วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วันเข้าพรรษา คือ อะไร

บทความพิเศษ

เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 




 

วันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา คือ อะไร

 

          “พรรษา” แปลว่า ฤดูฝน “เข้าพรรษา” หมายถึงเข้าฤดูฝน วันเข้าพรรษา ก็คือ วันแรกที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษาที่วัด ไม่ไปพักแรมหรือ ค้างคืนที่ไหนจนครบ ๓ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ (หลังวันอาสาฬหบูชา ๑ วัน) ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถ้าปีใดมีอธิกมาส ในปีนั้นวันเข้าพรรษาจะเลื่อนไป ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

          ในสมัยพุทธกาลเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ สมัยนั้นยังมิได้ทรงบัญญัติเรื่องการจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายจึงเที่ยวจาริกไปทุกฤดูกาล ตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากช่วงฤดูฝนเป็นฤดูกาลทำไร่ทำนาของชนทั้งหลาย เพราะเป็นฤดูที่มี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เมื่อภิกษุเที่ยวจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ บางครั้งก็ไม่ได้ระมัดระวัง เผลอเหยียบข้าวกล้าในนาจนทำความเสียหายแก่พืชพันธุ์ หรือพลาดพลั้งเหยียบสัตว์ตาย ไปก็มี

          ชาวบ้านทั้งหลายจึงพากันกล่าวติเตียนว่า ทำไมพระภิกษุซึ่งเป็นเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ เที่ยวจาริกตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เที่ยวเดินเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวไร่ชาวนา แล้วยังเหยียบสัตว์เล็กสัตว์น้อยตายไปเป็น จำนวนมาก แม้พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์ ผู้เป็นมิจฉาทิฐิยังพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน หรือ แม้แต่ฝูงนกก็ยังทำรังอยู่บนยอดไม้ตลอดฤดูฝน แต่พระภิกษุเหล่านี้กลับจาริกไปตลอดทุกฤดูกาล นำความเดือดร้อนไปให้แก่ประชาชน และยังเป็น อันตรายแก่ชีวิตสัตว์เล็กสัตว์น้อยอีกด้วย

          เมื่อเหล่าภิกษุได้ยินชาวบ้านติเตียนเช่นนี้ จึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงบัญญัติพระวินัยให้ภิกษุทั้งหลายอยู่จำพรรษาเป็น เวลา ๓ เดือน ภิกษุทั้งหลายต่างสงสัยว่าจะต้อง จำพรรษาเมื่อใดหนอ จึงกราบทูลถามพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เราอนุญาตให้เข้าพรรษา ในฤดูฝน

          ภิกษุทั้งหลายก็สงสัยอีกว่า วันเข้าพรรษา ในฤดูฝนเป็นวันไหนกันแน่ จึงพากันไปกราบทูล ถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า ภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามีอยู่ ๒ วันด้วยกัน คือ วันเข้า พรรษาต้นและวันเข้าพรรษาหลัง วันเข้าพรรษาต้น ได้แก่ วันที่ดวงจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงแล้ว ๑ วัน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ วัน เข้าพรรษาหลัง ได้แก่ วันที่ดวงจันทร์เสวยฤกษ์ อาสาฬหะล่วงแล้ว ๑ เดือน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ หากภิกษุรูปใดมาจำพรรษาในวัน เข้าพรรษาต้นไม่ทัน ก็สามารถเข้าจำพรรษาใน วันเข้าพรรษาหลังได้

สัตตาหกรณียะ

(กิจที่ทรงอนุญาตให้ไปกลับภายใน ๗ วัน)

          ตลอดฤดูกาลแห่งการจำพรรษา พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุเที่ยวจาริกไป ในสถานที่ต่าง ๆ ตลอดฤดูฝน ยกเว้นเมื่อมีเหตุ จำเป็น ที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” จึงจะทรงอนุญาตให้เดินทางในระหว่างพรรษาได้ โดยให้กลับภายใน ๗ วัน

 

โอวาทวันเข้าพรรษา

พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

วันอังคารที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ อุโบสถ วัดพระธรรมกาย


          วันนี้เราได้พร้อมใจกันอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่วัดพระธรรมกาย สำหรับลูกพระลูกเณรที่บวช มาก่อนหน้านี้แล้ว พรรษาปีนี้ก็ขอให้ดีกว่าพรรษาที่ผ่านมา ส่วนพระธรรมทายาทเพิ่งอยู่จำพรรษาปีนี้ เป็นปีแรก ก็ให้ตั้งใจอย่างมุ่งมั่น ไม่ใช่เพียงแค่รักษาธรรมเนียมปฏิบัติเท่านั้น แต่ให้เป็นพรรษาที่เกิด ประโยชน์สุขแก่ตัวเรา ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา และได้มาบวช มาอยู่ จำพรรษากันในครั้งนี้ ในพรรษาเป็นฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพราะไม่ร้อนเกินไป และไม่หนาวเกินไป วัตถุประสงค์ของการบวชมีเพียงประการเดียวที่เป็นหลัก คือ การทำพระนิพพาน ให้แจ้ง สลัดตนให้พ้นจากทุกข์ หรือพูดง่าย ๆ ก็เพื่อการบรรลุมรรคผล นิพพาน เช่นเดียวกับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นบวชแล้วก็ต้องมุ่งมั่นให้บรรลุวัตถุประสงค์ อย่างนี้ ดังนั้น ทุกอนุวินาทีภายในพรรษานี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตบรรพชิตของลูกพระลูกเณรทุก ๆ รูป อย่าให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ให้ใช้ทุกอนุวินาทีให้เป็นไปดังความตั้งใจที่ดีของเรา ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิต เพราะว่าความตายไม่มีนิมิตหมาย เราจะตายตอนไหน วันไหน ด้วยสาเหตุใด เรายังไม่ทราบ ทุกอนุวินาทีจึงมีความสำคัญสำหรับเรา เพื่อจะได้ประกอบ ความเพียรให้ถูกหลักวิชชา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว อย่างน้อยก็ให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ซึ่งเป็นพุทธรัตนะ เรารู้หลักวิชชามาพอสมควรเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้เข้าถึง เหลือแต่ความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะทำอย่างจริงจัง คือ ฝึกหนักอย่างถูกหลักวิชชา แม้ว่าเราจะมีกิจวัตรกิจกรรมมากมาย ก็อย่าให้สิ่งนั้นมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการบำเพ็ญสมณธรรมของเรา อย่าให้เป็นข้อแม้ ข้ออ้าง หรือ เงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้เราว่างเว้นจากการบำเพ็ญสมณธรรม เจริญสมาธิภาวนา

          ก่อนหน้านี้เคยพูดถึงการอยู่จำพรรษา ๒ ชั้น สำหรับชีวิตนักบวช โดยเฉพาะลูกธรรมทายาท ที่ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง จากธุรกิจการงาน บ้านช่อง ครอบครัวเข้ามาบวช เรามีเวลาบวช ช่วงสั้น ๆ แค่พรรษาเดียว อยู่รับกฐินแล้วก็ออกเดินธุดงค์ สั้นจริง ๆ สำหรับชีวิตการเป็นนักบวช เพราะเรายังมีภาระผูกพันที่เกี่ยวกับทางโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ทุกอนุวินาทีให้เป็น ประโยชน์ด้วยการอยู่จำพรรษา ๒ ชั้น ภายนอกเราก็ทราบขอบเขตของการอยู่จำพรรษาแล้วว่า ขอบเขตวัดวาอารามของเรามีอยู่ขนาดไหน ส่วนการจำพรรษาชั้นที่ ๒ คือ การจำพรรษาภายใน มีความสำคัญต่อการบวชคราวนี้มาก เพราะยังมีสิ่งที่จะต้องศึกษา เรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นจริง ของชีวิตอีกมากมาย ซึ่งเรียนจากที่อื่นไม่ได้นอกจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญที่เราจะต้องไม่ให้เป็นความลับของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้หมดแล้ว แม้นท่านจะดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม แต่คำสอนยังอยู่ และเราสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ แต่ลูกทุกคนจะต้องหยุดใจให้ได้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการศึกษาเรียนรู้วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแต่วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น ที่จะทำลายความสงสัยในใจของเราได้ เปลี่ยนจากความไม่รู้มาเป็นผู้รู้ได้ ทำให้เราดำเนิน ชีวิตได้อย่างถูกต้อง ดับทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้ วิชาทางโลกสอนแต่เรื่องการทำมาหากิน ศึกษาแล้วความลับของชีวิตก็ยังเป็นความลับอยู่ ทุกข์ของชีวิตก็ยังมีอยู่ แต่คำสอนของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าดับทุกข์ได้ และเปิดเผยสิ่งที่บดบังความเป็นจริงของชีวิตเราได้ เราจำเป็นที่จะต้องรู้จัก ตัวเองมากขึ้นว่า เราคือใคร เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราเป็นอย่างไร จะได้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง และมี ความสุขตลอดเวลาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นทุกข์และเป็นปัญหาสำหรับทุก ๆ คน แต่จะไม่เป็น ปัญหาสำหรับเรา ซึ่งเราจะต้องเริ่มจากการนำใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 




 

          เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปซึ่งเป็นวันปฐมเริ่มของการอยู่จำพรรษา ลูกทุกรูปจะต้อง เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ ฝึกหนักให้ถูกหลักวิชชาในทุกอิริยาบถ เราอายุมากขึ้นไปทุก ๆ วัน การอยู่จำพรรษา ๒ ชั้น จึงมีความจำเป็นกับเราเป็นอย่างยิ่ง พรรษานี้เราจะต้องบรรลุธรรมกายให้ได้ พระธรรมกายมีอยู่ในตัวของเราทุก ๆ รูป ของมีอยู่แล้วเหมือนคนอยู่ใกล้ แต่ถ้าเราไม่เข้าถึงก็เหมือน คนใกล้ที่อยู่ไกล เราก็จะไม่มีที่พึ่ง ขณะที่ทุกข์ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นแล้วสำหรับ ผู้บวชมาก่อน พรรษานี้ก็จะต้องแตกต่างจากพรรษาที่ผ่านมา ผู้บวชใหม่ก็เริ่มต้นทำสิ่งดี ๆ ในพรรษานี้ โดยฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ทำทุกอิริยาบถ อย่าไปคอยให้ว่าง วัดเรามีกิจวัตรกิจกรรมมากมาย ทั้งงานศึกษา งานเผยแผ่ งานก่อสร้างปฏิสังขรณ์ เพราะฉะนั้นเราจะหาโอกาสให้ว่างจริง ๆ คงจะไม่มี ดังนั้น ในทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ในทุก ๆ กิจกรรมอย่าว่างเว้นการนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะได้กี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่เป็นไร อาจจะตรึกนึกถึงดวงใส องค์พระใส ๆ ได้ ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เป็นไร หมั่นชำเลืองไว้เรื่อย ๆ ทุก ๆ อิริยาบถ สมาธิก็จะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น สั่งสมขึ้นอย่างที่เราไม่รู้ตัว เหมือนมด ปลวก ที่ขนดินก้อนเล็ก ๆ มาก่อเป็นรัง มันก็ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป สมาธิก็จะถูกสั่งสมขึ้นทีละเล็กทีละน้อยอย่างเป็นธรรมชาติและผ่อนคลาย ถ้าเรา ทำได้อย่างนี้เวลาเรานั่งเจริญสมาธิภาวนา สิ่งนี้ก็จะเกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุนให้การนั่งสมาธิของเรา ในรอบนั้นดีขึ้น เพราะเราประคับประคองใจให้อยู่ภายในตลอดเวลา จากที่หลับตาแล้วมืดก็จะค่อย ๆแจ้ง ค่อย ๆ สว่างเหมือนฟ้าสาง ๆ และความสว่างก็จะค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นจนถึงจุดที่สว่างที่สุด ทั้งหลับตาและลืมตา ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง

          มนุษย์ทั่ว ๆ ไป เขาหลับตาแล้วมืด แต่เราหลับตาแล้วสว่าง การหลับตาแล้วสว่างเป็น ความมหัศจรรย์ยิ่งกว่าความมหัศจรรย์ใด ๆ เพราะความสว่างภายในนั้น คือ แสงสว่างส่องทางชีวิต ที่แท้จริง ที่จะทำให้เราเข้าถึงดวงธรรมภายใน เข้าถึงความบริสุทธิ์แรกที่เรายอมรับว่าใจเราบริสุทธิ์ และความบริสุทธิ์นี้จะส่งต่อ ๆ กันไป ทำให้เราค่อย ๆ ศึกษาเรียนรู้ความลับของชีวิตของเรา ซึ่งจะ ค่อย ๆ ถูกเปิดเผยขึ้น ในกลางดวงธรรมนั้น มีดวงธรรมต่าง ๆ ซ้อน ๆ กันอยู่ มีกายต่าง ๆ ซ้อนกัน เป็นชั้น ๆ ซึ่งเป็นความลับของมนุษย์ทั่วโลก แต่จะไม่เป็นความลับสำหรับเรา เมื่อเราเข้าถึง พระรัตนตรัยในตัว คือ เมื่อเข้าถึงธรรมกายในตัวแล้ว โลกก็จะไม่มีความลับ เมื่อความลับไม่เกิดขึ้น กับเรา เรานี่แหละจะไปทำลายความลับของชีวิตของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายจากประสบการณ์ภายใน ของเรา ซึ่งจะถูกถ่ายทอดไปยังเพื่อนมนุษย์อย่างสงบเสงี่ยม สง่างาม อย่างมีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ และ สิ่งดีงามนี้ก็จะค่อย ๆ ขยายออกไป

         คำว่า โลกในอุดมคติ สามารถเกิดขึ้นได้จริงในยุคที่เรายังมีชีวิตอยู่ ถ้าเราสว่างโลกก็สว่าง ถ้าเราเข้าถึงธรรมโลกก็จะเข้าถึงธรรม ถ้าเราเข้าถึงพระรัตนตรัยชาวโลกก็จะเข้าถึงพระรัตนตรัย พรรษานี้จึงมีความสำคัญต่อตัวเราและชาวโลก โดยเฉพาะในยุคนี้พระพุทธศาสนาดูตกต่ำ เพราะความไม่เอาใจใส่หรือไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกี่ยวกับ เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เพราะบรรพชิตไปศึกษาเรียนรู้ทางโลก กระแสของความคิดก็วนเวียน เหมือนชาวโลกทั้งหลาย จิตก็เลยหยาบ เพราะฉะนั้นโอกาสพลาดพลั้งก็มี เป็นจุดโหว่ที่ทำให้ชาวโลก มองเห็น และเกิดการโจมตีกันจากเรื่องเล็กแล้วขยายเป็นเรื่องใหญ่ จนกระทบไปทั่วทั้งสังฆมณฑล คนจะเริ่มไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา ไม่เห็นคุณค่าของการบวช สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลสะท้อนถึง หมู่คณะของเรา เพราะเราอยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องอยู่กันได้ทั้งสังฆมณฑล อยู่กันได้ด้วยพุทธบริษัท ๔ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกพระลูกเณรจะต้องให้ความสำคัญต่อการอยู่จำพรรษา ๒ ชั้น กันอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์สุขของตัวเรา เพื่อการยอยกพระพุทธศาสนา และเพื่อเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ถ้าวัดพระธรรมกายทำได้ วัดอื่นก็ทำได้ โดยจะเริ่มต้น จากวัดสาขาและวัดกัลยาณมิตร แล้วกิตติศัพท์อันดีงามก็จะค่อย ๆ ขจรขจายขยายไปสู่วัดอื่น ที่ท้อแท้ก็จะมีกำลังใจเพิ่มขึ้น ที่มีกำลังใจอยู่แล้วก็จะมีมากยิ่งขึ้น พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟูอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยและโลกใบนี้ โดยเริ่มจากตัวเราถึงสังฆมณฑล จากสังฆมณฑลถึงชาวโลก ทั้งหลาย

          โดยเฉพาะลูกพระธรรมทายาทผู้บวชใหม่ ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะพรรษาหน้าเราจะต้อง ไปทำหน้าที่ตามผู้มีบุญมาบวชอย่างน้อย ๑ ต่อ ๑๐ ถ้าลูกทำได้ในคราวนี้ การฟื้นฟูการบวช เข้าพรรษาเพื่อขยายการบวชไปทุกวัดทั่วไทยก็จะกลายเป็นความจริง เพราะเราจะสามารถพูด อย่างอาจหาญ ร่าเริง เบิกบานจากประสบการณ์ภายในของเราว่า เราอยู่จำพรรษา ๒ ชั้น ได้เข้าถึง พระธรรมกายในตัว พระธรรมกายมีจริง เรากล้ายืนยันว่าดีจริง เข้าถึงได้จริง คำพูดของเราก็จะมีพลัง ใครได้ยินได้ฟังก็อยากจะเป็นอย่างเรา พอเขาอยากเป็นอย่างเรา เขาก็ทำอย่างเรา พรรษาหน้าก็จะมี พุทธบุตรมากขึ้นไปทั่วผืนแผ่นดิน ชาวพุทธก็จะตื่นตัวและก็ตื่นตามกันเป็นแถว ฟังแล้วต้องมุ่งมั่น ทำกันจริง ๆ จัง ๆ ภายในพรรษานี้เลย และการอยู่รวมกันเป็นหมู่นี้ อาจมีการกระทบกระทั่ง กันบ้าง เพราะไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน และต่างจิตต่างใจ ที่มารวมกันก็เพื่อเข้ามาสู่ความ เหมือน ก็ขอให้เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกัน อย่าถือสากัน ถ้าไม่ถือสาก็เป็นลมเป็นแล้ง ถ้าถือสาก็เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าเราขุ่นมัวจากใครสักคนหนึ่งหรือจากสิ่งแวดล้อม ก็จะมีผลต่อการ ปฏิบัติธรรมของเรา เพราะฉะนั้นอะไรที่พออะลุ่มอล่วยกันได้ ก็ประคับประคองกันไปให้เบิกบาน ยิ้ม แย้มแจ่มใส มีความสุข การมาบวชในครั้งนี้แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม บวชแล้วต้องปลื้ม ต้อง ภาคภูมิใจ บวชแล้วโยมพ่อโยมแม่ต้องได้บุญเต็มที่ เราต้องเป็นลูกยอดกตัญญูที่ตอบแทนพระคุณ ท่านได้อย่างสมบูรณ์จริง ๆ ถ้าเรามีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ โยมพ่อโยมแม่ก็มีความสุข เพราะท่านเห็น ความเปลี่ยนแปลงของเราไปในทางที่ดีขึ้น ท่านก็จะเปลี่ยนแปลงตามเราไปด้วย ท่านจะรักการ ปฏิบัติธรรมมากขึ้น พระลูกชายจะมีความสุขขนาดไหนที่ทำให้โยมพ่อโยมแม่ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ในตัว หรืออย่างน้อยดวงใส ๆ มีที่พึ่งที่ระลึกภายใน มีความสุขในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นที่พึ่ง นำท่านไปสู่เทวโลกได้ด้วย แล้วการบวชเพื่อเกาะชายผ้าเหลืองลูกก็จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ คำขวัญที่เลื่อนลอย เพราะฉะนั้นพรรษานี้ขอให้เป็นพรรษาแห่งความสว่าง และเป็นพรรษา แห่งการบรรลุธรรมยกชั้นยกรุ่นกันทุก ๆ รูป

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล