วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ขันติ...พื้นฐานแห่งความสำเร็จ

พระธรรมเทศนา

 

 

          ธรรมะหัวข้อสำคัญที่เราต้องใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกระดับ ไม่ว่าจะอยู่ในระดับ ผู้บริหารสูงสุดของประเทศชาติ ไล่เรื่อยลงมาจนกระทั่งถึงชาวบ้านธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย หรือแม้จะบวชเป็นพระภิกษุ ก็ต้องใช้ธรรมะหัวข้อนี้เช่นกัน นั่นก็คือ ขันติ หรือ ความอดทน ซึ่งเป็นธรรมะพื้นฐานแห่งความสำเร็จของมนุษย์เรา 

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เว้นจากปัญญาแล้ว ขันติหรือความอดทน ถือว่าเป็นธรรมะที่เลิศที่สุด ถ้าจะขยายความ ในเชิงปฏิบัติก็ต้องบอกว่า ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อแม่อบรมเรามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก รวมถึงความรู้ที่ครูอาจารย์ท่านได้ สั่งสอนเรามา จนกระทั่งจบการศึกษามากน้อยเท่าไรก็ตาม จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความอดทนเท่านั้น แต่ถ้าหากขาดความอดทนเสียแล้วอย่าหวังเลยว่าจะนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้

           นอกจากนี้ความสามารถต่างๆ ที่เราตั้งใจฝึกฝนอย่างหนักมาตลอดชีวิต ก็จะไม่สามารถนำมาใช้งาน ให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน
           พวกเราส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ความอดทนคือ การที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ซึ่งความหมายก็ถูกต้อง แต่ยังถูกไม่หมด เพราะคำว่า อด และคำว่า ทน มีความหมายต่างกัน

         อด คือ อยากได้ แต่ไม่ได้ เช่น เราตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ โดยหวังว่าสิ้นปีจะได้เลื่อนขั้นหรือเลื่อนตำแหน่ง แต่เมื่อถึงสิ้นปี ประเมินผลงานแล้วไม่ได้ตามเป้า เราจึงไม่ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนขั้น อย่างนี้ก็ต้องอดไป

          ทน คือ ไม่อยากได้ แต่ก็ได้ เช่น เราอยากทำงานในที่ที่บรรยากาศเย็นสบาย แต่ที่ทำงานเราอากาศร้อนอบอ้าว อย่างนี้ก็ต้องทน
          หากเราได้ศึกษาประวัติของบุคคลสำคัญระดับโลก หรือระดับประเทศก็ตาม ท่านเหล่านี้มีคุณสมบัติสำคัญ ที่เหมือนกันประการหนึ่ง นั่นคือ แต่ละท่านนั้นมีทั้งความอดและความทนอย่างยอดเยี่ยม จึงสามารถฝ่าฟันอุปสรรค ขวากหนามชีวิตต่างๆ นานา จนกระทั่งประสบความสำเร็จในชีวิตได้

          ดังนั้น เพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ สมดังเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งทางโลกและทางธรรม จึงมีความจำเป็นที่พวกเราจะต้อง เจาะลึกลงไปให้รู้ชัดเจนว่า สิ่งที่ต้องอด กับต้องทนนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วจะได้ระมัดระวังและหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้การดำเนินชีวิตของเราผิดพลาด เกิดเป็นตำหนิในชีวิต

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องความอดทนไว้ ๔ ประการ คือ
        ประการที่ ๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คือ อดทนต่อสภาพ ดินฟ้าอากาศ สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น อากาศร้อนอบอ้าว ฝนตกหนัก หรืออากาศหนาวเย็นจนเกินไป เป็นต้น
           ประการที่ ๒ อดทนต่อทุกขเวทนา คือ อดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ
          ประการที่ ๓ อดทนต่อการกระทบกระทั่ง ในขั้นนี้เริ่มทำได้ยากขึ้น จากประสบการณ์ของหลวงพ่อพบว่า มีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกที่อดทน ต่อความลำบากตรากตรำ กับพวกที่อดทน ต่อทุกขเวทนานั้น ถ้าส่งให้ไปลาดตระเวน ทำงานหนัก กรำแดดกรำฝนเท่าไรก็สบายมาก สู้ได้ แต่คนพวกนี้มักจะไม่ค่อยอดทนต่อการกระทบกระทั่ง ถูกคนนั้นว่าอย่างนั้น คนนี้ว่าอย่างนี้เข้า เลยไม่ยอมทำงานตามที่ตั้งใจเอาไว้ บางคนทิ้งงานไปเสียกลางคันเลยก็มี

        บางคนแม้จะทำงานฝีมือดีมาก แต่พอถูกกระทบกระทั่งก็ขอย้ายหน่วยงาน หรือไม่ก็โยนงาน ทิ้งภาระให้ผู้อื่น ตรงนี้เองแทนที่ชีวิตเขาจะเจริญก้าวหน้าต่อไป กลับกลายเป็นทำให้เกิดความผิดพลาดในชีวิต ขึ้นมา

           ประการที่ ๔ อดทนต่อความยั่วเย้า เย้ายวน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุดของความอดทน ดูเผินๆ ก็ไม่น่าจะต้องอดทนอะไร เพราะเป็นสิ่งที่น่าครอบครองมาเป็นเจ้าของทั้งนั้น แต่หากได้มาแล้ว เราอาจจะได้รับความเดือดร้อนตามมา

           สิ่งที่จะมายั่วเย้า เย้ายวนเรานั้น มี ๔ ส. ด้วยกัน คือ
           ส. ที่ ๑ สตรี ชีวิตหนุ่มๆ ตรงจุดนี้ข้ามผ่านได้ยาก ตัวโตๆ แข็งแรง กล้ามเป็นมัดๆ แต่พอมาโดนจ๊ะๆ จ๋าๆ ไม่กี่ที ก็อ่อนเป็นขี้ผึ้ง ยิ่งถ้าเป็นคนที่ชอบเที่ยวเตร่เฮฮาด้วยแล้ว โอกาสที่จะติดโรค เสียสุขภาพ เสียเงินเสียทอง เสียชื่อเสียงก็มีมาก

          บางคนแม้อายุมากแล้ว และมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต มีคนนับหน้าถือตามาก ก็ต้องมาเสียคนเพราะ ไม่อดทนในเรื่องสตรีนี้เอง มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มาก
          แต่ถ้าสำหรับผู้หญิง ส.ที่ต้องระวังคือ สุภาพบุรุษที่ไม่ค่อยสุภาพนัก ก็ต้องระวังในการเลือกคบคนให้ดี
         ส. ที่ ๒ สตางค์ เรื่องสตางค์นี้ หากเราไม่เป็นคนหละหลวมในเรื่องการทำบัญชี ก็พอจะรอดตัว แต่ใครก็ตามที่ต้องจับงาน ที่เกี่ยวกับการเงิน โอกาสที่จะมีมลทินนั้นมีมากยิ่งกว่าใคร ให้หาทางป้องกันเพื่อไม่ให้มีเรื่องมาถึงตัว เช่น ทำบัญชี ทุกบาททุกสตางค์ให้ดี ไม่อย่างนั้นจะมีโอกาสเสียหายได้ง่าย เพราะถ้าเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว หากมีปัญหาเกิดขึ้น แม้เราจะบริสุทธิ์จริงๆ ก็ไม่วายมีคนระแวงสงสัย

          อีกประการหนึ่งที่ปู่ย่าตาทวดของเราให้ข้อสังเกตไว้ นั่นคือ ใครก็ตามที่เล่นการพนัน มลทินเรื่องการเงินจะเกิดขึ้นทันที เพราะขึ้นชื่อว่าการพนันแล้ว เมื่อมีได้ก็ย่อมมีเสีย เมื่อเสียแล้วก็ต้องหาทางชดเชยเงินที่สูญเสียไป ส่วนวิธีการชดเชยนั้น ก็ไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการลักขโมย การคอรัปชั่น การหมุนเงินในทางผิดๆ

          ส. ที่ ๓ สุรา เรียกว่า เป็นน้ำเปลี่ยนนิสัยคน ดื่มเข้าไปแล้วเป็นตัวผลาญทั้งศักดิ์ศรี ผลาญทั้งทรัพย์สมบัติ ผลาญสุขภาพ และผลาญคุณงามความดีของคนๆ นั้นเลยทีเดียว

          ส. ที่ ๔ สรรเสริญเยินยอ เป็นด่านสุดท้ายที่เราต้องอดใจให้ได้ สตรี สตางค์ สุราที่ว่าร้ายแล้ว ยังร้ายไม่เท่าลิ้นคน คำสรรเสริญเยินยอนี้ได้ฆ่าคนมานักต่อนักแล้ว ถ้าหากเราไปหลงเชื่อโดยไม่พิจารณาให้ดี

          นอกจากความอดทน ๔ ระดับแล้ว ยังมีสิ่งที่เราต้องรู้เพิ่มเติมอีกคือ ที่หลวงพ่อบอกว่าต้องระวังให้มากนั้น ระวังตรงจุดไหนและระวังอย่างไร
          เรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้เราระวังไว้ ๖ ประการด้วยกัน ได้แก่

          ๑.ไม่ว่าร้าย คือ ให้ระวังปาก เพราะเราทุกคนยังไม่มีใครหมดกิเลส มีโอกาสที่เราจะล่วงเกินเขา หรือเขาจะล่วงเกินเราได้ เพราะฉะนั้น ถ้าโดนล่วงเกินหรือถูกกระทบกระทั่ง ให้ระวังปากให้ได้เป็นอันดับแรก มิฉะนั้น จากเรื่องเล็กน้อยก็อาจลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้

          ๒.ไม่ทำร้าย คือ ให้ระวังมือระวังเท้า ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา

          ๓.ระวังศีลและมารยาทให้ดี ศีล แปลว่า ปกติ ขอให้เรามองศีล ๕ เป็นมิเตอร์วัดความเป็นคนของเรา ถ้าวันไหนรักษาศีลครบ ๕ ข้อ เราก็ยังรักษาความเป็นคนไว้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าวันไหนรักษาศีลไม่ครบ ความเป็นคนก็ลดลงไปเรื่อยๆ

           นอกจากระวังศีลแล้วยังต้องระวังมารยาทอีกด้วย มารยาทขั้นพื้นฐานคือ การระมัดระวังความน่ารังเกียจ หรือความไม่งาม ในตัวเราไม่ให้ไปรบกวนคนอื่น เพราะไม่ว่าจะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซที่ออกมาจากตัวเรา ทุกอย่างล้วนไม่งามทั้งสิ้น ยกเว้นแต่คุณธรรม

           และเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ขอให้ฝึกให้ดี ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีทางเข้าใจคำว่า ควร - ไม่ควร
           คนส่วนมากแยก ผิด - ถูก ชั่ว - ดีได้ แต่ความควร - ไม่ควรนั้นแยกออกได้ยาก ผู้ที่เข้าใจเรื่องมารยาทและขนบธรรมเนียม
ประเพณีอย่างดีเท่านั้น จึงจะสามารถแยกได้ว่า สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ

        ๔.รู้ประมาณในการกิน พระพุทธองค์ ทรงสอนไว้ว่า คนที่จะมีความอดทนได้ดีนั้นจะต้องรู้ประมาณในการกิน ใครไม่รู้จักประมาณในการกิน พระองค์ทรงตำหนิเอาไว้ว่า คนประเภทนี้จะเอาดีไม่ได้เลย เพราะปัญหาเรื่องหนี้สินนั้น พอสาวไปถึงต้นเหตุของปัญหาก็จะพบว่า ส่วนมากเกิดจากการที่ไม่รู้จักประมาณในการกิน ประเภทกินล้างกินผลาญบ้าง กินแต่ของไม่ควรกิน หรือกินเพื่อความหรูหราแสดงออกถึงความมีฐานะบ้าง เลยส่งผลให้เป็นหนี้ ตรงนี้ก็ต้องไปตรวจสอบ ตัวเราเองให้ดี ระวังจะไปไม่รอด

           ๕.นั่งนอนในที่สงบ ถ้าเราไม่ระมัดระวังตั้งแต่การจัดบ้านพักที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการจัดสถานที่ทำงาน เราก็จะอยู่ในภาวะเป็นหนี้ไปตลอดอีกเช่นกัน
           ขณะนี้ไปดูตามชนบท แม้บ้านเล็กๆ ก็พยายามที่จะมีชุดรับแขกเอาไว้เพื่อความมีหน้ามีตา ห้องเล็กๆ ถ้าเอาเสื่อมาปูก็นั่งได้สบายๆ ๑๐ คน แต่พอเอาชุดรับแขกเข้าไปวางเท่านั้นแหละ นั่งได้แค่ ๕-๖ คนก็เต็มห้องแล้ว

           ปู่ย่าตาทวดของเราท่านไม่ได้ใช้เงินไปกับเรื่องนี้มาก ท่านก็ใช้เสื่อผืนเดียวปู แล้วก็นั่งล้อมวงกันสบายๆ ปัจจุบันนี้ทั้งๆ ที่ทำงานก็ไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็พยายามที่จะเอาเฟอร์นิเจอร์เข้าไปตกแต่งมากๆ ผลก็คือ นอกจากห้องจะคับแคบลง แล้วหนี้สินก็เกิดขึ้น

           ความฟุ่มเฟือยต่างๆ เกี่ยวกับที่นั่งที่นอนของพวกเรานี้ ไประวังกันไว้ให้ดี ไม่อย่างนั้นชาตินี้ก็จะมีแต่หนี้ คนเราลองได้มีหนี้แล้ว แม้เวลานอนก็จะหลับไม่เป็นสุข เพราะดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทั้งวันทั้งคืน

          ๖.ฝึกสมาธิ ปกติเมื่อเราลืมตาก็มองเห็นคนทั้งโลก แต่มีคนอยู่คนหนึ่งที่เรามองไม่เห็นนั่นคือตัวเราเอง เมื่อเห็นคน ทั้งโลกแต่ไม่เห็นตัวเอง เราเลยมักชอบวิจารณ์ ผู้อื่น วิจารณ์ไปวิจารณ์มาไม่เห็นมีใครดี นอกจากตัวเราเอง

          แต่เมื่อเราฝึกสมาธิ ใจจะนิ่ง สงบ เป็นกลางๆ ทำให้เรามองเห็นข้อบกพร่องของตัวเองได้ชัด ผิดก็จะรู้ว่าผิด ถูกก็จะรู้ว่าถูก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปรับปรุงตนเอง หากเรานั่งสมาธิเป็นประจำ ก็จะสามารถแก้ไขตนเองได้ทุกคืนทุกวัน ความเจริญก้าวหน้าก็จะเกิดขึ้นในชีวิตเป็นเงาตามตัว

          เมื่อเราระมัดระวังตนเองอย่างดีและปฏิบัติได้ครบทุกประการแล้ว จะทำให้เรามองโลกในแง่ดี และมีกำลังใจที่จะ ยืนหยัดในโลกนี้ได้อย่างดีเยี่ยม และถ้าเราฝึกความอดทนทั้ง ๔ ประการนี้จนเป็นนิสัยแล้ว วิชาการต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ท่านถ่ายทอดให้กับเรา ความรู้ความสามารถที่เราอดตาหลับขับหลับตานอนฝึกหัดขัดเกลาอย่างดี มาตลอด ก็จะสามารถเอามาใช้ได้ผล สมความตั้งใจ ความสุขและความเจริญก้าวหน้าก็จะเกิดขึ้นกับเรา รวมไปถึงบุคคลที่แวดล้อมรอบข้างด้วย

          ยิ่งไปกว่านั้นคือ คุณธรรมอื่นๆ ก็จะบังเกิดขึ้นในตัวเราเองโดยอัตโนมัติ เช่น ความซื่อสัตย์ ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความรักดี ความเกลียดชั่ว เป็นต้น

          ถึงแม้เราจะยังไม่เคยบวชเรียน ยังไม่เคยศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง แต่เมื่อเราได้ประพฤติปฏิบัติตัวตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ความเข้าใจธรรมะของเราจะ ลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับๆ แล้วความเจริญก้าวหน้าของชีวิตในทุกๆ ด้านก็จะเกิดขึ้นทับทวีทุกวันทุกคืน...

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล