ปกิณกธรรม
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙
การบวช คือ วิธีการตรงลัดที่สุดในการตอบแทนคุณผู้เป็นบุพการี หากตั้งใจบวชและฝึกฝน ตนเองตามหลักพระธรรมวินัย บุญจะส่งผลถึงท่านแม้มีชีวิตอยู่หรือละโลกไปแล้วก็ตาม เป็นการปิดประตูอบาย นำท่านไปสู่สวรรค์ และมีสุขในปัจจุบัน อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว อานิสงส์บุญแห่งชายผ้าเหลืองนี้ มิเพียงแต่จะส่งผลให้กับบิดามารดาในภพชาติปัจจุบันเท่านั้น ยังขยายผลส่งต่อไปถึงผู้ เคยเป็นบุพการีในภพชาติก่อน ๆ ให้ได้รับอานิสงส์ อีกด้วย
ในครั้งพุทธกาล เด็กชายคนหนึ่งนามว่า "สานุ" เป็นลูกน้อยกลอยใจคนเดียวของอุบาสิกา ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยท่านหนึ่ง ที่ยกลูกชายถวายแก่พระศาสนาโดยให้บวชเป็นสามเณร สานุสามเณร แม้จะยังเยาว์ก็เป็นผู้สงบเสงี่ยม นอกจากนี้สามเณร น้อยยังฉายแววพระธรรมกถึกเมื่อต้องขึ้นธรรมาสน์ ก็สามารถบันลือสีหนาทแกล้วกล้าไพเราะเกินตัว ทำให้เป็นที่เลื่องลือในหมู่ญาติโยมสาธุชน ก่อนจบเทศนาทุกครั้ง สามเณรก็ไม่ลืมที่จะกล่าวให้ส่วนบุญ แก่บุพการีว่า "ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าได้แสดงธรรมนี้ ขอมอบส่วนบุญให้แก่โยมบิดามารดาของข้าพเจ้า"
การเทศน์แต่ละครั้ง เทวดา ยักษ์ และอมนุษย์ ก็จะมาฟังด้วยเสมอ ท่านจึงเป็นที่เคารพของอมนุษย์ และเทวดาจำนวนมาก ยักษิณีตนหนึ่งซึ่งเคยเป็นมารดาในอดีตชาติของสามเณรก็ได้มาฟังธรรมเป็นประจำ นางจึงได้รับการยกย่องนับถือเกรงใจในฐานะ เคยเป็นมารดาของสามเณร เมื่อมีการฟังธรรม หรือ มีการชุมนุมในหมู่ยักษ์ นางมักได้รับแต่อาหารดี ๆ จากพวกอมนุษย์เหล่านั้น แม้ยักษ์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ยังหลีกทางให้ หรือลุกขึ้นสละที่นั่งฟังธรรมให้นางอยู่ แถวหน้า
ครั้นเวลาล่วงเลยมาสามเณรสานุเติบใหญ่ แตกเนื้อหนุ่ม อยากลาสิกขา จึงหนีออกจากวัดไปหาโยมมารดาที่บ้านตามลำพัง โยมมารดาเมื่อเห็น ก็แปลกใจจึงถามขึ้นว่า "แต่ก่อนลูกจะมาพร้อมกับ พระอาจารย์หรือสามเณรรูปอื่น ๆ แต่ไฉนวันนี้ จึงมาคนเดียว" พอลูกเณรเล่าความในใจให้ฟัง โยมมารดาก็ตกใจไม่อยากให้ลูกสึก จึงพยายามเกลี้ยกล่อมลูกเณรโดยชี้ให้เห็นโทษของชีวิตฆราวาส แต่ทำอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนความคิดสามเณรได้ จึงถอดใจและได้แต่หวังอยู่ลึก ๆ ว่า "เดี๋ยวลูกเณรคงจะได้คิดบ้างล่ะ" นางจึงนิมนต์ให้ลูกเณรรออยู่ก่อน แล้วรีบไปจัดอาหารที่สามเณรชอบมาถวาย อีกทั้งหลังฉันเสร็จก็นำผ้าจีวรเนื้อดีมาถวายอีกด้วย
ขณะนั้น นางยักษิณีอดีตมารดาได้เกิดความ คิดถึงสามเณร ครั้นเล็งแลไปด้วยกำลังฤทธิ์ ได้รู้ ว่าลูกเณรสานุอยากลาสิกขา นางกลุ้มจนอยู่ไม่ติด เพราะหากเณรสึกออกไปคงจะอายพวกเทวดาไม่กล้า เข้าสมาคมอีก จึงรีบบึ่งไปขัดขวางไม่ยอมให้สึก แล้วเข้าสิงร่างสามเณรทันที สามเณรล้มทั้งยืน จากนั้นก็ตาเหลือกน้ำลายฟูมปากดิ้นไปดิ้นมา โยมมารดาเห็นเข้าก็ตะโกนร้องให้คนช่วย นางกล่าวคร่ำครวญร้องเสียงสั่นอย่างสงสารว่า "ข้าพเจ้าเคยได้ยินพระอรหันต์ท่านพูดว่า ใครก็ตามที่รักษาอุโบสถศีล ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์จะไม่มารังควาน แต่ว่าวันนี้ข้าพเจ้าเห็นอยู่นี้เองว่า ยักษ์ได้มารังแกลูกสานุสามเณร"
นางยักษิณีได้ตอบกลับว่า "ใช่แล้ว ยักษ์จะไม่มารังแกผู้รักษาศีล ประพฤติพรหมจรรย์ หากสามเณรรู้สึกตัวเมื่อไร ขอฝากถ้อยคำนี้จากใจยักษ์ทั้งหลายว่า ขอเณรอย่าได้ทำบาปในที่ลับหรือที่แจ้ง และอย่าคิดสึกเด็ดขาด หากคิดจะทำหรือกำลังทำก็ตาม แม้นเหาะได้ดังนกก็มิอาจหนีพ้นจากทุกข์ได้เลย" เมื่อกล่าวจบก็ออกจากร่างสามเณรไป
พอสามเณรสานุรู้สึกตัว ก็เห็นโยมมารดากำลังร้องไห้สะอื้นและเห็นไทยมุงมากมาย จึงถามแบบ งง ๆ ว่า "อยู่ดี ๆ ทำไมฉันถึงได้มานอนอยู่บนพื้นปกติคนเขาจะร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้ว หรือไม่ก็หายสาบสูญมิใช่หรือ แล้วพวกท่านร้องไห้ทำไม"
โยมมารดาจึงพูดให้สติว่า "ที่ลูกเณรพูดมานั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ใครก็ตามที่หลีกจากกามคุณไปแล้ว ยังคิดจะกลับไปหาใหม่ ผู้คนย่อมร้องไห้ถึงคนนั้นแหละ เพราะว่าถึงเขาจะมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนตาย ไปแล้ว ลูกเณรเป็นผู้ถูกยกออกจากกองเถ้าร้อนระอุ แล้วยังอยากจะตกลงไปอีก ตอนนี้โยมแม่ไม่รู้จะปรับทุกข์กับใคร จะมีใครมากลับใจลูกน้อยของแม่ ผู้ซึ่งออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้แล้ว แต่ยังต้องการกลับไปถูกไหม้แบบชีวิตฆราวาสอีก"
คำพูดที่เปี่ยมด้วยความรักอันบริสุทธิ์กลั่นจาก ใจมารดา มีพลังดลใจและไปโดนใจสามเณรให้ได้คิด และสลดสังเวช จึงพูดขึ้นว่า "เณรจะไม่สึกแล้ว ขอบวชตลอดไป" โยมแม่จึงพนมมือสาธุการด้วยความปีติล้นหัวใจ พอดีขณะนั้นสามเณรสานุมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ผู้เป็นแม่ก็ไม่รอช้ารีบจัดการให้สามเณรลูกชายได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุทันที
ต่อมาไม่นาน พระภิกษุสานุได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดา ทำให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ต่อมาท่านได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม เป็นพระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญเทศนาธรรม มีชื่อเสียงเลื่องลือกระฉ่อนทั่วชมพูทวีป ตราบจนกระทั่งปรินิพพานเมื่ออายุได้ ๑๒๐ ปี
ที่สุดของความปรารถนาของพ่อแม่ในทางโลก คือ การได้เห็นลูกเป็นคนดีเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ท่านก็ยังมีที่สุดของที่สุดแห่งความปรารถนาอีก ก็คือ การได้เห็นลูกชายบวช อยากเกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์ เพราะท่านได้ผ่านความทุกข์ยากลำบากในชีวิตฆราวาสมาก่อน จึงรู้ว่าชีวิตที่ผ่านมามีแต่กะโหลกกะลา ไม่มีชีวิตใดที่จะประเสริฐไปกว่าชีวิตสมณะ ฉะนั้นเมื่อได้เกิดเป็นลูกผู้ชายทั้งทีต้องมีโอกาสบวชอย่างน้อยสักพรรษา เติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเอง และเติมเต็มที่สุดแห่งความปรารถนาของบิดามารดาผู้มีพระคุณที่ให้กายเนื้อเรามา นอกจากวันเกิดลูกแล้ว วันที่ภาคภูมิใจมากที่สุดของผู้เป็นพ่อและแม่ คือ วันบวชลูกนั่นเอง ท่านได้หอบอุ้มครรภ์ให้เรา เรา..ผู้เป็นบุตรก็ต้องเอา บุญบวชนี้..หอบพาท่านสู่ไปสวรรค์ เพราะไม่มีบุญใดที่จะทดแทนพระคุณพ่อแม่ได้เท่ากับการบวชฝึกฝนตนเป็นพระแท้ ดังโอวาทของพระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำว่า
" ถ้าว่าจะแทนคุณมารดาบิดาน่ะ ต่อให้ปฐพีเป็นทองคำทั้งแผ่นมอบให้บิดามารดา เป็นได้แค่กตัญญูต่อมารดาบิดา ยังไม่ใช่การตอบแทนคุณ"
หรือแม้ว่าจะเอามารดาบิดาขึ้นนั่งบนบ่า ถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนนั้นจนหมดอายุของลูก จะชื่อว่า แทนคุณบิดามารดาก็หาไม่ ได้ชื่อว่ากตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดาเท่านั้น การแทนคุณที่แท้จริงนั้น คือ ทำให้มารดาบิดาที่ไม่มีศรัทธา มีศรัทธาขึ้น ไม่มีศีล ให้มีศีลขึ้น ไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสขึ้น ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษขึ้น
ผ้าเหลืองที่ลูกชายห่มย่อมดึงพ่อแม่ให้เข้าวัด เมื่อถึงวัดแล้วก็ทำให้เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ ท่านก็จะมีโอกาสมองเห็นหนทางสวรรค์ด้วยตัวท่านเอง ดังนั้น พ่อแม่ที่มีลูกชายบวชนับเป็นผู้โชคดีสุด ๆ มีพุทธพจน์ บทหนึ่งว่า "การสร้างอารามเสนาสนะ ปลูกต้นไม้ สร้างสะพาน บ่อน้ำ บ้านพักอาศัยเป็นทานให้เกิดประโยชน์สาธารณะนั้น บุญจะงอกเงยเกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน" นี้เป็นเพียงบุญจากวัตถุทานยังมีอานิสงส์มากมายขนาดนี้ ส่วนการ ได้ยกบุตรชายถวายพระศาสนา ทุกอนุวินาทีที่ พระลูกชายได้อุทิศตนใช้กายเนื้อที่บิดามารดาให้มาปฏิบัติศาสนกิจและบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อให้เข้าถึงธรรมภายใน เป็นพระแท้ เป็นเนื้อนาบุญที่โลก กำลังเฝ้ารอด้วยความปลาบปลื้ม บุญย่อมงอกเงยทับทวีแก่บิดามารดายิ่งกว่าสร้างวัตถุทานมากมายนัก เพราะเป็นการสร้างศาสนบุคคลไว้สืบทอดอายุ พระศาสนา ดังนั้น บิดามารดาที่มีลูกชายบวชเป็นพระแท้ในพระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่โชคดีที่สุด