วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ความรู้ประมาณ ตอนที่ ๓ พุทธภารกิจเร่งสร้างคน

พระธรรมเทศนา

 

 

ตอนที่ ๓

ความรู้ประมาณ

รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

พุทธภารกิจเร่งสร้างคน

๑. การสร้างคนในยุคต้นพุทธกาล

           การเร่งสร้างคนในยุคต้นพุทธกาลนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งเน้นไปที่การสร้าง พระภิกษุก่อนเป็นอันดับแรก โดยทรงวางเป้าหมายขั้นพื้นฐานไว้ที่การฝึกฝนอบรมคนให้เป็น เสมือน ต้นไม้ใหญ่ที่กินน้ำน้อย แต่ทนทรหดเหมือนต้นหญ้า

           คำว่า ต้นไม้ใหญ่ หมายถึง การฝึกอบรมพระภิกษุให้เป็นบุคคลต้นแบบของสังคม ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยศีลธรรมและจริยาอันดีงาม ขณะเดียวกันก็มีน้ำใจเสียสละอย่างยิ่งใหญ่ อุทิศชีวิตบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกด้วยการแนะนำสั่งสอนประชาชนให้เป็นคนดี

           คำว่า กินน้ำน้อย หมายถึง การดำรงชีพด้วยปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต เหมือนต้นหญ้าที่กินน้ำน้อย

           การเป็นต้นไม้ใหญ่ที่กินน้ำน้อย ก็คือ การเป็นบุคคลที่อุดมด้วยศีลธรรมจรรยาอันดีงาม และอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ดำรงชีวิตด้วยการบริโภคปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นของชีวิต เพียงเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ

           เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางเป้าหมายในการสร้างพระภิกษุยุคบุกเบิกให้เป็นเหมือน ต้นไม้ใหญ่ที่กินน้ำน้อยดังนี้แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มต้นภารกิจการสร้างคน ด้วยการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อมต่อการบรรลุธรรมที่สุดเป็นอันดับแรก โดยมีคุณสมบัติอย่างน้อย ๓ ประการ ได้แก่

           ๑. เป็นผู้ที่เห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร

           ๒. เป็นผู้ที่กำลังแสวงหาหนทางกำจัดทุกข์ด้วยตนเองบ้างแล้ว

           ๓. เป็นผู้มีความเพียรในการกำจัดทุกข์ หากได้ฟังธรรมจากพระองค์ก็จะบรรลุธรรมได้เร็ว

           บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ส่วนมากมักจะออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ ฝึกฝน อบรมตนเองเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ด้วยตนเอง หรือเป็นผู้ที่ออกบวชเพื่อเฝ้ารอการบังเกิด ขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ก่อนแล้ว เช่น พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ เป็นต้น ครั้นเมื่อได้พบกับพระองค์ก็เกิดศรัทธา อยากเข้าใกล้ อยากฟังธรรม อยากปฏิบัติธรรม เพื่อที่ตนจะได้กำจัดทุกข์จากการเวียนว่าย ตายเกิดในวัฏสงสารให้หมดสิ้นไป

           ท่านเหล่านี้ ก่อนที่จะพบกับพระพุทธองค์ บางท่านก็แยกฝึกตนเป็นเอกเทศ บางท่าน ก็อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ เมื่อได้พบพระพุทธองค์และฟังธรรมแล้ว บางท่านหรือบางหมู่คณะ ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทันที แล้วก็กราบทูลขอประทานการบวชเป็นพระสาวก ส่วนบางท่านแม้ไม่หมดกิเลสในทันที แต่ก็มีดวงตาเห็นธรรมและกราบทูลขอบวชเป็นสาวกเช่นกัน พระองค์ก็ทรงประทานการบวชให้ด้วยการตรัสอนุญาตว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด ซึ่งการบวชแบบนี้ เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

           ส่วนท่านที่ยังไม่หมดกิเลสเมื่อบวชแล้ว หลังจากฟังธรรมและปฏิบัติธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่นานนักก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์บรรลุสอุปาทิเสสนิพพาน กลายเป็นพยานการตรัสรู้ธรรมที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาในโลกทันที และทำให้จำนวนพระภิกษุสาวกที่บวชตลอดชีวิต ในยุคต้นพุทธกาลเพิ่มขึ้นมาตามลำดับจากหลักหน่วยเป็นหลักสิบ หลักสิบเป็นหลักร้อย จากหลักร้อยเป็นหลักพัน พระพุทธศาสนาที่เริ่มต้นด้วยการตรัสรู้เพียงลำพังพระองค์นั้น ก็เพิ่มขุนพลแห่งกองทัพธรรมมากขึ้นทุกวัน ๆ โดยเริ่มจากการแสดงธรรมให้ผู้ฟังที่พร้อมที่สุดเพียงวันละคนสองคนนี่เอง

           ในช่วงเวลาต่อมา หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทำงานเผยแผ่ พระพุทธศาสนาไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ แล้ว ก็มีผู้ศรัทธาขอบวชเป็นพระภิกษุสาวกจำนวนมาก พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า การที่เหล่าพระอรหันต์ต้องพากุลบุตรรอนแรมเดินทางไกล เพื่อมาทูลขออนุญาตการบวชจากพระองค์นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก จึงทรงมีพุทธานุญาตให้พระอรหันต์ทำหน้าที่บวชกุลบุตรผู้มีศรัทธาแทนพระองค์ได้ โดยการให้กุลบุตรกล่าวคำปฏิญาณตนว่า "ข้าพเจ้าขอนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต" ซึ่งการบวชแบบนี้ เรียกว่า "ไตรสรณคมน์" ส่งผลให้พระอรหันต์มีลูกศิษย์เป็นพระภิกษุเพิ่มจำนวนขึ้นมาก อีกทั้งทำให้การบวชกับพระอรหันต์แพร่หลายมากขึ้น พระพุทธศาสนาแพร่หลายกว้างขวาง ยิ่งขึ้น ส่งผลให้จำนวนชาวพุทธในบางเมืองเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสน บางเมืองเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พระพุทธศาสนามีจำนวนพระภิกษุที่บวชตลอดชีวิต และเป็นพระอรหันต์เพิ่มขึ้นจากหลักพันเป็นหลักหมื่นอย่างรวดเร็ว

           ภายหลังจากงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านไปอีกหลายปี ในแคว้นชนบทที่ห่างไกล ออกไปจากแคว้นมคธ ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในยุคต้นพุทธกาล ก็มีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น และมีกุลบุตรขอบวชเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ขาดแคลน พระอรหันต์ที่จะเดินทางไปบวชได้ทั่วถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงมีพุทธานุญาต ให้พระภิกษุที่อยู่ในแคว้นชนบททำการบวชด้วยวิธีการประชุมสงฆ์ ซึ่งการบวชแบบนี้เรียกว่า "ญัตติจตุตถกรรม" โดยให้หมู่สงฆ์ร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้ขอบวช ว่ามีคุณสมบัติพร้อมที่จะเป็นผู้รับการฝึกฝนอบรมหรือไม่ และเห็นควรรับเข้ามาอยู่ในหมู่สงฆ์หรือไม่

           การบวชในเขตชนบทห่างไกลนั้น พระองค์ทรงกำหนดว่าต้องประชุมสงฆ์อย่างน้อยที่สุด จำนวน ๕ รูป ส่วนการบวชในเขตตัวเมือง ทรงอนุญาตให้ประชุมสงฆ์จำนวน ๑๐ รูป ขึ้นไป สำหรับพระอุปัชฌาย์ต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ

           ๑. เป็นพระภิกษุเถระที่ฝึกฝนอบรมตนมาอย่างดี เป็นต้นแบบความประพฤติที่ดีได้ และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป

           ๒. เป็นผู้มีความฉลาดในการคัดกรองคนและประกอบพิธีการบวชให้ดำเนินไปได้อย่าง ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ

           ๓. เป็นผู้มีความสามารถในการเป็นครูบาอาจารย์ คือให้การอบรมสั่งสอนพระภิกษุใหม่ ให้เป็นผู้เลี้ยงชีพด้วยการถือนิสัยของนักบวชได้ สอนให้มีศีลาจารวัตรงดงามได้ สอนให้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยได้ และสอนการเจริญกรรมฐานเพื่อการปราบกิเลสในตนได้ ทั้งนี้เพื่อให้ภิกษุใหม่เป็นอายุพระพุทธศาสนา และเป็นเนื้อนาบุญอย่างแท้จริงของชาวโลก

           การบวชแบบญัตติจตุตถกรรมนี้เอง เป็นเหตุให้การบวชพระภิกษุในดินแดนชนบทที่ห่างไกล แพร่หลายขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันมาก ยังผลให้มีจำนวนพระภิกษุที่มีศรัทธาบวชตลอดชีวิตเพิ่มขึ้น จากหลักหมื่นเป็นหลักแสนอย่างรวดเร็ว

           การบวชโดยการประชุมสงฆ์นี้ ในระยะแรกก็ยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะมีการคัดกรองคนที่สมัครมาบวชอย่างรอบคอบ และการอบรมมีคุณภาพไม่ย่อหย่อน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมิได้ทรงบัญญัติพระปาติโมกข์หรือศีล ๒๒๗ ข้อ ซึ่งเป็นศีลสิกขาบทของพระภิกษุในปัจจุบัน ครั้นต่อมาเมื่อการคัดกรองคน และการอบรมคนมีคุณภาพย่อหย่อนลง จึงเป็นเหตุให้มีพระภิกษุบางรูปประพฤติตนไม่เรียบร้อย และก่อปัญหาที่ไม่ดีไม่งามขึ้นในหมู่สงฆ์ ซึ่งเรียกว่า "ต้นบัญญัติ" ทำให้หมู่สงฆ์ต้องถูกชาวโลกติเตียน พระศาสนาพลอยมัวหมองไปด้วย พระพุทธองค์จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ และบัญญัติศีลสิกขาบททีละข้อ ๆ ให้หมู่สงฆ์รับทราบ และนำไปปฏิบัติให้ตรงกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกันนั้นก็ทรงกำหนดเป็นวัตรปฏิบัติ ของพระสงฆ์ให้ตรงกันทั้งสังฆมณฑล

           สำหรับการฝึกอบรมพระภิกษุใหม่ในช่วงที่ พระพุทธศาสนายังไม่มีการบัญญัติศีลสิกขาบท ๒๒๗ ข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้พระอุปัชฌาย์ หรือพระอาจารย์เป็นผู้ฝึกฝนอบรมพระภิกษุบวชใหม่ด้วยตนเองเกี่ยวกับเรื่อง "การดำรงชีพแบบพระอริยเจ้า" ซึ่งเรียกว่า "การให้นิสัย ๔" ได้แก่

           นิสัยที่ ๑ บิณฑบาต

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

           อดิเรกลาภ (ลาภพิเศษหรือลาภลอย) คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท"

           นิสัยที่ ๒ นุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวร

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้น ตลอดชีวิต

           อดิเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน (เช่น ผ้าด้ายแกมไหม)"

           นิสัยที่ ๓ อาศัยโคนไม้เป็นที่นั่งที่นอน

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำอุตสาหะ ในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

           อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ"

           นิสัยที่ ๔ ดื่มน้ำมูตรเน่าเป็นยารักษาโรค

           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต

           อดิเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย"

           การฝึกนิสัย ๔ นี้ เป็นการฝึกพระภิกษุให้ดำรงชีพด้วย ความรู้ประมาณในการใช้สอยปัจจัย ๔ ตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต เพื่อเรียนรู้คุณค่าของความมักน้อย สันโดษ ไม่มีสมบัติส่วนเกินซึ่งเป็นภาระให้ต้องห่วงใยดูแลมาก มีเพียงอัฐบริขารก็เพียงพอแล้ว เพราะทำให้ลด "ปัญหาทุกข์ในชีวิตประจำวัน" ลงไปได้มาก จึงมีเวลาที่จะบำเพ็ญสมณธรรม คือปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์เกื้อกูลต่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุเป็นอย่างมาก

           เมื่อพระภิกษุใหม่ปรับตัวเข้ากับการดำรงชีพด้วยนิสัย ๔ ในแต่ละวันได้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงให้หลักปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่กำจัดทุกข์ในชีวิตประจำวันได้อย่างดีเยี่ยม ไม่มีทางผิดพลาด เรียกว่า "อปัณณกธรรม" แปลว่า การปฏิบัติที่ไม่ผิด มีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่

           ๑. อินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ หมายถึง การรู้จักระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เผลอไปดู ไปฟัง ไปดม ไปลิ้มรส ไปสัมผัส ไปลุ่มหลงในสิ่งที่ยั่วเย้ายวนใจให้อกุศลธรรมครอบงำใจ อันเป็นการเปิดช่องทางให้กิเลสกำเริบเสิบสานขึ้นมาบีบบังคับใจให้เกิดทุกข์เพราะตัณหาขึ้นในทันที

           ผู้ที่ฝึกความสำรวมอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ ย่อมเก็บใจไว้ในตัวได้เป็นปกติ ทำให้ใจคุ้น กับความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หลงใหลไปกับสิ่งยั่วเย้ายวนใจได้ง่าย เมื่อถึงคราวเจริญภาวนา ใจก็สงบ ไม่คิดฟุ้งซ่านไปกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ต่าง ๆ ที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ทำให้ใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิได้เร็ว และบรรลุธรรมได้ไว

           ๒. โภชเน มัตตัญญุตา คือ ความรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร หมายถึง มีปัญญารู้ว่า การบริโภคอาหารก็เพียงเพื่อประทังชีวิตให้รอดตายไปได้ในแต่ละวัน เพื่อเติมธาตุ ๔ ให้กับร่างกาย เพื่อดับความหิวกระหาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ มิได้บริโภคเพื่อความเอร็ดอร่อยในรสอาหาร เพื่อความอยากหล่ออยากสวย เพื่อความเลิศหรูมีหน้ามีตา ทั้งต้องไม่บริโภคมากเกินไป โดยยึดหลักว่า หากรู้สึกว่ารับประทานอีก ๔-๕ คำ แล้วดื่มน้ำ ลงไปก็จะอิ่มพอดี ก็ให้หยุดรับประทาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกะปริมาณอาหารในจานให้พอดี เพื่อไม่ให้มีเหลือทิ้งเหลือขว้าง อันเป็นความสิ้นเปลืองและเพาะนิสัยไม่ดีให้เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย เช่น ความมักง่าย ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น

           ผู้ที่ฝึกความรู้ประมาณในโภชนาหารอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้เกิดผลดี ๒ ทาง คือ ทางกายกับทางใจ ในด้านทางกายย่อมทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการบริโภคเกินจำเป็น จากการตามใจปากตามใจท้อง หรือจากอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เป็นโทษต่อร่างกาย ในด้านทางใจย่อมทำให้กิเลสไม่สามารถอาศัยช่องทางที่ร่างกายถูกบังคับให้ต้องเติมธาตุ ๔ เล็ดลอดเข้ามาบีบคั้นใจให้เกิดความทุกข์ได้ ทำให้ใจไม่เกิดความอยากได้ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามอำนาจกิเลส ทำให้ทุกข์ในชีวิตประจำวันลดลง อาศัยข้าวเพียงไม่กี่ทัพพีก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่เป็นภาระในเรื่องการเลี้ยงดูของชาวโลก เมื่อถึงคราวเจริญภาวนาก็ทำให้ใจสงบนิ่งได้เร็ว ไม่ฟุ้งซ่านด้วยตัณหา ทำให้สามารถบรรลุธรรม ได้เร็วไว

           ๓. ชาคริยานุโยค คือ การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ซึ่งหมายถึงการเจริญภาวนาอย่างต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ตลอดทั้งวันทั้งคืน เพื่อมุ่งปราบกิเลสให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะประกอบความเพียรได้ทุกอิริยาบถก็เพราะสามารถสำรวมอินทรีย์และรู้ประมาณในการบริโภคอาหารเป็นนิสัย

           ผู้ที่ประกอบความเพียรเพื่อกำจัดกิเลสอย่างสม่ำเสมอนี้ ย่อมช่วยให้การปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ครบถ้วน โดยเริ่มตั้งแต่ ความเห็นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ซึ่งเป็นความเห็นถูกต้องหรือสัมมาทิฐิ ส่งผลให้คิดถึง การออกบวช ซึ่งเป็นความคิดถูกต้องหรือสัมมาสังกัปปะนั่นเอง สำหรับเรื่อง อินทรียสังวร นั้น ก็คือ สัมมาวาจาและสัมมากัมมันตะส่วน โภชเน มัตตัญญุตา นั้น มีความสัมพันธ์กับทั้งสัมมาอาชีวะและสัมมาวายามะ ชาคริยานุโยค ก็คือสัมมาวายามะโดยตรง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสัมมาสติและสัมมาสมาธิด้วย

           กล่าวได้ว่า ผู้ที่มีสัมมาทิฐิมองเห็นทุกข์ภัยในวัฏสงสารและคิดว่าการออกบวชคือวิถีทางแห่งความหลุดพ้น เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติ "อปัณณกธรรม" อย่างต่อเนื่องจริงจัง ก็เท่ากับได้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้สมบูรณ์ครบถ้วน ยิ่งปฏิบัติอปัณณกธรรมหรืออริยมรรค มีองค์ ๘ ได้แก่รอบมากเท่าใด กิเลสในใจก็ถูกกำจัดออกไปได้มากเท่านั้น

           ผู้ที่ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ ใจย่อมมีความสงบอย่างต่อเนื่องเป็นพิเศษ ในที่สุดใจย่อมหยุดนิ่งถูกส่วนเป็นสมาธิที่ละเอียด ประณีต ลึกซึ้งอยู่ในระดับเดียวกับธรรมเบื้องต้น การเข้าถึงธรรมะเบื้องต้นย่อมเกิดขึ้นในทันที

           ในขณะที่กำลังเข้าถึงธรรมะเบื้องต้นอยู่นั้น หากทำสมาธิให้ใจหยุดนิ่งถูกส่วนมากขึ้น ไปอีก จนกระทั่งระดับความละเอียด ประณีต ลึกซึ้งของสมาธิสูงกว่าธรรมะเบื้องต้น การเข้าถึงธรรมะที่ละเอียด ประณีต ลึกซึ้งในขั้นที่สูงกว่าย่อมเกิดขึ้นในทันที ซึ่งก็หมายความว่า ใจยิ่งหยุดนิ่งถูกส่วนมีความละเอียดมากขึ้นเท่าไร ใจก็จะสามารถเข้าถึงธรรมะ ที่มีความละเอียดมากบริสุทธิ์มากขึ้นเท่านั้น

           ในที่สุดแล้ว เมื่อการทำใจหยุดนิ่งมีความละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง อยู่ในระดับที่สามารถมองเห็นอริยสัจ ๔ คือ ๑) มองเห็นใจและทุกข์ที่อยู่ในใจของตนเอง ๒) มอง เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในใจ ๓) มองเห็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ใช้กำจัดกิเลส เรียกว่า นิพพาน ๔) มองเห็นวิธีการหลอมใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับนิพพาน เมื่อนั้นการตรัสรู้อริยสัจ ๔ เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมบังเกิดขึ้นในทันที หัวใจสำคัญของการตรัสรู้อริยสัจ ๔ นี้ อยู่ที่ ความชำนาญในการเจริญภาวนา ให้ใจหยุดนิ่งในศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องไม่มีถอนถอย และการที่ใจจะหยุดนิ่งอยู่ในศูนย์กลางกายได้นั้น ก็ต้องปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ใน ชีวิตประจำวันอย่างครบถ้วนและต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ ตลอดวันและตลอดคืน ที่เรียกว่า อปัณณกธรรม นั่นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 117 กรกฎาคม ปี2555

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล