ฉบับที่ ๑๘๐ เดือนธันวาคม ๒๕๖๐

สร้างปัญญาเป็นทีม ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร ตอนที่ ๑๑ วิชาครูของพระสารีบุตร (ต่อ)

สร้างปัญญาเป็นทีม
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา

ตอนที่ ๑๑ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว (ต่อ)

อยู่ในบุญธันวาคม2560 , อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอน , พระสารีบุตร , สร้างปัญญาเป็นทีม

๒.๔ อ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ

              ตามปกติของคนโดยทั่วไปมักชอบสอนชอบตักเตือนผู้อื่นมากกว่า แต่เมื่อถูกผู้อื่นกล่าวสอนบ้าง ก็จะโกรธเคือง เพราะรู้สึกเสียหน้าและมักตอบโต้กลับคืนด้วยการหาเรื่องจับผิดแล้วว่ากล่าวติเตียนให้เสียหาย ผลสุดท้ายก็ต้องกลายเป็นนกไร้ขน คนไร้เพื่อน เพราะไม่มีเพื่อนดี ๆ คนไหนกล้าตักเตือน

             แต่พระสารีบุตรมิได้เป็นเช่นนั้น ท่านมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ น้อมรับคำตักเตือนได้แม้กระทั่งคำเตือนของสามเณร ๗ ขวบ1 ใน อรรถกถาสุสิมสูตร มีบันทึกว่า วันหนึ่งสามเณรอายุ ๗ ขวบ เห็นพระสารีบุตรนุ่งห่มไม่เรียบร้อยจึงกราบเรียนว่า “ท่านสารีบุตรขอรับ ชายผ้านุ่งของท่านห้อยลงมาแน่ะ”

          พระสารีบุตรได้รับคำเตือนนั้นแล้วไม่พูดอะไรเลย รีบไปในที่ที่เหมาะสมแห่งหนึ่ง แล้วนุ่งห่มใหม่ให้เรียบร้อย จากนั้นก็กลับมายืนประนมมือต่อหน้าสามเณร กล่าวถามว่า “เท่านี้เหมาะไหม อาจารย์”

             พระสารีบุตรท่านให้เหตุผลว่า “ผู้บวชในวันนั้น เป็นคนดี อายุ ๗ ขวบโดยกำเนิดถึงผู้นั้นพึงสั่งสอนเรา เราก็ยอมรับด้วยกระหม่อม” ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าท่าปฏิบัติตนอย่างไรก็นำมาสอนผู้อื่นอย่างนั้น เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย”2

           จากข้อคิดที่พระสารีบุตรกล่าวไว้นี้ เป็นข้อเตือนใจว่า คนอ่อนน้อมถ่อมตนไปอยู่ที่ใดก็มีแต่คนให้ความรัก ความเคารพ ความเกรงใจเพราะมีจิตใจเปิดกว้างพร้อมจะรับคำแนะนำจากคนดีอยู่เสมอ ทำให้มองเห็นคุณธรรมกันได้ง่าย คนดีที่มาอยู่ด้วยก็ไม่อยากจากไปไหนเพราะอยู่ด้วยแล้วย่อมไม่ขุ่นข้องหมองใจ มีแต่ความสบายใจ รู้สึกเหมือนได้อยู่ร่วมกับมิตรไม่รู้สึกเหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู คนดีที่อยู่ไกลแสนไกลก็อยากมาพบ มาทำความรู้จัก มาคบหาเป็นมิตรสหาย เพราะได้รับรู้กิตติศัพท์อันดีงามว่าเป็นผู้ที่เปิดรับความดีงาม ไม่มีกำแพงขวางกั้นมิตรภาพ ส่วนมิตรสหายเดิมที่คบหากันไว้ มีเท่าไรก็ไม่ลืมเลือนคุณธรรมที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา

         เมื่อถึงคราวที่ต้องเดินทางไปที่ใด ย่อมมีคนดีอำนวยความสะดวก ให้การต้อนรับเชื้อเชิญอย่างดียิ่งไปตลอดทาง เพราะรู้ว่าหากใครได้คบหาไว้เป็นมิตรสหายแล้ว ก็จะมีแต่ความดีงามเพิ่มขึ้นในชีวิต

         คนอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ว่าไปอยู่ที่แห่งหนตำบลใด ก็มีมิตรรัก สหายรัก เพื่อนรัก ทั้งที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ บังเกิดขึ้นไปตลอดทาง กลายเป็นเครือข่ายคนดีที่เข้มแข็ง ช่วยกันหมุนกงล้อธรรมจักรให้แผ่ขยายออกไปด้วยกำลังของมิตรภาพที่กระจายอยู่เต็มแผ่นดิน

 

๒.๕ รักความมักน้อยสันโดษ

                พระสารีบุตรเป็นผู้มีปกติมักน้อยสันโดษดังคำที่ท่านกล่าวสอนอยู่เสมอว่า

           “ภิกษุเมื่อบริโภคอาหาร จะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่การบริโภคอาหารยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำ เป็นการสมควรเพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว”3

             ทั้งนี้เพราะท่านมีความเห็นว่า สมบัติติดตัวของท่านมีเพียงแค่ ๑) จีวรนุ่งห่ม และ ๒) การนั่งขัดสมาธิ ก็เพียงพอต่อการบำเพ็ญเพียรเพื่อกำจัดอาสวกิเลสแล้ว ดังคำที่กล่าวว่า

           “อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรอันเป็นกัปปิยะนับว่าเป็นประโยชน์ จัดว่าพอเป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว การนั่งขัดสมาธินับว่าพอเป็นการอยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว”4

          ความมักน้อยสันโดษของท่านมิได้เพียงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาเฉพาะในหมู่สงฆ์เท่านั้นแต่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของเพื่อนต่างศาสนิกด้วย ดังที่ปรากฏใน สุจิมุขีสูตร5 ดังนี้

            เรื่องมีอยู่ว่า สุจิมุขีปริพาชิกาเห็นพระเถระมีรูปร่างงดงาม น่าดู มีผิวพรรณงามดังทองคำ ชวนให้เกิดความเลื่อมใสตลอดเวลา จึงเข้าไปเกี้ยวพาราสี แต่เมื่อเห็นพระเถระไม่สนใจ นางจึงเปลี่ยนมาโต้วาทะแทน

            ในขณะนั้น พระเถระกำลังฉันบิณฑบาตอยู่ นางได้กล่าวถามหลายประเด็นติดต่อกัน ซึ่งโดยรวมก็ถามว่า “สมณะ ท่านเป็นผู้ก้มหน้าฉันแหงนหน้าฉัน มองดูทิศใหญ่ฉัน มองดูทิศน้อยฉัน อย่างนั้นหรือ ?”

             พระสารีบุตรตอบปฏิเสธอย่างเป็นกลางพร้อมกับอธิบายว่า

            ๑) ท่านมิได้ก้มหน้าฉัน เพราะท่านมิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาดูพื้นที่ นักบวชที่เลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้จึงเรียกว่า ก้มหน้าฉัน

                  ๒) ท่านมิได้แหงนหน้าฉัน เพราะท่านมิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาดูดาวนักษัตร นักบวชที่เลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้จึงเรียกว่า แหงนหน้าฉัน

            ๓) ท่านมิได้มองดูทิศใหญ่ฉัน เพราะท่านมิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ด้วยการเป็นคนรับจ้างส่งข่าวสาร นักบวชที่เลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้จึงเรียกว่า มองดูทิศใหญ่ฉัน

             ๔) ท่านมิได้มองดูทิศน้อยฉัน เพราะท่านมิได้เลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ด้วยดิรัจฉานวิชา คือวิชาทำนายอวัยวะ นักบวชที่เลี้ยงชีพด้วยวิธีนี้จึงเรียกว่า มองดูทิศน้อยฉัน

            จากนั้น พระสารีบุตรยืนยันในปาริสุทธิศีลของท่านว่า “เรามิได้เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพด้วยดิรัจฉานวิชา คือ วิชาดูพื้นที่ วิชาดูดาวนักษัตร มิได้เป็นคนรับจ้างส่งข่าวสาร มิได้เลี้ยงชีพด้วยวิชาทำนายอวัยวะ แต่เราแสวงหาภิกษา (อาหาร, ของเคี้ยวของบริโภค) โดยชอบธรรมครั้นแสวงหาได้แล้วจึงฉัน”

            สุจิมุขีปริพาชิกาได้ฟังคำอธิบายนั้นแล้วก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมาก เดินไปป่าวประกาศเชิญชวนชาวเมืองทุกตรอกซอกซอยว่า “ท่านสมณศากยบุตรทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันประกอบด้วยธรรม สมณศากยบุตรทั้งหลายย่อมฉันอาหารอันหาโทษมิได้ เชิญท่านทั้งหลายถวายบิณฑบาตแก่สมณศากยบุตรทั้งหลายเถิด” ผลแห่งคำประกาศนี้ ทำให้มีผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีก ๕๐๐ ตระกูล

 

๒.๖ อนุเคราะห์คนดีที่ยากจนเข็ญใจ

            ตามปกติ พระสารีบุตรชอบอนุเคราะห์คนดีที่ตกทุกข์ได้ยาก เพราะท่านทราบดีว่าการปล่อยคนดีให้ตกระกำลำบากโดยไม่มีใครเหลียวแลนั้น จะเป็นเหตุให้คนดีเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ จับแง่คิดผิด มองโลกในแง่ร้าย อาจเปลี่ยนจากคนมีสัมมาทิฐิกลายเป็นคนมีมิจฉาทิฐิได้ซึ่งถือเป็นความเสียหายต่อการอนุเคราะห์สรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งพระนิพพานเป็นอย่างยิ่งดังเช่นเรื่องราวในกรณีของ อัมพวิมานเทพบุตร6 เป็นต้น

         เรื่องมีอยู่ว่า ในกรุงราชคฤห์มีคนยากจนเข็ญใจผู้หนึ่ง มีอาชีพรับจ้างดูแลสวนมะม่วงแลกกับอาหาร เดิมทีเขามิไดมี้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพียงทำงานหาเช้ากินค่ำแลกอาหารไปมื้อ ๆ หนึ่งเท่านั้น

           วันหนึ่งในฤดูร้อน แสงแดดร้อนระอุ ถนนหนทางมีพยับแดดแน่นหนา พระสารีบุตรเดินฝ่าเปลวแดดผ่านไปทางสวนมะม่วงที่ชายยากจนเข็ญใจดูแลอยู่ เขาเห็นพระเถระมีเหงื่อท่วมตัวก็ยังไม่ระย่นย่อกับการเดินทางท่ามกลางอากาศร้อน จึงเกิดความเคารพนับถือเป็นอันมาก

             เขาเดินเข้าไปกล่าวกับพระเถระว่า “ท่านขอรับ ฤดูนี้อากาศร้อนมาก ขอท่านโปรดแวะพักสวนมะม่วงนี้สักครู่ หายเหนื่อยในการเดินทางแล้วค่อยไป โปรดอนุเคราะห์ด้วยเถิด”

             พระสารีบุตรประสงค์จะเพิ่มพูนจิตเลื่อมใสศรัทธาของเขา จึงแวะไปยังสวนมะม่วง นั่งที่โคนมะม่วงต้นหนึ่ง เขากล่าวถามว่า “ท่านขอรับหากท่านต้องการสรงน้ำเพื่อคลายร้อน กระผมจะตักน้ำจากบ่อนี้ให้ท่านสรงและจะถวายน้ำอิ่ม”

             พระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เขาตักน้ำจากบ่อและกรองน้ำแล้วถวายให้พระเถระสรงน้ำ จากนั้นล้างเท้าล้างมือให้สะอาดแล้วน้อมถวายน้ำดื่ม พระเถระดื่มน้ำดับความกระหายของร่างกายแล้ว ก็กล่าวอนุโมทนาในการถวายน้ำสรงและน้ำดื่ม จากนั้นก็เดินทางต่อไป

          คนเข็ญใจนั้นเกิดความสุขปีติโสมนัสเป็นอันมากที่ได้ทำบุญกับพระสารีบุตร เขารู้สึกว่าตนเป็นผู้ขวนขวายในบุญอย่างมาก ภายหลังเมื่อเขาหมดอายุขัย ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานใหญ่โตที่ล้อมรอบด้วยเสาแก้วมณีสูง ๑๒ โยชน์ มีห้องรโหฐาน ๗๐๐ห้อง ที่ล้อมรอบด้วยเสาแก้วไพฑูรย์ ปูลาดพื้นด้วยเครื่องปูลาดที่งดงาม

 

๒.๗ ไม่ปรารถนาอยู่ร่วมกับคนชั่วผู้ยุยงให้มิตรแตกแยก

             ตามปกติ เมื่อพระสารีบุตรอุปการะผู้ใดแล้ว ไม่ว่าจะเตือนยากสอนยากเพียงใด ขอแค่ผู้นั้นยังมีความรักดีอยู่บ้าง ท่านจะไม่ขับไล่ไสส่งออกไปจากสำนักเด็ดขาด

            ดังเช่น พระลูกศิษย์ของท่านรูปหนึ่ง เป็นผู้ที่ประพฤติตนไม่อยู่กับร่องกับรอย7 เวลาที่ท่านกับลูกศิษย์อาศัยอยู่ในสำนักเดียวกับพระบรมศาสดา เขาก็จะประพฤติตนเรียบร้อยอยู่ในโอวาท อุปัฏฐากดูแลท่านอย่างดี แต่เมื่อท่านพาลูกศิษย์จาริกลงใต้แยกไปอยู่คนละสำนักกับพระบรมศาสดา เขาก็จะประพฤติกลับกันทั้งดื้อรั้น ถือตัว กระด้างกระเดื่อง ไม่เชื่อฟังคำสอนของท่าน ถึงกับตั้งตนเป็นปรปักษ์กับท่านเลยทีเดียว

         พระสารีบุตรแปลกใจกับพฤติกรรมกลับไปกลับมาของลูกศิษย์เป็นอันมาก จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลปรึกษาพระบรมศาสดา ก็ได้ทราบความจริงว่า ภิกษุนี้มีนิสัยทำดีเอาหน้าแบบนี้มาหลายภพหลายชาติแล้ว ชาตินี้คงแก้ได้ยากเมื่อท่านทราบความจริงแล้ว ก็มิได้ขับไสไล่ส่งศิษย์ผู้นั้นไป ยังคงให้การอบรมบ่มนิสัยอยู่ในสำนักตามเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีเมตตากรุณาสูงมาก เมื่อรับใครมาเป็นศิษย์แล้วดื้อด้านขนาดไหนก็พยายามแก้ไขให้ได้ดี

           แต่ทว่ามีคนอยู่ประเภทหนึ่งที่ท่านจะไม่ขออยู่ร่วมด้วยอย่างเด็ดขาด นั่นคือ คนที่ชอบพูดยุแยงตะแคงรั่วให้มิตรแตกแยก

            ดังเช่น คนกินเดนผู้หนึ่ง8 เขาเลี้ยงชีพด้วยการขอผู้อื่นกิน เมื่อได้เห็นพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะเดินทางมาปลีกวิเวกจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านชายแดนที่ตนอยู่ ก็เข้าไปขออาศัยอยู่ด้วย ทำการอุปัฏฐากเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พระเถระทั้งสอง เพื่อแลกข้าวก้นบาตรกิน

        เมื่ออยู่ไปหลายวัน เขาเห็นพระเถระทั้งสองมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี ก็รู้สึกริษยาคิดอยากจะทำลายให้แตกกัน เขาจึงเข้าไปหาพระสารีบุตร แล้วกล่าวใส่ร้ายพระโมคคัลลานะว่า “ท่านขอรับ พระโมคคัลลานะดูหมิ่นท่านลับหลัง บอกว่าชาติกำเนิด โคตร ตระกูล ที่อยู่การศึกษา การรู้แจ้งธรรมและฤทธิ์ ยังต่ำต้อยกว่าของตนมากนัก” พระสารีบุตรทราบดีว่าไม่เป็นความจริง ฟังแล้วก็ยิ้ม บอกให้เขากลับออกไป

            วันต่อมา เขาก็เข้าไปหาพระโมคคัลลานะแล้วกล่าวใส่ร้ายพระสารีบุตรโดยทำนองเดียวกันนั้นอีก พระโมคคัลลานะทราบแก่ใจว่าไม่เป็นความจริง ฟังแล้วก็ยิ้ม บอกให้เขากลับออกไป

          หลังจากนั้น พระโมคคัลลานะได้เข้าไปหาพระสารีบุตรเพื่อหารือเรื่องคนกินเดนเข้ามาพูดจายุแยงตะแคงรั่ว เมื่อทราบว่าเขามีเจตนาทำลายมิตรให้แตกแยกแน่ชัดแล้ว พระสารีบุตรจึงดีดนิ้วมือ อันเป็นการแสดงออกเพื่อขับไล่คนกินเดนให้ออกไปพ้นสำนัก

           เรื่องนี้เป็นข้อเตือนใจว่า หากคิดจะทำ  ความดีใดให้ตลอดรอดฝั่ง อย่ารับคนปากเสียมีปมด้อย ชอบพูดจายุยงให้หมู่คณะแตกแยกเข้ามาร่วมงานด้วยเป็นอันขาด เพราะแม้แต่พระสารีบุตรซึ่งมีปกติเป็นผู้มีเมตตากรุณาแม้แก่คนดื้อด้านหรือคนยากจนเข็ญใจ ก็ยังไม่ต้องการอยู่ร่วมกับคนชั่วผู้ชอบยุยงให้มิตรแตกแยกแม้แต่วันเดียว

         สำหรับเรื่องนี้ ท่านถึงกับตั้งความปรารถนาไว้ในขณะที่เป็นพระอรหันต์แล้วเลยว่า ขอให้ในสำนักของท่านจงมีแต่นักปราชญ์ผู้มีศีลมาอยู่ด้วย ดังปรากฏใน สารีปุตตเถรคาถา9 ว่า

         “ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก เกียจคร้านมีความเพียรเลวทราม ได้สดับน้อย ไม่เอื้อเฟื้ออย่าได้มาในสำนักของเราแม้ในกาลไหน ๆ เลยเพราะจะมีประโยชน์อะไรด้วยการให้โอวาทบุคคลเช่นนั้นในหมู่สัตว์โลกนี้

           “อนึ่ง ขอให้ภิกษุผู้เป็นพหูสูต เป้นนักปราชญ์ตั้งมั่นอยู่ในศีล ประกอบใจให้สงบระงับเป็นเนืองนิตย์ จงมาประดิษฐานอยู่บนศีรษะของเราเถิด”

 

 


1 สํ.ส.อ.สุสิมสูตร (ไทย) ๒๔/๓๙๖
2 ขุ.เถร.สารีปุตตเถรคาถา (ไทย) ๒๖/๙๙๓/๕๐๒
3 ขุ.เถร.สารีปุตตเถรคาถา (ไทย) ๒๖/๙๘๓/๕๐๐
4 ขุ.เถร.สารีปุตตเถรคาถา (ไทย) ๒๖/๙๘๔/๕๐๑
5 สํ.ขนฺธ.สุจิมุขีสูตร (ไทย) ๑๗/๓๔๑/๓๔๗-๓๔๙
6 ขุ.วิ.อ.อัมพวิมาน (ไทย) ๔๘/๕๙๖-๕๙๙
7 ขุ.ชา.อ.นันทชาดก (ไทย) ๕๕/๓๖๑-๓๖๔
8 ขุ.ชา.อ.วรรณาโรหชาดก (ไทย) ๕๘/๗๙๔-๗๙๕
9 ขุ.เถร.สารีปุตตเถรคาถา (ไทย) ๒๖/๙๘๗-๙๘๘/๕๐๑

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล