วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระธรรมเทศนา "สรีรัฏฐธัมมสูตร-ธรรมประจำสรีระ" ตอนที่ ๒

พระธรรมเทศนา






ตอนที่ ๒

พระธรรมเทศนา "สรีรัฏฐธัมมสูตร-ธรรมประจำสรีระ"

 

๑. การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องยาก

            ๑.๑ การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นเรื่องยาก

            ความยากในการเกิดเป็นมนุษย์นั้น พระพุทธองค์ทรงอุปมาว่า ในท้องมหาสมุทร อันกว้างใหญ่ไพศาล มีเต่าตาบอดตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในทะเลลึก ทุกๆ หนึ่งร้อยปี เต่าตาบอด ตัวนี้จะโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำครั้งหนึ่ง จากนั้นก็ดำลงไปอยู่ใต้ทะเลตามเดิม ผ่านไปอีก ร้อยปีจึงโผล่ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกัน บนผิวมหาสมุทรนั้น ก็มีห่วงตาเดียวขนาด เล็ก ๆ พอแค่หัวเต่าลอดได้อยู่อันหนึ่ง ลอยเคว้งคว้างตามกระแสคลื่นกระแสลมอยู่กลางมหาสมุทร เมื่อใดก็ตามที่เต่าตาบอดตัวนั้นโผล่ขึ้นมาหายใจ แล้วสอดหัวเข้าไปในห่วง ตาเดียวเล็ก ๆ นั้นได้พอดี ซึ่งมีโอกาสที่เป็นไปได้น้อยมาก ๆ นั่นคือความยากในการเกิดเป็น มนุษย์

            เพราะฉะนั้น การที่เราเดินไปไหนมาไหน แล้วได้เห็นสุนัข เป็ด ไก่ ช้าง ม้า วัว ควาย หรือเห็นสัตว์ชนิดใดก็ตาม นั่นคืออุทาหรณ์เตือนใจว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยาก เพราะสัตว์เดรัจฉานพวกนั้น แท้จริงก็คืออดีตมนุษย์ แต่เพราะความประมาทพลาดพลั้งในอดีตไปสร้างบาปกรรมไว้ ชาตินี้จึงต้องมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอีกนาน แค่ไหนกว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์

            ๑.๒ การกำจัดความไม่รู้อย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องยาก

            แม้การเกิดมาเป็นมนุษย์จะยากเย็นเพียงใดก็ตาม แต่การบังเกิดขึ้นของพระสัมมา- สัมพุทธเจ้ายากกว่านั้นมากมายนัก เพราะบุคคลที่จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น นอกจากจะต้องเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ยังต้องสั่งสมบุญบารมีเพื่อเพิ่มพูนความรู้ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยโยนิโสมนสิการอย่างต่อเนื่องอีกนับอสงไขยภพชาติไม่ถ้วน เพื่อนำความรู้นั้นมาพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีกาย วาจา ใจ ที่สะอาดบริสุทธิ์ จนกระทั่งสามารถกำจัดอาสวกิเลส อันเป็นสาเหตุแห่งอวิชชา คือความไม่รู้ตลอดจนความหลงงมงายจนหมดสิ้น จึงได้มาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก็นาน ๆ จึงจะมาบังเกิดขึ้นในโลกสักพระองค์หนึ่ง

            สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าการที่ใครจะมีความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์พร้อมดังกล่าวสักเรื่องหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จำเป็นต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ปรับปรุงแล้วปรับปรุงอีกอยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้ที่ค้นคว้าได้มานั้น ไม่ได้มาแบบรวดเดียวจบ แต่ได้มาทีละเล็ก ทีละน้อย ได้มาอย่างกระท่อนกระแท่น เมื่อใช้ไปสักพักหนึ่ง ก็จะต้องปรับปรุงใหม่ดังที่เราท่านได้เห็นเสมอมาว่า มีทฤษฎีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ทุกปี นั่นคืออาการที่บอกให้เรารู้ว่า "มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้"Ž เพราะฉะนั้นการที่ใครสักคนจะสามารถกำจัดความไม่รู้ได้หมดสิ้นเด็ดขาด จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จึงเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้โดยยาก ยากกว่าการเกิดเป็นมนุษย์มากมายหลายเท่าจนไม่อาจประเมินได้

            ๑.๓ พึงฝึกหัดแต่สิ่งดี ๆ ให้คุ้นเคยข้ามชาติ

            มีเรื่องน่าคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาในชาตินี้ อุตส่าห์ร่ำเรียนเขียนอ่านแทบเป็นแทบตาย กว่าจะได้ความรู้มาสักเรื่องหนึ่งก็แสนยาก แต่พอถึงคราวหลับตาลาโลก บรรดา ความรู้ที่มีอยู่ทั้งหมดก็ถูกทอดทิ้งให้สูญเปล่าไปจนหมดสิ้น เมื่อไปเกิดในภพชาติใหม่ ก็ไม่ สามารถย้อนระลึกนึกถึงความรู้ที่เคยสั่งสมไว้ในอดีตชาติแม้แต่น้อยนิด ต้องมาเริ่มนับหนึ่ง กันใหม่อีกรอบ เพราะเราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ คือไม่รู้อะไรเลยจริง ๆ ดังนั้น การที่ จะสั่งสมความรู้ใหม่ เพื่อกำจัดความไม่รู้ให้หมดสิ้นไปได้สำเร็จ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยกเว้น ก็แต่ความรู้ที่เจอซ้ำแล้วซ้ำอีกมาร้อยชาติพันชาติ จนติดเป็นความคุ้นจากชาติก่อน ๆ มาบ้าง ครั้นมาชาตินี้เพียงได้ฟังคำชี้แนะจากอาจารย์ไม่กี่คำ ก็ทำให้ระลึกถึงความรู้เดิมขึ้นได้ทันที หรือพอเห็นอะไรสะกิดใจนิดเดียว ก็เข้าใจทะลุปรุโปร่ง มองเห็นเป็นช่องเป็นทางขึ้นมาทันที

            บางคนเคยสวดมนต์ข้ามภพข้ามชาติมามาก ชาตินี้พอหยิบหนังสือสวดมนต์ขึ้นมาอ่านเพียงเที่ยวเดียว ก็จำได้ทันที บางคนเล่นดนตรีในชาติก่อน ๆ มามาก ในชาตินี้เพียงได้เห็นเขาเล่นดนตรีให้ดูเที่ยวเดียวเท่านั้น แม้ตนจะหยิบจับเครื่องดนตรีขึ้นมาเป็นครั้งแรก ก็รู้สึกกะทัดรัดเหมาะมือ ครั้นลองเล่นดูก็เล่นได้ทันที ทั้ง ๆ ที่คนอื่นฝึกแทบเป็นแทบตายยังเล่นไม่ได้ หรือบางคนเคยต่อยมวยข้ามชาติมามาก พอเดินผ่านกระสอบทรายเท่านั้น ก็กระโดดเตะผาง ๆ เนื่องจากความถนัดในชาติก่อนๆ ปรากฏออกมานั่นเอง

            เรื่องนี้เป็นข้อเตือนใจว่าอย่าประมาท สิ่งใดที่เราเรียนรู้ในชาตินี้ ใช่ว่าจะสามารถนำติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้ง่าย ๆ ดังนั้น เราจึงต้องพยายามหัดแต่สิ่งที่ดี ๆ จนคุ้นเป็นนิสัยติดตัว เพราะเมื่อตายไปแล้ว แม้จะลืมความรู้ที่มีอยู่จนหมด แต่ก็พอจะเหลือความคุ้นเก่า ๆ ที่ดีงามติดตัวข้ามชาติไป

            การมาบวชของคนเราก็เช่นกัน การที่เรามาบวชได้ในชาตินี้ ก็ไม่ใช่ชาติแรกที่เราเพิ่งเคยบวช แต่ว่าได้คุ้นกับการบวชมาหลายชาติแล้ว พอได้ยินข่าวว่ามีการบวช จึงได้เข้ามาบวชทันที ถ้าไม่เคยบวชจนคุ้นมาข้ามชาติ พอใครไปชวนบวช ก็อาจจะปฏิเสธหรือพาลไล่ตะเพิดทันทีอีกเหมือนกัน






            ๑.๔ การสั่งสมความเป็นครูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องยาก

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกบวชมาหลายภพหลายชาติเช่นกัน ระหว่างที่บวชในแต่ละภพชาติ ก็ทรงค้นคว้าหาความรู้ในการปราบกิเลสมาอย่างต่อเนื่องชนิดอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่มีใครมาสอน จนกระทั่งปราบกิเลสได้หมดสิ้นด้วยพระองค์เองในพระชาติสุดท้าย แล้วจึงทรงทำหน้าที่เป็นครูสอนชาวโลกให้สิ้นทุกข์สิ้นกิเลสตาม มาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นอีกมาก

            การเป็นครูนั้น นอกจากตนเองจะต้องทำได้ก่อนแล้ว ยังต้องสามารถสอนให้ผู้อื่นทำตามได้ด้วย การอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องโลกและชีวิตตามความเป็นจริง แล้วเกิดกำลังใจสู้กับกิเลสตามพระองค์ไป โดยไม่เลิกล้มความตั้งใจนั้น จึงไม่ใช่ของง่าย

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงช่วงเวลาในการสั่งสมความเป็นครูของพระองค์ว่า ต้อง ใช้เวลายาวนานถึง ๔ อสงไขยแสนมหากัป (เวลา ๑ กัป คือ ระยะที่โลกอยู่ในสภาพหมอกเพลิง จนกระทั่งเย็นตัวลงอยู่ในอุณหภูมิปกติ ครั้นแล้วก็กลับเป็นหมอกเพลิงอีกครั้งหนึ่ง) นั่นก็คือใช้เวลายาวนานมาก ถึงขนาดโลกเกิดการแตกดับหลายครั้งหลายหน จนเป็นเวลา ๔ อสงไขยครั้งกับแสนมหากัป จึงได้สำเร็จวิชาครูมาสอนชาวโลก พระพุทธองค์ทรงใช้เวลานานขนาดนี้เพื่อเตรียมการเทศน์สอน การที่เรามาเกิดทันคำสอนของพระพุทธองค์ในยุคนี้ นับว่าเป็นโชคดีหลายชั้นทีเดียว

            ช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มต้นสั่งสมความเป็นครูนั้น ต้องย้อนกลับไปอีก ๔ อสงไขยแสนมหากัปที่แล้ว ซึ่งตรงกับสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ในชาตินั้น พระพุทธองค์ก็ทรงเป็นนักบวชมีชื่อว่า "สุเมธดาบส"Ž ในวันที่ท่านได้พบกับพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าทีปังกรนั้น บุญบารมีของท่านมากพอที่จะเป็นพระอรหันต์แล้ว ถ้าท่านตัดสินใจจะเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น เพียงอาราธนาให้พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทับยืนอยู่ตรงหน้า ทรงเทศน์ให้ฟัง ก็สามารถหมดกิเลสได้ทันที

            แต่ท่านคิดว่า การตรัสรู้เพียงลำพังตัวคนเดียว ชีวิตของชาวโลกในวันข้างหน้าจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร ต่างก็คงไม่แคล้วต้องจมอยู่ใต้กองทุกข์อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น จึงไม่เป็นการสมควรเลยที่เราจะหมดกิเลสไปเพียงลำพังคนเดียว เราควรจะพาคนอื่นข้ามกองทุกข์ไปด้วย ท่านจึงตัดสินใจสั่งสมวิชาครูต่อไปอีก ๔ อสงไขยแสนมหากัป เพื่อรื้อขนชาวโลกที่ยังตกค้างจากสมัยพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ หน้านี้ ไปกับพระองค์ด้วย

            เพราะฉะนั้น ในช่วงตลอด ๔ อสงไขยแสนมหากัปที่ผ่านมา พระพุทธองค์จึงได้ทรงเตรียมเทศน์เตรียมสอนมาอย่างต่อเนื่อง สั่งสมความเป็นครูมาข้ามภพข้ามชาติ ก่อนที่ พระองค์จะทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวโลกเสียอีก จนกระทั่งเมื่อมาถึงชาติ สุดท้าย ความเป็นครูของพระองค์ก็สมบูรณ์แบบ วาจาของพระองค์จึงเป็นวาจาสุภาษิต ทุกถ้อยคำมีฤทธิ์มีเดชสู้กับอำนาจกิเลสได้อย่างทันควัน อีกทั้งยังเหมาะสมกับระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ทำให้เมื่อตรัสเทศนาจบก็จะมีผู้ฟังบรรลุธรรมตามทันทีทุกครั้งไป

            ดังนั้น การที่เราได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แม้ไม่ทันพบพระพุทธองค์ แต่ก็ยังได้พบคำสอนที่ได้มายากแสนยาก นานแสนนานนับอสงไขยภพอสงไขยชาติไม่ถ้วน จึงนับ เป็นโชคหลายชั้นของชีวิตเรา และเป็นความโชคดีอย่างมหาศาลที่ได้เกิดมาในยุคนี้ และได้มาบวชอยู่ในพระศาสนาของพระพุทธองค์

            ๑.๕ อย่าดูเบาว่าธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องเล็กน้อย

            เมื่อเราได้รู้แล้วว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเตรียมเทศน์สอนมายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วนอย่างนี้ เราจึงต้องไม่ดูเบาว่าธรรมะของพระองค์ท่านเป็นเรื่องเล็กน้อย แม้เป็นเพียง พระธรรมเทศนาบทสั้น ๆ เพราะทุกคำสอนของพระองค์นั้น มีคุณลักษณะสำคัญที่เราต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ ไม่มีขาด ไม่มีเกิน ไม่มีข้าม ทุกถ้อยคำเรียงลำดับไปตามขั้นตอน ประกอบด้วยความจริง เปี่ยมด้วยประโยชน์ ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในบทสวดมนต์ที่ พวกเราสวดทำวัตรว่า "อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปะริโยสานะกัลยาณัง"Ž ซึ่งแปลว่า "งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย"Ž อันหมายถึง มีความลุ่มลึกไปตามลำดับ เพราะเป็นวาจาบริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาอยู่ในทุก ๆ ถ้อยคำ และกล่าวออกจากพระทัยที่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วนั่นเอง

            เมื่อได้ทราบคุณลักษณะนี้แล้ว สิ่งที่เราต้องระมัดระวังก็คือ ในการศึกษาธรรมะ บางครั้งอาจจะเข้าใจบ้างหรือไม่เข้าใจบ้างก็ตาม มีข้อห้ามว่า "ห้ามเรียงลำดับสลับข้อเด็ดขาด"Ž ถ้าสลับข้อของพระพุทธองค์เมื่อไรจะเกิดความผิดพลาดขึ้นทันที เพราะทำให้ความลุ่มลึกตามลำดับเสียไป การไล่ลำดับเหตุผลจากตื้นไปหาลึก จากง่ายไปหายาก จะเกิดอาการ ต่อไม่ติดผิดที่ผิดทางทันที ความรู้ที่ได้รับก็จะผิดเพี้ยนตามมาเป็นขบวน นี่คือสิ่งที่เราจะดูเบาไม่ได้

            ดังนั้น เมื่อเราศึกษาธรรมะเรื่องใดของพระพุทธองค์ก็ตาม อย่าศึกษาแบบปล่อยผ่าน อย่านึกว่าง่าย อย่าหมายว่ายาก แต่ต้องทำการศึกษาด้วยความเคารพและด้วยความไม่ประมาท เราจึงจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม ตามเส้นทางการฝึกอบรมตนของพระพุทธองค์ ดังเช่นหัวข้อธรรมใน "สรีรัฏฐธัมมสูตร"Ž ที่นำมาให้ศึกษาในวันนี้

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล