บทความพิเศษ
เรื่อง:กองบรรณาธิการ
มูลนิธิธรรมกาย เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้มีบทบาท ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย จากพายุไซโคลนนาร์กีสอย่างทันท่วงที เริ่มตั้งแต่สัปดาห์แรกของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิ จัดเตรียมถุงยังชีพพร้อมสิ่งของที่จำเป็น นำไปให้ความช่วยเหลือแก ่ผู้ประสบภัยถึงสหภาพเมียนมาร์ จนถึงขณะนี้รวมทั้งสิ้น ๕ ครั้งด้วยกัน ดังต่อไปนี้
|
ครั้งที่ ๑
วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้มอบหมายให้ พล.อ.อ.วีระวุธ ลวะเปารยะ ประธานไวยาวัจกร วัดพระธรรมกาย นำถุงยังชีพที่บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคชุดแรกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวพม่า โดยลำเลียงผ่านเครื่องบินซี. ๑๓๐ ของกองทัพอากาศ นำไปส่งมอบให้แก่คณะผู้แทนของรัฐบาลพม่าที่สนามบินมิงกลาดง เมืองย่างกุ้ง โดยมีคณะบุคคลสำคัญคอยให้การต้อนรับ อาทิ หลวงพ่อภัททันตะ กุมาระ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง เอกอัครราชทูตไทย ประจำสหภาพเมียนมาร์ ผู้ช่วยทูตทหารอากาศไทย ประจำสหภาพเมียนมาร์ ผู้ช่วยทูตพาณิชย์ไทย ประจำสหภาพเมียนมาร์ อธิบดีกรมการศาสนาของพม่า ฯลฯ
ทั้งนี้ หลวงพ่อภัททันตะ กุมาระ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง ได้กล่าวอนุโมทนา และขอบคุณ มายังพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ที่มอบหมายให้มูลนิธิธรรมกายส่งสิ่งของมาช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัย ซึ่งเป็นกาลทาน ในยามที่ผู้รับมี ความต้องการอย่างยิ่ง
ครั้งที่ ๒
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้มอบหมายให้ พล.อ.อ.วีระวุธ ลวะเปารยะ ประธานไวยาวัจกร วัดพระธรรมกาย พร้อมด้วยคณะกัลยาณมิตร เป็นตัวแทนนำความห่วงใยพร้อมด้วยเครื่องอุปโภค บริโภคและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประสบภัยที่วัดจระเข้ จังหวัด เมียวดี ประเทศสหภาพเมียนมาร์ โดยได้ลำเลียงสิ่งของบรรทุกใส่รถ ๑๐ ล้อ และ ๖ ล้อ รวมน้ำหนัก สิ่งของถึงกว่า ๑๓ ตัน ประกอบไปด้วยถุงยังชีพจำนวน ๑,๗๐๐ ถุง เสื้อยืด ๑๕,๐๐๐ ตัว น้ำดื่ม ๕,๙๐๐ ขวด เวชภัณฑ์ ๑๒ กล่องใหญ่ และผ้าไตรจำนวน ๒๐ ชุด โดยมีท่าน อูอ่อง ฉ่วย ยุ่ง ผู้ว่าราชการ จังหวัดเมียวดี เป็นตัวแทนรับมอบสิ่งของช่วยเหลือในครั้งนี้
ครั้งที่ ๓
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะจาก มูลนิธิธรรมกาย พร้อมด้วยคณะจากมูลนิธิ Life Educationของพระธรรมาจารย์ไห่เทา ประเทศไต้หวัน เจ้าของสถานีโทรทัศน์ Life TV และ ผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งภายในไต้หวันและต่างประเทศกว่า ๑๐๐ ศูนย์ ได้นำถุงยังชีพจากประเทศไต้หวันน้ำหนักกว่า ๓ ตัน ขนส่งมาทางอากาศ โดยความอนุเคราะห์สนับสนุนจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย ซึ่งทางกระทรวงการศาสนาของสหภาพเมียนมาร์ ได้จัดรถบรรทุก ๒ คัน มารอรับสิ่งของที่สนามบินมิงกลาดง กรุงย่างกุ้ง เพื่อส่งไปที่มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง เพื่อประกอบพิีธีมอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งในโอกาสนี้ หลวงพ่อภัททันตะ กุมาระ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติ ได้นำคณะชมสภาพความเสียหายของ ศาสนสถานและอาคารบ้านเรือนภายในกรุงย่างกุ้ง รวมทั้งที่มหาเจดีย์ชเวดากองด้วย ซึ่งทางคณะจากมูลนิธิธรรมกายได้มอบปัจจัยจำนวน ๑ แสนจั๊ต เพื่อซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายรอบ องค์พระมหาเจดีย์ด้วย และยังมอบปัจจัยจำนวน ๑ ล้านจั๊ต เพื่อสมทบทุนซ่อมแซมหลังคาศาสนสถาน ภายในมหาวิทยาลัย แห่งชาติอีกด้วย
ครั้งที่ ๔
วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะจากมูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิ Life Education ได้ส่งมอบสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวพม่าเป็นครั้งที่ ๔ โดยได้จัดพิธีมอบให้แก่ทางการของสหภาพเมียนมาร์ ณ ห้องรับรอง มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติ เมืองย่างกุ้ง ซึ่งตัวแทนของทางฝ่ายประเทศไทย ประกอบด้วย นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้งและคณะจากมูลนิธิธรรมกาย ๑๑ ท่าน นำโดย พล.อ.อ.วีระวุธ ลวะเปารยะ ประธานไวยาวัจกร วัดพระธรรมกาย ส่วนตัวแทนฝ่ายพม่า ประกอบด้วย หลวงพ่อภัททันตะ กุมาระ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติ และ นายตุระ มินต์เมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศาสนา ฯลฯ
สำหรับรายละเอียดของสิ่งของที่ส่งไปช่วยเหลือ ในครั้งที่ ๔ ประกอบไปด้วยถุงยังชีพพร้อมเครื่องอุปโภคบริโภครวมกว่า ๒ ตัน และเครื่องอุปโภคบริโภคอีก ๑ คันรถของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ ที่ได้ฝากสมทบไปพร้อมกับ คณะของมูลนิธิธรรมกาย โดยขนส่งทางเครื่องบินจากความอนุเคราะห์ ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย นอกจากนี้มูลนิธิธรรมกาย ยังได้จัดส่งสังกะสีเป็นจำนวน ๑๒,๐๐๐ แผ่น พร้อมตะปู และถุงยังชีพน้ำหนักกว่า ๑๖ ตัน ผ่านทางเมืองเมียวดี มาตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน อีกทางหนึ่งด้วย
หลังจากเสร็จพิธีมอบสิ่งของแล้ว หลวงพ่อภัททันตะ กุมาระ ได้นำคณะของมูลนิธิธรรมกายไปมอบถุงยังชีพ และปัจจัยช่วยเหลือโรงเรียน วัดธรรมจริยะ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมืองย่างกุ้ง ที่ได้รับความเสียหายจากวาตภัย พร้อมกันนี้ยังได้มีโอกาส ไปนมัสการพระมหาเจดีย์ชเวดากองที่กำลังซ่อมแซมพระมณฑป และองค์เจดีย์ที่อยู่รายรอบ ซึ่งบางส่วนได้รับความเสียหายจากพายุ ซึ่งคณะจากมูลนิธิธรรมกายได้บริจาคปัจจัยจำนวน ๒ แสนจั๊ต เพื่อร่วมบุญ บูรณะซ่อมแซมด้วย และในวันรุ่งขึ้นได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวน ซึ่งถือเป็น ๑ ใน ๕ มหาบูชาสถานสูงสุด ของชาวพม่า ซึ่งทางคณะได้ร่วมบริจาคปัจจัยบำรุงพระธาตุอีกจำนวน ๑ แสนจั๊ต
|
ครั้งที่ ๕
วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะจากมูลนิธิธรรมกาย นำโดยพล.อ.อ.วีระวุธ ลวะเปารยะ ประธานไวยาวัจกร วัดพระธรรมกาย พร้อมองค์กร ชาวพุทธจากหลายเชื้อชาติ ประกอบไปด้วยตัวแทน จากมูลนิธิ Life Education ของพระธรรมาจารย์ไห่เทาจากประเทศไต้หวัน มูลนิธิศรีโพธิราชา จากประเทศศรีลังกา และสหพันธ์ชาวพุทธ ในประเทศออสเตรเลีย นำโดยท่านประธานสหพันธ์ฯ คือ พระปลัดสุธรรม สุธมฺโม ได้เดินทางไปมอบความช่วยเหลือ แก่ผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีส ณ ประเทศสหภาพเมียนมาร์ เป็นครั้งที่ ๕
สำหรับพิธีมอบเครื่องอุปโภคบริโภค จัดขึ้นเมื่อเวลา ๐๙.๓๐ น. ของวันที่ ๑๘ มิถุนายน ณ ห้องรับรองของ มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติเมืองย่างกุ้ง โดยมีตัวแทนองค์กรชาวพุทธจากนานาชาติเป็นผู้มอบ ส่วนตัวแทนฝ่ายผู้รับมอบ ได้แก่หลวงพ่อ ภัททันตะ กุมาระ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ แห่งชาติ และนายตุระ อองโก รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการศาสนา ฯลฯ
ในโอกาสนี้ คณะของมูลนิธิธรรมกาย และคณะขององค์กรชาวพุทธนานาชาติ ได้เดินทางไปมอบถุงยังชีพ และปัจจัยช่วยเหลือแก่โรงเรียนที่ประสบภัย และเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ ทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง อาทิ มหาปาสาณคูหา ซึ่งเป็นที่ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๖ ของพม่า เมื่อคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งเมื่อคราวเกิดพายุนาร์กีส สังกะสีที่มุงหลังคามหาปาสาณคูหาหลุดปลิวสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาก็ได้ นำสังกะสีที่ได้รับจากมูลนิธิธรรมกาย มาซ่อมแซม ศาสนสถานแห่งนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระธาตุชเวมอดอว์ และไปนมัสการ พระนอนองค์ใหญ่ที่ วัดชเวตาเลียง ฯลฯ ซึ่งสถาปัตยกรรมทุกแห่งล้วนมี ความวิจิตรงดงามมาก บ่งบอกถึง ความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพม่าที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างสูงสุด ซึ่งได้สร้างความตื่นตา ตื่นใจให้แก่คณะขององค์กร ชาวพุทธจากนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง
จนถึงขณะนี้มูลนิธิธรรมกายยังคงเดินหน้าส่งความช่วยเหลือถึงผู้ประสบภัยในสหภาพเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังคง มีชาวพม่าที่รอคอยความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันส่งความช่วยเหลือต่อไป เพราะการให้คือน้ำใจอันยิ่งใหญ่ที่มวลมนุษยชาติพึงหยิบยื่นให้แก่กัน และเป็นสิ่งที่อยู่เหนือเรื่องของเชื้อชาติ หรือความขัดแย้งทาง ประวัติศาสตร์ใดๆ โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่พม่า ซึ่งเป็นเมือง ที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน ย่อมเท่ากับ เป็นการช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่โลกต่อไปอีกทางหนึ่งด้วย