วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ความเข้าใจถูกในการสร้างบารมี (ตอนที่ ๒)


เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

             เมื่อครั้งที่แล้วได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “บารมี” มีความหมายอยู่ ๒ ประการด้วยกัน คือ

           ๑. บารมี หมายถึง บุญที่มีคุณภาพพิเศษ ซึ่งเกิดจากการทำความดีอย่างถูกหลักวิชชา ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน และทำอย่างต่อเนื่อง

           ๒ . บารมี หมายถึง นิสัยเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบุญ สร้างกุศลเพื่อ กำจัดความชั่วให้หมดไปจากใจ มีแต่ความบริสุทธิ์สะอาด ของความดีมั่นคงอยู่ในใจ อย่างถาวรตลอดกาล

กิเลสคืออะไร

           มนุษย์ทุกคนย่อมมีทั้งนิสัยดีและไม่ดีอยู่ในตัว แล้วยังพบอีกว่า นิสัยที่ไม่ดีเหล่านั้น มักจะเกิดจากการทุ่มเทชีวิตทำในสิ่งร้ายๆ ส่วนนิสัยที่ดี กลับไม่ได้เกิดจากการทุ่มเทชีวิตในการสร้างบุญกุศล เพราะฉะนั้นตลอดเวลาชีวิตที่ผ่านมา พวกเราจึงแพ้ใจตัวเอง ไปทำในสิ่งที่ไม่ดีกันเป็นประจำ

           สาเหตุที่คนเราชอบทำความชั่ว จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี ก็เพราะว่ามีสิ่งหนึ่งเข้ามาฝังอยู่ในใจตั้งแต่เกิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกสิ่งนั้นว่า กิเลส ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ตระกูลใหญ่ๆ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ

           เจ้ากิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้พอกำเริบขึ้นมาเมื่อใด มันจะทั้งกัดกร่อน บีบคั้นบังคับ กดดัน กดขี่สารพัด เพื่อทำให้ใจของมนุษย์เสื่อมคุณภาพ ส่งผลให้มนุษย์ชอบคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่วเป็นปกติ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดี ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้กำจัดกิเลสเหล่านี้ออกไปจากใจ ด้วยการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งก็คือ การสร้างบารมี นั่นเอง

           บารมี ๑๐ ทัศ

           ถ้าใครเคยศึกษาพุทธประวัติคงจำกันได้ เมื่อท่านสุเมธดาบสได้รับพยากรณ์ ว่าอีก ๔ อสงไขยกับแสนมหากัปข้างหน้า จะได้ไปเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็สำรวจตรวจสอบตัวเอง ปรากฏว่าสิ่งที่ท่านจะต้องทุ่มเทชีวิตทำนั้น มีอยู่ ๑๐ ประการคือ

           ๑. ทานบารมี

           เราต้องสร้างทานบารมีอย่างเต็มที่ ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เข้าทำนองที่ว่า ยอมตายไม่ยอมหวง เพื่อกำจัดกิเลสตระกูลโลภะให้หมดไปจากใจ ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นหลักประกันว่า จะเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติก็ตาม นอกจากไม่ยากจน ไม่โลภอยากได้ของใครแล้ว ยังสามารถช่วยอุปการะคนอื่น และเป็นต้นแบบแห่งการทำทาน ให้กับชาวโลกในยุคต่อๆ ไปได้อีก

           ๒. ศีลบารมี

           เราต้องสร้างศีลบารมีเพื่อกำจัดกิเลสตระกูลโทสะ เพราะเมื่อโทสะเกิดขึ้นกับใคร ก็จะทำให้คนๆ นั้น คิดแต่จะทำลาย คิดแต่จะทำความเดือดร้อน ให้กับผู้อื่นอยู่ร่ำไป เพราะฉะนั้นอย่างน้อยต้องรักษาศีล ๕ ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนกระทั่งเกิดเป็นนิสัยยอมตายไม่ยอมทำความชั่ว แม้มีใครเอามีดมาจ่อคอ เอาปืนมาจ่อหัว บังคับให้ทำความชั่ว ก็ไม่ยอมทำเด็ดขาด

           ใครทำได้อย่างนี้ ย่อมเป็นหลักประกันว่า เมื่อมีชีวิตอยู่จะเป็นผู้ที่ไม่มีเวร ไม่มีภัยกับใคร แม้ตายไปก็ไม่ตกนรก ต้องได้ไปสวรรค์แน่นอน หรือถ้าไม่ได้ไปสวรรค์ ก็ยังได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้สร้างบารมีต่อไปอีก และจากศีลที่รักษาไว้ดีแล้ว จะทำให้เป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน แถมเป็นผู้ที่มีอายุยืนอีกด้วย

           ๓. เนกขัมมบารมี

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรียกโลกนี้ว่า กามภพ แปลว่า ภพที่ยังเกี่ยวข้องอยู่กับกาม คือยังยินดีอยู่กับรูปสวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ และสัมผัสที่นุ่มนวล พูดง่ายๆ ยัง “ ติดเหยื่อ ” ที่พญามารเอามาล่ออยู่

           ใครไปติดเหยื่อล่อของพญามารเข้า ก็เหมือนอย่างกับ “ ติดคุก ” นั่นแหละ แต่ว่าเป็นคุก หรือเป็นเครื่องพันธนาการที่หลวมๆ เช่น พอแต่งงานก็เหมือนอย่างกับถูกมัดมือ มีลูกก็เหมือนอย่างกับถูกมัดคอ มีทรัพย์สมบัติก็เหมือนอย่างกับถูกมัดเท้า จะไปไหนก็ไม่ได้ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ต้องบำเพ็ญเนกขัมมบารมี ด้วยการรักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ เพื่อพรากออกจากรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส จะได้หลุดออกมาจากกามภพ คือยอมตายไม่ยอมตกเป็นทาสกามอีกต่อไป

           ๔.ปัญญาบารมี

           ในการแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม ย่อมต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น ถ้าใครอยากฉลาดก็ต้องหาปัญญามาใส่ตัว แต่ว่าปัญญาของมนุษย์มีอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน คือ

           ระดับที่ ๑ปัญญาที่เกิดจากการจำ เรียกว่า สุตมยปัญญา

           ระดับที่ ๒ปัญญาที่เกิดจากการคิดเรียกว่า จินตมยปัญญา

           ระดับที่ ๓ ปัญญาที่เกิดจากการทำภาวนาเรียกว่า ภาวนามยปัญญา

           ปัญญาของมนุษย์ทั่วไปเป็นปัญญาในระดับที่ ๑ กับระดับที่ ๒ ยกเว้นผู้ที่ฝึกสมาธิมาดี จึงจะได้ปัญญาในระดับที่ ๓ เพราะว่าภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิ จนกระทั่งรู้จักเหตุ รู้จักผลที่แท้จริง และจัดว่าเป็นยอดของปัญญา

           โดยขั้นต้นต้องตระเวนหาครูบาอาจารย์ ที่สามารถสอนการทำสมาธิภาวนาให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เมื่อพบแล้วก็ให้ท่านช่วยเคี่ยวเข็ญในเรื่องการทำภาวนาให้ แต่การที่จะฝึกฝนตนเองให้ได้อย่างอาจารย์นั้น ยิ่งยากขึ้นไปอีก ต้องทุ่มเทชีวิตทำสมาธิภาวนา ชนิดยอมตายไม่ยอมโง่ จึงจะมีสิทธิได้ปัญญาบารมี

           ๕. วิริยบารมี

           วิริยะ มาจากคำว่า “วีระ” แปลว่า กล้า คือ กล้าที่จะตัดใจจากสิ่งไม่ดี และกล้าที่จะแข็งใจทำสิ่งดีๆ ให้ยิ่งขึ้นไป ใจของมนุษย์คุ้นกับกิเลสเหมือนกับปลาคุ้นน้ำ พอจะต้องพรากจากนิสัยไม่ดี นอกจากใจจะดิ้นรน เพื่อย้อนกลับไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ตามความคุ้นเคยแล้ว ใจยังต่อต้านสิ่งที่ดีๆ อีกด้วย

           เพราะฉะนั้น ต้องกล้าทำชนิดที่ยอมตายไม่ยอมถอย จากการแข็งใจสร้างความดีอย่างเด็ดขาด

           ๖.ขันติบารมี

           ขันติ คือ ความอดทน ซึ่งคนส่วนมากมักจะมุ่งไปในเรื่องการทนแดด ทนลม ทนฝน ทนความเจ็บป่วย แต่ว่ายังมีความอดทนที่ยากยิ่งกว่านั้นอีก ยกตัวอย่าง เวลาที่คิดทำความดีอะไรก็ตาม จะมีคนอยู่ ๓ ประเภท คือ พวกที่เห็นดีด้วย พวกที่เฉยๆ และพวกที่ต่อต้าน

           พวกเห็นดีด้วยก็สรรเสริญ พวกไม่เห็นด้วยก็นินทา เพราะฉะนั้นต้องอดทนต่อคำสรรเสริญและคำนินทาให้ได้ ไม่อย่างนั้นแพ้แน่นอน คือไม่ว่าจะโดนชม โดนด่าอย่างไร ยอมตายไม่ยอมแพ้ นั่นเอง

           ๗. สัจจบารมี

           สัจจะ แปลว่า ความจริงใจ ความจริงจัง ความตรง คือ ไม่เหยาะแหยะ ไม่คด การทุ่มเทปฏิบัติธรรมแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ก็เพื่อให้เข้าถึงธรรมะ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ อยู่ภายในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบของตนเอง

           เนื่องจากเป็นธรรมชาติที่แสนจะบริสุทธิ์ เมื่อใครสามารถเข้าถึง กิเลสที่อยู่ในใจจะถูกกำจัดออกไปจนหมด แล้วปัญญาก็จะเกิดขึ้นมา

           เพราะฉะนั้น ต้องปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำเล่น ๆ จริงแค่ไหน จริงแค่ชีวิต คือ ยอมตายไม่ยอมคด ไม่ยอมทรยศทิ้งธรรมะที่อยู่ในตัว หากยังเข้าไม่ถึงธรรมดวงนี้ จะตายก็ให้ตายไปเถอะ

           ๘ . อธิษฐานบารมี

           อธิษฐานบารมี เป็นเรื่องของการวางแผนที่จะกำจัดกิเลส ให้หมดสิ้นไปจากใจ อย่างรัดกุม รอบคอบ และกว้างไกล อุปมาเหมือนการสร้างบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด จึงต้องเขียนแบบบ้านเป็น พิมพ์เขียวขึ้นมาก่อน

           เช่นเดียวกัน เมื่อรู้รายละเอียดเกี่ยวกับกรรมดี และกรรมชั่วแล้ว ต้องอธิษฐานเป็นผังสำเร็จเอาไว้ เวลาทำบุญอะไรจะได้อธิษฐานตามผังที่ตั้งไว้นั้น โดยเอาบุญที่ทำเป็นงบประมาณ เอาคำอธิษฐานเป็นแบบพิมพ์เขียว ทำอย่างนี้จะไม่มีอะไรผิดพลาด

           ส่วนรายละเอียดในการอธิษฐานควรมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอธิษฐานเป็นประจำ เพราะฉะนั้น การอธิษฐานจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยอมตายไม่ยอมเปลี่ยนใจ นั่นเอง

           ๙. เมตตาบารมี

           เมื่อตรองให้ดีแล้วจะพบว่า การที่มีโอกาสปฏิบัติธรรมมาจนกระทั่งถึงวันนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะความสามารถของใครเพียงคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ว่าตั้งแต่เกิดมา มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จากคนรอบข้างมาตลอดเวลา ยิ่งกว่านั้น พอฝึกสมาธิมากเข้า แล้วระลึกชาติไปดูจะพบว่า มนุษย์ทั้งโลกนี้ที่ไม่เคยเป็นญาติกันนั้นไม่มี

           เพราะฉะนั้น ต้องฝึกให้มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ทั่วหน้า มีทางโปรดใครได้โปรดกันไป ต้องหอบหิ้วกันไปให้หมด ชนิดยอมตายไม่ยอมไร้น้ำใจ

           ๑๐. อุเบกขาบารมี

           อุเบกขาเป็นเรื่องของความยุติธรรมและมีสติ ไม่ใช่มีอุเบกขาแบบตอไม้ ที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะว่าไม่มีชีวิต หรือว่ามีชีวิตอย่างควายที่อยู่ในทุ่งนา แต่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะว่าไม่มีสติ การทำให้ใจให้มั่นคงอยู่ในธรรมะภายใน โดยไม่หวั่น ไม่ไหว ไม่กระฉอกเลยนั้น เว้นจากการทำภาวนาแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว อย่างอื่นย่อมทำไม่ได้ ยกตัวอย่าง คนที่มีพระคุณกับเรามากๆ เช่น คุณพ่อ คุณแม่ เป็นต้น เวลาไปชวนให้มาวัด ท่านก็ไม่ยอมมา จะไปว่าท่านก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะตกนรกกันเสียอีก

           อย่างไรก็ตาม อย่าให้เสียอารมณ์ อย่าให้มีความโกรธ อย่าให้มีความคิดที่ไม่ดีต่อท่าน แต่ทำสมาธิให้มากๆ จนกระทั่งท่านเห็นความดีแล้วยอมมาวัดกับเรา ก็จะเป็นอุเบกขาบารมีของเรา คือ ยอมตายไม่ยอมหวั่นไหว

           บารมีทั้ง ๑๐ ทัศที่สร้างมาตามลำดับ จากวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า จนกระทั่งใจคุ้นอยู่กับความดี ในที่สุดความดีเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นพื้นฐานของมรรคมีองค์ ๘ และเป็นพื้นฐานแห่งการตรัสรู้ธรรมของเราต่อไปในภายภาคหน้า


บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 40 กุมภาพันธ์ ปี 2549

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล