ฉบับที่ 40 กุมภาพันธ์ ปี 2549

จุดประทีปเป็นพุทธบูชา ทางมาแห่งดวงตาเห็นธรรม





พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ ทีปโป โหติ จกฺขุโท ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ ”

             วันเพ็ญเดือนสามเป็นวันพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ วันแห่งความสว่างไสว ที่ชาวพุทธจะได้มาพร้อมใจกันสวดมนต์เพื่อตรึกระลึกนึกถึงพุทธคุณ และย้อนไปถึง วันประวัติศาสตร์ของชาวพุทธ คือ เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีที่แล้ว เมื่อบ่ายวันเพ็ญเดือนมาฆมาส ได้มีเหล่าพระอรหันตสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ได้มาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาโดยมิได้นัดหมาย ทุกองค์ล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพที่ได้รับการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทาน โอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นหลักการ อุดมการณ์และวิธีการใน การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกก็ได้ยึดหลักใน โอวาทปาฏิโมกข์นี้ มาอย่างเคร่งครัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

             หากจะถามว่า พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่อย่างไรบ้าง ? อาจเป็นคำถามง่ายๆ สำหรับชาวพุทธ เพราะเราทุกคนก็คงตระหนักกันดีอยู่แล้ว และพรรณนาอย่างไรก็คงไม่หมด แม้พระพุทธเจ้าด้วยกัน จะพรรณนาคุณของพระพุทธเจ้า กาลเวลาผ่านไปหนึ่งกัปก็ยังพรรณนาไม่หมด อย่างไรก็ตาม เนื่องในวาระวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ ผู้เขียนน้อมนำเสนอสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงมียิ่งกว่าเราในเรื่องของ “ จักษุ ” ว่า พระพุทธองค์ทรงมีดวงตากี่ประเภท

             ตามปกติเราก็ได้สวดสรรเสริญพุทธคุณว่า ...พร้อมเบญจพิธจักษุจรัสวิมลใส เห็นเหตุที่ใกล้ไกล บ่มิหม่นมิหมองมัว... เบญจพิธจักษุ หมายถึง จักษุ ๕ ประการ ได้แก่ มังสจักษุ ทิพยจักษุ สมันตจักษุ ปัญญาจักษุ ธัมมจักษุ 

            พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่า เป็นโลกวิทู คือ รู้แจ้งทั้งนิพพาน ภพสาม โลกันตร์ แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ทรงแทงตลอดหมด เพราะพระองค์ทรงมีการเห็นที่วิเศษ ตั้งแต่ มังสจักษุ ขนพระเนตรของพระองค์เขียวสนิทเหมือนดอกผักตบ ตรงส่วนไหนที่มีสีเหลือง ก็เหลืองนวล เหมือนทองคำ สวยงามเหมือนดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองมีสีแดงงามเหมือนสีปีกแมลงทับ ตรงกลางพระเนตรมีสีดำงามไม่หมองมัว แต่สนิทดีเหมือนสีสมอดำ ตรงไหนขาวก็จะขาวงามเปล่งปลั่ง ขาวนวลเหมือนสีดาวประกายพรึก

             ลำพังมังสจักษุ แม้จะมีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ พระอาทิตย์อัสดงคตไป วันอุโบสถมีในกาฬปักษ์คือ เป็นคืนเดือนมืด แนวป่าทึบ และในคราวอกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ถึงอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ พระองค์ทรงเห็นได้ขนาดที่ว่า หากมีคนเอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งทำเป็นเครื่องหมายใส่ลงในเกวียนที่บรรทุกงา พระพุทธองค์ก็สามารถมองเห็นเมล็ดงาที่ทำเครื่องหมายนั้นได้ด้วยพระมังสจักษุ นี่เป็นเพราะว่า พระพุทธองค์ได้สั่งสมบุญ ที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น การถวายประทีปโคมไฟเพื่อบูชาพระรัตนตรัย เป็นต้น

             ส่วนการเห็นด้วยทิพยจักษุ ของพระพุทธเจ้า หมายถึงได้จุตูปปาตญาณ ทรงรู้เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุบัติ เห็นหมู่สัตว์ที่เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณงาม ได้ดี ตกยาก ทรงรู้ว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ทรงทอดพระเนตร ๑ โลกธาตุ ๑๐ โลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ หรือแม้มีพระประสงค์ จะทอดพระเนตรเท่าใด ก็ทรงเห็นได้ตามพระประสงค์ พระพุทธองค์ทรงมีสมันตจักษุ เห็นได้รอบด้าน เหมือนพวกพรหม เห็นทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตในเวลาเดียวกัน ซึ่งเห็นได้วิเศษกว่าทิพยจักษุ ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น เห็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ทรงรู้อัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุตติของสัตว์ทั้งปวง ย่อมทรงรู้จักหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ทุกอย่างอยู่ในข่าย พระพุทธญาณ เหมือนปลา และเต่าทุกชนิดที่เป็นไปภายในมหาสมุทร

             พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงมีปัญญาจักษุ คือ ทรงมีพระปัญญามาก ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงบรรลุเวสารัชญาณ ๔ ทรงทศพลญาณ ทรงรู้ว่า บุคคลเหล่านี้เป็นราคจริต จะตรัสบอกอสุภกัมมัฏฐาน และจะตรัสบอกเมตตาภาวนา แก่ผู้มีโทสจริต อีกทั้งทรงแนะนำ ผู้มีโมหจริตให้ดำรงอยู่ใน การเรียนการไต่ถาม ทำให้สาวกของพระองค์ตรัสรู้ธรรมตามนับไม่ถ้วน การรู้ของพระองค์นั้น ก็รู้ได้ด้วยธรรมจักษุ เห็นด้วยตาของธรรมกายพระอรหัต รู้ด้วยญาณทัสสนะของ พระธรรมกายอรหัต ที่รู้ได้ตลอดหมด คือ ทั้งรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล รู้ยิ่ง รู้พร้อม ซึ่งโดยรวมก็คือ พระสัพพัญญุตญาณนั่นเอง

             ที่ได้พรรณนามาโดยย่อนี้ เราทั้งหลายจะได้รู้ว่า พระบรมศาสดาของเรานั้น ทรงถึงพร้อมด้วยจักษุทั้ง ๕ มีอานุภาพยิ่งใหญ่เหนือสรรพสัตว์ทั้งปวง ทรงมีอานุภาพเป็นอจินไตย อยู่เหนือวิสัยที่เราจะนึกคิดด้นเดาได้ เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ในวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ เรามาควรมาพร้อมใจกัน จุดโคมประทีปที่ลานมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาด้วยกัน เพื่อให้เกิดพลังหมู่ พลังแห่งสันติภายใน ขยายไปสู่ชาวโลก อานิสงส์ในการจุดโคมประทีป เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาครั้งนี้ จะทำให้เราได้เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยเบญจพิธจักษุ คือได้จักษุทั้ง ๕ ประการ คือมังสจักษุ ทิพยจักษุ สมันตจักษุ ปัญญาจักษุ และธรรมจักษุ ตามพระองค์ไปด้วย เราจะได้ถึงพร้อมด้วย ดวงตาภายนอกและภายใน ไปทุกภพทุกชาติตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม

“เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตเสมอกัน ผลก็ย่อมเท่ากัน ในเพราะเหตุคือความเลื่อมใสแห่งใจ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไปสู่สุคติ” (พุทธพจน์)



บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล