โดย : ดรรชนีธรรม
ทุกข์จากการขับถ่ายเป็นทุกข์ประจำของมนุษย์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เลื่อนไม่ได้ ยกเลิกไม่ได้ เก็บไว้ไม่ได้ บำบัดได้ด้วยการระบายออกวิธีเดียวเท่านั้น
ห้องนอนใช้ตอนหลับ ห้องครัวใช้ตอนหิว ห้องรับแขกใช้ตอนมีแขก แต่ห้องสุขาใช้ทุกเวลามีทุกข์ ใช้ทั้งกลางวัน และกลางคืน ใช้สำหรับทุกคน ก่อนเข้าเป็นทุกข์ แต่ออกมาเป็นสุข ห้องสุขา แม้จะมีขนาดเล็กกว่าห้องอื่น แต่ประโยชน์ไม่เหมือนห้องใด เพราะเป็นห้องบำบัดทุกข์ เติมความสุขสำหรับทุกคน การสร้างห้องสุขา หรือสุขพิมานสราญรมณ์รอบมหารัตนวิหารคด จึงเป็นบุญใหญ่ เป็นบุญที่เกิดขึ้นทั้งกลางวัน และกลางคืนตลอดเวลาที่มีผู้มาใช้
ผู้ที่เกี่ยวกับห้องสุขา มีทั้งผู้สร้าง ผู้ใช้ และผู้รักษา แต่ผู้สร้าง เป็นประดุจต้นทางของบุญกุศล เพราะถ้าไม่มีผู้สร้าง ก็ไม่มีผู้ใช้ ไม่มีผู้รักษา
เมื่อใด มีผู้มาใช้ระบายทุกข์จากการขับถ่าย บุญย่อมเกิดกับผู้สร้างทุกครั้ง เมื่อใดมีผู้มาดูแลรักษา บุญย่อมเกิดกับผู้ดูแลรักษา เพราะเป็นสมบัติสงฆ์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพระศาสนา ผู้สร้างก็ได้บุญต่อเนื่องทับทวี เพราะเป็นต้นบุญให้ผู้ดูแลรักษามีโอกาสได้บุญจาก การดูแลรักษา การสร้างห้องสุขาจึงมีอานิสงส์เอนกอนันต์ ดังเรื่องราวของพระเวจจกทายกเถระ
ย้อนไป ๙๑ กัป ท่านได้ถวายวัจจกุฎี แด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่นั้นมาท่านไม่รู้จักทุคติเลย ท่องเที่ยวไปในมนุษยโลก และเทวโลก เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้ยานพาหนะที่ประณีต เมื่ออยู่ในเทวโลก ก็ได้เทวรถอันเป็นทิพย์วิจิตรงดงาม และได้บรรลุธรรม สิ้นอาสวกิเลสในสมัยพุทธกาล ด้วยบุญที่ถวายวัจจกุฎีนั่นเอง
สุขพิมานสราญรมณ์ รอบมหารัตนวิหารคด จึงเป็นโอกาสทอง ของผู้รักบุญปรารถนาบุญ เพราะได้บุญหลายชั้น ตั้งแต่
๑. ได้ถวายเป็นสังฆทาน เป็นสมบัติของพระศาสนา
๒. ผู้ใช้ล้วนเป็นผู้มีศีล มีธรรม มีใจใสสว่าง เพราะมาปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิภาวนา มาแสวงบุญ บูชาพระรัตนตรัย ณ มหาธรรมกายเจดีย์
๓. เมื่อมีผู้มาใช้ และดูแลรักษา บุญย่อมเกิดขึ้นกับผู้สร้างอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นการสร้างบันไดขาขึ้น และโคมไฟส่องสว่าง ยังเป็นการให้ความสะดวก และให้ความสว่างแก่พุทธบริษัทที่มาใช้มหารัตนวิหารคดในการปฏิบัติธรรม และประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา
การสร้างสุขพิมานสราญรมณ์ สร้างบันไดทางขึ้น และโคมไฟส่องสว่าง ย่อมชื่อว่าให้ความสุข ความสะดวกสบาย และความสว่าง ย่อมมีอานิสงส์ ทำให้ผู้สร้างมีผิวพรรณวรรณะเปล่งปลั่ง มีดวงตาที่สดใส ทั้งมังสจักษุ ทิพยจักษุ และธรรมจักษุ จะได้รับความสะดวกสบาย มีความสุขกาย สบายใจในทุกที่ทุกสถานทั้งมนุษยโลก และเทวโลกตราบจนกระทั่งเข้าถึงบรมสุขคือพระนิพพาน