|
ผู้ที่ประสบความทุกข์ในชีวิต มักมีความคิดว่าทำไมบุญที่เคยทำไว้ถึงไม่ช่วย จะอธิบายเขาอย่างไรดีเจ้าคะ ?
เรื่องที่น่าคิดสำหรับท่านที่พอประสบ ความทุกข์ แล้วรู้สึกว่าทำไมบุญที่เคยทำไว้ไม่ช่วยก็คือ เขาควรจะต้องสำรวจก่อนว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร
กรณีที่ ๑ เกิดขึ้นเพราะความประมาทพลาดพลั้งไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ อย่างนี้ก็สมควรแล้ว ที่จะต้องประสบความทุกข์ เพราะว่าเขาทำความผิดจริง
ในกรณีนี้ อย่าใช้คำว่าบุญไม่ช่วย แต่ต้องบอกว่าตัวเขาเองนั่นแหละที่ไม่ระมัดระวังให้ดี เมื่อทำลายตัวเองแล้วจะเอาบุญที่ไหนมาช่วย
กรณีที่ ๒ เขาไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร แถมยังตั้งหน้าตั้งตาประกอบแต่คุณงามความดีมาตลอด แต่พอถึงเวลากลับต้องมาประสบเคราะห์ร้าย ประสบความทุกข์อย่างที่ไม่น่าจะเป็น
ในกรณีนี้ ก็จะต้องมาพิจารณากันต่อว่า เคราะห์หามยามร้าย หรือทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ที่มนุษย์ประสบนั้นมีอยู่ ๒ สาเหตุใหญ่ๆ คือ
๑. เป็นเหตุข้ามภพข้ามชาติ คือ เคยก่อกรรมทำเข็ญ เคยทำความชั่ว เคยทำความร้ายกาจ มาก่อนในอดีต ตั้งแต่ภพชาติที่ผ่านมา แล้วบาปกรรมนั้นเพิ่งจะมีโอกาสตามมาส่งผลในชาตินี้
๒. เป็นเหตุในชาติปัจจุบัน เช่น เมื่อสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น วัยคะนอง เคยไปก่อกรรมทำเข็ญ เอาไว้ แล้วเกิดมากลับใจเอาเมื่อมีอายุมากขึ้น จึงตั้งหน้าตั้งตาทำแต่ความดี บาปกรรมหรือความไม่ดีที่เคยทำไว้นั้น ก็เลยตามมาเล่นงานเอาบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องอดทนอีกเหมือนกัน
ในเมื่อเราทำเองแล้วจะให้มันไปที่ไหน คงได้ แต่เตือนสติตัวเองว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า ความชั่วแม้เล็กน้อย ไม่ทำดีกว่า เพราะถึงเวลาที่กรรมชั่วให้ผลขึ้นมา มันทำให้เจ็บแสบนักทีเดียว
หัดเตือนและทบทวนถึงกรรมไม่ดีของตัวเองในอดีตอย่างนี้ ทั้งที่ทบทวนแล้วจะเจอหรือไม่เจอก็ตาม ให้รับรู้ไว้ก่อนว่า เป็นเพราะกรรมชั่วที่เราทำเอาไว้ข้ามชาติตามมาทัน จึงได้ส่งผลก่อน ส่วนบุญใหม่ที่เคยทำในชาตินี้ ยังตามมาช่วยไม่ทัน เพราะบุญใหม่ที่ทำก็ต้องรอเวลาในการออกผล
อุปมาการส่งผลของ กรรมดี กรรมชั่ว
เหมือนอย่างเวลาเราปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะปลูกมะม่วง หรือปลูกกล้วยก็ตาม พอลงมือปลูกวันนี้ไม่ใช่พรุ่งนี้จะได้ผลมะม่วง ผลกล้วย มากินเมื่อไหร่
ความดีที่ทำในชาตินี้ก็เช่นกัน แม้เคยทำความดีมามาก แต่ว่าก็ต้องรอเวลาให้ความดีนั้นออกผลเหมือนกัน
หรือบางครั้งความดีที่ทำนั้นออกผลเหมือนกัน แต่ยังออกผลได้ไม่เต็มที่ ความไม่ดีที่เคยทำในอดีต ตามมาชิงช่วงออกผลเสียก่อน ในกรณีนี้ทำได้อย่างเดียว คืออดแล้วก็ทน
ในขณะที่อดทนไปนั้นก็ให้สติตัวเองไปด้วย ว่าความดีที่เคยทำไว้ ที่เราคิดว่ามากแล้วนั้น ความจริงยังน้อยไป ต้องทุ่มเททำให้หนักยิ่งขึ้น ไปอีก ถ้าใครคิดได้อย่างนี้ท่านเรียกว่า คิดถูก
ถ้าเอาแต่คิดว่าเราก็ทำบุญมาตั้งเยอะ ทำไมบาปกรรมยังมาเล่นงานได้อีก เพราะฉะนั้น เราจะไม่ทำบุญอีกแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้พลาดเสียแล้ว เพราะคุณทำไม่ดีของคุณมาเอง ไม่ใช่คนอื่นเขามาแกล้ง แล้วคุณจะไปบ่นอะไร
หลวงพ่อเคยพูดไว้หลายครั้งว่าให้มองอย่างนี้ ถ้าเรามีน้ำอยู่แก้วหนึ่ง แล้วใส่เกลือลงไป ๑ ช้อน แน่นอนว่าน้ำนั้นเค็มปี๋เลย
ถ้าเราเติมน้ำบริสุทธิ์ลงไปอีก ๑ ขัน น้ำก็ยังเค็มอยู่ แต่ว่าเค็มน้อยหน่อย
ถ้าเติมน้ำลงไปอีก ๕ ขัน ๑๐ ขัน น้ำก็ยังเค็มอยู่ แต่เค็มน้อยลงไปอีก คือแค่มีรสกร่อยๆ เท่านั้นเอง
ถ้าเติมน้ำลงไปอีกสัก ๑ โอ่ง น้ำจะจืดสนิท ทั้งๆ ที่ยังมีเกลืออยู่เท่าเดิม
ในทำนองเดียวกัน บาปที่ทำเอาไว้ในอดีตไม่ได้หนีไปไหน ยังตามมาคอยบีบคั้นเรา เหมือนอย่างกับเกลือที่อยู่ในภาชนะ แต่ถ้าเราตั้งใจสร้างบุญสร้างความดีให้มากยิ่งขึ้นไป ก็เหมือนอย่างกับเอาน้ำจืด เอาน้ำฝนเติมลงไป พอเติมน้ำมากเข้า เดี๋ยวรสเค็มของเกลือก็จางไปเอง ถึงแม้มีเกลืออยู่ ก็ชื่อว่าไม่มีตรงนี้เอง เป็นสิ่งที่ชาววัดหรือผู้ปฏิบัติธรรมเขาใช้เป็นข้อคิด เป็นข้อเตือนใจ เวลาที่ประสบทุกข์ โศก โรค ภัย อย่างไม่คาดคิด
ถ้าหากพรรคพวกเพื่อนฝูงของใครที่เข้าวัด แล้วต้องประสบโชคร้ายอะไรก็ตาม ให้เตือนสติ เขาว่า นี่เพราะว่าทำบุญมาบ้างแล้วนะ คุณถึงประสบ โชคร้ายแค่นี้ ถ้าไม่ได้ทำบุญมาตั้งแต่ต้น อาจจะถึงตายไปเสียแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นนับแต่นี้ต่อไปต้องเร่งทำบุญทำความดีให้มากขึ้นไปอีก เพื่อจะได้หมดทุกข์เร็วขึ้น
ทุกข์เก่าก็จะได้หมดไป ทุกข์ใหม่ก็จะได้ไม่มี มีแต่บุญล้วนๆ รอส่งผลให้เป็น ความสุข ความเจริญ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า เป็นนักปฏิบัติธรรมต้องคิดกันอย่างนี้ถึงจะถูกหลักวิชชา