คนดี คือ ผู้มีความรับผิดชอบ หมายความว่า เมื่อเราทำความผิด ก็ยอมรับว่าทำผิด แล้วแก้ไขให้ดีขึ้น เมื่อเราทำความชอบ ก็ยอมรับว่าทำถูกต้อง แล้วก็รักษาความถูกต้องไว้เป็นมาตรฐาน จากนั้นก็ทำผลงานให้ดียิ่งขึ้นไป ไม่ใช่ทำถูกต้องก็บอกว่าเป็นเพราะเทวดาฟ้าดินบันดาล หรือเวลา ทำผิดก็โทษว่าดวงเดือนดวงดาวไม่เข้าข้าง โยนความรับผิดชอบให้กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ๆ ไป
"พ่อแม่ที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีได้นั้น จะต้องฝึกลูกให้มีความรับผิดชอบ เพราะเมื่อลูกมีความ รับผิดชอบแล้ว พ่อแม่ก็จะได้เบาใจ" ไม่ต้องหนักใจว่าลูกจะไปเกกมะเหรกเกเร
แต่ความรับผิดชอบนั้นมีหลายเรื่องหลายระดับ ตั้งแต่ระดับตนเองจนถึงระดับประเทศชาติ บ้านเมือง คำถามก็คือ คนดีจะต้องมีความรับผิดชอบขั้นต่ำสุดอะไรบ้าง ถึงจะเรียกว่าคนดีที่มีคุณสมบัติมาตรฐานของคนดี
คนดีต้องมีความรับผิดชอบ ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ มีความรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ของตนเอง
โดยวัดได้ที่ศีลของเรา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีศีล ๔ ข้อแรก คือ ไม่ฆ่าประทุษร้ายกัน ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ถ้าใครรับผิดชอบศีล ๔ ข้อแรกนี้ได้ดี ความเป็นมนุษย์จะสมบูรณ์ ส่วนศีลข้อที่ ๕ ไม่ดื่มสุรา จัดอยู่ในไม่เสพอบายมุข ซึ่งเป็นเรื่องของศีลธรรมทางเศรษฐกิจ เพราะศีลข้อที่ ๕ เป็นการส่งเสริมให้กระทำผิดศีล ๔ ข้อแรก
ประการที่ ๒ มีความรับผิดชอบต่อทิศ ๖ ที่อยู่รอบตัวเรา
ทิศ ๖ เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม โดยมีตัวเราเป็นแกนกลางที่อยู่ร่วมกับบุคคล ๖ กลุ่ม ที่มีความสัมพันธ์รอบตัวเรา ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ บิดามารดา กลุ่มที่ ๒ ครูบาอาจารย์ กลุ่มที่ ๓ มิตรสหาย กลุ่มที่ ๔ สามี ภรรยา บุตร กลุ่มที่ ๕ ผู้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง กลุ่มที่ ๖ สมณพราหมณ์
บุคคลทั้ง ๖ กลุ่มนี้อยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความจำเป็นจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยทั้ง ๖ กลุ่มต้องรับผิดชอบเรา และเราต้องรับผิดชอบทั้ง ๖ กลุ่มด้วย
เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนหน้าที่ของแต่ละกลุ่มไว้ และสมัยก่อนมีอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องหน้าที่ของพลเมืองและศีลธรรม ซึ่งสอนให้เรารู้ว่าทิศ ๖ ต้องทำอย่างไร
กล่าวโดยสรุปคือ ทิศ ๖ ในที่นี้ ไม่ใช่ทิศทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นทิศทางศีลธรรม เป็นทิศทางมนุษยสัมพันธ์ของเรา ซึ่งข้อที่ ๒ นี้ ความรับผิดชอบของเรา คือการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
ประการที่ ๓ มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
เราเป็นมนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม จะเอาตัวรอดเพียงลำพัง หรือเฉพาะทิศ ๖ ซึ่งเป็นคน รอบข้างเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยมีความไม่ลำเอียง คือไม่ลำเอียงด้วยความรัก ด้วยความชัง ด้วยความโง่ ด้วยความกลัว ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและปลูกฝังกับลูก ตั้งแต่วัยเยาว์
ประการที่ ๔ มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ
ศีลธรรมทางเศรษฐกิจ คือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทั้งหลาย เพราะมีแต่นำความหายนะทั้งหลายมาสู่ทั้งตนเอง สังคม และประเทศชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง
บางคนอาจแย้งว่า อาชีพค้าอบายมุขทำให้มีรายได้มากกว่าอาชีพอื่น ๆ แต่ความจริงแล้ว ความเสียหายที่อบายมุขทิ้งไว้ให้นั้น ร้ายแรงกว่ารายได้ที่ได้มากนัก เพราะอบายมุขได้เปลี่ยนคนดี ๆ ให้กลายเป็นคนที่เรียกว่า "ขยะสังคม" เช่น ทันทีที่ดื่มเหล้าเข้าไป เสพยาเสพติดเข้าไป ก็พร้อมจะก่อคดีอาชญากรรม คดีโจรกรรม คดีค้าประเวณี คดียาเสพติด เป็นต้น
เงินทองที่แลกมากับความหายนะของผู้อื่นเช่นนี้ ถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อศีลธรรม ทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เพราะทำให้เกิดปัญหาสังคมที่มีอบายมุขเป็นต้นเหตุมากมายไม่รู้จบ
ดังนั้น คนดีที่มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขแล้ว ยังต้องช่วยกันป้องกันแก้ไขให้สังคมปลอดอบายมุขด้วย
เพราะฉะนั้น "การที่เราจะเป็นพ่อคนที่สมบูรณ์ได้นั้น เราก็ต้องเลี้ยงลูกให้มีคุณสมบัติของคนดี ทั้ง ๔ ประการนี้ให้สำเร็จ ลูกถึงจะเป็นคนดี "
แต่เนื่องจากคุณสมบัติของคนดีไม่ตกลงมาจากท้องฟ้า ต้องสร้างขึ้นมาในตัวของคนเรา ปู่ย่า
ตาทวดจึงให้วิธีการสอนลูกให้เป็นคนดีไว้ ๔ ประการ
ประการที่ ๑ แนะให้จำ เรื่องความรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการ
ประการที่ ๒ นำหรือทำให้ดู ลูกจะได้มีตัวอย่าง
ประการที่ ๓ อยู่ให้เห็น คือติดตามดูว่าลูกทำหรือเปล่า
ประการที่ ๔ เคี่ยวเข็ญให้ทำอย่างจริงจัง จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยมีความรับผิดชอบด้วยความเต็มใจ
ดังนั้น โดยย่อก็คือ ลูก ๆ ของเราจะเป็นคนดีได้ ก็ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
๑. มีครูดี คือ ตัวเราต้องดี มีความรับผิดชอบ ๔ ประการ และสอนลูกด้วยวิธีการ ๔ ประการดังกล่าวแล้ว
๒. มีสิ่งแวดล้อมดี คือ สังคมที่อยู่รอบข้างต้องดี ไม่ได้อยู่ในแหล่งอบายมุข
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราต้องตระหนักให้ดีว่า งานเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีเป็นงานใหญ่ ไม่ใช่ แค่การสร้างทายาทเท่านั้น แต่เป็นการสร้างอนาคตของสังคม และอนาคตของประเทศชาติในฐานะ ของความเป็นพ่อคน
เพราะฉะนั้น เมื่อเราจะแต่งงาน หรือแต่งงานไปแล้ว ก็ต้องตรวจดูว่า สิ่งแวดล้อมพร้อมหรือยัง คุณสมบัติแห่งความเป็นพ่อเพียงพอแล้วหรือยัง ถ้าพบว่ายังไม่พร้อม ก็อย่าเพิ่งมีลูก เพราะถ้ามีลูกแล้ว การเลี้ยงลูกจะประสบปัญหามาก แล้วก็จะได้ลูกที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นในโลกนี้ แล้วเราก็จะไม่สามารถเป็นคุณพ่อที่ดีของลูกได้
แต่เมื่อใดที่เราสำรวจตรวจสอบดูแล้วว่า เรามีคุณสมบัติของคนดีพร้อมแล้ว มีสิ่งแวดล้อมที่ดีพร้อมแล้ว เมื่อนั้นจึงค่อยวางแผนมีลูก เราก็จะสามารถเป็นคุณพ่อที่ดีของลูกได้ เพราะคำเต็ม ของคำว่า "คุณพ่อ" นั้น หมายถึง "พ่อที่มีพระคุณต่อลูก" นั่นเอง
ดังนั้น ก่อนจะแต่งงาน ก่อนจะมีลูก ถามใจตัวเองก่อนว่า เราพร้อมจะเป็นคุณพ่อที่ดีแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ทราบว่าจะฝึกความพร้อมเหล่านี้อย่างไร ก็มาบวชพระกับหลวงพ่อสัก ๑-๒ พรรษา ก็ได้ เอาบุญให้กับคุณพ่อคุณแม่ของเราเองให้เต็มที่ก่อน ให้สมกับที่ท่านเลี้ยงดูเรามาด้วยความ เหนื่อยยาก มีความพร้อมเมื่อไร แล้วค่อยไปเป็นคุณพ่อของลูกเราเอง |