|
"ผู้เป็นบัณฑิตพึงมีความหวังเข้าไว้ ไม่พึงเบื่อหน่าย... ผู้มีปัญญา แม้ใกล้ถึงทุกข์แล้ว ก็ไม่พึงตัดความหวังที่จะถึงความสุข ถ้าไม่พยายามให้ถึงที่สุด สิ่งที่ได้คิดหวังเอาไว้อาจจะพินาศไป" มหาชนกชาดก
บุคคลผู้ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อทำความดีสักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น สิ่งนั้นจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ชีวิตที่งดงาม เมื่อนึกย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่ผ่านมาคราใด ก็จะเกิดความปลื้มปีติใจ และมีกำลังใจต่อสู้ชีวิตเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่รายล้อมรอบตัวได้ นอกจากนี้ ผลแห่งการสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่นั้น ยังก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังได้ยึดเป็นแบบอย่างอีกด้วย การทำความดีชนิดเอา ชีวิตเป็นเดิมพันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คนทั่วไปจึงต้องการต้นแบบดีๆ ให้ดูเสียก่อน จึงจะเกิดพลังใจในการทำความดีตาม บุคคลที่เป็นต้นแบบในการปรารภความเพียรที่ยอดเยี่ยมที่สุด ไม่มีใครเกินพระบรมโพธิสัตว์ ดังเรื่องของพระมหาชนก ผู้เปี่ยมด้วยวิริยบารมี ยิ่งด้วยความเพียร ที่ทุกท่านจะได้ศึกษากันดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล มีพระราชาทรงพระนามว่า "มหาชนก" ครองราชสมบัติในมิถิลานคร ทรงมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ ต่อมาเมื่อพระราชาเสด็จสวรรคต พระเชษฐากับพระอนุชาเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันเพราะมีผู้คอยยุแหย่ให้แตกกัน ในที่สุดพระอนุชาเป็นฝ่ายรบชนะ ปลงพระชนม์พระเชษฐาได้สำเร็จ จึงได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจาก พระราชบิดา ส่วนพระเทวีของพระเชษฐาซึ่ง ทรงพระครรภ์แก่ ก็ได้เสด็จหลบหนีไปอยู่ที่นครกาลจัมปากะ โดยมีท้าวสักกเทวราชเสด็จลงมาช่วยเหลือ พระนางได้ประทับอยู่กับอุทิจจพราหมณ์ ซึ่งมีความเมตตาต่อพระนางเหมือนน้องสาวแท้ๆ
ต่อมา พระนางได้ประสูติพระโอรสมีผิวดุจเทพกุมาร พระเทวีได้ขนานพระนามพระโอรสว่า "มหาชนก" เมื่อพระราชกุมารเจริญวัยตามลำดับ จึงได้บอกความจริงให้ทราบทุกอย่าง จวบจนพระองค์ มีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา เรียนศิลปศาสตร์จนจบหมด ทรงคิดที่จะเอาราชสมบัติคืน จึงตัดสินพระทัยจะไปค้าขายทางสุวรรณภูมิกับพวกพ่อค้า จะได้เอาทรัพย์มาเป็นเสบียงในการชิงราชสมบัติคืน ในขณะที่เรือแล่นไปได้ ๗ วัน ก็เจอคลื่นใหญ่กระแทกเรือแตก น้ำไหลทะลักเข้าเรือ แล้วก็ค่อยๆ จมลงกลางมหาสมุทร ก่อนที่เรือจะจมพระมหาชนก ทรงเตรียมตัวเอาผ้าชุบน้ำมัน ทรงนุ่งผ้าให้กระชับ และปีนขึ้นไปบนยอดเสากระโดงเรือ กำหนดทิศของเมืองมิถิลา แล้วก็กระโดดจากยอดเสากระโดงเรือ เนื่องจากพระองค์ทรงมีพละกำลังมากกว่า คนทั่วไป จึงสามารถกระโดดได้ไกลมาก จากนั้นก็รีบว่ายออกไปให้ห่างเรือ
|
ในวันนั้นเอง พระอนุชาเจ้าเมืองมิถิลาได้สวรรคตลงพอดี พระมหาชนกทรงว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร ๗ วัน วันนั้นเป็นวันอุโบสถ พระองค์จึงทรงใช้น้ำทะเลบ้วนพระโอษฐ์และทรงสมาทานอุโบสถศีล นางมณีเมขลาเทพธิดาได้ตรวจดูมหาสมุทร ก็เห็นพระโพธิสัตว์กำลังว่ายน้ำอยู่ จึงถามว่า "ท่านเห็นประโยชน์อะไร เมื่อแลไม่เห็นฝั่ง ยังอุตส่าห์พยายามว่ายน้ำอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร เช่นนี้"
พระโพธิสัตว์ :"เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้นถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายต่อไปให้ถึง"
เทพธิดา : "ฝั่งมหาสมุทรไกลจนประมาณ ไม่ได้ ท่านพยายามไปก็เปล่าประโยชน์ ไม่ทัน ถึงฝั่งก็จักต้องตาย"
พระโพธิสัตว์ :"เมื่อบุคคลกระทำความเพียรอยู่ แม้ตัวตายก็ได้ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้หมู่ญาติ มารดาบิดาและเทวาทั้งหลาย บุคคลเมื่อกระทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง"
เทพธิดา : "การงานอันไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความเพียรในฐานะอันไม่สมควรนั้น จะมีประโยชน์อะไร"
พระโพธิสัตว์ : "ดูก่อนเทพธิดา ผู้ใดรู้แจ้งว่า การงานที่กระทำจะไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ หรือว่า ไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้าน ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ จมลงในมหาสมุทร เหลือเราคนเดียวยังว่ายน้ำอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆ เรา เรานั้นจักพยายามต่อไปตามกำลังสติปัญญา ของตน จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร"
เทพธิดาได้สดับพระวาจาอันมั่นคงของ พระโพธิสัตว์ จึงสรรเสริญและได้นำพระองค์ไปถึงเมืองมิถิลานครด้วยอานุภาพแห่งเทวฤทธิ์ ในที่สุดพระองค์ก็ได้ครองราชสมบัติในเมืองมิถิลา ในเวลาที่พระองค์ประทับ ณ พระราชอาสน์ภายใต้เศวตฉัตร ทรงระลึกถึงความพยายามที่พระองค์ได้ทรงกระทำในมหาสมุทร ทรงเปล่งอุทานว่า "ความเพียร ควรทำให้ถึงที่สุด ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร ก็จักไม่ได้สิริสมบัตินี้"
ตั้งแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ก็ทรงบำเพ็ญ ทศพิธราชธรรมได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ทรงถวาย ทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า และทำการสงเคราะห์พสกนิกรที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำให้กรุงมิถิลานครเจริญรุ่งเรือง ครั้นต่อมา พระนางสีวลีเทวีได้ประสูติพระโอรสชื่อ ทีฆาวุกุมาร พอเจริญวัย ก็ทรงประทานตำแหน่งมหาอุปราช ทรงครอง สิริราชสมบัติอย่างมีความสุขอยู่เป็นเวลานานถึง ๗,๐๐๐ ปี
วันหนึ่ง ได้เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของพระราชา เป็นเรื่องของ ต้นไม้ต้นเดียว คือ ระหว่างเสด็จประพาสอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีรสอร่อยถูกหักโค่น ส่วนต้นที่ไม่มีผลกลับไม่ถูกโค่น จึงสลดสังเวชว่า "แม้ราชสมบัติก็เช่นกับต้นไม้มีผล ส่วนบรรพชาเป็นเช่นกับต้นไม้ที่ไร้ผลซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของใคร ภัยเกิดกับผู้มีความกังวล แต่ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความ กังวล ตัวเรานี่แหละจะเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไร้ผล เราจักสละราชสมบัติแล้วออกบวช"
ครั้นทรงพิจารณาธรรมจากต้นมะม่วงแล้ว ก็ทรงอธิษฐานจิตมั่น เจริญธรรมอยู่บนปราสาท เป็นเวลาล่วงเลยไป ๔ เดือน จากนั้น ทรงรับสั่ง ใหราชบุรุษผู้รับใช้ใกล้ชิด ไปหาผ้าย้อมฝาดและบาตรดินมาให้ ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงเจริญภาวนาตลอดคืนยันรุ่ง แล้วพระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยเด็ดขาดที่จะเสด็จออกผนวช โดยไม่ต้องอำลาใคร
ในวันนั้นเอง พระนางสีวลีเทวีทรงรู้สึกหวั่นพระหฤทัยอยู่ลึกๆ เพราะไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระราชามานานถึง ๔ เดือน จึงตรัสบอกสตรีคนสนิท ๗๐๐ คน ให้ตกแต่งด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง แล้วเสด็จขึ้นปราสาทพร้อมกัน ในขณะที่เสด็จขึ้นบนปราสาทนั้น ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่พระราชา เสด็จลงมาพอดี พระนางจำไม่ได้จึงทรงหลีกทางและนั่งพนมมือไหว้ด้วยความเคารพ จากนั้นก็เสด็จลุกเดินขึ้นไปบนปราสาท
เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงที่ประทับ ก็ไม่ทรงเห็นใครเลย ทอดพระเนตรเห็นเพียงเส้นพระเกศาที่วางไว้อยู่บนพระแท่นสิริไสยาสน์ เห็นห่อเครื่องราชาภรณ์ จึงเริ่มสงสัยว่า "บรรพชิตรูปนั้น คงไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า เห็นจะเป็นพระราชสวามีสุดที่รักเป็นแน่" เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็ทรงรีบวิ่งลงจากปราสาททันที ไปจนทันพระราชาที่หน้าพระลานหลวง ครั้นไปถึง ก็กันแสงคร่ำครวญอยู่ต่อหน้าพระโพธิสัตว์อย่างน่าสงสาร พระโพธิสัตว์แม้จะ ได้ฟังถ้อยคำทัดทานอย่างไร ก็ไม่ทรงหวั่นไหว ยังคงเสด็จดำเนินไปเรื่อยๆ โดยมีป่าหิมพานต์เป็นเป้าหมาย
เช้าวันนั้น เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ อำมาตย์ เสนาบดี ปุโรหิต ทั่วพระนครก็เกิดโกลาหลกันใหญ่ บางคนยังนุ่งห่มผ้าไม่เรียบร้อย พอได้ยินข่าวว่า พระราชาทรงผนวชแล้ว ก็รีบวิ่งออกมาที่หน้า พระลานหลวง ได้วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานาว่า ต่อไปนี้ ใครจะปกครองแผ่นดิน พระราชาผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างนี้จะมีแต่ที่ไหน แทนที่จะอนุโมทนา กลับร้องห่มร้องไห้ไปตามๆ กัน
พระเทวีพยายามคิดหาอุบายทุกอย่าง เพื่อจะคัดค้านการเสด็จออกผนวชของพระโพธิสัตว์ แต่ก็ไม่สำเร็จ ได้เสด็จติดตามไปไกลถึง ๖๐ โยชน์ เมื่อเดินทางเข้าสู่ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์ทรง ถอนหญ้ามุงกระต่ายขึ้นมาแล้วตัดขาดจากกัน ทรงยื่นคำขาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งสองสิ้นสุดแล้ว เหมือนหญ้ามุงกระต่ายที่ขาดจากกัน ตั้งแต่นี้ไปพระนางอย่าได้ติดตามมาเลย พระนางถึงแก่วิสัญญีภาพล้มลงกลางถนน พระโพธิสัตว์แทนที่จะสงสาร กลับรีบก้าวพระบาทเสด็จเข้าป่าไปโดยไม่เหลียวหลัง
เมื่อพระนางสีวลีเทวีรู้สึกพระองค์ขึ้นมา ตรัสถามทางที่พระองค์เสด็จไป แต่ไม่มีใครทราบ แม้ว่าพระนางจะรับสั่งให้เที่ยวค้นหาอย่างไร ก็ไม่มี ใครสามารถพบพระราชาอีกเลย พระโพธิสัตว์ทรงใช้เวลาเพียง ๗ วันก็สามารถทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้นได้ ฝ่ายพระนางสีวลีเทวีเห็นว่าหมดหนทาง จะตามเจอแล้ว จึงจำยอมเสด็จกลับพระนครด้วยความผิดหวัง ทรงให้สร้างพระเจดีย์หลายองค์เพื่อบูชาพระโพธิสัตว์ ได้ทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ทรงทำการอภิเษกพระราชโอรส ขึ้นเป็นพระราชาองค์ต่อไป แล้วพระนางก็ทรงทำตามคำแนะนำของพระมหาชนก ด้วยการออกผนวชเป็นดาบสินี ประทับอยู่ในพระราชอุทยานแห่งนั้น ทรงทำกสิณบริกรรมจนได้บรรลุฌาน เมื่อละโลกไปแล้ว ก็ได้บังเกิดในพรหมโลก
|
เราจะเห็นว่า พระโพธิสัตว์ทั้งหลายไม่เคยท้อถอยในการทำความเพียร ทุ่มเทชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้รู้ว่าจะไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ถ้ารู้ว่าหากสำเร็จก็จะเกิดประโยชน์ใหญ่ ก็ยังทุ่มเทจนสุดกำลัง ขณะเดียวกัน ท่านมองเห็นโลกและชีวิตอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แม้จะได้เป็นใหญ่ในปฐพีก็ไม่มีเยื่อใยในเบญจกามคุณทั้งหลาย เพราะท่านมีดวงปัญญาบริสุทธิ์ และเคยผ่านชีวิตในสังสารวัฏมายาวนาน จึงรู้ว่าพระนิพพานเท่านั้น ที่เป็นเป้าหมาย และอยู่นอกกรอบของอวิชชา อยู่นอกกรอบของสังสารวัฏ จึงมีความเพียรพยายามอย่างไม่ลดละ ที่จะไปให้ถึง ส่วนผู้ไม่รู้ เพราะเห็นแต่ความสุขในปัจจุบันเท่านั้น ก็มัวแต่หลงวนเวียนอยู่กับกระแสโลกกันต่อไป
เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายต้องตระหนักเรื่องความเป็นจริงของชีวิตกันให้ดี อย่าได้ประมาท อย่ามัวเพลิดเพลิน ให้เห็นภัยที่สามารถจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งภัยจากความตายที่อยู่รอบตัว แล้วตั้งใจทำความดีทุกเวลานาที เพื่อบ่มบารมีให้แก่รอบ บารมีของเราก็จะได้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ และได้สมหวังในการบรรลุมรรคผลนิพพานกันทุกคน....