอยู่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อยนัก ชั่วความเป็นไปแห่งจิต ขณะเดียวเท่านั้น เปรียบเหมือนล้อรถแม้เมื่อหมุนไป ก็หมุนด้วยส่วนแห่งกงส่วนหนึ่งเท่านั้น แม้เมื่อหยุดก็หยุดด้วยส่วนแห่งกงส่วนหนึ่งเท่านั้น ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นไปชั่วขณะ แห่งจิตขณะเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน ในเมื่อจิตนั้นดับแล้ว สัตว์ก็ถูกเรียกว่าดับแล้ว ดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ในขณะแห่งจิตเป็นอดีต สัตว์เป็นแล้วไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็น ในขณะแห่งจิตเป็นอนาคต ไม่ใช่เป็นแล้ว ไม่ใช่กำลังเป็น แต่จักเป็น ในขณะแห่งจิตเป็นปัจจุบัน สัตว์ไม่ใช่เป็นแล้ว แต่กำลังเป็น ไม่ใช่จักเป็น
“ ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งมวลเป็นธรรมประกอบกัน เสมอด้วยจิตดวงเดียว ขณะย่อมเป็นไปพลัน เทวดาเหล่าใด ย่อมตั้งอยู่ตลอดแปดหมื่นสี่พันกัปเทวดาเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นผู้ประกอบด้วยจิต 2 ดวงเป็นอยู่เลย ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ผู้ตาย หรือของสัตว์ที่เป็นอยู่ใน โลกนี้ดับแล้ว ขันธ์เหล่านั้นทั้งปวงเทียวเป็นเช่นเดียวกันดับไปแล้ว มิได้สืบเนื่องกัน ขันธ์เหล่าใด แตกไปแล้วในอดีตเป็นลำดับ และขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้วในอนาคตเป็นลำดับ ความแปลกกันแห่งขันธ์ทั้งหลายที่ดับไปในปัจจุบันกับด้วยขันธ์เหล่านั้น ย่อมมิได้มีในลักษณะสัตว์ไม่เกิดแล้วด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมเป็นอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์ สัตว์โลกตายแล้ว เพราะความแตกแห่งจิตนี้ เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์”14)
เมื่อนักปฏิบัติระลึกถึงความตายโดยวิธีใดวิธีหนึ่งในบรรดา 8 วิธี เหล่านี้ จิตก็จะเกิดความเคยชินคล่องแคล่วด้วยอำนาจการทำในใจเนืองๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และสติก็จะตั้งมั่นอยู่ โดยมีความตายเป็นอารมณ์ นิวรณ์ทั้งหลายก็ระงับไป องค์ฌานทั้งหลายย่อมจะปรากฏขึ้น แต่เพราะความตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นอารมณ์ที่มีสภาพละเอียดสุขุมลุ่มลึก และเพราะเป็นอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช คัมภีร์วิสุทธิมรรคจึงกล่าวไว้ว่าการมีสติระลึกถึงความตายทำให้บรรลุได้เพียงระดับของอุปจารฌาน (อุปจารสมาธิ) เท่านั้น ไม่อาจก้าว ขึ้นไปถึงในระดับของอัปปนาสมาธิได้
------------------------------------------------------------------------
14) ขุททกนิกาย มหานิเทส, มก. เล่ม 65 หน้า 213.
สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี