บทความบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
การอยู่จำพรรษา หมายถึง การที่พระภิกษุ เริ่มพำนักอยู่ในอารามระหว่างฤดูฝนโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น กำหนดตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ ยกเว้นแต่เหตุจำเป็นเช่น ไปรักษาศรัทธาญาติโยม เป็นต้น ทรงอนุญาตให้ไปได้ภายใน ๗ วัน หรือที่เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ"
การเข้าพรรษาโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่าจำกัดสำหรับพระเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องของพุทธบริษัท ทุกท่านที่ต้องให้ ความสำคัญ เพราะการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องของชาวพุทธทุกคน ย่อมมีผล ต่อความเจริญงอกงามของพระพุทธศาสนา
กิจวัตรของพระช่วงเข้าพรรษา
กิจวัตรหลักของพระภิกษุสงฆ์ท่านมุ่งจรรโลงพระพุทธศาสนา รักษาพระธรรมวินัย และบำเพ็ญ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติธรรมฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อจะได้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศให้กับญาติโยม นั่นเองในสมัยพุทธกาล ท่านพระมหาปาละพร้อม ด้วยเพื่อนสหธรรมิก ๖๐ รูป ก่อนเข้าพรรษา ได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษาในเขตชนบท ครั้นถึงวันเข้าพรรษา พระมหาปาละได้ให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ว่า "ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย พวกเราเรียน กรรมฐานมาจากพระพุทธเจ้าแล้ว ควรเร่งประกอบความเพียรในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์อยู่ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธ บุตร อย่างแท้จริง ขึ้นชื่อว่าอบายทั้งสี่ เป็นเช่นกับเรือน ของบุคคลผู้ที่ประมาทแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงเป็น ผู้ไม่ประมาทเถิด ส่วนตัวท่านเองนั้น ก็จะปรารภ ความเพียรด้วยอิริยาบถสามเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง แต่จะไม่นอนตลอดไตรมาส"
ภิกษุสงฆ์รับฟังโอวาทของท่านแล้ว จากนั้นก็ แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมตามลำพัง ฝ่ายพระเถระได้เริ่มปรารภความเพียร โดยไม่ยอมนอนตามที่ตั้งใจไว้ ครั้นเวลาผ่านไป ๑ เดือน ท่านเกิดอาการ เคืองตา น้ำตาได้ไหลออกจากเบ้าตาทั้ง ๒ ข้างตลอดเวลาแม้หมอจะขอร้องให้ท่านนอนหยอดตา ท่านก็ไม่ยอม โดยสอนตนเองว่า"จักษุที่ถือว่าเป็นของเราจงเสื่อมไปเถิด หูและกายก็เช่นเดียวกัน แม้สรรพสิ่งอันอาศัยกายนี้ ก็จงเสื่อมไปเถิด แต่เราอย่าได้มัวประมาทอยู่เลย" ว่าแล้วก็ทำสมาธิเรื่อยไป
อีกประการหนึ่ง ท่านพิจารณาดูแล้วว่า นี่เป็น โรคที่เกิดจากกรรมเก่าในอดีตตามมาทัน เป็นกรรมที่เคยเป็นหมอตา แล้วหยอดตาให้คนไข้ตาบอด เพราะคนไข้ไม่ยอมให้ค่าจ้างตามที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้นไม่ว่าจะนั่งหยอดหรือนอนหยอด ก็คงไม่หายอยู่ดี ทางที่ดีที่สุดควรรีบทำความเพียรก่อนที่โรคจะ กำเริบหนักไปกว่านี้ดีกว่า แล้วก็ตั้งใจทำความเพียร ต่อไป พอใกล้ถึงวันออกพรรษาทั้งดวงตาและกิเลสก็ดับไปพร้อมๆ กันไม่ก่อนไม่หลัง ท่านได้เป็นพระอรหันต์ ผู้แม้มังสจักขุอาจจะมืดบอด แต่ ธัมมจักขุของท่านสว่างไสวอยู่ภายในตลอดเวลา
เข้าพรรษาของสาธุชน
ในสมัยพุทธกาลนั้น เมื่อถึงคราวอยู่จำพรรษาของพระสงฆ์ ฝ่ายสาธุชนก็ทำหน้าที่เป็นกองเสบียง ให้พระสงฆ์บำเพ็ญสมณธรรมได้อย่างสะดวกสบาย ขณะเดียวกันก็จะสมาทานศีล ๕ บ้างศีล ๘ บ้าง มีการชักชวนกันไปรักษา อุโบสถศีลที่วัด ไปฟังธรรม และแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของตัวเอง อนาถบิณฑิกเศรษฐี และวิสาขามหาอุบาสิกานับเป็นต้นบุญที่น่าอนุโมทนา เพราะท่านจะไปอุปัฏฐากพระวันละ ๒ ครั้ง เมื่อไปก็ไม่เคยไปมือเปล่า หากไปก่อนเวลาฉันอาหาร ท่าน จะใช้ให้คนถือของขบเคี้ยวไปด้วย หากไปหลังเพลก็ใช้ให้คนถือเภสัชและน้ำปานะติดมือไปด้วย เวลาบ่ายก็จะพาลูกหลานไปฟังธรรมที่วัด สำหรับใน เคหสถานของท่านทั้งสอง ก็ได้จัดแต่งอาสนะไว้ เพื่อภิกษุแห่งละ ๒,๐๐๐ รูป เป็นประจำทุกวัน ภิกษุ รูปใดปรารถนาของสิ่งใด จะเป็นข้าว น้ำ หรือเภสัช ก็จะได้ทุกอย่าง ทำให้การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นไป อย่างราบรื่น ส่งผลให้พระภิกษุบรรลุธรรมาภิสมัยมากมาย
ผู้ใหญ่บ้านต้นแบบ
ในสมัยพุทธกาล ณ หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่งมีสตรีเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น วันหนึ่งมีพระภิกษุ ๖๐ รูป เดินธุดงค์ผ่านมา แล้วเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านเห็นพระ มาโปรดถึงที่ จึงได้นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นั่น แล้วชักชวนลูกบ้านช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ สร้างกุฏิ ถวายพระภิกษุสงฆ์เพื่อใช้ในการประกอบความเพียร อีกทั้งชาวบ้านทุกคน ต่างตั้งใจสมาทานศีล ๕ ด้วยความเต็มใจ
พระภิกษุทั้งหมดเมื่อได้ประชุมตกลงกันว่า"พวกเราบวชแล้ว ไม่ควรประมาทในการปฏิบัติธรรมเพราะว่ามหานรก ๘ ขุม มีประตูเปิดคอยท่าอยู่ เป็นประดุจเรือนของพวกเราทีเดียว เราควรมุ่งทำภาวนา อย่าได้เกียจคร้านในการทำความเพียร เพราะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญผู้ที่ไม่ประมาท" เมื่อท่านตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ทุกรูปต่างแยกย้าย ไปบำเพ็ญสมณธรรม ของตน
วันหนึ่ง หลังจากพระฉันเพลเสร็จแล้ว อุบาสิกา ได้พาชาวบ้านมาถวายน้ำปานะและไทยธรรมที่จำเป็น แด่พระสงฆ์ เมื่อเห็นภิกษุเดินมาคนละทางอย่างนั้น ก็เข้าใจว่า พระคุณเจ้าทะเลาะวิวาทกันเป็นแน่ จึงถามท่านว่า"พระคุณเจ้าทะเลาะวิวาท กันหรือเจ้าคะ ทำไมจึงไม่มาโดยพร้อมเพรียงกัน" ครั้นทราบว่าท่านกำลังบำเพ็ญสมณธรรม จึงถามต่อว่า "สมณธรรมของพระคุณเจ้า เป็นอย่างไรหรือเจ้าคะ
พระเถระตอบว่า "สมณธรรม ก็คือการทำสมาธิเจริญภาวนา ตามรักษาจิตของตนไม่ให้ฟุ้งซ่าน ฝึกใจให้สงบ ให้หยุดนิ่ง""พระคุณเจ้าผู้เจริญ แล้ว ฆราวาสอย่างดิฉันจะทำได้ไหม" "ทำได้สิ ฆราวาส ก็สามารถทำภาวนาได้" ตั้งแต่นั้นมา
ผู้ใหญ่บ้าน หญิงใจเพชรก็ตั้งใจฝึกสมาธิภาวนาตามที่พระแนะนำ อีกทั้งได้ชวนชาวบ้านมาเป็นอุปัฏฐากและทำสมาธิควบคู่กันไป ฝึกได้ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี อีกทั้งเป็นผู้ทรงอภิญญาสามารถรู้วาระจิตของคนอื่น ได้อีกด้วย
ท่านใช้อภิญญาจิตพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้พระคุณเจ้าได้บรรลุธรรมสมปรารถนา ตั้งแต่เห็นว่า อาวาสเป็นที่สบาย เหมาะอย่างยิ่งต่อการบำเพ็ญเพียร ไม่มีเสียงดังรบกวน บุคคลก็เป็นที่สบาย ทุกรูปอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย ธรรมะก็เป็นที่สบาย ทุกรูปตั้งใจปฏิบัติธรรมกันดี ไม่เกียจคร้านกันเลย
ตรวจดูต่อไปอีก จึงพบว่าอาหารยังไม่เป็นที่สบาย พระคุณเจ้ามีอาหารไม่ค่อยจะพอฉัน แต่ละรูป ก็ไม่ค่อยคุ้นกับอาหารที่นี่ ทำให้สมาธิไม่ก้าวหน้า เมื่อรู้สาเหตุแล้ว พอรุ่งขึ้น ก็จัดแจงภัตตาหารที่ถูกปากนำไปถวายด้วยตัวเอง และกล่าวปวารณาว่า "ท่านผู้เจริญ พวกท่านชอบใจสิ่งใด ขอนิมนต์บอกมาเถิด ไม่ต้องเกรงใจโยมนะเจ้าคะ" เมื่อพระทุกรูป ได้ฉันอาหารที่ถูกปาก และมีปริมาณพอเพียง มีอาหารเป็นที่สบายแล้ว ได้มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมอย่างเดียว ในที่สุดทุกรูปก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ภายในพรรษานั่นเองจะเห็นได้ว่า การอยู่จำพรรษาของพระคุณเจ้า จะสัมฤทธิผลได้นั้นต้องอาศัยการสนับสนุนจากสาธุชน ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสดีที่สาธุชนจะได้ทำบุญใหญ่ คือคอยอุปัฏฐากดูแลพระ ให้ท่านประพฤติธรรมได้อย่างปลอดกังวลนับได้ว่าเป็น การเกื้อกูลกันทั้งฝ่ายวัดและบ้าน เป็นเหตุให้เกิดความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น ไม่มีการจับผิดกัน ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเรื่อยมา พวกเรา ชาวพุทธในยุคนี้ก็เช่นเดียวกัน ถึงเวลาแล้วที่เรา จะหันมาให้ความสำคัญกับการเข้าอยู่จำพรรษา มาทำหน้าที่ของพุทธมามกะที่แท้จริง เพื่อช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่พึ่งของชาวโลกตลอดไป